ในการจัดทำและพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ "ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน" ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือกันระหว่าง "กรมศิลปากร" และ "สำนักงานอุทยานการเรียนรู้" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำหนังสือและเอกสารหายากที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักหอสมุดแห่งชาติและสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาจัดทำให้อยู่ในรูปของดิจิทัล (Digital) และสามารถเผยแพร่ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง สำหรับหนังสือเรื่อง "ตำราแพทย์แผนโบราณ" ว่าด้วยวิชาหมอนวดก็เป็นหนึ่งในจำนวนหนังสือที่ได้ถูกคัดเลือกมาให้จัดทำและพัฒนาตามโครงการดังกล่าว
หนังสือเรื่อง "ตำราแพทย์แผนโบราณ" ว่าด้วยวิชาหมอนวด เรียบเรียงโดย ร.อ.ขุน โยธา-พิทักษ์ (แท่น ประทีปะจิตติ) ซึ่งเคยเป็นนายแพทย์ประจำกระทรวงกลาโหมสมัยรัชกาลที่ ๕ ในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกตามเนื้อหาเป็นส่วนๆ คือ
ส่วนแรก เป็นหลักการนวด โดยใช้ภาพประกอบพร้อมระบุตำแหน่งต่างๆ ที่จะใช้แก้พยาธิของโรคอย่างละเอียด รวมทั้งวิธีการวางปลิง (ชัลลุกะ) ตามจุดต่างๆ ของร่างกายเพื่อใช้รักษาโรค
ส่วนที่สอง เป็นเรื่องของโยคศาสตร์ หรือตำราฤๅษีดัดตนฉบับวัดโพธิ์
ส่วนที่สาม กล่าวถึงอาการของโรคต่างๆ
ส่วนที่สี่ เป็นเรื่องของเภสัชหรือยาขนานต่างๆ ที่ใช้รักษาโรค
เอกสารฉบับนี้เป็นการศึกษาค้นคว้า เรียบเรียงข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเรื่อง "ตำราแพทย์แผนโบราณ" เพื่อใช้เป็นเนื้อหาประกอบในการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสมบูรณ์รอบด้านและเพื่อต่อยอดความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้จัดทำจึงหวังว่าผู้ที่ได้ใช้ประโยชน์จากเอกสารฉบับนี้จะได้ประโยชน์และสามารถนำไปต่อยอดได้ตรงตามจุดประสงค์ของโครงการ
อาจารย์ ดร.ทรงธรรม ปานสกุณ
ผู้จัดทำ
ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บเป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ในสังคมดั้งเดิมก่อนยุคตั้งบ้านเมืองวิถีชีวิตของคนในสังคมยึดมั่นอยู่กับวิญญาณนิยม นับถือผีสางเทวดา อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติตลอดจนโรคภัยว่าเกิดจากอำนาจที่มองไม่เห็น การปัดเป่าความทุกข์ร้อนเนื่องจากความวิปริตของธรรมชาติ รวมถึงการรักษาโรคจึงขึ้นอยู่กับอำนาจลึกลับโดยมีหมอผีเป็นตัวกลางในการควบคุมและใช้อำนาจลึกลับนั้น
การแพทย์ในยุคแรกๆ ของสังคมมนุษย์ จึงผูกพันอยู่กับไสยศาสตร์และความเชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครั้นต่อมาด้วยประสบการณ์และการลองผิดลองถูกจึงพบประโยชน์จากสมุนไพรและสัตว์ซึ่งได้นำมาใช้ในการรักษา
เมื่อสังคมได้วิวัฒนาการจากสังคมดั้งเดิม เข้าสู่ยุคอาณาจักรในสมัยสุโขทัยและอยุธยา ได้รับอิทธิพลศาสนาและวัฒนธรรมที่สูงกว่าจากอินเดียและเขมร แต่ลัทธินับถือผีสางเทวดาก็ยังฝังอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน ในยุคนี้การรักษาโรค นอกจากจะพึ่งหมอซึ่งรักษาด้วยเวทมนตร์คาถาและสมุนไพรแล้ว วิชาการแพทย์ระบบเก่า ก็ได้เผยแพร่เข้ามาจากอินเดีย มีตำรับตำราการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชีวกโกมารภัต ผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยพุทธกาลและเป็นแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้รู้ในเรื่องสมุนไพรสามารถนำมาปรุงยาได้หลายขนาน นอกจากนั้นท่านยังสามารถผ่าตัดสมองและลำไส้ และเป็นผู้ได้สร้างตำราวิชาเวชศาสตร์และเภสัชศาสตร์ซึ่งถือเป็นคัมภีร์แพทย์ในสมัยต่อมา
นอกจากความรู้ทางการแพทย์จากอินเดียแล้ว การแพทย์แผนโบราณของจีนก็มีบทบาทอยู่มาก ในอยุธยามีย่านขายยาซึ่งเป็นย่านคนจีน แพทย์ไทยบางคนได้มีโอกาสเรียนรู้ตำรายาของจีน และใช้นำมาในการรักษาโรคด้วย ถึงแม้จะมีวิชาการแพทย์และตำราที่ค่อนข้างเป็นระบบ แต่ตำราแพทย์ถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่มีการแก้ไขหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น นอกจากนั้นอิทธิพลความเชื่อถือในอำนาจลึกลับยังคงครอบงำสังคมอยู่ การรักษาและดูแลผู้ป่วยจึงขึ้นอยู่กับสิ่งเหนือธรรมชาติด้วย ความเชื่อถือในเรื่องนี้ผูกพันอย่างแนบแน่นกับการแพทย์แผนโบราณของไทยมาแต่อดีตกาลจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงจะเห็นได้จากการเก็บสมุนไพรและการปรุงยาต้องทำตามฤกษ์ยาม โชคลางเวทมนตร์ และคาถา การลงเลขยันต์ในชิ้นส่วนของสมุนไพร, ในก้นหม้อต้มยา, บนผ้ายันต์ปิดปากหม้อต้มยา หรือบนเฉลวปักปากหม้อ ในการรักษาผู้ป่วยนอกจากการรักษาทางยาแล้ว ยังใช้ไสยศาสตร์ด้วย เช่น แพทย์ผู้รักษาจะปั้นรูปดินเหนียวใส่ในกระทงพร้อมด้วยข้าว เกลือ พริก หมากพลูฯ จุดธูปเทียนนำไปวางตามทางเดินหรือลอยลงในแม่น้ำลำคลองเป็นการบัตรพลีเพื่อขจัดปัดเป่าความเจ็บไข้ และปลอบขวัญให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยและญาติ พิธีกรรมนี้เรียกว่า กระบาล (ค่าธรรมเนียมสำหรับพิธีการนี้เรียกว่า เสียกระบาล)
ในสมัยนี้ผู้ทำหน้าที่แพทย์มี ๒ ประเภท คือแพทย์พื้นเมืองหรือที่เรียกกันว่า หมอราษฎร รับรักษาชาวบ้านทั่วไป ค่ารักษาก็แล้วแต่จะได้รับจากผู้ป่วย หมอราษฎรมักเป็นผู้ชายมีทั้งที่เป็นฆราวาสและพระสงฆ์ นอกจากหมอตำแยซึ่งมักเป็นหญิงสูงอายุเท่านั้น การเป็นหมอในสมัยนั้นเป็นได้ยาก ส่วนมากผู้ที่มีโอกาสฝึกฝนเล่าเรียนจะเป็นบุตรหรือญาติสนิทของหมอเอง แต่บางคนศึกษาโดยอาศัยตำรา แล้วทำการทดลองฝึกหัดรักษาจนมีความชำนาญ
หมอราษฎร ถ้ามีความชำนาญและมีความสามารถมากจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้รับแต่งตั้งเป็นหมอหลวงมีหน้าที่รักษาสมาชิกของราชวงศ์ตลอดจนขุนนางตามพระบรมราชโองการ ได้รับพระราชทานเงินจากงบประมาณแผ่นดิน การฝึกเป็นหมอหลวงทำได้โดยบิดาที่เป็นหมอหลวง จะนำบุตรชายเข้าฝึกหัดเป็นผู้ช่วยในกรมหมอหลวงจนชำนาญและได้เลื่อนขั้นตามลำดับ ซึ่งใช้เวลาศึกษาและฝึกฝนนานนับเป็นปีๆ
ในสมัยอยุธยานอกจากการแพทย์แผนโบราณที่ใช้รักษากันอยู่แล้ว ยังมีการแพทย์จากตะวันตกซึ่งเข้ามาเมื่ออยุธยามีความสัมพันธ์กับตะวันตก แต่อิทธิพลการแพทย์ตะวันตกนี้มิได้ทำให้วิธีการรักษาพยาบาลแต่เดิมของไทยเปลี่ยนแปลงไป เพราะข้อจำกัดอันเนื่องมาจากวิถีประชาและวัฒนธรรมในสมัยนั้นไม่เอื้ออำนวยให้กับการรักษาแบบตะวันตกซึ่งอันเป็นการแพทย์แผนปัจจุบัน แม้มีหลักฐานการสร้างสถานพยาบาลโดยบาทหลวงฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักจากราชสำนัก อีกทั้งชาวฝรั่งเศสอยู่ในอยุธยาไม่นานพอที่จะวางรากฐานการแพทย์แบบใหม่ได้ อย่างไรก็ตามมีหลักฐานที่ระบุว่าในสมัยพระนารายณ์ชาวฝรั่งเศสได้ใช้การแพทย์แบบใหม่ในการรักษาผู้ป่วย เชอร์ วาเลีย เดอฟอร์บัง นายทหารฝรั่งเศสซึ่งมิได้เป็นแพทย์เคยเย็บแผลให้พันตรีโบเรอ คาร์ท ที่ถูกแทงไส้ทะลักเมื่อคราวกบฏมักกะสัน โดยอาศัยจากที่เคยเห็นมา ฟอร์บังยกไส้และกระเพาะใส่คืนในช่องท้อง แล้วใช้ไหมร้อยเข็ม ๒ เล่มเย็บแผล จากนั้นก็นำไข่ขาวตีผสมกับเหล้ารัมชะล้างบาดแผลทุกวัน ทำอยู่ ๑๐ วัน ไม่นานก็หายสนิท
เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวฝรั่งเศสได้เดินทางออกจากอยุธยาไปหมด ทำให้การเผยแพร่วิชาแพทย์แผนตะวันตกสิ้นสุดลง การรักษาโรคจึงพึ่งการแพทย์แผนโบราณมาโดยตลอด ต่อมาในปี ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายย่อยยับในการสงคราม ตำรับตำราวิชาการแขนงต่างๆ ถูกทำลายและสูญหายไปมาก เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งราชธานีใหม่ ณ กรุงธนบุรี ก็ยังพัวพันอยู่กับการสงคราม การฟื้นฟูวิทยาการต่างๆ จึงค่อนข้างทำได้ยาก เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายเมืองหลวงจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามาทางฝั่งตะวันออก ทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ และขานนามราชธานีแห่งนี้ว่า กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ฯ ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ อันนับเป็นปีที่ ๑ แห่งรัตนโกสินทร์ศก อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรือง
โดยได้เริ่มฟื้นฟูวิทยาการด้านต่างๆ เช่น กฎหมาย มีการรวบรวมและชำระตัวบทกฎหมาย เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการว่ากล่าวคดี นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกอีกด้วย
สำหรับในด้านการแพทย์ ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ นั้น ยังคงใช้การรักษาตามแผนโบราณที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ใช้ประโยชน์จากสมุนไพรสัตว์ วัตถุ ธาตุวัตถุในการปรุงยา มีการรักษาด้วยการนวดร่างกาย และรักษากระดูกหักโดยใช้เฝือกแบบลูกระนาด
แต่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑ นี้ ยังมีสงครามอันยืดเยื้อมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีทำให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะลำบากที่จะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งการสุขาภิบาลก็ยังไม่ดีนัก การระบาดของโรคจึงค่อนข้างมาก ใน พ.ศ. ๒๓๔๓ มีอหิวาตกโรคระบาด แต่ไม่พบหลักฐานว่าระบาดมากน้อยเพียงใด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธี อาฎานาติยสูตรให้ยิงปืนใหญ่น้อยรอบพระนคร เป็นการบำรุงขวัญประชาชน และเพื่อให้ความเจ็บไข้หายไป การรักษาทางยาก็เป็นยาหม้อแผนโบราณเท่านั้น
ในปีพุทธศักราช ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดโพธารามใช้เวลาทั้งสิ้น ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน สิ้นพระราชทรัพย์ทั้งสิ้นเป็นเงิน ๕,๘๑๑ ชั่ง ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ทรงให้จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ ไว้ว่า "...ทำศาลารายห้าห้อง เจ็ดห้อง เก้าห้อง เป็นสิบเจ็ดศาลา เขียนเรื่องพระชาดกห้าร้อยสิบพระชาติ ตั้งตำรายาและฤๅษีดัดตน ไว้เป็นทาน..." ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการรวบรวมตำรายาเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน
ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า "ทุกวันนี้คัมภีร์แพทย์ ณ โรงพระโอสถเสื่อมสูญไป มิได้เป็นเรื่องต้นเรื่องปลาย อนึ่งเหล่าแพทย์ผู้เฒ่าที่ชำนาญในลักษณะโรคแลสรรพคุณยาก็มีอยู่น้อย ยากที่กุลบุตรจักเล่าเรียนให้ชัดเจนได้" เพื่อประโยชน์แก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระพงศ์นรินทร์ราชนิกูล พระโอรสของพระเจ้าตากสิน ซึ่งเวลานั้นรับราชการอยู่กรมหมอ เป็นผู้สืบเสาะหาตำรายาลักษณะโรคทั้งหลายจากพระราชาคณะ ข้าราชการตลอดจนราษฎร ผู้ใดมีตำราดีขอให้จดมาถวาย ครั้งนั้นมีผู้จดตำรายาถวายเป็นจำนวนหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งหมอหลวงได้ตรวจสอบและจดลงเป็นตำรา
ลุวันศุกร์ ปีมะโรงโทศก เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๓๖๓) พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้รับพระบรมราชโองการให้ยกกองทัพเรือไปตั้งรับทัพพม่าที่กาญจนบุรี ในการเดินทัพได้ผ่านวัดจอมทอง ณ ที่นี้ได้ทรงทำพิธีเบิกโขนหลวงตามพิธีพิชัยสงคราม และทรงอธิษฐานขอให้ทำสงครามเสร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่กองทัพคอยอยู่จนหน้าฝน พม่าก็มิได้ยกทัพมา จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพกลับ
เมื่อเสด็จกลับแล้ว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดจอมทองนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานนามว่า วัดราชโอรสาราม (เรียกกันทั่วไปว่า วัดราชโอรส) การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ได้ทรงให้จารึกตำรายา ตำราหมอนวด และตำราวางปลิงในแผ่นหิน ติดไว้ตามกำแพงแก้วของพระวิหารและพระอุโบสถ และ เมื่อเสด็จเสวยราชสมบัติในปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ พระองค์ทรงมีรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้งหนึ่ง และได้จารึกตำรายาร่วมร้อยขนานไว้ในแผ่นศิลาฝังไว้ตามเสาระเบียงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในการแพทย์และทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา ในปีพุทธศักราช ๒๓๗๔ เมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ จึง "มีพระราชประสงค์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะให้เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชนไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ ถ้าจะเรียกอย่างทุกวันนี้ ก็คือ จะให้เป็น "มหาวิทยาลัย" ...พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำราต่างๆ ซึ่งสมควรจะเล่าเรียนเป็นชั้นวิสามัญศึกษา มาตรวจแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง ประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง แล้วโปรดให้จารึกแผ่นศิลาประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ..." และยังมีภาพเขียนและรูปปั้น ซึ่งรวบรวมทั้งทางวรรณคดี ศาสตราคม ตำรายา ตำราหมอนวดพร้อมรูป ๓๐ คู่ วิชาเภสัชสมุนไพร รูปปั้นท่าฤๅษีดัดตนเพื่อกายภาพบำบัด ๘๐ ท่า แผ่นจารึกบอกสมุฏฐานของโรค วิธีรักษาเด็กและผู้ใหญ่ทางตำรายานั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบำเรอราชแพทย์เป็นหัวหน้าสืบหาความรู้ทางแพทย์มาตรวจแก้แล้วจารึกบนแผ่นหินอ่อนประดับบนเสาและผนังตามศาลาราย นอกจากนี้ยังปลูกต้นไม้ไว้ทำยาด้วย คือ ต้นสมอไทย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการวาดภาพฤๅษีดัดตนเป็นจิตรกรรมฝาผนังไว้ ณ ศาลาโถง วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อำเภอเมือง สงขลา ภาพฤๅษีดัดตนที่นี่มีทั้งหมด ๔๐ ท่า แต่ละท่ามีโคลงสี่สุภาพประกอบ เนื้อความโคลงนี้เหมือนกับที่วัดพระเชตุพนฯ เข้าใจว่าคงจะคัดลอกไป
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในตำรับและคัมภีร์แพทย์ (เดิมได้จารเป็นอักขระในใบลานเหมือนคัมภีร์ธรรมะ) ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องทะนุบำรุงให้คัมภีร์แพทย์ให้เป็นหลักฐานแพร่หลายต่อไปในการภายหน้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมแพทย์หลวงและขุนนางข้าราชการนำคัมภีร์แพทย์ต่างๆ มาตรวจสอบให้ตรงกันกับของดั้งเดิม แพทย์หลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำคัมภีร์แพทย์ในที่ต่างๆ มาตรวจสอบได้แก่ พระบรมวงศ์เธอกรมหมื่นอักษรสาส์นโสภณ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย พระยาอมรศาสตร์ประสิทธิ์ศิลป์ หลวงกุมารแพทย์ หลวงกุมารเพชร ขุนกุมารประเสริฐ ขุนเทพกุมาร คณะกรรมการนี้ได้ตรวจสอบชำระคัมภีร์แพทย์ทั้งมวลให้ถูกต้องและได้แปลคัดลอกใหม่จากภาษาขอม มคธ เป็นภาษาไทย จดลงสมุดข่อยเรียกว่าตำรา ถวายเก็บไว้ในคลังพระตำราหลวงข้างพระที่มีหลักฐานบันทึกไว้ในหอสมุดหลวง แต่โดยมากแล้วตำรานี้ยังคงใช้กันในหมู่แพทย์หลวง
จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ต้นรัชกาลของราชวงศ์จักรี พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเห็นซึ่งความสำคัญของการแพทย์ มีการรวบรวมชำระตำรายาและตำราทางการแพทย์ และยังได้เผยแพร่ความรู้เหล่านี้แก่ราษฎร ในช่วงที่การแพทย์แผนตะวันตกยังไม่มีบทบาทในเมืองไทยนี้ การรักษาพยาบาลยังเป็นตามแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ คือ รักษาทางยา การนวด และใช้ไสยศาสตร์ ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น
สำหรับด้านสูติกรรมในสมัยก่อน การคลอดบุตรทำที่บ้านโดยหมอตำแยซึ่งมักเป็นหญิงสูงอายุ แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องพึ่งความรู้ความสามารถของหมอยา (ซึ่งเป็นผู้ชาย) ก็อาจมีการตามมาช่วยได้หลังคลอดแล้ว หญิงนั้นต้องอยู่ไฟโดยการนอนบนกระดานซึ่งสุมฟืนไฟอยู่ข้างใต้ในห้องแคบๆ เป็นเวลา ๕-๓๐ วัน การอยู่ไฟนี้มิได้ทำเฉพาะในคนไทย แต่มีทั้งในลาว มอญ พม่า มาเลย์ และจีน
ในเรื่องการคลอดบุตรตั้งแต่สมัยโบราณนั้น สรุปได้ว่าหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด และคลอดที่บ้านตามแบบฉบับที่เคยใช้กันมาแต่โบราณ หลังคลอดใช้วิธีอยู่ไฟเพื่อให้มดลูกเข้าอู่ และงดของแสลงจนครบ ๑๕ วัน ต่อมาการคลอดโดยแพทย์แผนปัจจุบันและทางพยาบาล ได้เริ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อนายแพทย์ ปีเตอร์ กาแวน ได้เข้ามารับราชการเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายแพทย์กาแวนได้ทำคลอดหม่อมของกรมหมื่นปราบปรปักษ์อย่างปลอดภัยไม่ต้องอยู่ไฟ และเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ มีพระอาการไข้ กรมหมื่นปราบฯ กราบทูลชี้แจงจนพระองค์เลิกผทมเพลิงแล้ว ให้นายแพทย์ กาแวน พยาบาลแบบฝรั่ง จนเป็นแบบฉบับของพวกมีบรรดาศักดิ์ ในราชสำนักและประชาชนภายนอกต่อมา แต่ในท้องถิ่นที่ยังไม่เจริญก็ยังมีผู้อยู่ไฟอยู่บ้าง
ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิชาแพทย์แผนโบราณได้รับการฟื้นฟูและสนับสนุน โดยเฉพาะในสำนักกรมแพทย์พระราชวังบวร (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ) อีกทั้งเมื่อจัดตั้งโรงศิริราชพยาบาล ก็ได้เปิดรักษาตามแผนโบราณด้วย แต่ต่อมาความนิยมในแพทย์แผนใหม่มีมากขึ้น จึงยกเลิกการรักษาแผนโบราณในโรงพยาบาล
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการแพทย์แผนโบราณจะสูญหายหรือถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิง แพทย์แผนโบราณยังเปิดรักษาพร้อมกันได้พยายามปรับปรุงวิธีการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้ในปัจจุบันว่ามีแพทย์แผนโบราณกระจายอยู่และทุกภาคทุกจังหวัดของประเทศ มีสมาคมแพทย์แผนโบราณ สถานนวดแผนโบราณ และในวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ก็มีการเปิดสอนวิชาแพทย์แผนโบราณ โดยจัดตั้งเป็นโรงเรียนรับสอนปีละประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ คน
การแพทย์แผนไทยกับอิทธิพลการแพทย์แผนตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
แม้ว่าในสมัยอยุธยาจะมีนายแพทย์จากตะวันตกเข้าไปอยู่ในราชสำนักแล้วก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าวิธีการรักษาแบบชาวตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือการรักษาแบบการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้เพราะคนไทยยอมรับการแพทย์ตะวันตกเฉพาะในบางเรื่องเท่านั้น เช่น การรักษาโดยการผ่าตัดหรือที่เรียกว่าศัลยกรรม หรือการใช้ยาบางขนานของชาวตะวันตก เช่น ตำรายาเฉพาะโรคของหมอเมสี ซึ่งเป็นยาสีผึ้งแก้ปวดเมื่อย หรือถอนพิษปวดแสบปวดร้อน หรือยาของแพทย์โอสถฝรั่ง แก้ขัดปัสสาวะอันปรากฏในตำราพระโอสถพระนารายณ์
ครั้งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ บทบาทของการแพทย์แผนตะวันตกหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมมีมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาของมิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางการแพทย์โดยตรงและเป็นมิชชันนารีด้วย โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beach Bladley M.D.) เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อวงการแพทย์แผนไทยมาก เพราะไม่เพียงแต่จะมีเฉพาะแต่ยาเม็ดเท่านั้น แต่มีทั้งยาฉีด อุปกรณ์ผ่าตัด ตำราทางการแพทย์วินิจฉัยโรค อีกทั้งมีแพทย์หลวง ขุนนาง รวมทั้งเชื้อพระวงศ์ไปศึกษากับหมอ บรัดเลย์ ทำให้การแพทย์แผนตะวันตกเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจัง สำหรับประชาชนธรรมดา แม้ส่วนหนึ่งจะชื่นชมการแพทย์แผนตะวันตก แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงนิยมชมชอบการรักษาแบบการแพทย์แผนไทย
วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ เป็นวันแรกที่มีการเปิดรับรักษาคนไข้ในสถานพยาบาลที่หมอ บรัดเลย์สร้างขึ้นในกรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการรักษาพยาบาลโดยชาวตะวันตกที่ศึกษาเล่าเรียนมาทางการแพทย์โดยตรง แต่ในวันนั้นทั้งวันไม่มีผู้ป่วยคนใดมารักษา ไม่มีผู้ใดมาขอยา แต่หมอบรัดเลย์ก็มิได้ละความตั้งใจโดยเริ่มรักษาชาวจีนที่เข้ารีตก่อน จนการรักษาเป็นที่ร่ำลือว่ามีความสามารถดุจหมอเทวดา ทำให้คนไทยมีความสนใจที่จะเข้าไปรักษา และในที่สุดขุนนางก็เริ่มยอมรับ
การรักษาคนป่วยของมิชชันนารีนั้นมิใช่จะมีแต่ยาเม็ดเช่นแต่ก่อน แต่มียาหลากหลายชนิด ทั้งยากิน ยาฉีด ใช้การผ่าตัด การถอนฟัน และการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นรูปแบบของโรงพยาบาลในสมัยปัจจุบันนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม มิชชันนารียังคงยึดการเผยแพร่ศาสนาเป็นหลัก ให้คนป่วยสวดมนต์และอ่านพระคัมภีร์ก่อนกินยา โดยชี้ให้เห็นว่าฤทธิ์เดชของพระเป็นเจ้าจะทำให้ผู้ป่วยหายปกติ จะได้เชื่อและศรัทธาในพระเจ้าของนิกายโปรเตสแตนท์
นอกจากการรักษาโรคตามปกติแล้ว มิชชันนารีอเมริกันได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการแพทย์แผนตะวันตก คือการผ่าตัดแขนพระภิกษุซึ่งเกิดอุบัติเหตุจากดอกไม้ไฟและไฟพะเนียงที่บรรจุดินดำในกระบอกปืนใหญ่ระเบิด ในงานฉลองวัดประยูรวงศ์ในปี พ.ศ. ๒๓๘๐ นำการปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษมาเผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ และได้พิมพ์ตำราแพทย์เป็นภาษาไทยเล่มแรกคือ "คัมภีร์ครรภ์ท-รักษา" เขียนโดยหมอ บรัดเลย์ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีเดียวกันนั้นเอง ซึ่งถือว่าเป็นตำราแพทย์แผนตะวันตกที่เป็นภาษาไทยเล่มแรกหนาประมาณ ๒๐๐ หน้า มีเนื้อหากล่าวถึงอาการโรคและวิธีบำบัดทางสูติกรรม๑
ในขณะนั้นหมอไทยส่วนใหญ่มิได้สนใจในพฤติกรรมของพวกมิชชันนารี และกิติศัพท์ของยาฝรั่งก็มิได้ทำให้วงการแพทย์ไทยตื่นตัวแต่อย่างใด มีเพียงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทพระราชโอรสองค์ที่ ๔๙ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเป็นหมอหลวงในราชสำนัก ได้สนใจใฝ่รู้จึงได้เข้าไปตีสนิทเพื่อปรารถนาความรู้ด้านการแพทย์
จากการใฝ่ใจในการศึกษาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททำให้พระองค์ได้ทรงศึกษาวิชาการแพทย์จากหมอบรัดเลย์ และทรงเข้าใจในวิธีการรักษาของแพทย์แผนตะวันตกจนเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวตะวันตก ทรงได้ใบประกาศนียบัตรทางการแพทย์ทั้งยังได้เป็นสมาชิกสถาบันการแพทย์แห่งนครนิวยอร์ค
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทดำรงพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวงษาธิราชสนิท ทรงมีส่วนร่วมในการเขียนตำรายาที่วัดพระเชตุพนฯ โดยมีหน้าที่ในการเขียนตำราสรรพคุณยา ซึ่งเป็นตำรายาที่กล่าวถึงพืชสมุนไพรแต่ละชนิดว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร เป็นงานนิพนธ์ที่แตกต่างจากตำรายาที่เคยรับรู้กัน
จากตำราสรรพคุณยาที่วัดพระเชตุพนฯ วิเคราะห์ได้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทน่าจะได้นำการแพทย์แผนตะวันตกมาผสานเข้ากับการการแพทย์แผนไทย จากการศึกษาตำรายาสรรพคุณยาฉบับที่พระองค์ชำระขึ้นใหม่ พบว่าเป็นตำราสรรพคุณยาที่พัฒนาขึ้นมาอย่างชัดเจน เพราะมีรายละเอียดและการศึกษาเพิ่มเติมขึ้นกว่าแต่ก่อน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงนิพนธ์ "ตำราสรรพคุณยา" ให้เป็นตำรายาแพทย์แผนไทยสมัยใหม่ซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก "ตำรายาไทย" ที่เคยมีมาในอดีต เพราะในตำรายาไทยจะเป็นการกล่าวถึงการประกอบยาอันประกอบด้วยพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดนำมารวมและต้มผสมกันอันเชื่อว่าสามารถแก้โรคต่างๆ ได้ ซึ่งยากแก่การศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบสรรพคุณแต่ละส่วนของพืช เพราะในตำรามิได้บอกถึงสรรพคุณเฉพาะอย่าง ซึ่งอาจเป็นวิธีการปิดบังสูตรยาที่แท้จริงของแพทย์แผนไทยก็ได้
ตำราของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทนั้น ได้นำสมุนไพรมากกว่า ๑๐๐ ชนิด มาเขียนเป็นตำรายาโดยแยกด้านรายละเอียดของส่วนต่างๆ ของสมุนไพรแต่ละชนิด ไม่ว่าส่วนของลำต้น ใบ เปลือก แก่น กระพี้ ยาง หัว ลูก ดอก และราก ว่าสามารถนำไปใช้แก้โรคอะไรได้บ้าง เป็นการอธิบายที่ค่อนข้างจะเป็นสมัยใหม่และเป็นแนวทางที่จะนำไปตรวจสอบหรือทดสอบทางวิทยาการสมัยใหม่ได้ ท่านได้ทรงรวบรวมจากตำรา การแสวงหา หรือการทดลองซึ่งถ้าพิจารณาจากภาพรวมตำรายาไทยจะเห็นได้ว่าตำรายาไทยเรื่อง "ตำราสรรพคุณยา" ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทเป็นตำราที่ผ่านการวิเคราะห์และพัฒนาจากตำรายาไทยอื่นๆ ในสมัยนั้น และเป็นแนวทางที่คนรุ่นหลังสามารถนำไปวิเคราะห์ทดลองได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือวิทยาการสมัยใหม่ได้
๑ พิชาญ พัฒนา, ความเป็นมาของการแพทย์เมืองไทย (พระนคร: โอเดียนสโตร์, ๒๕๐๙), ๑๓๑.
เปรียบเทียบตำรายาไทยทั่วไป กับตำราสรรพคุณยา
ตำรายาพระโอสถพระนารายณ์
ยาศุขไสยาศน์ ให้เอาการบูรส่วน ๑ ใน สเดา ๒ ส่วน สหัสคุณเทศ ๓ ส่วน ลมูลแว้ง ๔ ส่วน เทียนดำ ๕ ส่วน เกฎกระดูก ๖ ส่วน ลูกจันทร์ ๗ ส่วน ดอกบุนนาค ๘ ส่วน พริกไทย ๙ ส่วน ขิงแห้ง ๑๐ ส่วน ดีปลี ๑๑ ส่วน ใบกัญชา ๑๒ ส่วน ทำเปนจุณ ละลายน้ำผึ้งเมื่อจะกินเศกด้วยสัพพีติโย ๓ จบ แล้วกินพอควรแก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังกินเข้าไปนอนเปนศุขนักแล
ยาหอมดุมให้เอาแก่นมะทราง เปลือกมะทราง เปลือกไข่เน่า ชเอมเทศ กรักขี จันทร์แดง จันทร์ขาว ดอกพิกุล ดอกบุญนาค ดอกสารภี เกศรบัวน้ำ เสมอภาค ทำเปนจุณ น้ำดอกไม้เป็นกระสาย บดทำแท่งละลายน้ำดอกไม้ น้ำซาวข้าวก็ได้ รำหัดพิมเสนลงทั้งกิน ทั้งชโลมแก้ไข้สันนิบาตอันมีกำลังมากหายแล
ตำรายาพระโอสถครั้งรัชกาลที่ ๒
ในที่นี้จะว่าด้วยสรรพคุณวิเศษคือ คณะสรรพยาที่จะแก้โรคอันเปนชาติคือสรรพหืดนั้นโดยนัยดังนี้
ยาชื่อประสะเกลือ เอาน้ำผึ้ง น้ำบวมขม น้ำราก หญ้าคา น้ำเกลือ น้ำสลัดได น้ำกระทือ น้ำบอระเพ็ด เอาเสมอภาคใส่กระทะกวนไปจนปั้นได้ ให้กินหนักสลึง ๑ แก้สรรพโรคหืด ซึ่งกระทำให้หายใจดังครอกๆ แก้ไอ และโรคเกิดในกองสมุฎฐานนั้นหายสิ้นวิเศษแล
ยาแก้วิทยาธิโรค ให้ไปกลั้นใจถากเอาเปลือกมะฝ่อทีละเปลือกให้ได้ ๓ เปลือกๆ ละ ๓ นิ้ว เปลือกแรกลง อิ เปลือกที่สองลง สุ เปลือกที่สามลง ติ แล้วจึงเอาแซ่ม้าทลาย รากไม้รวกยาเข้าเย็นทั้ง ๒ สิ่งละตำลึง ๑ ต้มตามให้กินแก้พิศม์ให้คลั่งแลสลบไปก็ดีหายวิเศษนัก
ตำรายาวัดราชโอรส
จะกล่าวฝีดาษเกิดในเดือนสิบเอ็ด สิบสอง เดือนหนึ่ง ทั้ง ๓ เดือนนี้เกิดเพื่ออาโปธาตุมักให้เย็นในอกและมักตกมูกและตกเลือดให้เสียแม่แสลงพ่อ แสลงนุ่งขาวห่มขาวและทำบัดไปส่งทิศอุดรแล อิสารจึงจะดีฯ ถ้าแก้เอาใบมะอึก ใบผักบุ้งซัน ใบก่างปลาทังสอง ใบพุงดอ ใบผักของ ใบหมาก ใบทองพันชั่ง เอาเสมอภาค ตำเอาน้ำพันดับพิษฝีเมื่อเสมหะหายฯ
ลักษณะไข้เจลี่ยงอาการนั้น ให้จับสะท้านให้เท้าเยน ให้ร้อนในอกเป็นกำลัง ให้กระหายน้ำนัก ให้ขัดอุจจาระปสาวะ ให้ละอองดีเมื่อเขียวให้ตาลขลัวน้ำตาแห้งโทษสรรนิบาทกำลังโคเตลิงเบญจกุล พริกไท เอาเสมอภาค เอาต้ม ๓ เอา ๑ ให้กินแก้จับสะท้านแลฯ
ตำรายาวัดพระเชตุพนฯ
ปุนะจะปะรังลำดับนี้ จักกล่าวด้วยนัยหนึ่งใหม่ว่าด้วยลักษณะโลหิตทุจริตโทษ ๕ ประการ สืบต่อไปคือ โลหิตระดูร้าง โลหิตคลอดบุตร โลหิตต้องพิฆาต อันตกต้นไม้และต้องทุบโบโลหิตเน่า โลหิตตกหมกช้ำ เป็น ๕ ประการด้วยกัน อันบังเกิดแก่สตรีภาพทั้งหลาย อันมีสามีแล้วกล่าวดังนี้ฯ
ลำดับนี้จะกล่าวแต่โลหิตทุจริตโทษ คือระดูร้างก่อนเป็นปฐมเมื่อบังเกิดนั้น ระดูมิดุจน้ำซาวข้าว กระทำให้เวทนาต่างๆ ครั้งแก่เข้ามักกลายเป็นมารโลหิตฯ
ถ้าจะเอาลูกจันทร์ ดินประสิวขาว เทียนดำ เทียนขาว ขิงแห้ง หอมแดง กะเทียม กระชาย ไพล สิ่งละ ๒ ส่วน ขมิ้นอ้อย ๔ ส่วน ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำส้มซ่าแทรกการบูรกินแก้โลหิตคือระดูร้างนั้น หายดีนักฯ
ขนาน ๑ เอาเทียนทั้ง ๕ โกฏเขมา โกฏิพุงปลา กระวาน กานพลู สิ่งละ ๒ ส่วน เปลือกกุมทั้ง ๒ รากระหุ่งแดง ลำพัน ไพล ขมิ้นอ้อย รากพันงูแดง รากอังกาบ สมอไทย สมอพิเภก ผลผักชี ไคร้หอม อลราชพฤกษ์ รากผักโหมหิน เปลือกโลด วานเปราะ ผลช้าพลู ขิงแห้ง เจตมูลเพลิง ดีปลี สค้าน สิ่งละ ๔ ส่วน ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำกระสายอันควรแก่โรคแทรกชะมด พิมเสนกินแก้โลหิตระดูร้างกระทำพิษนั้นหายดีนักฯ
ขนาน ๑ เอารากขี้กาแดง เบญจขี้เหล็ก ใบระกา ใบมะขาม ใบส้มป่อย หญ้าไซ ผลคัดเค้าเอาเสมอภาคต้มให้งวดแล้วจึงเอายาดำ ดีเกลือสิ่งละ ๑ สลึง ปรุงลง กินแก้โรคอันบังเกิดแกสตรีภาพทั้งหลาย ซึ่งกระทำพิษนั้นหายวิเศษนักฯ
สิทธิการิยะ จะกล่าวสรรพยาซึ่งรักษาวัณโรคคือสรรพแผลทั้งปวงสืบไป ให้บุคคลทั้งหลายพึงรู้ดังนี้
ยาขี้ผึ้งแดง เอาชาดผง ชาดก้อน ยางสนเหนือ ยางสนสะเภา กำยานเหนือ กำยานสะเภาสิ่งละ ๒ ตำลึง ๒ บาท ขี้ผึ้งแห้ง สิ่งละ ๕ ตำลึง น้ำมันทะนาน ๑ ตั้งไปให้ละลาย แล้วเอายาใส่กวนด้วยแดดดีแล้วจึงเอาใส่แผลชำระทั้งเรียกเนื้อ และแก้แผลมีตัวก็ได้วิเศษนักฯ
ตำราสรรพคุณยา หลวงวงษาธิราชสนิท (ฉบับวัดพระเชตุพนฯ)
อนึ่งสรรพคุณแห่งขิงสดนั้น มีรสอันหวานร้อนเผ็ด เง่ารู้บำรุงให้เจริญอากาศธาตุ ดอกรู้แก้โรคอันเกิดแต่กองหทัย ใบรู้แก่กำเดา ต้นรู้สะกดลมลมไปสู่คูถทวารเบื้องต้น รากรู้แก้ให้เสี่ยงเพราะและรู้จำเจิญอาหาร
อันว่าคุณคนทีสอขาวนั้น ใบรู้ตั้งปิตตสมุฎฐานให้เป็นปกติรู้แก่ลม และรู้ฆ่าแม่พยาธิ์และแก้สาบสางในกาย ดอกรู้แก้ไขอันบังเกิดแต่ทรวงและรู้แก้พยาธิและหืดไอ แก้ไข้ในครรภ์รักษา เปลือกรู้แก้ไขอันกระทำให้เย็นและแก้คลื่นเหียนไส้ รู้แก้ระดูและรู้ตั้งซึ่งโลหิต รากรู้แก้ไขอันทำให้ร้อนฯ
อันว่าคุณแห่งรักขาวนั้น มีรสอันจืด ใบรู้แก้ริดสีดวงทวารและคชราด ยางรู้แก้ริดสีดวงในลำไส้ ดอกรู้แก่แม่พยาธิ คือกลากและเกลื่อน ผลรู้แก่ซึ่งรังแคให้ตก ต้นบำรุงทวารทั้ง ๙ ให้บริบูรณ์ รากรู้แก้มูกเลือดและไข้เหนือฯ
อันว่าคุณแห่งสะเดานั้น มีรสอันขมฝาดเย็น ใบให้รู้แก่ให้ระมัดซึ่งอุทร รู้บำรุงเพลิงธาตุกระทำให้อาหารงวด ดอกรู้แก้พิษโลหิต อันบังเกิดแต่กำเดา รู้แก้ริดสีดวงในลำคอให้คันดุจอังพยาธิไต่อยู่ ผลรู้แก้ลมหทัยวาด ลมสัตถวาดและลมอันเกิดแตกกองปิตตสมุฎฐาน เปลือกรู้แก้บิดมูกเลือด กระพี้รู้แก่ดีและแก้บ้าอันเพื่อคลั่ง แก่นรู้แก้ลมอันคลื่นเหียนอาเจียน และลมอันผูก รากรู้แก้เสมหะอันเป็นสนิมอยู่ภายในอุทรและรู้แก้เสมหะอันติดลำคอ ให้ตกตามอาจารย์ท่านกล่าวไว้ฯ
ตำราสรรพคุณยา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท (ฉบับสมุดไทย)
จะกล่าวสรรพคุณแห่งขิงสดนั้น มีรสหวานร้อนรู้ให้เจริญซึ่งอายุ และรู้แก้ปากคอมิสบาย แลแก้โรคอันบังเกิดแต่ในทรวง รู้บำรุงเพลิงธาตุ แก้เสมหะแลลมอันทพฤกษ์ รู้สะกดลมลงไปสู่เบื้องต่ำ รู้กระทำอันกระทำให้อาหารงวดรากนั้นมีรสเผ็ดร้อนขม รู้แก้โรคอันบังเกิดแก่ทรวงรู้กระทำให้เสียเพราะรู้ฆ่าพยาธิแลพรรดึก กระทำให้รู้รสอาหาร แลแก้ลมอันแน่นอก แลลมอันกลิ้งไปมาในอุทรแลรู้แก้บิดอันตกโลหิต ดุจสีขมิ้นผลนั้นรู้แก้ไข้อันหนาวสท้าน ดอกนั้นรู้แก้ตาเปียกแฉะ ต้นนั้นรู้แก้นิ่วเบาหยด กล่าวสังเขปคุณขิงสดสิ้นเท่านั้น
จะกล่าวสรรพคุณคนทีสอขาว ใบนั้นรู้ตั้งดีให้ปรกติแลแก้ลม รู้แก้แม่พยาธิแล แก้สาบคายในกาย ดอกนั้นรู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวง ดอกนั้นแก้รู้พยาธิ เปลือกนั้นรู้แก้ไข้อันกระทำให้เยน กระพี้นั้นแก้เหียนแลรากไส้นั้นรู้แก้ฤดูแลรู้ตั้งซึ่งโลหิต รากนั้นรู้แก้ไข้อันกระทำให้ร้อนกล่าวสังเขป คุณคนทีสอขาวมาสิ้นแต่เท่านี้ฯ
จะกล่าวสรรพคุณสะเดาใหญ่ มีรสอันขมฝาดเยน รู้แก้ระมัดซึ่งท้อง รู้บำรุงธาตุ รู้กระทำให้อาหารงวดรู้แก้พยาธิทั้งปวง และรู้แก้โรคในลำคอ อันกระทำให้คนนั้นดุจหนึ่งพยาธิ อันตายอยู่นั้น ลูกนั้นแก้ลมแลดี เปลือกนั้นแก้ปิดเปนมูกเลือด กระพี้นั้นรู้แก้ แลแก้บ้าอันเพ้อคลั่ง แก่นนั้นแก้ลมอั่นกระทำให้เหียนรากแลอันผูก รากนั้นรู้แก้เสมหะอันผูกภายใน แลเสมหะอันติดลำคอกล่าวสังเขปคุณ สะเดาใหญ่ สิ้นแต่เท่านี้
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ตำรายาของกรมหลวงวงษาธิราชสนิททั้งฉบับวัดพระเชตุพนฯ และฉบับสมุดไท แตกต่างจากตำรายาไทยฉบับอื่นๆ อย่างชัดเจนตรงที่พระองค์ได้แยกวิเคราะห์พืชสมุนไพรแต่ละชนิดออกเป็นส่วนย่อยๆ ได้แก่ ราก ใบ ต้น ดอก ผล เปลือกและกระพี้ ทำให้เกิดการพัฒนามาเป็นการวิจัยสมุนไพรเช่นในปัจจุบัน ความคิดดังกล่าวนี้น่าจะได้รับอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในการแยกแยะสรรพคุณพืชสมุนไพรแต่ละส่วนให้ชัดเจนยิ่งกว่าตำราที่กล่าวสรรพคุณไว้รวมๆ ดังที่มีมาแต่สมัยอยุธยา
นอกจากนี้ตำรายาของกรมหลวงวงษาธิราชสนิทบางเล่ม ยังปรากฏตำรายาแผนตะวันตก ๔๒ ชนิด รวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงนำเอายาฝรั่งมาศึกษาค้นคว้าและรอบรู้สรรพคุณยาได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราทางโอสถสารวิทยา หรือเภสัชวัตถุเล่มแรกของไทยที่กล่าวถึงยาฝรั่ง ดังที่ปรากฏรายชื่อยาฝรั่งในตำราเล่มนี้๒ คือ
๒ ประโชติ เปล่งวิทยา, เภสัชกรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในรอบ ๒๐๐ ปี (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๒๖), ๑๓๙-๑๔๐.
๑. น้ำกรบูร
๒. ผัดโฟเรด
๓. ฟาดโฟเรศแอซิค
๔. วิโรดรัป
๕. คิวปรัม
๖. อาสนิกกำ
๗. อนิกา
๘. เบญละตะนะ
๙. ปรายโอเนีย
๑๐. แกนทาริส
๑๑. อาโมเวก
๑๒. แกมโมมิลา
๑๓. สิงโกนา
๑๔. อัญวีกำ
๑๕. ดนโลลิน
๑๖. ติดซิตาลิส
๑๗. คัละสิมาระ
๑๘. พยัศสิยำพัศ
๑๙. อิคนาเซีย
๒๐. อิปิแก็ก
๒๑. ลักซิก
๒๒. โกโฟเคียร
๒๓. คิวปิวัสวัต
๒๔. นักสวำมิกา
๒๕. โอเปียม
๒๖. ยลสะกักละ
๒๗. รัศทัด
๒๘. ลิเบีย
๒๙. แรมโมเนียม
๓๐. ลันละฟ้า
๓๑. เห็บปา
๓๒. แกะละเกียรยะ
๓๓. แอกโกนิท
๓๔. เอนตีโมเนียมเขริยวดะ
๓๕. ลินา
๓๖. สบ...(ชำรุด)
๓๗. กกศิวลัศ...(ชำรุด)
๓๘. กาแฟ
๓๙. วยูฟเรเซ็น
๔๐. เมอคิวรีคับซิค
๔๑. ศิวญาออกซิแกน
๔๒. สิเกเล
จึงจะเห็นได้ว่ากรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงมีความรู้ทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนตะวันตก ตามประวัติกล่าวว่าพระองค์ท่านได้ใช้แนวการรักษาแบบแพทย์แผนไทยเป็นส่วนใหญ่ และบางครั้งเมื่อนำเอาวิธีการแพทย์แผนตะวันตกมารักษาก็ถูกคนไทยปฏิเสธ จึงทรงดัดแปลงยาไทย เช่น นำยาควินินมาใช้ในการรักษาไข้ แต่ใส่ไว้ภายในโดยเอายาลูกกลอนไทยห่อหุ้ม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์แผนไทยพอสมควร เพราะทรงสนพระทัยเป็นการส่วนพระองค์ และในระหว่างที่ทรงผนวชก็ได้คลุกคลีกับชาวตะวันตก พระองค์ทรงได้เรียนรู้เกี่ยวกับแพทย์แผนตะวันตกจากหมอสอนศาสนาชาวฝรั่งเศส และกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เรียนมาทางการแพทย์โดยตรง เช่น หมอบรัดเลย์ ซึ่งสนิทสนมกันเป็นพิเศษ
ความเข้าใจเรื่องการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ส่วนหนึ่งศึกษา วิเคราะห์ได้จากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวเนื่องกับโรคภัยไข้เจ็บที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงมีความรู้ในเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย และจากการวินิจฉัยโรคนั้นพอจะกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับจากชาวตะวันตก ฉะนั้นในบางครั้งพระองค์จึงทรงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหมอไทยค่อนข้างจะเป็นไปในด้านลบว่า "แต่ตัวข้าพเจ้าไม่เป็นหมอ แลลัทธิหมอในบ้านนี้เมืองนี้กับข้าพเจ้าไม่ถูกกัน ที่เขาว่าอย่างหมอ ว่าตามตำราตามเคยนั้น ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลย" ที่เป็นเช่นนี้ เพราะพระองค์ทรงต้องการคำอธิบายตามวิธีการของหมอฝรั่ง หรือในบางครั้งพระองค์ก็ทรงกล่าวว่า "ตำราโรคของเขาก็มีอยู่ ๓ อย่าง คือ สารพัดไข้เป็นของจร ๑ คือโลหิตอย่าง ๑ คือ เสมหะอย่าง ๑ ซึ่งว่าด้วยไข้เป็นจรต่างๆ นั้นพอฟังได้บ้าง" จะเห็นได้ว่าถ้ามีคำอธิบายพระองค์ก็จะทรงฟังเหตุผล แต่ถ้าทรงไม่เห็นด้วยก็จะทรงอธิบายตามแนวคิดของหมอฝรั่ง ดังกรณีที่หมอฝรั่งไม่เข้าใจเรื่อง "โรคลม"
ในความหมายของหมอยาไทย ทรงวินิจฉัยว่า "ข้าพเจ้าถือว่าลัทธิลมไม่มี ที่เรียกว่าลมนั้นคือพิการโลหิตและเสมหะโลหิต เป็นตัวชีวิตบำรุงด้วยระดูแลอาหาร ลมอากาศที่สูบเข้าไปทางหายใจไปฟอกโลหิตให้ใสสะอาด แล้วขับให้แล่นไปเป็นชีพจรทั้งตัว โลหิตที่กลับมาแต่ชีพจรที่เสมหะในอุระแห่งหนึ่งในศีรษะแห่งหนึ่ง จึงเป็นเสมหะเป็นมูกเป็นเขฬะและเป็นเหงื่อไคลไป โลหิตเดิมตั้งในปอด ลมหายใจฟอกแล้วขับให้แล่นไปทุกสายเส้น ส่วนที่ซึมซาบทุกแห่งหนเป็นส่วนสะอาด"
บางครั้งพระองค์ทรงค่อนแคะแพทย์แผนไทยเช่น "พวกแพทย์หมอแลปากหญิงชายทั้งหลาย เจ็บอะไรๆ ก็ว่าลมทุกสิ่งทุกไป ด้วยตำราอ้างว่าลม ๕๐๐ จำพวก จะไล่ว่าอะไรบ้างๆ ก็ไม่มีใครนับถูก หมอนวดทั้งกรม วังหลวง วังหน้า เมื่อตั้งชื่อก็ล้วนด้วยวาโยวาตา หมื่นวาโยรักษา หมื่นสังหารวาโย หมื่นวาโยไชยา เป็นหมอสำหรับแก้ลมจับทั้งนั้นไม่มีอื่น ดูหนึ่งวันในวังหลวงวังหน้า มีคนเป็นลมจับวันละ ๑๐๐ คน ๒๐๐ คน วันใดเสวยพระโอสถทุเลา ก็ต้องชุมนุมหมอไว้ทั้งเจ้ากรมปลัดกรมแลขุนหมื่นมือดีๆ กลัวจะประชวรพระวาโย ทั้งเมืองมีแต่โรคลมหมด ไม่ใคร่จะมีใครพูดถึงเรื่องอื่น ไข้จับหนักก็ว่าลมพลอยไช้ห่าไข้ประจุบันก็เรียกว่าลมมาก"
แม้ในบางครั้งพระองค์ค่อนข้างจะนิยมหมอฝรั่ง เช่น กรณีกรมหลวงวงศาธิราชสนิทประชวร แต่ก็จะทรงรักษาตัวด้วยยาไทยเพราะเป็นหมอใหญ่ของราชสำนัก รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นห่วงจึงได้นำหมอฝรั่งไปรักษา
"อนึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทก็ป่วยโรคคล้ายกับเจ้าพระยานคร ลมจับล้มลงแล้วก็เสียจำหระซ้าย ตั้งแต่วันเสาร์ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เดือนเก้ามา เธอให้ยาของเธอรักษาตัวเธอเองบ้างหมอกัมเบลให้ยารักษาบ้าง แต่บัดนี้อาการว่าค่อยคลายแล้ว"
ซึ่งบางครั้งก็ไม่รู้ว่าหมอแผนใดไม่ดีหรือดี เพราะผู้ป่วยไม่รู้เป็นยาของใครที่รักษาหาย เพราะใช้ทั้งหมอไทยหมอฝรั่งและหมอจีนมารักษาผู้ป่วย บางครั้งผู้ป่วยก็ตายซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ายาของใครทำให้ผู้ป่วยตาย ดังในกรณีอาการป่วยของกรมหมื่นวิศนุนาถนิภาธร
"อาการกรมหมื่นวิศนุนาถนภาธรป่วยเรื้อรังมาแต่ก่อนก็หลายครั้ง อาการให้แน่นให้เฟ้ออาหารกินเข้าไปก็อาเจียนออกมาเสียตั้งนอนป่วยไปหลายๆ วัน...หมอได้วางยารุนด้วยดีเกลือในวันแรกรุนนั้นอาการค่อยสบาย.... อาการซุดหนักลง โลหิตลิ่มๆ เป็นชิ้นๆ แลกับติดผังผืดยืดใยเหนียว ออกมากับอุจจาระแทบทุกเวลา กำลังน้อยลง ให้เจ็บในอกมาก ให้หายเหนื่อยเนืองๆ อุจจาระมีน้ำข้าวแดง หมอแคลงว่าจะไปใกล้ดีสารโรคอย่างนี้ หมอไทยว่าไม่เคยเห็น สิ่งที่ออกมานั้น สงสัยว่าเป็นเครื่องในตับและม้ามออกมา แต่หมออังกฤษว่าเป็นโรคในลำไส้พองแตกเป็นโลหิตแล้วพังลงมาดับผิวในลำไส้เป็นผังผืด แต่ไม่รับรักษา...ได้ไปหาหมอหลวงประเทศแพทยาหมอจีน ในพระราชวังบวรมาดูหมดนั้น ไปจับแมะเห็นชีพจรดีอยู่ก็รับว่า จะให้ยา ๓ วันให้หายได้ ครั้นมาดูอุจจาระเห็นโลหิตขึ้นแลผังผืดก็กลับตกใจ ก็หันเหไปว่าเป็นป้างโลหิตหาเคยรักษาไม่ ถ้าจะยอมให้รักษาก็จะวางยาลองดู เห็นคุณก็จะไปทำ ถ้าไม่เห็นคุณก็จะขอตัวหนี ถ้าวางยาเข้าไป อาการซุดไปอย่าถือโทษ"
กล่าวโดยสรุปแล้วไม่มีหมอแผนใดรักษาได้ในที่สุดคนป่วยก็ตาย พระองค์ทรงกล่าวว่า "อาการกรมหมื่นวิศนุนารถนิภาธรป่วยหนักลงไป กลางคืนวันพุธขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนมกราคม ให้ขัดปัสสาวะมาก และอุจจาระตกออกปนเทา แล้วตั้งหอบแก้ฟื้นขึ้นบ้าง แล้วก็กลับหอบหนักไปจนซุดโซม สิ้นกำลังขาดใจ"
จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ป่วยตายลงหมอทุกชาติมักปัดความรับผิดชอบ แต่ถ้ากรณีรักษาผู้ป่วยหาย แม้แต่หมอฝรั่งด้วยกันยังอิจฉาตาร้อนแย่งกันเอาความดีความชอบ จนต้องมีการปิดบังมิให้หมอฝรั่งรู้ว่ามีหมอฝรั่งอีกคนหนึ่งมารักษา ดังในกรณีหมอเยมกำเบลกับหมอฮูเคนสตรา ที่พระองค์ทรงบันทึกว่า "กงศุลออบาเรตป่วยหนักจนลุกไม่ได้ หมอดอกเตอร์เยมกำเบลให้ยาแก้ไข้ถึง ๑๐ วันแล้วอาการไม่คลาย เมื่อหมอฮูเคนสตราเข้ามา หมอเยมกำเบลก็หึงห์มาก" และ "กงสุลออกบาเรตก็รู้ว่าหมอเยมกำเบลหึงห์ ถึงมาหาหมอฮูเคนสตราไปรักษา ก็ปิดความไม่ให้หมอเยมกำเบลรู้ หมอเยมกำเบลยังเที่ยวอวดอยู่ว่าตัวรักษาหายเอง"
มีหลักฐานจากพระราชหัตเลขาตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนักวิชาการมักยกมาอ้างเสมอๆ ในกรณีที่กล่าวว่าพระองค์รังเกียจหมอแผนไทย ความว่า "แต่ตัวข้าพเจ้าไม่เป็นหมอ แลลัทธิของหมอในบ้านนี้เมืองนี้กัน ข้าพเจ้าไม่ถูกกันที่เขาว่าอย่างหมอว่าตามตำราตามเคยนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่เชื่อถือเลยด้วยหมอในบ้านนี้เมืองนี้ ทั้งหมอนวด หมอยาตำโรคของเขาก็มียา ๓ อย่าง คือ สารพัดไข้เปนของจรอย่าง ๑ คือโลหิตอย่าง ๑ คือลมแลเสมหะอย่าง ๑" จากการตรวจสอบเรื่องราวในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ปรากฏว่าพระองค์ทรงกำลังเสียพระทัยเรื่องเชื้อพระวงศ์ที่ใกล้ชิดคือกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสฯ ทรงประชวร หมอแผนไทยรักษาไม่หาย ในที่สุดคนไข้สิ้นพระชนม์ ทำให้พระองค์โทรมนัสมาก จึงได้วิพากษ์หมอแผนไทยอย่างรุนแรง
ในทางตรงข้ามแม้ว่าพระองค์จะโปรดหมอฝรั่งอยู่บ้าง แต่เมื่อพระองค์ทรงประชวรหนักในช่วงปลายรัชกาลก็ได้โปรดให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิทเป็นหัวหน้าผู้ดูแลรักษา และมีบรรดาหมอหลวงเป็นผู้ดูแลรักษาพระอาการอย่างใกล้ชิด การรักษามุ่งในประเด็นยอมรับหมอที่ดีไม่ว่าจะเป็นใครหรือหมอแผนใด และยาที่ดีก็ไม่จำเป็นจะเป็นตำรับใดหรือเป็นของผู้ใด เห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักทดลองตลอดพระชนมายุขัย ตามที่ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า
"...ณ วันอังคารเดือนสิบแรมสี่ค่ำ เวลาเช้าเศษพระอาการกำเริบมากขึ้น ให้ทรงเชื่อมกระหายน้ำพระกระยาหารเสวยถอยลง พระอาการแปรไปข้างอุจจาระธาตุ พระวงศานุวงศ์ เสนาบดีปรึกษาพร้อมกันเห็นว่าหลวงทิพจักษุถวายพระโอสถมาก็หลายวันแล้ว พระอาการหาคลายไม่ จึงให้ประชุมหมอหลวงว่า ผู้ใดจะรับฉลองพระคุณหมอทั้งปวงก็นั่งอยู่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงรับสนองพระเดชพระคุณ ตั้งพระโอสถเข้าไปถวายหลายเวลาพระอาการก็ไม่ถอย อีกสองสัปดาห์ต่อมา ในวันจันทร์เดือนสิบเอ็ดขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงแล้ว พระอาการกำเริบขึ้นอีก ทรงพระอาเจียน พระโลหิตตกเป็นลิ่มเหลวบ้าง ทรงรับด้วยพระภูษาซับพระโอฐให้ป่วนพระนาภี จึงรับสั่งให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พระประเสริฐศาสตร์ดำรง เข้าไปเฝ้าในที่จึงรับสั่งว่าพระโรคมากอยู่แล้ว ถ้าเห็นพระอาการเหลือปัญญาแพทย์ หมอก็ให้กราบบังคมทูลว่า ข้าละอองธุลีพระบาท ที่ป่วยอาการมากกว่าที่พระโรคก็มี ให้รับพยาบาลหายมามาก จึงโปรดให้พระประเสริฐศาสตร์ดำรงเข้าถวายพระโอสถต่อไป ครั้นเวลาค่ำประมาณ ๑ ทุ่มเศษไป พระบังคนหนัก พระโลหิตเจือพระบังคนออกมาก็รับสั่งว่า พระโรคครั้งนี้เห็นว่าจะไม่คลาย อีกสัปดาห์หนึ่งต่อมา ณ วันที่ ๒๗ กันยายน รับสั่งว่าทรงพระประชวรครั้งนี้เหลือมือแพทย์หลวงแล้ว ถ้าเสด็จสวรรคตผู้ที่มีความสวามิภักดิ์และข้าหลวงเดิมจะเสียใจว่าได้ถวายการพยาบาลไม่เต็มมือ ฉะนั้นถ้าผู้ใดมีหมอมียาก็ให้ถวายเถิด พระราไชศวรรยาข้าหลวงเดิม ซึ่งเป็นเจ้ากรมพระคลังในซ้าย ได้ถวายพระโอสถเป็นไพลกับเกลือเสกและเมื่อเสวยแล้วต่อมาเพียงสี่วันก็เสด็จสวรรคต..."
อันที่จริง การแพทย์แผนตะวันตกใช่ว่าจะได้รับการต่อต้านจากแพทย์แผนไทย ตรงกันข้ามจะเห็นได้ว่าแพทย์แผนไทยพยายามต้องการที่จะเรียนรู้และนำมาปรับปรุงการแพทย์แผนไทย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎหรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทต่างสนพระทัยทั้งสิ้น แต่ประเด็นสำคัญที่มักจะได้รับการต่อต้าน คือการนำคริสตศาสนาเข้ามาเผยแพร่อย่างเคลือบแฝงและเป็นสิ่งสำคัญที่สุดตามความปรารถนาของชาวตะวันตกในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเข้ามาในรูปของนักการทูต การทหาร นายแพทย์ หรือสอนศาสนาก็ตาม และมักจะดูถูกพุทธศาสนาและดูแคลนการแพทย์แผนไทย ดังเช่นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวตะวันตกเข้ามาในประเทศมากมาย แต่ผู้ที่ได้บันทึกถึงภาพรวมของการแพทย์แผนไทย คือ สังฆราชฌองบัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ (Jean Baptiste Pallegoix) เป็นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเข้ามาประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๒ และเป็นชาวตะวันตกที่เข้ามาพำนักเกือบ ๓๐ ปี ในงานเขียนบันทึกเรื่อง มิสซัง แห่งกรุงสยาม (Memoiresur la Mission de Siam) ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ได้กล่าวถึงเมืองไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตามทัศนะของชาวตะวันตกเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย บัลเลอกัวซ์ ได้กล่าวว่า
...มีข้าราชการดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมหลวงราชการแผนกนี้แบ่งออกเป็นหลายสายผลัดเวียนเปลี่ยนเวรกันเข้าประจำการ มีหน้าที่ในพระบรมมหาราชวังทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้การพยายามแก่บุคคลในราชสำนักติดตามไปในกองทัพหรือติดตามเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เมื่อไปราชการท้องที่ หมอเหล่านี้ได้รับพระราชทานเงินปีจากพระเจ้าแผ่นดินและตำแหน่งก็ตกทอดไปถึงขั้นลูกหลาน หมอหลวงนี้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ หมอรักษาโรค (ชาวบ้านเรียกว่า โรคภายใน) หมอผ่าตัด (ชาวบ้านเรียกว่า หมอรักษาบาดแผล)
นอกจากหมอหลวงแล้วก็ยังมีหมอเชลยศักดิ์อีกเป็นอันมากที่ไม่ต้องเรียนอะไรนักหนา ไม่มีปริญญาประกาศนียบัตรอะไรทั้งนั้น ตั้งตนเองเป็นหมอเพียงซื้อตำราหรือวิธีปรุงยามาเล่มหนึ่ง มีล่วมยาแบ่งเป็นช่องๆ ใส่ยาเม็ด น้ำมันทา มีขวดหัวน้ำ หรือผงยา การบูร น้ำมันเทียนแต่ข้อสำคัญต้องรู้วิธีพูดพล่ามน้ำท่วมทุ่ง และโอ่สรรพคุณยาเข้าไว้
ตามปรกติแล้ว บุคคลที่เริ่มตั้งต้นเป็นหมออาจจะไม่ได้รับผลสำเร็จในระยะ ๘-๑๐ ปีแรก แต่หลังจากนั้นไปอาศัยความจัดเจนเข้าช่วย ก็จะกลายเป็นหมอดีไปได้เหมือนกัน
ราษฎรผู้ไม่ค่อยจะศรัทธาในหมอเถื่อนนี้เท่าไรนักก็ระมัดระวังที่จะไม่จ่ายเงินเจียดยาอย่างปิดหูปิดตา คนไข้คนหนึ่งเรียกหมอมาเล่าอาการให้หมอฟัง แล้วถามหมอว่าจะพยายามรักษาให้หายเจ็บป่วยได้หรือไม่ หมอคิดอย่างลึกซึ้งหลังจากพิจารณาสมุฎฐาน อาการโรคทั่วถ้วนแล้วก็ตอบว่า "ข้าพอจะวางยาให้แก่หายได้ว่ะ" คนไข้จะบอกอีกว่า ถ้าหมอวางยาให้ข้าหายโรคหายภัย ข้าจะให้หมอเท่านั้นเท่านี้
ถ้าหมอพอใจก็ทำความตกลงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วหมอเรียกเทียนมาสองเล่มเพื่อบูชาครู หมออินเดียกับค่ากำนัลอีกหากสลึงเพื่อซื้อเครื่องยา เมื่อได้ทดลองบำบัดอาการดูแล้วถ้าคนไข้มีอาการดีขึ้น หมอก็จะขะมักเขม้นรักษาให้หายสนิท ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหมอก็จะทิ้งคนไข้ไปหากินกับรายต่อไป
มีโอสถอยู่สองชนิดที่นิยมกันมากในประเทศสยาม คือ ยาจีนกับยาแขก (อินเดีย) หมอจีนมีความชำนาญมากในการคลำชีพจรต้องใช้เวลาถึงเสี้ยวชั่วโมง และเขาเชื่อว่าการพิเคราะห์อาการที่ชีพจรเต้นนี่เอง สามารถรู้ได้ถึงอาการภายในและสมุฎฐานต่างๆ ของการเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อคลำชีพจรแล้ว เขาก็เขียนในเทียบให้ไปเจียดยาจีนขนานนั้นๆ ซึ่งเขาห่อเครื่องยารวมไว้เหมือนห่อใบชา ในห่อนั้นมีเครื่องยาต่างๆ ทั้งเปลือก รากไม้ เนื้อไม้ ใบแห้ง กระดูก ตัวแมลงและลางทีตะขาบตายซากก็มี คนไข้ต้องเอาไปต้มและใช้ดื่มไปตั้งสิบห้าวัน หนึ่งเดือน ซึ่งยาต้มอันมีราคา ๑๕ ซูส์ต่อห่อ
ยาไทยนั้นมักเป็นผงเป็นเม็ด ประกอบด้วยตัวยาง่ายๆ มีดอกไม้ รากไม้ ไม้หมอละลายยาผง หรือเม็ดยาลงในน้ำอุ่นแล้วดื่มเข้าไปดูง่ายดี ยาเหล่านี้ไม่บำบัดอาการโรคให้หายเสมอไป แต่ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยแต่ประการใด ในบรรดาตำรับผสมผสานมากมาย มีเครื่องยาบางชนิดที่หมอบ่งสรรพคุณไว้มากดังตำรับต่อไปนี้
"ตำรายาแก้ไขตัวร้อน ท่านให้เอานอแรดส่วนหนึ่ง งาช้างส่วนหนึ่ง ฟันเสือส่วนหนึ่ง ฟันจระเข้ส่วนหนึ่ง กระดูกแร้ง กระดูกกาและกระดูกห่านส่วนหนึ่ง เขากระทิงส่วนหนึ่ง เขากวางส่วนหนึ่ง ไม้จันทร์ส่วนหนึ่ง ฝนหินบดใช้น้ำเป็นกระสายกินครึ่งหนึ่ง ทาครึ่งหนึ่ง อาการไข้จะหายแล"
คนไทยมีหนังสือตำราแพทย์ดีๆ อยู่หลายเล่มแปลจากภาษาบาลี บางเล่มกล่าวถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เส้นโลหิตน้อย เส้นโลหิตใหญ่ๆ บางเล่มกล่าวถึงสมุฎฐานของโรคและอาการ ส่วนเล่มอื่นๆ เป็นตำรับหรือตำราผสมยา ซึ่งส่วนมากก็มีที่ดีๆ อยู่เหมือนกัน และยืนยันว่าชะงัด เพราะใช้ตำรานี้เนื่องกันมาหลายศตวรรษแล้ว
ระบบการรักษาคนไข้นั้นต่างกว่าที่ทำกันในยุโรป เขาให้คนไข้ได้กินแต่ข้าวต้มน้ำใสๆ กับปลาแห้งหน่อยเดียวเท่านั้น เขาให้คนไข้อาบน้ำหรือลูบตัววันละ ๓-๔ หน ผู้พยาบาลอมน้ำยาผสมรากไม้พ่นไปบนตัวคนไข้อย่างแรงเป็นฟูฝอย พ่นอยู่ดังนี้ตั้งเสี้ยวชั่วโมง
ข้อจำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ การนวดจากผู้ชำนาญการนวดจะบีบเฟ้นร่างกายทุกส่วนของคนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แขน หน้าท้องและต้นขา บางทีหมอก็จะขึ้นไปเหยียบอยู่บนเข่าของคนไข้ แล้วก็ย่ำไปตามร่างกาย อ้างว่าเพื่อให้เส้นสายกลับคืนเข้าที่
โรคสำคัญๆ ที่มีอยู่ในประเทศสยาม เป็นโรคเด็กที่มีพยาธิ หัด อีสุกอีใส ได้เริ่มมีการนำวัคซีนเข้ามาในประเทศบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เว้นที่ฝีดาษจะคร่าชีวิตเด็กไปเสียราวหนึ่งในสาม ผู้ใหญ่มักจะเป็นโรคบิดซึ่งอาจบำบัดให้หายได้ ไข้จับเป็นพักๆ นั้นดูเป็นสิ่งธรรมดาและไม่ร้ายแรงนัก ส่วนไข้ร้ายอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่าไข้ป่านั้นร้ายมาก แต่เคราะห์ดีที่มีคนเป็นกันน้อย ราวเมื่อสามสิบปีมานี้เอง อหิวาตกโรคเอเชียระบาดเป็นพักๆ หนักบ้างเบาบ้าง
คนไทยอ้างว่า โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายมาตามลม ฉะนั้นเมื่อผู้ใดเป็นอะไรขึ้นมา ก็เรียกว่าลมจับ ฉะนั้นจึงมีการใช้พิมเสน แอมโมเนีย พริกไทย ขิง และเครื่องดมอื่นๆ กันเป็นอันมากเพื่อขับลมร้ายไปเสียจากร่างกายของผู้ป่วย
ดูเหมือนกามโรคจะระบาดในหมู่คนมั่งมี ก็เป็นการลงโทษอันเหมาะสมแล้วสำหรับคนที่มีเมียมากและหมกมุ่นในกามคุณ นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อน และบางคนเป็นขี้กลากไม่รู้จักหายสำหรับบาทแผลนั้น หมอมีน้ำมันทาหรือยาพอกดีๆ ที่ทำให้หายได้
การแพทย์แผนไทยตามทัศนะของบัลลากัวร์ ไม่ต่างไปจากทัศนะของลาลูแบร์เท่าใดนัก ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสเช่นกัน และต่างก็มิได้เป็นแพทย์โดยตรง เป็นแต่เพียงหมอสอนศาสนาที่มีความรู้ด้านการแพทย์มาเพียงเล็กน้อย ซึ่งได้ประเมินคุณค่าด้านการแพทย์แผนไทยอย่างไม่ค่อนเข้าใจนัก อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจในประเด็นที่ว่า "คนไทยมีหนังสือตำราดีๆ อยู่หลายเล่ม" หรือ "ตำรับหรือตำราผสมยา ซึ่งส่วนมากก็มีดีๆ อยู่เหมือนกัน" เป็นสำนวนที่ค่อนข้างจะวกวน แต่แสดงให้เห็นว่าผู้ประเมินมิได้เข้าใจในการแพทย์แผนไทยนั่นเอง
ที่มาและทฤษฎีเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย
ก่อนที่จะกล่าวถึงความเป็นมาและทฤษฎีเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยอย่างละเอียดนั้น ผู้วิจัยได้จัดทำแผนผังที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์สำคัญขึ้นในวงวิชาการการแพทย์ไทยตามลำดับเวลา เพื่อจะได้นำมาพิจารณาถึงที่มาของการแพทย์แผนไทยได้ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น
ลำดับเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย
๕,๕๐๐ ปีก่อน พ.ศ. | - เกิดสังคมที่มีระบบแบบการผลิตอาหาร รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์และทำเครื่องปั้นดินเผา |
๓,๐๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีก่อน พ.ศ. | - รู้จักผลิตเครื่องมือที่เป็นโลหะสำริดและเหล็กได้ |
- พ.ศ. ๖๐๐ – ๗๐๐ | - มีหลักฐานการเข้ามาของพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูจากอินเดีย |
- พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๘๕๕ | - พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างอโรคยาศาล |
- พ.ศ. ๑๗๓๕ | - ชาวมุสลิมรุกรานอินเดียทำลายศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ - ศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลและการแพทย์แบบยูนานิ (Unani) เข้ามามีบทบาท การแพทย์อายุรเวทเสื่อมจากอินเดียและชาวมุสลิมเข้ามามีอิทธิพลในอินเดียนานกว่า ๖๐๐ ปี |
- พ.ศ. ๑๘๐๐ | - สถาปนากรุงสุโขทัย |
- พ.ศ. ๑๘๙๓ | - สถาปนากรุงศรีอยุธยา |
- พ.ศ. ๑๙๙๘ | - ตั้งทำเนียบการแพทย์แผนไทย |
- พ.ศ. ๒๒๐๒ | - ตำรายาพระโอสถพระนารายณ์ ในตำรายาปรากฏชื่อ หมอหลวง ไทย ๔ คน แพทย์เชลยศักดิ์ ๑ คน แพทย์จีน ๑ คน แพทย์อินเดีย ๑ คน และแพทย์ฝรั่ง ๒ คน |
- พ.ศ. ๒๒๑๒ | - ชาวฝรั่งเศสเข้ามาตั้งโรงพยาบาล และรักษาแบบการแพทย์ตะวันตก |
- พ.ศ. ๒๓๑๐ | - กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาทำลาย |
- พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๒๕ | - สถาปนากรุงธนบุรี |
- พ.ศ. ๒๓๒๕ | - สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ |
- พ.ศ. ๒๓๒๘ | - รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ตั้งตำรายาที่วัดพระเชตุพนฯ |
- พ.ศ. ๒๓๕๕ | - รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมตำรายาครั้งยิ่งใหญ่จากหมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ (หมอพื้นบ้าน) หมอพระสงฆ์โดยมี พระพงศ์อมรินทร์ (โอรสสมเด็จพระเจ้าตากสิน) เป็นผู้รวบรวม เรียกตำราแพทย์แผนไทยนี้ว่า "ตำราโรงพระโอสถ" |
- พ.ศ. ๒๓๖๔ | - รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้จารึกตำรายาที่วัดราชโอรส |
- พ.ศ. ๒๓๗๑ | - การแพทย์ตะวันตกเข้ามาในกรุงรัตนโกสินทร์เป็น ครั้งแรก |
- พ.ศ. ๒๓๗๔ | - มิชชันนารีอเมริกันนำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามา |
- พ.ศ. ๒๓๗๕ | - รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้จารึกตำรายาไว้ที่วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนฯ) โดยมี พระยาบำเรอราชแพทย์ (พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสิน) เป็นแพทย์ผู้ควบคุมการจารึกตำรายา นับเป็นแหล่งสรรพวิชาและตำรายาแพทย์ไทยที่ สมบูรณ์ที่สุด มีหมวดอนามัย (ฤๅษีดัดตน) หมวดเภสัชศาสตร์ หมวดเวชศาสตร์ และหมวดหัตถศาสตร์ (การนวด) |
- พ.ศ. ๒๓๗๘ | - หมอบรัดเลย์ เดินทางเข้ามาและเปิดโรงพยาบาล |
- พ.ศ. ๒๔๑๓ | - รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ชำระตำราแพทย์แผนไทย เรียกว่า เวชศาสตร์ฉบับหลวง การแพทย์แผนไทยเฟื่องฟูมาก |
- พ.ศ. ๒๔๑๘ | - สิ้นสุดราชวงศ์โมกุล ศาสนาอิสลามในอินเดียค่อยๆ เสื่อม อำนาจลง |
- พ.ศ. ๒๔๓๐ | - ตั้งศิริราชแพทยากร (โรงพยาบาลศิริราช) มีการรักษา ทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนตะวันตก |
- พ.ศ. ๒๔๓๒ | - ตั้งโรงเรียนฝึกหัดการแพทย์ พิมพ์หนังสือแพทย์ศาสตร์สังเคราะห์ เนื้อหามีทั้งการแพทย์แผนตะวันตก และแพทย์แผนไทย |
- พ.ศ. ๒๔๓๓ | - ยกโรงเรียนฝึกหัดการแพทย์เป็นโรงเรียนแพทยาลัย เปิดสอน การแพทย์ทั้ง ๒ แบบ คือ การแพทย์แผนตะวันตกและการแพทย์แผนไทย |
- พ.ศ. ๒๔๔๔ | - พิมพ์ตำราแพทย์แผนไทยชื่อ ตำราแพทย์ศาสตร์ |
- พ.ศ. ๒๔๔๗ | - พิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์สังเคราะห์ มีทั้งการแพทย์แผนตะวันตกและการแพทย์แผนไทย |
- พ.ศ. ๒๔๕๐ | - พิมพ์ตำราแพทย์แผนไทย ๒ เล่ม คือ ตำราเวชศาสตร์วรรณา และ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง ๒ เล่ม |
- พ.ศ. ๒๔๕๑ | - พิมพ์ตำรายาแพทย์แผนไทยคือตำราแพทย์ศาสตร์สังเขปหรือเวชศึกษา |
- พ.ศ. ๒๔๕๓ | - รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต |
- พ.ศ. ๒๔๕๘ | - ยกเลิกการสอนการแพทย์แผนไทยใน โรงเรียนราชแพทยาลัยและยกเลิกการจ่ายยาแผนไทย ให้แก่คนไข้ในโรงพยาบาลศิริราช |
- พ.ศ. ๒๔๖๔ | - การรักษาคนป่วยแบบอายุรเวทในศาสนาฮินดูได้รับการฟื้นฟูอย่างเป็นทางการในประเทศอินเดีย |
- พ.ศ. ๒๔๖๖ | - ออกพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะปี พ.ศ. ๒๔๖๖ มีผลทำให้การแพทย์แผนไทยต้องออกนอกระบบ เพราะรัฐบาลไม่สนับสนุน |
จากการลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย โดยเปรียบเทียบเหตุการณ์ของการแพทย์แบบอายุรเวทของอินเดีย จะเห็นว่าการแพทย์ทั้งสองระบบไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกันต่างฝ่ายต่างก็เจริญรุ่งเรือง และเสื่อมถอยโดยมิได้มีผลกระทบถึงกัน ในขณะที่การแพทย์แผนไทยเรียนรู้มาจากการเจ็บไข้ของคนในเขตมรสุม มีการใช้สมุนไพรเป็นจำนวนมากในยาแต่ละขนานและไม่มีส่วนประกอบที่สำคัญของยาอินเดียที่ใช้น้ำมันและเนย
สิ่งที่เห็นได้ชัดในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์คือ ในปี พ.ศ. ๑๗๓๕ มุสลิมรุกรานอินเดีย ทำให้การแพทย์แบบอายุรเวทเสื่อมลงและการแพทย์แบบยูนานิ (Unani) ของชาวมุสลิมแพร่หลายในอินเดีย ไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งชี้ว่าการแพทย์แบบอายุรเวทจะเข้ามามีอิทธิพลในเมืองไทยแม้แต่การแพทย์ในระบบโรงพยาบาลของเขมร ที่เรียกว่าอโรคยศาลก็มิได้มีอิทธิพลต่อการแพทย์แผนไทย หากจะมีก็น่าจะเป็นเพียงหมอพื้นบ้านแบบเขมรที่ได้แทรกซึมอยู่ในสังคมไทย
การแพทย์แผนไทยสมัยอยุธยาเป็นระบบขึ้นในปี พ.ศ. ๑๙๙๘ ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการแพทย์สมัยสุโขทัย สิ่งที่เด่นชัดในระบบการแพทย์แผนไทยคือไม่มีโรงพยาบาล เช่น เขมร แต่จะเน้นการรักษาที่บ้านเป็นสำคัญ
ในขณะที่การแพทย์แผนไทยในสมัยอยุธยาเจริญรุ่งเรือง การแพทย์แบบอายุรเวทในอินเดียก็ร่วงโรย และแม้จะมีผลกระทบจากการแพทย์แผนตะวันตกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) แต่ก็มิได้ทำให้การแพทย์แผนไทยได้รับผลสะเทือนแต่อย่างใด
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่เดือนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้อิสรภาพกลับคืนมาได้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นครั้งแรกที่มีบุคคลขั้นสูงคือพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ทรงเรียนวิชาการแพทย์ไทยจำนวน ๔ พระองค์ แม้ว่าจะเกิดขึ้นโดยการอุปถัมภ์ของราชวงศ์จักรีก็ตาม แต่แสดงให้เห็นว่าในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยานั้นการแพทย์แผนไทยมิได้สูญสลายไปแต่อย่างใด ดังมีหลักฐานปรากฏในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. ๒๓๕๒ – ๒๓๖๗) ได้โปรดให้มีการรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยขึ้น ซึ่งมีหลักฐานว่านอกจากตำรายาจะมาจากหมอหลวงซึ่งมีพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นหัวหน้าแล้ว หมอพื้นบ้านหรือหมอเชลยศักดิ์และหมอพระก็มีส่วนสำคัญในการนำตำรามามอบให้ทางการเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าตำราการแพทย์แผนไทยมีอยู่มากมายทั่วประเทศ โดยอยู่ในความครอบครองของหมอพื้นบ้านและหมอพระนั่นเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่าการแพทย์แผนไทยในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๑-๒๔๕๓ นั้น เฟื่องฟูมาก แต่หลังจากพระองค์สวรรคตการแพทย์แผนไทยก็ไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลอีกต่อไป ตามประกาศของพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ในเวลาเดียวกันนั้น (พ.ศ. ๒๔๖๔) การแพทย์แบบอายุรเวทในอินเดียได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ จึงเห็นได้ว่าการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แบบอายุรเวทมีเหตุการณ์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง การรุ่งเรืองและการร่วงโรยสวนทางกันอยู่ตลอดเวลา
แม้ว่าได้มีการศึกษาถึงที่มาและทฤษฎีเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยจากนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งสรุปว่าการแพทย์แผนไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๑๐ พร้อมกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ในส่วนที่เกี่ยวกับทฤษฎีของการแพทย์แผนไทยนั้นมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติเลย โดยกล่าวว่าได้นำเอาทฤษฎีการแพทย์อายุรเวทของอินเดียมาเช่นกัน๓
อายุรเวทมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ๒ คำคือ อายุส หมายถึงชีวิต การมีชีวิตหรือช่วงเวลาแห่งการมีชีวิต เวท หมายถึงศาสตร์ อายุรเวทคือศาสตร์แห่งชีวิตที่สืบต่อดังกระแสธารแห่งความรู้ เป็นศาสตร์ทางการแพทย์ของศาสนาฮินดู๔
เจ.มิตรา (J.MITRA) ได้เขียนเรื่อง A CRTICAL APPRAISAL OF AYURVEDIC MEDICINE IN BUDDIST LITETATURE WITH SPECIAL REFERENCE TO TRIPITAKA ได้กล่าวถึงคำว่าอายุรเวท ว่าไม่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ ในพระไตรปิฎก แต่จะมีคำว่า ติกิจฉา* เจ.มิตราได้ให้เหตุผลว่าอาจจะเป็นเพราะคำว่า อายุรเวท เป็นคำที่เกิดขึ้นในศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ซึ่งเป็นศาสนาตรงข้ามกับพุทธศาสนา และคำว่าอายุรเวทนี้เป็นคำที่นิยมใช้ในวรรณคดีของพราหมณ์จึงไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ฉะนั้นพุทธศาสนาจะใช้คำว่า ติกิจฉา เท่านั้น
จะมีหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่า ลัทธิศาสนาจากอินเดียที่เข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยและดินแดนใกล้เคียงนั้นมีทั้งศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูและพุทธศาสนา แต่ความเชื่อของคนไทยได้ผสานความเชื่อทั้งสองศาสนาจากอินเดียเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและผนวกเข้ากับความเชื่อพื้นบ้านด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำราการแพทย์แผนไทยดั้งเดิมไม่มีคำว่า อายุรเวท แต่ปรากฏคำว่า ติกิจฉา เท่านั้น ดังปรากฏในพระคัมภีร์วรโยคสารในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ความว่า "กล่าวมาด้วยสรรพคุณติกิจฉาวิธี..." หรือ " ...ลำดับนี้จะกล่าวด้วย อันนะปานะวิธีติกิจฉา..." สำหรับคำว่าอายุรเวทปรากฏเป็นที่รู้จักกันในการแพทย์แผนไทย เมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์และคณะฯ ได้ก่อตั้งอายุรเวทวิทยาลัยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งหมายจะให้เป็นสถาบันที่ฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยขึ้นใหม่หลังจากซบเซามานาน
๓ เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ประมวลทฤษฏีการแพทย์แผนไทย เล่ม ๑ พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย (กรุงเทพฯ : สถาบันการแพทย์แผนไทย, ๒๕๓๗), ๑๐.
๔ เฉลียว ปิยะชน, อายุรเวท ศาสตร์แห่งชีวิต (กรุงเทพฯ : สถาบันการแพทย์แผนไทย, ๒๕๓๗), ๑๐-๑๑.
* ติกิจฉา แปลว่า การเยี่ยวยา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้อธิบายถึงปัญหาของการแพทย์แผนไทยว่า "...วิธีการสอนของแพทย์แผนโบราณในขณะนี้ ไม่มีช่องทางจะทำให้การแพทย์เจริญขึ้นได้ เพราะนักเรียนไม่มีมาตรฐาน อาจารย์ขาดประสบการณ์ในการรักษาโรค ตำรับตำรามีน้อย และนักเรียนเรียนจากตำราเพียงอย่างเดียวไม่มีการปฏิบัติ เพราะเหตุผลเหล่านี้จึงต้องจัดสร้างระบบการศึกษาแพทย์โบราณขึ้นใหม่ เพื่อให้ได้แพทย์ที่มีคุณค่าที่มีคุณภาพดีขึ้น..." และแพทย์ที่สถาบันอายุรเวทวิทยาผลิตขึ้นมาเรียกว่า "แพทย์อายุรเวท"
...แพทย์อายุรเวทคือแพทย์แผนโบราณแบบใหม่ของไทย ต่างกับแพทย์แผนโบราณทั่วไปตรงที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยและสามารถใช้ความรู้นี้ช่วยให้เข้าใจเรื่องรูปร่างและการทำงานของร่างกาย เข้าใจเรื่องสาเหตุและอาการของโรคเข้าใจเรื่องยาตลอดจนพิษยาและเข้าใจเรื่องรักษาโรคว่าหายเพราะเหตุใด ตายเพราะเหตุใด การที่มีวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน ทำให้การอบรมสั่งสอนมีหลักวิชา เกิดความแน่นอนและแม่นยำไม่ใช่อาศัยแต่ความจำหรือประสบการณ์ สำคัญประการหนึ่งของความรู้วิทยาศาสตร์คือการวินิจฉัยโรคจะมีเครื่องมือช่วย เช่น การฟังเสียง การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ซึ่งทำให้เกิดความแม่นยำ...
จะเห็นได้ว่าคำว่าอายุรเวทที่นำมาใช้ในภาษาไทยตามแนวคิดของศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ต่างไปจากความหมายเดิมของอินเดียมาก แต่ทำให้การแพทย์แผนไทยผูกพันอยู่กับคำว่าอายุรเวทของฮินดูอย่างแยกกันไม่ออก และคำว่าติกิจฉาที่การแพทย์แผนไทยใช้มาตั้งแต่เดิมนั้นได้สูญหายไปและไม่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน
ข้อที่ควรจะพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ ตามทฤษฎีการแพทย์อายุรเวทเชื่อว่าร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ แต่ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทยเชื่อว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีธาตุอากาศ ฉะนั้นพื้นฐานทางความเชื่อเกี่ยวกับร่างกายจึงไม่เหมือนกัน ไม่น่าที่ไทยจะได้รับอิทธิพลมาจากอายุรเวท ส่วนความคิดเรื่องธาตุทั้ง ๔ และขันธ์ ๕ นั้น การแพทย์แผนไทยน่าจะได้อิทธิพลมาจากพุทธศาสนามากกว่า
แต่เดิมนักปราชญ์เชื่อกันว่าร่างกายประกอบด้วย ๓ ธาตุ คือ ธาตุลม น้ำ ไฟเท่านั้น เชื่อกันว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบแนวคิดใหม่ว่าร่างกายนั้นประกอบไปด้วยธาตุน้ำ ไฟ ลม และดิน ซึ่งพระพุทธเจ้าได้อธิบายธาตุทั้ง ๔ คือ ปัถวี (ดิน) อาโป (น้ำ) วาโย (ลม) เตโช (ไฟ) มาก่อนตั้งแต่ ๕๔๓ ปีก่อนคริสตศักราช ก่อนที่ฮิปโปเครติส (Hippocretes) ชาวกรีกจะค้นพบธาตุดิน
แต่จากการศึกษาปรัชญาจารวากของอินเดียอันเป็นปรัชญาวัตถุนิยม (Materialism) ซึ่งเกิดขึ้นจาก การไม่พอใจต่อระบบและวิธีการของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมุ่งทางพิธีกรรมจนละเลยเอาใจใส่ต่อการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ ลัทธินี้มีมาก่อนพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกเรียกลัทธินี้ว่าโลกายัต และเรียกคณาจารย์ในลัทธิจารวากว่าครูทั้ง ๖ ในเรื่องเกี่ยวกับธาตุนั้น จารวากเป็นลัทธิแรกที่กล่าวว่าธาตุทั้งหลายมีเพียง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ในพระสูตรของพระพฤหัสบดี ปฐมมาจารย์แห่งลัทธิจารวาก ได้กล่าวถึงสาระสำคัญแห่งคำสอนของลัทธิโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับธาตุว่า มี ๔ ธาตุคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และท่านกฤษณปติมิศรได้สรุปคำสอนของลัทธิจารวากว่า "โลกายัต(ลัทธิจารวาก) เป็นศาสตร์เพียงอย่างเดียว ความรู้ที่ได้ทางสัมผัสเท่านั้นเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ธาตุทั้งหลายมีเพียงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟเท่านั้น ซึ่งสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับเรื่องธาตุ ๔ ตามแนวคิดของลักทธิจารวาก แต่สิ่งที่ต่างจากความคิดทางพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิงคือเมื่อลัทธิจารวากได้สรุปแนวคิดว่า "ความสนุกสนานเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางแห่งชีวิตมนุษย์ จิตเป็นแต่เพียงผลิตผลของวัตถุโลกอื่น (โลกหน้า) ไม่มี ความตายคือความหลุดพ้น"
เกี่ยวกับธาตุนั้น ในศาสนาพราหมณ์หรือแม้แต่ในอายุรเวทของศาสนาฮินดูซึ่งเกิดขึ้นในชั้นหลังก็ตามเชื่อว่าโลกและสิ่งต่างๆ ในโลกประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๕ อย่างคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และธาตุอากาศ แต่ลัทธิจารวากไม่ยอมรับการมีอยู่ของธาตุอากาศเพราะรับรู้ด้วยสัมผัสไม่ได้แต่รู้ด้วยอนุมานอย่างเดียวและเชื่อว่าโลกและทุกอย่างในโลกเกิดขึ้นด้วยการที่ธาตุทั้ง ๔ ประชุมกัน เมื่อธาตุทั้ง ๔ มาอยู่รวมกันอย่างถูกส่วนก็เกิดพันธุ์มนุษย์และสัตว์ขึ้นมา ธาตุทั้ง ๔ จึงเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้และดำรงอยู่ชั่วนิรันดร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของธาตุต่างๆ ทั้ง ๔ นั้นไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปรและเสื่อมสลายไปในที่สุด ความตายของมนุษย์ สัตว์และพืชเกิดขึ้นจากการที่ธาตุทั้ง ๔ แยกตัวจากกันนั่นเอง
ในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงธาตุทั้ง ๔ ว่า
...ในกายนี้มีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ...
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงจำแผนกกายานุปัสสนา โดยทางการใส่ใจถึงกายโดยเป็นปฏิกูลอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงจำแผนก โดยทางการใส่ใจถึงกาย โดยความเป็นธาตุ ในกายธาตุนี้ มีปฐมวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ
ในพระสุตันปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ก็กล่าวถึงธาตุทั้ง ๔ ว่า
"...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีกภิกษุย่อมพิจารณาการอันตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปรกติ นี่แล โดยความเป็นธาตุว่าอยู่ ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ..."
นอกจากนี้ในสุมังคลาวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธรรค อรรถกถา เรื่องพรหมชาลสูตร พระพุทธเจ้ายังได้ทรงอธิบายธาตุทั้ง ๔ ว่า
ปฐวีธาตุ มีลักษณะเข้มแข็ง ลักษณะแท้ไม่แปรผัน
อาโปธาตุ มีลักษณะไหลไป
เตโชธาตุ มีลักษณะร้อน
วาโยธาตุ มีลักษณะเคลื่อนไปมา
ส่วนมนุษย์ในทัศนะของอายุรเวท มีส่วนประกอบพื้นฐาน ๕ ชนิดเรียกว่าปัญจมหาภูตะ คือ
อากาศ อากาศ
วายุ ลม
เตโช ไฟ
อาโป น้ำ
ปฐวี ดิน
โดยอธิบายว่ามหาภูติ ๕ อย่าง โดยเริ่มแรกนั้นฤๅษีได้รู้แจ้งว่าปฐมกำเนิดของเอกภพนั้นประกอบด้วยจิตสำนึกที่ไร้รูปเป็นจุดรวมของจิตสำนึกทั้งมวล จากนั้นคลื่นความสั่นที่ละเอียดมากของเสียงที่ใช้เสียงโอมหรืออาด (Aum, Ak) ปรากฏขึ้นจากการสั่นสะเทือนอันนั้น มีความว่างเกิดขึ้นคืออากาศเป็นสิ่งพื้นฐานลำดับแรก จากนั้นความว่างก็เริ่มเคลื่อนไหวอย่างละเอียดและเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะของลม (วาตะหรือวายุ) เป็นสิ่งพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีกลำดับหนึ่ง นั้นก็คือความว่างหรืออากาศ ในขณะมีการกระทำจากการเคลื่อนไหวของอากาศเกิดมีการเสียดสีกันขึ้นทำให้เกิดความร้อน ความร้อนที่เกิดขึ้นรวมตัวกันมากขึ้นจึงเกิดแสงสว่างและปรากฏแสดงออกเป็นไฟเป็นสิ่งพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีก ชั้นหนึ่งเรียกว่าอัคนีหรือเตโช จากความร้อนของไฟทำให้ส่วนประกอบบางอย่างในอากาศได้ถูกทำลายและกลายเป็นของเหลวปรากฏเป็นน้ำ (ชละ, อาโป, อปะ) เป็นสิ่งพื้นฐานขึ้นมาอีก เมื่อน้ำเกิดมีการเปลี่ยนแปลงคือแข็งตัวขึ้นเกิดเป็นอณุของดิน (ปฐวี) เป็นสิ่งพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีกจากพื้นฐานดินและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็บังเกิดขึ้นเป็นอาณาจักรพืชและสัตว์ ดินยังมีสิ่งที่ไร้ชีวิตต่างๆ เช่นแร่ธาตุประกอบอยู่มากมาย ฉะนั้นจากครรภ์ของสิ่งพื้นฐานทั้งห้าสิ่งทั้งหลายได้ถือกำเนิดขึ้น สิ่งพื้นฐานทั้งห้าจึงมีอยู่ในสรรพสิ่งในเอกภาพนี้และปฐมกำเนิดจากจิตสำนึกแห่งเอกภาพ ฉะนั้นวัตถุและพลังงานเป็นสิ่งเดียวกันนั้นเอง...
การอธิบายเรื่องธาตุ ๔ ในพุทธศาสนาและเรื่องมหาภูต ๕ นั้น แม้จะสัมพันธ์กันบ้างแต่เห็นได้ว่าการมองประเด็นของร่างกายนั้นต่างกัน โดยในพุทธศาสนาไม่ปรากฏอากาศธาตุ
ความจริงแล้วในพุทธศาสนาจะใช้คำว่า ธาตุ แต่ในอายุรเวทจะใช้คำว่า ภูตะ ซึ่งภูตะใช้สำหรับอากาศ เตโช อาโป และปฐวี ส่วนคำว่าธาตุอายุรเวทนั้นใช้หมายถึงเนื้อเยื่ออวัยวะของร่างกายซึ่งประกอบด้วย ๗ อย่าง คือ
น้ำเหลือง (รสะ)
เลือด (รัชตะ)
เนื้อ (มังสะ)
ไขมัน (เมทะ)
กระดูก (อัสถิ)
ไขกระดูก (มัชระ)
ศุกระ (น้ำอสุจิ, ไข่)
เมื่อวิเคราะห์จากพื้นฐานของการแพทย์แผนไทยในการนำคำว่าธาตุมาใช้กับความหมายว่าร่างกายมนุษย์มีองค์ประกอบของธาตุทั้ง ๔ นั้น จากหลักฐานที่ปรากฏจะเห็นได้ว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาโดยตรง เพราะในการอธิบายถึงธาตุทั้ง ๔ มิได้นำความคิดทางอายุรเวทมาใช้เลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องธาตุ ๗ หรือเรื่องมหาภูตะ ๕
เรื่องเกี่ยวกับติกิจฉานั้น ปรากฏรายละเอียดในพระไตรปิฎก ในพระวินัยปิฎกมหาวรรคภาคที่ ๒ เรื่องเภสัชชขันธกะ กล่าวถึงพระทุทธองค์ทรงบัญญัติเรื่องเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อย อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาของอินเดีย พระพุทธเจ้าตรัสว่า "...เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว..."
ส่วนสิ่งของอื่นๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นเภสัช ได้แก่
น้ำมันเปลว "...เราอนุญาตน้ำมันเปลวเป็นเภสัช คือน้ำมันเปลวหมี น้ำมันเปลวปลา น้ำมันเปลวปลาฉลาม น้ำมันเปลวหมู น้ำมันเปลวลา..."
มูลเภสัช (รากไม้) "...เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นเภสัช คือ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู
หรือมูลเภสัชชนิดอื่นในบรรดามีที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว..."กสาวเภสัช (น้ำฝาด) "...เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นเภสัช คือ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดมูกมัน น้ำฝาดกะดอมหรือขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ดหรือพญามือเหล็ก น้ำฝาดถินพิมานหรือกสาวเภสัช แม้ชนิดอื่นบรรดามีที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว..."
ปัณณเภสัช (ใบไม้ที่เป็นเภสัช) "...เราอนุญาตใบไม้ที่เป็นเภสัช คือ ใบสะเดา ใบมูกมัน ใบกระดอม หรือขี้กา ในกะเพราหรือแมงลัก ใบฝ้ายหรือปัณณเภสัช แม้ชนิดอื่นในบรรดาที่มีไม่สำเร็จประโยชน์แก่ควรเคี้ยว..."
ผลเภสัช (ผลไม้) "...เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นเภสัช คือ ลูกพิลังกาสา ดีปรี พริก สมอไทย สมอภิเพก มะขามป้อม ผลแห่งโกศหรือผลเภสัช แม้ชนิดอื่นในบรรดาที่มีไม่สำเร็จประโยชน์แก่ควรเคี้ยว..."
ชตุเภสัช (ยางไม้) "...เราอนุญาตยางไม้ที่เป็นเภสัช คือ ยางอันไหลออกจากต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากก้านและใบแห่งต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบแห่งต้นหิงคุหรือเจือของอื่นด้วย ยางอันไหลจากยอดไม้ ตกะ ยางอันไหลออกมาจากใบแห่งต้นตกะ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบ หรือไหลออกจากก้านแห่งต้นตกะ กำยานหรือชตุเภสัช แม้ชนิดอื่นในบรรดาที่มีไม่สำเร็จประโยชน์แก่ควรเคี้ยว..."
โลภณเภสัช (เกลือ) "...เราอนุญาตเกลือที่เป็นเภสัช คือ เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุง หรือโลภณ เภสัชชนิดอื่นในบรรดาที่มีไม่สำเร็จประโยชน์แก่ควรเคี้ยว..."
จุรณเภสัช (เภสัชผง) "...เราอนุญาตเภสัชชนิดผง สำหรับภิกษุผู้เป็นฝีก็ดี พุพองก็ดี สิวก็ดี โรคฝีดาษหรืออีสุกอีใสก็ดี มีกลิ่นตัวแรงก็ดี เราอนุญาตโคมัย ดินเหนียว กากน้ำย้อม..."
นอกจากเภสัชหลักที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว ยังมียาขนานอื่นๆ ที่กล่าวถึงการปรุงด้วยเครื่องปรุงหลายอย่าง ซึ่งนอกจากจะเป็นตำรายาของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นตำรายาของหมอชีวกโกมารภัจจ์ และนายแพทย์อื่นๆ ในสมัยพุทธกาล
ยาตา "...เราอนุญาตยาตาคือยาที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงหลายอย่าง ยาตาที่ทำด้วยเครื่องปรุงต่างๆ ยาตาที่เกิดในกระแสน้ำเป็นต้นหรดาลกลีบทอง เขม่าไฟ
สำหรับเครื่องยาที่จะบดผสมกับยาตานั้น "...เราอนุญาตไม้จันทร์ กฤษณา กะลัมพัก ใบเฉียง แห้วหมู"
ยาแก้ปวดศีรษะ "...เราอนุญาตน้ำมันทาศีรษะ โรคปวดศีรษะ...เราอนุญาตการนัตถุ์น้ำมันที่นัตถุ์ไหลออกมา...เราอนุญาตกล้องสำหรับนัตถุ์
โรคลม "...เราอนุญาตน้ำมันที่หุงได้ในน้ำมันที่หุง แพทย์ต้องเจือน้ำเมา...เราอนุญาตให้เจือน้ำเมาลงในน้ำมันที่หุง...ชนิดที่เขาหุงไม่ปรากฏสี กลิ่นและรสของน้ำเมา ถ้ามีการเจือน้ำเมาลงไปมากนั้น "...เราอนุญาตให้ตั้งเอาไว้เป็นยา..."
โรคลมตามอวัยวะ "...เราอนุญาตการเข้ากระโจม...เราอนุญาตการรมใบไม้ต่างๆ เราอนุญาตน้ำที่ต้มเดือดด้วยใบไม้ต่างชนิด...เราอนุญาตอ่างน้ำ" (คือให้อาบ)
โรคลมเสียดตามข้อ "...เราอนุญาตให้ระบายโลหิตออก...เราอนุญาตเพื่อให้ดูดโลหิตออกด้วยเขา"
โรคเท้าแตก "...เราอนุญาตยาทาเท้า...เราอนุญาตให้ปรุงน้ำมันทาเท้า"
โรคฝี "...เราอนุญาตการผ่าตัด...พอกยา...ผ้าพันแผล"
ถ้าต้องการล้างแผล "...เราอนุญาตให้ชะด้วยน้ำแป้งเมล็ดพรรณผักกาด..."
ถ้าแผลชื้นหรือเป็นฝ้า "...เราอนุญาตให้รมควัน..."
ถ้ามีเนื้องอก "...เราอนุญาตให้ตัดด้วยก้อนเกลือ..."
งูกัด "...เราอนุญาตให้ใช้ยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน..."
แก้ยาพิษ "...เราอนุญาตให้ดื่มน้ำเจือคูถ..."
ถูกเสน่ห์ยาแฝด "...เราอนุญาตให้ดื่มน้ำที่เขาละลายจากดินรอยไถซึ่งติดผาล..."
โรคพรรดึก "...เราอนุญาตให้ดื่มน้ำอามิว..."
โรคผอมเหลือง "...เราอนุญาตให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรโค..."
โรคผิวหนัง "...เราอนุญาตให้ทำการลูบไล้ด้วยของหอม..."
โรคกายกอปรด้วยโทษ (ผิวหนังหยาบมีแผลพุพอง) "...เราอนุญาตให้ดื่มยาประจุถ่าย...น้ำข้าวใส...น้ำถั่วเขียวต้ม...น้ำเนื้อต้ม"
โรคลมเกิดในอุทร "...เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันยาดองโสจิรกะ (เป็นของเค็มจำพวกเกลือ) ได้ตามสบาย..."
ไข้ตัวร้อน "...รักษาด้วยรากบัวและเง่าบัว..."
โรคริดสีดวงทวาร "...พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ฆราวาสผ่าตัดได้ แต่สำหรับพระภิกษุพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่กิจของสมณะไม่ควรผ่าตัดเพราะทวารเป็นที่แคบผิวเนื้ออ่อนแผลงอกเต็มยาก ให้ใช้วิธีรัดหัวไส้แทนการผ่าตัด"
ในส่วนที่เกี่ยวกับร่างกาย โดยเฉพาะภายในและส่วนโครงสร้างของร่างกาย นอกจากจะได้จากการเรียนรู้สั่งสมโดยการสังเกตและศึกษาจากร่างกายโดยตรงแล้ว การแพทย์แผนไทยน่าจะได้รับความรู้ความเข้าใจจากพระไตรปิฎกในขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ว่าด้วยพรรณนาวังติงสาการ ซึ่งบรรยายรายละเอียดถึงองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกายซึ่งได้แก่ เกสา (ผม) โลมา (ขน) นขา (เล็บ) ทนฺตา (ฟัน) ตโจ (หนัง) อฐิมิญชํ (เยื่อในกระดูก) วักก (ไต) หทยํ (หัวใจ) ยกนํ (ตับ) กิโลมกํ (พังผืด) ปิหกํ (ม้าม) ปปผาสํ (ปอด) อนตํ (ไส้ใหญ่) อนตคุณํ (ไส้น้อย) อทริยํ (อาหารใหม่) กรีสํ (อาหารเก่า-อุจจาระ) มตถลุคํ(มันในสมอง) ปตตํ (ดี) เสมหํ (เสลด) ปุพโพ (หนอง) โลหิตํ (เลือด) เสโท (เหงื่อ) เมโท (มันข้น) อสุ (น้ำตา) วสา (มันเหลว) เขโฬ (น้ำลาย) สิงฆาณิกา (น้ำมูก) ลสิกา (ไขข้อ) มุตฺตมูตร (ปัสสาวะ)
กล่าวโดยสรุปว่าจากข้อมูลในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่าการแพทย์แผนไทยได้รับอิทธิพลจากติกิจฉามากกว่าอายุรเวท ซึ่งการแพทย์แผนไทยเรียกว่าติกิจฉาวิธีหรือวิธีติกิจฉา ดังที่ปรากฏในเภสัชขันธกะ และรายละเอียดภายในของร่างกายที่ปรากฏในขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ว่าด้วยพรรณนาวังติงสาการ
ส่วนในเรื่องที่เกี่ยวกับตำรายานั้น ยาที่ใช้รักษาโรคในพระไตรปิฎก องค์ประกอบการปรุงแต่ละขนานมีไม่กี่ชนิด ผิดกับยาในตำรายาแพทย์แผนไทยที่ส่วนใหญ่มีองค์ประกอบหลากหลายส่วน ผสมสมุนไพรมากมายซึ่งแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด พิจารณาจากตำรายาของหมอชีวกโกมารภัจจ์จากพระไตรปิฎก พระวินัยมหาวรรคอีกรขันธกะ กล่าวว่ามีส่วนผสมของน้ำมันเนยเป็นส่วนใหญ่ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เภสัช ๕ อันเป็นหลักสำคัญในยาของอินเดียคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและอ้อย ไม่เป็นส่วนสำคัญของตำรายาในการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะเนยใส เนยข้น และน้ำมัน จะมีบ้างในการใช้น้ำผึ้งเท่านั้น จึงเห็นได้ว่ามีลักษณะการปรุงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และแม้แต่โรคเดียวกัน ตำรับการปรุงยาก็คนละขนาน และไม่มีส่วนใกล้เคียงกันเลยแม้แต่น้อย
ความเชื่อเรื่องโรคภัยไข้เจ็บตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยถ้าพิจารณาการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของสังคมไทย จะเห็นได้ว่าคนไทยมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่และผสานกับอิทธิพลภายนอกอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังรักษาความเป็นไทย มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยคนไทยรู้จักการใช้สมุนไพรเป็นยารักษาและบำบัดโรคมานานแล้ว คือตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นเอกลักษณ์ของคนที่อยู่ในเขตมรสุม ต่อมาแม้ว่าวัฒนธรรมจากภายนอกจะเข้ามามีอิทธิพล โดยเฉพาะความเชื่อทางพุทธศาสนา คนไทยก็ได้นำมาผสานกับความเชื่อดั้งเดิม การรักษาโรคแบบการแพทย์แผนไทย แนววิธีการวินิจฉัยโรคและปรัชญาการวินิจฉัยโรคซึ่งผสมผสานกันกับปรัชญาทางพุทธศาสนามีที่เรียกว่า ทฤษฎีการแพทย์แบบติกิจฉา ฉะนั้นพื้นฐานการแพทย์แผนไทยจึงน่าจะมาจากปรัชญาในพุทธศาสนาและผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน
สำหรับแนวและวิธีการวินิจฉัยโรคตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีปรากฏในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง และ เวชศาสตร์วรรณา สรุปได้ดังนี้
การแพทย์แผนไทย มีความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยในมนุษย์ แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ เชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดจากสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ได้แก่ ผีป่า ผีบ้าน หรือสิ่งที่มีอำนาจหรือสิ่งของที่ผู้อื่นเสกมากระทำโทษ เชื่อในเรื่องของเทพและเรื่องของเบื้องบนลงโทษผู้ทำผิดจารีตประเพณี
กลุ่มที่ ๒ เชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดจากธรรมชาติ ได้แก่ การเสียสมดุลของร่างกาย อันประกอบด้วยธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ การเสียสมดุลของความร้อนและความเย็น และการเสียสมดุลของโครงสร้างร่างกาย
กลุ่มที่ ๓ เชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดจากพลังจักรวาลได้แก่ อิทธิพลของดวงดาวต่างๆ ซึ่งมีทั้งพลังที่สร้างสรรค์และพลังงานที่ทำลายสุขภาพ หากพลังฝ่ายใดมากกว่าก็จะส่งผลให้สุขภาพดีหรือร้ายไปตามนั้น
การรักษาจึงเป็นไปตามความเชื่อ คือมีทั้งการใช้พิธีกรรม ได้แก่ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบวงสรวงเทพเบื้องบน การต่อชะตา ส่วนการรักษามีการใช้ยาสมุนไพร และการกินอาหารเพื่อปรับสมดุลร่างกาย การนวด การอบ การประคบ และการปรับสมดุลทางจิตด้วยสมาธิ
การแพทย์แผนไทยเชื่อว่าสาเหตุแห่งการเจ็บป่วยเกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ ๖ ประการ
๑. มูลเหตุธาตุทั้งสี่
๒. อิทธิพลของฤดูกาล
๓. อายุที่เปลี่ยนไปตามวัย
๔. ถิ่นที่อยู่อาศัย
๕. อิทธิพลของกาลเวลาและสุริยจักรวาล
๖. พฤติกรรมเป็นมูลเหตุที่ก่อโรค
๑. มูลเหตุธาตุทั้งสี่
สิ่งมีชีวิตเกิดมาล้วนประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ อันได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เรียกว่าสมุฏฐานธาตุ ซึ่งอยู่ในภาวะสมดุลเกี่ยวข้องกันและกัน โดยแบ่งออกเป็น ธาตุดิน ๒๐ ประการ ธาตุน้ำ ๑๒ ธาตุลม ๖ ธาตุไฟ ๔
ธาตุดิน (ปถวีธาตุ) คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเป็นของแข็ง มีความคงรูป เช่น อวัยวะต่างๆ เป็นธาตุดิน ได้แก่ ผม เล็บ ฟัน หนังเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า และเยื่อในสมอง
ธาตุน้ำ (อาโป) คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตมีลักษณะเป็นน้ำเป็นของที่เหลว มีคุณสมบัติไหลไปมาซึมซับไปทั่วร่างกาย อาศัยธาตุดินเพื่อการคงอยู่ อาศัยธาตุลมเพื่อการเลื่อนไหล ได้แก่ น้ำดี เสลด น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำปัสสาวะหรือน้ำมูตรและน้ำในอุจจาระ
ธาตุลม (วาโย) คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต มีลักษณะเคลื่อนไหวได้ มีคุณสมบัติคือความเบาเป็นสิ่งที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหว เดินนั่ง นอน คู้ เหยียดได้ ธาตุลมอาศัยธาตุดินและธาตุน้ำเป็นเครื่องนำพาพลัง ขณะเดียวกันธาตุลมพยุงดินและทำให้น้ำเคลื่อนไหวไปมาได้ ธาตุลมที่สำคัญมี ๖ ประการ จัดเป็นธาตุลมภายในได้แก่ ลมพัดจากข้างล่างสู่เบื้องบน ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องต่ำ ลมพัดอยู่ในท้องนอกลำไส้ ลมพัดอยู่กระเพาะลำไส้ ลมพัดทั่วร่างกาย และลมหายใจเข้าออก
ธาตุไฟ (เตโช) คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตมีลักษณะที่เป็นความร้อน ไฟทำให้ลมและน้ำในร่างกายเคลื่อนที่ด้วยพลังแห่งความร้อนอันพอเหมาะ ไฟภายในมี ๔ ประการ ได้แก่ ไฟทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟทำให้ร้อนระส่ำระส่าย ไฟทำให้ร่างกายเหี่ยวแห้งทรุดโทรม และไฟย่อยอาหาร
ธาตุทั้งสี่จะต้องอยู่ในภาวะสมดุลกันร่างกายจึงจะเป็นปกติไม่เจ็บป่วย โดยธาตุดินอาศัยน้ำทำให้ชุ่มและเต่งตึง อาศัยลมพยุงให้คงรูปและเคลื่อนไหว อาศัยไฟให้พลังงานอุ่นไว้ไม่ให้เน่า น้ำต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะกุมซับไว้มิให้ไหลเหือดแห้งไปจากที่ควรอยู่ อาศัยลมทำน้ำไหลซึมซับทั่วร่างกาย ลมต้องอาศัยน้ำเป็นดินเป็นที่อาศัยและนำพาพลังไปในที่ต่างๆ ดินปะทะลมให้เกิดการเคลื่อนที่แต่พอเหมาะ ไฟอุ่นดินและอาศัยดินเพื่อเผาผลาญให้เกิดพลัง ไฟต้องอาศัยน้ำเพื่อการเผาผลาญที่พอเหมาะ ไฟทำให้ลมเคลื่อนที่ไปได้ ในขณะที่ลมสามารถให้ลุกโชนเผาผลาญมากขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าธาตุทั้งสี่ต่างอาศัยซึ่งกันและกันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ หากมีความแปรปรวนจะเสียสมดุลทันที
สำหรับการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากสาเหตุของการเสียสมดุลของธาตุทั้งสี่นั้น มักแสดงออกด้วยอาการต่างๆ อาการที่เจ็บป่วยอยู่เสมอและการเจ็บป่วยในปัจจุบันเป็นอาการของธาตุใด อวัยวะใดกำเริบ หย่อนหรือพิการ เป็นการหาสมุฏฐานว่าเจ็บป่วยด้วยธาตุใด
๒. อิทธิพลของฤดูกาล
ฤดูกาลมีผลทำให้ร่างกายแปรปรวน โดยช่วงรอยต่อระหว่างฤดูกาล เช่น ฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ความเย็นจะเจือผ่านออกไป และความร้อนเริ่มเจือผ่านเข้ามา ฤดูร้อนต่อฤดูฝนความร้อนย่อมเจือเข้าไปมีผลต่อธาตุลมที่กำลังมีผลกระทบและธาตุลมย่อมเจือเข้ามากระทบร้อนด้วย เมื่อถึงอากาศหนาวกำลังมา ละอองฝนปลายฤดูฝนและธาตุลมเจือเข้าสู่ความเย็น ในขณะที่ความหนาวเย็นต้นฤดูหนาวเริ่มเจือเข้ามารับลมปลายฤดูฝน สภาวะดังกล่าวหากปรับตัวไม่ได้จะเกิดเสียสมดุลและเกิดการเจ็บป่วย
ฤดูร้อนเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ ฤดูฝนเจ็บป่วยด้วยธาตุลม ฤดูหนาวเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ ตัวคุมธาตุ คือ หทัยวัตถุ หัวใจ อุทริยะ อาหารใหม่ กรีสะ อาหารเก่า
เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งเสียหายหรือแปรปรวนก็จะกระทบ "วีสติปัตถวี" คือธาตุดินทั้ง ๒๐ ให้มีปัญหาไปด้วย
ตัวคุมธาตุน้ำคือ ศอเสมหะ น้ำช่วงคอขึ้นไป อุระเสมหะ น้ำจากคอถึงสะดือ คูถเสมหะ น้ำช่วงล่าง
เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งเสียหายหรือแปรปรวนก็จะกระทบ "ทวาทศอาโป" คือธาตุน้ำทั้ง ๑๒ ให้มีปัญหาไปด้วย
ตัวคุมธาตุลม คือหทัยวาตะ การเต้นของหัวใจ สัตถกะสาตะลมคมเหมือนอาวุธ สมุนาวาตะลมกลางตัว
เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งเสียหายหรือแปรปรวนก็จะกระทบ "ฉกาลวาโย" คือธาตุลมทั้ง ๖ ให้มีปัญหาไปด้วย
ตัวคุมธาตุไฟคือ พัทธปิตตะ ดีในถุงน้ำดี อพัทธะปิตตะ ดีนอกถุงน้ำดี กำเดา องค์ความร้อน
เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งเสียหายหรือแปรปรวนก็จะกระทบ "จตุกาลเตโช" คือ ธาตุไฟทั้ง ๔ ให้มีปัญหาไปด้วย
๓. อายุที่เปลี่ยนไปตามวัย (อายุสมุฏฐาน)
ร่างกาย มนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุขัย แบ่งเป็น ๓ วัย คือ
ปฐมวัย อายุ ๐ – ๑๖ ปี เกิดโรคธาตุน้ำ
มัชฉิมวัย อายุ ๑๖ – ๓๒ ปี เกิดโรคทางธาตุไฟ
ปัจฉิมวัย มากกว่า ๓๒ ปีขึ้นไป เกิดโรคในธาตุลม
๔. สถานที่ถิ่นที่อยู่อาศัย
ที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อมเรียกว่าประเทศสมุฏฐาน ย่อมมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพ ได้แก่ ประเทศร้อนสถานที่ที่เป็นภูเขาสูงเนินผา มักเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ ประเทศเย็นสถานที่เป็นน้ำฝน โคลน ตม มีฝนตกชุกมักเจ็บป่วยด้วยธาตุลม ประเทศอุ่นสถานที่เป็นน้ำฝน กรวด ทราย เป็นที่เก็บน้ำไม่อยู่ มักเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ ประเทศหนาว สถานที่ที่เป็นน้ำเค็มมีโคลนตมชื้นแฉะ ได้แก่ ชายทะเล มักเจ็บป่วยด้วยธาตุดิน
๕.อิทธิพลของกาลเวลา
สาเหตุการเกิดโรคอันเนื่องจากเวลา คือการเปลี่ยนแปลงในรอบหนึ่งวัน ยามใดเกิดจันทรุปราคาหรือสุริยุปราคามักเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในโลกมนุษย์ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว เกิดการแปรปรวนของธาตุต่างๆ แตกต่างไป
เวลา ๐๖.๐๐ – ๑๐.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. ธาตุน้ำกระทำโทษมักมีอาการน้ำมูกไหลหรือท้องเสีย
เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. และ ๒๒.๐๐ – ๐๒.๐๐ น. ธาตุไฟกระทำโทษ มีอาการไข้หรือแสบท้องและปวดท้อง
เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. และ ๐๒.๐๐ – ๐๖.๐๐ น. ธาตุลมกระทำโทษ คือ วิงเวียน ปวดเมื่อย และอ่อนเพลีย
ตัวแปรอีกหลายอย่างที่กำหนดความแตกต่างต่อไปในรอบหนึ่งเดือน คือดวงจันทร์ข้างขึ้นข้างแรม และในรอบหนึ่งปีอิทธิพลของดวงดาวที่มีผลในเดือนต่างๆ เป็นรายเดือนรวม ๑๒ เดือน เมื่อพระอาทิตย์สถิตในราศีต่างๆ เกิดผลต่อร่างกายต่างกันเรียกว่า ๑๒ ราศี และอิทธิพลของดาวที่มามีอิทธิพลต่อชีวิตยาวนานหลายปีเรียกว่า ดาวเคราะห์เสวยอายุตามคัมภีร์มหาทักษา หากดาวเคราะห์ส่งผลต่อชีวิตอย่างรุนแรงจะทำให้เกิดการเจ็บป่วย
๖.พฤติกรรมมูลเหตุก่อโรค
กินอาหารมากหรือน้อยเกินไป กินอาหารบูดหรืออาหารไม่เคยกิน และกินอาหารไม่ถูกกับธาตุ
ฝืนอิริยาบถ ได้แก่ การนั่ง ยืน เดิน และนอน ไม่สมดุลกันจนร่างกายมีโครงสร้างเสียสมดุลและ เสื่อมโทรม
อากาศไม่สะอาดหรืออยู่ในที่อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป
การอด ได้แก่ การอดข้าว อดนอน อดน้ำ และอดอาหาร
การกลั้นอุจจาระและปัสสาวะ
ทำงานเกินกำลังมากหรือมีกิจกรรมทางเพศมากเกินไป
มีความโศกเศร้าเสียใจหรือดีใจจนเกินไปและขาดอุเบกขา
มีโทสะมากเกินไป ขาดสติ
จะเห็นได้ว่ามนุษย์มีธาตุเจ้าเรือนติดตัวมาตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดาเรียกว่าธาตุกำเนิด ต่อมาต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ธาตุภายนอก อิทธิพลของฤดูกาล ถิ่นที่อยู่อาศัย อิทธิพลของกาลเวลา สุริยจักรวาล และชีวิตที่เติบโตท่ามกลางการเลี้ยงดูของครอบครัวและพฤติกรรมแห่งตนจนเติบใหญ่ผ่านสามวัย มนุษย์ต้องปรับตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้ร่างกายสมดุลไม่เจ็บป่วย หรือให้ทรมานน้อยที่สุดจวบจนสิ้นอายุขัย
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดโรคตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้นจะเห็นได้ว่ามีสิ่งที่เหมือนกันคือถือว่าธรรมชาติเป็นปัจจัยที่สำคัญเพราะมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หากละเมิดกฎธรรมชาติก็จะเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่างๆ
การวินิจฉัยโรคตามแนวแพทย์แผนไทย การซักประวัติ
หมอบางคนนอกจากจะซักถามประวัติส่วนตัว วันเวลาตกฟากแล้ว ข้อซักถามที่สำคัญที่สุดคือ อาการที่ผู้ป่วยมาหาหมอคืออาการอย่างไร มีอาการอะไรบ้าง เกิดอะไรก่อนหลัง เกิดมากเวลาใด เพื่อสรุปว่าโรคที่เป็นเกิดจากการเสียสมดุลของธาตุใด
การตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกาย ได้แก่ การดูลักษณะทั่วไปว่ามีรูปร่างบุคลิกและนิสัยเป็นไปในทางธาตุใด เพื่อประกอบกับการดูธาตุเจ้าเรือนหรือธาตุกำเนิด
การตรวจการเต้นของหัวใจ
การแพทย์แผนไทยรู้จักการจับชีพจรตามจุดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการตรวจประตูลมคือการจับชีพจรที่ข้อมือเทียบกับหลังเท้าอีกด้วยเพื่อดูการเดินของเลือดลม
การตรวจไข้
ในอดีตใช้มือคลำ พอบอกได้บ้างว่ามีไข้หรือไม่
การตรวจดูอวัยวะที่ผู้ป่วยมีอาการ
เช่น ทางหู ทางตา ทางผิวหนัง และทางกระดูก ฯลฯ
การตรวจเส้นและโครงสร้างของร่างกาย
จะต้องมีการตรวจวัดองศาของข้อต่างๆ ว่าเคลื่อนไหวหรือติดขัดมากน้อยเพียงใดก่อนลงมือนวด และเมื่อนวดเสร็จจะตรวจซ้ำเพื่อเป็นการวัดว่าเส้นเอ็นหย่อนดีแล้วหรือไม่เพียงใด
การตรวจสิ่งมีคุณกระทำโทษ หมอบางคนใช้การนั่งทางใน เพื่อตรวจดูว่าการเจ็บป่วยครั้งนี้มีผีซ้ำด้ำพลอยหรือไม่ ผีที่มาทำโทษต้องการอะไร หรือการเจ็บป่วยเกิดจากวิบากกรรมอันใด
วิธีนี้บางครั้งใช้ได้ผลในกลุ่มคนไข้จิตเวช คนไข้เรื้อรัง คนไข้ที่หมดกำลังใจรักษา วิธีการรักษาใช้พิธีกรรม เช่น การรำผีฟ้าหรือการทำขวัญ การตรวจทางโหราศาสตร์เป็นการตรวจดูพื้นฐานดวงชะตา นอกจากนี้ยังมีการตรวจดูมหาทักษาว่าดาวอะไรเสวยอายุดาวอะไรแทรก เพื่อวิเคราะห์ดูว่าการเจ็บป่วยครั้งนี้จะหายยากหรือง่าย
การคูณธาตุ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ตรวจสภาพธาตุทั้งสี่ เป็นการสรุปอย่างง่ายว่าในปีนี้ผู้ป่วยมีธาตุทั้งสี่เป็นอย่างไร สูตรคำนวณมีหลายสูตร บางสูตรใช้ตัวเลขเกี่ยวกับวัน เดือน ปี เกิด บางสูตรใช้เฉพาะอายุ
การวินิจฉัย จากการซักถามและตรวจพบอาการ เมื่อนำมาประมวลโดยยึดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับตัวคุมสุขภาพหรือตัวควบคุมธาตุทั้งสี่ได้แก่
ธาตุดิน มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ ๓ อย่าง คือ
หทัยวัตถุ มีที่ตั้งหัวใจควบคุมความสมบูรณ์ของหัวใจ เช่น ขนาดการทำงาน การเต้น ความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อหัวใจ
อุทริยะ หมายถึงอาหารใหม่คืออาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่ๆ การซักประวัติว่าเพิ่งรับประทานอะไรมาก่อนป่วยมีความจำเป็นมาก เพราะอาหารคือธาตุภายนอกที่เรานำเข้าไปบำรุงหรือปรับธาตุภายใน เรื่องอาหารจึงสำคัญ ต้องมีการซักถามเกี่ยวกับการกิน คือกินไม่ถูกกับธาตุ
กรีสะ หมายถึงอาหารเก่าคือกากอาหารในลำไส้ใหญ่ที่จะถ่ายออกมาเป็นอุจจาระ ลักษณะของอุจจาระเป็นตัวบอกสุขภาพ อุจจาระหยาบ ละเอียด แค่น แข็งหรือเหลว กลิ่นอุจจาระเป็นเช่นไร เช่น อุจจาระเหมือนกลิ่นปลาเน่าธาตุน้ำเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนหญ้าเน่าธาตุไฟเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนข้าวบูดธาตุลมเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนดังศพเน่าเพราะธาตุดินเป็นเหตุ
ธาตุน้ำ มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ ๓ อย่าง คือ
คอเสมหะ ควบคุมน้ำบริเวณคอเกี่ยวกับ เสลด น้ำมูก มีหรือไม่อย่างไร มีมากในเวลาใด อาจหมายถึงการทำงานของต่อมต่างๆ ที่ผลิตน้ำเมือก และน้ำมูก
อุระเสมหะ ควบคุมน้ำบริเวณอกหรือ กลางตัวจากคอลงมาถึงบริเวณลิ้นปี่เหนือสะดือ การซักถามจะต้องถามถึงอาการไอ เสลดเป็นอย่างไร การหอบ การอาเจียน น้ำที่ออกมาเป็นอย่างไร การปวดท้องเกี่ยวกับน้ำย่อยในกระเพาะอาจหมายถึงการทำงานของต่อมน้ำมูกเมือกในปอด หลอดลม น้ำในกระเพาะอาหารและน้ำดี น้ำย่อยในลำไส้เล็ก
คูถเสมหะ ควบคุมน้ำช่วงล่างจากสะดือลงไป อาจเป็นน้ำมูก น้ำในลำไส้ น้ำในอุจจาระ ในมดลูกและช่องคลอดถ้าเป็นหญิง และอสุจิถ้าเป็นชาย จึงต้องซักถามอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น การถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ ลักษณะเหลวหรือแข็ง มีน้ำมากน้อยหรือผิดปกติอย่างไรหรือไม่
ธาตุลม มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ ๓ อย่าง คือ
ลมหทัยวาตะ ลมที่ควบคุมอารมณ์จิตใจ การเต้นของหัวใจ ใจสั่น ความหวั่นไหว ความกังวล
สัตถกะวาตะ ลมที่คมเหมือนอาวุธ หมายถึง เมื่อเกิดอาการจะมีความฉับพลัน เจ็บปวดลึกๆ คล้ายกับภาวะขาดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรืออวัยวะขาดเลือดก็จะมีอาการเจ็บปวดรุนแรง
สุมนาวาตะ ลมที่ควบคุมพลังที่อยู่เส้นกลางลำตัวตามแนวดิ่ง เป็นตัวควบคุมระบบประสาท การไหลเวียนโลหิตในสมอง ไขสันหลัง ระบบอัตโนมัติต่างๆ การซักถามอาการ หมอจะถามเกี่ยวกับการทำงานของแขนขา ซึ่งวาตะน่าจะเกี่ยวกับสมองประสาท
ลมที่เป็นหัวหน้าใหญ่ทั้งสาม โบราณว่าไว้สุขภาพจะสมบูรณ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับสมุนาวาตะมากกว่าอย่างอื่น
ธาตุไฟ มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ ๓ อย่าง คือ
พัทธะปิตตะ ในที่นี้คือการควบคุมการทำงานของน้ำดี และการย่อยสลายแห่งการกระทำของน้ำดี น้ำดีอุดตัน ภาวการณ์ผลิตน้ำดีของตับผิดปกติ ตับอักเสบเกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง เกิดน้ำดีอักเสบเป็นนิ่ว เป็นต้น
อพัทธะปิตะ ดีนอกฝัก หมายถึง การทำงานของน้ำดีในลำไส้ อาการคือ จุกเสียด อืดเฟ้อ อาหาร ไม่ย่อย
กำเดา แพทย์แผนไทยว่าไว้ กำเดาเป็นหัวหน้าแห่งไฟทั้งมวล สุขภาพจะสมบูรณ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับกำเดาเป็นสำคัญที่สุด
ตรีโทษ อาการเกี่ยวเนื่องกันของธาตุทั้งสี่ที่มีการเสียดุลสืบเนื่องกัน เมื่อเกิดธาตุเดียวนั้นเรียกเอกโทษ สองธาตุเรียกทุวันโทษ สามธาตุเรียกตรีโทษ
สันนิบาต เมื่อกระทำครบสามธาตุและย่างเข้าวันที่ ๓๐ เรียกว่า เกิดสันนิบาต
มหาสันนิบาต เมื่ออาการหนักมากจนกระทำโทษต่อธาตุดินครบสี่ธาตุ เรียกว่าเกิดมหาสันนิบาต เป็นอาการเสียสมดุลประชุมกันด้วยธาตุทั้งสี่
อายุโรค ในการเกิดโรคเกี่ยวข้องกับวัยว่าเริ่มต้นที่ธาตุใดก่อน เช่น วัยเด็ก เกิดธาตุน้ำก่อนแล้วตามด้วยไฟและลมตามลำดับ วัยกลาง เกิดธาตุไฟก่อนแล้วตามด้วยลมและน้ำตามลำดับ วัยชรา เกิดธาตุลมก่อนและตามด้วยไฟและน้ำตามลำดับ
สรุปการวินิจฉัยโรคตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย
โรคที่มีลักษณะชัดเจน วินิจฉัยตามลักษณะของธาตุทั้งสี่ จำแนกตามธาตุย่อยทั้ง ๔๒ ว่าพิการ ซึ่งมักจะเห็นอาการหรือลักษณะของโรคชัดเจนและมีการตั้งชื่อไว้แล้ว เช่น ผมพิการ หนังพิการ ปอดพิการ โรคเริม กลากเกลื้อน ริดสีดวง ประดง และกษัย เป็นต้น
กลุ่มอาการที่ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะโรค มีอาการหลายอาการเกิดกับอวัยวะหลายอวัยวะ การวินิจฉัยต้องใช้หลักสมดุลของธาตุสี่โดยพยายามสรุปให้ได้ว่า อาการที่เป็นอยู่เหล่านั้นเป็นอาการของธาตุใดหย่อนกำเริบหรือพิการ
การรักษา มีแนวและวิธีการรักษาดังนี้
ปัจจัยซึ่งเป็นสิ่งธรรมชาติกำหนด ได้แก่ ธาตุเจ้าเรือน ฤดูกาล สุริยจักรวาล ความอนิจจัง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มนุษย์จำเป็นต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับปัจจัยหรือสมุฏฐานต่างๆ มนุษย์จึงเหลือทางเลือกคือ การปรับตนเองด้วยการกินอาหารสมุนไพร ยาสมุนไพรและการปรับปรุงพฤติกรรม
พฤติกรรมที่เป็นมูลเหตุเกิดโรคทั้ง ๘ ประการ ให้หลีกเลี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝืนอิริยาบถจนทำให้ร่างกายเสียสมดุลจะทำให้ธาตุทั้งสี่แปรปรวนได้ เพราะกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นกระดูกเป็นธาตุดิน ซึ่งแพทย์แผนไทยว่าธาตุดินเป็นที่ตั้งแห่งกองโรคทั้งหลาย เมื่อดินเสื่อมเสียแล้วอย่างอื่นก็เสื่อมไปด้วย การแก้ไขคือ การออกกำลังกาย การดัดตนด้วยท่าฤๅษีดัดตน ซึ่งเป็นวิธีการจัดโครงสร้างให้เข้าที่ด้วยตนเอง การนวดไทยคือการแก้ไขปัญหากระดูก เส้นเอ็นพิการต่างๆ นอกจากนี้การแก้ปัญหาทางสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ต้องเน้นอย่างยิ่ง ได้แก่ การนั่งสมาธิต่างๆ หลักการดังกล่าวคือหลักการ "ธรรมานามัย" ๓ ประการได้แก่
กายานามัย การออกกำลัง การดัดตนด้วยตัวเอง การกินอาหารให้ถูกกับธาตุคือถูกธาตุเจ้าเรือนและสมุฏฐานต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ การกินอาหารแต่พอเหมาะ มีสติในการกินและการนอน
จิตตานามัย การฝึกสมาธิให้จิตใจเข้มแข็ง จิตมีพลังเกิดปัญญา เกิดความสงบสุข จะทำให้เกิดความต้านทานดีขึ้น เมื่อจิตเข้มแข็งเกิดปัญญา ย่อมเลือกมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพที่ไม่ตามใจตนเองด้วยกิเลสและความอยากคือตัณหา
ชีวิตนามัย การดำรงชีวิตตามทางสายกลาง เลี้ยงชีพด้วยชอบย่อมไม่เกิดความเครียดไม่ผิดศีล รักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ รักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาดสมดุลไปด้วยธาตุทั้งสี่
การรักษาด้วยยาสมุนไพร เพื่อปรับให้ธาตุสมดุลมีหลักการดังนี้
ยาสมุนไพร แบ่งเป็น ๒ ชนิดคือ
ยาสมุนไพรปรับธาตุ เช่น ยาเบญจกูลประกอบด้วยตัวยาประจำธาตุและธาตุคือ ดีปลี ชะพลู สะค้าน เจตมูลเพลิง และขิงแห้ง เป็นต้น
ยาปรับธาตุตามฤดูกาล ได้แก่ ยาประจำฤดูร้อน ตรีผลา คือสมอไทย สมอภิเภก มะขามป้อม ยาประจำฤดูหนาว ตรีสารคือ สะค้าน เจตมูลเพลิง ชะพลู ยาประจำฤดูฝน ตรีกฎกคือ พริกไทย ดีปลี และขิง เป็นต้น
การใช้ยาสมุนไพรตามรสยา ได้แก่ รสประธาน ๓ รส
รสเย็น แก้ธาตุไฟ ได้แก่ เกสรดอกไม้ และ เขาสัตว์
รสร้อน แก้ธาตุลม ได้แก่ ขิง ข่า และพริกไทย
รสสุขุม แก้ธาตุน้ำ ได้แก่ โกฏและเทียนจันทร์
บางตำรามีรสยา ๙ รส มีสรรพคุณมุ่งแก้ส่วนต่างๆ แตกต่างกันดังนี้
รสฝาด ฤทธิ์ทางสมาน
รสหวาน ซึมซาบไปตามเนื้อ
รสเมาเบื่อ แก้พิษ
รสขม แก้ทางโลหิตและดี
รสมัน แก้เส้นเอ็น
รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ
รสเปรี้ยว กัดเสมหะ
รสเผ็ดร้อน แก้ทางลม
รสเค็ม แก้ทางผิวหนัง
รสอาหารประจำธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ
ธาตุดิน ควรรับประทานอาหารรสฝาด หวาน มัน เค็ม ได้แก่ มังคุด ฝรั่งดิบ ฟักทอง เผือก ถั่วต่างๆ เงาะ น้ำนม น้ำอ้อย และเกลือ
ธาตุน้ำ ควรรับประทานอาหารรสเปรี้ยว รสขม ได้แก่ มะกรูด มะนาว ส้ม สับปะรด มะเขือเทศ มะระ และสะเดา
ธาตุลม ควรรับประทานอาหารรสเผ็ดร้อน ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย โหระพา และกระเพรา
ธาตุไฟ ควรรับประทานอาหารรสเย็นจืด ได้แก่ ผักบุ้ง ตำลึง แตงโม บัวบก และขี้เหล็ก
การรักษาโรคหรืออาการด้วยยาสมุนไพรตามอาการหรือเฉพาะโรค สมุนไพรเดี่ยวหรือสมุนไพรตำรับ เช่น พญาลอรักษาเริม ฟ้าทะลายโจรแก้เจ็บคอและแก้ท้องเดิน ขมิ้นชันแก้ท้องอืดเฟ้อ เป็นต้น
การรักษาด้วยสมุนไพรด้วยการปรับธาตุตามคัมภีร์ธาตุบรรจบ ใช้สำหรับรักษาโรคที่มีความยุ่งยาก เรื้อรัง เมื่อรักษาด้วยการใช้ยาสมุนไพรตามอาการหรือปรับธาตุพื้นฐานทั่วๆ ไปแล้วยังไม่หาย ให้นำธาตุกำเนิดมาจัดยาเพิ่มเข้าไป หากยังไม่ดีขึ้นให้ใช้ธาตุแม่มาบรรจบเข้าด้วยกับยานั้นๆ ซึ่งสรุปภาพรวมของหลักการรักษาในแนวทางการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย
การรักษาด้วยการอบ การประคบด้วยสมุนไพร การนึ่งหม้อเกลือ เป็นวิธีการที่นำมาเสริมการบำบัดรักษาด้วยการนวดไทย ซึ่งนวดแบบไทยมี ๒ แบบ คือนวดแบบเชลยศักดิ์ เป็นการนวดพื้นบ้าน ใช้อวัยวะหลายส่วนนอกเหนือจากมือ เช่น เข่า ศอก เท้า เป็นการผ่อนแรง และการนวดมีวัตถุประสงค์คือนวดแก้ปวดเมื่อยทั่วไปและนวดเพื่อการรักษา การนวดอีกแบบหนึ่งคือ การนวดแบบราชสำนัก ซึ่งเป็นการนวดเพื่อรักษาโรคเป็นส่วนใหญ่ การนวดราชสำนักมีการพัฒนาท่านวดที่สุภาพและใช้เพียงนิ้วหัวแม่มือเท่านั้น
เมื่อพิจารณาถึงที่มาของการแพทย์แผนไทย ซึ่งได้ตรวจสอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นว่าการแพทย์แผนไทยมิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแพทย์อายุรเวทแบบฮินดูหรือพราหมณ์ หากแต่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดทางปรัชญาของการแพทย์แบบติกิจฉา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาโดยตรง แต่เมื่อพิจารณาดูจากแนวทางการปฏิบัติ การวินิจฉัย และการรักษาแล้วจะเห็นว่ามิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแพทย์แบบติกิจฉา
เมื่อพิจารณาในส่วนวิธีการใช้สมุนไพรแล้ว จะเห็นได้ว่าการแพทย์แผนไทยน่าจะมีวิวัฒนาการมาจากการแพทย์แบบพื้นเมืองดั้งเดิม มีอิทธิพลภายนอกเข้ามาผสมผสานกันบ้างจากการแพทย์อินเดียและการแพทย์จีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากตะวันตก ไทยก็นำการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามาผสมผสาน แต่ด้วยสาเหตุที่การแพทย์แผนไทยมักจะปิดบังความรู้ ขาดการศึกษาต่อเนื่อง ขาดการพัฒนาการ และขาดการเอาใจใส่ดูแลจากรัฐบาล ทำให้การแพทย์แผนไทย อยู่ในภาวะหยุดนิ่งทางวิชาการ และในทัศนะของคนปัจจุบันเห็นว่าการแพทย์แผนไทยมิได้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์
สมุนไพรกับการกินอาหารตามธาตุ
ในทรรศนะของแพทย์แผนไทย อาหารที่คนเรารับประทานเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่จะบำรุงธาตุทั้งสี่ให้อยู่ในภาวะสมดุล โดยเฉพาะอาหารที่มีพืชสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ จะมีสรรพคุณในการปรับธาตุที่หย่อนหรือกำเริบให้กลับสู่สภาวะปกติ เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนมีธาตุเจ้าเรือนไม่เหมือนกัน ในตำราแพทย์แผนไทยจึงได้กำหนดสมุนไพรประจำธาตุ ซึ่งเชื่อกันว่า การบริโภคอาหารและสมุนไพรให้สอดคล้องกับธาตุเจ้าเรือนตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้น จะช่วยให้เกิดความสมดุลทางร่างกาย และส่งเสริมสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังเช่น
- คนธาตุดิน ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสฝาด รสหวาน รสมัน และรสเค็ม สมุนไพรประจำธาตุจึงได้แต่ หัวปลี กล้วย เผือก มัน ถั่วพู กะหล่ำปลี ฝรั่งดิบ มะละกอ ผักกระเฉด ฯลฯ
ตัวอย่างอาหาร
อาหารเช้า – ข้าวต้ม ถั่วลิสงคั่วเกลือ กุ้งหวาน ถั่วงอกผัดเต้าหู้เหลือง
อาหารกลางวัน – วุ้นเส้นผัดไทย ขนมจีนน้ำพริก หมี่กะทิ ข้าวซอยไก่
อาหารเย็น – แกงจืดเต้าหู้ แกงเผ็ดไก่ใส่ฟักทอง ปลากุเลาเค็มทอด แกงอ่อมไก่ ผัดดอกกุยช่ายกับตับหมู ยำถั่วพู แกงแคไก่ หลนเต้าเจี้ยว ยำหัวปลี
ผักแนม – หัวปลี ยอดกระถิน ใบบัวบก ยอดมะม่วงหิมพานต์
ผลไม้ – ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก มะม่วงสุก มังคุด เงาะ ลำไย
เครื่องดื่ม – น้ำฝรั่ง น้ำฟักทอง น้ำแตงโม น้ำเต้าหู้
ของหวาน – ถั่วเขียวต้ม กล้วยน้ำว้านึ่งมะพร้าวขูด กล้วยหักมุกเผา ฟักทองนึ่งมะพร้าวขูด กล้วยบวชชี
- คนธาตุน้ำ ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะเขือเทศ ส้มโอ สับปะรด มะนาว ส้มเขียวหวาน ยอดมะขามอ่อน และหลีกเลี่ยงอาหารรสมันจัด
ตัวอย่างอาหาร
อาหารเช้า – ข้าวต้ม ยำกุ้งแห้ง ซีเช็กไฉ่ กระเทียมดองผัดไข่
อาหารกลางวัน – ไก่ย่าง ส้มตำ ลาบปลาดุก ต้มแซบ ข้าวยำปักษ์ใต้ ข้าวคลุกกะปิ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำสุโขทัย
อาหารเย็น – ต้มยำไก่ใบมะขามอ่อน น้ำพริกปลาย่าง ผัดเปรี้ยวหวานปลากะพง แกงส้มผักบุ้ง น้ำพริกมะขามสด ปลาทอดยำทะเล
ผักแนม – ยอดมะขามอ่อน ยอดมะกอก ยอดผักแต้ว
ผลไม้ – สับปะรด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะเฟือง ลางสาด มะม่วงดิบ
เครื่องดื่ม – น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำกระเจี๊ยบ น้ำระกำ น้ำสับปะรด
ของหวาน – กระท้อนลอยแก้ว ส้มลอยแก้ว สับปะรดลอยแก้ว
- คนธาตุลม ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น กะเพรา โหระพา ตะไคร้ ข่า กระเทียม ขึ้นฉ่าย ขิง ยี่หว่า ฯลฯ และหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด
ตัวอย่างอาหาร
อาหารเช้า – ข้าวต้ม ขิงดองเต้าเจี้ยว ผัดผักบุ้งไฟแดง ยำปลาทูน่าใส่หอมใหญ่ โจ๊กหมูใส่ขิง
อาหารกลางวัน – วุ้นเส้นผัดขี้เมากุ้ง ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ ขนมจีนน้ำยา ขนมจีนแกงเขียวหวาน
อาหารเย็น – แกงเลียง ไก่ผัดขิงสด ปลาทอดราดพริก แกงป่าใส่ปลาช่อน น้ำพริกลงเรือ ผัดพริกขิงปลาทู ต้มส้มปลาทูสด ยำรวมมิตรทะเล ไก่ผัดพริกหยวก
ผักแนม – ใบชะพลู ขมิ้นขาว ผักแขยง ผักชีล้อม ใบสะระแหน่ ใบแมงลัก ใบโหระพา
ผลไม้ – ชมพู่ แตงโม แตงไทย
เครื่องดื่ม – น้ำขิง น้ำตะไคร้
ของหวาน – เต้าฮวยน้ำขิง บัวลอยน้ำขิง มันต้มน้ำตาลใส่ขิง ขนมเทียนไส้เค็ม
- คนธาตุไฟ ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสขม รสเย็น รสจืด เช่น สะเดา แตงโม หัวผักกาด ฟักเขียว แตงกวา คะน้า บวบ มะเขือ ฯลฯ และ หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดร้อน
ตัวอย่างอาหาร
อาหารเช้า – ซุปรากบัวเห็ดหอม ตุ๋นมะระซี่โครงหมู ข้าวต้ม ใบปอผัดปลาใบขนุนนึ่งจิ้มเต้าเจี้ยว ต้มจับฉ่าย
อาหารกลางวัน- ข้าวแช่ ข้าวราดหน้าไก่ ก๋วยเตี๋ยวน้ำสุโขทัย
อาหารเย็น – แกงขี้เหล็ก ห่อหมกใบยอ น้ำปลาหวานสะเดา ปลาดุกย่าง แกงจืดตำลึงหมูสับ แกงปลาดุกใส่มะระ ปลาช่อนผัดขึ้นฉ่าย ผัดมะเขือยาว
ผักแนม – ถั่วพู แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ใบบัวบก กระเจี๊ยบมอญ กุ่ม ดอกขจร ชะอม บัวสาย ผักกระเฉด ผักกูด ผักขม ผักชีฝรั่ง
ผลไม้ – ชมพู่ แตงโม มะละกอ แตงไทย ลูกตาลอ่อน
เครื่องดื่ม – น้ำบัวบก น้ำใบเตย น้ำเก๊กฮวย น้ำมะตูม น้ำแตงโม
ของหวาน – เฉาก๊วย รากบัวต้มใส่เม็ดบัว เต้าฮวยฟรุตสลัด
แพทย์แผนไทย : การแพทย์แบบองค์รวม
แม้ว่าบางครั้ง การแพทย์แผนไทยโบราณจะกล่าวถึงพิธีกรรม ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ หรือสิ่งลี้ลับหลายๆ อย่าง ว่าเป็นบ่อเกิดแห่งโรคและความเจ็บป่วยด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุให้การแพทย์แผนโบราณถูกวิพากษ์โดยโลกสมัยใหม่ที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ จนทำให้ภูมิความรู้ทางการแพทย์แผนโบราณไม่ได้รับการยอมรับและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กลับถูกบดบังด้วยแนวคิดของแพทย์แผนปัจจุบันอยู่เป็นเวลานาน แต่ถ้าหากพิจารณาจากมูลเหตุข้างต้นอันเป็นข้อสมุฏฐานแห่งการเกิดโรคของการแพทย์แผนโบราณแล้ว จะพบว่าการแพทย์แผนโบราณมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่การแพทย์แผนปัจจุบันมองข้ามอยู่เสมอมา นั่นคือความสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนกับผืนดิน ป่าเขา น้ำตก ทะเล และท้องฟ้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือสภาวะแวดล้อมที่คนอาศัยอยู่ ซึ่งรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันเองอีกด้วย
จึงอาจกล่าวได้ว่า การแพทย์แผนไทย เป็นการแพทย์แบบองค์รวม ซึ่งการรักษาความเจ็บป่วยจะมิได้คำนึงถึงแต่เพียงด้านร่างกายสรีระอย่างแพทย์แผนปัจจุบันเพียงอย่างเดียว หากต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปกับการรักษาด้วย ซึ่งการรักษาแบบองค์รวม จะพิจารณาจากแนวทางดังนี้
๑. ปัจจัยซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนด ได้แก่ ธาตุเจ้าเรือน ฤดูกาล จักรวาล ฯลฯ
๒. พฤติกรรมที่เป็นมูลเหตุให้เกิดโรค เช่น ฝืนอิริยาบถจนทำให้ร่างกายเสียสมดุล พฤติกรรมการกินการอยู่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเหตุให้ธาตุทั้งสี่แปรปรวน
๓. ใช้อาหารหรือยาสมุนไพร แต่งแก้เพื่อปรับธาตุในร่างกายให้สมดุล
หมอชีวกโกมารภัจจ์
หมอชีวก เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล โดยเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย หมอชีวก มีชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์ ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก หมอชีวกจึงได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอกตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล
หมอชีวกเกิดที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นบุตรของหญิงคณิกา (หญิงงามเมือง) ที่มีนามว่า นางสาลวดี เป็นสาวงามผู้เลอโฉม มีความฉลาดเฉลียวเชี่ยวชาญในการเต้นระบำบรรเลงและการขับขาน และรับรองพวกผู้ชายที่ต้องการอภิรมย์คืนละร้อยตำลึง ต่อมาได้ไม่นานนางเกิดมีครรภ์ และเกรงว่ารายได้จะตกจึงออกอุบายว่านางป่วย และเก็บรักษาตัว สั่งยามเฝ้าประตู ห้ามมิให้ผู้ชายใดๆ เข้ามาในบ้าน ถ้าผู้ใดถามถึงก็ให้แจ้งไปว่านางป่วย ครั้นอยู่มานานวันครรภ์แก่แล้วนางก็คลอดบุตร แล้วสั่งให้คนรับใช้เอาทารกนั้นใส่กระด้งเก่าๆ ไปทิ้งในดงขยะ ครั้นเมื่อถึงเวลาเช้า เจ้าชายอภัย โอรสของพระเจ้าพิมพิสาร กำลังเสด็จจะไปเข้าเฝ้าพระราชบิดา ได้ทอดพระเนตรเห็นทารกนั้น มีฝูงอีการุมล้อมอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารก เจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า "ชีวติ" ซึ่งแปลว่ายังเป็นอยู่ คือยังมีชีวิตอยู่ยังไม่ตาย คนทั้งหลายจึงพากันขนานนามเด็กทารกผู้นี้ว่า "ชีวก" แปลว่า ผู้ยังเป็นอยู่ ยังไม่ตายหรือผู้รอดตาย และโดยเหตุที่พระราชกุมารคือเจ้าชายได้ทรงเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม จึงมีสร้อยนามว่า "โกมารภัจจ์" แปลว่าผู้ชึ่งพระราชกุมารเลี้ยง
ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น มักถูกลูกล้อเลียนจากเพื่อนๆ ว่าเป็นลูกไม่มีพ่อแม่ และเมื่อถึงงานเทศกาลต่างๆ ก็ไม่เห็นมีญาติๆ ส่งของขวัญมาให้เหมือนเด็กอื่นๆ ชีวกจึงทูลถามเจ้าชายผู้เป็นบิดาเลี้ยงว่า บิดามารดาที่แท้จริงนั้นคือใคร ซึ่งเจ้าชายผู้เป็นบิดาเลี้ยงได้ตอบว่า "ฉันเองก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้าเหมือนกัน แต่ฉันเป็นบิดาของเจ้า คือฉันได้เอาเจ้ามาเลี้ยงไว้" เมื่อชีวกได้ทราบดังนั้น จึงคิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตัว โดยคิดว่าตนเองน่าจะไปเรียนวิชาแพทย์ เนื่องจากวิชาช้าง วิชาม้า * เป็นวิชาที่เกี่ยวด้วยการเบียดเบียน ส่วนวิชาแพทย์เป็นวิชาที่มุ่งไปทางเมตตากรุณาและเกี่ยวด้วยการเกื้อกูลแก่ประชาชน ดังนั้นชีวกจึงออกเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์ที่สำนักทิศาปาโมกข์ แห่งเมืองตักกสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี โดยวิธีที่อาจารย์จะรู้ว่าผู้ใดจะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นแพทย์ได้นั้น อาจารย์ได้สั่งกับชีวกว่า ให้ถือเสียมไปเที่ยวหาดูสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ใช้เป็นยาไม่ได้ ให้นำกลับมา โดยให้เที่ยวหา ๔ วัน วันละทิศ ทิศละหนึ่งโยชน์รอบพระนครตักกศิลา ชีวกรับคำอาจารย์แล้วถือเอาเสียมไปเที่ยวหาตามคำสั่งของอาจารย์ก็ไม่ได้พบเห็นสิ่งใดที่ไม่ใช่ยาเลย กลับมาแล้วก็แจ้งความนั้นให้ทราบ อาจารย์จึงกล่าวว่า "ชีวก เธอเป็นอันเรียนวิชาแพทย์จบแล้ว ความรู้เพียงเท่านี้ก็พอเพียงที่เธอจะใช้เป็นทางอาชีพได้แล้ว"
เมื่อสำเร็จการศึกษาชีวกจึงเดินทางกลับกรุงราชคฤห์ ระหว่างทางได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต บังเอิญในเวลานั้นภรรยาเศรษฐีในเมืองสาเกตป่วยเป็นโรคในศีรษะมา ๗ ปีแล้ว ยังไม่มีผู้ใดรักษาให้หายได้ หมอชีวกได้อาสารักษาอาการป่วยของภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นจนหายจากโรคที่เป็นมา ๗ ปี ให้หายเป็นปลิดทิ้ง ด้วยการใช้ยาหยอดที่ทำจากเนยใสร่วมกับยาอื่นๆ หยอดทางจมูกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อภรรยาเศรษฐีหายจากโรค ทางครอบครัวของเศรษฐีจึงได้ให้รางวัลเป็นเงินพร้อมด้วยคนรับใช้ชายหญิง และรถม้า เมื่อหมอชีวกรับรางวัลเหล่านั้นแล้วจึงเดินทางกลับกรุงราชคฤห์ และได้นำเงินของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าเลี้ยงดู แต่เจ้าชายอภัยไม่ทรงรับ โปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นสมบัติของตนเอง และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
ต่อมาไม่นานเจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงแด่พระเจ้าพิมพิสารจนหายประชวรโดยใช้ยาทาเพียงครั้งเดียว เมื่อหายประชวรพระโรคแล้ว พระองค์ได้ประทานรางวัลอันมีค่าอย่างมากมายแก่หมอชีวก แต่หมอชีวกปฏิเสธที่จะไม่รับของมีค่ามากมายเหล่านั้น ทั้งยังกล่าวต่ออีกว่าที่ถวายการรักษาในครั้งนี้ มิได้หวังจะรับพระราชทานรางวัลแต่อย่างใด ซึ่งทำให้พระเจ้าพิมพิสารทรงพระโสมนัสโปรดปรานกับคำตอบของหมอชีวกเป็นอย่างยิ่ง จึงพระราชทานเรือนที่มีเครื่องเรือนพร้อมหนึ่งหลัง สวนอุทยานอัมพวันหนึ่งสวน บ้านเกิดผลประโยชน์รายได้ปีละแสนหนึ่งบ้าน แล้วจึงมีพระราชโองการโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ และคอยรักษาพวกนางใน กับทั้งคอยดูแลรักษาเหล่าคณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้าด้วย
หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้รักษาโรคที่สำคัญๆ อีกหลายครั้ง เช่น
- ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีกรุงราชคฤห์ที่ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปีแล้ว โดยการให้เศรษฐีนอนหงายลงบนเตียง แล้วมัดติดไว้กับเตียงต่อจากนั้นจึงผ่าหนังศีรษะแล้วเปิดรอยประสานของกะโหลกศีรษะออก นำเอาสัตว์ ๒ ตัวออกมา โดยหมอชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า ท่านเศรษฐีจะถึงแก่กรรมจากสัตว์ทั้งสองที่จะเกาะยึดมันสมองของท่านเศรษฐี หลังจากนั้นก็ปิดรอยประสาน เย็บแผลที่หนังศีรษะแล้วเอายาทา สามสัปดาห์ต่อมา ท่านเศรษฐีก็หายเป็นปกติ
* ความรู้เกี่ยวด้วยช้างด้วยม้า เช่น การเลี้ยง การหัดขี่
- ทำการรักษาโรคในลำไส้ของบุตรเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสี เนื่องจากบุตรเศรษฐี ชอบเล่นควงตัวหรือหกคะเมนเอาศีรษะตั้งลงกับพื้นแล้วหมุนรอบๆ จึงเกิดป่วยลำไส้ใหญ่เป็นปมขึ้นเนื่องจากไส้พับ ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปย่อยได้ไม่ดี ขับถ่ายไม่คล่องไม่สะดวก ทำให้ซูบผอม เผือด ซีด ผิวพรรณไม่สดใส เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งไปทั้งตัว หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้รักษาโดยการเปิดหน้าท้องออกและคลายปมที่ลำไส้ใหญ่เสร็จแล้วก็จับยัดกลับเข้าไป เย็บปิดหนังหน้าท้องเอายาทา ต่อมาไม่ช้า บุตรเศรษฐีก็หายจากโรคในลำไส้เป็นปกติ
- รักษาโรคผอมเหลืองแก่พระเจ้าปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี พระเจ้าปัชโชตผู้นี้ เป็นผู้ยากแก่การรักษามาก ยากยิ่งกว่ารักษาพระโรค เพราะพระเจ้าปัชโชตรับสั่งว่า จะใช้โอสถอะไรรักษาก็ได้ทั้งนั้น ขออย่างเดียว อย่าใช้โอสถที่เข้าน้ำมันเนย เนื่องจากพระองค์ไม่โปรดน้ำมันเนย เผอิญโอสถที่หมอชีวกโกมารภัจจ์ จะใช้รักษาโรคชนิดนี้เป็นโอสถที่ต้องผสมกับน้ำมันเนย ดังนั้นหมอ ชีวกโกมารภัจจ์จึงหุงน้ำมันเนยให้มีสีเหมือนสีกลัก** มีกลิ่นหอม มีรสฝาด เมื่อเสวยจะได้ไม่ได้กลิ่นน้ำมันเนย และเมื่อพระองค์เสวยโอสถแล้วฤทธิ์ยาจะทำให้ทรงอาเจียน พระราชาพระองค์นี้ทรงดุร้ายอาจจะรับสั่งให้ลงโทษถึงแก่ชีวิตก็เป็นได้ ดังนั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์จึงได้ออกอุบายทูลขอว่า ถ้าปรารถนาจะไปด้วยพาหนะใด จงให้ไปด้วยพาหนะนั้น ปรารถนาจะออกโดยทางประตูใด ให้ออกโดยประตูนั้น ปรารถนาจะไปในเวลาใด จงให้ไปในเวลานั้น จะเข้าเวลาใด จงให้เข้าในเวลานั้น ซึ่งพระเจ้าปัชโชตก็มีรับสั่งให้ตามที่ทูลขอ ครั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์ถวายโอสถแล้วก็รีบตรงไปยังโรงช้างรีบออกจากพระนครโดยช้างพังภัททวดี โอสถที่มีส่วนผสมของน้ำมันเนยเมื่อพระเจ้าปัชโชตเสวยโอสถแล้วออกฤทธิ์ทำให้พระองค์อาเจียน รับสั่งให้ทหารนำตัวหมอชีวกโกมารภัจจ์มาลงโทษ แต่หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ออกจากพระนครไปแล้ว แม้พระเจ้าปัชโชตจะส่งมหาดเล็กฝีเท้าดีตามมาทันแต่ก็ยังไม่สามารถจับหมอชีวกโกมารภัจจ์กลับมาได้เพราะแพ้สติปัญญาของหมอชีวกโกมารภัจจ์ จนหมอชีวกโกมารภัจจ์สามารถกลับมายังกรุงราชคฤห์ได้อย่างปลอดภัย จนภายหลังพระเจ้าปัชโชตได้หายจากโรคผอมเหลืองแล้วทรงส่งราชทูตไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์ เพื่อเชิญให้มาหาและจะตอบแทน แต่หมอชีวกโกมารภัจจ์ทูลปฏิเสธ เพียงแต่บอกว่า "ขอแต่พระองค์ทรงระลึกถึงคุณความดีของข้าพระพุทธเจ้าก็พอแล้ว" ภายหลังพระเจ้าปัชโชตพระราชทานผ้าสิไวยกะ***มาให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ และเนื่องจากผ้าสิไวยกะเป็นผ้าเลิศประเสริฐสูงกว่าผ้าชนิดอื่นๆ จึงเห็นเป็นการไม่สมควรที่จะใช้ผ้าผืนนี้ จึงได้ถวายต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่สุด
ครั้งหนึ่ง พระเทวทัตได้ร่วมคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรูขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ มีจิตคิดประทุษร้าย โดยกลิ้งหินลงไปหวังจะปลงพระชนม์พระศาสดา แต่มียอดเขาสองยอดมารองรับหินนั้นไว้เสียก่อน จึงเป็นแต่สะเก็ดซึ่งแตกออกจากหินนั้นกระเด็นไปกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น ภิกษุทั้งหลายจึงเชิญเสด็จพระศาสดาไปยังตำบลมัททะกุจฉิ พระศาสดามีพระประสงค์จะเสด็จจากที่นั้นไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อหมอชีวก โกมารภัจจ์ทราบจึงไปยังพระศาสดา ถวายเภสัชชนิดพิเศษ เพื่อให้แผลหายเร็ว และกราบทูลพระศาสดา ขอไปรักษาคนไข้อีกรายหนึ่งในเมืองเสร็จแล้วจะกลับมา เมื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์กลับมาซึ่งเป็นเวลาปิดประตูเมือง เกิดความวิตกว่า ได้ทำกรรมหนักเสียแล้วที่ถวายเภสัชชนิดพิเศษดุจคนสามัญ เวลานี้เป็นเวลาแก้แผล เมื่อแผลยังไม่แก้ ความเร่าร้อนทุรนทุรายในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเกิดตลอดทั้งคืน แต่ด้วยพุทธานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่าขณะนี้เป็นเวลาอันสมควรที่จะแก้แผล จึงตรัสบอกกับพระอานนท์ให้แก้ผ้าพันแผล เมื่อแก้ผ้าพันแผลออกแล้วแผลกลับหายสนิท ดุจสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้
เมื่อสำเร็จการศึกษาชีวกจึงเดินทางกลับกรุงราชคฤห์ ระหว่างทางได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต บังเอิญในเวลานั้นภรรยาเศรษฐีในเมืองสาเกตป่วยเป็นโรคในศีรษะมา ๗ ปีแล้ว ยังไม่มีผู้ใดรักษาให้หายได้ หมอชีวกได้อาสารักษาอาการป่วยของภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นจนหายจากโรคที่เป็นมา ๗ ปี ให้หายเป็นปลิดทิ้ง ด้วยการใช้ยาหยอดที่ทำจากเนยใสร่วมกับยาอื่นๆ หยอดทางจมูกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อภรรยาเศรษฐีหายจากโรค ทางครอบครัวของเศรษฐีจึงได้ให้รางวัลเป็นเงินพร้อมด้วยคนรับใช้ชายหญิง และรถม้า เมื่อหมอชีวกรับรางวัลเหล่านั้นแล้วจึงเดินทางกลับกรุงราชคฤห์ และได้นำเงินของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าเลี้ยงดู แต่เจ้าชายอภัยไม่ทรงรับ โปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นสมบัติของตนเอง และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
เมื่อหมอชีวกรีบมาเฝ้าพระศาสดาแต่ภายในอรุณทีเดียว ทูลถามพระพุทธเจ้าว่ามี ความ เร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่า "ชีวก ตถาคตระงับความทุรนทุรายได้สิ้นแล้ว ณ ควง(บริเวณ)ไม้โพธิ์นั้นแหละ" พร้อมทั้งได้ตรัสคาถาโดยมีใจความว่า
** สีแดงหรือเหลืองแกมแดง
*** ตามอรรถกถาบอกว่าเป็นผ้าอัปมงคลที่เขาทิ้งในป่าช้าอุตตรกุรุทวีป กล่าวกันว่า คนในทวีปนั้นใช้ผ้าชนิดนี้พันศพคนตายวางไว้ นกมีงวงเหมือนช้างเห็นเข้า สำคัญว่าศพนั้นเป็นก้อนเนื้อ ย่อมยกเอาศพนั้นไปวางลงบนยอดเขาหิมพานต์เอาผ้าออกแล้วก็จิกกินซากศพนั้น ภายหลังพรานป่าไปพบผ้านั้นจึงนำมาถวายพระราชา แต่ยังมีความเห็นที่แตกต่าง บางก็ว่าพวกสตรีที่ฉลาดๆ (เก่ง มีฝีมือ) ในแคว้นสิวิรัฐเอาขนสัตว์ควบกัน ๓ เส้นกรอกเป็นด้าย ผ้าสิไวยกะนี้ก็เป็นผ้าที่ทอด้วยด้ายชนิดนี้
ความทุรนทุราย ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ
ผู้เดินทางถึงแล้ว ผู้ปราศจากความเศร้าโศก
พ้นวิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง ละสรรพกิเลสเครื่องร้อยรัดได้แล้ว
พุทธพจน์ดังกล่าว หมายความว่า คนที่เดินทางเมื่อบรรลุถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ย่อมเป็นสุข ไม่ต้องเดินต่อไป เช่นเดียวกับผู้พ้นจากบ่วงเครื่องร้อยรัดทั้งหลายได้ย่อมไม่กังวลต่อสิ่งใดๆ ไม่ตื่นเต้น ไม่ทะเยอทะยาน ไม่เดือดร้อน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร ไม่สามารถทำให้จิตใจของคนที่พ้นภาวะเดือดร้อนกระวนกระวายได้
ด้วยเหตุที่หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์ และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์เป็นอันมาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกโกมารภัจจ์ต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด นอกจากนั้นหมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท (พ.ศ. ๒๓๕๑-๒๔๑๔)
พระประวัติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท พระนามเดิม พระองค์เจ้านวม ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๙ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และองค์ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาปราง (ใหญ่) สายราชินิกุลบางช้าง ประสูติเมื่อวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๕๑ พระองค์ประสูติในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ (ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๑ เพียง ๑ ปี) กรมหลวงวงษาธิราชสนิทจึงทรงมีฐานะเป็น "หลานปู่" ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยพระบิดาทรงอยู่ในฐานะพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ตำแหน่งวังหน้าซึ่งจะสืบราชสมบัติต่อมา และในปี พุทธศักราช ๒๓๕๒ สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทจึงทรงมีฐานะเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาในช่วงรัชกาลนี้ พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗ (พระชนมายุระหว่าง ๒ พรรษา ถึง ๑๖ พรรษา) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองมีความมั่นคงและสงบสุข พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงจัดการบริหารบ้านเมืองในลักษณะของการกระจายอำนาจไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีบทบาทโดดเด่น สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงทรงมีเวลาทำนุบำรุงและฟื้นฟูศิลปะวิทยาการต่างๆ โดยเฉพาะงานด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม ซึ่งเป็นงานรังสรรค์ที่ทรงพระปรีชาสามารถและโปรดปรานเป็นพิเศษ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงเติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้อต่อการแสวงหาความรู้อันก่อให้เกิดการเติบโตทางปัญญา ทั้งด้านการศึกษาอย่างเป็นทางการและการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยการพบปะผู้คนทั้งชาวไทย ชาวตะวันออก และชาวตะวันตก ซึ่งส่งผลให้ทรงมีโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลก้าวหน้ากว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยสมัยนั้น ทรงมีอิสระในการศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ ตลอดจนการประกอบพระกรณียกิจตามความสนพระทัยได้เฉกเช่น สมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงมีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ผ่านความรู้ทางด้านการแพทย์แผนโบราณของพระองค์
กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงได้รับการศึกษาอย่างดียิ่งเท่าที่เจ้านายชั้นสูงฝ่ายชายจะพึงได้รับ ขณะเดียวกันการที่พระมารดาอยู่ในตระกูลแพทย์แผนโบราณที่ปรุงยาและถวายการรักษาพระมหากษัตริย์รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงมีความสนพระทัยในวิชาการด้านนี้และทรงได้รับการถ่ายทอดให้มีความรอบรู้ในวิชาการแพทย์แผนโบราณ อันเป็นการถ่ายทอดภายในตระกูล ตามแบบแผนของการศึกษาจารีตที่วิชาชีพประจำตระกูลจะถ่ายทอดให้แก่บุตรหลานในตระกูลเท่านั้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเข้ารับราชการกำกับกรมหมอ ในรัชกาลที่ ๓ และทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นวงษาสนิท ทรงศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่จากมิชชันนารีอเมริกัน ครั้นถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ทรงกำกับราชการมหาดไทย ว่าการกรมพระคลังสินค้า รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินด้วย และในรัชกาลนี้ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและการเมืองระดับนานาชาติ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ นักปราชญ์ กวี นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นักวิทยาศาสตร์และนักการทูต พระองค์สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเมีย โทศก ตรงกับวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ รวมพระชันษาได้ ๖๓ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุลสนิทวงศ์
พระราชกรณียกิจของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทมีหลากหลายประการ ซึ่งนอกจากการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวแล้ว ยังประกอบด้วยพระกรณียกิจด้านวรรณกรรมและการศึกษา ได้แก่ ทรงนิพนธ์นิราศพระประธม เพลงยาวสามชาย เพลงยาวกลบทสิงโตเล่นหาง พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตามพระราชบัญชาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือจินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทหรือประถมจินดามณี เล่ม ๒ ส่วนพระกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทรงแต่งตำราสรรพคุณยาสมุนไพรไทย จำนวน ๑๖๖ ชนิด ซึ่งเป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่เขียนแบบเอกสารทางวิชาการแจกแจงและวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับประกาศนียบัตรถวายเป็นพระเกียรติจากสถาบันการแพทย์ของยุโรป และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันแพทย์แห่งนิวยอร์ก ชาวต่างชาติในสยาม เรียกขานพระองค์ว่า The Prince Doctor อีกทั้งพระองค์ยังทรงจารึกคำประพันธ์ไว้บนแผ่นหิน บรรยายถึงการบำบัดโรคด้วยสมุนไพรและการออกกำลังกายที่เรียกว่า ฤๅษีดัดตน ๒ ท่า ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์
ด้านการต่างประเทศ ทรงเป็นประธานในการเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ระหว่างอังกฤษกับไทยช่วงที่บ้านเมืองกำลังเผชิญปัญหาการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตกรวมทั้งการเป็นแม่ทัพหลวงในการทำสงครามเมืองเชียงตุงด้วย
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพกอปรทั้งพระดำริที่ทรงมุ่งมั่นในการประกอบพระกรณียกิจอันยังประโยชน์นานัปการให้แก่ประชาชนชาวไทยและประเทศชาติสืบมาถึงปัจจุบัน ดังนั้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่ทรงสนับสนุนการสถาปนาสันติวัฒนธรรม โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง อารยธรรม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในการส่งเสริมการสมานฉันท์ในสังคม ความเข้าใจและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความสำเร็จในการเจรจาทางการทูตและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ทำให้ทรงเป็นที่รู้จักในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะนโยบายด้านการต่างประเทศโดยใช้วัฒนธรรมและสันติภาพ ทำให้ประเทศไทยหรือสยาม ทำสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ ได้
พระราชกรณียกิจ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ด้านการแพทย์แผนไทย
๑. การกำกับราชการกรมหมอ
กรมหมอหรือกรมแพทย์แม้จะเป็นเพียงกรมเล็กๆ กรมหนึ่งภายใต้กรมวัง แต่ก็เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะทำหน้าที่รักษาพยาบาลและปรุงยาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนที่ไทยจะได้รับวัฒนธรรมและอารยธรรมของตะวันตกอย่างชัดเจนนั้น ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆ จะได้รับการศึกษาและถ่ายทอดเฉพาะในแวดวงของคนบางกลุ่ม หรือในสายตระกูลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนโบราณ โดยเฉพาะแพทย์แผนโบราณนี้มีการจัดอันดับไว้ ๒ ประเภทด้วยกันคือ หมอหลวงกับหมอราษฎร์ หมอหลวงคือ หมอที่รับราชการในวัง โดยได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็นพิเศษเพื่อฝึกหัดให้ปฏิบัติหน้าที่ภายในราชสำนัก พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นผู้แต่งตั้งและพระราชทานเงินปีให้ ซึ่งตำแหน่งนี้จะตกทอดไปถึงลูกหลาน ส่วนหมอราษฎร์คือ หมอที่รับรักษาโรคของประชาชนทั่วไป
ในส่วนของกรมหมอหลวงจะแบ่งออกเป็นหมอหลวงฝ่ายหน้าและหมอหลวงฝ่ายใน โดยทั้งหมดจะแบ่งเป็น ๖ ระดับ ระดับล่างสุดคือ ผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ นอกจากนี้ยังแบ่งตามความสำคัญอีกคือ แบ่งเป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แต่ละฝ่ายจะมีจำนวนเท่าๆ กัน ในเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกว่าราชการ หมอหลวงฝ่ายขวาจะนั่งอยู่ด้านซ้ายของที่ประทับหรือด้านขวาของท้องพระโรง ส่วนหมอหลวงฝ่ายซ้ายจะนั่งอยู่ด้านขวาของที่ประทับหรือด้านซ้ายของท้องพระโรง
เมื่อจะถวายการรักษาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมอหลวงทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจะสลับผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาถวายการรักษาทุกๆ ๔ วัน ๔ คืน เมื่อเกิดศึกสงคราม หมอหลวงมีหน้าที่ติดตามกองทัพไปด้วย แต่ในยามปกติหมอหลวงมีหน้าที่ติดตามข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เมื่อไปราชการท้องที่ ทั้งหมอหลวงฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจะอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้ากรมซึ่งโดยปกติแล้วพระมหากษัตริย์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยดำรงตำแหน่ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้านวมให้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นวงษาธิราชสนิท กำกับกรมหมอ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ซึ่งเวลานั้นกรมหมื่นวงษาธิราชสนิทมีพระชันษาเพียง ๓๔ พรรษา อาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้มาก
๒. บทบาทในฐานะแพทย์หลวง
เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงปฏิบัติหน้าที่กำกับราชการกรมหมอในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงมีโอกาสถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์
นอกเหนือไปจากการบำบัดรักษาโรคแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงสนพระทัยในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยพระองค์เองเพื่อประกอบการรักษาโรค ทรงสะสมตำราแพทย์ต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ตำราโอสถพระนารายณ์ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นตำรายาที่เก่าแก่มาแต่สมัยอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไม่เพียงเท่านั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทยังทรงสนพระทัยเสาะแสวงหาตำรายาที่ดีอยู่เสมอทั้งยาไทย ยาฝรั่ง แล้วทรงนำมาเรียบเรียงเป็นตำราที่บอกสรรพคุณไว้อย่างละเอียด
ไม่เพียงแต่สะสมและศึกษาตำรายาสมุนไพรต่างๆ การที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเป็นผู้ที่เอาพระทัยใส่ในการศึกษาอยู่เสมอ จึงทรงเรียนรู้วิชาการแพทย์แผนตะวันตกและทรงเลือกที่จะนำทั้งแพทย์แผนโบราณของไทยกับแพทย์แผนตะวันตกมาผสมผสานกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของสังคมไทย ตัวอย่างเช่น ทรงคิดค้นทดลองสรรพคุณยาควินิน ซึ่งเป็นยาของตะวันตกและเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับมิชชันนารีที่เดินทางเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ยาควินินมีสรรพคุณแก้โรคไข้จับสั่นแต่มีรสขมจัด พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงนำมาประยุกต์ใช้ทดลองเป็นตำรายาแก้โรคไข้จับสั่นสำหรับคนไทย เพราะคนไทยเวลานั้นไม่นิยมกินยาฝรั่งแม้ว่าสรรพคุณจะเร็วกว่าในการรักษาก็ตาม ตำรับยารักษาโรคไข้จับสั่นของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ระบุว่า
"ผู้ใดเป็นโรคไข้จับสั่นก็ให้ถ่ายด้วยดีเกลือไทยก็ได้ ดีเกลือเทศก็ได้ เอายาที่ให้อาเจียนตามที่ชอบใจ กินใส่ปนดีเกลือสักหน่อยหนึ่ง ก็ให้อาเจียนออกสามหนสี่หน ถ่ายให้ลงห้าหกหน ให้อดของแสลง มีเนื้อสัตว์ น้ำมัน ข้าวเหนียว กะปิ สุรา เป็นต้น ให้รักษาดังนี้สักสองสามวันก่อน ภายหลังให้กินยาเทศชื่อ ควินิน เอาควินินหนักหุนหนึ่ง แบ่งเป็นหกส่วน เมื่อไข้ส่างออกแล้วให้กินส่วนหนึ่ง และในสองชั่วโมงกินทีหนึ่งจนถึงเวลากลางคืน เมื่อตื่นขึ้นแต่เช้ากินเหมือนเก่าอีก..."
ด้วยความที่คนไทยไม่นิยมกินยาฝรั่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท จึงคิดทำยาลูกกลอนอาบน้ำผึ้ง ภายในใส่ยาควินินไว้ นับว่าเป็นอุบายที่ช่วยรักษาโรคได้อย่างดี
จากการที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงรับวิทยาการแพทย์ตะวันตกเข้ามาปรับใช้กับวิทยาการแพทย์แผนไทย ทำให้คนไทยในเวลานั้นค่อยๆ รับรู้และยอมรับวิธีการรักษาแบบตะวันตก โดยเริ่มจากในพระราชวังก่อน เห็นได้จากการทดลองนำยาควินใส่ในยาลูกกลอน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า กรมสมเด็จพระปวเรศวิริยาลงกรณ์ตรัสว่า ยาเม็ดแก้ไข้ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทนั้นผ่าออกดูมียาควินินอยู่ข้างในทุกเม็ด นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปลูกฝีให้บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก่อนหน้านี้คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงมีรับสั่งให้หมอหลวงไปหัดปลูกฝีกับหมอ บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เพื่อจะนำความรู้และวิธีการไปใช้กับประชาชนโดยทั่วไป เข้าใจว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทคงเป็นผู้ที่ได้ทรงศึกษาวิชาความรู้ด้านการแพทย์ตะวันตกจากหมอบรัดเลย์ และหมอเฮาส์ หรือซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ (Samuel Renold House) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงยอมรับในความเจริญก้าวหน้าเรื่องการรักษาและดูแลคนไข้ของมิชชันนารีเหล่านี้ ทรงสนับสนุนให้หมอบรัดเลย์และหมอเฮาส์ได้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ควบคู่กับหมอหลวงด้วย
โดยเหตุที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงสนพระทัยและศึกษาเรื่องการแพทย์อย่างจริงจังทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนตะวันตก จนเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงทรงได้รับประกาศนียบัตรและรับเชิญเป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก (New York Academy of Medicine) ในประเทศสหรัฐอเมริกา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเป็นทั้งแพทย์และเภสัชกร อีกทั้งยังมีตำราว่าด้วยการแพทย์และยาสมุนไพรที่ทรงสะสมไว้จำนวนมาก ทรงมีลูกศิษย์อยู่หลายคนทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส อาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงมีพระเกียรติคุณและทรงเป็นที่ยกย่องในฐานะแพทยาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญในการแพทย์แผนไทย ซึ่งในวงการศึกษาแพทย์แผนปัจจุบันยังยอมรับในตำราสรรพคุณยาไทยเหล่านี้และนำมาประยุกต์ใช้บำบัดโรคา พยาธิต่างๆ จนได้ผลดี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงกำกับกรมหมอสืบต่อมาในรัชกาลของพระองค์ และทรงดำรงในตำแหน่งนี้จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๐๔ ทรงประชวร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ทรงรับหน้าที่กำกับราชการกรมหมอสืบต่อมา
ด้านการส่งเสริมการศึกษา
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงสนพระทัยด้านการแพทย์ทรงสะสมตำรายาสมุนไพรแล้วทรงนำมาเรียบเรียงเป็นหลักฐานให้ผู้สนใจได้ศึกษากันต่อมา ซึ่งในเวลานั้นคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรยังคงให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางวาจาหรือปากต่อปาก เฉพาะแก่คนในแวดวงหรือคนในครอบครัวเท่านั้น การศึกษาหาความรู้จึงเป็นไปในรูปของการจดจำ และการสังเกตเป็นสำคัญ ยิ่งกว่านั้นการที่ศิษย์จะได้รับความรู้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับครูผู้ถ่ายทอด เช่น ความตั้งใจของครู ระยะเวลาในการเรียน ความตั้งใจและความอดทนของลูกศิษย์ เป็นต้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจารึกความรู้ในหมวดต่างๆ ได้แก่ วรรณคดี สุภาษิต อนามัย ทำเนียบต่างๆ และโคลงภาพคนต่างภาษา ในหมวดที่ว่าด้วยวรรณคดีและอนามัย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเป็นหนึ่งในผู้แต่งจารึกไว้ในโคลงภาพฤๅษีดัดตนบทที่ว่าด้วย แก้ไหล่แก้ขาและแก้ลมในอก ซึ่งมีความดังนี้
แก้ไหล่ แก้ขา
สุกทันต์นักสิทธิ์เถ้า | เที่ยวเก็บ ยานา |
ทาไหล่ขาชาเหน็บ | บ่อเปลื้อง |
ลุกนั่งยิงยอกเจ็บ | จึงดัด ตนแฮ |
ยืนยึดเอวองค์เยื้อง | ย่างเท้าท่าหนังฯ |
แก้ลมในอก
พระโสมะยาคะโอ้ | อักดก |
อาพาธแน่นในอก | อัดอั้น |
เหยียดแขนยืดเข่าผงก | แหวนพักตร์ อยู่พ่อ |
เอวแอ่นอึดใจกลั้น | ดัดแล้วลมถอยฯ |
ส่วนเนื้อหาในกลบทสิงโตเล่นหาง มีดังนี้
แสนรักษหนักฤๅไทยใครจะเสมอ | |
นอนกลางวันฝันถึงเจ้าเฝ้าละเมอ | ลืมเผยอเนตร์เขม้นเหนแต่เงา |
สำคัญจิตร์คิดว่าน้องย่องมาแอบ | เหนวับแวบเดิรดูรู้ว่าเสา |
นึกสะเทินเขินคิดผิดแล้วเรา | สลดทรวงง่วงเหงาเศร้าโศกโซรม |
คิดถึงนุชสุดจะห้ามความวิตก | ให้ร้อนอกดังเอาไฟใส่ฮือโหม |
ถ้าเสร็จสมอารมหมายวายทุกข์โทม | ได้เชยโฉมชอบชื่นรื่นระรวย |
จะเกื้อภักตร์เปนศักดิ์ศรีดีขึ้นมาก | ประสายากยังอุดส่าห์หาได้สวย |
เขาก็ยังไม่ยืนเยื้อนเอื้อนโอษฐ์อวย | เอาใจช่วยคิดข้างได้ไปเปล่าเปลือย |
คนก็ใช้ไปหลายเที่ยวเที่ยวสานสื่อ | ทำน้อยหฤๅให้ลำบากยากใจเหือย |
ร้อนแต่เราข้างเขาเย็นเหนนิ่งเนือย | ฉะช่างเฉื่อยเฉยรักษ์ชักยืดยาว |
แต่พลิกแพลงแกล้งเชือนเลื่อนหลายนัด | เฝ้าพูดผัดภอให้เนิ่นเกินน่าหนาว |
แม้นมิใช้ใครไปมั่งฟังข่าวคราว | จะแกล้งกล่าวกลับคำร่ำพาโล |
บูราณว่าดักลอบชอบหมั่นกู้ | เปนเจ้าชู้ แม้นขี้เกียจเฉียดจะโอ๋ |
กลอนเพลงนี้ไม่บังคับรับเอกโท | ชื่อว่าโตเหล้นหางหย่างนี้เอยฯ |
ฯ ๑๔ คำ |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงมีพระอุปนิสัยที่โปรดการศึกษาค้นคว้า แสวงหาความรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงค้นคว้า สะสมตำราแพทย์ ตำรายาต่างๆ โดยทรงนำมาเรียบเรียงเป็นคำประพันธ์ร้อยแก้วเพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้อ่านง่ายและถ่ายทอดได้อย่างเป็นระบบ
ตำราต่างๆ เหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นตำราเรียนทางการแพทย์และเภสัชที่สำคัญ ตำรายาบางส่วนได้ตกทอดมาในราชสกุลและคงจะสืบทอดมายังพระโอรสคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ซึ่งทรงกำกับกรมหมอในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าใจว่าพระบิดาได้ทรงฝึกสอนสรรพวิทยาประทานและรัชกาลที่ ๕ ตรัสเรียกว่า "หมอสาย" จนตลอดพระชนมายุ
ตำราสรรพคุณยาที่ทรงนิพนธ์เรียกกันว่า ตำราสรรพคุณยา กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ถือเป็นตำรายาและสมุนไพรสำคัญที่วงการแพทย์แผนไทยสามารถนำมาเป็นตำราสำหรับศึกษาค้นคว้า ในด้านสรรพคุณและการนำส่วนต่างๆ ของสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค นอกจากนี้ตำราสรรพคุณยาเล่มนี้ถือเป็นตำรายาไทยที่ทรงคุณค่า ทำให้การแพทย์แผนไทยและการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคไม่สูญหาย เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาไทยที่มีมาช้านานให้ดำรงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นการแพทย์ทางเลือกอีกแขนงหนึ่งควบคู่กับการรักษาด้วยวิทยาการแบบตะวันตก
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุล อาภากร) ทรงเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นับลำดับราชสกุลวงศ์เป็นพระองค์ที่ ๒๘ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์" ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พระองค์ทรงมีพระกนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ ทรงได้รับการศึกษาชั้นแรก ในพระบรมมหาราชวัง มีพระยาอิศรพันธ์โสภร (พูน อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ Mr.Morant ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ และได้ทรงเข้าเป็นนักเรียน ในโรงเรียนหลวง ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่จนถึงทรงโสกันต์
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ โดยมีเจ้าพระยา พระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จพระมนตรีพจนกิจเป็นพระอภิบาล ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ๖ ปีเศษ
ทรงเสด็จกลับประเทศไทย ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๓ จึงได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท (ปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี) ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์" ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ใน พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์ได้ทรงแก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ ทรงจัดเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือ เพื่อให้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือวิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์ การเดินเรือเรขาคณิต
ทรงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง และกองทัพเรือจึงยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น "วันกองทัพเรือ"
พ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระองค์ออกจากราชการอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ทรงอยู่ว่างๆ รำคาญพระทัย จึงลงมือศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจนชำนิชำนาญ และรับรักษาโรคให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า จนเป็นที่เลื่องลือว่า มีหมออภินิหารรักษาความป่วยไข้ได้เจ็บได้อย่างหายเป็นปลิดทิ้ง ทรงเห็นว่าการช่วยชีวิตคนเป็นบุญกุศลแก่พระองค์ จึงทรงตั้งหน้าเล่าเรียนกับพระยาพิษณุฯ หัวหน้าหมอหลวงแห่งพระราชสำนัก ซึ่งหัวหน้าฝ่ายยาไทย ของประเทศไทยผู้นี้ก็ได้พยายามถ่ายเทความรู้ ให้พระองค์ได้พยายามค้นคว้าและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เช่น เอาสัตว์ปีกจำพวก นก เป็ด ไก่ ที่ตายแล้วใส่ขวดโหลดองไว้ ที่เป็นๆ ก็จับเลี้ยงไว้ในกรงอีกมากมายไว้ที่วัง ทรงหมกมุ่นอยู่กับการแยกธาตุ และทดลองทั้งวัน ถึงแม้ว่าจะทรงชำนิชำนาญ ในกิจการแพทย์ฝ่ายแผนโบราณแล้วก็ตาม แต่จะไม่ทรงยินยอมรักษาใครเป็นอันขาด จนกว่าจะได้รับการทดลองแม่นยำแล้วว่า เป็นยาที่รักษาโรคชนิดพื้นๆ ให้หายขาดได้อย่างแน่นอน ให้ทรงทดลองให้สัตว์เล็กๆ กินก่อน เมื่อสัตว์เล็กกินหาย ก็ทดลองสัตว์โต เมื่อสัตว์โตหาย จึงทดลองกับคน และประกาศอย่างเปิดเผยว่า จะทรงสามารถรักษาโรคนั้นโรคนี้ให้หายขาดได้ เมื่อผู้คนพากันรู้ว่า เจ้าพ่อรักษาโรคได้ฉมังนัก จึงทำให้ร่ำลือและแตกตื่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง ไม่ทรงให้ใครเรียกพระองค์ว่า เสด็จในกรมฯ หรือยกย่องเป็นเจ้านาย แต่ทรงเรียกพระองค์เองว่า "หมอพร" เมื่อมีประชาชน มาหาพระองค์ให้รักษา ก็ทรงต้อนรับด้วยไมตรีจิต และรักษาให้เป็นการฟรี ไม่คิดค่ารักษาแต่ประการใด นอกจากจะเชิญไปรักษาตามบ้าน ซึ่งเจ้าของไข้จะต้องหารถราให้พระองค์เสด็จไปและนำเสด็จกลับ โดยมากเป็นรถม้าเท่านั้น
เมื่อกิตติศัพท์ร่ำลือกันว่า หมอพรรักษาโรคได้ฉมังนัก และไม่คิดมูลค่าเป็นเงินทองด้วย ประชาชนก็พาเลื่อมใสทั้งกรุงเทพฯ และระบือลือลั่นไปทั้งกรุง เป็นเหตุให้ความนิยมพระองค์ได้กว้างขวาง และกิตติศัพท์นี้ก็ไปถึงพระกรรณในหลวง ร.๖ ซึ่งทำให้ทรงพิศวงไม่ใช่น้อยเหมือนกับว่า อนุชาของพระองค์เป็นผู้ที่แปลกประหลาดอย่างยิ่งทีเดียว ทั้งๆ ที่ยังหนุ่มแน่น ทหารก็รักใคร่และเรียกเป็น "เจ้าพ่อ" เดี๋ยวนี้ประชาชนทั้งเมืองเลื่องลือกันว่าเป็นผู้วิเศษกันอีก ที่สำคัญคือไม่คิดเงินคิดทองผู้ไปรักษา จึงทำให้สภาวะของวังพระองค์ท่านกลายเป็นโรงพยาบาลเล็ก ๆ ที่ต้อนรับผู้คนอย่างแน่นขนัดขึ้นมา ทุกวันจะมีคนไปที่วังแน่นขนัด และทรงต้อนรับด้วยดีทุกคน เมื่อไปถึงก็พากันกราบกรานที่พระบาท ขอให้ "หมอพร" ช่วยชุบชีวิตคนเจ็บคนป่วย ก็ทรงเต็มพระทัยรักษาให้จนหายโดยทั่วกัน
พ.ศ. ๒๔๖๐ ประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกองทัพเรือยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมจเรทหารเรือ และดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารเรือในปี พ.ศ. ๒๔๖๑
พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป เรือที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทานนามว่า "เรือหลวงพระร่วง" ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือหลวงพระร่วงเดินเรือข้ามทวีปจากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร ด้วยพระองค์เอง
พ.ศ. ๒๔๖๓ มีพระบรมราชโองการให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ฯลฯ (คำ "เขตร์" ในพระนามเปลี่ยนเป็น "เขต" ด้วย)
พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งได้ไม่นานก็ได้กราบบังคมลาออกจากราชการ เพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ที่จังหวัดชุมพร ทรงถูกฝนประชวรเป็นพระโรคหวัดใหญ่ สิ้นพระชนม์ที่ตำบลทรายรี ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ สิริพระชนมายุได้ ๔๓ พรรษา
สมุนไพรไทยที่ควรรู้จักและสรรพคุณทางยา
ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้พืชสมุนไพรกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณในการรักษาอาการเจ็บป่วย และโรคสามัญที่สามารถสังเกตอาการได้ด้วยตนเอง เช่น ท้องผูก ท้องเดิน ท้องอืด ไอ อาเจียน โรคผิวหนัง เคล็ดขัดยอก แมลงสัตว์กัดต่อย ฯลฯ โดยมีจุดหมายอยู่ที่ความต้องการให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาสุขภาพตนเองได้ในระดับหนึ่ง อันเป็นการพึ่งพาตนเองและจะนำไปสู่การพัฒนาการใช้พืชสมุนไพรอย่างยั่งยืนในสังคมไทย
สำหรับพืชสมุนไพรบางชนิดและสรรพคุณที่ควรรู้จัก มีดังนี้
เปล้าน้อย Croton sublyratus Kurz
ไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้น สูง ๑-๔ เมตร ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปใบหอกกลับกว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ดอกช่อ ออกดอกที่ซอกใบบริเวณปลายกิ่ง และที่ปลายกิ่ง ดอกช่อย่อยขนาดเล็ก แยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน กลีบดอกสีนวล ผลแห้ง แตกได้ มี ๓ พู
สรรพคุณ : เปลือก ใบ รักษาโรคท้องเสีย บำรุงโลหิตประจำเดือน ใบเปล้าน้อยมีสาร plaunotol ซึ่งมีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหารดีมาก แต่ต้องสกัด และทำเป็นยาเม็ด ปัจจุบัน บริษัทยาจากประเทศญี่ปุ่นได้จดสิทธิบัตรการผลิตเปล้าน้อยจำหน่ายทั่วโลก นับมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี นับเป็นกรณีตัวอย่างการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย
โด่ไม่รู้ล้ม Elephantopus scaber L. วงศ์ Compositae
ไม้ล้มลุก ลำต้นแข็งตรง ใบเดี่ยวเรียงตัวโดยรอบที่โคนใกล้ผิวดิน ดอกเป็นกระจุก สีม่วงแดง หรือขาว
สรรพคุณ : ทั้งต้นแก้ไอ วัณโรค แก้ไข้ แก้เหน็บชา บำรุงหัวใจ บำรุงกำหนัด รากและใบต้มเป็นยารักษาอาการท้องร่วง บิด
เสลดพังพอน Clinacanthus nutans Lindau. วงศ์ Acanthaceae
ไม้เถาล้มลุกหลายฤดู ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม ก้านใบยาว ๐.๕ ซม. ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด กลีบ ดอกสีแดง บางท้องที่เรียกเสลดพังพอนตัวเมีย
สรรพคุณ : ใบสดรักษาแผลน้ำร้อนลวก ลดอาการอักเสบเนื่องจากแมลงกัดต่อย รักษาอาการอักเสบเนื่องจากเชื้อไวรัส เช่น งูสวัด และเริม
ลิ้นงูเห่า Clinacanthus siamensis Brem. วงศ์ Acanthaceae
ไม้เถาล้มลุกหลายฤดู ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม รูปหอก ก้านใบยาว ๑.๐-๑.๕ ซม. ดอกเป็นช่อสีแดงที่ปลายยอด
สรรพคุณ : ใบสดตำ ทาหรือพอกแก้พิษร้อนอักเสบ ปวดฝี รากตำพอกแก้พิษตะขาบและแมงป่อง
โมกมัน Wrightia arborea (Dennst.) Mabb. วงศ์ Apocynaceae
ไม้ต้นขนาดกลาง เป็นไม้ผลัดใบ ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม แผ่นใบรูปรี ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง สีขาวอมม่วง
สรรพคุณ : เปลือกเป็นยาเจริญอาหาร แก้พิษสัตว์กัดต่อย รักษาโรคไต ยางจากต้นแก้บิด ดอกเป็นยาระบาย
สมอไทย Terminalia chebula Retz. วงศ์ Combretaceae
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ยอดอ่อนและใบมีขนสีน้ำตาลวาว ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม มีต่อมที่ก้านใบ ดอกสีเหลืองอมเขียว ออกตามซอกใบ
สรรพคุณ : ผลอ่อนเป็นยาระบาย ผลแก่ฝาดสมานแก้ท้องเดิน แก้ไข้ เสมหะเป็นพิษ บิด และเป็นยาอายุวัฒนะ
มะขามป้อม Phyllanthus emblica Linn. วงศ์ Euphorbiaceae
ไม้ต้นขนาดกลาง ใบเดี่ยว ดอกช่อสีเขียวอมเหลืองที่ซอกใบ
สรรพคุณ : ผลสุก คั้นน้ำดื่มแก้ไอ ละลายเสมหะ เป็นยาบำรุง แก้หวัด กระตุ้นน้ำลาย ช่วยระบาย แก้เลือดออกตามไรฟัน
กระชาย Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. วงศ์ Zingiberaceae
ไม้ล้มลุก ลำต้นใต้ดิน มีกลิ่นหอม กาบใบสีแดงเรื่อๆ ออกดอกเป็นช่อที่ยอด สีขาว หรือขาวอมชมพู
สรรพคุณ : เหง้า รักษาโรคบิด ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้กามตายด้าน บำรุงกำหนัด เป็นยาอายุวัฒนะ
ข่า Alpinia galangal (L.) Wilid วงศ์ Zingiberaceae
ไม้ล้มลุก เหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อที่ยอด กลีบเลี้ยงสีขาวอมเขียว
สรรพคุณ : เหง้า ต้มเอาน้ำดื่ม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อและจุกเสียดแน่น เหง้าสด ผสมเหล้าโรงทารักษากลาก เกลื้อน
คูน Cassica fistula Linn. วงศ์ Leguminosae
ต้นขนาดกลาง ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ดอกเป็นช่อห้อย กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นฝัก
สรรพคุณ : เนื้อในฝักเป็นยาระบาย แก่นกินกับหมาก
กฤษณา Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte วงศ์ Thymelaeaceae
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ลำต้นเปลา เปลือกเรียบ ใบเดี่ยวรูปรีหรือรูปไข่ ช่อดอกแบบซี่ร่ม สีเขียวอมเหลือง ผลรูปไข่ปลายมน
สรรพคุณ : เนื้อไม้เป็นยาบำรุงและกระตุ้นหัวใจ ขับลม น้ำมันจากเมล็ดรักษาโรคเรื้อน และโรคผิวหนัง
กระวาน Amomun testaceum Ridl. วงศ์ Zingiberaceae
ไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นเหง้า ใบเดี่ยวเรียงสลับ ดอกเป็นช่อแทงจากเหง้า กลีบดอกสีขาว กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลขาว
สรรพคุณ : เมล็ดแห้ง รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม เป็นยาขับลม ขับเสมหะ ใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหารและเหล้า หน่ออ่อนใช้เป็นอาหาร
เร่วหอม Etlingera sp. วงศ์ Zingiberaceae
ไม้ล้มลุก ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ใบเดี่ยว เรียงสลับ ดอกเป็นช่อแทงตรงจากเหง้า กลีบดอกสีแดง ทุกส่วนมีกลิ่นหอมแรง
สรรพคุณ : ใบขับปัสสาวะ ผลแก้ไข้ แก้ริดสีดวง แก้ไอหืด ไอเสมหะ และใช้เป็นเครื่องเทศ หน่ออ่อนใช้เป็นอาหาร
เร่ว Amomum uliginosum Koenig วงศ์ Zingiberaceae
ไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับ ดอกช่อแทงตรงจากเหง้า ดอกย่อยสีขาว ผลกลมสีแดงคล้ำมีขนคล้ายเงาะ
สรรพคุณ : เมล็ดแห้ง รสเผ็ด แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับผายลมและใช้เป็นเครื่องเทศ
ประคำไก่ Drypetes roxburghii Wall. วงศ์ Euphorbiaceae
ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี โคนใบเบี้ยว ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ผลกลมสุกสีดำ
สรรพคุณ : ต้นเป็นยาเย็น ขับปัสสาวะ ระบาย และกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ใบ ผล เมล็ด กินเป็นยาลดไข้ และยาแก้หวัด
ไฟเดือนห้า Asclepias curassavica L. วงศ์ Asclepiadacae
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีน้ำยางขาว กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ดอกช่อออกที่ปลายกิ่งสีแดงเพลิง
สรรพคุณ : ต้นแก้โรคหัวใจอ่อน บำรุงธาตุ ใบฆ่าเชื้อโรคเรื้อน แก้พิษฝี ขับพยาธิไส้เดือน รากรักษาอาการฟกช้ำ
กานพลู Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry วงศ์ Myrtaceae
ไม้ต้นขนาดกลาง ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม ดอกออกเป็นช่อ มักออกที่ปลายยอดหรือตามง่ามใบใกล้ปลายยอด กลีบดอกสีขาวเชื่อมติดกันคล้ายหมวก
สรรพคุณ : ดอกแก้ท้องเฟ้อ ระงับกลิ่นปาก ขับลม เป็นยาช่วยย่อย
เขยตาย Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC. วงศ์ Rutaceae
ไม้พุ่ม ใบเดี่ยวและใบประกอบแบบขนนกปะปนกัน เรียงสลับ ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามซอกใบ
สรรพคุณ : รากน้ำนม แก้พิษฝีภายในและภายนอก ยับยั้งเชื้อไวรัสบางชนิด และแก้แมลงกัดต่อย
ยางน่องเถา Strophanthus caudatus (L.) Kurz วงศ์ Apocynaceae
ไม้เถา มีน้ำยางขาว ใบเดี่ยวเรียงตรงกันข้าม ดอกออกช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว ปลายกลีบสีแดง ผลเป็นฝักคู่ขนาดใหญ่
สรรพคุณ : ยางใช้ผสมกับยาพิษชนิดอื่นทาลูกหน้าไม้ยิงสัตว์ เมล็ดมีสารออกฤทธิ์เร็ว ใช้ปริมาณน้อยเป็นยากระตุ้นหัวใจ
อินทนิลน้ำ Legerstroemia speciosa (L.) Pers. วงศ์ Lythraceae
ไม้ต้นขนาดกลาง กิ่งผลัดใบ ใบเดี่ยวออกตรงข้ามถึงสลับ ดอกเป็นช่อสีม่วงสด
สรรพคุณ : ใบตากแห้งต้มน้ำดื่ม ลดน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน
ปีบ Millingtonia hortensis Linn. วงศ์ Bignoniaceae
ไม้ต้นขนาดกลาง ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ดอกออกเป็นช่อ กลีบดอกสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลเป็นฝัก
สรรพคุณ : ดอกขยายหลอดลม รักษาหืด
หางไหลแดง Derris elliptica (Roxb.) Benth. วงศ์ Leguminosae
ไม้เถา ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ดอกเป็นช่อลักษณะคล้ายดอกถั่ว
สรรพคุณ : เถาเป็นยาถ่ายเส้นเอ็น ถ่ายลม ถ่ายเสมหะและโลหิต ผสมกับยาอื่นเป็นยาขับระดูสตรี รากใช้เบื่อปลา และเป็นยาฆ่าแมลง
พิลังกาสา Ardisia elliptica Thunb วงศ์ Myrsinaceae
ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว รูปรีเรียงสลับ ดอกช่อสีชมพู
สรรพคุณ : ใบรักษาโรคตับพิการ ดอกฆ่าเชื้อโรค ผลแก้ไข้ ท้องเสีย ต้นรักษาโรคเรื้อน รากรักษากามโรคและหนองใน
หนามแดง Carissa carandas L. วงศ์ Apocynaceae
ไม้พุ่มมีน้ำยางสีขาว กิ่งก้านมีหนาม ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ดอกช่อออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว ผลสุกสีม่วงดำ
สรรพคุณ : แก่นบำรุงธาตุ ใบสดต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง แก้เจ็บปากและคอ ผลสุกรักษาเลือดออกตามไรฟัน รากสดต้มน้ำดื่มขับพยาธิ
กำจัดต้น Zanthoxylum limonella Alston วงศ์ Rutaceae
ไม้ต้นขนาดกลาง ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ตามลำต้นมีหนามแหลม ดอกเป็นช่อ
สรรพคุณ : รากแก้พิษสัตว์ ถอนพิษงู รากและเนื้อไม้เป็นยาขับลมในลำไส้ ขับโลหิตระดูของสตรี ผลและเปลือกเป็นเครื่องเทศ
ส้มป่อย Acacia concinna (Willd.) DC. วงศ์ Leguminosae
ไม้เลื้อย ลำต้นมีหนาม ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง รสเปรี้ยว ดอกเป็นช่อเป็นกระจุก
สรรพคุณ : ใบใช้ขับเสมหะแก้น้ำลายเหนียว ใบและฝักต้มอาบ ทำความสะอาดและบำรุงผิว ฝักแก่เป็นยาสระผม
กระทิง Calophyllum inophyllum วงศ์ Guttiferae
ไม้ต้นขนาดกลาง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ดอกช่อออกที่ซอกใบบริเวณปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว ผลรูปทรงกลม
สรรพคุณ : ดอกปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ ยางเป็นยาถ่ายอย่างแรง เมล็ดให้น้ำมันใช้ทาถูนวดแก้ปวดข้อ เคล็ดบวม รักษาหิดและกลาก
รางจืด Thunbergia laurifolia Linn. วงศ์ Acanthaceae
ไม้เถา ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปขอบขนาน ดอกสีม่วงอมฟ้าหรือขาว ออกเป็นช่อตามซอกใบ
สรรพคุณ : รากและเถาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ใบคั้นน้ำนำมาเข้ายาเขียว แก้ไข้ ถอนพิษ ใบตากแห้งชงดื่มแทนน้ำชาถอนพิษเบื่อเมา
ชำมะเลียง Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh. วงศ์ Sapindaceae
ไม้พุ่มใบประกอบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปหอกแคบ ขอบขนาน โคนก้านแผ่เป็นแผ่นคล้ายใบหู ดอกช่อออกตามลำต้นสีน้ำตาล
สรรพคุณ : ผลสุกสีดำแก้ท้องเสีย รากแก้ไข้
มะหาด Artocarpus lakoocha Roxb. วงศ์ Moraceae
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ใบเดี่ยวรูปรีขอบขนานเรียงสลับ ดอกเล็กสีขาวอมเหลือง ออกรวมเป็นแท่งกลม ผลกลมส่วนของลำต้นมียางสีขาว
สรรพคุณ : แก่นต้มเคี่ยวได้ปวกหาด เป็นยาขับพยาธิตัวตืด พยาธิเส้นด้าย และพยาธิไส้เดือน และทาแก้ผื่นคัน
ตะไคร้หอม Cymbopogon nardus (L.) Rendle วงศ์ Gramineae
ไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกอ ลำต้นและใบใหญ่กว่าตะไคร้แกง ดอกเป็นช่อใหญ่ยาวโน้มอ่อนลง
สรรพคุณ : ต้น เหง้า ใบ มีน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นน้ำหอม สบู่ ใช้เป็นยากันยุง และกำจัดแมลงศัตรูพืช
สมอพิเภก Terminalia bellirica Roxb. วงศ์ Combretaceae
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ผิวใบด้านบนมีขนสีน้ำตาลอ่อน ดอกช่อสีขาวแกมเหลืองอ่อน
สรรพคุณ : ผลอ่อน แก้ไข้ แก้ลม ผลแก่แก้เสมหะ บำรุงธาตุแก้ไข้ รักษาริดสีดวง เมล็ดแก้บิด
สังกรณี Barieria strigosa Willd. วงศ์ Acanthaceae
ไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีม่วง
สรรพคุณ : ทั้งต้นต้มน้ำดื่ม บำรุงกำลัง ดองเหล้าบำรุงกำหนัด รากต้มน้ำดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้โลหิตกำเดา ถอนพิษไข้กาฬ
ศิลาจารึกตำรายาที่วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
ตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นจารึกบนแผ่นหินอ่อนสีเทา รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาว ด้านละ ๓๓ เซนติเมตร เท่ากัน แต่ละแผ่นมีอักษรจารึกด้านเดียวจัดเรียงบรรทัดทางมุมแหลม จำนวน ๑๗ บรรทัด เหมือนกันทุกแผ่น จารึกเหล่านี้ติดประดับอยู่ที่ผนังด้านนอกของระเบียงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ จำนวน ๔๒ แผ่น และอยู่ที่ผนังศาลารายหน้าพระอุโบสถ ๒ ศาลาๆ ละ ๔ แผ่น แต่เดิมก่อนการบูรณะพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ จารึกตำรายามีจำนวน ๙๒ แผ่น แต่คงจะชำรุดตกแตกสูญหายไปมาก ปัจจุบันเหลือเพียง ๕๐ แผ่นเท่านั้น และเนื้อหาไม่สอดคล้องกันหรือเป็นหมวดหมู่ เข้าใจว่าคงซ่อมขึ้นภายหลัง และในคราวบูรณะนั้นก็คงจะพลัดหลงจากตำแหน่งที่เคยติดประดับอยู่เดิม จารึกบางแผ่นจึงติดสลับที่ไม่ได้เรียงตามลำดับเนื้อหาของกลุ่มชื่อโรค แต่เนื่องจากจารึกแต่ละแผ่นมีเนื้อหาสาระของเรื่องจบความในตัวเอง ดังนั้น ถึงแม้จะไม่เรียงลำดับก็ยังคงใช้ได้ใจความที่สมบูรณ์ทุกแผ่น
เนื้อหาจารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
แผ่นที่ ๑ โรคลมในลำคอ
แผ่นที่ ๒ โรคบุรุษ
แผ่นที่ ๓ ปัสสาวะเป็นน้ำหนองหรือเป็นสีเหลือง
แผ่นที่ ๔ โรคกล่อน หรือเรียกว่ากระษัย – สุขภาพร่างกายทรุดโทรม กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ เลือดลมเดินไม่ปกติ
แผ่นที่ ๕ โรคหอบ
แผ่นที่ ๖ โรคกล่อนทั่วๆ ไป ซึ่งทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ
แผ่นที่ ๗ โรคสันนิบาต
แผ่นที่ ๘ โรคลมชัก
แผ่นที่ ๙ โรคริดสีดวงลิ้น
แผ่นที่ ๑๐ โรคไข้จับสั่น
แผ่นที่ ๑๑ โรคลมชักที่เกิดขึ้นในเด็ก มีการตัวร้อนจัด ชัก ใบหน้าเขียว มือดำ เท้าดำ
แผ่นที่ ๑๒ โรคหืด
แผ่นที่ ๑๓ โรคไอมีเสมหะ
แผ่นที่ ๑๔ โรคไข้หวัด
แผ่นที่ ๑๕ โรคซางในเด็กที่เกิดในวันพฤหัส ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๒ ปี
แผ่นที่ ๑๖ การใช้ปลิงรักษาโรค โดยใช้ปลิงดูดเลือดเสียด้านหลังของร่างกาย
แผ่นที่ ๑๗ เลือดลมไม่ปกติ ที่เกิดขึ้นในหญิงที่เกิดจากอาการผิดปกติขณะอยู่ไฟ
แผ่นที่ ๑๘ โรคฝีดาษ
แผ่นที่ ๑๙ การใช้ปลิงรักษาโรค ใช้ปลิงดูดเลือดด้านหน้าของร่างกาย
แผ่นที่ ๒๐ โรคดานเถา มีอาการแน่นหน้าอก จุกเสียด และเจ็บปวดไปทั่วร่างกาย
แผ่นที่ ๒๑ โรคสันทะคาด เลือดออกทางทวาร
แผ่นที่ ๒๒ โรคซางโจรในเด็กที่เกิดในวันเสาร์ ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๒ ปี
แผ่นที่ ๒๓ โรคตาต้อ
แผ่นที่ ๒๔ ธาตุพิการ เลือดลมไม่ปกติ เป็นตะคริว นอนไม่หลับ กินอาหารไม่ได้
แผ่นที่ ๒๕ โรคท้องร่วง
แผ่นที่ ๒๖ โรคลม มีอาการตัวเย็น มือเท้าตาย เคลื่อนไหวไม่ได้
แผ่นที่ ๒๗ โรคปัสสาวะขัด
แผ่นที่ ๒๘ โรคบุรุษ-สตรีที่เกิดจากฝีหลายชนิด
แผ่นที่ ๒๙ โรคฝีในลำคอ ฝีในร่างกายมีเลือดไหลออก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
แผ่นที่ ๓๐ โรคดานพืด เส้นเอ็นในร่างกายผิดปกติ แน่นหน้าอก และเกิดอาการเกร็ง
แผ่นที่ ๓๑ โรคหัวใจผิดปกติ
แผ่นที่ ๓๒ โรคซางในเด็กที่เกิดในวันศุกร์ ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๒ ปี
แผ่นที่ ๓๓ โรคกลาก
แผ่นที่ ๓๔ เป็นไข้ตัวร้อน
แผ่นที่ ๓๕ โรคท้องมาน
แผ่นที่ ๓๖ โรคไข้เจรียง หนาวเย็น เสียวไปทั้งตัว
แผ่นที่ ๓๗ โรคตับในเด็ก
แผ่นที่ ๓๘ โรคไข้เจรียงไพร หนาวสั่น ร้อนกระหายน้ำ
แผ่นที่ ๓๙ โรคลมร่างกายไม่ปกติ มีอาการปวดเมื่อย
แผ่นที่ ๔๐ โรคระดูมาไม่ปกติ
แผ่นที่ ๔๑ รัตตะปิตตะโรค เลือดลมผิดปกติมีอาการชาโคนขา เอว สะโพก
แผ่นที่ ๔๒ โรคซางในเด็กที่มีอายุระหว่าง ๕-๖ ปี เกี่ยวกับพยาธิต่างๆ ในร่างกาย
แผ่นที่ ๔๓ โรคลมที่เกิดจากฝ่าเท้าถึงกระหม่อม และเจ็บที่ศีรษะมากๆ
แผ่นที่ ๔๔ โรคลมบ้าหมู
แผ่นที่ ๔๕ การรักษาโรคที่ใช้ปลิงดูดเลือดจากส่วนต่างๆ ของร่างกายด้านหลัง
แผ่นที่ ๔๖ การรักษาสตรีหลังคลอด ที่มีอาการผิดปกติ
แผ่นที่ ๔๗ ท้องร่วงผิดปกติ
แผ่นที่ ๔๘ จุกเสียดแน่นหน้าอก
แผ่นที่ ๔๙ โลหิตผิดปกติ ที่เรียกว่า รัตตะปิตตะโรค
แผ่นที่ ๕๐ โรคลมจุกเสียด ร่างกายมีอาการบวมทั้งตัว
ตัวอย่างตำรายา
ตำรายารักษาโรคเด็ก
จะกล่าวด้วยกุมาระกุมารี อันมีอายุล่วงพ้นกำหนดซางเจ้าเรือน และซางช้างนั้นแล้ว คือ มีอายุแล้ว ๕-๖ ขวบขึ้นไป แล้วเป็นลักษณะแห่งตานโจรนั้น ด้วยบริโภคอาหารเป้นอชิรณะ คือ สำแลงที่มิได้บริโภคมาแต่ก่อน จึงให้บังเกิดโรคต่างๆ โดยจตุธาตุแลสตรีสมุฏฐาน ให้วิปริตแล้วบังเกิดกิมิชาติ ๘๐ จำพวก อันจะให้เบียดเบียนทุกตัวสัตว์มิได้เว้น ซึ่งกล่าวมานี้เป็นแต่พอสังเขป แจ้งวิตถารอยู่ในคัมภีร์ปฐมจินดา ผูก ๕ นั้น เสร็จแล้วฯ
ถ้าจะแก้เอาข่า กระชาย กะทือ ไพลหอม เปลือกสนุ่น เปลือกไข่เน่า ลูกขี้กา มะกรูด ราก เล็บมือนาง ไคร้หอม พริก ๗ ขิง ๗ กระเทียม ๗ ขมิ้นอ้อย ๗ บอระเพ็ด ๗ เหล้าครึ่ง น้ำครึ่ง ต้ม ๓ เอา ๑ ให้กินแก้สรรพตานโจรหายฯ
ตำรายารักษาโรคสำหรับสตรี
แลหญิงจำพวกใดยังไม่มีระดูมาก็ดี ลางที่มีระดูมาแล้วกลับแห้งไปก็ดี ถ้าแพทย์ผู้ใดจะแก้ท่านให้แต่งยาบำรุงธาตุเสียก่อน ให้ธาตุทั้งสี่บริบูรณ์จึงแต่งยาบำรุงเลือด ให้เลือดนั้นชุ่มออกมาแล้วจึงแต่งยาขับออกไปเถิด บำรุงธาตุนั้นท่านให้เอาเบญจกูล สิ่งละ ๑ บาท ลูกผักชี ว่านน้ำ หัวแห้วหมู ลูกพิลังกาสา บอระเพ็ด ผิวมะกรูด ยาหกสิ่งนี้ เอาสิ่งละ ๑ บาท ทำเป็นผงละลายน้ำส้มซ่า บำรุงไฟธาตุให้บริบูรณ์แล้ว จึงแต่งยาบำรุงเลือดต่อไปนั้น ท่านให้เอาเบญจกูล หนักสิ่งละ ๑ โกศทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ สิ่งละ ๒ สลึง ลูกจันทน์ ๑ สลึง กระวาน ๑ สลึง กานพลู ๑ สลึง เลือดแรด ๑ บาท ดอกคำไทย ๑ ตำลึง ฝางเสน ๒ บาท เกสรดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี บัวหลวง ดอกมะลิ ดอกจำปา ดอกกระดังงา กฤษณา กระลำพัก ชะลูด ขอนดอก อบเชย ชะเอมเทศ จันทน์ทั้ง ๒ ขมิ้น เครื่องยาทั้งนี้เอาเสมอภาค ต้มให้กิน เลือดนั้นสุกงามดี อย่าสนเท่ห์เลย
ตำรายาแก้โรคสำหรับบุรุษ
ถ้าผู้ชายเป็นโรคสำหรับบุรุษ ไส้ด้วน ไส้ลามแลให้แตกออก เป็นน้ำเหลืองไหลเซาะอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน ให้เจ็บปวด ดังจะขาดใจตายฯ ถ้าจะแก้เอาหัวกะทิสด ใบมะระ ใบเถาคัน เปลือกหว้า เปลือกโพบาย เปลือกพิกุล ใบต่อไส้ ขมิ้นอ้อย ตำเอาน้ำจอกหนึ่ง เอาน้ำมันงาจอก หุงให้คงแต่น้ำมัน จึ่งเอาสีผึ้งใส่ลงให้เหมือนสีผึ้งสีปาก เอาฝุ่นจีนใส่เคล้าไปให้สบกัน แล้วจึ่งปิดเถิดหายแลฯ แล้วให้ต้มยาชะ เปลือกโพบาย เปลือกหว้า เปลือกจิก เปลือกมะม่วงกะล่อน ใบขัดมอน ผักบุ้งรวม ผักบุ้งไท ผลในมะกอก สับให้แหลก ใส่ต้มเอาน้ำไว้ให้เย็น แล้วชะแผลทุกวันหายฯ แล้วจึ่งทำยาโรยปากแผล เอาหัวกะลามะพร้าว ขูดเอาผงเม็ดในมะนาว เบญกานี สีเสียดทั้ง ๒ รากมะนาว ดินแดงเทศ เอาเสมอภาค ตำกรองให้ละเอียด ให้เข้ารอยมือโรยเถิด แล้วชะเสียทุกวัน ให้โรยทุกวันหาย สีผึ้งขนานหนึ่ง เอาชัดรำโรง ๑ บาท สีผึ้งแข็ง ชันอ้อยเฟื้อง ๑ ชันตะเคียน ๑ บาท สีเสียดทั้งสอง ๑ เฟื้อง เบญกานี ๑ เฟื้อง สีผึ้งแดง น้ำมันงา หุงเป็นสีผึ้ง ปิดโรค สำหรับเปื่อยลามเป็นหนอง เป็นน้ำเหลืองไหลอยู่ซราซก หายแลได้ทำแหล้วประสิทธิ อย่าสนเท่ห์เลยฯ
ตำรายาแก้หืด
ยาแก้หืด เปาเปลือกประยงค์ป่า กุ่มเพลิง เจตมูล ข้าวย่าบุกรอ กลอยกระดาษทั้งสอง พไทเอาเสมอภาค ดองด้วยสุรา ฝังข้าวเปลือกไว้ ๓ วัน เงินผูกตอม่อ บาท ๑ กินตามกำลัง ให้สำรอกเสมหะหืด ให้ตกลิ้น แก้หอบหืดก็หายดีนักฯ
จารึกตำรายาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
การแพทย์แผนไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งพร้อมกับวิทยาการในสาขาอื่นๆ เช่น ตำรายา ตำราหมอนวด ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ประเพณี เป็นต้น เมื่อราชกาลที่ ๓ ทรงโปรดฯ ให้นำมาจารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ที่ศาลารายของวัดเชตุพน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ได้ศึกษาค้นคว้า เพราะสมัยนั้นตำรายายังหายาก โดยเหตุนี้จึงกล่าวกันว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย ตำรายาและตำราเกี่ยวกับการนวด หรือที่เรียกว่าตำราการแพทย์แผนไทย ที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ มีเนื้อหารวมกันคิดได้ประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาจารึกทั้งหมด
ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยที่วัดพระเชตุพนฯ นั้น พระยาบำเรอราชแพทย์เป็นหัวหน้าผู้สืบเสาะหาตำรายา และตำราลักษณะโรค จากหมอหลวง หมอพระ และหมอเชลยศักดิ์ มีการประกาศขอตำรายาดีซึ่งมีผู้นำมาให้มากมาย ผู้นำตำรายามาให้นั้น จะต้องสาบานตัวว่ายาขนานนั้นๆ ตนได้ใช้มาก่อนและใช้ได้ผลดีจริงๆ และพระยาบำเรอราชแพทย์ นำมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำมาจารึก ซึ่งสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ ดังนี้
ก) วิชาบริหารร่างกาย (ฤๅษีดัดตน) การบริหารร่างกาย หรือการดัดตนระงับความเมื่อยขบ มีการปั้นฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ สร้างมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่เปลี่ยนมาเป็นฤๅษีหล่อด้วยดีบุก และมีโคลงสี่สุภาพอธิบายประกอบครบทุกรูป
ข) วิชาเวชศาสตร์ เรียกว่าตำราอาจารย์เอี่ยม ศึกษาโรคภัยไข้เจ็บตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย มีการแยกสมุฏฐานของโรคต่างๆ ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ สมุฏฐานของโรคซึ่งเกี่ยวกันกับที่อยู่อาศัย ฤดู วัน เวลา รวมถึงสาเหตุของอาหาร การดูลักษณะอาการของไข้และการวินิจฉัยโรค การใช้ยาบำบัดรักษาโรค ซึ่งแต่ละโรคจะมีตำรายาให้เลือกหลายขนาน ซึ่งอาจเลือกใช้ให้ถูกกับบุคคลนั้นๆ ตำรายามีจำนวน ๑,๑๒๘ ขนาน
ค) วิชาเภสัช ว่าด้วยสรรพคุณของเครื่องสมุนไพรและเครื่องเทศแต่ละชนิด และแต่ละชนิดมีส่วนใดมีสรรพคุณในการบำบัดรักษาในแต่ละโรค ปรากฏสรรพคุณไว้ต่างๆ จำนวน ๑๑๙ ชนิด
ง) วิชาแผนนวด หรือวิชาหัตถศาสตร์ ในจารึกมีแผนภูมิภาพโครงสร้างร่างกายของมนุษย์แสดงที่ตั้งของเส้นประสาทการนวด ๑๔ ภาพ และเกี่ยวกับการนวดแก้ขัดยอก แก้เมื่อย และโรคต่างๆ รวม ๖๐ ภาพ
วิชาการแพทย์แผนไทยที่จารึกไว้บนศิลาที่วัดพระเชตุพนฯ แสดงให้เห็นถึงการศึกษาค้นคว้าของแพทย์แผนไทยครั้งสำคัญที่สุดนับแต่การสร้างกรุงเทพมหานคร มีการบันทึกหลักฐานไว้อย่างเป็นระเบียบ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างหมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ และหมอพระในสมัยนั้น นับเป็นรากฐานของการแพทย์แผนไทยสืบมา
ก. รายชื่อตำรายา
ตำรายาที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ นั้น เป็นตำราที่ว่าด้วยโรคต่างๆ ดังนี้
๑) ตำราที่ว่าด้วยโรคเกี่ยวกับเด็ก ได้แก่ การรักษาครรภ์ รักษาโรคซางต่างๆ โองการแม่ซื้อ ลักษณะโรคลำบองหู แม่ซื้อประจำวันต่างๆ
๒) ตำราที่ว่าด้วยโรคที่เกิดแต่สมุฏฐานต่างๆ คือ เสมหะสมุฏฐาน ตตสมุฏฐาน วาตสมุฏฐาน สันนิบาตสมุฏฐาน และลักษณะวิเศษสมุฏฐาน ๔ อย่าง คือ อาโป เตโช วาโย และปถวีสมุฏฐาน
๓) ตำราที่ว่าด้วยโรคที่เกิดจากสมุฏฐานฤดูต่างๆ คือ คิมหันตฤดู วสันตฤดู สารทฤดู เหมันตฤดูและศิศิรฤดู
๔) ตำราว่าด้วยไข้ต่างๆ เช่น ไข้ออกดำ ไข้ออกแดง ไข้ดาวเรือง ไข้มะเร็งทูม ไข้สังวาลพระอินทร์ ไข้กระดาษหิน ไข้มหาเมฆ ไข้หงส์ระทด ไข้รากสาด สายฟ้าฟาด ไข้ไฟเดือนห้า ไข้ไฟละอองไฟฟ้า ไข้ข้าวไหม้น้อย ไข้มหานิล ไข้ฟองปานแดง
๕) ตำราว่าด้วยลักษณะกาฬโรค
๖) ตำราว่าด้วยโรคสันนิบาตต่างๆ และลักษณะเบญจกาฬสันนิบาต สันนิบาตทิ่เกิดจากสมุฏฐาน
๗) ตำราว่าด้วยลักษณะธาตุต่างๆ ว่าด้วยลักษณะอภิญญาธาตุพิการ ลักษณะอสุรินทัญญาณธาตุ
๘) ตำราว่าด้วยโรคโลหิตต่างๆ ลักษณะปกติโลหิต ๕ ประการ ลักษณะโลหิตทุจริตโทษ ๕ ประการ ลักษณะโลหิตอันเกิดในกองสมุฏฐาน ๔ และลักษณะวิเศษโลหิต
๙) ตำราว่าด้วยโรคที่เกิดจากระบบขับถ่าย กระเพาะอาหาร อวัยวะสืบพันธุ์ คือ
ลักษณะทุลาวะสา ๑๒ (ลักษณะน้ำปัสสาวะ ๔ มุตกิด ๔ มุตฆาต ๔)
ลักษณะประเมหะ ๒๐ (สัณฑฆาต ๔ องคสูตร ๔ อุปทมโรค ๔ ช้ำรั่ว ๔ ไส้ด้วน ๔)
ลักษณะอติสาวรรค ที่เกี่ยวกับโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและท้องบิด
ลักษณะป่วงต่างๆ เช่น ป่วงวานร ป่วงหิว ป่วงน้ำ (ท้องร่วงและอาเจียน)
๑๐) ตำราว่าด้วยโรคที่เกิดจากภายนอกและโรคฝีดาษ
๑๑) ตำราว่าด้วยลักษณะวัณโรคต่างๆ คือ โรคที่เกี่ยวกับบาดแผลต่างๆ
๑๒) ตำราว่าด้วยโรคเรื้อนต่างๆ
๑๓) ตำราว่าด้วยโรคมะเร็งต่างๆ คือ โรคเกี่ยวกับแผลเรื้อรัง
๑๔) ตำราว่าด้วยโรคผิวหนัง โรคกลาก โรคเกลื้อนและโรคคชราชต่างๆ
๑๕) ตำราว่าด้วยโรคริดสีดวง ๑๘ พวก
๑๖) ตำราว่าด้วยต้อต่างๆ ต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อเพกาและ ต้อก้นหอย เป็นต้น
๑๗) ตำราว่าด้วยโรคลมต่างๆ เช่น ลักษณะกำเนิดแห่งลม ๔ จำพวก ลักษณะกระษัยโรค ๑๘ พวก
๑๘) ตำราว่าด้วยโรคท้องมาน ลักษณะท้องมาน ๑๘ ประการ
ข. รายชื่อเจ้าของตำรายา
ตำรายาซึ่งผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย จำนวนหนึ่ง ได้มีการจารึกชื่อเจ้าของตำรากำกับไว้ด้วย กล่าวกันว่าผู้ที่จะนำตำรายาทูลเกล้าฯ ถวาย จะต้องทำสัตย์สาบานว่าเป็นยาที่ตนรักษามาได้ผลดีจริง และถ้าไม่ดีจริงให้มีอันเป็นไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้องการให้ได้ตำรายาที่ดีจริงๆ เพราะในสมัยนั้นจะมีการปิดบังตำรายากัน และเพื่อสร้างความมั่นใจในตำรายาจะต้องระบุชื่อเจ้าของกำกับไว้ด้วย เช่น
ยาแก้ลำบองราหูในโรคกุมาร ขุนกุมารประเสริฐ ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้โรคกุมาร โรคตับ ๔ ประการ ขุนกุมารประสิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้โรคลมซางกุมาร หมื่นพรหมาเนตร ทูลเกล้าฯ ถวาย ๕ ขนาน
ยาแก้พิษละออง กำเดา เสมหะ วาโย พระบำเรอราช ทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ ขนาน
ยาแก้โลหิตผิดปกติโทษและทุจริตโทษ หมื่นอินทแพทยา ทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ ขนาน
ยาแก้โลหิตวิธีกูลเพลิง หมื่นอมรสิน ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาต้มและผงแก้ไขเจลียง ๔ ประการ ขุนราชนิทาน ทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ ขนาน
ยาแก้พิษดี, เสมหะ, ลม, สันนิบาต พระบำเรอราช ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้ในกองสันนิบาต หลวงสิทธิสาร ทูลเกล้าฯ ถวาย ๒ ขนาน
ยาแก้โรคอติสาร หลวงพรหมาแพทยา ทูลเกล้าฯ ถวาย ๕ ขนาน
ยาแก้ฝี ขุนประสิทธิแพทยา ทูลเกล้าฯ ถวาย ๖ ขนาน
ยาแก้วัณโรค หมื่นสิทธิแพทยา ทูลเกล้าฯ ถวาย ๖ ขนาน
ยาแก้ฝีมะเร็ง ขุนพินิจโอสถ ทูลเกล้าฯ ถวาย ๖ ขนาน
ยาแก้โรคเรื้อน หลวงจินดาโอสถ ทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ ขนาน
ยาแก้ริดสีดวง ขุนศรีโอสถ ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้ริดสีดวงในปาก หมื่นทรพิษพิมาน ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้จักษุโรค คือ ต้อ ขุนราชเนต ทูลเกล้าฯ ถวาย ๑๒ ขนาน
ยาแก้จักษุโรค คือ ต้อ ขุนทิพยเนตร ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้จักษุโรค คือ ต้อ หมื่นอินทเนตร ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้จักษุโรค คือ ต้อ ขุนประสานนัยนา ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้โรคคัน เป็นสาธารณชาติวาโย หมื่นเวชาแพทยา ทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ ขนาน
ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง หลวงทิพยรักษา ทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ ขนาน
ยาแก้ชาติวาโยพรรดึก ขุนราชโอสถ ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้วาโย ซึ่งมีพิษละเอียด พระบำเรอราช ทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ ขนาน
ยาแก้กล่อนทั้งปวง ขุนราชแพทย์ ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาแก้หืด ยาแก้เสียงแห้งแหบเครือ พระบำเรอราช ทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ ขนาน
ยาน้ำมันแก้กระดูกแตก เดาะ หัก ซ้น หมื่นมหาประสาร ทูลเกล้าฯ ถวาย
ยาแก้พิษงู ตะขาบ แมงป่อง คางคก เห็ดเมา หมื่นปราบนาค ทูลเกล้าฯ ถวาย
นอกจากตำรายาต่างๆ ที่ได้จารึกลงบนแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามฝาผนังศาลาหลังต่างๆ แล้วบริเวณฝาผนังศาลา ๓ ยังมีจารึกเรื่องสรรพคุณยาต่างๆ ไว้ด้วย ซึ่งมีสำนวนใกล้เคียงกับตำราสรรพคุณยา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
ค. ตัวอย่างตำรายา
ตำรายาขุนกุมารประเสริฐ
ยาชื่อมหาระงับพิษ เอาโกฐกระดูก กฤษณา ใบหนาด ว่านน้ำ หอมแดง สิ่งละส่วนเปราะหอม ๒ ส่วน ทำเปนจุณบดด้วยน้ำหอมแดง ทำแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้ พ่นพิษแก้ลำบองราหู อันบังเกิดมาด้วยธาตุทั้ง ๔ ภายนอกนั้นหายดีนักฯ
ตำรายาขุนกุมารประสิทธิ์
ยาชื่อกล่อมนางนอน เอาชะมดเชียง พิมเสน โกฐทั้ง ๔ เทียน ทั้ง ๕ เกสรบัวน้ำทั้ง ๕ สังกรณี รากไคร้เครือ ดอกพิกุล ดอกมะลิ เกสรบุนนาค เกสรสารภี กฤษณา กระลำพัก ชะลูด ขอนดอก ชะเอมเทศ น้ำประสานทอง ผงลานแก่ กระดองปูป่า เอาเสมอภาค ทำเปนจุณบดด้วยน้ำดอกไม้แล้วเอาติดก้นขันสำริด ลมควันเทียนให้ร้อนทั่วกัน แล้วทำแท่งไว้ละลายน้ำ กระสายอันควรแก่โรคให้กินแก้พิษตับกระทำพิษ มีอาการต่างๆ นั้นหายดีนักฯ
ตำรายาหมื่นพรหมาเนตร
ยาชื่อมหาเปราะ เอาดอกบุนนาค กฤษณา กระลำพัก ผิวมะกรูด ว่านน้ำ การบูร ไคร้หอม หอมแดง สิ่งละส่วน เปราะหอม ๓ ส่วน ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำดอกไม้ แทรกพิมเสน ทั้งกินทั้งชโลมทั้งทาก็ได้ แก้พิษซางทั้ง ๗ จำพวก แก้สรรพรางอันจรมานั้นหายสิ้นดีนักฯ
ตำรายาพระบำเรอราช
ยาชื่อกวาดสมุทร เอาสุพรรณถัน ทั้งประสานทองสุทธิ เกลือวิธู สิ่งละส่วน กานพลู อบเชย ชะเอม สิ่งละ ๒ ส่วน รากส้มกุ้งน้อย ขิงแครง สิ่งละ ๓ ส่วน ฝักส้มป่อยปิ้ง ๔ ส่วน ทำเปนจุณ ทำแท่งไว้ละลายน้ำท่า แทรกกระชาย เกลือ พิมเสน กวาดแก้ละอองเสมหะ อันบังเกิดขึ้นในโอษฐ โรคกระทำให้หวานปาก เป็นต้น และให้คอแห้ง ให้เสมหะเหนียว ให้เลือด ปากบริโภคอาหารมิได้นั้น ให้สิ้นหายดีนักแลฯ
ตำราหมื่นอินทรแพทยา
ยาชื่อพรหมพักตร์ เอาผลจันทน์ ดอกจันทน์ สิ่งละส่วน มหาหิงคุ์ ยางสลัดได การบูร สิ่งละ ๔ ส่วน พริกหมอ ๕ ส่วน ทำเปนจุณ เอาน้ำเกลือ มะรุม ต้มเป็นกระสาย บดแล้วจึงเอาใส่กระทะขึ้นตั้งไฟ กวนพอปั้นได้ ทำแท่งไว้กินตามธาตุหนักเบา ขับโลหิตเน่าร้าย ซึ่งกระทำให้ปวดท้อง จุกเสียดนั้น หายสิ้นดีนักฯ
ตำรายาหมื่นอมรสิน
ยาชื่อสุรามฤทธิคุณ เอาเปลือกกุ่มทั้ง ๒ สิ่งละ ๓ ส่วน รากกระหนาก ๑๒ ส่วน รากขี้กาแดง ใบมะตูม รากตองแตก ยาดำ สิ่งละ ๑๖ ส่วน ผลคัดเค้าสด ๔๐ ส่วน ใบระกา ๘๐ ส่วน รากชะพลู ๑๐๘ ส่วน ต้มตามวิธีให้กินตามกำลัง ขับโลหิตเน่าร้ายให้สิ้นฯ
ตำรายาขุนราชนิทาน
ยาต้มชื่อวรรณาธิคุณ แก้ไข้เจลียง ๔ ประการให้จับสะบัดร้อน สะท้อนหนาว โกฐสอ โกฐกระดูก โกฐหัวบัว จันทน์แดง จันทน์หอม สะค้าน ชะพลู มะตูมอ่อน บอระเพ็ด หญ้าตีนนก ลูกผักชี สมอเทศ สมอไทย สมอพิเภก มะขามข้าม สรรพยาทั้งนี้สิ่งละส่วนต้มกินฯ
ตำรายาหลวงสิทธิสาร
ยาชื่อเทพรังสฤษฏ์ เอาจันทน์ทั้ง ๒ แก่นสน แตงเถื่อน สามร้อยราก ว่านกีบแรด ผลกระดอม ผลประคำดีควาย งาช้าง หนังแรด เอาเสมอภาค ทำเปนจุณ ทำแท่งไว้ละลายน้ำ กระสายอันควรแก่โรคให้กิน แก้พิษสันนิบาตให้ตก ถ้าจะกระทุ้งพิษไข้ให้ผุดขึ้น เอาพิษนาศน์ ระย่อมไคร้เครือ ต้มตามวิธีให้กิน พิษไข้ผุดสิ้นดีนักฯ
ตำรายาหลวงพรหมาแพทย์
ยาชื่อมหาอุด เอาเบญจกูลสิ่งละส่วน ครั่งต้น ชันย้อย กำยานเหนือ สิ่งละ ๓ ส่วน กระทือ ว่านน้ำ บอระเพ็ด สิ่งละ ๖ ส่วน ทำเปนจุณบดทำแท่ง ไว้ละลายน้ำร้อย แทรกพิมเสน ให้กินแก้ป่วง ๕ ประการ แก้สรรพป่วงทั้งปวงหายดีนักฯ
ตำรายาขุนประสิทธิแพทยา
ขนานหนึ่งเอาขมิ้นอ้อย ๓ ส่วน แป้งข้าวหมาก ๒ ส่วน ข้าวไหม้ ๔ ส่วน ใบชะมดต้ม ๗ ส่วน ทำเปนจุณบดด้วยสุรา พอกสรรพฝีอันมีพิษทั้งปวง ซึ่งกระทำให้คลั่ง และสะท้านร้อนสะท้อนหนาวหายดีนักแลฯ
ตำรายาหมื่นสิทธิแพทยา
ยาต้มกินภายในแก้วัณโรค เอายอทั้ง ๕ สิ่งละส่วน ยาข้าวเย็นทั้ง ๒ ขมิ้นอ้อย สิ่งละ ๔ ส่วน ต้มตามวิธีให้กินแก้วัณโรคภายนอกภายใน ทั้งปวงหายดีนักฯ
ตำรายาขุนพินิจโอสถ
ยาแก้สรรพมะเร็ง เอากำมะถันเหลือง ๑ ขันทอง พยาบาลพระขรรค์ไชยศรี โหราเท้าสุนัข ยาข้าวเย็นทั้ง ๒ เปลือกปีบผลฝ้ายหีบสิ่งละ ๕ ตำลึง กะลาตัวผู้ ๓ ซีก ต้มตามวิธีให้กินตามกำลัง แก้มะเร็งเพลิง มะเร็งไร มะเร็งกุด และมะเร็งทั้งปวงหายดีนัก
ยาแก้โรคมะเร็งทั้งปวง เอาเขม่าเหล็ก ๑ ตำลึง เอามะนาวแช่พอน้ำท่วม เอาไว้ให้ได้ ๓ วัน แล้วตากแดดให้แห้ง ทำเปนจุณโรยแผลมะเร็งทั้งปวง แห้งหายดีนักฯ
ตำรายาหลวงจินดาโอสถ
ยาน้ำมันทากุฏฐโรค เอาผลกระเบา ผลกระเทียม ผลลำโพงกาสลัก ผลดีหมี ต้นเลี่ยนทั้งใบทั้งเปลือก ขอบชะนางทั้ง ๒ ทั้งต้นทั้งราก ใบกรวยป่า ใบสะแกแสง ใบมะเกลือ ใบดานหม่อน ใบยาสูบ ขมิ้นอ้อย สิ่งละ ๑ ตำลึง มะพร้าวไฟผล ๑ ทำเปนจุณ และคุลีการเข้าด้วยกัน หุงให้คงแต่น้ำมัน แล้วจงเอามาทาสรรพกุฏฐโรค คือโรคเรื้อนทั้งปวงหายดีนักฯ
ตำรายาขุนศรีโอสถ
ยาชื่อธรณีไหว เอาฝิ่นส่วน ๑ มหาหิงคุ์ ยาดำ กัญชา กระวาน กานพลู สิ่งละ ๔ ส่วน โหราเท้าสุนัข ผลจันทน์ เทียนดำ เทียนขาว ตรีกฎก สิ่งละ ๘ ส่วน การบูร เจตมูลเพลิง สิ่งละ ๑๒ ส่วน รงทองสุทธิ ๒๔ ส่วน ทำเปนจุณบดด้วยน้ำผึ้งรวงให้กินหนัก ๑ สลึง แก้ริดสีดวง หืด ไอ ทั้งปวงหายดีนักฯ
ตำรายาหมื่นทรพิษพิมาน
ยาชื่อมหาประสาน เอาพิมเสน น้ำประสานสุทธิ เกลือธาร สิ่งละส่วน เมล็ดมะกอกเผา ผลประคำดีควาย โกฐหัวบัว เบญจกานี ไส้ในหมากดิบ สิ่งละ ๔ ส่วน ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ละลายน้ำปูนใสกวาดแก้โอษฐโรค คือ ปากลำลาบเปื่อยแตกร้าว กระทำให้แสบร้อนมีพิษนั้นหายวิเศษนักฯ
ตำรายาขุนราชเนตร
ยาชื่อมหาอาวุธ เอาพิมเสนเกล็ด ดอกจันทน์ กระวาน โกฐสอ โกฐเขมา เทียนสัตตบุษย์ ตานยา ขิงสด ขมิ้นอ้อย ดีจระเข้ ดีตะพาบน้ำ สิ่งละส่วน ทำเปนจุณบดเป็นแท่งไว้ ฝนใส่จักษุแก้ริดสีดวงขึ้นจักษุ และสรรพโรคต้อทั้งปวงหายดีนักแลฯ
ตำรายาขุนทิพยเนตร
ยาชื่อสุวรรณไกรลาศ เอาชาดหรคุณจีนส่วน ๑ บัลลังก์ศิลาเมล็ดในมะฝ่อ เปลือกมะขามขบ แก่นจันทน์แดง แก่นซ้องแมว พิมเสน สิ่งละ ๔ ส่วน ทำเปนจุณแทรกทองคำเปลวพอควร บดน้ำดอกไม้ทำแท่งไว้ ฝนใส่จักษุแก้สรรพโรคต้อทั้งปวง ซึ่งกระทำให้ปวดเคือง แล้วลืมจักษุมิขึ้นนั้นหายดีนักฯ
ตำรายาขุนประสานนัยนา
ยาชื่อสุริยาธิจร เอาผลจันทน์ส่วน ๑ ดอกขจร ๒ ส่วน ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ ฝนด้วยน้ำท่าป้ายจักษุ และเจริญซึ่งเลี้ยงจักษุให้บริบูรณ์วิเศษนักฯ
ตำรายาหมื่นอินทเนตร
ยาชื่อรัตนจักษุ เอาพิมเสน การบูร ลูกจันทน์ สารส้ม น้ำประสานทอง ตรีกฎก ดินประสิวขาว โกฐสอจีน เอาเสมอภาค ทำเปนจุณ เอาน้ำกานพลูต้มเป็นกระสาย ทำแท่งไว้ ฝนด้วยน้ำทาจักษุ แดงเป็นสายโลหิตน้ำจักษุตกนั้น หายสิ้นวิเศษดีนักฯ
ตำรายาหมื่นเวชาแพทยา
ยาชื่อสุวรรณประสาท เอายาดำ มหาหิงคุ์ ตรีกฎก ผิวมะกรูด สิ่งละ ๔ ส่วน กระเทียม เกลือสินเธาว์ สิ่งละ ๖ ส่วน ทำเปนจุณบดละลายน้ำผึ้ง น้ำมะกรูด น้ำมะนาว คุลีเข้าด้วยกัน ให้กินหนัก ๑ สลึง แก้สรรพลมทั้งปวงฯ
ตำรายาหลวงทิพยรักษา
ยาแก้ลมขึ้นสูง เอายาดำ กัญชา อุตพิด ดองดึง สิ่งละ ๔ ส่วน กระเทียม ๖ ส่วน ว่านน้ำ ชะเอมเทศ โกฐน้ำเต้า โกฐพุงปลา มหาหิงคุ์ สิ่งละ ๘ ส่วน ว่านเปราะ ผลผักชี สิ่งละ ๑๒ ส่วน ขิงแห้ง แก่นแสมทะเล รากส้มกุ้ง สะค้าน สิ่งละ ๑๖ ส่วน พริกไทย เปลือกกันเกรา สิ่งละ ๒๔ ส่วน ทำเปนจุณบดละลายน้ำผึ้งรวงให้กิน หนัก ๑ สลึง แก้ลมขึ้นสูง หายดีนักฯ
ตำรายาหลวงราชโอสถ
ยาชื่อมหาวายุเวก เอาผลมะกรูด ๕ ผล หัวหอม ๑๐ หัว หัวกระเทียม ๕ หัว มะขามเปียก ๑๐ ฝัก สลัดได ๕ ตำลึง เกลือ ๒ บาท ทำเปนจุณให้กินเป็นยาสด หนัก ๑ สลึง แก้ลมในกองพรรดึกดีนักฯ
ตำรายาขุนราชแพทย์
ยาแก้สรรพกร่อนทั้งปวง เอาใบมะตูม ๑ ใบสะเดา ๒ ใบคนทีสอ ๓ ว่านน้ำ ๔ บอระเพ็ด ๕ ขมิ้นอ้อย ๖ พริกไทย ๗ ทำเปนจุณบดละลายน้ำผึ้งให้กิน ๑ สลึง แก้สรรพกร่อนทั้งปวง ซึ่งกระทำให้จุกเสียดให้อาเจียน คลื่นเหียนและให้เมื่อยขบ กระทำให้ตัวเหลือง จักษุเหลือง และน้ำมูตรเหลือง ให้ถ่วงเหน่าเป็นกำลังนั้นหายดีนักฯ
ตำรายาขุนสิทธิพรหมา
ยาชื่อประสะน้ำมะนาว เอาผลส้มป่อย รากส้ม กุ้งส้มทั้ง ๒ กระเทียม พริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง ดินประสิวขาว สารส้ม เอาเสมอภาค ทำเปนจุณแล้วจึงเอาน้ำมะนาวใส่ลงให้ท่วมยา ทั้งนั้น จึงเอาขึ้นตั้งไฟกวนให้ปั้นได้ กินหนัก ๖ สลึง แก้สรรพโรคหืดทั้งปวง ซึ่งทำอาการให้หอบ ให้จับ แก้ไอ และโรคอันบังเกิดแก่กองเสมหะ สมุฏฐานนั้นหายสิ้นวิเศษนักฯ
ตำรายาหมื่นมหาประสาร (หมอเชลยศักดิ์)
ในที่นี้จะว่าแต่สรรพคุณวิเศษ คือคณะสรรพยา วิธีทำน้ำมันที่จะแก้ซึ่งโรคคือ สรรพอัฐิแตกหัก เดาะ ซ้น นั้นโดยนัยดังนี้ ในวิธีเมื่อกระนั้น ให้เสกข้าวเปลือก ข้าวสาร โดยพระคาถาดังนี้ (สพเพเทวาปีสาจว ฯลฯ สพเพยกขาปลายนติ) ให้เสก ๓ คาบ ๙ เมื่อจะปลายนั้น ให้ขับใส่รังควานด้วยพระคาถาดังนี้ (คจฉอมุมหิ โอกา เส ติฏฐาหิ) แล้วจึงน้ำมันดิบมาเสกด้วยพระคาถาพระโมคคลานะดังนี้ (เถโรว โมคคลาโน อนตรธายิตวา ภูมิยสุขุมจรมานู นคเรโจรทายโก อนุโลมขนติ อิทธิวคโตว) ให้เสกวิคาบ แล้วจึงเหลาซึ่งซี่เฝือกให้ควรแก่ที่เจ็บให้ถักด้าย ๓ แห่ง แล้วเอาตอกเส้น ๑ วัด แขน ขา ตีน นั้นเป็นอย่างไร แล้วจึงมงคลดอก ๑ น้ำขัน ๑ เสกด้วยโองการพระเจ้า ๓ คาบ แล้วจึงเอาน้ำมนต์น้ำมัน ให้กิน ให้ทา มงคลนั้นให้สวมศีรษะลงไว้ แล้วจึงชักแขนขาออกมา ให้เท่าอย่างที่วัดไว้นั้น จึงเก็บกระดูกโซมน้ำมันด้วยน้ำมนต์ ตระน้ำโอมข้อต่อ โอมกระดูกต่อกระดูก โอมเอ็นต่อเอ็น โอมเนื้อต่อเนื้อ โอมหนังต่อหนัง ประสิทธิ์สวาหาย ให้บริกรรมเก็บกระดูกจะเรียบดีแล้ว จึงโซมน้ำมันห่อเฝือกเถิด จึงเอาด้ายดิบรัดเฝือกไว้ ๓ เปลาะ เปลาะแรกเสกด้วยพุทธ รตน เปลาะ ๒ ธมม รตน เปลาะ ๓ สงฆ รตน ถ้าไข้และคลั่งไปก็ดี ให้บัดแสลง ลงด้วยโองการมหาธนูไชย และโองการพระอิศวร แล้วโซมน้ำมันไปถึง ๓ วัน แล้วขยายเฝือกออกดู แล้วนำยาประคบโลมด้วยสุราแล้วจึงห่อเฝือกเข้าไว้อย่างเก่า โลมน้ำมันไป ให้ได้ ๗ วัน จึงแก้เฝือกทีเดียว แล้วนวดโซมน้ำมันเอ็นอ่อนต่อไปกว่าจะหาย วิเศษนักฯ
ตำรายาหมื่นปราบนาค
ในที่นี้เล่า จะกล่าวสำนวน คือ คณะสรรพยา เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นท้องตำราสืบๆ สานมาที่จะแก้พิษงู ตามนัยอาจารย์ ให้ไว้เป็นทาน ตูดหมาตูดหมู สองสิ่งนี้นา บดทาพิษงู ให้แพทย์พึงรู้ ดีนักพลันหาย ผักบุ้ง ทุงเทง เอาเกลือเป็นกระสาย บดให้ละเอียด เอาน้ำมูตรละลาย กินเถิดพลันหาย อย่างได้คิดถวิล แก้พิษแมลงภู่ อีกพิษงูดีนักฯ
ตำรายาสรรพคุณยา
เป็นตำราที่ศึกษาคุณค่าของพืชสมุนไพรนับร้อยชนิด ว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์
ตัวอย่างตำราสรรพคุณยา
บุนะจะปะรัง ในลำดับนี้จะกล่าวด้วยนัยหนึ่งใหม่ ว่าด้วยสรรพคุณอันมีคุณแก่สัตว์ ทั้งหลายตามลำดับกัน โดยนัยสังเขป ดังนี้ฯ
ลำดับนี้จะกล่าวคุณแห่งผลสมอ ๗ ประการก่อน เป็นปฐม คือ
สมอ ๑ ชื่อวิทยา ผล ๒ เหลี่ยม มีรสเย็นดีนัก รู้แก้สรรพิษทั้งปวงฯ
สมอ ๑ ชื่อโรหินี ผลกลม มีรสเปรี้ยว หวาน ระคนกัน รู้แก้เสมหะอันเค่นฯ
สมอ ๑ ชื่อมุตนา ผล ๓ เหลี่ยม มีรสอันฝาด รู้แก้บิดมูกเลือดฯ
สมอ ๑ ชื่ออนุตา ผล ๓ เหลี่ยม แต่เม็ดนั้นเล็ก มีรสอันหวานเย็น รู้แก้ไข้คลั่งและบ้าดีเดือดฯ
สมอ ๑ ชื่อมุตตกี ผล ๕ เหลี่ยม มีรสอันหวาน เปรี้ยวร้อน รู้แก้ลมอันแน่นอยู่ในนาภีและทรวงอก
สมอ ๑ ชื่อสัพยา ผล ๖ เหลี่ยม มีรสอันขมร้อน รู้แก้โลหิตโดยรอบคอบในอุทรฯ
สมอ ๑ ชื่อวิลันดา ผล ๗ เหลี่ยม เหลืองดังทอง มีรสอันหวาน ขมฝาด รู้แก้จัตุธาตุและตรีสมุฏฐาน อันคุณเป็นมหันตคุณยิ่งนัก
อนึ่ง อันว่าสมอป่าผลใหญ่นั้น รู้แก้โรคลมส่ำระสายในอุทรและแก้บิด ดอกรู้แก้ลมอันสั่นอยู่ในโสต กระพี้รู้แก้ไข้อันบวม แก่นรู้แก้โลหิตและแก้คอดุจหนามบัว รากรู้แก้เสมหะฯ
ตำรายาจากจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ ที่เรียกว่า สรรพคุณยานั้นแปลกกวาตำราฉบับอื่นๆ และไม่เคยพบรูปแบบ และวิธีการเขียนตำรายาไทยดังกล่าวเลย ทั้งตำราสรรพคุณยาที่ปรากฏไม่ได้ระบุชื่อผู้แต่งหรือเจ้าของตำรา เช่น ตำรายาไทยเล่มอื่นๆ
ตำราสรรพคุณยา เป็นการนำเอาสมุนไพรเดี่ยวมาศึกษาค้นคว้า และวิเคราะห์ว่าสมุนไพรแต่ละชนิดรักษาโรคอะไรได้บ้าง มีทั้งการศึกษาเรื่องลำต้น ดอก ใบ ราก ผล แก่น กระพี้ ยาง ฯลฯ ของสมุนไพรแต่ละชนิดโดยละเอียด ชี้ให้เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางสมุนไพรเป็นอย่างดี
การสอบค้นของผู้วิจัยเกี่ยวกับผู้แต่งหรือเจ้าของตำราสรรพคุณยาจากวัดพระเชตุพนฯ ได้ใช้วิธีตรวจสอบเปรียบเทียบกับตำรายาไทยฉบับอื่นๆ ทุกฉบับ ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา จนถึงตำรายาไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าตำราสรรพคุณยาจากวัดพระเชตุพนฯ นั้น มีความใกล้เคียงกับตำราสรรพคุณยาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท และกล่าวได้ว่าฉบับวัดพระเชตุพนฯ น่าจะเป็นต้นเค้า อีกทั้งได้ตรวจสอบจารึกจดหมายเหตุเรื่องการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ปรากฏว่ามีรายชื่อของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทเป็นผู้หนึ่งในผู้ทรงความรู้อยู่ด้วย ขณะดำรงพระยศเป็น “กรมหมื่นวงศาสนิท” เป็นผู้ร่วมแต่งโคลงฤๅษีดัดตน และทรงกำกับกรมหมอหลวง คือเป็นอธิบดีแพทย์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ฉะนั้นผู้รวบรวมตำราสรรพคุณยาที่วัดพระเชตุพนฯ น่าจะเป็นงานนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทนั่นเอง
ง. ฤๅษีดัดตน
เกี่ยวกับโคลงฤๅษีดัดตนนั้น มีผู้เขียนเฉพาะตามปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๓ ดังนี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
แก้ส้นเท้า แก้ปวดเท้า แก้ข้อเท้า แก้เสมหะในลำคอ แก้ลมในแขน แก้ลมในอก แก้ไหล่ แก้ท้อง แก้อก แก้ลมเวียนศีรษะ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
แก้ขี้เกียจ แก้เอวขดขัดขา แก้ลมในอก ในเอว แก้ลมปวดศีรษะ
กรมหมื่นไกรสรวิชิต
ดำรงกายอายุยืน แก้ขา
กรมหมื่นอมเรนทรทราบดินทร
แก้ปวดท้อง แก้ลมสะบัก
กรมหมื่นวงศาสนิท
แก้ไหล่ แก้ขา แก้ลมในอก
กรมหมื่นภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
แก้ปัตฆาฏ แก้ตะคริว แก้ขัดแขน แก้ขัดแข้งขัดขา แก้คอเคล็ด ไหล่ขัด
หลวงชาญภูเบศร์
แก้เข่า ขา แก้กล่อนปัตฆาฏ
ขุนธนสิทธิ์
แก้ลมลึงค์ ลมอัณฑะ แก้ลมอก
หลวงลิขิตปรีชา
แก้ลมชักปากเบี้ยว แก้ลมลิ้นตาย แก้ลมเท้าเหน็บ แก้ลมมือเหน็บ
จ่าจิตรนุกูล
แก้ไหล่ตะโพกขัด แก้ตะคริวเท้า
พระยาราชมนตรี
แก้ลมกล่อน
พระยาธิเบศรบดี
แก้มือ แก้เท้า แก้เท้าเหน็บ
พระยาอัษฎาเรืองเดช
แก้เข่าขัด
พระยาไชยวิชิต
แก้แน่นหน้าอก
พระยาบำเรอบริรักษ์
แก้กร่อน
พระสุพรรณสมบัติ
แก้ลมจุกเสียด
จมื่นราชนาคา
แก้คอ แก้ไหล่
พระองค์เจ้าศิริวงศ์
แก้อัณฑวาต แก้ลมทั่วสรรพางค์
พระอริยวงศมุนี
แก้เสียดข้าง แก้วิงเวียน แก้ลมมหาบาทยักษ์ และแก้แขนขัด
พระมหามนตรี
แก้เส้นมหาสนุกระงับ
พระสมบัติธิบาล
แก้สลักไหล่ แก้กร่อน
พระมหาช้าง
แก้จุก
พระมุนีนายก
แก้ลมทั่วสรรพางค์ แก้ลมมือลมเท้า
นายปรีดีราช
แก้สะบักหน้าจม แก้เส้นทั่วสรรพางค์
พระพุทธโฆษาจารย์
แก้ขัดขา ขัดคอ แก้วิงเวียนศีรษะ
พระสมุห์จั่น
แก้แน่นหน้าอก
พระญาณปริยัติ
แก้ลมขา แก้ลมข้อมือ แก้เข่า แก้ขา แก้ลมในคอ แก้ลมตะคริว และแก้ลมในเท้า
พระเพ็ชรฎา
แก้โรคในคอ
พระศรีสุทธิวงศ์
แก้เสียดอก แก้กร่อนปัตฆาฏ แก้เอว แก้ลมในขา แก้ลมส้นเท้า แก้ลมอัมพฤกษ์
สมเด็จพระสังฆราช
แก้ลมจันฑฆาฏ แก้ลมเข่า แก้ลมขา ลมหน้าอก
พระอมรโมลี
แก้สะโพกสลักเพชร
เจ้าพระยาพระคลัง
แก้ลมปะกัง แก้เข่าขัด แก้ลมในลึงค์
พระรัตนมุนี
แก้กร่อนในทรวง แก้ลิ้นกระด้าง แก้ไหล่ แก้ตะโพก
ออกญาโชฎึกราชเศรษฐี
แก้ลมเอว แก้เส้นสลักทรวง
กรมหมื่นศรีสุเทพ
แก้ลมริดสีดวง
เกี่ยวกับรูปหล่อฤๅษีดัดตนนั้น แต่เดิมสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน สำหรับในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ปั้นขึ้นใหม่และหล่อด้วยดีบุก จำนวน ๘๐ ท่า โดยมีกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ (พระองค์เจ้าดวงจักร พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑) เป็นผู้ทรงกำกับช่างหล่อ เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๙ และมีคำโคลงอธิบายประกอบ ปัจจุบันสูญหายมากแล้ว แต่มีหลักฐานจากการคัดลอกท่าปั้นและโคลงลงสมุดไทย ซึ่งขุนรจนาเป็นผู้วาด และขุนอาลักษณ์วิสุทธิอักษรเป็นผู้ตรวจทาน และเขียนโคลงประกอบ
จารึกตำรายาที่ระเบียงคตภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)
จารึกตำรายาที่ระเบียงคตภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)
แผ่นจารึกตำรายา ที่ติดอยู่ที่เสาภายในระบียงคตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)
แผ่นจารึกตำรายา ที่ติดอยู่ที่เสาภายในระบียงคตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)
ความหมายและความสำคัญของการนวดแผนไทย
การนวดแผนไทย (Thai Massage) เป็นวิธีการรักษาความเจ็บป่วยที่เก่าแก่วิธีหนึ่งที่รวมอยู่กับการแพทย์แบบดั้งเดิมของไทย การนวดไทยเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของคนไทย โดยบรมครูได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นลูกสู่รุ่นหลานชั่วอายุคนมาแล้ว การนวดแผนไทยนั้นมีทั้งการนวดแบบทั่วไปและการนวดแบบราชสำนัก ในทางกฎหมายใช้ศัพท์ว่า การนวดไทย
๑. ความหมาย
"การนวดไทย" หมายความว่า การตรวจประเมิน การวินิจฉัย การบำบัด การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การจับ การดัด การดึง การประคบ การอบ หรือวิธีการอื่นตามศิลปะการนวดไทย หรือการใช้ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ทั้งนี้ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย
หลักวิธีการนวดแผนไทย เป็นวิชาที่มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์การนวดที่ใช้รูปแบบการนวดแตกต่างกันหลากหลายวิธีการ ซึ่งในแต่ละวิธีการนวดนั้นก็จะยึดถือโครงสร้างตามแนวพลังเส้นประธาน ๑๐ และเส้นบริวารอีก ๗๒,๐๐๐ เส้น เป็นพื้นฐานเหมือนๆ กัน
๒. ประเภทของการนวดแผนไทย
การนวดไทยจำแนกตามแหล่งที่มาของวิทยาการออกเป็น ๒ ประเภทคือ
๒.๑ การนวดแบบราชสำนัก หมายถึง การนวดเพื่อถวายกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงของราชสำนัก ซึ่งจะพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เรียนอย่างประณีตถี่ถ้วนและการสอนมีขั้นตอน จรรยามารยาทของการนวด หลักการฝึกมือและแบบแผนการนวดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
๒.๒ การนวดแบบทั่วไป หมายถึง การนวดแบบสามัญชน ใช้การสืบทอดจากคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ โดยใช้การฝึกฝนและการบอกเล่า และมีแบบแผนการนวดตามวัฒนธรรมท้องถิ่นประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมของครูนวดแต่ละท่าน และทฤษฎีที่ยึดถือเป็นหลักนั้นอ้างอิงมาจากทฤษฎีเส้นสิบที่จารึกอยู่บนผนังศาลารายในวัดโพธิ์
การเรียนนวดไทยแบบชาวบ้านนั้น แต่เดิมนิยมเรียนกันตามบ้านของพ่อครู ในสมัยต่อมามีการก่อตั้งเป็นสมาคมแพทย์แผนโบราณขึ้นในบริเวณวัดต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ สมาคมแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย (วัดปรินายก) สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย (วัดสามพระยา) และโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เป็นต้น
๓. ความสำคัญของการนวดแผนไทย
การนวดแผนไทยก่อให้เกิดประโยชน์ตามองค์ประกอบของการมีสุขภาพที่ดีทั้ง ๔ ด้าน คือ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการป้องกันโรค ด้านการรักษา และด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ กล่าวคือ
๓.๑ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การนวดถือว่ามีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟของร่างกาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดแดงไปเลี้ยงทั่วร่างกาย การไหลเวียนกลับทางเลือดดำและน้ำเหลืองดีขึ้น ช่วยยืดเส้นเอ็นที่ตึงให้หย่อนลง กล้ามเนื้อที่เครียด ล้า จากการทำงานผ่อนคลายลง และช่วยให้ระบบข้อต่อไม่ติดขัด เป็นต้น
ดังนั้น "การนวดจึงเป็นเสมือนยาอายุวัฒนะ" ซึ่งทำให้สุขภาพสมบูรณ์ในทางตรง และเป็นผลให้อายุยืนยาวขึ้นในทางอ้อม เนื่องจากสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
๓.๒ ด้านการป้องกันโรค การนวดเป็นการเสริมภูมิต้านทานโรค กล่าวคือ สามารถช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดฟิน ซึ่งถือว่าเป็นสารสุขของร่างกายทำให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงดี ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งสารสุขนี้จะมีการหลั่งได้จาก ๔ วิธี คือ การฝังเข็ม การนวด การออกกำลังกาย และการที่จิตใจมีความสุข นอกจากนี้การนวดคลายกล้ามเนื้อบ่าและต้นคอจะป้องกันอาการปวดศีรษะได้ การนวดบริเวณหลังในผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถพลิกตัวได้ ก็จะช่วยป้องกันแผลกดทับได้ เป็นต้น
๓.๓ ด้านการรักษา เมื่อเกิดการ ปวด ขัด ตามเส้นเนื่องจากติดขัดจากเลือดลมภายในร่างกาย การกดนวดตามสูตรการรักษาจะช่วยให้ร่างกายปรับสมดุลขจัดปฏิกิริยาความเจ็บปวดลงได้ เช่น การนวดบริเวณบ่า และแขนด้านใน แขนด้านนอก ก็จะแก้อาการชาแขน การนวดท้องท่าแหวก ท่านาบ จะแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก การนวดบริเวณเอวและขา จะช่วยแก้อาการขาชา ปวดขา ปวดเข่าได้ และลดอาการบวมได้
๓.๔ ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในโรคบางโรคอาจมีรอยโรคเกิดขึ้น การนวดจะเป็นการช่วยฟื้นฟูซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดในโรคที่มีความพิการ หรือโรคที่มีความเรื้อรัง เช่น อัมพาต โปลิโอ สมองพิการในเด็ก เข่าเสื่อม โดยช่วยให้เอ็นกล้ามเนื้อข้อต่อนั้นกลับเข้าสู่สภาพเดิมเร็วขึ้น และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันช่วยเหลือตนเองได้ดี ไม่ต้องเป็นภาระกับบุคคลในครอบครัว
จะเห็นได้ว่า การนวดจะช่วยให้สุขภาพดี ป้องกันรักษาโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยอาจไม่ต้องใช้ยา หรือการผ่าตัด ซึ่งนับได้ว่าการนวดไทยนั้นมีบทบาทสำคัญในการสาธารณสุขมูลฐานได้เป็นอย่างดี
ข้อบ่งชี้และข้อห้ามในการบรรเทาอาการและรักษาโรคด้วยการนวดแผนไทย
ก่อนจะทำการนวดทุกครั้ง ผู้นวดจะต้องทำการซักถามประวัติและตรวจร่างกายเพื่อที่จะได้ทราบถึงสภาพร่างกายที่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งหมายถึงอาการที่สามารถทำการนวดเพื่อรักษาได้ และข้อห้ามในการนวด คือลักษณะอาการที่ไม่ให้ทำการนวด เพราะอาจจะเป็นอันตรายแก่ผู้ถูกนวดได้
๑. ข้อบ่งชี้ของอาการที่สามารถทำการนวดได้
๑.๑ การบวม (ที่มิได้เกิดจากอาการอักเสบ) ใช้การคลึงเบาๆ ไม่กด หรือบีบ มี ๒ ชนิดคือ
- บวมน้ำ เกิดจากการคั่งของเลือดและน้ำ
- บวมเนื่องจากการอุดตันของท่อน้ำเหลือง
๑.๒ กล้ามเนื้อลีบ ใช้การนวด กด คลึง กระตุ้นกล้ามเนื้อได้
๑.๓ แขน ขาชา ใช้การนวด กด คลึง กระตุ้นกล้ามเนื้อได้
๑.๔ มีเสมหะ ใช้การลูบ สับเบาๆ เพื่อเคาะปอดขับเสมหะ
๑.๕ ภาวะที่เกิดแผลเป็นที่ผิวหนัง ในกล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มข้อ ข้อต่อต่างๆ ใช้ฝ่ามือนวดหรือปลายนิ้วคลึงวนเป็นวงกลม
๑.๖ ข้อติดเนื่องจากไม่ได้ใช้งาน สามารถนวดเยื่อหุ้มข้อและกล้ามเนื้อที่อยู่โดยรอบ
๑.๗ กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งเป็นตะคริว นวดกดจุดคลายกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการได้
๑.๘ กรณีที่มีอาการเจ็บปวด ให้ลูบเบาๆ ไม่กดหรือบิด
๑.๙ ข้อแพลง มีอาการเจ็บปวด บวม นวดกดคลึงเบาๆ ได้
๑.๑๐ ท้องผูก ใช้การนวดบริเวณท้องและกระเพาะปัสสาวะ เพื่อกระตุ้นการขับถ่ายให้ทำงานดีขึ้น
๑.๑๑ อาการเครียด ปวดศีรษะจากความเครียด สามารถนวดกดจุดรักษาได้
๑.๑๒ อาการปวดเมื่อย ใช้การนวดรักษาได้
๒. ข้อห้ามมิให้ทำการนวด
๒.๑ บริเวณที่มีบาดแผล เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ เจ็บปวด หรือแผลแยกทำให้หายช้าจึงห้ามนวดบริเวณแผล แต่อาจนวดเบาๆ รอบๆ แผลได้
๒.๒ บริเวณที่เป็นมะเร็ง เพราะอาจทำให้เกิดการเจ็บปวดได้ แต่สามารถแก้ปวดเมื่อยและสร้างความสบายของร่างกายในส่วนอื่นๆ ได้
๒.๓ บริเวณที่มีสีดำ เพราะเนื้อตายจากหลอดเลือดอุดตันหรือเลือดไปเลี้ยงน้อย การนวดอาจจะทำให้ก้อนเลือดในหลอดเลือดดำเคลื่อนไปอุดหลอดเลือดในปอดหรือสมอง ถ้าจำเป็นต้องนวดให้ทำด้วยความระมัดระวัง
๒.๔ บริเวณที่มีหลอดเลือดอักเสบ
๒.๕ บริเวณที่มีโรคผิวหนัง เพราะอาจทำให้เชื้อแพร่ออกไป
๒.๖ บริเวณที่มีการอักเสบเป็นหนอง
๒.๗ ขณะที่มีไข้
๒.๘ บริเวณที่มีกระดูกหัก ข้อเคลื่อน
๒.๙ บริเวณที่มีเลือดออก
๒.๑๐ บริเวณที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
๒.๑๑ บริเวณที่เป็นฝี
๒.๑๒ กรณีที่เป็นเบาหวาน ห้ามนวดกดรุนแรง หรือใช้เวลานานเกินไป อาจทำให้เกิดอาการช้ำหรือเป็นแผลซึ่งจะหายช้า
อนึ่ง ปกติในการนวดทั่วไปนั้น เรามุ่งหวังให้เกิดผลทางตรงกับการไหลเวียนของโลหิตบริเวณเนื้อเยื่อที่ทำการนวดมากกว่าให้เกิดผลทางอ้อมโดยการตอบสนองของระบบประสาท เช่น การเกิดผลกับอวัยวะภายใน เป็นต้น
ในการนวด ผู้นวดจึงต้องคำนึงถึงข้อควรระวัง เช่น ศีรษะไม่ควรกดหนักที่บริเวณทัดดอกไม้ ในเด็กเล็กที่กระดูกยังต่อไม่ติดเต็มที่ ไม่ควรกดบริเวณกระหม่อม การนวดใบหน้า ไม่ควรนวดรุนแรงที่บริเวณหน้าหูมาก เพราะมีทั้งต่อมน้ำลายและร่างแหประสาทซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ที่คอมีหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองและเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๑๐ ที่ส่วนล่างของคอบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้าขึ้นมามีร่างแหของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขนทั้งสอง เลี้ยงกะบังลม และที่ด้านหน้ามีต่อมไทรอยด์
สรุปคือ ไม่ควรนวดด้านหน้าของคอ ใต้คาง และฐานของคอเหนือกระดูกไหปลาร้าขึ้นมาโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ บริเวณหัวไหล่ตรงจุดกึ่งกลางของกล้ามเนื้อสามเหลี่ยม มีถุงน้ำอยู่ข้างใต้ ข้อพับศอกมีหลอดเลือดใหญ่ทอดผ่าน รักแร้มีเส้นเลือดและปมประสาทมากมาย และด้านในของปลายศอกมีเส้นประสาททอดผ่าน ที่บริเวณกระดูกสะบ้าก็ไม่ควรกดรุนแรงเพราะมีถุงน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ สำหรับอวัยวะอื่นๆ ก็ไม่ควรกดอย่างรุนแรงเช่นกัน
ข้อควรพิจารณาในการบรรเทาอาการและรักษาโรคด้วยการนวดแผนไทย
ในการบรรเทาอาการและรักษาโรคด้วยการนวดแผนไทย ผู้นวดควรจดจำและยึดปฏิบัติข้อควรพิจารณาในการนวดดังต่อไปนี้
๑. ท่านวดโดยปกติอาจให้ผู้ถูกนวดนั่งกับพื้น หรือนอนบนฟูกที่พื้น แล้วผู้นวดนั่งคุกเข่าหรือยืนนวด แต่บางคราวเกิดความจำเป็นอาจให้ผู้ถูกนวดนั่งบนเก้าอี้ได้ แต่ผลการนวดมักจะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะผิดท่าทาง เกิดการเกร็งของมือผู้นวด ผู้นวดอาจปวดเมื่อยเสียเองก็ได้ และบางคราวผู้ถูกนวดอาจระบมด้วย ท่านอนของผู้ถูกนวดโดยปกติใช้ท่านอนตะแคงโดยให้ขาล่างที่ติดกับพื้นเหยียดตรงส่วนขาบนงอเข่า เอาส้นเท้าชิดกับหัวเข่าของขาล่างเพื่อกันล้มคว่ำเวลาถูกนวด ให้ผู้ถูกนวดหนุนหมอนที่มีความหนาพอเหมาะคือ ให้ศีรษะอยู่ในระดับเดียวกับแนวกระดูกสันหลัง
๒. การวางมือ สำหรับผู้นวดควรวางมือ ณ ตำแหน่งที่จะนวดโดยเหยียดแขนตรงทั้งที่ข้อมือ ข้อศอก เพื่อลงน้ำหนักตัวไปตามแขนสู่นิ้วหัวแม่มือ ถ้างอที่จุดใดจุดหนึ่ง ผู้นวดจะต้องใช้แรงนวดมากแต่ได้ผลน้อย เป็นที่สังเกตว่า ไม่ว่าจะอยู่ในท่าใดขณะนวดตลอดเวลาทั้งผู้นวดและผู้ถูกนวดจะต้องอยู่ในท่าที่สบาย ผ่อนคลาย ไม่เกร็ง อีกทั้งผู้นวดต้องมีจิตเป็นสมาธิ ตั้งอกตั้งใจนวดด้วย
ในบางกรณี อาจใช้เพียงนิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วอื่นนิ้วใดนิ้วหนึ่ง หรือนิ้วร่วมฝ่ามือ หรือเพียงฝ่ามือ ส้นมือ หรือสันมือ บางคราวอาจใช้นิ้วมือซ้อนกันเพื่อเพิ่มแรงกดแล้วแต่กรณี
๓. ตำแหน่งนวดหรือจุดนวด ที่เรามักได้ยินกันมาแต่ดั้งเดิมว่า นวดเส้น อาจเป็นตำแหน่งที่กล้ามเนื้อ ร่องระหว่างกล้ามเนื้อ ตามแนวหลอดเลือดแดงหรือเส้นประสาท ความมุ่งหมายก็เพื่อให้กล้ามเนื้อที่แข็งตึงหรือหดเกร็ง (ซึ่งทำให้ไม่สบาย) นั้นเกิดการคลายตัวหรือหย่อนตัว (อาการเจ็บป่วยจะหายไป) และเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง จะทำให้อวัยวะต่างๆ ที่เคยทำหน้าที่หย่อนไป กลับทำงานได้มากขึ้นเป็นปกติ อาจจะอยู่เป็นจุดหรือเป็นแนว ซึ่งผู้นวดจะต้องรู้ว่าตำแหน่งใดรักษาอาการอะไร เป็นตรงไหนควรกดจุดไหน ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์โรคที่ถูกต้องด้วย ถ้าวิเคราะห์ไม่ถูกก็จะนวดไม่ถูกจุดเช่นกัน
๔. แรงที่ใช้นวด ควรนวดเบาๆ ในตอนแรก (ใช้แรงน้อยก่อน) แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะรูปร่างของผู้ถูกนวดและความรุนแรงของโรคมากน้อยเพียงใด หรือเป็นแบบปัจจุบันหรือเป็นมาเรื้อรัง การกดเบาเกินไปจะไม่ได้ผล ส่วนการกดแรงเกินไปจะทำให้เกิดผลเสียในการรักษาและอาจเกิดการระบมได้ การสังเกตน้ำหนักที่ใช้ในการกดนั้น ถ้าเป็นการนวดตนเองให้ถือเอาแรงกดที่ทำให้เริ่มรู้สึกปวด ถ้าเป็นการนวดผู้อื่นควรสอบถามความรู้สึกของผู้ถูกนวด และให้สังเกตสีหน้าอาการด้วย แรงกดที่ถือว่าใช้ได้คือ เมื่อผู้ถูกนวดเริ่มรู้สึกปวด
๕. เวลาที่ใช้นวดแต่ละจุด ผู้นวดกำหนดเวลาที่ใช้นวด ณ แต่ละจุดเป็นคาบ คือ กำหนดเวลาลมหายใจเข้า ออก ๑ รอบเป็น ๑ คาบ ถ้าหายใจสั้นก็เป็นคาบสั้น ถ้าหายใจยาวนับเป็นคาบยาว การกดนานเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคและของคนไข้ด้วย ถ้ากดเวลาสั้นจะไม่ได้ผลในการรักษา ถ้ากดนานเกินไปจะทำให้มือของผู้นวดล้าง่ายและผู้ถูกนวดอาจระบมได้ ควรกดนานพอควร ซึ่งระยะเวลานวดนี้จะต้องอาศัยความชำนาญในการกำหนด แต่มีหลักว่าจะต้องค่อยๆ กด โดยเพิ่มแรงทีละน้อยจนผู้ถูกนวดเริ่มรู้สึกปวด แล้วกดนิ่งไว้ เวลาปล่อยจึงค่อยๆ ปล่อย ไม่ใช่รีบยกมือปล่อยโดยเร็วจะเกิดการระบมได้ด้วย
๖. ลำดับจุดนวด ผู้นวดจะต้องทราบว่าโรคใดควรนวดจุดใดเป็นจุดแรก และจุดต่อไปควรเป็นจุดใดต่อๆ ไป ซึ่งจะต้องมีการศึกษาฝึกฝนค้นคว้าให้ถ่องแท้ว่า การนวดที่ให้ผลดีที่สุดจากไหน ไปไหน จะช่วยให้มีการพัฒนาการนวดให้ก้าวหน้าทั้งยังสร้างความยอมรับนับถือให้แก่การนวดไทยอีกด้วย
๗. การนวดซ้ำหรือย้ำแนวจุด เมื่อทราบว่าโรคใดต้องนวดจุดใดเป็นลำดับแนวก่อนหลังแล้ว ต้องอาศัยความชำนาญและการพิจารณาตรวจสอบว่าควรจะนวดซ้ำอีกกี่รอบ เช่น ๒ รอบขึ้นไป จนถึงไม่เกิน ๖ รอบผู้นวดที่ชำนาญจะนวดรักษาไปพลางตรวจไปพลาง โดยที่ผู้ถูกนวดไม่อาจทราบได้เลย ถ้าอาการที่เฉียบพลันควรนวด ๓ รอบ หากอาการเรื้อรังอาจนวดถึง ๕ และ ๖ รอบ มากกว่านี้จะไม่เป็นผลดี
๘. การนับครั้งนวด หลังจากวิเคราะห์โรคได้อย่างถ่องแท้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร มีอาการเป็นประการใด รุนแรงแค่ไหน ผู้นวดที่ชำนาญอาจบอกได้คร่าวๆ ว่า ควรนวดกี่ครั้ง และใช้เวลานานสักเท่าใดจึงจะทุเลามากน้อยเพียงใด เป็นการบอกให้ผู้ถูกนวดได้ทราบโดยประมาณ แต่การกำหนดให้แน่นอนตายตัวว่าจะต้องหายร้อยเปอร์เซ็นต์ใน ๓ ครั้ง ๕ ครั้ง นับเป็นการผิดพลาดอย่างมาก เพราะการหายป่วยหรือไม่หาย มีปัจจัยมากมายมาเกี่ยวข้องด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย
๙. ระยะถี่ห่างของการถูกนวด บางโรคที่ต้องนวดถี่อาจจะทุกวันในระยะแรกเริ่ม จึงค่อยเว้นระยะนวด การนวดซ้ำทุกวันเป็นระยะเวลานานอาจเป็นผลร้าย มีการระบมอักเสบของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อ เป็นต้น และการเว้นระยะการนวดนานเกินไป ผลดีที่ผู้ถูกนวดควรจะได้รับก็จะไม่ติดต่อกันไม่เกิดผลในการรักษา จึงเป็นเรื่องที่ผู้นวดจะต้องชี้แจงแนะนำให้ผู้ถูกนวดทราบถึงอาการระบมได้ถ้านวดติดต่อกันนานไป การหยุดเว้นระยะเพื่อให้ร่างการรักษาตนเองตามธรรมชาติ นอกจากการนวดสบายๆ เพื่อคลายเครียดเท่านั้นที่สามารถนวดได้ทุกวัน
๑๐. การให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกนวด โดยที่การนวดอย่างเดียวไม่ทำให้ผลของการรักษาดีเต็มที่ได้ ผู้นวดควรแนะนำผู้ถูกนวดถึงหลักการที่ควรกระทำและที่ควรละเว้น
๑๐.๑ สิ่งที่ควรกระทำ ๒ ประการ มีดังนี้
๑) ควรทำจิตใจให้สบาย พยายามไม่ให้มีอารมณ์เครียด กังวล หรือวิตก เพราะจิตที่เคร่งเครียดจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่ายและหายยาก
๒) ควรพักผ่อนและบริหารร่างกาย จะมากน้อยเพียงใด เท่าใด ตอนไหน ท่าไหนบ้าง ก็อยู่ที่ผู้นวดจะพิจารณาบอกกล่าวเป็นรายๆ ไป
๑๐.๒ สิ่งที่พึงละเว้น คือ ของแสลง เรื่องของยา มียาแก้ไข้แก้ปวดก็เป็นสิ่งที่พึงงดเว้น เรื่องของอาหารการกิน เช่น ของหมักดอง เหล้า เบียร์ บุหรี่ หรือหน่อไม้ บางรายอาจเป็นข้าวเหนียวหรืออาหารที่ผู้ถูกนวดรู้ว่าตนเองแพ้ ควรงดโดยเด็ดขาด
๑๑. การติดตามผล ต้องมีการติดตามผลของการนวดแต่ละครั้งว่าได้ผลดีหรือไม่ มากหรือน้อยเพียงใด เพื่อนำมาพิจารณาว่าที่ทำแล้วไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยเพราะเหตุใด เช่น อาจมีการวิเคราะห์โรคผิด การนวดไม่ดีพอในข้อใดบ้าง ต้องทบทวนใหม่เพื่อจะได้ไม่ผิดซ้ำ และเกิดความรู้ ความชำนาญ ความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเกิดผลเสีย ผลเสียมีอย่างไรบ้าง รุนแรงมากน้อยเพียงใด สาเหตุเกิดจากอะไร ต้องหาทางพัฒนาการนวดของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปโดยไม่หยุดยั้ง ถ้าความผิดพลาดหรือบกพร่องอยู่ที่ผู้ถูกนวด ผู้นวดจะต้องชี้แจงให้เขาได้ทราบเพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
๑๒. ข้อพึงระวังและข้อห้าม ผู้นวดจะต้องรู้เขา รู้เรา รู้รอบ และรู้ประโยชน์สี่สถาน จึงจะทำการนวดได้ผลดี
๑๒.๑ รู้เขา คือ รู้เรื่องราวของผู้ถูกนวดเป็นอย่างดีว่าเป็นโรคอะไร มีข้อห้ามนวดหรือไม่ ซึ่งต้องไปศึกษาข้อห้ามทำการนวดให้ถ่องแท้
๑๒.๒ รู้เรา คือ รู้ว่าตนเองมีความรู้ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด สามารถนวดผู้ถูกนวดคนนั้นหายได้หรือไม่ ถ้าเหนือความสามารถควรส่งต่อผู้นวดที่ชำนาญกว่าจึงจะเป็นการถูกต้อง
๑๒.๓ รู้รอบ คือ รู้ว่าจุดใดเป็นจุดอันตราย ควรกดหรือไม่ ควรทำด้วยความระมัดระวังเพียงใด มีความรู้เรื่องอาหารการกิน ของแสลง การออกกำลังกาย การรักษาสุขภาพโดยทั่วไป เพื่อจะได้แนะนำผู้ถูกนวดได้ถูกต้อง รู้ว่าโรคใดนวดไปก็ไม่หาย สุดความสามารถของการนวดรักษา เช่น ไตหย่อน กระเพาะอาหารยาน เป็นต้น หรือต้องรู้ว่าการนวดบางโรคอาจเป็นอันตรายแก่ผู้ถูกนวดได้ เช่น ผู้ที่เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
๑๒.๔ รู้ประโยชน์สี่สถาน คือ รู้จักใช้ประโยชน์ของการนวดแผนไทยทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการป้องกัน ด้านการรักษา และด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการขจัดความเจ็บปวดซึ่งเราต้องสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากในแต่ละปีนั้น การนวดเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถใช้ทดแทนยาแก้ปวดได้
เอกสารอ้างอิง
ก่องกานดา ชยามฤต. สมุนไพรไทย ตอนที่ ๔. กรุงเทพฯ: ชุติมาการพิมพ์, ๒๕๒๘.
__________ . สมุนไพรไทย ตอนที่ ๖.
กรุงเทพฯ: กรมป่าไม้, ๒๕๔๐.
ก่องกานดา ชยามฤต และ ลีนา ผู้พัฒนพงศ์. สมุนไพรไทย ตอนที่ ๗.กรุงเทพฯ: กรมป่าไม้, ๒๕๔๕.
เก่งกาจ งามขจรและธัญญา ผลอนันต์, แปล. สยามจากสายตาหมอบรัดเลย์. วิลเลี่ยม เอส. แบรดเลย์, เขียน.
กรุงเทพฯ: น.ส.พ.เพื่อชีวิต, ๒๕๒๗.
จรัล เกรันพงษ์. ประวัติการแพทย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ๒๕๒๕.
จิราภรณ์ เจริญเดช. สมุนไพรไทย. กรุงเทพฯ: ไทยประกันชีวิต, ๒๕๔๕.
เฉลียว ปิยะชน. อายุรเวท ศาสตร์แห่งชีวิต. กรุงเทพฯ: สถาบันการแพทย์แผนไทย, ๒๕๓๗.
เดอ ลาลูแบร์. จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์. สันต์ ท.โกมุท แปล. พระนคร: สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, ๒๕๑๐.
ทวี วรคุณ. หมอชีวกโกมารภัจจ์. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๕๑.
บุศบรรณ ณ สงขลา. สมุนไพรไทย ตอนที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ: ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, ๒๕๒๕.
ประโชติ เปล่งวิทยา. เภสัชกรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในรอบ ๒๐๐ ปี. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.
ประทีป ชุมพล. เวชศาสตร์ฉบับหลวงกับการบูรณาการการแพทย์แผนไทย: ศึกษากรณีในเขตกรุงเทพมหานคร.
กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.
__________ . ประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย การศึกษาจากเอกสารตำรายา. กรุงเทพฯ: บริษัท อาคีไทพ์ จำกัด, ๒๕๕๑.
ประเทือง อานันธิโก และคณะ. คู่มือการนวดรักษาโรคแบบราชสำนัก. กรุงเทพฯ: สามเจริญพาณิชย์, ๒๕๕๐.
พรทิพย์ เติมวิเศษ. ๒๐๐ ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท: พระกรณียกิจด้านการแพทย์แผนไทย. กรุงเทพฯ:
สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, ๒๕๕๒.
พิชาญ พัฒนา. ความเป็นมาของการแพทย์เมืองไทย. พระนคร: โอเดียนสโตร์, ๒๕๐๙.
เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ประมวลทฤษฏีการแพทย์แผนไทย เล่ม ๑ พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย. กรุงเทพฯ: สถาบันการแพทย์แผนไทย,
๒๕๓๗.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เอกสารการสอนชุดวิชา นวดแผนไทย. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๕๐.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๑.
__________ . พระไตรปิฏก เล่ม ๕. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕.
__________ . พระไตรปิฏก เล่ม ๒๕. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕.
ลีนา ผู้พัฒนพงศ์. สมุนไพรไทย ตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ: นิวธรรมดาการพิมพ์, ๒๕๒๒.
__________ . สมุนไพรไทย ตอนที่ ๓. กรุงเทพฯ: ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, ๒๕๒๕.
__________ . สมุนไพรไทย ตอนที่ ๕. กรุงเทพฯ: ชุติมาการพิมพ์, ๒๕๓๐.
สถาบันการแพทย์แผนไทย. ประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์. กรุงเทพฯ: กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ๒๕๓๗.