ตำรารำ หรือ ตำรานาฏยศาสตร์ คือตำราที่บันทึกวิชาความรู้เกี่ยวกับการระบำรำฟ้อน เป็นสิ่งที่ช่วยอนุรักษ์คุณค่าและความรู้ด้านนาฏยศาสตร์ไทยไว้มิให้เสื่อมสูญไปตามกาลเวลา อีกทั้งยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของคัมภีร์นาฏศิลป์ของไทย สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นอุปกรณ์สำคัญในการประกอบพิธีไหว้ครูโขน-ละครมาตั้งแต่ดั้งเดิม
ตำรารำที่บรรดาพราหมณ์ได้นำเข้ามาถ่ายทอดในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณไม่มีต้นฉบับหลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน เนื่องจากได้สูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ความรู้ด้านการรำจึงถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาผ่านการบอกเล่า จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ทรงดำริในแนวทางที่จะทรงฟื้นฟูบ้านเมืองในด้านต่างๆ รวมทั้งโขน-ละครหลวง (ละครนางใน) เพื่ออนุรักษ์และสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมทางวรรณกรรม พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างวาดภาพท่ารำแบบต่างๆ ไว้
ตำราภาพท่ารำที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ ๓ ฉบับ ดังนี้
๑. ฉบับภาพเขียนสีฝุ่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ตำรารำฉบับภาพเขียนสีฝุ่น สมัยรัชกาลที่ ๑ นี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตำรารำฉบับวังหลวง เป็นภาพท่ารำประกอบคำกลอนบอกท่า มีทั้งภาพการฟ้อนรำของเทพบุตรและอัปสร บางภาพเป็นภาพการฟ้อนรำของกินรา กินรี ต้นฉบับมีภาพบางส่วนชำรุดและไม่ครบสมบูรณ์
๒. ฉบับภาพเขียนลายเส้นรงค์บนสมุดไทยดำ
ตำรารำฉบับภาพเขียนลายเส้นฯ เชื่อว่าเป็นตำรารำฉบับวังหน้า ฝีมือช่างเขียนราวรัชกาลที่ ๒-๓ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทานให้กับหอพระสมุดฯ ประกอบด้วยภาพท่ารำจำนวน ๖๑ ภาพ ลักษณะของภาพเป็นภาพการร่ายรำของเทพบุตรและอัปสร มีคำกลอนกำกับ และมีความสมบูรณ์มากกว่าฉบับที่ ๑
๓. ฉบับหอพระสมุด ฯ หรือฉบับภาพลายเส้นที่เขียนขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดฯ ให้ช่างเขียนภาพลายเส้นขึ้นเพื่อใช้ประกอบหนังสือ “ตำราฟ้อนรำ” เพื่อพิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ท่ารำบางภาพในตำรารำฉบับนี้ไม่สามารถใช้เป็นแม่แบบในการรำ และชื่อท่ารำบางชื่อมีความคลาดเคลื่อนจากตำราเดิม
คำว่า นาฏยศาสตร์ เป็นคำสมาสระหว่างคำว่า นาฏย และ ศาสตร์ หมายถึงวิชาความรู้อันเนื่องด้วยการฟ้อนรำ หรือการแสดงละครระบำรำฟ้อน
ภูมิปัญญาศิลปะการฟ้อนรำของไทยได้รับอิทธิพลสืบทอดมาจากประเทศอินเดีย ชาวอินเดียเป็นชนชาติที่เคารพนับถือเทพเจ้า และเชื่อว่าการฟ้อนรำเป็นศาสตร์ที่เทพเจ้ารังสรรค์ขึ้น จากนั้นก็นำมาสอนให้มนุษย์ได้รู้จัก เพื่อจะได้ร่ายรำบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าที่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ตามตำนานเล่าว่า พระศิวะหรือพระอิศวรเสด็จไปปราบฤๅษีที่ประพฤติอนาจาร เมื่อฤๅษีสิ้นฤทธิ์พระศิวะจึงร่ายรำให้เกิดเป็นปาฏิหาริย์ขึ้น ขณะนั้นยักษ์มุยะขะละ หรืออสูรมูลาคนีจะเข้ามาช่วยพวกฤๅษี จึงถูกพระศิวะเหยียบไว้ แล้วพระศิวะก็ยังฟ้อนรำต่อจนหมดกระบวนท่า
ต่อมาพระยาอนันตนาคราชอยากชมพระศิวะฟ้อนรำอีกครั้งจึงบำเพ็ญตบะ พระศิวะจึงเสด็จมาประทานพร และตรัสว่าจะเสด็จไปฟ้อนรำให้ดูที่โลกมนุษย์ ณ ตำบล จิทัมพรัม ซึ่งอยู่ในมณฑลมัทราฐของอินเดีย โดยร่ายรำทั้งหมด ๑๐๘ ท่า ชาวจิทัมพรัมจึงสร้างเทวาลัยแกะสลักท่าร่ายรำของพระศิวะขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพบูชา ผู้ที่ทำหน้าที่บันทึกท่าครั้งนี้คือ พระภรตฤๅษี ซึ่งได้รับการนับถือเป็น ๑ ในบรมครูของผู้ศึกษาด้านนาฏยศาสตร์ และเป็น พ่อแก่ หรือเศียรพระฤๅษีในพิธีไหว้ครู
หลังจากนั้นพระศิวะได้ฟ้อนรำอีกครั้งบนสรวงสวรรค์เพื่อให้มีการจดจำเป็นแบบฉบับ โดยมีเทพเจ้าองค์ต่างๆ ร่วมเล่นดนตรี และมีนารทฤๅษีเป็นผู้บันทึกท่ารำเพื่อนำมาสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์ ตำราที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งการขับร้อง ฟ้อนรำดังกล่าว เรียกว่า คันธรรพศาสตร์
ประเทศไทยได้รับอิทธิพลด้านการระบำรำฟ้อนมาจากอินเดียผ่านทางอาณาจักรขอม พร้อมๆ กับการรับเอาวัฒนธรรม รูปการปกครอง ตลอดจนลัทธิความเชื่อของพราหมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิการปกครองแบบเทวราชา ที่เชื่อกันว่าพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนสมมติเทพ ดังนั้นจึงมีประเพณีการขับรำถวายพระมหากษัตริย์ประดุจเทพเจ้า และมีการแสดงตำนานของเทพเจ้า ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมหรสพโขนในเวลาต่อมา
ตามตำนานเรื่องพระศิวะเสด็จปราบอสูรมูลาคนี ชาวอินเดียจึงเชื่อกันว่า พระศิวะเป็น นาฏราช หรือราชาแห่งการร่ายรำ และได้สร้างเทวรูปที่เรียกว่า ศิวนาฏราช หรือ ปางปราบอสูรมูลาคนี บูชากันในหมู่ผู้ที่ศรัทธาในไศวนิกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพิธีกรรมไหว้ครูครอบครู และพิธีสรงน้ำเทวรูปที่เป็นของพราหมณ์ราชสำนัก
กล่าวกันว่า ความหมายของศิวะนาฏราชนั้นแฝงเร้นปรัชญาฮินดูอันลึกซึ้งไว้ เนื่องจากพระศิวะได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าผู้ผลักเคลื่อนโลกให้เกิดเป็นวงโคจร หรือเรียกว่าเป็น “จังหวะ” ซึ่งมีทั้งด้านการกำเนิดสิ่งมีชีวิตและการทำลายล้าง จังหวะที่พระศิวะร่ายรำเร็วที่สุดเหมือนเพลงชั้นเดียวของไทยในการเล่นเพลงเถาตอนออกลูกหมด เรียกว่า ตาณฑวะ หมายถึงการหมุนอย่างรวดเร็วของโลกและทุกสิ่งทุกอย่างก็จะถูกทำลายในที่สุด
นาฏยศัพท์หรือศัพท์ที่ใช้ในการเรียนการสอนและการปฏิบัติการรำในนาฏศิลป์ไทย สามารถอธิบายได้เป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
๑. ส่วนของร่างกายตั้งแต่ สะเอว ลงมาถึงขา เท้า แขน มือ รวมเรียกว่า “เหลี่ยม”
๒. ส่วนของสะเอวขึ้นมาจนถึงศีรษะ รวมทั้ง แขน มือ รวมเรียกว่า “วง”
หลักและวิธีการในการอธิบายการปฏิบัติการรำ ครูอาจารย์ทางนาฏศิลป์ระบุให้อธิบายจากเท้าขึ้นมาสู่ศีรษะ โดยสามารถแยกแยะรายละเอียดได้ดังนี้
ส่วนของ “เท้า” | ||
กระทุ้ง |
= |
เป็นการใช้ปลายนิ้วเท้า กระทุ้งกับพื้นแล้วกระดกเท้าขึ้น |
กระดก |
= |
เป็นการส่งเท้าไปด้านหลัง หรือด้านข้าง แล้วงอเข่ายกเท้าขึ้น พร้อมทั้งหักข้อเท้าเข้าด้านใน และตึงปลายนิ้วเท้าด้วย กระดกสามารถปฏิบัติได้ทั้งขณะนั่ง และยืน มีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ กระดกหลัง กระดกข้าง (กระดกเสี้ยว) และกระดกไขว้ |
จรด |
= |
เป็นการใช้จมูกเท้า (รอยต่อระหว่างโคนนิ้วเท้ากับฝ่าเท้า) แตะพื้น หรือ การใช้ส้นเท้าแตะพื้น พร้อมทั้งยกฝ่าเท้า |
ประ |
= |
เป็นการใช้จมูกเท้าแตะพื้นแล้วยกขึ้น |
ตบ |
=
| เป็นการใช้จมูกเท้าตบพื้นเป็นจังหวะ โดยไม่ต้องยกเท้า |
ส่วนของ “ขา” หรือ “เหลี่ยม” | ||
ประสมเท้า |
= |
เป็นการย่อเข่า ส้นเท้าชิดกัน ปลายเท้าแยกออกจากกัน น้ำหนักอยู่ที่ส้นเท้าทั้งสอง |
ประสมเท้าประ |
= |
เป็นการย่อเข่า ส้นเท้าเหลื่อมกัน ปลายเท้าแยกออกจากกัน น้ำหนักอยู่ที่เท้าหลัง |
ฉายเท้า |
= |
เป็นวิธีการเลื่อนเท้าไปด้านข้าง ในขณะที่ย่อเหลี่ยม |
เต็มเหลี่ยม |
= |
เป็นการย่อเข่าทั้งสองข้างลงตามประเภทของผู้แสดง โดยที่น้ำหนักจะอยู่ตรงกลาง |
ลบเหลี่ยม |
= |
เป็นลักษณะการย่อเหลี่ยมข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งพับเข่าเข้าหาลำตัว น้ำหนักจะอยู่ที่เข่าข้างที่ย่อเหลี่ยม |
ส่วนของ “วง” (แขน-มือ) | ||
วงล่าง |
= |
เป็นการวางตำแหน่งมือในระดับสะเอว |
วงบน |
= |
เป็นการวางตำแหน่งมือที่สูงขึ้นมาจากกึ่งกลางลำตัวถึงศีรษะ |
ส่วนของ “มือ” | ||
มือ |
= |
เป็นการตั้งปลายนิ้วตึง นิ้วเรียงชิดติดกัน ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือจะตั้งตรงหักเข้าหาฝ่ามือ พร้อมทั้งหักข้อมือเข้าหาลำแขน |
มือจีบ |
= |
เป็นการกรีดนิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย ส่วนนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจรดกันที่องคุลีที่ ๒ นับจากโคนนิ้ว พร้อมทั้งเปิดปลายนิ้วทั้งสองด้วยมือจีบ สามารถปฏิบัติได้ตามลักษณะ ๓ อย่างคือ จีบหงาย (หงายมือจีบ) จีบคว่ำ (คว่ำจีบลง) จีบตะแคง (ตะแคงมือจีบ) ส่วนจีบล่อแก้วเป็นการจีบแบบพิเศษ คือ การกรีดนิ้วก้อย นิ้วนาง นิ้วชี้ ตึงทั้งหมด แล้วงอนิ้วกลางลง พร้อมทั้งนิ้วหัวแม่มือแตะกับปลายนิ้วกลางเป็นวงกลม |
รำแม่บท เป็นรำมาตรฐานที่ผู้แสดงจะรำตามบทขับร้องอีกทั้งต้องใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าให้สอดคล้องกลมกลืนไปกับท่วงทำนอง จังหวะของเพลงใช้เป็นการปฏิบัติฝึกหัดเบื้องต้นการเรียนวิชานาฏศิลป์ละคร ที่โบราณจารย์ด้านนาฏศิลป์ไทยได้ประดิษฐ์ขึ้นให้สอดคล้องกับบทร้องที่กำหนดการเรียกชื่อท่ารำต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน ท่าส่วนใหญ่จะเลียนแบบท่าธรรมชาติของมนุษย์ หากแต่นำมาปรับปรุงให้สวยงาม อ่อนช้อยตามแบบนาฏศิลป์ไทย
ท่ารำในแม่บท เป็นท่ารำที่มาจากเพลงช้า เพลงเร็ว ทั้งสิ้น เพียงแต่นำมาเรียงร้อยชื่อท่าเพื่อให้จดจำได้สะดวกขึ้น ซึ่งแต่ดั้งเดิมภาพท่ารำที่ปรากฏในตำรารำ เป็นเพียงภาพนิ่งซึ่งใช้เป็นแบบท่ารำ ไม่มีการเคลื่อนไหวหรือนำมาเป็นชุดการแสดง
อนึ่ง ท่ารำแม่บท (ใหญ่) ในตำรารำเป็นชุดการแสดงที่มีการเคลื่อนไหวซึ่งได้รับการประดิษฐ์ท่าเชื่อมโดยนางลมุล ยมะคุปต์ อดีตตัวละครเอก ในสำนักละครวังสวนกุหลาบ และ ครูมัลลี คงประภัสร์ ผู้ก่อตั้งหลักสูตรนาฏยศิลป์ไทยให้กับโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ชุดท่ารำแม่บทใหญ่นี้ได้ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรของวิทยาลัยนาฏศิลป์สืบมาจนถึงปัจจุบัน
ท่ารำในแม่บทใหญ่ มีอยู่ทั้งสิ้น ๖๔ ท่า ๑๘ คำกลอน ใช้เพลงชมตลาดเนื่องจากเป็นการเลียนแบบมาจาก แม่บท (เล็ก) หรือ แม่บทนางนารายณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของท่ารำในการแสดงละครเปิดโรง เรื่องนารายณ์ปราบนนทุก จากเรื่องรามเกียรติ์
เนื่องจากภาพในตำรารำเดิมเป็นภาพวาด ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดฯ ให้ พระยานัฐกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภาต) เจ้ากรมโขนหลวง จัดให้ศิลปินเป็นแบบถ่ายภาพตามภาพเขียน จนต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ นางลมุล ยมะคุปต์ และ นางมัลลี คงประภัสร์ ได้นำท่ารำจากภาพในตำรารำมาจัดทำเป็นชุดการแสดง ประกอบละครเรื่อง สุริยคุปต์ ของกรมศิลปากร โดยได้คิดท่าเชื่อม และมีการแก้ไขท่ารำบางท่าที่ซ้ำหรือใกล้เคียงกันให้เป็นแบบแผนขึ้นใหม่ ดังนี้
๑. ท่าหงส์ลินลา
เปลี่ยนตำแหน่งมือซ้ายที่จีบเข้าอก มาเป็นระดับวงล่าง (หัวเข็มขัด) ส่วนมือขวายังคงหงายมือหักศอกสูง
๒. ท่ายั้งคิด (ประลัยวาท ยั้งคิดประดิษฐ์ทำ)
มือขวาตั้งวง งอแขนเล็กน้อย มือซ้ายทอดแขนตึง ซึ่งเปลี่ยนสลับกับภาตำราภาพตำรารำ ด้วยเหตุที่ท่ารำในภาพซ้ำกับท่าพิสมัยเรียงหมอน นอกจากนี้ ยังได้ปรับเปลี่ยนท่าในส่วนของขา (เหลี่ยม) ให้เหมาะสม เช่น การวางเท้า ยกเท้า ทั้งเพื่อให้เกิดความงดงามและการสอดประสานกับกระบวนการเคลื่อนไหวของท่ารำ
กลอนตำรารำ
เทพประนมปฐมพรหมสี่หน้า |
สอดสร้อยมาลาช้านางนอน |
ผาลาเพียงไหล่พิสมัยเรียงหมอน |
กังหันร่อนแขกเต้าเข้ารัง |
กระต่ายชมจันทร์จันทร์ทรงกลด |
พระรถโยนสารมารกลับหลัง |
เยื้องกรายฉุยฉายเข้าวัง |
มังกรเลียบถ้ำมุจลินทร์ |
กินนรรำซ้ำช้างประสานงา |
ท่าพระรามาก่งศิลป์ |
ภมรเคล้ามัจฉาชมวาริน |
หลงใหลได้สิ้นหงส์ลินลา |
ท่าโตเล่นหางนางกล่อมตัว |
รำยั่วชักแป้งผัดหน้า |
ลมพัดยอดตองบังพระสุริยา |
เหราเล่นน้ำบัวชูฝัก |
นาคาม้วนหางกวางเดินดง |
พระนารายณ์ฤทธิรงค์ขว้างจักร |
ช้างหว่านหญ้าหนุมานผลาญยักษ์ |
พระลักษณ์แผลงอิทธิฤทธี |
กินนรฟ้อนฝูงยูงฟ้อนหาง |
ขัดจางนางท่านายสารถี |
ตระเวนเวหาขี่ม้าตีคลี |
ตีโทนโยนทับงูขว้างค้อน |
รำกระบี่สี่ท่าจีนสาวไส้ |
ท่าชะนีร่ายไม้ทิ้งขอน |
เมขลาล่อแก้วกลางอัมพร |
กินนรเลียบถ้ำหนังหน้าไฟ |
ท่าเสือทำลายห้างช้างทำลายโรง |
โจงกระเบนตีเหล็กแทงวิไสย |
กรดสุเมรุเครือวัลย์พันไม้ |
ประไลยวาตคิดประดิษฐ์ทำ |
กระหวัดเกล้าขี่ม้าเลียบค่าย |
กระต่ายต้องแร้วแคล้วถ้ำ |
ชักซอสามสายย้ายลำนำ |
เป็นแบบรำแต่ก่อนที่มีมา |
บทพระนางนารายณ์ในบทละครเรื่อง รามเกียรติ์" พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑
ตอน นารายณ์ปราบนนทุก
เทพประนมปฐมพรหมสี่หน้า |
สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน |
ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน |
กินรินเลียบถ้ำอำไพ |
อีกช้านางนอนภมรเคล้า |
แขกเต้าผาลาเพียงไหล่ |
เมขลาโยนแก้วแววไว |
มยุเรศฟ้อนในอัมพร |
ลมพัดยอดตองพรหมนิมิต |
ทั้งพิสมัยเรียงหมอน |
ย้ายท่ามัจฉาชมสาคร |
พระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์ |
ฝ่ายว่านนทุกก็รำตาม |
ด้วยความพิสมัยใหลหลง |
ถึงท่านาคาม้วนหางลง |
ก็ชี้ลงถูกเพลาเข้าทันใด |
กลอนไหว้ครูละครชาตรี (โนห์รา เมืองนครศรีธรรมราช)
สอนเอยสอนรำ |
ครูให้ข้ารำเทียมบ่า |
ปลดปลงลงมา |
แล้วให้ข้ารำเพียงพก |
วาดไว้ปลายอก |
เรียกแม่ลายกนกผาลา |
ซัดสูงขึ้นเพียงหน้า |
เรียกช่อระย้าดอกไม้ |
ปลดปลงลงมาใต้ |
ครูให้ข้ารำโคเวียน |
นี่เรียกรูปวาด |
ไว้วงให้เหมือนรูปเขียน |
ท่านี้คงเรียน |
ท่าจ่าเทียนพาดตาล |
ฉันนี้เหวยนุช |
พระพุทธเจ้าท่านห้ามมาร |
ฉันนี้นงคราญ |
พระรามเธอข้ามสมุทร |
รำเล่นสูงสุด |
เป็นท่าพญาครุฑร่อนมา |
ครุฑเฉี่ยวนาคได้ |
ร่อนกลับไปในเวหา |
ทำท่าหนุมาน |
เหาะทะยานไปเผาลงกา |
รำท่าเทวา |
สารถีขี่ม้าชักรถ |
ท่านางมัทรี |
จรลีหว่างเขาวงกต |
ท่าพระดาบส |
ลีลาจะเข้าอาศรม |
สี่มุมปราสาท |
วาดไว้เป็นหน้าพรหม |
ฉันนี้ตนกลม |
เรียกนารายณ์น้าวศร |
ประเพณีการไหว้ครูนาฏศิลป์นั้น เป็นการแสดงความคารวะผู้มีพระคุณด้วยการบวงสรวงบูชา ซึ่งนับถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่งของบรรดาศิลปินทั่วไป โดยเฉพาะศิลปินทางนาฏดุริยางคศิลป์นั้นเชื่อและนับถือกันว่า วิชาการทางด้านนาฏดุริยางค์นั้นมีกำเนิดมาจากเทพเจ้า และได้ถ่ายทอดสู่มนุษย์โลก ส่งต่อผ่านครูอาจารย์มาตามลำดับจนถึงปัจจุบันนี้
พิธีการไหว้ครูทางด้านนาฏดุริยางค์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้ดำเนินตามแบบแผนที่ส่งทอดมาแต่โบราณ และบางครั้งอาจแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างศรัทธาให้เกิดมีมากยิ่งขึ้น พิธีนี้เรียกกันว่า พิธีครอบ ซึ่งดำเนินต่อท้ายจากพิธีไหว้ครู จนเป็นที่เข้าใจว่า ถ้ากล่าวถึงพิธีไหว้ครูก็จะมีความหมายถึงการทำพิธีครอบด้วย
พิธีนี้กำหนดว่า ถ้าเป็นศิษย์ที่หัดโขน-ละคร ครูผู้ใหญ่จะทำพิธีไหว้ครูและครอบให้ต่อเมื่อศิษย์ได้หัดรำ เพลงช้า-เพลงเร็ว ได้ หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ สามารถที่จะออกแสดงเป็นตัวเสนา หรือนางกำนัลได้ ถ้าเป็นศิษย์ที่หัดดนตรีปี่พาพาทย์ก็ต้องสามารถร่วมบรรเลงเพลงโหมโรงได้จบ ซึ่งนับว่าเล่นดนตรีเป็นพอที่จะออกบรรเลงในงานสวดมนต์เย็น และฉันเช้าได้
เมื่อศิษย์ผู้ใดฝึกหัดจนเกิดวามชำนาญ มีชื่อเสียง มีความสามารถพอที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ตนฝึกฝนมาให้กับผู้อื่นได้ ครูจะประกอบพิธีอีกอย่างหนึ่งให้กับศิษย์ผู้นั้น ซึ่งเรียกว่า พิธีรับมอบ โดยครูผู้ทำพิธีจะมอบอาวุธต่างๆ และบอกอนุญาตให้ไปเป็นครูถ่ายทอดแก่ผู้อื่นได้ เช่น ถ้าเรียนปี่พาทย์ ครูผู้ใหญ่จะมอบอุปกรณ์การบรรเลงหรือเครื่องดนตรีแต่ละชนิดให้
การไหว้ครูและครอบครู โขน-ละคร
เป็นการไหว้ครูที่มีขั้นตอน การประกอบพิธีหลายอย่างเช่นกัน ซึ่งสามารถสรุปขั้นตอนได้ดังนี้ คือ
ขั้นที่ ๑ ไหว้ครูเมื่อเริ่มเรียน เรียกว่า “คำนับครู”
ในขั้นนี้ ครูผู้ใหญ่จะเป็นผู้กำหนดวัน โดยจะใช้วันพฤหัสบดี เป็นวันประกอบพิธี จะอัญเชิญศีรษะครูที่สำคัญ เป็นต้นว่า พระภรตฤๅษีและพระครูพิราพจัดตั้งในที่สมควร มีดอกไม้ ธูปเทียน ตั้งบูชาด้วย ครูผู้ใหญ่จะกล่าวนำให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นศิษย์ถวายดอกไม้ ธูปเทียน และกล่าวโองการคำนับครู ต่อจากนั้นจะคัดเลือกศิษย์ใหม่ออกเป็นพวกตามประเภทของตัวละคร (พระ-นาง-ยักษ์-ลิง) และจะจับมือให้รำเป็นปฐมฤกษ์
ขั้นที่ ๒ เมื่อศิษย์ฝึกหัดไปได้พอสมควร สามารถออกแสดงเป็นตัวประกอบได้บ้าง ก็จะทำพิธีไหว้ครู
ในขั้นที่ ๒ เพื่อต่อเพลงหน้าพาทย์ซึ่งเป็นเพลงที่นับถือว่ามีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ ในขั้นนี้อาจจะประกอบพิธีร่วมในการไหว้ครูประจำปีก็ได้ โดยจะต้องจัดเตรียม สถานที่ เครื่องสังเวยบูชา และเชิญครูผู้ใหญ่ ซึ่งได้รับกรรมสิทธิ์ให้เป็นผู้ประกอบพิธี และในตอนท้ายครูผู้ใหญ่จะเป็นผู้ครอบศีรษะที่สำคัญให้กับศิษย์ทีละคน พร้อมทั้งปราสาทพรมงคล ในขั้นนี้เรียกว่า “พิธีครอบ”
ขั้นที่ ๓ ไหว้ครูเมื่อศิษย์มีความสามารถที่จะเป็นครูถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์รุ่นหลังต่อไปได้
ครูผู้ใหญ่ที่ได้รับการประสิทธิ์ประสาทให้เป็นผู้ประกอบพิธีเท่านั้น จึงจะเป็นผู้นำในการไหว้ครูครั้งนี้ได้ พิธีกรรมในขั้นนี้เรียกว่า “พิธีรับมอบ” ดำเนินพิธีต่อจากพิธีครอบ โดยผู้ประกอบพิธีสมมติเป็น พระภรตฤๅษี จะทำพิธีครอบศีรษะครู พร้อมทั้งมอบอาวุธศิลป์ ศร พระขรรค์ และอุปกรณ์การแสดงให้กับศิษย์ ศิษย์รับอาวุธต่างๆ ไว้ ครูประสาทพระมงคล และพออนุญาตให้ไปเป็นครูเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีรับมอบ
ขั้นที่ ๔ ไหว้ครูเมื่อเริ่มเรียนหน้าพาทย์สูงสุด คือหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
หน้าพาทย์องค์พระพิราพ เป็นหน้าพาทย์สูงสุดทางดนตรีและนาฏศิลป์ ผู้ที่จะเรียนจะต้องมีความรู้ ความสามารถอยู่ในขั้นสูง มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ สมควรแล้ว ครูผู้ใหญ่จึงจะทำการสอนให้ ก่อนทำการสอนจะต้องประกอบพิธีมีเครื่องสังเวยบูชาครบถ้วน ประกอบพิธีไหว้ครูเต็มตามตำราเสียก่อน จากนั้นจึงต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
ขั้นที่ ๕ ไหว้ครูเพื่อรับมอบให้เป็นผู้ประกอบพิธีต่อไป
ในขั้นนี้นิยมประกอบพิธีภายหลังการไหว้ครูครั้งใหญ่ประจำปี เมื่อเสร็จสิ้นพิธีครอบและรับมอบแล้ว ครูผู้ใหญ่จะเรียกศิษย์ที่มีความสามารถ มีคุณสมบัติตามบทบัญญัติ ให้เข้ามารับมอบพระตำรา ไม้เท้า และศีรษะครูที่สำคัญ พร้อมทั้งประสิทธิ์ประสาทกรรมสิทธิ์และพรมงคลให้ในท่ามกลางครูผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ศิษย์เมื่อได้รับการประสิทธิ์ประสาทแล้ว จะต้องปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในพรหมวิหารอย่างครบถ้วน และจะนับถือเสมอว่า ถ้าครูผู้มอบให้ยังคงมีชีวิตสามารถประกอบพิธีได้ ตนเองจะไม่ประกอบพิธีเป็นอันขาด นอกจากว่าครูจะอนุญาต เช่นเดียวกับขนบบัญญัติทางด้านดนตรี
ขั้นตอนการไหว้ครูทางนาฏศิลป์ โขน-ละคร นี้ ศิลปินบางท่านอาจจะได้รับการกระกอบพิธีไม่ครบทั้ง ๕ ขั้นตอนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละท่าน และตามความคิดเห็นของครูผู้ใหญ่
รายละเอียด องค์ประกอบต่างๆ ในพิธีไหว้ครู ได้แก่
๑. การกำหนด วันเวลา “กาลมงคล” วันพฤหัส ข้างขึ้น เดือนคู่
- ไหว้ครูวันพฤหัสบดี เพราะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ ด้วยเหตุที่วันพฤหัสบดี เป็นวันครู เพราะมีกำเนิดจากฤๅษีผู้สั่งสอน ถึง ๑๙ องค์
- ไหว้ครู นิยมประกอบพิธี ข้างขึ้น เดือนคู่ (ข้างขึ้น ตามหลักโหราศาสตร์นับถือว่า เป็นวันฟู สัญลักษณ์ของความอุดมสมบรูณ์สำเร็จ เดือนคู่ เป็น เดือนมงคลคู่ นับว่าเป็นมงคล เดือนคี่ เป็นเศษ)
๒. หัวโขนที่ใช้ประกอบพิธีครอบ ให้กับศิษย์
๒.๑ หัวโขนพระภรตฤๅษี (พระภรตฤๅษี เป็นครูมนุษย์ท่านแรก เป็นผู้แต่งนาฏยศาสตร์ ตามเทวโองการของพระพรหม)
๒.๒ หัวโขนพระพิราพ (พระพิราพเป็นปางดุร้ายของพระอิศวร ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดท่ารำ)
๒.๓ เทริด เป็นศิราภรณ์ของละครโนราชาตรี ซึ่งนับถือว่าเป็นละครที่เก่าแก่ที่สุด อีกประการหนึ่ง เทริดใช้ได้กับตัวพระ ตัวนาง ดังนั้น การครอบเทริดจึงมีความหมายว่า มีความรู้ทั้งพระและนาง อันเป็นหลักของตัวแสดงทางนาฏศิลป์ไทย
๓. บทบาทของครูผู้ประกอบพิธี ฯ
ขั้นตอนแรก เริ่มตั้งแต่ผู้ประกอบพิธีฯ รำเข้าสู่มณฑลพิธี จนถึงถวายเครื่องสังเวย กระยาบวช ผู้ประกอบพิธีมีบทบาทและหน้าที่เป็นเพียงหัวหน้าศิษย์ในการบูชาครู
ขั้นตอนต่อมา ผู้ประกอบพิธีสวมหัวโขนพระภรตฤๅษี ถือไม้เท้ารำบนผ้าขาวที่ปูลาดเข้าสู่ที่ประทับ ประกอบพิธีครอบ-รับมอบให้กับศิษย์ จนถึงส่งครูกลับ โดยผู้ประกอบพิธีรำบนผ้าขาวกลับออกไป ผู้ประกอบพิธีมีบทบาทและ
หน้าที่เปรียบเหมือนพระภรตฤๅษีเสด็จมาประกอบพิธีครอบ-รับมอบให้กับศิษย์ (ผ้าขาวเปรียบเสมือนทางเดินระหว่างสวรรค์ถึงมนุษยโลก)
๑. การกำหนด วันเวลา “กาลมงคล” วันพฤหัส ข้างขึ้น เดือนคู่
- ไหว้ครูวันพฤหัสบดี เพราะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ ด้วยเหตุที่วันพฤหัสบดี เป็นวันครู เพราะมีกำเนิดจากฤๅษีผู้สั่งสอน ถึง ๑๙ องค์
- ไหว้ครู นิยมประกอบพิธี ข้างขึ้น เดือนคู่ (ข้างขึ้น ตามหลักโหราศาสตร์นับถือว่า เป็นวันฟู สัญลักษณ์ของความอุดมสมบรูณ์สำเร็จ เดือนคู่ เป็น เดือนมงคลคู่ นับว่าเป็นมงคล เดือนคี่ เป็นเศษ)
๒. หัวโขนที่ใช้ประกอบพิธีครอบ ให้กับศิษย์
๒.๑ หัวโขนพระภรตฤๅษี (พระภรตฤๅษี เป็นครูมนุษย์ท่านแรก เป็นผู้แต่งนาฏยศาสตร์ ตามเทวโองการของพระพรหม)
๒.๒ หัวโขนพระพิราพ (พระพิราพเป็นปางดุร้ายของพระอิศวร ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดท่ารำ)
๒.๓ เทริด เป็นศิราภรณ์ของละครโนราชาตรี ซึ่งนับถือว่าเป็นละครที่เก่าแก่ที่สุด อีกประการหนึ่ง เทริดใช้ได้กับตัวพระ ตัวนาง ดังนั้น การครอบเทริดจึงมีความหมายว่า มีความรู้ทั้งพระและนาง อันเป็นหลักของตัวแสดงทางนาฏศิลป์ไทย
๓. บทบาทของครูผู้ประกอบพิธี ฯ
ขั้นตอนแรก เริ่มตั้งแต่ผู้ประกอบพิธีฯ รำเข้าสู่มณฑลพิธี จนถึงถวายเครื่องสังเวย กระยาบวช ผู้ประกอบพิธีมีบทบาทและหน้าที่เป็นเพียงหัวหน้าศิษย์ในการบูชาครู
ขั้นตอนต่อมา ผู้ประกอบพิธีสวมหัวโขนพระภรตฤๅษี ถือไม้เท้ารำบนผ้าขาวที่ปูลาดเข้าสู่ที่ประทับ ประกอบพิธีครอบ-รับมอบให้กับศิษย์ จนถึงส่งครูกลับ โดยผู้ประกอบพิธีรำบนผ้าขาวกลับออกไป ผู้ประกอบพิธีมีบทบาทและ
หน้าที่เปรียบเหมือนพระภรตฤๅษีเสด็จมาประกอบพิธีครอบ-รับมอบให้กับศิษย์ (ผ้าขาวเปรียบเสมือนทางเดินระหว่างสวรรค์ถึงมนุษยโลก)
ผู้ที่จะประกอบพิธีครอบโขน-ละครได้มี ๒ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑
คือ ผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครอบพระราชทาน ด้วยประเพณีไทยถือเป็นหลักสืบมาแต่โบราณว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครอุปถัมภ์ของศิลปะนานาชนิด เมื่อไม่มีตัวครูในสาขานั้นๆ แล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหรือครอบพระราชทานผู้ใดให้ปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานครอบแล้วสามารถทำพิธีครอบผู้อื่นต่อไปได้
ประเภทที่ ๒
คือ ผู้ที่ได้รับประสิทธิ์ประสาทจากครูผู้ประกอบพิธีครอบเดิม โดยจะต้องเป็นศิลปินชาย และเป็นผู้แสดงเป็นตัวพระ อายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี เคยบวชเรียนมาแล้ว มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม เป็นที่เคารพนับถือของศิษย์ทั้งปวง ผู้ประกอบพิธีครอบโขน ละคร ที่สำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์มีอยู่ ๕ ท่าน คือ
๑. ครูเกษ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงต้นรัชกาลที่ ๔
๒. ครูแผน ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕
๓. พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖
๔. หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฎ) ในสมัยรัชกาลที่ ๘ ถึงรัชกาลปัจจุบัน
๕. นายอาคม สายาคม ในรัชกาลปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ นายอาคม สายาคม ซึ่งเป็นประธานประกอบพิธีครอบครูได้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน โดยมิได้มอบหมายหน้าที่ประธานในพิธีไหว้ครูให้กับผู้ใดไว้ รวมทั้งในช่วงนั้นครูผู้ได้รับพระราชทานครอบและต่อท่ารำองค์พระพิรามไว้ได้ทยอยถึงแก่กรรมลงหลายท่าน กรมศิลปากรจึงขอรับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานประกอบพิธีไหว้ครู เพื่อประกอบพระราชพิธีพระราชทานครอบให้ พร้อมทั้งขอพระราชทานครอบองค์พระพิราพในโอกาสเดียวกัน โดยทรงกำหนดวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๗ เป็นวันประกอบพระราชพิธี ทั้งนี้ ได้มีการบันทึกเหตุการณ์ถ่ายภาพ และถ่ายภาพยนตร์ไว้เป็นหลักฐานเพื่อศึกษาต่อไป
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ มีพระนามที่เรียกขานเดิมกันว่า พระองค์ปุก ประสูติ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๓ เป็นพระเจ้าลูกเธอลำดับที่ ๑๑ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ ๓ ในเจ้าจอมมารดามาลัย ประสูติเมื่อครั้งพระราชบิดายังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ก่อนบวรราชาภิเษก) มีพระเชษฐภคินีร่วมพระชนนีเดียวกัน คือพระองค์เจ้าหญิงซึ่งไม่ปรากฏพระนามเพราะสิ้นพระชนม์ไปเมื่อครั้งแรกประสูติ และพระองค์เจ้าหญิงดวงประภา
เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรทิวงคต รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบการปกครองฝ่ายในพระราชวังบวรแก่พระองค์เจ้าดวงประภา และพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ ตามลำดับ
พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ ทรงมีพระอัธยาศัยสุภาพเรียบร้อย เสมอต้นเสมอปลายทั้งในราชการ และความประพฤติต่อพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพยกย่องว่าเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง แม้จะมีกิจสุขทุกข์ประการใด ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์มาโดยเฉพาะตลอด
พระองค์ทรงมีบทบาทในการอนุรักษ์ตำรารำของไทย โดยได้ประทานตำรารำฉบับภาพเขียนลายเส้นรงค์บนสมุดไทยดำให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณ
พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ พระชันษาได้ ๗๒ ปี ๒ เดือน กับ ๑ วัน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านายที่เป็นพระโอรสและพระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า "พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ"