ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้มีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศสยาม ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวต่างชาติที่สำคัญคนหนึ่งคือ ด็อกเตอร์แดน บีช บรัดเล (Dr. Dan Beach Bradley)ซึ่งเป็นแพทย์มิชชันนารี ชาวอเมริกันและเป็นท่านแรกที่ริเริ่มหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยขึ้นและพิมพ์หนังสือไทยในประเทศสยามผลงานการพิมพ์ ทางการแพทย์ที่สำคัญเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สตรีชาวสยามในสมัยนั้นคือ คำภีร์ครรภ์ทรักษา
คำภีร์ครรภ์ทรักษา เป็นหนังสือที่หมอบรัดเลใช้วิชาการแพทย์อย่างตะวันตก พิมพ์เพื่อเผยแพร่วิชาผดุงครรภ์ เป็นตำราทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี จ.ศ. ๑๒๐๔ (พ.ศ. ๒๓๘๕ ) โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อแสดงวิธีรักษาครรภ์โดยง่ายและสะดวก เนื่องผู้หญิงในสยามคลอดบุตรยากและลำบาก
๒. ท่านเห็นว่าทารกเมื่อแรกเกิดนั้นมีโรค และมักตายเร็วเป็นอันมาก เพราะการรักษาของหมอ ในสมัยนั้นเป็นที่วิปลาศ
๓. ด้วยเหตุที่ท่านศึกษาและรวบรวมตำราจากตำราการแพทย์ที่อเมริกาและอังกฤษที่ใช้รักษา เป็นผลดีเป็นที่ยอมรับมาหลายร้อยปี
นอกเหนือจากที่กล่าวตามวัตถุประสงค์ไว้แล้ว ยังสอดแทรกคำภีร์ทางศาสนา กล่าวถึงการสร้างโลก ชีวิต เนื้อหาภายใน บอกถึงการกำเนิดของมนุษย์ในครรภ์มารดา อธิบายการทำคลอดเวลาปกติและกรณีเด็กไม่คลอด โดยมีแผนภาพแสดงกายวิภาคของผู้หญิงและเด็กทารก ตั้งแต่แรกเริ่มปฏิสนธิจนกระทั่งคลอด ตลอดจนกระทั่งอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ประกอบ บอกวิธีการสังเกตและตรวจสอบว่าทารกเป็น ฝาแฝดหรือไม่ นอกจากนี้ยังว่าด้วยการ แท้งลูกและการคลอดก่อนกำหนด ตลอดจนถึงวิธีรักษาและแก้ไข
คำภีร์ครรภ์ทรักษาที่หมอบรัดเลเขียนเป็นตำราโดยย่อ พอเข้าใจโดยสังเขป ต่อเมื่อหมอหลวงและคนทั่วไป ยอมรับแล้ว ท่านก็จะอธิบายขยายให้กว้างขวางต่อไปภายหลัง ผลสืบเนื่องคือท่านเป็นคนแรกที่พยายามแนะนำให้ คนไทยเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟ นอกจากนี้ หมอบรัดเลยังเป็นผู้หนึ่งที่มีชื่อเสียงในการพิมพ์และการผ่าตัด ประสบ ความสำเร็จในการปลูกฝี และฉีดยาต่อต้านไข้ทรพิษ อีกด้วย