เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ได้ทรงมีพระดำริว่า ถ้อยคำที่รวบรวมกันเป็นบทเป็นบาท สำหรับเด็กร้องเล่นอยู่ตามธรรมดาชาวบ้านเป็นบทขบขันอยู่ มีคำที่ไม่มีความหมายหรือใช้กันอย่างผิดๆ จำนวนมาก จึงทรงแปลงเอาชื่อของบทเดิมๆ ซึ่งเด็กร้องๆ เล่นอยู่มาเป็นเค้าแต่งเรื่องขึ้น โดยให้มีใจความสำคัญเป็นคติข้อคิดเตือนใจ หรือสุภาษิตสอนใจประกอบด้วย เพื่อให้ร้องเล่นเป็นประโยชน์
ทั้งนี้ ได้ทรงจัดให้ จินตกระวี ทั้งหลายในกรมศึกษาธิการสมัยนั้นช่วยกันแต่งบทร้อยกรองต่างๆ ขึ้น อาทิ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ, นายทัด เปรียญ, หลวงมลโยธานุโยค, นายแก้ว, พระพินิจสารา (ทิม), หม่อมเจ้าประภากร, หลวงประชุมบรรณสาร (พิน เดชะคุปต์), พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศนนิภาธร, หลวงประสิทธิ์อักษรสาร (เทศ) และพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ แล้วจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ในโรงเลี้ยงเด็กได้ร้องเล่น
ต่อมาในภายหลัง กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ได้ตระหนักในประโยชน์ของเรื่องนี้ว่าควรจะเป็นหนังสือสอนอ่านของเด็กนักเรียนชั้นมูลศึกษาได้ จึงได้กราบทูลขอประทานอนุญาตนำมาพิมพ์ใช้เป็นหนังสือเรียนสามัญ โดยได้คัดเลือกบทร้อยกรองที่มีโวหารและกลวิธีการประพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งประกอบไปด้วยกลอนดอกสร้อยทั้งสิ้น ๓๔ บท ซึ่งมีชื่อผู้ประพันธ์ และชื่อเพลงไทยเดิมที่ใช้เป็นทำนองขับร้องปรากฏอยู่ท้ายบท จัดพิมพ์เป็นหนังสือ แบบสอนอ่านจินตกระวีนิพนธ์ ดอกสร้อยสุภาสิต เพื่อให้ครูอาจารย์ใช้สำหรับให้นักเรียนหัดอ่าน เขียน เรียนรู้ศัพท์ หรือเลือกเป็นแบบฝึกหัดไวยากรณ์ ตลอดจนฝึกหัดการย่อความ เรียงความในการแต่งหนังสือ โดยให้ชื่อว่า หนังสืออ่านจินตกระวีนิพนธ์
สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยว่าคนไทยยังอ่านหนังสือกันน้อย จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการรื้อฟื้นหนังสือเก่าอายุ ๕๐ - ๑๐๐ ปี หลายเล่มด้วยกัน มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เพื่อให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนไทย รวมถึง หนังสือดอกสร้อยสุภาษิต๒ ด้วย โดยได้ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ประกอบ และพระราชทานให้จัดพิมพ์เป็นโปสการ์ด “ร่ายเส้นเป็นดอกสร้อย” ออกจำหน่ายให้กับประชาชนโดยทั่วไป
บทที่ ๑ บทดอกสร้อย ๓๔ พร้อมสรุปสาระ
บทเอ๋ยบทดอกสร้อย |
ใช่แต่งให้เด็กน้อยเจ้าสรวลเส |
จงร้องเล่นเป็นเวลาผ่อนฮาเฮ |
แทนลาลำยี่เกที่จำมา |
อันยี่เกลามกตลกเล่น |
รำเต้นสิ้นอายขายหน้า |
ไม่ควรจะจดจำเปนตำรา |
มันจะพาเสียคนป่นปี้ เอย ๚ะ |
ผู้ทรงนิพนธ์: พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
ทำนอง: ร้องลำฝรั่งลำเท้า
หมายเหตุ: เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
บทดอกสร้อยที่แต่งขึ้นนี้มีจุดมุ่งหมายมิใช่เพียงเพื่อร้องเล่นเฮฮาสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้เด็กได้จดจำในคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมอันดีงามในการดำรงชีวิตอีกด้วย
บทที่ ๒
แมวเหมียวแยกเขี้ยวยิงฟัน
แมวเอ๋ยแมวเหมียว |
รูปร่างประเปรียวเปนนักหนา |
ร้องเรียกเหมียวๆ เดี๋ยวก็มา |
เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู |
รู้จักเอารักเข้าต่อตั้ง |
ค่ำๆ ซ้ำนั่งระวังหนู |
ควรนับว่ามันกตัญญู |
พอดูอย่างไว้ใส่ใจ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำแขกวรเชฐ
หมายเหตุ: เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
แมวซึ่งเป็นสัตว์เล็ก ยังรู้จักรักและกตัญญูต่อเจ้าของ ทั้งยังทำประโยชน์ให้ สมควรที่จะดูเป็นแบบอย่าง
บทที่ ๓ ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน
ตั้งเอ๋ยตั้งไข่ |
จะตั้งไยไข่กลมก็ล้มสิ้น |
ถึงว่าไข่ล้มจะต้มกิน |
ถ้าตกดินเสียก็อดหมดฝีมือ |
ตั้งใจเรานี้จะดีกว่า |
อุส่าห์อ่านเขียนเรียนหนังสือ |
ทั้งวิชาสารพัดเพียรหัดปรือ |
อย่าดึงดื้อตั้งไข่ร่ำไร เอย ๚ะ |
ผู้ทรงนิพนธ์: พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
ทำนอง: ร้องลำลมพัดชายเขา
หมายเหตุ: อุส่าห์ ปัจจุบันสะกด อุตส่าห์
สาระของบทกลอน
คนเราไม่ควรเสียเวลาทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ควรใช้เวลาตั้งหน้าตาเรียนหนังสือ หาความรู้ใส่ตัวจะดีกว่า
บทที่ ๔ นกขมิ้นเหลืองอ่อน
ปักเอ๋ยปักษิน |
นกขมิ้นเรื่อเรืองเหลืองอ่อน |
ถึงเวลาหากินก็บินจร |
ครั้นสายัณห์ผันร่อนมานอนรัง |
ความเคยคุ้นสกุณา อุสาหะ |
ไม่เคยละพุ่มไม้ที่ใจหวัง |
เพราะพากเพียรชอบที่มีกำลัง |
เปนที่ตั้งตนรอดตลอด เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: หลวงมลโยธานุโยค (นก)
ทำนอง: ร้องลำพัดชา
หมายเหตุ: อุสาหะ ปัจจุบันสะกดว่า อุตสาหะ
เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
เกิดเป็นคนควรรู้จักหน้าที่ของตน ควรตื่นแต่เช้าเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่อย่างอุตสาหะ เมื่อถึงเวลากลับบ้านก็ไม่ควรเถลไถล
บทที่ ๕ จิงโจ้โล้สำเภา
จิงเอ๋ยจิงโจ้ |
เล่นโล้ในลำสำเภาใหญ่ |
สุนัขเห็นตึงตังชังสุดใจ |
วิ่งไล่ลงน้ำเพราะลำลน |
การสนุกหลุกหลิกซุกซิกเล่น |
เหนื่อยเปล่าเราเห็นไม่เปนผล |
ไหนจะล้มไหนจะลุกเพราะซุกซน |
อย่าลุกลนเหมือนจิงโจ้โล้เรือ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำมอญรำดาบ
หมายเหตุ: เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
เด็กๆ ไม่ควรเล่นสนุกซุกซนจนไม่ระวังตัว เพราะอาจทำให้หกล้มหรือได้รับบาดเจ็บได้
บทที่ ๖ ซักส้าวมะนาวโตงเตง
ซักเอ๋ยซักส้าว |
ผลมะนาวทิ้งไปให้เจ้าแย่ง |
ผู้ดีไพร่ชุลมุนฝุ่นเปนแปลง |
ใครมีแรงรวบคว้าไม่รารอ |
มะนาวนิดแย่งไปทำไมนี่ |
เพราะว่ามีเงินไว้ข้างในหนอ |
ถึงน้อยมากอยากได้เต็มใจคอ |
ไม่ต้องฉ้อฉนใครที่ไหน เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายแก้ว
ทำอง: ร้องลำสารถีชักรถ
หมายเหตุ: เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
ฉ้อฉน ปัจจุบันสะกด ฉ้อฉล
สาระของบทกลอน
คนเราควรพอใจในสิ่งที่ตนมี ถึงมากน้อยก็ไม่เป็นไร สำคัญเพียงตั้งมั่นอยู่บนความซื่อตรง ไม่คดโกงฉ้อฉลใครเป็นพอ
บทที่ ๗ ตุ๊ดตู่อยู่ในรูกระบอก
ตุ๊ดเอ๋ยตุ๊ดตู่ |
ในเรี่ยวในรูช่างอยู่ได้ |
ขี้เกียจนักหนาระอาใจ |
มาเรียกให้กินหมากไม่อยากคบ |
ชาติขี้เกียจเบียดเบียนแต่เพื่อนบ้าน |
การงานสักนิดก็คิดหลบ |
ตื่นเช้าเราจักหมั่นประชันพลบ |
ไม่ขอพบขี้เกียจเกลียดนัก เอย ๚ะ |
ผู้ทรงนิพนธ์: พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
ทำนอง: ร้องลำวิลันดาโอด
สาระของบทกลอน
เกิดเป็นคนไม่ควรประพฤติตนเกียจคร้านไร้ค่า แต่ควรขยันหมั่นเพียรสร้างฐานะให้ตนเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระของสังคม
บทที่ ๘ นกกิ้งโครงเข้าโพรงนกเอี้ยง
นกเอ๋ยนกกิ้งโครง |
หลงเข้าโพรงนกเอี้ยงเถียงเจ้าของ |
อ้อยอี๋เอียงอ้อยอี๋เอียงส่งเสียงร้อง |
เจ้าของเขาว่าหน้าไม่อาย |
แต่นกยังรู้ผิดรัง |
นักปราชญ์รู้พลั้งไม่แม่นหมาย |
แต่ผิดรับผิดพอผ่อนร้าย |
ภายหลังจงระวังอย่าพลั้ง เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: พระพินิจ สารา (ทิม)
ทำนอง: ร้องลำนกกระจอกทอง
สาระของบทกลอน
การทำสิ่งใดๆ ไม่ควรประมาท แต่หากทำผิดพลาดไปแล้วก็ยอมรับผิดต่อผู้อื่น และจงพยายามอย่าทำผิดพลาดอีก
บทที่ ๙ เรือเล่นสามเส้นสิบห้าวา
เรือเอ๋ยเรือเล่น |
สามเส้นเศษวาไม่น่าล่ม |
ฝีพายลงเต็มลำจ้ำตะบม |
ไปขวางน้ำคว่ำจมลงกลางวน |
ทำขวางๆ รีๆ ไม่ดีหนอ |
เที่ยวขัดคอขัดใจไม่เปนผล |
จะก่อเรื่องเคืองข้องหมองกระมล |
เกิดร้อนรนร้าวฉานรำคาญ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำตวงพระธาตุ
หมายเหตุ: เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
คนเราไม่ควรทำตนขวางโลก เพราะอาจทำให้เกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้งได้ เมื่ออยู่ในสังคมก็ควรทำตามกฎระเบียบ
บทที่ ๑๐ นกเอี้ยงเลี้ยงควายเถ้า
นกเอ๋ยนกเอี้ยง |
บ่ายเบี่ยงฝากกายกับควายทุ่ง |
จับหลังจิกกินริ้นยุง |
เฝ้าบำรุงรักษาอุส่าห์ทำ |
ตัวน้อยหมายพึ่งซึ่งผู้ใหญ่ |
จึงอาศรัยควายเถ้าทุกเช้าค่ำ |
หนูน้อยร้อยชั่งจงฟังคำ |
ควรจำอย่างเยี่ยงนกเอี้ยง เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายแก้ว
ทำนอง: ร้องลำแขกไทร
หมายเหตุ: เถ้า ปัจจุบันสะกด เฒ่า
อุส่าห์ ปัจจุบันสะกด อุตส่าห์
อาศรัย ปัจจุบันสะกด อาศัย
สาระของบทกลอน
เด็กควรให้ความสำคัญและนับถือผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส เพราะตนเองมีประสบการณ์น้อยกว่า ต้องอาศัยพึ่งพาผู้ใหญ่จึงจะทำการงานต่างๆ สำเร็จลุล่วง
บทที่ ๑๑ ไก่เอ๋ยไก่แจ้
ไก่เอ๋ยไก่แจ้ |
ถึงยามขันๆ แซ่กระชั้นเสียง |
โก่งคอเรื่อยร้องซ้องสำเนียง |
ฟังเพียงบันเลงวังเวงดัง |
ถ้าตัวเราเหล่านี้หมั่นนึก |
ถึงคุณครูผู้ฝึกสอนสั่ง |
ไม่มากนักสักวันละสองครั้ง |
คงตั้งแต่ศุขทุกวัน เอย ๚ะ |
ผู้ทรงแต่ง: หม่อมเจ้าประภากร
ทำนอง: ร้องลำนางนาค
หมายเหตุ: บันเลง ปัจจุบันสะกด บรรเลง
ศุข ปัจจุบันสะกด สุข
สาระของบทกลอน
เมื่อถึงเวลาเช้า ไก่มีหน้าที่ขันเพื่อปลุกผู้คนให้ตื่นนอน คนเราก็ควรรู้จักหมั่นเตือนตนให้รำลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนและให้ความรู้แก่เรา
บทที่ ๑๒ จ้ำจี้มะเขือเปราะ
จ้ำเอ๋ยจ้ำจี้ |
เพ้อเจ้อเต็มทีไม่มีผล |
ดอกเข็มดอกมะเขือเจือระคน |
สับสนเรื่องราวยาวสุดใจ |
เขาจ้ำแจวจ้ำพายเที่ยวขายของ |
เร่ร้องตามลำแม่น้ำไหล |
ชอบรีบแจวรีบจ้ำหากำไร |
จ้ำทำไมจ้ำจี้ไม่ดี เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำลิ้นลากระทุ่ม
สาระของบทกลอน
การที่มัวแต่เล่นเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ควรจะใช้เวลาตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินจะเกิดประโยชน์มากกว่า
บทที่ ๑๓ กาเอ๋ยกา
กาเอ๋ยกาดำ |
รู้จำรู้จักรักเพื่อน |
ได้เหยื่อเผื่อแผ่ไม่แชเชือน |
รีบเตือนพวกพ้องร้องเรียกมา |
เกลื่อนกลุ้มรุมล้อมพร้อมพรัก |
น่ารักน้ำใจกระไรหนา |
การเผื่อแผ่แน่ะพ่อหนูจงดูกา |
มันโอบอารีรักดีนัก เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายแก้ว
ทำนอง: จีนขิมเล็ก
สาระของบทกลอน
กาถึงแม้จะเป็นสัตว์ที่ตัวดำ แต่ก็มีใจรักเพื่อนพ้อง มีของกินก็ร้องเรียกเพื่อนๆ ให้มาร่วมกิน เราจึงควรรักเพื่อนเยี่ยงกา
บทที่ ๑๔ แมลงมุมขยุ่มหลัง
แมลงเอ๋ยแมลงมุม |
ขยุ่มหลังคาที่อาศรัย |
สั่งสอนลูกรักให้ชักใย |
ลูกไกลไม่ทำต้องจำตี |
ได้ความเจ็บแค้นแสนสาหัส |
เพราะขืนขัดถ้อยคำแล้วซ้ำหนี |
เด็กเอ๋ยเจ้าอย่าเปนดังเช่นนี้ |
สิ่งไม่ดีครูว่าอย่าทำ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: หลวงประชุมบรรณสาร (พิน)
ทำนอง: ร้องลำมอญร้องไห้
หมายเหตุ: ขยุ่ม ปัจจุบันสะกด ขยุ้ม (ออกเสียง ขะ-ยุ่ม หรือ ขะ-หยุ้ม)
แมลงมุม ปัจจุบันเรียก แมงมุม เนื่องจากสัตว์ที่มี 8 ขา เรียกแมง สัตว์ที่มี 6 ขา เรียก แมลง
อาศรัย ปัจจุบันสะกด อาศัย
เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
ดูตัวอย่างจากแมงมุมที่สอนลูกให้ชักใย เด็กๆ ควรเชื่อฟังคำสั่งสอน รวมทั้งทำตนเป็นเด็กดีของพ่อแม่และครูบาอาจารย์
บทที่ ๑๕ กะเกยเลยละ
กะเอ๋ยกะเกย |
อย่าละเลยกุ้งไม้ไว้จนเหม็น |
มากินเข้าเถิดนะเจ้าเข้าจะเย็น |
ไปมัวเล่นอยู่ทำไมใช่เวลา |
ถ้าถึงยามกินนอนผ่อนผัดนัก |
ก็ขี้มักเจ็บไข้ไม่แกล้งว่า |
จะท้องขึ้นท้องพองร้องระอา |
ต้องกินยาน้ำสมอชื่นคอ เอย ๚ะ |
ผู้ทรงนิพนธ์: พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
ทำนอง: ร้องลำตะนาว
หมายเหตุ: เข้า ปัจจุบันสะกด ข้าว
สาระของบทกลอน
คนเราต้องรู้จักหน้าที่ ถึงเวลากินก็ต้องกิน ถึงเวลานอนก็ต้องนอน มิฉะนั้นอาจเจ็บป่วยได้
บทที่ ๑๖ มดแดง
มดเอ๋ยมดแดง |
เล็กๆ เรี่ยวแรงแข็งขยัน |
ใครกล้ำกรายทำร้ายถึงรังมัน |
ก็วิ่งพรูกรูกันมาทันที |
สู้ได้หรือมิได้ใจสาหัส |
ปากกัดก้นต่อยไม่ถอยหนี |
ถ้ารังเราใครกล้ามาราวี |
ต้องต่อตีทรหดเหมือนมด เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำพัดชา
สาระของบทกลอน
ความสามัคคีร่วมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ย่อมเป็นพลังป้องกันภัยที่เข้ามาเบียดเบียน ทำให้รอดพ้นจากภยันตราย
บทที่ ๑๗ ตุ๊กแกตัวพร้อย
ตุ๊กเอ๋ยตุ๊กแก |
ตับแก่แซ่ร้องกึกก้องบ้าน |
เหมือนเตือนหูให้งูรู้อาการ |
น่ารำคาญเสียแท้ๆ แส่จริงๆ |
อันความลับเหมือนกับตับที่ลับแน่ |
อย่าตีแผ่ให้กระจายทั้งชายหญิง |
ที่ควรปิดๆ ไว้อย่าไหวติง |
ควรจะนิ่งๆ ไว้ในใจ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำสะสม
สาระของบทกลอน
สิ่งใดที่ควรเป็นความลับ ก็ควรรักษาความลับนั้นไว้กับตัว ไม่ควรแพร่งพรายให้ผู้ใดรู้ เพราะอาจจะเกิดโทษแก่ตนเองได้
บทที่ ๑๘ กระต่ายติดแร้ว
กระเอ๋ยกระต่าย |
มุ่งหมายเสาะหาแต่อาหาร |
เผลอนิดติดแร้วดักดาน |
ลนลานเชือกรัดมัดต้นคอ |
จะทำการสิ่งไรให้พินิจ |
อย่าคิดแต่ละโมภโลภลาภหนอ |
เห็นแต่ได้ไขว่คว้าไม่รารอ |
จะยื่นคอเข้าแร้วยายแก้ว เอย ๚ะ |
ผู้ทรงนิพนธ์: พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศนนิภาธร
ทำนอง: ร้องลำตลุ่มโปง
หมายเหตุ: ละโมภ ปัจจุบันสะกด ละโมบ
สาระของบทกลอน
ไม่ควรทำการใดด้วยความประมาท บางครั้งความโลภอาจก่อให้เกิดภัยแก่ตนเอง เพราะขาดสติยั้งคิดได้
บทที่ ๑๙ โพงพางปลาเข้าลอด
โพงเอ๋ยโพงพาง |
ทอดขวางกลางลำน้ำไหล |
มัจฉาตาบอดลอดเข้าไป |
ติดอยู่ในข่ายขึงตรึงตรา |
ตาบอดอยู่ประสาตัวตาบอด |
อย่าทำสอดตาเห็นเช่นว่า |
ควรเสงี่ยมเจียมภักตร์รักกายา |
อวดฉลาดพลาดท่าพาจน เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: หลวงประสิทธิ์อักษรสาร (เทศ)
ทำนอง: ร้องลำลาวแคน
หมายเหตุ: ภักตร์ ปัจจุบันสะกด พักตร์
สาระของบทกลอน
คนเราไม่ควรทำตนอวดฉลาดเกินกว่าที่เรารู้จริง เพราะอาจนำมาซึ่งความวิบัติจากความไม่รู้จริงในภายหลังได้
บทที่ ๒๐ เจ้าการะเกด
เจ้าเอ๋ยเจ้าการะเกด |
ขี่ม้าเทศถือกฤสจิตร์เจ้ากล้า |
เที่ยวระวังไพรีจะมีมา |
การรักษาหน้าที่ดีสุดใจ |
อันถิ่นฐานบ้านช่องต้องรักษา |
หมั่นตรวจตราเย็นเช้าเอาใจใส่ |
อย่าเลินเล่อเผลอพลั้งระวังภัย |
ถ้าหากใครมัวประมาทมักพลาด เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำม้าย่อง
หมายเหตุ: กฤส ปัจจุบันสะกด กฤช
จิตร์ ปัจจุบันสะกด จิต
สาระของบทกลอน
แม้เมื่ออยู่บ้านก็ไม่ควรประมาท พึงเฝ้าระวังหมั่นตรวจตราบ้านช่องให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยอยู่เสมอ
บทที่ ๒๑ โมเยไปทะเลเมาคลื่น
โมเอ๋ยโมเย |
ไปทะเลเมาคลื่นฝืนไม่ไหว |
ให้อ่อนจิตร์อาเจียนวิงเวียนไป |
พักอาศรัยจอดนอนก็ผ่อนคลาย |
อันเมาเหล้าเมายามักพาผิด |
และพาติดตนอยู่ไม่รู้หาย |
จะเลื่องลือชื่อชั่วจนตัวตาย |
อย่าเมามายป่นปี้ไม่ดี เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายแก้ว
ทำนอง: ร้องลำจีนดาวดวงเดียว
หมายเหตุ: จิตร์ ปัจจุบันสะกด จิต
อาศรัย ปัจจุบันสะกด อาศัย
สาระของบทกลอน
คนที่กินเหล้าเมายา เมื่อไร้สติแล้วก็มีแต่จะนำพาชีวิตไปสู่ความวิบัตินานัปการ
บทที่ ๒๒ เท้งเต้งเรือลอย
เท้งเอ๋ยเท้งเต้ง |
คว้างเคว้งอยู่ในลำแม่น้ำไหล |
ไม่มีเจ้าของปกครองไป |
ต้องลอยตามน้ำใสไปโคลงเคลง |
เหมือนใครลอยโลเลไม่ยุดหลัก |
คนขี้มักกลุ้มรุมกันคุมเหง |
ต่อความดีป้องตนคนจึงเกรง |
อย่าเท้งเต้งมดตะนอยจะต่อย เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำล่องเรือ
สาระของบทกลอน
คนเรานั้น ถึงแม้ไม่มีผู้ใดคอยปกป้องคุ้มครอง แต่ความดีที่ตนกระทำนั้นจะเป็นเสมือนเกราะคุ้มครองป้องกันผองภัยทั้งปวงได้
บทที่ ๒๓ นกเขาขันแต่เช้าไปจนเที่ยง
นกเอ๋ยนกเขา |
ขันแต่เช้าหลายหนไปจนเที่ยง |
สามเส้ากุกแกมแซมสำเนียง |
เสนาะเสียงเพียงจะรีบงีบระงับ |
อันมารดารักบุตรสุดถนอม |
สู้ขับกล่อมไกวเปลเห่ให้หลับ |
พระคุณท่านทราบซึมอย่าลืมลับ |
หมั่นคำนับค่ำเช้านะเจ้า เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: พระพินิจสารา (ทิม)
ทำนอง: ร้องลำเทพชาตรี
สาระของบทกลอน
พระคุณแม่นั้นใหญ่หลวงนัก เพราะท่านเฝ้าเห่กล่อมเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนโต จึงต้องทดแทนพระคุณของท่าน
บทที่ ๒๔ จันทร์เจ้าขอเข้าขอแกง
จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า |
ใครขอเข้าขอแกงท้องแห้งหนอ |
ร้องจนเสียงแห้งแหบถึงแสบคอ |
จันทร์จะรอให้เราก็เปล่าดาย |
ยืมจมูกท่านหายใจเห็นไม่คล่อง |
จงหาช่องเลี้ยงตนเร่งขวนขวาย |
แม้นเปนคนเกียจคร้านพานกรีดกราย |
ไปมัวหมายจันทร์เจ้าอดเข้า เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำพราหมณ์ดีดน้ำเต้า
หมายเหตุ: เข้า ปัจจุบันสะกด ข้าว
เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
คนเราถ้าต้องการอะไร ก็ควรขวนขวายหาด้วยตนเอง ไม่ควรทำตนเป็นคนขี้เกียจ รอให้ผู้อื่นช่วยเหลือเพราะอาจเปล่าประโยชน์
บทที่ ๒๕ ช้างช้างตัดเต่าร้าง
ช้างเอ๋ยช้างพลาย |
ร่างกายกำยำล่ำสัน |
กินไผ่ใบดกตกมัน |
ดุดันโดยหมายว่ากายโต |
มนุษย์น้อยนักหนายังสามารถ |
เอาเชือกบาศคล้องติดด้วยฤทธิ์โง่ |
อย่าถือดีดังช้างทำวางโต |
จะยืนโซติดปลอกไม่ออก เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายแก้ว
ทำนอง: ร้องลำชมดงนอกสามชั้น
สาระของบทกลอน
การทำสิ่งใดโดยใช้ปัญญา ดีกว่าการแก้ปัญหาโดยการใช้กำลัง ดูตัวอย่างจากช้างที่ถึงแม้จะตัวใหญ่มีพลังมาก ก็ยังต้องทำงานให้คนที่สามารถบังคับมันได้
บทที่ ๒๖ จุ๊บแจงแม่ยายร้องเรียก
จุ๊บเอ๋ยจุ๊บแจง |
เจ้ามีแรงควักเข้าเปียกป้อนยายหรือ |
เห็นจะเปนแต่เขาเล่าลือ |
จะยึดถือเอาเป็นจริงยังกริ่งใจ |
ความเลื่องลือต่อๆ ก่อให้วุ่น |
อย่าเพ่อฉุนเชื่อนักมักเหลวไหล |
ควรฟังหูไว้หูดูๆ ไป |
พกหินไว้มีคุณกว่านุ่น เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: หลวงประสิทธิ์อักษรสาร (เทศ)
ทำนอง: ร้องลำล่องเรือพระนคร
หมายเหตุ: เข้า ปัจจุบันสะกด ข้าว
เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
คนเราควรมีจิตใจที่หนักแน่น ไม่เป็นคนหูเบา ฟังสิ่งใดมาก็ควรพิจารณาข้อเท็จจริง
บทที่ ๒๗ ดุเหว่าไข่ให้แม่กา
ดุเอ๋ยดุเหว่า |
ฝีปากเจ้าเหลือเอกวิเวกหวาน |
ผู้ใดฟังวังเวงบันเลงลาญ |
น่าสงสารน้ำเสียงเจ้าเกลี้ยงกลม |
เปนมนุษย์สุดดีก็ที่ปาก |
ถึงจนยากพูดจริงทุกสิ่งสม |
ไม่หลอนหลอกปลอกปลิ้นด้วยลิ้นลม |
คนคงชมว่าเพราะเสนาะ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายแก้ว
ทำนอง: ร้องลำเขมรใหญ่
หมายเหตุ: บันเลง ปัจจุบันสะกด บรรเลง
เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
คำพูดของคนเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อพูดไปแล้วก็จะส่งผลกับตนเองและผู้อื่น พูดดีก็จะได้ประโยชน์ พูดไม่ดีก็อาจก่อให้เกิดโทษ
บทที่ ๒๘ นกกระจาบหัวเหลือง
นกเอ๋ยนกกระจาบ |
เห็นใบพงลงคราบค่อยเพียรขน |
มาสอดสอยด้วยจะงอยปากของตน |
ราวกับคนช่างพินิจคิดทำรัง |
ช่างละเอียดเสียดสลับออกซับซ้อน |
อยู่พักร้อนนอนร่มได้สมหวัง |
แม้นทำการหมั่นพินิจคิดระวัง |
ให้ได้ดังนกกระจาบไม่หยาบ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำตลุ่มโปง
สาระของบทกลอน
การทำการงาน หรือสิ่งใด จงทำอย่างตั้งใจและประณีตบรรจง เพื่อจะได้ผลงานที่ดีออกมา
บทที่ ๒๙ หนูๆ มาแต่รู
หนูเอ๋ยหนูหริ่ง |
ไววิ่งซ่อนซุกกุกกัก |
ค้อนทับกับแจ้แย่ตารัก |
เพราะชั่วนักไม่น่าจะปรานี |
จะกินได้มิได้ก็ไม่ว่า |
ชั้นผ่อนผ้ากัดค้นจนป่นปี้ |
ทำสิ่งใดใช่ประโยชน์แม้นโทษมี |
เปนไม่ดีอย่าทำจงจำ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายแก้ว
ทำนอง: ร้องลำจีนขวัญอ่อน
หมายเหตุ: เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
สาระของบทกลอน
การทำสิ่งใดควรนึกถึงผลที่กระทำ หากทำแล้วไม่เกิดประโยชน์อันใด ซ้ำยังก่อให้เกิดโทษก็ไม่ควรทำ จงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ดีกว่า
บทที่ ๓๐ โอละเห่โอละหึก
โอเอ๋ยโอละเห่ |
คิดถ่ายเทตื่นนอนแต่ก่อนไก่ |
ทำขนมแซงม้าหากำไร |
เกิดขัดใจกันในครัวทั้งผัวเมีย |
ผัวตีเมียด่าท้าขรม |
ลืมขนมทิ้งไว้ไม่คนเขี่ย |
ก้นหม้อเกรียมไหม้ไฟลวกเสีย |
ขนมเสียเพราะวิวาทขาดทุน เอย ๚ะ |
ผู้ทรงนิพนธ์: พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
ทำนอง: ร้องลำจีนต่อยหม้อ
สาระของบทกลอน
การทะเลาะเบาะแว้งเป็นสิ่งไม่ดี ถ้าเกิดขึ้นเมื่อใดก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหาย อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จและทำลายความตั้งใจอันดีด้วย ดังนั้น ควรต้องสามัคคี ถ้อยทีถ้อยอาศัยเพื่อความสำเร็จในทุกๆ เรื่อง
บทที่ ๓๑ ลิงลมอมเข้าพอง
ลิงเอ๋ยลิงลม |
ไฉนอมเข้าพองตรองไม่เห็น |
ลิงก็มีฟันเขี้ยวเคี้ยวก็เปน |
มาอมนิ่งๆ เล่นไม่เห็นควร |
แม้ทำการสิ่งใดไม่ตลอด |
มาท้อทอดกลางคันคิดหันหวน |
ทำโอ้ๆ เอ้ๆ ลงเรรวน |
คนจะสรวลบัดสีไม่ดี เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำสมิงทองมอญ
หมายเหตุ: เข้า ปัจจุบันสะกด ข้าว
เปน ปัจจุบันสะกดเป็น
สาระของบทกลอน
คนเราเมื่อทำการใดแล้ว ก็ควรทำให้ตลอด ไม่ควรปล่อยปละละเลยตามความพอใจ เพราะถ้าทำไม่สำเร็จ หรือไม่ทันการณ์ก็อาจถูกคนอื่นดูถูกได้
บทที่ ๓๒ อิ่มก่อนดูโขนดูหนัง
อิ่มเอ๋ยอิ่มก่อน |
รีบจะไปดูลครโขนหนัง |
ทิ้งสำรับคับค้อนไว้รุงรัง |
เหมาคนอิ่มทีหลังให้ล้างชาม |
การเฝ้าเอาเปรียบกันอย่างนี้ |
มิดีหนอเจ้าฟังเราห้าม |
คบเพื่อนฝูงจงอุส่าพยายาม |
รักษาความสามัคคีจงดี เอย ๚ะ |
ผู้ทรงนิพนธ์: พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
ทำนอง: ร้องลำสระบุหร่งนอก
หมายเหตุ: ลคร ปัจจุบันสะกด ละคร
อุส่า ปัจจุบันสะกด อุตส่าห์
สาระของบทกลอน
การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นเป็นการกระทำที่ไม่ดี คนเราควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรักษาไว้ซึ่งความสามัคคี
บทที่ ๓๓ ซุ่มซุ่มมรดี
ซุ่มเอ๋ยซุ่มมรดี |
จะเสียทีก็เพราะเพลินจนเลินเล่อ |
ระวังตนอย่าเปนคนใจเผอเรอ |
ระวังพูดอย่าให้เพ้อถึงความใน |
แม้นใครไม่ระวังตั้งเป็นหลัก |
เดินก็มักพลาดพื้นลื่นไถล |
พูดก็มักพล่ำเผลอเพ้อเจ้อไป |
ระวังไว้เป็นทุนแม่คุณ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ
ทำนอง: ร้องลำช้างประสานงา
หมายเหตุ: เปน ปัจจุบันสะกด เป็น
พล่ำ ปัจจุบันสะกด พล่าม ซึ่งหมายถึงการพูดซ้ำๆ จนน่ารำคาญ หรือพูดมากจนเสียประโยชน์
มีความหมายคล้ายคำว่า พร่ำ แปลว่า พูดซ้ำๆ เช่น พร่ำบ่น พร่ำเพ้อ
สาระของบทกลอน
ความประมาท เลินเล่อ ย่อมส่งผลเสียให้กับความปลอดภัยของชีวิตทุกด้าน การดำเนินชีวิตจึงควรตั้งสติตลอดเวลา
บทที่ ๓๔ เด็กเอ๋ยพายนายเอ๋ยโยก
เด็กเอ๋ยเด็กน้อยใหญ่ |
จงตั้งใจพากเพียรเรียนร่ำ |
อันความรู้ความดีที่จดจำ |
จะเฟื่องฟูชูนำให้ได้ดี |
แต่ตั้งใจแจวพายให้นายนั่ง |
นายก็ยังรักใคร่ให้ศุขี |
ถ้าตั้งใจไฝ่หาวิชาทวี |
คงจะมีลาภยศปรากฎ เอย ๚ะ |
ผู้แต่ง: พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์
ทำนอง: ร้องลำลีกิน
หมายเหตุ: ศุขี ปัจจุบันสะกด สุขี
ไฝ่ ปัจจุบันสะกด ใฝ่
ปรากฎ ปัจจุบันสะกด ปรากฏ
สาระของบทกลอน
ในวัยเรียนเด็กๆ ควรตั้งใจศึกษาหาความรู้ เพื่อจะได้สามารถพึ่งตนเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
ความคิดเห็นเรื่องความเป็นมาของกลอนนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ฝ่ายด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งสันนิษฐานว่ากลอนเป็นของอินเดีย อีกฝ่ายหนึ่งสันนิษฐานว่ากลอนเป็นของจีน ในขณะอีกฝ่ายหนึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของไทย
๑. กลอนไทยมาจากอินเดีย เป็นข้อสันนิษฐานของหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) กล่าวคือ กลอนแปดหรือกลอนสุภาพน่าจะมีกำเนิดมา
จากการดัดแปลงฉันท์ของภาษาบาลี ซึ่งวรรคหนึ่งมี ๘ คำ มี ๔ วรรคเป็น ๑ บท โดยไม่คำนึงถึงคำครุ ลหุ และเติมสัมผัสระหว่างวรรค
๒. กลอนไทยมาจากจีน เป็นข้อสันนิษฐานของพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนะชีวะ) ท่านมีความเห็นว่ากลอนไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับของจีน ซึ่งเป็นกลอนที่มีสัมผัส แต่กลอนจีนวรรคหนึ่งมี ๗ คำ
๓. กลอนไทยเป็นของไทยมาแต่เดิม กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่ากลอนสุภาพเป็นของไทยมาแต่เดิม นิยมใช้แต่งลำนำคำร้อง ไม่ยกย่องที่จะนำไปแต่งเรื่องสำคัญชั้นสูง
ในสมัยก่อนจะถ่ายทอดบทกลอนกันทาง มุขปาฐะ หรือการบอกเล่าปากต่อปาก ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร บทกลอนเก่าแก่ที่สุดที่ได้จารึกเป็นอักษร คือ แผ่นจารึกตำหนักลพบุรี คล้ายเพลงยาวเขียนถึง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา พบที่พระที่นั่งจันทร์พิศาล เมืองลพบุรี ส่วนกลอนที่มีอายุรองลงมาคือ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบดี (พระเจ้าเสือ)
กลอน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ
๑. กลอนขับร้อง คือ กลอนสำหรับใช้เป็นลำนำขับร้อง มีกลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนบทละคร
กลอนเพลงไทย
๒. กลอนเพลง คือ กลอนซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการอ่าน หรือจะใช้ขับร้องก็ได้ ได้แก่ กลอนสุภาพ กลอนนิราศ
กลอนเพลงยาว กลอนหก กลอนกลบท เป็นต้น
กลอนสุภาพ หรือ กลอนแปด เป็นกลอนที่นิยมเนื่องจากมีความไพเราะ แต่งง่าย ทั้งเป็นแม่แบบของกลอนอื่นๆ อีกด้วย การที่เรียก กลอน ๘ นั้น เพราะวรรคๆ หนึ่งมีกำหนดไว้ ๘ คำ และเหตุที่ใช้ถ้อยคำสามัญสามารถเข้าใจง่าย สะดวกแก่การพูดการฟังของคนทั่วไป จึงเรียกกลอนนี้อีกหนึ่งชื่อว่า กลอนตลาด
บทบัญญัติของกลอนสุภาพ
ก. คณะ
- กลอนบทหนึ่ง มี ๒ บาท หรือ ๒ คำกลอน
- กลอนบาทหนึ่ง มี ๑ คำกลอน หรือ ๒ วรรค
- วรรคหนึ่งยาวมีคำตั้งแต่ ๗ ถึง ๙ คำ
- บาทแรกเรียกว่า บาทเอก บาทหลังเรียกว่า บาทโท
- จำนวนบทในการประพันธ์ จะประพันธ์กี่บทก็ได้ แล้วแต่เนื้อความที่ประพันธ์นั้นสั้นหรือยาว
ข. สัมผัส
สัมผัสนอก คือสัมผัสบังคับที่กลอนสุภาพจะขาดเสียมิได้ ดังแผนผังต่อไปนี้
ค. วรรณยุกต์
คำสุดท้ายของแต่ละวรรคนิยมให้เสียงวรรณยุกต์ต่างๆ กันดังนี้
- คำสุดท้ายวรรคแรกนิยมใช้เสียงใดก็ได้ ยกเว้น เสียงสามัญ (หากจะใช้ก็ได้)
- คำสุดท้ายวรรคสองต้องใช้เสียงเอก โท หรือจัตวา ที่นิยมใช้มากที่สุดคือเสียงจัตวา ห้ามใช้ เสียงสามัญ และตรี
- คำสุดท้ายวรรคสามต้องใช้เสียงสามัญหรือตรี ที่นิยมใช้มากที่สุดคือเสียงสามัญ ห้ามใช้ เสียงเอก โท และจัตวา
- คำสุดท้ายวรรคสี่ต้องใช้เสียงสามัญหรือตรี ที่นิยมใช้มากที่สุด คือเสียงสามัญ ห้ามใช้เสียง เอก โท และจัตวา
กลอนดอกสร้อย คือกลอนสุภาพที่มีลักษณะพิเศษคือ ใช้คำขึ้นต้น ๔ คำ คือนำคำ ๒ คำมาเป็นตัวตั้งแล้วเขียนคำหน้าซ้ำกัน ๒ หน โดยแทรกคำว่า “เอ๋ย” ลงในระหว่างกลาง เช่น “ความเอ๋ยความรัก” “วันเอ๋ยวันนี้” “ ไก่เอ๋ยไก่แก้ว” เป็นต้น และคำสุดท้ายของบทที่ ๒ ต้องจบด้วยคำว่า “เอย”
ผังฉันทลักษณ์ของกลอนดอกสร้อย
ดังตัวอย่าง ดอกสร้อยสุภาสิตที่ นายทัด เปรียญ ได้แต่งไว้ ดังนี้
แมวเอ๋ยแมวเหมียว |
รูปร่างประเปรียวเป็นนักหนา |
ร้องเรียกเหมียวเหมียวเดี๋ยวก็มา |
เคล้าแข้งเค้าขาน่าเอ็นดู |
รู้จักเอารักเข้าต่อตั้ง |
ค่ำๆ ซ้ำนั่งระวังหนู |
ควรนับว่ามันกตัญญู |
พอดูอย่างไว้ใส่ใจ เอย |
เมื่อ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ตรัสชวนบรรดาจินตกระวีที่ทำงานอยู่ในกรมศึกษาธิการขณะนั้นประพันธ์บทกลอนเพื่อให้เด็กร้องในโรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอร้องเล่นสำเร็จแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปปรึกษา เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เพื่อสรรหาเพลงไทยต่างๆ ในการขับร้องให้เข้ากับบทกลอนดังกล่าว เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์จึงได้ช่วยเลือกเพลงไทยเดิมต่างๆ มาปรับให้เข้ากับบท และดำเนินการซ้อมวงมโหรีหญิงของท่านให้มาขับร้องในวันทำพิธีเปิดโรงเลี้ยงเด็ก
เพลงไทยเดิมที่ได้รับการคัดเลือกมาขับร้อง ได้แก่
๑. ฝรั่งรำเท้า |
๒. แขกวรเชฐ |
๓. ลมพัดชายเขา |
๔. พัดชา |
๕. มอญรำดาบ |
๖. สารถีชักรถ |
๗. วิลันดาโอด |
๘. นกกระจอกทอง |
๙. ตวงพระธาตุ |
๑๐. แขกไทร |
๑๑. นางนาค |
๑๒. ลิ้นลากระทุ่ม |
๑๓. จีนขิมเล็ก |
๑๔. มอญร้องไห้ |
๑๕. ตะนาว |
๑๖. พัดชา |
๑๗. สะสม |
๑๘. ตลุ่มโปง |
๑๙. ลาวแคน |
๒๐. ม้าย่อง |
๒๑. จีนดาวดวงเดียว |
๒๒. ล่องเรือ |
๒๓. เทพชาตรี |
๒๔. พราหมณ์ดีดน้ำเต้า |
๒๕. ชมดงนอกสามชั้น |
๒๖. ล่องเรือพระนคร |
๒๗. เขมรใหญ่ |
๒๘. ตลุ่มโปง |
๒๙. จีนขวัญอ่อน |
๓๐. จีนต่อยหม้อ |
๓๑. สมิงทองมอญ |
๓๒. สระบุหรั่งทอง |
๓๓. ช้างประสานงา |
๓๔. ลิกิน |
๑. ฝรั่งรำเท้า
เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้น ทำนองสำเนียงฝรั่งรำเท้า สันนิษฐานว่าเพลงที่ผู้แต่งจิตนาการมาจาก จังหวะการเต้นระบำแบบฝรั่ง ซึ่งใช้เท้าย่ำตามจังหวะ บางที่เรียกลักษณะนี้ว่าระบำปลายเท้า เพลงนี้ใช้ประกอบการแสดงละครและประกอบลีลาท่ารำ เรียก รำฝรั่งรำเท้า หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้แต่งครบเป็นเพลงเถาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
เพลงเรื่องฝรั่งรำเท้า ประกอบด้วยเพลงฝรั่งรำเท้า ฝรั่งแดง ฝรั่งเดิม ฝรั่งจรกา ออกเพลงตะเขิ่ง เจ้าเซ็น และเพลงลา
๒. ต้นบรเทศ / ต้นวรเชษฐ / แขกวรเชษฐ
เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้นและชั้นเดียว เป็นทำนองเก่าสมัยอยุธยาอยู่ในเพลงประเภทสองไม้ และเพลงเร็วเรื่องเต่ากินผักบุ้ง นายกล้อย ณ บางช้าง นักดนตรีจากจังหวัดสมุทรสงคราม ได้นำเพลงต้นบรเทศสองชั้นมาแต่งขยายโดยดัดแปลงทำนองให้มีจังหวะทิ้งท้ายทั้งสามชั้นและสองชั้น เพลงนี้บางทีเรียกว่า เพลงต้นวรเชษฐ์ ต่อมามีนักดนตรีไม่ทราบนามได้แต่งตัดครบเป็นเพลงเถา นอกจากนี้ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำทำนองในอัตราจังหวะสามชั้นของนายกล้อย ณ บางช้าง ไปแต่งขึ้นอีกทางหนึ่งเรียกชื่อใหม่ว่า เพลงชมแสงจันทร์
๓. ลมพัดชายเขา
เพลงลมพัดชายเขาอัตราสองชั้นและสองชั้น เป็นเพลงทำนองเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ ในอัตราสองชั้น นิยมนำมาใช้ขับร้องในการแสดงละคร ต่อมามีนักดนตรีไม่ทราบนามนำเพลงลมพัดชายเขาสามชั้นมาเรียบเรียงเป็นเพลงตับ เรียกว่า เพลงตับลมพัดชายเขา เป็นลักษณะตับเพลงมี ๔ เพลง โดยนำบทร้องจากบทละครต่างๆ มีดังนี้
- เพลงลมพัดชายเขา ใช้บทร้องจากเรื่องอิเหนา
- เพลงลมหวน ใช้บทร้องจากเรื่องขุนช้างขุนแผน
- เพลงแขกมอญบางช้าง ใช้บทร้องจากเรื่องอิเหนา
- เพลงเหราเล่นน้ำ ใช้บทร้องจากเรื่องขุนช้างขุนแผน
๔. พัดชา
เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้น ทำนองเก่าสมัยอยุธยาเป็นเพลงหน้าทับปรบไก่ ประกอบการเวียนเทียน การทำขวัญต่างๆ อยู่ในเพลงเรื่องทำขวัญ หรือเรื่องเวียนเทียน โดยเป็นเพลงที่ ๒ ของเพลงเรื่องชุดนี้ ในปัจจุบันมี ๕ เพลง คือ นางนาค พัดชา กราวรำมอญ ลีลากระทุ่ม โล้ และเพลงสี่กลอนนอกจากนี้ยังเป็นเพลงในตำราเพลงมโหรีทำนองเก่าสมัยอยุธยาอีกด้วย
๕. (เคียง) มอญรำดาบ
เป็นเพลงเถา นายเฉลิม บัวทั่ง แต่งจากเพลงมอญรำดาบสองชั้นทำนองเก่า ซึ่งท่อนที่ ๑ และทางเปลี่ยนในท่อนที่ ๒ เป็นเพลงที่ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่งสำหรับบรรเลงประกอบ เพลงตับพรหมาสตร์ เรียกชื่อใหม่ว่า เพลงเคียงมอญรำดาบเถา โดยแต่งเสร็จเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
ส่วนเพลง (คู่) มอญรำดาบ เพลงเถา เรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น นำทางเปลี่ยนของเพลงมอญรำดาบสองชั้นเฉพาะท่อนที่ ๓ และท่อนที่ ๔ ซึ่งหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่งไว้ มาแต่งเป็นเพลงเถาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ เรียกชื่อว่า เพลงคู่มอญรำดาบเถา เป็นเพลงคู่กับเพลงมอญรำดาบเถาทางของนายมนตรี ตราโมท ซึ่งแต่งไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕
๖. วิลันดาโอด
เป็นเพลงแรกในเพลงตับเรื่อง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์บทร้องและบรรจุเพลงเพื่อใช้ร้องประกอบด้วย เพลงวิลันดาโอด ฝรั่งจรกา ครอบจักรวาล ฝรั่งรำเท้า และเวสสุกรรม
๗. นกกระจอกทอง
เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้นเป็นเพลงประเภทปรบไก่มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะเป็นเพลงทำนองเก่า ใช้ประกอบการแสดงละครและขับร้องในบทอวยพรทั่วไป
๘. แขกไทร
เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้น ทำนองเก่า ใช้บรรเลงประกอบการแสดงละคร และรวมอยู่ในเพลงตับมโหรี ซึ่งมีอยู่ ๓ เพลง คือ เพลงแขกไทร เพลงดอกไม้ไทร และเพลงเขมรปี่แก้ว
เพลงตับอยู่ในเพลงตับชื่อว่า ตับแขกไทร มี ๓ เพลงด้วยกันคือ เพลงแขกไทร แขกโหม่ง และแขกต่อยหม้อ จางวางทั่ว พาทยโกศล เรียบเรียงและบรรจุเพลง นายฟุ้ง จิตอรุณ แต่งบทร้อง เพลงตับแขกไทรนี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เพลงตับโอ้พระพาย
หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงแขกไทรสองชั้น ทำนองเก่ามาแต่งขยายเป็นอัตราจังหวะชั้นเดียว ครบเป็น เพลงเถา นอกเหนือจากนี้หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ยังได้นำเพลงแขกไทรสองชั้น และชั้นเดียวไปบรรจุไว้สำหรับบรรเลงขับร้องในบทละครเรื่องเงาะป่าด้วย
๙. จีนขิมเล็ก
เป็นเพลงเถา พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) แต่งขึ้นโดยจดจำทำนองเพลงมาจากการเล่นขิมของชาวจีนผู้หนึ่ง เรียกชื่อเพลงที่แต่งใหม่นี้ว่า จีนขิมเล็ก เพื่อมิให้ชื่อของเพลงไปซ้ำซ้อนกับเพลงจีนขิมใหญ่ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมา พระประดิษฐไพเราะ จึงแต่งขยายเป็นอัตราจังหวะสามชั้นและในอัตราจังหวะสองชั้นใหม่ ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ นายมนตรี ตราโมท ได้แต่งบทร้องและทำนองร้อง เพื่อใช้บันทึกแผ่นเสียงของราชบัณฑิตยสภา ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงแต่งตัดทำนองร้องดนตรีให้เป็นอัตราจังหวะชั้นเดียว ใช้บรรเลงรวมกับทำนองของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) ครบเป็นเพลงเถา
๑๐. เทพชาตรี
เดิมเป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้นทำนองเก่า ต่อมา นายบุญยงค์ เกตุคง แต่งทำนองดนตรีจากเพลงเทพชาตรีสองชั้น ให้เป็นเพลงเถา โดยมี นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ เป็นผู้แต่งทำนองทางร้อง
๑๑. พราหมณ์ดีดน้ำเต้า / แขกพราหมณ์
เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้น ทำนองเก่ามี ๔ ท่อน ใช้ประกอบการแสดงละคร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงบรรจุเป็นเพลงอันดับที่ ๖ ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายของตับนิทราชาคริต
ที่มา : สารานุกรมนาฏศิลป์ และดนตรีไทย
๑. การละเล่นซักส้าว
เป็นการละเล่นประกอบบทร้องสนุกๆ สอดแทรกคำนิยามยกย่องผู้มีตำแหน่งสูง
จำนวนผู้เล่น
ไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องครบคู่
อุปกรณ์
ไม่ต้องใช้อุปกรณ์
วิธีเล่น
ให้ผู้เล่นแต่ละคู่ยืนหันหน้าเข้าหากัน ยื่นมือทั้งสองข้างออกมาจับกันแล้วโยกแขนไปมาพร้อมทั้งร้องเพลง
บทร้องประกอบเล่น
ซักส้าวเอย มะนาวโตงเตง
ขุนนางมาเอง จะเล่นซักส้าว
มือใครยาว สาวได้สาวเอา
มือใครสั้น เอาเถาวัลย์ต่อเข้า
๒. การละเล่นโพงพาง
วิธีเล่น
หาคนที่เป็นปลาโดยการจับไม้สั้นไม้ยาว เอาผ้าผูกตาคนที่เป็นปลา แล้วหมุน ๓ รอบ ผู้เล่นคนอื่นๆ ล้อมวง จับมือกันเดินเป็นวงกลม พร้อมกับร้องเพลงประกอบ เมื่อจบเพลงนั่งลงถามว่า "ปลาเป็นหรือปลาตาย" ถ้าตอบว่า ปลาเป็น คนที่อยู่รอบวงจะขยับเขยื้อนหนีได้ ถ้าบอกปลาตายจะต้องนั่งอยู่เฉยๆ หากคนที่ถูกปิดตาทายถูกว่าผู้ที่ตนจับได้เป็นใคร ผู้ที่ถูกจับนั้นก็ต้องมาเป็นปลาแทน ถ้าทายผิดก็ต้องเป็นต่อไป
บทร้องประกอบการเล่นมีว่า
โพงพางเอย
ปลาเข้าลอด
ปลาตาบอด
เข้าลอดโพงพาง
การละเล่นชนิดนี้ฝึกความสังเกต ความจำและความมีไหวพริบ การเล่นชนิดนี้คล้ายการเล่น 'เชโค' ของภาคใต้แต่บทร้องต่างกัน มีหลายบทเช่น "เชโคโยยานัด ฉัดหน้าแข้ง เดือนแจ้งมาเล่นเชโค" ทุกบทแสดงว่าเล่นเวลาเดือนหงาย บางจังหวัดมีการเล่นเช่นนี้แต่ไม่มีบทร้องเรียกว่า 'เสืองม', 'นายโม่'
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖
พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือไทยชั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก และรับราชการครั้งแรกในกรมมหาดเล็ก
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่งของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่างๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย
ด้านการศึกษา
ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติหน้าที่ทางการศึกษาอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นเพียงประมาณ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๓๓๓ - ๒๓๓๕) แต่พระองค์ทรงมีพระดำริริเริ่มเป็นเยี่ยมในพระกรณียกิจด้านนี้หลายประการ เช่น ทรงจัดวางระเบียบการบริหารราชการของกรมธรรมการและโรงเรียน ทรงขยายการศึกษาโดยอาศัย "วัด" ให้เปิดสอนเป็นโรงเรียน และทรงปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอน ตลอดจนจัดพิมพ์ตำราเรียน เป็นต้น
ด้านมหาดไทย
งานด้านมหาดไทยเป็นกิจการสำคัญยิ่งในการบริหารประเทศนั้น พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อตั้งและปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองภายในประเทศ และการบริหารราชการของกระทรวงมหาดไทย ผลงานที่โดดเด่นคือ การจัดตั้ง ระบบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งเป็นระบบแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มจัดตั้ง การสุขาภิบาลหัวเมือง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ โดยเริ่มที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งแรก ซึ่งนับเป็นการปูพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่น
สาธารณสุข
ทรงรับภาระในการจัดการโรงเรียนแพทย์ต่อจาก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงมีพระดำริ ริเริ่มให้มี โอสถศาลา สำหรับรับหน้าที่ผลิตยาแจกจ่ายให้ราษฎรในตำบลห่างไกล ซึ่งปัจจุบันคือ สถานีอนามัย และทรงจัดตั้งปาสตุรสภา สถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันโอนไปอยู่ในสังกัดของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย
ศิลปวัฒนธรรม
ทรงริเริ่มและวางรากฐานการดำเนินงานของกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และพระองค์ยังทรงอุทิศเวลาทรงพระนิพนธ์หนังสือ ตำราต่างๆ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อันเป็นมรดกทางปัญญาของชาวโลกมาจนกระทั่งทุกวันนี้
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราบดี มีนามเดิมว่า ม.ร.ว. เปีย มาลากุล เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เริ่มรับราชการเป็นเสมียนในกรมศึกษาธิการ ได้รับตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่อธิบดีกรมศึกษาธิการ ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาในด้านภาษาไทยมาเป็นอย่างดี มีความรู้แตกฉาน เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านได้แต่งหนังสือไว้หลายเล่มด้วยกัน ที่รู้จักกันดีคือ สมบัติผู้ดี ท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๙
พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศนนิภาธร เดิมพระนามว่า พระองค์เจ้าชายสุทัศนนิภาธร ประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๕ เป็นพระเจ้าลูกเธอลำดับที่ ๑๔ ในสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๕) กับ เจ้าจอมมารดา หม่อมหลวงนวม ปาลกะวงศ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงเป็นต้นบวรราชสกุล “สุทัศนีย์”
หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ) เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาชื่อพ่วง มารดาชื่อปิ่น บ้านเดิมอยู่ตำบลบ้านเพรียง อำเภอโพไร่หวาน จังหวัดเพชรบุรี บวชเรียนเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ ต่อได้อุปสมบทอยู่วัดราชประดิษฐ์ เมื่อลาสิกขาบทแล้วเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นรับราชการอยู่ในกรมศึกษาธิการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๐
หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น ขุนประเสริฐอักษรนิติ์ พระปริยัติธรรมธาดา และ พระยาปริยัติธรรมธาดา ตามลำดับ ตำแหน่งสำคัญที่เคยได้รับ ได้แก่ เจ้ากรมราชบัณฑิตขวา
ท่านเป็นที่นับถือและคุ้นเคยกับบรรดาเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยในสมัยนั้นมาก เป็นผู้ฝักใฝ่งานศึกษาของชาติอย่างแท้จริง และเลื่อมใสทางพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง สามารถพูดภาษาต่างๆ ได้หลายภาษา โดยเฉพาะภาษาบาลีสันสกฤต บั้นปลายชีวิตท่านป่วยเป็นโรคท่อปัสสาวะพิการ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๙ สิริรวมอายุได้ ๖๕ ปี มีบุตรชายหญิง รวม ๘ คน
ผลงานสำคัญ
• เป็นแม่กองคนแรกที่สามารถรวบรวม พจนานุกรมไทย สำเร็จอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังได้จัดทำพจนานุกรมอื่น ได้แก่ บาฬิลิปิกรม พจนานุกรม บาลี-ไทย ฉบับใหญ่ที่สุดที่ไทยมีอยู่ในเวลานี้ และ มหาพจนานุกรมสยาม ของกรมศึกษาธิการซึ่งยังไม่ได้พิมพ์เผยแพร่
• ค้นพบพระราชพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยหอพระสมุดวชิรญาณ พงศาวดารโบราณเล่มนั้นจึงถูกตั้งชื่อว่า พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เพื่อเป็นเกียรติประวัติ
• ตำนานเมืองเพชรบุรี เป็นผลงานที่สำคัญยิ่งด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรียบเรียงจากเอกสารทางราชการ คำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถูกใช้เป็นเอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องของเมืองเพชรบุรีอย่างแพร่หลาย
นายทัด หรือ มหาทัด เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้ที่มีความรู้ดีทั้งในทางโลกและทางธรรม คำว่า เปรียญ ที่ต่อท้ายชื่อนั้น มิใช่นามสกุล เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัตินามสกุล ดังนั้น ชื่อนายทัด เปรียญ จึงหมายถึง นายทัด ผู้เป็นนักปราชญ์ทางธรรม
มหาทัดได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาจนได้เปรียญธรรม เมื่อลาสิกขาแล้วจึงเข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการ เนื่องจาก นายทัด เป็นผู้ที่มีความรู้ดีทั้งทางโลกและทางธรรม จึงได้แต่งบทกลอนต่างๆ รวมทั้งบทดอกสร้อยสุภาษิต อันเป็นแบบเรียนไว้หลายบท เช่น บทแมวเหมียวแยกเขี้ยวยิงฟัน บทจิงโจ้โล้สำเภา บทเรือเล่นสามเส้นสิบห้าวา บทจ้ำจี้มะเขือเปราะ บทตุ๊กแกตัวพร้อย บทเจ้าการะเกด บทเท้งเต้งเรือลอย บทมดแดง บทลิงลมอมข้าวพอง บทจันทร์เจ้าขอข้าวขอแกง บทนกระจาบหัวเหลือง เป็นต้น
กระทรวงศึกษาธิการ แต่เดิมมีชื่อว่า กระทรวงธรรมการ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงธรรมการในระยะแรกมีหน้าที่จัดการพระศาสนา การศึกษา การพยาบาลและพิพิธภัณฑ์ ชื่อของกระทรวงนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อกลับไปกลับมาหลายครั้ง จนเป็น กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่หลักในด้านการศึกษา การศาสนา และวัฒนธรรม ตั้งอยู่ที่วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอก จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๔๕ รัฐบาลจึงได้แยกเรื่องการศาสนา และวัฒนธรรม ออกไปไว้ในกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง