สารบัญ
หมอบรัดเลกับการแพทย์ไทย

บทนี้กล่าวถึงการแพทย์แผนปัจจุบันสู่ประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อ หมอบรัดเลนายแพทย์ชาวอเมริกันได้เดินทางมาถึง ท้ายสุดจะกล่าวถึงชีวประวัติของท่านในฐานะผู้จัดทำหนังสือ คำภีร์ครรภ์ทรักษา

๒.๑ การแพทย์แผนปัจจุบันสู่ประเทศไทย

จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์พบว่า การแพทย์แผนปัจจุบันได้เข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จ พระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยาอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๔ ถึง พ.ศ. ๒๐๗๒ ชาวโปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรก ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา มีการกล่าวกันว่า ยาขี้ผึ้งสำหรับใส่บาดแผลบางชนิดที่ตกทอดมาถึงกระทั่ง ปัจจุบันนั้น เป็นตำรับของแพทย์โปรตุเกส ฝรั่งชาติถัดไปคือ ฮอลันดาและอังกฤษ แต่ทั้งสองชาตินี้ไม่พบหลักฐาน เกี่ยวกับการแพทย์

จนกระทั่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. ๒๒๐๕ ไทยจึงเริ่มมีสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับ ฝรั่งเศส ในแผ่นดินพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ปรากฏหลักฐานว่าฝรั่งเศสได้ตั้งโรงพยาบาลขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาแห่งหนึ่ง มีตำรับยาที่แพทย์ฝรั่งเศสตั้งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ยังตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) นายแพทย์คาร์ล ออกูสตัส กุสสลาฟ (Carl Augustus Friedrich Gutzlaff) ชาวเยอรมัน และศาสตราจารย์จาคอบ ทอมลิน ชาวอังกฤษ ทั้งสองท่าน ได้ให้การรักษาทางแพทย์ แจกยาและแจกหนังสือทางศาสนาที่แปลไว้เป็นภาษาจีน โดยสภาคริสตจักรอเมริกัน (American Board of Commissioners for Foreign Missions-ABCFM) ได้ส่งมิชชันนารีอเมริกันเข้ามา ในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง

มิชชันนารีอเมริกันคนแรกที่เข้ามาเป็นแพทย์ปริญญาชื่อนายแพทย์เดวิด อาบีล (David Abel) สังกัดคณะ คองกรีเกรชั่น เดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๗๔ ทำงานอยู่ในเมืองไทยประมาณ ปีกว่าๆ ก็ป่วยเป็นไข้ จึงได้เดินทางไปรักษาตัวที่สิงคโปร์ ต่อมารัฐบาลไทยประกาศห้ามราษฎรรับแจกหนังสือ จากพวกมิชชันนารี ประกอบกับสุขภาพทรุดโทรมลง จึงเดินทางกลับไปอเมริกา

บุคคลต่อไปซึ่งเป็นบุคคลสำคัญคือ นายแพทย์แดน บีช บรัดเล (Dan Beach Bradley ๑๘๐๔-๑๘๗๓) เป็นมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนของคณะอเมริกันบอร์ด นับเป็นชุดที่สามได้มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ และกลับไปอเมริกาใน พ.ศ. ๒๓๙๐ ต่อมาได้กลับเข้ามาทำงานต่อในเมืองไทย ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๓

๒.๒ ชีวประวัติหมอบรัดเล

หมอบรัดเลเป็นคนเมืองมาร์เซลลุส (Marcellus) ในมลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กำเนิดเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ ภายหลังจากให้กำเนิดหมอบรัดเล มารดาได้สิ้นชีวิตในวันต่อมา

สังคมอเมริกันในสมัยนั้นเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูศาสนา ซึ่งมีอิทธิพลต่อหมอบรัดเลโดยตรง เมื่อศึกษาการแพทย์จบ และสมัครเป็นมิชชันนารี คณะอเมริกันบอร์ดอนุมัติให้หมอบรัดเลเดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในประเทศสยาม ก่อนเดินทางมาประเทศสยามหมอบรัดเลสมรสกับเอมิลี รอยซ์ (Emilie Royce) ผู้ที่ยอมอุทิศตนให้กับคริสต์ศาสนา

หมอบรัดเลถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๕ (พ.ศ. ๒๓๗๘) จากนั้นได้ร่วมงานเผยแผ่คริสต์ศาสนา นิกายโปรเตสแตนต์ พร้อมกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ผลงานที่สำคัญด้านการแพทย์ของหมอบรัดเล ในช่วงนี้ก็คือ การตัดแขนเพื่อรักษาชีวิตพระภิกษุรูปหนึ่ง จากอุบัติเหตุปืนใหญ่ระเบิด นับว่าเป็นการผ่าตัดแขนขา ผู้ป่วยครั้งแรกในประเทศไทย การผ่าตัดที่ทำให้หมอบรัดเลมีชื่อเสียงเช่นกัน ก็คือ การผ่าตัดต้อกระจกในนัยน์ตา

งานสำคัญด้านการแพทย์อีกประการของหมอบรัดเลคือ การนำเอาวิธีปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ เข้ามาใช้ในการแพทย์ เมืองไทยโดยได้ทดลองเพาะหนองเชื้อขึ้นเองในกรุงเทพ ฯ ได้สำเร็จ หมอบรัดเลได้เขียนบทความอธิบายถึงวิธีการ ปลูกฝี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้พระราชทานรางวัลให้ ๓ ชั่ง (๒๔๐ บาท) ซึ่งถือเป็น จำนวนที่มากในสมัยนั้น

หมอบรัดเลได้กล่าวตอบต่อเจ้าพระยาพระคลัง เมื่อไปรับเงินรางวัลพระราชทานว่า จะนำเงินนี้ไปใช้จ่ายในการ เขียนตำราผดุงครรภ์ เพื่อเป็นความรู้สำหรับหมอหลวงและหมอชาวบ้านโดยทั่วไป ภายหลังก็สำเร็จเป็นตำราแพทย์ แผนปัจจุบัน ชื่อว่า "คำภีร์ครรภ์ทรักษา" ในที่สุด

เนื่องจากหมอบรัดเลได้รักษาผู้ป่วยด้วยวิชาแพทย์แผนตะวันตก ซึ่งถือเป็นของใหม่สำหรับคนไทยในสมัยนั้น และ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นชาวบ้านธรรมดาหายจากโรคต่างๆ เป็นจำนวนมาก ด้วยกิตติศัพท์ของหมอบรัดเลได้ทราบถึง พระกรรณเจ้าฟ้ามงกุฎ (คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังไม่เสด็จขึ้นครองราชย์) ซึ่งทรงผนวช อยู่ที่วัดราชาธิวาส พระองค์จึงมีรับสั่งให้หมอบรัดเลเข้าเฝ้า เพื่อถวายการรักษาพระโรคลมอัมพาตที่เกิดแก่พระพักตร์ ของพระองค์ ผลการรักษาได้ผลดี และทำให้หมอบรัดเลได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จนทรงโปรดเป็นพระสหาย คนหนึ่งในเวลาต่อมา เจ้านายที่ทรงโปรดหมอบรัดเลมากอีกพระองค์หนึ่งก็คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี (ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ส่วนขุนนางที่สนิทสนมกับหมอบรัดเลก็คือ หลวงนายสิทธิ์ (ช่วง บุนนาค ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ในรัชกาลที่ ๔)

พวกมิชชันนารีได้อาศัยบ้านเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ข้างวัดประยุรวงศาวาสริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่อยู่ใหม่ และเป็นโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือเผยแผ่คริสต์ศาสนา รับใช้ราชการไทย โดยการพิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นและ ห้ามค้าฝิ่น นับว่าเป็นเอกสารราชการไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์ และเป็นการเผยแพร่เทคโนโลยีการพิมพ์ เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ต่อมา หมอบรัดเลได้หล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดใหม่ขึ้น ได้ใช้พิมพ์หนังสือที่เป็น งานแปลของท่านด้านการอนามัยแม่และเด็กออกมาด้วยเล่มหนึ่ง คือ คำภีร์ครรภ์ทรักษา ต่อมาอีก ๒ ปี คณะมิชชันนารี ก็ได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายเดือนภาษาไทยฉบับแรกที่ชื่อว่า บางกอกรีคอเดอ (Bangkok Recorder) ออกจำหน่าย

หลังจากที่ภรรยาถึงแก่กรรม หมอบรัดเลได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกาพร้อมกับลูก ในอีก ๒ ปีต่อมา ท่านได้แต่งงาน กับภรรยาคนที่ ๒ คือ แซราห์ แบลกเลย์ (Sarah Blachley) และกลับมาประเทศสยาม ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เช่าที่ข้างพระราชวังเดิม ปากคลอง บางหลวง ฝั่งธนบุรี ปลูกเรือนเป็นที่อยู่ แลtโรงพิมพ์ ในตอนนี้ หมอบรัดเลย้ายไปสังกัดองค์กรเอเอ็มเอ (AMA=American Missionary Association) แทน แต่เนื่องจากองค์กรมีฐานะทางการเงินไม่ดี หมอบรัดเลจึงต้อง หาเลี้ยงชีพด้วยการรับพิมพ์หนังสือและพิมพ์หนังสือต่างๆ ออกจำหน่าย มีทั้งตำราเรียนภาษาไทย เช่น ประถม ก กา จินดามณี วรรณคดีเรื่อง ราชาธิราช และ สามก๊ก รวมทั้งหนังสือนิราศเมืองลอนดอน ซึ่งหมอบรัดเลซื้อลิขสิทธิ์จาก อดีตศิษย์ที่เรียนภาษาอังกฤษกับท่าน คือ หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) เป็นเงิน ๔๐๐ บาท นับเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ครั้งแรกในประเทศไทย

ในช่วงนี้หมอบรัดเลได้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดออีกครั้งหนึ่ง วัตถุประสงค์ คือเพื่อเสนอข่าวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แจ้งราคาสินค้าพืชผลต่างๆ แจ้งกำหนดเวลาเรือกำปั่นเข้ามายังกรุงเทพฯ และออกจากกรุงเทพฯ รวมทั้งบทความที่ให้ความรู้ทางวิชาการทั่วๆไป เช่น วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ที่สำคัญ ผู้เป็น บรรณาธิการคือ หมอบรัดเล ได้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้แก่ประชาชนระดับล่าง รวมถึงการเขียนบทความ ต่อต้านชาวต่างประเทศบางคนที่เป็นภัยแก่ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่มาของการที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ถูกฟ้องร้อง ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

มูลเหตุของการฟ้องร้องมาจาก การตีพิมพ์พาดพิง มองซิเออร์ โอบาเร (Monsieur Aubaret) กงสุลฝรั่งเศส ถึงสองครั้งทำให้กงสุลฝรั่งเศสโกรธมาก ต่อมามองซิเออร์ โอบาเร ได้กระทำสิ่งที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ส่งบันทึกกราบบังคมทูลเชิงบังคับ ให้พระองค์ทรงถอดถอน ข้าราชการไทยผู้หนึ่ง ที่ท่านกงสุลรังเกียจออกจากตำแหน่ง เมื่อหมอบรัดเลตีพิมพ์เรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอเดอ กงสุลโอบาเร ก็ฟ้องร้องท่านต่อศาลกงสุลอเมริกันด้วยข้อหาหมิ่นประมาท

ศาลกงสุลอเมริกันจึงได้นัดไต่สวนพยานและได้ตัดสินให้หมอบรัดเลแพ้ความ และให้เสียค่าปรับเป็นเงิน ๑๐๗ ดอลลาร์ ๗๕ เซ็นต์ เงินค่าปรับนี้ บรรดาเพื่อนๆ ของหมอบรัดเลได้เรี่ยไรกันช่วยจ่ายให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ก็ได้พระราชทานเงินอีกจำนวนหนึ่งช่วยหมอบรัดเลด้วย เมื่อจบคดีความกับกงสุลฝรั่งเศสแล้ว หมอบรัดเล ก็ได้ประกาศเลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ

หลังจากปิดหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ แล้ว หมอบรัดเลยังคงเลี้ยงชีพด้วยการทำงานพิมพ์ และขายสิ่งพิมพ์อื่นๆ ต่อมา จนกระทั่งถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ช่วยงานฝังศพและทำรั้วล้อมหลุมศพของหมอบรัดเลที่สุสานโปรเตสแตนท์ ในกรุงเทพฯ

๒.๓ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับชีวประวัติหมอบรัดเล

เอกสารที่เกี่ยวกับหมอบรัดเล มีเอกสารสำคัญที่ทำให้ทราบประวัติหมอบรัดเล ได้แก่ หนังสือ “สยามเดน” (Siam Then) เขียนและเรียบเรียงโดย Dr. William L. Bradley ผู้เป็นเหลนของหมอบรัดเล โดยดร.วิลเลี่ยมส์เขียนขึ้น ในลักษณะอัตชีวประวัติ จากต้นฉบับเอกสารไดอารี่ของหมอบรัดเล (คือบันทึกที่หมอบรัดเลบันทึกเหตุการณ์ ชีวิตประจำวันตั้งแต่ออกเดินทางมาจากบ้านเกิด) และ ABSTRACT OF BRADLEY (หนังสือฉบับย่อจากไดอารี่ ของหมอบรัดเลโดย จอร์จ คอลล์ ฮอลตัส ตอนนี้อยู่เก็บรักษาที่โอกาลิน )

สำหรับอัตชีวประวัติหมอบรัดเลที่เขียนโดยดร.วิลเลียมส์นี้ มีผู้เข้าใจว่าเป็นบันทึกที่หมอบรัดเลเป็นผู้เขียนเอง โดยเรื่องนี้นายแพทย์คฑาวุฒิ โลกาพัฒนา นายแพทย์กุมารเวชกรรม ผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ท่านเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของหมอบรัดเลได้ให้สัมภาษณ์ว่า

“ดร.วิลเลียมส์เขียนอัตชีวประวัติหมอบรัดเล เสมือนหนึ่งว่าหมอบรัดเลเขียนเอง จนมีคนเข้าใจผิดว่าหมอบรัดเลเขียน เอง ซึ่งดร.วิลเลียมส์เขียนจากบันทึกประวัติที่หมอบรัดเลเขียน ซึ่งเข้าใจว่าหมอบรัดเลเริ่มบันทึกตั้งแต่ออกเดินทาง ในบันทึกมักมีการจดรายละเอียดทุกๆอย่างเช่นเรื่องดีใจ เสียใจ ได้เข้าเฝ้า แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯก็มีบันทึก แสดงว่ามีแผ่นดินไหวแรง เพราะขนาดหมอบรัดเลอยู่กรุงเทพ ฯ บนพื้นยังรู้สึกได้”

ในเนื้อหาไดอารี่ของหมอบรัดเล คือ บันทึกของหมอบรัดเลที่บันทึกชีวิตประจำวันตั้งแต่ออกเดินทางมาจากบ้านเกิด จากการสัมภาษณ์นายแพทย์คฑาวุฒิ กล่าวว่า “กล่าวถึงทุกอย่าง ชีวิตประจำวัน วันแรกที่ทำผ่าตัดรู้สึกอย่างไรผ่าตัดก้อนเนื้อที่งอกออกที่หน้าผากของคนจีน ที่ปากน้ำ ถ้าผ่าแจ้งตายไป ชีวิตมิชชันนารีอาจจบวันนั้น ในที่สุดก็ผ่าโดยใช้ยาชา ต้องมัดตัว แสงก็ผ่าสำเร็จก้อนเนื้อ นั้น ประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒-๓ นิ้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่”

นายแพทย์คฑาวุฒิ ยังได้กล่าวถึงเนื้อหาในไดอารี่ อีกว่า มีการบันทึกว่าสมัยนั้นมีการให้เลือด “ในบันทึกของหมอบรัดเล บอกว่าเริ่มมีการให้เลือด คือ ภรรยาของศาสตราจารย์ดีนที่เดินทางมาด้วยกัน คลอดลูกแล้ว ลูกอยู่แต่แม่ตาย โดยภรรยาของหมอบรัดเลลูกตายแต่แม่อยู่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้ที่ทำให้สนใจครรภ์ทรักษา คิดว่าอะไรฝังใจอยู่ในเรื่องนี้ ซึ่งแม่หมอบรัดเลก็คลอดแล้วตายในคืนนั้นด้วย แต่ไม่ได้บันทึกสาเหตุ”

หน้า จาก ๔ หน้า