งานศึกษาวิจัยเอกสารข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน”ประจำปี ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำหนังสือและเอกสารหายากที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักหอสมุดแห่งชาติและสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาจัดทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
สำหรับเนื้อหาในงานศึกษาวิจัยเอกสารข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมฉบับนี้ เป็นความรู้ ด้านประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองบนดินแดนแหลมมลายูเท่าที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลเดิมที่มีอยู่หนังสือซึ่งแต่งขึ้นมานานถึง ๗๐ ปีแล้ว และนำมาใช้เป็นเนื้อหาประกอบการจัดทำ e –book เพื่อให้ผู้อ่านหนังสือได้ประโยชน์มากขึ้น และได้รับองค์ความรู้ใหม่เท่าที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญคือ สามารถค้นคว้าหาข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง
อนึ่งในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้รับคำแนะนำและข้อมูลด้านมานุษยวิทยาอันเป็นประโยชน์ยิ่งจากอาจารย์พุฒ วีระประเสริฐ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งผู้วิจัยและสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอขอบพระคุณอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วย
รองศาสตราจารย์มยุรี วีระประเสริฐ
ผู้ศึกษาวิจัย
หนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู เป็นเรื่อง ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่แต่งขึ้นในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการสร้างลัทธิชาตินิยม โดยใช้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังความเชื่อให้เกิดในจิตใจของคนไทยว่า ไทยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่มากในอดีต มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลรอบด้าน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเกิดความภูมิใจในชาติของตน เกิดความสำนึกและมีความจงรักภักดีต่อชาติ เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เน้นไปที่อาณาบริเวณแหลมมลายูซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของไทย ว่าในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา บ้านเมืองบนแหลมมลายูทั้งหมดอยู่ใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย
อันที่จริงการแต่งประวัติศาสตร์ชาติไทยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้เกิดในจิตใจของคนไทยนั้นได้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ อันเป็นยุคที่สยามได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐชาติแล้ว รัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงนำแนวความคิดชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศ ทรง เผยแพร่ความรู้ให้คนไทยทราบว่าชาติไทยนั้นเคยเป็นชาติที่รุ่งเรืองยิ่งใหญ่มาแต่โบราณกาล เพื่อกระตุ้นเตือนชาวไทยให้ตระหนักในความสำคัญของชาติ ให้รู้จักรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เกิดสำนึกในภัยจากต่างชาติและช่วยจรรโลงชาติให้เจริญวัฒนาถาวรสืบไป
พระองค์ทรงใช้พระราชนิพนธ์บทละคร และพระบรมราโชวาท เป็นสื่อในการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม สาระสำคัญของบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ เช่น ปลุกใจเสือป่า เทศนาเสือป่า พระร่วงหรือขอมดำดิน เป็นการชี้ให้เห็นความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมในหมู่คนไทยด้วยการทำให้ “ชาวจีน” กลายเป็นศัตรูของชาติ ทรงเห็นว่าชาวจีนจะมาทำลาย “ความเป็นไทย” และจะใช้อิทธิพลครอบครองแผ่นดิน ผลประโยชน์และการดำเนินชีวิตของคนไทย (เนื่องจากในเวลานั้นประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ และในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้สร้างทัศนคติด้านลบแก่ผู้นำไทย ด้วยการก่อความไม่สงบขึ้น เช่น จัดตั้งสมาคมอั้งยี่ และการไม่ยอมรับอำนาจของศาลไทย รวมทั้งการครอบงำเศรษฐกิจของชาวจีน ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้มีการปลุกระดมความเป็นชาตินิยมในหมู่ชาวจีนในประเทศไทย) ส่วนการเผยแพร่พระราชนิพนธ์นั้นก็มีทั้งการพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม รวมทั้งการทำเป็นบทละครให้คนทั่วไปได้ชม
ส่วนการสร้างลัทธิชาตินิยมในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี (ครั้งแรกพ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๘๗ และครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๐) โดยเฉพาะในครั้งแรกซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้านเมืองในขณะนั้นกำลังสับสนวุ่นวายทั้งจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีหลวงวิจิตรวาทการนักชาตินิยมคนสำคัญเป็นผู้แนะนำให้ใช้วิธีปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมให้เกิดขึ้นในจิตใจของชาวไทย ซึ่งเป็นลัทธิชาตินิยมในระบอบประชาธิปไตย ในปีพ.ศ. ๒๔๘๒ ชื่อประเทศถูกเปลี่ยนจาก “สยาม” เป็น “ไทย” นโยบายชาตินิยมในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิเสธความเป็นพื้นบ้านบางอย่างที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่สร้างความด้อยอารยธรรมในสายตาประเทศตะวันตก รัฐบาลนี้จึงได้สร้างวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะกำจัดวัฒนธรรมท้องถิ่นให้หมดสิ้นไป ในการสร้างลัทธิชาตินิยมให้เกิดขึ้นในจิตใจประชาชน รัฐบาลยุคนี้ส่งเสริมให้นำบทเพลงปลุกใจลักษณะต่างๆ รวมทั้งผลงานนวนิยาย ละครอิงประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการ เช่น เรื่องกรุงแตก เลือดสุพรรณ ซึ่งมีการสร้างภาพลักษณ์ของพม่าให้เป็นศัตรูร้ายต่อเอกราชและความเป็นชาติของไทย ถ่ายทอดผ่านทางวิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อต่างๆ ซึ่งละครเหล่านี้ก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนสร้างกระแสความรู้สึกชาตินิยม และปลูกฝังความเชื่อให้แก่ประชาชนในการมองพม่าในด้านลบ จนแทบจะแยกไม่ออกว่าส่วนใด คือ เรื่อง "จริง" หรือ "อิงนิยาย" ๑
ดังนั้นนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่จึงไม่ค่อยให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือกับงานเขียนประวัติศาสตร์ไทยที่แต่งในยุคของการสร้างชาติและปลูกฝังลัทธิชาตินิยมที่ผ่านมา และมักจะวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีลักษณะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องความยิ่งใหญ่ของชาติไทยในอดีตเหนือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงรอบด้านเกินความเป็นจริง เลือกสรรที่จะนำเสนอเรื่องราวในอดีตเพียงบางแง่มุม โดยอ้างอิงจากหลักฐานเพียงบางส่วน ส่งผลให้คนไทยมองตนเองว่าเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงหรือมองผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงว่าด้อยกว่าหรือล้าหลังกว่า (ยกเว้นพม่าที่ซึ่งคนไทยมองว่าเป็นศัตรูร้ายเป็นภัยแก่เอกราชของชาติไทย) ที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศตามมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อตรวจสอบวิเคราะห์หลักฐานข้อมูลที่มีอยู่ให้ครบถ้วนและถี่ถ้วน ก็จะพบว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยที่แต่งขึ้นในยุคดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมาก
๑ ผู้สนใจเรื่องการสร้างรัฐชาติและลัทธิชาตินิยมในประเทศไทยสามารถดู บทความของ ธิกานต์ ศรีนารา สถาบันพระปกเกล้า เรื่อง การส่งเสริมอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ใน http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php และบทความของ ภิศักดิ์ กัลยาณมิตร จากมหาวิทยาลัยราชภัฎ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่อง
ลัทธิชาตินิยมในราชอาณาจักรสยาม(๑) ใน www.Oknation.net/blop/pisak/2009/03/19/entry-6,
ลัทธิชาตินิยมในราชอาณาจักรสยาม(๒) ใน www.Oknation.net/blop/pisak/2009/03/19/entry-7,
ลัทธิชาตินิยมในราชอาณาจักรสยาม(๓)
ใน www. Oknation.net/blop/pisak/2009/03/19/entry-8 และ
ลัทธิชาตินิยมในราชอาณาจักรสยาม(๓)
ใน www. Oknation.net/blop/pisak/2009/03/21/entry-1
เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู
เพลงดนตรีประวัติศาสตร์เป็นรายการวิทยุที่กรมศิลปากรจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยให้แก่ประชาชน ในการจัดทำรายการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้เกิดขึ้นในจิตสำนึกของประชาชน เนื่องจากผู้นำรัฐบาลเชื่อว่าลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิรักชาติ จะเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายที่จะบังเกิดแก่ชาติได้ทุกทาง และจะเป็นเครื่องมือสร้างชาติได้ดีกว่าเครื่องมืออย่างอื่นด้วย การจะปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายมีอยู่ทางหนึ่งที่ดีกว่าทางอื่นๆ คือการปลูกฝังผ่านทางดนตรีและละครซึ่งเป็นงานที่กรมศิลปากรมีทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว
หลวงวิจิตรวาทการ
หลวงวิจิตรวาทการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในเวลานั้น จึงดำเนินการแต่งละครอิงประวัติศาสตร์ เช่น ละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง น่านเจ้า เลือดสุพรรณ ราชมนู พระเจ้ากรุงธน อานุภาพแห่งความรัก ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี ฯลฯ รวมทั้งบทเพลงปลุกใจให้รักชาติ เช่น ตื่นเถิดชาวไทย ต้นตระกูลไทย ฯลฯ และนำมาเผยแพร่ออกทางวิทยุกระจายเสียง
เพลงดนตรีประวัติศาสตร์ เป็นงานส่วนหนึ่งในการ “ปลูกฝังลัทธิชาตินิยม” ของหลวงวิจิตรวาทการในเวลานั้น ผลงานของท่าน คือ เพลงดนตรีประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการ เรื่อง ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย โดยเรียบเรียงคำประพันธ์เป็นร้อยแก้วบรรยายเรื่อง ประวัติความเป็นมาของชนชาติไทย เป็นตอนๆ เมื่อจบลงตอนหนึ่งๆ ก็แต่งคำกลอนสรุปเรื่องราวที่บรรยายเป็นร้อยแก้วมาก่อนสำหรับขับร้องและบรรเลงเพลงดนตรีขับกล่อมสลับกันไป และนำมาเผยแพร่ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความรักชาติแก่ประชาชน เป็นการให้ทั้งความรู้เรื่องชาติไทยและความบันเทิง ต่อมากรมศิลปากรได้นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือเพื่อถวายพระภิกษุสามเณรในเทศกาลเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๑
หนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการ เรื่อง ประวัติความเป็นมาของชนชาติไทย
สำหรับหนังสือ เพลงดนตรีประวัติศาสตร์ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู ๒ ที่นำมาศึกษาวิจัยเล่มนี้ เป็นผลงานที่กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ กองวรรณคดีและกองดุริยางคศิลปะ จัดทำขึ้นสำหรับส่งกระจายเสียงทางวิทยุ ตามนโยบายปลูกฝังลัทธิชาตินิยมในยุคนั้น และนางสาวมาลา จันทนะกนิษฐได้ขออนุญาตจากกรมศิลปากร นำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายเรือเอก ขุนบำราปราชริปู กับนางมาลี จันทนะกนิษฐ ในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๘๕
หนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู
๒ การเขียนสะกดคำการันต์ในส่วนที่คัดลอกมาจากหนังสือเรื่อง เพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ไทยกับแหลมมะลายู เขียนตามแบบที่นิยมในสมัยนั้นๆ ซึ่งต่างไปจากการเขียนสะกดคำการันต์ในปัจจุบัน เช่น คำว่า มะลายู ปัจจุบัน เขียนว่า มลายู
หนังสือ เพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู เล่มนี้มีจำนวน ๓๖ หน้าพิมพ์ ลักษณะคำประพันธ์ เรียบเรียงเป็นร้อยแก้วสลับกับคำกลอนสรุปความที่บรรยายเป็นร้อยแก้วนำมาก่อน เนื้อหาสำคัญของเรื่องสรุปโดยรวมได้ว่า ประเทศไทยกับแผ่นดินแหลมมลายูมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน มีการแต่งงานระหว่างชาวไทยที่อพยพเข้าไปตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานกับชาวมลายูมาแต่โบราณ กลายมาเป็นกลุ่มชน “สามสาม” ในปัจจุบัน ในสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา บ้านเมืองบนแหลมมลายูได้ตกเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรไทย ต่อมาในสมัยหลังเมื่อพระราชอำนาจกษัตริย์ไทยได้ร่วงโรยลงไป จึงถูกชาติตะวันตกที่แผ่ขยายอำนาจเข้ามาล่าเมืองขึ้นในดินแดนตะวันออกไกล คือ ปอร์ตุเกส (ปัจจุบันเขียนโปรตุเกส - ผู้วิจัย) ฮอลันดาและอังกฤษ เข้ายึดครองสลับกันไป จนกระทั่งญี่ปุ่นได้ทำสัญญาร่วมกับรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้ทำการรุกไล่อังกฤษออกไปจากแผ่นดินแหลมมลายู การเรียบเรียงเรื่องราวดังกล่าวข้างต้น ได้แบ่งออกเป็นตอนๆ ในแต่ละตอนมีสาระสำคัญดังนี้
ตอนที่ ๑ กล่าวถึงที่ตั้งและขอบเขตของ แหลมมะลายู (ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า คาบสมุทรมลายู – ผู้วิจัย) ว่าเริ่มตั้งแต่คอคอดกระในเขตจังหวัดชุมพร (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านทับหลี ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร - ผู้วิจัย) ลงไปจนถึงปลายแหลมตันจองคาโต๊ะ หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่าแหลมโรมาเนีย ทางเหนือเป็นภาคใต้ของประเทศไทย ทางใต้มีหมู่เกาะและช่องแคบสิงคโปร์ ทางตะวันออกติดกับทะเลจีน และทางตะวันตกติดกับช่องแคบมะละกา
ตอนที่ ๒ กล่าวถึงที่มาของคำว่า มะลายู ซึ่งมีคำอธิบายต่างกันเป็น ๗ ประการคือ
๑. คำว่า มะลายู เป็นภาษาชะวา แปลว่า หนีไป เหตุที่เรียกบริเวณนี้ว่าแหลมมลายู เกี่ยวข้องกับชีวประวัติของปรเมศวร ผู้หนีภัยจาก ชะวา มาพึ่งราชาสิงคสิงค์แห่งสิงคโปร์ ซึ่ง Joâo de Barros นักประวัติศาสตร์ของโปรตุเกสเล่าไว้ว่า ต่อมาปรเมศวรได้ปลงพระชนม์ราชาแห่งสิงคโปร์และเข้าปกครองสิงคโปร์สืบต่อมา ๕ ปี พระมหากษัตริย์ไทยซึ่งเป็นใหญ่เหนือราชาแห่งสิงคโปร์จึงมีพระบรมราชโองการให้ราชาแห่งปัตตานีขับไล่ปรเมศวรออกไปจากสิงคโปร์ ปรเมศวรจึงหนีข้ามแม่น้ำมัวร์ (หนังสือบางเล่มเขียนเป็นมูอาร์ [Muar]) และรวบรวมประชาชนมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ โดยให้ชื่อว่า มะละกา ซึ่งต่อมาเมืองนี้ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพระมหากษัตริย์ไทย
๒. คำว่า มะลายู เป็นชื่อเดิมของแม่น้ำในภาคใต้ของเกาะสุมาตรา ซึ่งพวก ชะวา ผู้หนีภัยมาในคราวนั้นมาอาศัยอยู่ก่อน ต่อมากลายเป็นชื่อท้องที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน แล้วจึงกลายเป็นชื่อเรียกประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องที่นั้น ภายหลังคำว่ามลายูได้ขยายความหมายกว้างออกไป คือหมายถึงภาษาและเชื้อชาติที่พูดภาษานั้นด้วย
๓. คำว่า มะลายู มาจากชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในปาเล็มบัง ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในตำนานมะลายู เรื่อง สะซาราห์มลายู ในตำนานเรื่องนี้กล่าวถึง แม่น้ำสุไหงมะลายู ซึ่งไหลมาบรรจบในแม่น้ำ มัวร์ตานัง หรือ มัวร์ตนัง ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บน เขาสกันตังมหามิรุ หรือ สกุนตังมหาเมรุ ในประเทศปาราเล็มบัง (คือปาเล็มบังในปัจจุบัน - ผู้วิจัย)
๔. คำว่า มะลายู เป็นชื่อเดิมของเมืองจำบี ในเกาะสุมาตราเหนือเมืองปาเล็มบัง ซึ่งในจารึกตันจอร์ที่จารึกขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๕๗๓ เรียกว่า มลายูร์
๕. เกาะสุมาตรา ก็เคยมีชื่อเรียกว่า ปามลายู ครั้นต่อมาภายหลังประชาชนในเกาะ สุมาตราอพยพข้ามช่องแคบมะละกามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินที่เป็นแหลม จึงเป็นเหตุให้แผ่นดินส่วนนี้ได้ชื่อว่า แหลมมะลายู
๖. คำว่า มะลายู อาจมาจากคำว่า มลย ชื่อของทิวเขาแถบฝั่ง มลบาร์ ทางด้านตะวันตกของแหลมอินเดีย ซึ่งอุดมด้วยไม้จันทร์
๗. คำว่า มะลายู เป็นคำในภาษาทมิฬ ๒ คำผสมกัน หมายความว่า เมืองบนเขา จึงอาจเป็นไปได้ว่าชาวอินเดียใต้ได้อพยพมาทำมาหากินบนเกาะสุมาตราแต่เมื่อครั้งสมัยโบราณ ต่อมาได้อพยพจากเกาะสุมาตราข้ามมาพำนักอาศัยในแผ่นดินแหลม จึงเรียกแหลมนี้ว่า แหลมมลายู
ตอนที่ ๓ กล่าวถึงลักษณะภูมิประเทศของแหลมมลายู และชื่อรัฐต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายู ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู ปหัง ยะโฮร์ เกาะสิงคโปร์ เมืองมะละกา นครีซัมบีลัน เซลังงอร์ เปรัค (ดินดิงส์) ไทรบุรี (รัฐเกดาห์) เกาะปีนัง และสะบรังไปร (ปรอวินซ์ เวลเลสลี่) และปลิศ นอกจากนี้ยัง กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาว มะลายู กับชาวไทยซึ่งมีมาช้านาน เช่น สุลต่านบางรัฐมีชายาเป็นคนไทย มีกลุ่มชน “สามสาม” ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยที่แต่งงานกับชาวมลายู แม้จะหันไปนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังคงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมไทยบางอย่างไว้ นอกจากนี้ยังมีคำในภาษาไทยปะปนอยู่ในภาษามลายูหลายคำ และมีคำในภาษามลายูปะปนอยู่ในภาษาไทย หรือแม้แต่บรรดาศักดิ์ของข้าราชการไทย คือ ลักษมาณา ตำแหน่งเจ้ากรมอาษาจามขวา ก็เป็นนามตำแหน่งของแม่ทัพเรือของมลายูมาแต่โบราณ
ตอนที่ ๔ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมลายูในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา ซึ่งมีใจความสรุปได้ว่า ในสมัยสุโขทัยพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง ได้แผ่พระบรมเดชานุภาพออกไปอย่างไพศาลจนถึงแผ่นดินแหลมมลายู โดยอ้างหลักฐานในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์หงวน ว่าในรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ได้เสด็จยาตราทัพไประงับการจลาจลในแหลมมะลายูภาคใต้ และในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งระบุอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยว่า “เบื้องหัวนอน (ทิศใต้) รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลมหาสมุทรเป็นที่แล้ว” ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ มีประเทศราช ๑๖ เมือง ซึ่งมีเมืองมะละกา เมืองนครศรีธรรมราช บนแหลมมลายู รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะเมืองมะละกานั้น ในพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง (พ.ศ. ๑๙๑๑-๒๑๖๘) กล่าวว่าเมืองมะลากาเป็นเมืองขึ้นของไทย มีหัวหน้าชื่อ ไป๋ลี่สูล่า (คือปรเมศวร) ต้องส่งทองคำเป็นบรรณการแก่ไทยเป็นประจำ ปีละ ๔๐ ตำลึง
นอกจากนี้ยังได้อ้างถึงนักประวัติศาสตร์และกวีคนสำคัญของโปรตุเกส คือ นายมานูเอล เดอ ฟาเรีย อิ ซูซ่า (Manuel De Faria y Souza) (พ.ศ. ๒๑๓๓ - ๒๑๙๒) ซึ่งเขียนเรื่องอาณาจักรไทยไว้ในหนังสือชื่อ Asia Portugueza สรุปความได้ว่า ไทยเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดอาณาจักรหนึ่งในตะวันออก ทางตะวันตกจนอ่าวเบงกอล ทางใต้จดมะละกา และทางตะวันออกจดเขมร พื้นที่มีทั้งภูเขาและที่ราบ มีประชาชนหลายชาติอาศัยอยู่ ประเทศอุดมด้วยช้างม้าวัวควาย มีเมืองท่าชายทะเลหลายแห่ง อยุธยาเป็นพระนครหลวงและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สร้างโบสถ์วิหารใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาองค์ใหญ่ๆ เคร่งครัดในพระศาสนา ชอบวิชาโหราพยากรณ์และชอบศึกษาวิชาดาราศาสตร์ เป็นประเทศที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทอง เงินและแร่โลหะอื่นๆ และยังตั้งข้อสังเกตว่านักประวัติศาสตร์โปรตุเกสท่านนี้คงแต่งเรื่องเมืองไทยขึ้นหลังจากที่ชาวโปรตุเกสได้ยึดเมืองมะละกาไปแล้ว จึงกล่าวว่า ดินแดนทางใต้ของไทยจดมะละกาเท่านั้น และยังได้กล่าวถึงนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของโปรตุเกสอีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงพ.ศ. ๒๐๖๗- ๒๑๒๒ คือ กาโมแองส์ (Luis Vaz de Comëns) ท่านผู้นี้ได้แต่งบทประพันธ์เรื่อง ออส ลูสิอาดัส (Os Lusiadaz) ขึ้นที่เมืองมาเก๊า ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของกาโมแองส์ และมีการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๑๑๕ ในบทประพันธ์นี้มีการกล่าวถึงเรื่องราวของอาณาจักรไทยไว้ด้วย ซึ่งมีความสรุปได้ว่า อาณาเขตของอาณาจักรไทยด้านตะวันตกจดทะเลตั้งแต่ทะวายลงไปทางใต้ถึงตะนาวศรี ไทรบุรีหรือเกดะห์ ลงไปถึงเมืองมะละกา เมืองสิงคโปร์ปลายสุดแหลมแล้วโค้งตามฝั่งทะเลขึ้นมาทางตะวันตกถึง ซีโนซูร์ ปหัง ปัตตานี ดินแดนเหล่านี้อยู่ในเขตประเทศไทยใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย เมื่อจบเรื่องราวที่บรรยายเป็นคำร้อยแก้ว ก็แต่งเป็นคำกลอนสรุปเรื่องราวที่บรรยายไว้ เป็นคำร้องประกอบเพลงบรรเลงที่ประดิษฐ์ทำนองร้องและดนตรีขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า เพลงเลียบแหลมมะลายู
ตอนที่ ๕ กล่าวถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างไทยและมลายูที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในจดหมายเหตุฝรั่งเศส ซึ่งนายลานิเยร์ (Monsieur Lanier) ได้รวบรวมไว้ มีความสรุปว่าไทยส่งสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับเมืองมอญ เมืองจีน เมืองลาว เมืองเขมร และเกาะต่างๆ ตามแหลมมลายู สินค้าที่ส่งไปแลกเปลี่ยนนั้น มีงาช้าง ข้าวสาร ข้าวเปลือก พริกไทย นอแรด หนังสัตว์ต่างๆ รง อ้อย ยาสูบ หนังต่างๆ ฝ้าย พิมเสน ครั่ง ไหม ดีบุก ตะกั่ว ไม้ราคาต่างๆ ไข่มุกด์ เพชร และของอื่นๆ อีกหลายอย่าง เวลานั้นเจ้าแผ่นดินเขมร ยะโฮร์ ปัตตานี ไทรบุรี และยำบี ก็ล้วนแต่เป็นเมืองขึ้นของประเทศไทยทั้งนั้น และทุกๆ ปี ก็ต้องส่งต้นไม้ทองเงินและเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยทุกคน
ตอนที่ ๖ กล่าวถึงความกว้างใหญ่ของอาณาจักรไทยและสรรเสริญพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ไทยว่า กล้าแข็งดุจรัศมีพระอาทิตย์ในเวลาเที่ยง เจริญพระสมภารบารมีอันเพียบพูนดุจพระจันทร์วันเพ็ญ เป็นที่พึ่งพาอาศัยของบรรดาชนชาติต่างๆ และนานาประเทศใกล้เคียง เช่น เรื่องปรเมศวรผู้หลบภัยมาจากชวาได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ ณ เกาะสิงคโปร์ แล้วมาตั้งเมืองมะละกาในภายหลัง ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีฝรั่งชาติ ปอร์ตุเกส เข้ามารบพุ่งเมืองมะละกา และพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้ทรงบัญชาการต่อสู้พวกปอร์ตุเกส อยู่ในกองทัพเมืองมะละกาด้วย
ตอนที่ ๗ กล่าวถึงการสงครามที่เมืองมะละกา (ต่อจากตอนที่ ๖ ) ว่า พวกปอร์ตุเกส จับพระราชโอรสของกษัตริย์ไทยได้ และส่งพระองค์เข้ามาถวายพร้อมเครื่องบรรณาการขออนุญาตตั้งเมืองมะละกาเป็นเมืองท่าค้าขายและขอทำไมตรีกับไทย มีราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีกับ ปอร์ตุเกส ถึงเมืองกัวหลายครั้ง ต่อมาพวก ปอร์ตุเกส เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ที่เข้ามารับราชการก็มี แต่ภายหลังฮอลันดาได้เข้ายึดมะละกาไปจากปอร์ตุเกส และจะยึดเมืองตะนาวศรี และเกาะถลางหรือภูเก็ตด้วย ไทยต้องติดต่อกับฝรั่งนานาชาติ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงมา ไทยเป็นไมตรีกับฝรั่งเศส เพื่อให้ฝรั่งเศสสร้างป้อมที่เมืองยะโฮร์ให้ไว้ต่อสู้กับฮอลันดา ซึ่งนายลานิเยร์ ได้เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เหตุการณ์ภายในราชสำนักไม่ราบรื่นนัก กัปตัน Joâo Tavares Vellez Guerreiro ชาวปอร์ตุเกส เขียนไว้ในจดหมายเหตุการณ์เดินทางเมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๑ ซึ่งตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา ความว่า ยะโฮร์เป็นเมืองขึ้นของไทย เช่นเดียวกับดินแดนทั้งหมดจากตะนาวศรีไปตามฝั่งทะเลจนถึงอ่าวไทย แต่เมื่อพระราชอำนาจกษัตริย์ไทยได้ร่วงโรยลงไป ยะโฮร์ได้แยกตัวออกเป็นอิสระ และในเวลานั้นฝรั่งต่างชาติเช่นอังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส เริ่มแผ่อำนาจล่าเมืองขึ้นในดินแดนตะวันออกไกล แหลมมลายู โดยเฉพาะมะละกา เปรียบเสมือนสาวสวยเป็นที่หมายปองแย่งชิงกัน เริ่มจาก โปรตุเกส ยึดไปจากไทย ฮอลันดายึดไปจากโปรตุเกส อังกฤษยึดไปจากฮอลันดา ฮอลันดายึดบางส่วนกลับคืนมา แล้วอังกฤษก็ยึดคืนไปอีก
ตอนที่ ๘ เป็นการบรรยายความว่า ญี่ปุ่นชาติมหามิตรของไทย ได้ทำสัญญากับรัฐบาลไทยภายใต้ผู้นำคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม และทำการรุกไล่อังกฤษออกไปจากแหลมมลายูได้สำเร็จโดยใช้เวลาเพียงสองเดือนเศษ ซึ่งเป็นชัยชนะอันรวดเร็ว เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีและน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง
จากเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งแต่งขึ้นมานานราว ๗๐ กว่าปีมาแล้ว ดังนั้นจึงมี ข้อความบางส่วนแตกต่างไปจากองค์ความรู้เท่าที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้บางเรื่องก็กล่าวถึงไว้เพียงสั้นๆ ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นและได้รับความรู้เท่าที่ทราบอยู่ในปัจจุบัน จึงขอเพิ่มเติมข้อมูลไว้ ดังนี้
หน้า |
ความรู้ประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงในหนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู |
ข้อมูลและองค์ความรู้ในปัจจุบัน |
๔-๖ |
ชีวประวัติปรเมศวรผู้ก่อตั้งเมืองมะละกา หนังสือบรรยายว่า ปรเมศวรผู้นี้ปรากฏตามตำนานเมืองมะละกาของปอร์ตุเกสว่า เมื่อราชาปราริสแห่งอาณาจักรชะวาตะวันออกสิ้นพระชนม์แล้ว สงครามระหว่างพวกราชวงศ์ก็เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ขุนนางและเจ้านายชั้นสูงหลายคน หนีออกจากประเทศ ในบรรดาผู้ที่หลบหนีภัยเหล่านี้ มีท่านปรเมศวรอยู่ผู้หนึ่งได้หนีมาพึ่งราชาสิงคสิงค์หรือสังฆยังสิงค์แห่งสิงคโปร์ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากราชาแห่งสิงคโปร์และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งการงานชั้นสูง และ Joâo de Barros (ค.ศ. ๑๔๙๐–ค.ศ.๑๕๗๐)นักประวัติศาสตร์คนสำคัญผู้หนึ่งของปอร์ตุเกสได้กล่าวไว้ว่า ปรเมศวรได้ปลงพระชนม์เจ้าสิงคโปร์คนเก่าเสีย แล้วแย่งบัลลังก์เข้าปกครองสิงคโปร์อยู่ ๕ ปี พระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ของราชาสิงคโปร์ที่ถูกปลงพระชนม์นั้น จึงมีพระราชโองการสั่งให้ราชาแห่งปัตตานีในเวลานั้นซึ่งเป็นภารดาของราชาที่ถูกปลงพระชนม์ขับไล่ปรเมศวรออกไปเสียจากสิงคโปร์ เป็นการลงโทษ และปรเมศวรได้หนีมายังแม่น้ำมัวร์ (หนังสือปัจจุบันเขียนเป็นแม่น้ำมูอาร์ [Muar] –ผู้วิจัย) แล้วรวบรวมประชาชนพลเมืองตั้งเป็นเมืองขึ้นใหม่ โดยให้ชื่อว่า มะละกา นับเป็นราชาองค์แรกของเมืองมะละกา และเป็นเมืองขึ้นของพระมหากษัตริย์ไทยต่อมา |
ชีวประวัติปรเมศวรผู้ก่อตั้งเมืองมะละกา แหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ คืองานเขียนประวัติศาสตร์มาเลเซียที่มีการอ้างถึงบ่อยๆ สองเรื่อง แหล่งข้อมูลแรก คือ เรื่อง Suma Oriental ของ โตเม ปิเรส (Tomé Pires) ชาวโปรตุเกสที่เข้ามาเป็นผู้ควบคุมบัญชีและควบคุมการซื้อยาอยู่ที่มะละกาในปีพ.ศ. ๒๐๕๕ ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า เจ้าชายปรเมศวรผู้สร้างเมืองมะละกา สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา พระองค์เสด็จออกจากสุมาตรา เนื่องจากการบุกรุกของกองทัพชวาและหนีไปยังเตมาสิก(สิงคโปร์) พร้อมด้วยพวกโอรังลาอุต ๓๐ คน หลังจากประทับอยู่สิงคโปร์ได้ ๘ วัน เจ้าชายได้สังหารหัวหน้าท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ที่สวามิภักดิ์ต่ออยุธยา และสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นผู้ปกครองเตมาสิก แต่หลังจากนั้นอีก ๕ ปีกองกำลังจากอยุธยาก็ขับไล่ พระองค์และบริวารออกไปจากเตมาสิก พระองค์จึงเสด็จหนีไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำมูอาร์ อีก ๕ ปีต่อมา เจ้าชายปรเมศวรจึงย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่มะละกาซึ่งเดิมนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ วันหนึ่งโอรสของเจ้าชายปรเมศวร ซึ่งมีนามว่า อิสกันดาร์ ชาห์ กำลังออกไปล่าสัตว์ แต่ขณะเข้าไปใกล้เนินเขามะละกา กระจงที่สุนัขของพระองค์ไล่ล่าได้หันกลับมาทำร้ายสุนัขทันที อิสกันดาร์จึงขอประทานอนุญาตพระบิดาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่น โดยสร้างวังที่ประทับอยู่บนยอดเขาซึ่งได้กลายเป็นพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์แห่งมะละกาสืบมา แหล่งข้อมูลที่สอง คือ ซจาเราะห์ มลายู หรือพงศาวดารมลายู (แม้จะมีเนื้อหาพิสดารที่เกินความเป็นจริงหลายตอนแต่นักประวัติศาสตร์ก็ถือว่าเป็นงานที่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ) ได้กล่าวถึงเรื่องการก่อตั้งเมืองมะละกาว่า มีเจ้าชายสามองค์ (ซึ่งพระบิดาของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งเปอร์เซียกับเจ้าหญิงแห่งอินเดีย ส่วนพระมารดานั้น เป็นเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรใต้ทะเลสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงแห่งปาเล็มบังกับกษัตริย์โจฬะจากอินเดีย) มาปรากฎพระองค์ขึ้นที่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในปาเล็มบัง เจ้าชายองค์สุดท้องซึ่งมีพระนามว่า ศรี ตรี บูวานา ได้รับเชิญให้ขึ้นครองราชย์แทนผู้ปกครองเดิมซึ่งสละราชสมบัติให้เพราะยอมรับในเชื้อสายแห่งราชวงศ์กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของเจ้าชายผู้มาใหม่ หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประมุขแห่งปาเล็มบังแล้วก็ทรงทำสัตย์สาบานว่าจะปกครองบ้านเมืองอย่างยุติธรรม ถ้าผู้ปกครองทำให้ประชาชนแม้แต่คนเดียวต้องได้รับความอัปยศอดสู ก็เป็นเครื่องหมายว่าบ้านเมืองจะถูกทำลายโดยพระผู้เป็นเจ้า ต่อมาเจ้าชาย ศรี ตรี บูวานา ได้เสด็จออกจากปาเล็มบังเพื่อหาที่ตั้งเมืองหลวงใหม่ และในขณะที่กำลังแสวงหาทำเลที่เหมาะสมอยู่นั้น เจ้าชายศรี ตรี บูวานา ทอดพระเนตรข้ามมหาสมุทรเห็นเกาะเตมาสิก พระองค์จึงตัดสินพระทัยสร้างนครขึ้นบนเกาะแห่งนี้ และทรงตั้งชื่อนครใหม่นี้ว่า สิงคปุระ เพราะทรงมองเห็นสัตว์ประหลาดแวบหนึ่งบนเกาะ ซึ่งเจ้าชายทรงคิดว่าเป็นสิงโต หลังจากนั้นสิงคปุระก็เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นนครใหญ่ซึ่งไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของชวา มีเชื้อสายของพระองค์ ปกครองบ้านเมืองสืบมาอีก ๕ ชั่วอายุคน อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยกษัตริย์แห่งสิงคปุระ ลำดับที่ ๔-๕ ทรงลงโทษข้าแผ่นดินอย่าง อยุติธรรมผิดคำสาบานที่บรรพชนทำไว้ ทำให้ในที่สุดบ้านเมืองก็หายนะเพราะกองทัพจากชวาบุกเข้าโจมตีบ้านเมือง สุลต่านอิสกันดาร์กษัตริย์แห่งสิงคปุระในเวลานั้น ต้องหนีไปมูอาร์ แต่พระองค์ถูกตะกวดขับไล่จนต้องหนีไปอีกจนถึงแม่น้ำเบอร์ตัม และประทับพักอยู่ที่นั่น ในขณะที่สุลต่านอิสกันดาร์ออกไปล่าสัตว์ สุนัขล่าสัตว์ของพระองค์ถูกกระจงสีขาวเตะ พระองค์จึงมีพระดำริว่า ที่นี่เป็นสถานที่ดีเป็นสถานที่ที่แม้แต่กระจงยังสู้เต็มที่ และขณะนั้นพระองค์ประทับอยู่ใต้ต้นมะละกา (Melaka) จึงทรงตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า มะละกาตามชื่อต้นไม้ จะเห็นได้ว่าแหล่งข้อมูลจากเอกสารต่างถิ่นและเอกสารพื้นเมืองคือพงศาวดารมลายูแม้จะมีเรื่องราวรายละเอียดต่างกันแต่มีเรื่องที่ตรงกันคือผู้สร้างเมืองมะละกาสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตรา และออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เตมาสิกก่อนที่จะมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่มะละกา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในแหล่งข้อมูลแรกซึ่งเป็นเอกสารต่างถิ่น ไม่ให้ความสำคัญกับเตมาสิกมากนัก ในขณะที่แหล่งข้อมูลที่สองซึ่งเป็นเอกสารพื้นเมืองให้ความสำคัญกับเตมาสิกว่าเป็นบ้านเมืองใหญ่มานับเป็นร้อยปีก่อนการก่อตั้งเมืองมะละกา นอกจากนี้ยังมีเอกสารอื่นๆ ที่กล่าวคล้ายกันว่า เตมาสิก ในเวลานั้นอยู่ใต้อำนาจของสยาม แต่ในพงศาวดารมลายูไม่กล่าวถึงสยามเลย ส่วนการศึกษาโบราณคดีในสิงคโปร์พบร่องรอยหลักฐานเก่าสุดมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ คือไม่เก่าไปกว่าช่วงเวลาการตั้งเมืองมะละกา และเป็นหลักฐานที่แสดงถึงอำนาจของอาณาจักรมัชปาหิตที่มีเหนือดินแดนแห่งนี้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง สิงคโปร์ในบทที่ ๔ ของเอกสารงานวิจัยนี้) |
๑๖-๑๗ |
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมลายูในสมัยสุโขทัย หนังสือกล่าวว่า ในสมัยโบราณเมื่อประมาณราว เกือบ ๗๐๐ ปีมาแล้ว พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์พระร่วงแห่งพระราชอาณาจักรสุโขทัย ได้แผ่พระบรมเดชานุภาพออกไปอย่างไพศาล จนแผ่นดินแหลมมลายูก็อยู่ในพระราชอาณาเขตต์ด้วย จนปรากฏในจดหมายเหตุจีนแห่งราชวงศ์หงวนว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๘ อันเป็นปีที่ ๑๘ ในรัชชกาลพ่อขุนรามคำแหงนั้น พระองค์ได้เสด็จยาตราทัพลงไประงับการจลาจลในแหลมมลายูทางภาคใต้ จนถึงได้มีจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช บอกอาณาเขตต์ภาคใต้ตกถึงทะเลว่า “เบื้องหัวนอน(ทิศใต้) รอดคนที, พระบาง, แพรก, สุพรรณภูมิ, ราชบุรี, เพ็ชรบุรี, นครศรีธรรมราช ฝั่งทะเลมหาสมุทรเป็นที่แล้ว” |
ข้อสรุปใหม่เกี่ยวกับเรื่องอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัยเป็นเพียงรัฐไทยรัฐหนึ่งในบรรดารัฐไทยที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งแวดล้อมด้วยบ้านเมืองและแว่นแคว้นน้อยใหญ่ และเมื่อแรกสถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานีนั้น อาณาเขตของสุโขทัยยังไม่กว้างใหญ่นัก มีเมืองใหญ่และมีความสำคัญเกือบจะเท่ากับเมืองสุโขทัยราชธานี คือ เมืองศรีสัชนาลัย นอกนั้นก็เป็นหัวเมืองขึ้นที่ตั้งอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำปิง ยม และน่านอีกไม่กี่เมือง ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง สุโขทัยจึงมีอำนาจมากขึ้น แต่คงมิได้มีอาณาเขตกว้างขวางดังที่ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ระบุไว้ นักวิชาการรุ่นใหม่เชื่อว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นเพียงการสรรเสริญพระบารมีของพ่อขุนรามคำแหงว่าได้แผ่ขยายไปไกลทั่วทุกสารทิศ หรือเป็นการกล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆ ที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับแคว้นสุโขทัยในรัชสมัยของพระองค์เท่านั้น ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อถกเถียงกันในปัจจุบันว่า ศิลาจารึกสุโขทัยหลักนี้ มิได้จารึกขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า สุดเขตแดนใต้ของรัฐสุโขทัย น่าจะอยู่แค่เมืองพระบาง (คือนครสวรรค์เท่านั้น) |
๑๘ |
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมลายูสมัยอยุธยา หนังสือกล่าวว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของประเทศไทย (พ.ศ.๑๘๙๓) ก็มีระบุถึงเมืองขึ้นประเทศราชของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ไว้ในพระราชพงศาวดารว่า “ครั้งนั้น ประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือเมืองมะละกา, เมืองชะวา, เมืองตะนาวศรี, เมืองนครศรีธรรมราช, เมืองทะวาย, เมืองเมาะตะมะ, เมืองเมาะลำเลิง” ดังนี้เป็นต้น ในกฏมณเฑียรบาลซึ่งเข้าใจกันว่าได้ตั้งขึ้นในพ.ศ. ๑๙๐๓ หรือพ.ศ. ๑๙๗๘ ก็ได้ระบุไว้ว่า “ฝ่ายกษัตริย์แต่ได้ถวายดอกไม้ทองเงินนั้น......เมืองใต้ (คือ) เมืองอุยองตะหนะ, เมืองมะละกา, เมืองมลายู, เมืองวรวารี ๔ เมือง......ถวายดอกไม้ทองเงิน” .......... ตามที่ได้กล่าวมานี้ ท่านผู้ฟังทั้งหลายย่อมจะมองเห็นได้ว่าพระราชอาณาจักรไทยสมัยกรุงสุโขทัยก็ดี ในสมัยกรุงศรีอยุธยายุคแรกก็ดี กว้างขวางมหึมา พระมหากษัตริย์ของไทยสมัยนั้นๆ ได้แผ่พระบรมเดชานุภาพใหญ่หลวงและมีพระบารมีปกแผ่ไปอย่างไพศาลในแผ่นดินแหลมทอง |
ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองมะละกาและ ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเมืองมะละกาเท่าที่ทราบในปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของเมืองมะละกา เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ จนกระทั่งราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เจ้าชายปรเมศวร จึงมาสร้างบ้านเมืองขึ้นและตั้งชื่อว่ามะละกา ดังนั้นในสมัยอยุธยาแรกเริ่ม คือในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๑๙๑๒ ) เมืองมะละกายังเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ เท่านั้น แต่หลังจากที่เจ้าชายปรเมศวรสร้างเมือง มะละกาขึ้นแล้ว จากหมู่บ้านเล็กๆ ก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมืองท่าใหญ่และสำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ในช่วงราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ มีหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐว่า รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในปี พ.ศ. ๑๙๘๙ แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมะละกา (แต่ไม่รายงานเรื่องผลของการยกทัพไปครั้งนี้) แต่ในประวัติศาสตร์มาเลเซียซึ่งเป็นผลงานของนักประวัติศาสตร์มาเลเซียและนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมะละกาโดยอ้างจากพงศาวดารมลายู กล่าวว่าในสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ (พ.ศ. ๑๙๘๙- ๒๐๐๒) ทางอยุธยาได้ส่งกองทัพมาทางบกจากปาหังเพื่อโจมตีมะละกา แต่ด้วยความช่วยเหลือของผู้นำท้องถิ่นที่อยู่รอบนอกได้รวมกำลังกันช่วยสุลต่านแห่งมะละกา กองทัพอยุธยาต้องถอยหนีไป แต่ไม่นานอยุธยาก็ยกทัพมาตีมะละกาอีกครั้งโดยทางทะเล แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้กลับไป แต่หลังจากที่กองทัพอยุธยากลับไปแล้ว สุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ แห่งมะละกาได้ส่งคณะทูตไปสร้างสัมพันธไมตรีกับอยุธยาทันที พร้อมทั้งส่งคณะทูตไปยังประเทศจีนเพื่อให้จีนรับรองฐานะของพระองค์ด้วย จากนั้นมะละกาก็ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความเจริญสูงสุดเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในภูมิภาค ที่มีทั้งความมั่งคั่งและมีอำนาจครอบคลุมแหลมลายูตอนล่างทั้งหมด รวมไปถึงพื้นที่บนเกาะสุมาตราส่วนใหญ่ด้วย |
หน้า |
ความรู้ประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงในหนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู |
ข้อมูลและองค์ความรู้ในปัจจุบัน |
๑๙ |
เรื่องมะละกาส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ไทย ในหนังสือเล่าว่า ปรากฏตามพงศาวดารแห่งราชวงศ์เหม็งของจีน (พ.ศ. ๑๙๑๑ – ๒๑๘๖) เล่าว่า ในปี พ.ศ. ๑๙๔๐ พระจักรพรรดิของจีนได้ส่งขันทีชื่อยิ่นฉิ่งเป็นทูตมายังเมืองมะละกาพร้อมด้วยผ้าไหมลายยกดอกและกล่าวว่า “ประเทศนี้(มะละกา) ไม่มีพระมหากษัตริย์และไม่เรียกว่าอาณาจักร แต่เป็นเมืองขึ้นของประเทศไทย ซึ่งต้องส่งทองคำเป็นบรรณาการแก่ไทยเป็นประจำปี ปีละ ๔๐ ตำลึง หัวหน้าชื่อไป๋ลี่สูล่า (ปรเมศวร) มีความพอใจมาก” |
ข้อมูลจากหลักฐานอื่นๆ ในประวัติศาสตร์มาเลเซียกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับจีนว่า ในช่วงราชวงศ์หมิงตอนต้น ในปี พ.ศ. ๑๙๔๖ กองทัพเรือจีนนำโดยนายพลเรือหยินจึง เดินทางจากเมืองจีนถึงมะละกาพร้อมทั้งของกำนัลมาถวายปรเมศวร พร้อมคำรับรองจากจักรพรรดิจีนว่าปรเมศวรเป็นประมุขของมะละกา เจ้าชายปรเมศวรจึงส่งทูตไปเมืองจีนในปีเดียวกันนั้นเพื่อขอให้จีนพิทักษ์คุ้มครองมะละกาให้พ้นจากการคุกคามของอยุธยาซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อใหร่ก็ได้ ต่อจากนั้นนายพลเรือเช็ง โฮ หรือเจิ้งเหอ ของจีนเดินทางมามะละกาหลายครั้ง และในปี พ.ศ. ๑๙๕๔ ได้พาปรเมศวรไปจีนเพื่อเข้าเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการแด่จักรพรรดิจีนด้วยพระองค์เอง |
๒๑ |
หนังสือกล่าวอ้างถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทยจากงานเขียนชื่อ ออส ลูสิอาดัส ของนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโปรตุเกสท่านหนึ่งคือกาโมแองส์ (พ.ศ. ๒๐๖๐-๒๑๒๒) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๕ ได้พรรณนาความกว้างใหญ่ของอาณาจักรไทยทางใต้ไว้ ซึ่งแปล รวมความว่า อาณาเขตต์ของประเทศไทยมีเส้นพรมแดนจดทะเลทางทิศตะวันตกตั้งแต่ทะวายลงไป ทางใต้ถึงตะนาวศรี ไทรบุรีหรือเกดาห์ เรื่อยลงไปเมืองมะละกาถึงสิงคโปร์ปลายสุดแหลมแล้วโค้งตามฝั่งทะเลขึ้นมาทางตะวันตกถึงซีซูโนร์ ปหัง ปัตตานี ดินแดนเหล่านี้อยู่ในเขตต์ประเทศไทยใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย |
ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน คำเรียกประเทศไทยใช้ไม่ถูกต้องกับยุคสมัย เพราะชื่อประเทศไทยเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนที่จะมีการแต่งเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องนี้ขึ้นสองสามปี ยุคสมัยที่หนังสือกล่าวถึงตอนนี้คือสมัยอยุธยา ซึ่งชาวต่างประเทศมักเรียกว่าสยาม และที่สำคัญในบทความของกาโมแองส์ ก็เรียกชื่อประเทศว่า สยาม ด้วย นอกจากนี้ถ้าพิจารณาถึงช่วงเวลาที่กาโมแองส์แต่งหนังสือเล่มนี้และพิมพ์เผยแพร่ออกมา เป็นช่วงที่เมืองมะละกาตกอยู่ภายใต้การครอบครองของโปรตุเกสแล้ว (โปรตุเกสเข้ายึดครองมะละกาได้ในปี พ.ศ. ๒๐๕๔) ส่วนทางอยุธยาเองก็มีปัญหาทำสงครามกับพม่า และเสียกรุงแก่พม่าครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๑๑๒ และตกอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของพม่าจนถึง พ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงประกาศอิสรภาพ หลังจากนั้นพระองค์ก็ทำสงครามขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ในพงศาวดารไทยไม่ได้กล่าวถึงการขยายไปทางบ้านเมืองในแหลมลายูเลย |
๒๖ |
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมลายู ซึ่งหนังสือ กล่าวว่า “ เมื่อชนชาติฝรั่งเศสได้มาค้าขายในด้านตะวันออกไกลอีกชาติหนึ่งและได้มามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุเรื่องเมืองไทยไว้มาก ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างไทยและมลายู ก็ปรากฏใน จดหมายเหตุฝรั่งเศสซึ่งนาย Lanier รวบรวมไว้ว่า ประเทศไทยได้ “ส่งสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับเมืองมอญ เมืองจีน เมืองลาว เมืองเขมร และเกาะต่างๆ ตามแหลมมะลายู สินค้าที่ส่งไปแลกเปลี่ยนนั้น มีงาช้าง ข้าวสาร ข้าวเปลือก พริกไทย นอแรด หนังสัตว์ต่างๆ รง อ้อย ดีบุก ตะกั่ว หนังต่างๆ ฝ้าย พิมเสน ครั่ง ไหม ดีบุก ตะกั่ว ไม้ราคาต่างๆ ไข่มุกด์ เพ็ชร และของอื่นๆ อีกหลายอย่าง เวลานั้นเจ้าแผ่นดินเขมร ยะโฮร์ ปัตตานี ไทรบุรี และยำบี (จัมบิ [Jambi] –ผู้วิจัย) ก็ล้วนแต่เป็นเมืองขึ้นของประเทศไทยทั้งนั้น และทุกๆ ปีก็ต้องส่งต้นไม้ทองเงินและเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระมหากษัตริย์ไทยแห่งประเทศไทยทุกคน” |
ข้อเท็จจริงจากข้อมูลหลักฐานอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การใช้คำว่าประเทศไทยในความตอนนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพิ่งใช้เป็นชื่อเรียกประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่แต่งเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องนี้ขึ้น ยุคสมัยที่กล่าวถึงนี้คือสมัยอยุธยา ซึ่งนาย Lanier เรียกชื่อประเทศในเวลานั้นว่า ประเทศสยาม นอกจากนี้จดหมายเหตุของนาย Lanier เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นและพิมพ์เผยแพร่ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ โดยตรวจค้นจดหมายเหตุเก่าซึ่งแต่งขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ว่าด้วยเรื่องที่ฝรั่งเศสเป็นไมตรีกับไทยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วนำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ การแต่งโดยเก็บความจากจดหมายเหตุเก่าซึ่งมีหลายฉบับและกล่าวความแตกต่างกัน นาย Lanier เองไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองจึงต้องเลือกเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้นในจดหมายเหตุที่เขาแต่งขึ้นจึงมีความคลาดเคลื่อนอยู่หลายประการ ดังเช่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับไทยและมลายูที่เขากล่าวถึงนั้น เป็นช่วงสมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ซึ่งถือเป็นช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของกรุงศรีอยุธยาช่วงหนึ่ง แต่อำนาจการเมืองของอยุธยาที่ขยายลงไปทางใต้นั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่น่าจะลงไปถึงยะโฮร์ซึ่งอยู่ตอนล่างสุดของคาบสมุทรมลายู และจัมบิรัฐมลายูอีกรัฐหนึ่งซึ่งบนเกาะสุมาตรา เพราะในเวลานั้นยะโฮร์เป็นรัฐหนึ่งที่มีอำนาจเศรษฐกิจที่เข้มแข็งภายใต้การสนับสนุนของฮอลันดา และจัมบิก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของยะโฮร์ด้วย แม้ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๒๑๖ ยะโฮร์ถูกจัมบิยกทัพเข้าโจมตี ซึ่งทำให้ยะโฮร์เสื่อมลง แต่ไม่นานยะโฮร์ก็ฟื้นตัวขึ้นใหม่ ส่วนเมืองปัตตานีในเวลานั้นคงยอมรับในอำนาจของอยุธยาอยู่ แต่ต่อมาปัตตานีได้ประกาศตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาซึ่งตรงกับสมัยพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๕) หลังจากนั้นปัตตานีก็เป็นอิสระจากอยุธยาต่อเนื่องมาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ มีแต่ไทรบุรีหรือเกดะห์ ที่ส่งดอกไม้ทองเงินเข้ามาถวายแด่กษัตริย์ไทยจนกระทั่งอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ |
๒๙-๓๐ |
เรื่องการทำสงครามกับเมืองมะละกา หนังสือกล่าวว่า ในบางรัชชกาลเมื่อว่างจากเหตุการณ์ทางเหนือแล้ว พระมหากษัตริย์และรัฐบุรุษของไทย ก็หันมาเอาใจใส่กับดินแดนและรัฐต่างๆ ในภาคใต้ เช่น ในรัชชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็ได้ทรงจัดการเมืองมะละกา ต่อมาในรัชชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีพวกฝรั่งชาติปอร์ตุเกส เข้ามารบพุ่งรุกรานเมืองมะละกา มีจดหมายเหตุปอร์ตุเกสเองกล่าวว่า โอรสของพระมหากษัตริย์ไทย (เข้าใจว่าพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒) ได้ทรงบัญชาการรบต่อสู้กับพวกปอร์ตุเกสอยู่ในกองทัพเมืองมะละกาด้วย........ แต่ภายหลังพระราชโอรสองค์นี้ถูกพวกโปร์ตุเกสจับได้ เมื่อรู้ว่าเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์จึงจัดส่งตัวเข้ามาถวายพร้อมด้วยเครื่องบรรณาการขออนุญาตตั้งเมืองมะละกาเป็นเมืองท่าค้าขายและได้ทำไมตรีกับไทย ............ |
ข้อเท็จจริงในหลักฐานเอกสารอื่นๆ มีหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐว่า รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในปี พ.ศ. ๑๙๘๙ แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมะละกา (แต่ไม่รายงานเรื่องผลของการยกทัพไปครั้งนี้) ในขณะที่หลักฐานเอกสารของมาเลเซียเองกล่าวว่า ในสมัยสุลต่าน มูซัฟฟาร์ชาห์ (พ.ศ. ๑๙๘๙ - ๒๐๒๐) ซึ่ง ร่วมสมัยกับรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑- ๒๐๓๑) ทางอยุธยาได้ส่งกองทัพมาทางบกจากปาหังเพื่อโจมตีมะละกา แต่ด้วยความช่วยเหลือของผู้นำท้องถิ่นที่อยู่รอบนอกได้รวมกำลังกันช่วยสุลต่านแห่งมะละกา กองทัพอยุธยาต้องถอยหนีไป แต่ไม่นานอยุธยาก็ยกทัพมาตีมะละกาอีกครั้งโดยทางทะเล แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้กลับไป แต่หลังจากที่กองทัพอยุธยากลับไปแล้ว สุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ แห่งมะละกาได้ส่งคณะทูตไปสร้างสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ส่วนเรื่องพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงบัญชาการรบต่อสู้กับพวกโปร์ตุเกสอยู่ในกองทัพเมืองมะละกาซึ่งความในหนังสือสันนิษฐานว่าคือพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นั้น ยังตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้ จากข้อมูลหลักฐานเท่าที่ทราบในปัจจุบัน โปรตุเกสยกทัพเข้าโจมตีมะละกาและยึดครองมะละกาได้ในปี พ.ศ. ๒๐๕๔ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔ - ๒๐๗๒) แต่เป็นที่สังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องระหว่างอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กับเมืองมะละกานั้น ไม่มีการกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารอยุธยาเล่มใดเลย แต่ในบันทึกของโปรตุเกส ได้กล่าวถึงเรื่องการสงครามระหว่างอยุธยากับมะละกาซึ่งระบุปี พ.ศ. ๒๐๔๓ ไว้ด้วย ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยกล่าวว่า กษัตริย์สยามรับสั่งให้พระยานครศรีธรรมราช (Poyoa of the city of lugor) ยกกองทัพเรือไปตีมะละกาแต่ต้องพ่ายหนี ทางอยุธยาส่งกองทัพหนุนมาช่วย เดินทัพมาทั้งทางบกและทางทะเล ทั้งนี้เพื่อปราบเมืองปาหังที่เข้าข้างฝ่ายมะละกาด้วย กองทัพที่ยกไปเพลี่ยงพล้ำอีกครั้งหนึ่ง ทางอยุธยาจึงได้ส่งกองทหารมาช่วยอีก ๒ กอง กองที่ ๑ เดินทางบกมาตามเส้นทางกลันตันพร้อมด้วยกองเรือจำนวนหนึ่งมาทางชายฝั่งตะวันออก ขณะที่กองทัพอีกกองหนึ่งให้ยกมาจากเมืองตะนาวศรีและทวาย เป็นกองทัพเรือมาทางชายฝั่งทะเลตะวันตก แต่ทางมะละกาสามารถต้านทานและตีทัพอยุธยาแตกพ่ายไป (ดูรายละเอียดใน มานพ ถาวรวัฒน์สกุล, ขุนนางอยุธยา, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๖, หน้า ๗๘) ดูเหมือนว่าศึกครั้งนี้ใหญ่มากแต่ไม่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารอยุธยาเล่มใดเลย ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นั้น มีหลักฐานที่น่าสนใจอยู่ในจดหมายเหตุโปรตุเกส คือ ในจดหมายเหตุเรื่อง Commentaries of the Great Afoxso de Albuquerque เขียนโดย บราซ เดอ อัลบู เคอร์ก ซึ่งเป็นบุตรของอาฟองโซ อัลบูเคอร์ก แม่ทัพผู้ยกทัพเข้ายึดครองมะละกาในปี พ.ศ.๒๐๕๔ จดหมายเหตุได้บันทึกว่าในปีเดียวกันนั้นที่อัลบูเคอร์กได้ส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยาในนามของกษัตริย์โปรตุเกส สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงต้อนรับราชทูตอย่างสมพระเกียรติ และได้ส่งราชทูตสยามไปยังมะละกาพร้อมด้วยพระราชสาส์น ยอมรับมิตรภาพระหว่างโปรตุเกสและกรุงศรีอยุธยา และทรงยินดีที่จะค้าขายกัน หลังจากนั้นโปรตุเกสส่งคณะทูตมายังอยุธยาในรัชกาลนี้อีกอย่างน้อย ๒ ครั้ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดี (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน บทความของ พัฒนพงศ์ ประคัลภ์พงศ์ เรื่อง “เอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวกับรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (๑๔๙๑- ๑๕๒๙)” ในเอกสารงานสัมมนาวิชาการ ๕๐๐ ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศไทยกับโปรตุเกสและชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ ๒๐๕๔ – ๒๕๕๔ เล่มที่ ๘, กรุงเทพฯ,มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, ๒๕๕๕) |
หน้า |
ความรู้ประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงในหนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู |
ข้อมูลและองค์ความรู้ในปัจจุบัน |
๓๑ |
เรื่องสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นไมตรีกับฝรั่งเศสและให้ฝรั่งเศสไปสร้างป้อมในเมืองยะโฮร์ให้ไว้ต่อสู้กับฮอลันดา โดยอ้างเรื่องราวในจดหมายเหตุของนาย Lanier หนังสือ กล่าวว่า พวกฮอลันดามีความประสงค์อยากจะได้เกาะถลางและเมืองตะนาวศรีก็น่ากลัวจะต้องตกไปอยู่ในเงื้อมมือของพวกฮอลันดา เพราะเหตุเหล่านี้ท่านพระคลังจะยอมยกเมืองยะโฮร์ให้กับฝรั่งเศสและอนุญาตให้ฝรั่งเศสไปตั้งอยู่ในเมืองนั้น ด้วยในเวลานั้นเจ้าแผ่นดินเมืองยะโฮร์ได้สวามิภักดิ์ขึ้นต่อประเทศไทยและมีความวิตกในการกดขี่บีบคั้นของพวกฮอลันดา จึงอยากสร้างป้อมขึ้นในเมืองนั้น เพราะฉะนั้นการที่จะได้ไปตั้งอยู่ที่ เมืองยะโฮร์ และทำการแข่งขันกับพวกฮอลันดานั้นก็ตกเป็นหน้าที่ของประเทศฝรั่งเศส ส่วนไทยนั้นจะได้แต่งทูตไปยังเจ้าแผ่นดินเมืองยะโฮร์ และพระเจ้ากรุงไทยจะได้มีพระราชสาส์นไปให้เจ้าแผ่นดินยะโฮร์รับรองและอุดหนุนพวกฝรั่งเศสทุกประการ |
ข้อเท็จจริงจากหลักฐานข้อมูลที่ทราบอยู่ในปัจจุบัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ถือเป็นช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของกรุงศรีอยุธยาช่วงหนึ่ง แต่อำนาจการเมืองของอยุธยาที่ขยายลงไปทางใต้นั้นในความเป็นจริงแล้วไม่น่าจะลงไปถึงยะโฮร์ซึ่งอยู่ตอนล่างสุดของคาบสมุทรมลายู เพราะในเวลานั้นยะโฮร์เป็นรัฐหนึ่งที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งภายใต้การคุ้มครองของฮอลันดา แม้ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๑๖ เมืองหลวงบนฝั่งแม่น้ำยะโฮร์ถูกบุกโจมตีและทำลายลงอย่างราบคาบ โดยจัมบิรัฐมลายูอีกรัฐหนึ่งบนเกาะสุมาตราและเคยเป็นพันธมิตรกับยะโฮร์มาก่อนด้วย ทำให้อำนาจของยะโฮร์ที่เคยมีเหนือบ้านเมืองต่างๆ อ่อนแอลง แต่ไม่นานยะโฮร์ก็ฟื้นตัวขึ้นใหม่ ดังนั้น เรื่องสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้ฝรั่งเศสไปสร้างป้อมในเมืองยะโฮร์ให้ไว้ต่อสู้กับฮอลันดา ที่นาย Lanier เขียนไว้นั้นคงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ส่วนเรื่องฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เกี่ยวข้องกับหัวเมืองทางใต้นั้นมีหลักฐานในจดหมายของมองซิเยอร์ เดลานต์ ถึงเมอร์ซิเยอร์บารอง ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๑๖๘๓ (พ.ศ. ๒๒๒๕) ซึ่งสรุปได้ว่า ทางฝรั่งเศสได้ยื่นเรื่องขอให้ไทยยกเกาะ ภูเก็ตให้แก่บริษัทฝรั่งเศสผ่านทางเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งพวกฮอลันดาได้มีหนังสือขอพระราชทานเกาะภูเก็ตมาก่อนแล้วและขอทำการค้าในเกาะนี้แต่เพียงฝ่ายเดียวด้วย เจ้าพระยาพระคลังจึงตอบว่ายกให้ฝรั่งเศสไม่ได้ ด้วยเกรงว่าไทยกับฮอลันดาจะแตกร้าวกัน แต่ขอให้บริษัทฝรั่งเศสทำการค้าต่อไป ทางฝรั่งเศสจึงขอให้เจ้าพระยาพระคลังสั่งไปยังเจ้าเมืองภูเก็ตขอให้ช่วยเหลือเกื้อหนุนเจ้าพนักงานของบริษัท และเจ้าพระยาพระคลังก็ทำตามที่ทางฝรั่งเศสร้องขอ ในหนังสือสัญญาการค้าระหว่างไทยกับฝรั่งเศสทำขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ มีข้อความในข้อ ๖ เกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งสรุปได้ว่า ฝรั่งเศสได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสได้ค้าขายดีบุกที่เมืองภูเก็ตและเมืองขึ้นของภูเก็ตได้ฝ่ายเดียวโดยห้ามมิให้ประเทศอื่นๆ ค้าขายดีบุกในเมืองนั้น และขอพระราชทานพระราชานุญาตปลูกห้างขึ้น สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตามที่ฝรั่งเศสขอ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า สมเด็จพระนารายณ์ยังทรงแต่งตั้งให้ ชาวฝรั่งเศสชื่อ ชาร์บอนโน (Charbonneau) เป็นเจ้าเมืองภูเก็ตด้วย และในเวลานั้นชาร์บอนโนก็ได้สร้างป้อมเล็กๆ ทำด้วยไม้กระดานป้อมหนึ่งซึ่งมีหอคอย ๔ หอ ไว้ที่ภูเก็ตด้วย |
๓๒-๓๔ |
เรื่องเมืองยะโฮร์ ว่าเดิมอยู่ใต้อำนาจของไทยต่อมาได้แข็งเมืองขึ้น หนังสือกล่าวว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายภายหลังรัชชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เหตุการณ์ภายในไม่สู้ราบรื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นในเวลาที่พระมหากษัตริย์สวรรคตเสมอ กัปตัน Joâo Tavares Vellez Guerreiro ชาวโปร์ตุเกส จึงได้เขียนไว้ในจดหมายเหตุการณ์เดินทางเมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๑ ตรงในรัชชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยาว่า “แต่เดิมอาณาจักรยะโฮร์นี้เป็นเมืองขึ้นของพระมหากษัตริย์ไทย เช่นเดียวกับดินแดนทั้งหมดที่ (มีพรมแดน) แล่นจากตะนาวศรี (โค้ง) ไปตามฝั่งทะเลจนถึงอ่าวที่มีชื่อโดยฉะเพาะว่า อ่าวไทย แต่โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เกรงขามของบังกะหล่า (เบงคอล) เปกู (หงสาวดี) ลาว และประเทศที่ใกล้เคียงอื่นๆ ได้ร่วงโรยจากอำนาจเดิมลงไป บางอย่างเป็นเพราะความอิจฉาริษยา อันเป็นมรดกที่มีอยู่ในชนชาวเอเชีย และประการที่สำคัญเนื่องมาจากการแบ่งพวกแบ่งหมู่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประจำอันเกิดขึ้นในประเทศไทยในเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตลง อาณาจักรยะโฮร์จึงก่อการแข็งอำนาจและยกหัวของตนขึ้น” |
ข้อเท็จจริงตามข้อมูลเท่าที่ทราบในปัจจุบัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่ายะโฮร์เป็นรัฐใหญ่ที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นหลังจากรัฐสุลต่านมะละกาเสื่อมลงและตกอยู่ในความครอบครองของโปรตุเกส และดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานที่แสดงว่ารัฐยะโฮร์เป็นเมืองขึ้นของอยุธยา แม้ว่าในบางช่วงเวลายะโฮร์จะอ่อนแอลงจากการโจมตีของรัฐมลายูอื่นๆ |
หน้า |
ความรู้ประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงในหนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู |
ข้อมูลและองค์ความรู้ในปัจจุบัน |
๓๔ |
เรื่องฝรั่งต่างชาติแผ่อำนาจเข้ามาในแหลมมลายู หนังสือกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลไทยในสมัยนั้นและต่อๆ มามัวกังวลจัดการภายในอยู่ทางนี้ ประจวบกับเป็นสมัยกาลที่ฝรั่งต่างชาติเช่นฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศสเริ่มแผ่อำนาจล่าเมืองขึ้นมาทางตะวันออกไกล ดินแดนแหลมมลายู โดยเฉพาะเมืองมะละกา จึงเป็นเสมือนหญิงงาม ที่พวกฝรั่งเข้ามาแบ่งกันไปชิงกันมาโดยไม่คำนึงถึงชนชาวพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของถิ่น ปอร์ตุเกสแย่งจากเจ้าของเดิม แล้วฮอลันดาแย่งจากปอร์ตุเกส อังกฤษแย่งจากฮอลันดาอีก ฮอลันดาแบ่งบางส่วนคืนมา แล้วอังกฤษแย่งคืนไปอีกกลับไปกลับมาไม่สิ้นสุด |
ข้อมูลเพิ่มเติมเท่าที่ทราบในปัจจุบัน การล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจทางยุโรปเข้ามาในเอเชียเพื่อแสวงหาอาณานิคม ขยายกิจการค้า เริ่มขึ้นโดยประเทศโปรตุเกสส่งคณะสำรวจเดินเรือหาเส้นทางเดินอ้อมทวีปแอฟริกามายังมหาสมุทรอินเดีย หลังจากเดินเรือไปสำรวจมาหลายครั้ง ชาวโปรตุเกสโดยมีวาส โกดากามา เป็นหัวหน้าคณะ ก็สามารถแล่นเรืออ้อมแหลมกูดโฮปได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๐๔๐ และในปี พ.ศ. ๒๐๔๑ ได้เดินทางมาถึงอินเดีย ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๐๔๓-๔๔ โปรตุเกสก็มาสร้างสถานีการค้าขึ้นในอินเดีย แต่ถูกต่อต้านจากพ่อค้าชาวมุสลิมซึ่งผูกขาดการค้าอยู่ในบริเวณนี้มาก่อน สถานีการค้าถูกโปรตุเกสทำลาย ผู้ดูแลสถานีการค้าถูกฆ่าตาย โปรตุเกสจึงคิดว่าการแทรกซึมเข้ามาในวงการค้าของเอเชียต้องใช้กำลังทำลายการผูกขาดทางการค้าของชาวมุสลิมก่อน ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๐๔๙ โปรตุเกสจึงเข้ามาตั้งสถานีการค้าขึ้นที่เมืองโคชินในประเทศอินเดีย และได้แต่งตั้งให้ ดอมฟรานซิสโก เดอ อัลเมดา (Dom Francisco de Almeida) เป็นอุปราชชาวโปร์ตเกสคนแรกในอินเดีย จากนั้นก็เริ่มก่อกวนการเดินเรือของชาวมุสลิม และสร้างป้อมขึ้นตามชายฝั่งทะเลของทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออกและประเทศอินเดียฝั่งตะวันตก เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเล ในปี พ.ศ. ๒๐๕๒ หลังจากที่ได้ทำการต่อสู้กับกองทัพเรืออียิปต์และคุชราตและได้รับชัยชนะ โปรตุเกสก็กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลที่เข้มแข็งที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย ต่อมาอะฟอนโซ เดอ อัลบูเคอร์ก (Afonso de Albuquerque) ได้รับตำแหน่งอุปราชต่อจากอัลเมดา เขาคิดว่าการทำลายล้างพ่อค้าชาวมุสลิมมีผลกระทบต่อการค้าของโปรตุเกสด้วย จึงยกเลิกการโจมตีการเดินเรือของชาวมุสลิม เขาคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือป้องกันมิให้ชาวมุสลิมผนึกกำลังกัน โดยการแบ่งแยกชาวมุสลิม และพยายามจำกัดการค้าของชาวมุสลิมแทนที่จะกำจัดการค้าของพวกเขา และไม่เข้าไปยุ่งกับการเมืองท้องถิ่น ในปี พ.ศ. ๒๐๕๓ อัลบูเคอร์กยึดเมืองกัวในอินเดียได้และใช้เป็นที่ตั้งฐานบัญชาการกองกำลังหลักของโปรตุเกสในเอเชีย ในปี พ.ศ. ๒๐๕๔ เขาก็บุกเข้ายึดเมืองมะละกาบนแหลมมลายูได้ จากนั้นโปรตุเกสได้ครอบครองมะละกาอยู่๑๐๐ กว่าปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๑๘๔ โปรตุเกสต้องเสียมะละกาให้แก่ฮอลันดา ฮอลันดาเริ่มแสวงหาเส้นทางเข้าไปค้าเครื่องเทศกับโลกตะวันออก โดยคณะสำรวจชาวฮอลันดาเดินทางอ้อมแหลมกูดโฮปในปีพ.ศ. ๒๑๓๘ ผ่านช่องแคบซุนดา ไปยังเมืองท่าบันตัมของชวา ในปี พ.ศ. ๒๐๔๕ จึงได้ตั้งบริษัทสหอินเดียตะวันออก (United East India Company) ขึ้น และฮอลันดาเองพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกาเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับฮอลันดา แต่โปรตุเกสที่เมืองกัวบีบบังคับไม่ให้เมืองท่าของอินโดนีเซียต้อนรับพ่อค้าชาวฮอลันดา จากนั้นมาฮอลันดาก็เริ่มมีปัญหาขัดแย้งกับโปรตุเกสและรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การสงครามระหว่างกองเรือของฮอลันดาและโปรตุเกส ในระยะแรก ฮอลันดาไม่แข็งแกร่งพอที่จะสู้กับโปรตุเกสได้ จึงพยายามแสวงหาพันธมิตรที่เป็นศัตรูกับโปรตุเกส คือยะโฮร์กับอาเจะห์ และพยายามเสริมสร้างฐานะของตนให้มั่นคงในหมู่เกาะโดยทำสนธิสัญญากับผู้ปกครองท้องถิ่นต่างๆ และได้สร้างป้อมปราการขึ้นเพื่อทำการผูกขาดการค้าเครื่องเทศ ในปี พ.ศ. ๒๑๖๑ ฮอลันดาได้สร้างฐานกำลังขึ้นที่ปัตตะเวีย ให้เป็นศูนย์รวมของกิจกรรมต่างๆ ของชาวฮอลันดาในตะวันออก ในปี พ.ศ. ๒๑๘๒ ฮอลันดาทำสัญญากับยะโฮร์เพื่อร่วมกันโจมตีมะละกา จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๑๘๔ ก็ยึดเมืองมะละกาจากโปรตุเกสได้ และใช้เมืองมะละกาเป็นเพียงคลังสินค้าหรือศูนย์รวบรวมผลิตผลเพื่อการค้าจากสุมาตราและแหลมมลายู จากนั้นมาฮอลันดาได้ทำสัญญากับรัฐต่างๆ เพื่อให้บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาทำการผูกขาดสินค้าดีบุกแต่ผู้เดียว แต่ผลประโยชน์การค้าหลักของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดายังคงเป็นเครื่องเทศ ฮอลันดาจึงมุ่งเน้นการสร้างผลประโยชน์อยู่บนเกาะชวาเป็นหลัก รองลงมาคือเกาะ สุมาตรา ส่วนอังกฤษนั้นเริ่มสนใจดินแดนแหลมมลายูเพื่อร่วมทำการค้าเครื่องเทศกับกลุ่มเกาะทางตะวันออก และส่งคณะสำรวจเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๑๙๐ และพบว่าฮอลันดาตั้งมั่นอยู่ในดินแดนนี้แล้ว แต่พวกพ่อค้าอังกฤษตั้งสถานีการค้าขึ้นมาแข่งขันอย่างเปิดเผย แต่ในที่สุดฮอลันดาก็สามารถขับไล่พ่อค้าอังกฤษออกไป อังกฤษจึงหันไปสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในอินเดียเป็นหลัก จนกระทั่งในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เป็นต้นมาบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษจึงเริ่มมองหาฐานที่ตั้งในตะวันออกเพื่อใช้เป็นศูนย์รวบรวมสินค้าสำหรับทำการค้ากับจีน แต่ไม่ต้องการเป็นปรปักษ์กับฮอลันดา อังกฤษจึงหันไปสนใจเกาะบอร์เนียว และตั้งสถานีการค้าขึ้นบนเกาะบาลัมบางันทางเหนือของเกาะบอร์เนียว แต่ดำเนินการอยู่ได้ไม่นาน ต่อมาในขณะที่อังกฤษกำลังแสวงหาที่ตั้งอันเหมาะสมทางตะวันออกและความเป็นไปได้ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษก็หันมาสนใจเกดะห์(ซึ่งประมุขแห่งเกดะห์กำลังแสวงหาพันธมิตรเพื่อช่วยปราบกบฏในบ้านเมืองและต่อต้านอำนาจจากสยาม) โดยส่งฟรานซิส ไลท์ไปสำรวจ และต่อมาประมุขแห่งเกดะห์ได้เสนอให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเช่าเกาะปีนังเพื่อแลกเปลี่ยนกับความคุ้มครอง ต่อมาเกดะห์ยังต้องยกดินแดนอีกส่วนหนึ่งซึ่งอยู่บนฝั่งตรงข้ามเกาะปีนัง คือ โพรวินซ์ เวลสลีย์ ให้อังกฤษด้วย จากนั้นฟรานซิส ไลท์ก็สร้างปีนังขึ้นเป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าส่งไปจีน ต่อมาอังกฤษเริ่มมีอำนาจมากขึ้นและได้เข้าครอบครองดินแดนที่เคยอยู่ใต้อำนาจของฮอลันดามาก่อนแต่เป็นการชั่วคราว คือมะละกาในปี พ.ศ. ๒๓๓๘ หมู่เกาะโมลุกกะในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ และชวาในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ แต่ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ อังกฤษทำสนธิสัญญากับฮอลันดาโดยอังกฤษตกลงคืนดินแดนดังกล่าวให้ฮอลันดา ฮอลันดาจึงกลับมาครอบครองมะละกาและชวาอีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๓๖๒ ทอมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ จากรัฐบาลที่ปีนัง ได้ลงนามทำสนธิสัญญากับสุลต่านแห่งยะโฮร์ให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษสร้างสถานีการค้าขึ้นบนเกาะสิงคโปร์ ทำให้ฮอลันดาซึ่งมีอำนาจเหนือยะโฮร์ในเวลานั้นไม่พอใจอย่างมาก แต่ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษและฮอลันดาก็ตกลงทำสนธิสัญญามิตรภาพขึ้นที่กรุงลอนดอนในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ เพื่อแบ่งดินแดนในปกครองของตนอย่างเด็ดขาด ในสนธิสัญญานี้ ดินแดนบนแหลมมลายูรวมทั้งสิงคโปร์ เป็นของอังกฤษทั้งหมด และส่วนเกาะสุมาตราและหมู่เกาะอื่นๆทางใต้ช่องแคบสิงคโปร์เป็นของฮอลันดา ทำให้แหลมมลายูหรือคาบสมุทรมลายูตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษทั้งหมด อังกฤษได้จัดการปกครองและพัฒนาบ้านเมืองในแหลมมลายูให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะที่สิงคโปร์ และที่สำคัญ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ อังกฤษได้ทำสนธิสัญญากับไทย ในสนธิสัญญานี้ไทยต้องยกกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี (เกดะห์) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยให้แก่อังกฤษ เป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินกู้จำนวนมากสำหรับสร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ - อลอร์สตาร์ และคำมั่นสัญญาจากอังกฤษที่จะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จากนั้นมาอังกฤษก็เข้าครอบครองบ้านเมืองบนแหลมมลายูตอนล่างทั้งหมด จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดบ้านเมืองในแหลมมลายูตอนล่างได้ทั้งหมดในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ และยังยกดินแดนที่เคยเป็นของไทยคืนให้ไทยปกครองด้วย แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ดินแดนทั้งหมดก็กลับคืนเป็นของอังกฤษอีกครั้ง จนกระทั่งอังกฤษคืนเอกราชให้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ |
๓๖ |
เรื่องญี่ปุ่นเป็นชาติมหามิตรของไทยเรา ในหนังสือกล่าวว่า มาบัดนี้ (หมายถึงในเวลาที่แต่งหนังสือเรื่องนี้ขึ้น-ผู้วิจัย) ญี่ปุ่นชาติมหามิตรของไทยเราซึ่งมีอุดมคติว่า “เอเชียสำหรับชาวเอเชีย” มีวัตถุประสงค์จะจรรโลงสหพิบูลเขตต์แห่งมหาเอเซียตะวันออก นับแต่ได้ทำสัญญาร่วมกันกับรัฐบาลไทยภายใต้ผู้นำ คือ พณ ฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว ก็ได้ทำการรุกไล่อังกฤษให้ออกไปจากแผ่นดินแหลมมลายูสำเร็จในชั่วเวลาเพียงสองเดือนเศษ ซึ่งเป็นชัยชนะอันรวดเร็ว นับเป็น ประวัติการที่ชาวเอเซียควรชื่นชมโสมนัสและยินดีสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง |
ข้อมูลเพิ่มเติม ในเวลานั้นประเทศไทยถือว่าญี่ปุ่นเป็นชาติมหามิตร ซึ่งเริ่มต้นมาจาก ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ไทยขอดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส เพื่อให้แม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติ แต่ทางฝรั่งเศสไม่ยอม และยังส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่นครพนมด้วย การทำสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจึงได้เริ่มขึ้น ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศ ไทยก็ยกกำลังทหารเข้าไปในกัมพูชา และยึดดินแดนได้หลายแห่ง ในเวลานั้นทางญี่ปุ่นได้เสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย ทั้งไทยและฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนอของญี่ปุ่น ตกลงส่งผู้แทนไปประชุมที่กรุงโตเกียว จากอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียวครั้งนั้น ไทยได้ดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบาง รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ (จำปาศักดิ์) และดินแดนในเขมรที่เคยเสียให้ฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ คืนมา ต่อมาได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร (คือ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา) บุกโจมตีเกาะฮาวาย และฟิลิปปินส์ของสหรัฐอเมริกา และส่งทหารขึ้นบกที่โกตาบารูในเขตมลายูของอังกฤษ พร้อมทั้งส่งเครื่องบินโจมตีสิงคโปร์ด้วย ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทหารญี่ปุ่นได้เดินทางเข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันท์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และบางปู พร้อมกับยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยซึ่งอยู่ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขอเดินทัพผ่านประเทศไทย และชักชวนให้เข้าร่วมประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาด้วย โดยญี่ปุ่นจะให้ความร่วมมือกับไทยเพื่อให้ไทยได้ดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา ตอนแรกรัฐบาลไทยประกาศตนเป็นกลาง แต่ในระยะแรกเริ่มของสงคราม ญี่ปุ่นรบชนะและสามารถยึดดินแดนต่าง ๆ ได้ รัฐบาลไทยจึงคิดว่าญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม จึงได้ยอมตกลงทำสัญญาร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับพันธมิตรด้วย ทำให้ฝ่ายพันธมิตรส่งกำลังรุกรานไทยทั้งทางทางบกและทางอากาศ ในระหว่างสงคราม ญี่ปุ่นยกดินแดนบนแหลมมลายูที่ยึดได้จากอังกฤษให้แก่รัฐบาลไทย ซึ่งได้แก่ รัฐกลันตัน ตรังกานู ปะลิส และไทรบุรี รัฐบาลไทยในเวลานั้นจึงมองญี่ปุ่นเป็นมหามิตร แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้ ไทยก็ต้องยกดินแดนบนแหลมมลายูที่ได้มาคืนไปให้แก่อังกฤษ |
ในหนังสือเล่มนี้มีการกล่าวอ้างถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตอนล่างหลายแห่ง ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านหนังสือเล่มนี้จึงนำมาเสนอเป็นข้อมูลเพิ่มเติมไว้ ดังนี้
โจเอา เดอ บารอส (Joâo de Barros) เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสผู้ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดคนหนึ่งซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงพ.ศ. ๒๐๓๙-๒๑๑๓ และมีผลงานสำคัญมากมาย ผลงานที่เกี่ยวข้องเรื่องราวของปรเมศวรผู้ก่อตั้งเมืองมะละกาที่หนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์อ้างถึง เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ Décadas da Ásia ("Decades of Asia") ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โปรตุเกสในอินเดียและเอเชียตอนต้น
Joâo de Barros นักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกส ซึ่งในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง ที่มาของภาพ : http://en.wikipedia.org
มานูเอล เดอ ฟาเรีย อิ ซูซ่า (Manuel De Faria y Souza) เป็นนักประวัติศาสตร์และกวีคนสำคัญของโปรตุเกสอีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงพ.ศ. ๒๑๓๓-๒๑๙๒ ในผลงานของเขาเรื่อง Asia Portugueza (แต่งขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๒๐๙ – ๒๒๑๘ และมีทั้งหมด ๓ ตอน) ซึ่งเป็นเรื่องประวัติศาสตร์การสำรวจพบดินแดนชายฝั่งทะเลของแอฟริกาไปจนถึงจีน ญี่ปุ่น รวมทั้งชัยชนะของชาวโปรตุเกสในอินเดียและการสงครามทางบกและทางทะเลของชาวโปรตุเกสในดินแดนต่างๆของเอเชีย ผู้แต่งได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องการปกครอง ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ของดินแดนเหล่านั้นไว้ ซึ่งมีเรื่องของอาณาจักรไทยสมัยอยุธยารวมอยู่ด้วย ซึ่งผู้แต่งหนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู นำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง
มานูเอล เดอ ฟาเรีย อิ ซูซ่า (Manuel De Faria y Souza) และผลงานของเขาเรื่อง Asia Portuguez
ที่มาของภาพและเรื่อง: http://en.wikipedia.org
กาโมแองส์ (Luis Vaz de Comôes) เป็นนักกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโปรตุเกส ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงพ.ศ. ๒๐๖๘ – ๒๑๒๓) บทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา คือ มหากาพย์ ออส ลูสิอาดัส (Os Lusiadaz) ซึ่งมีเนื้อหาพรรณนาถึงความรุ่งเรืองยิ่งใหญ่และมั่งคั่งของโปรตุเกส รวมถึงรายละเอียดการค้นพบเส้นทางทะเลสายใหม่ไปยังอินเดียของวาส โก ดากามา ผนวกกับความรู้สึกความเป็นชาตินิยมโปรตุเกสหรือความรักชาติอย่างเข้มข้นของผู้แต่งไว้ด้วย ผลงานชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในกรุงลิสบอน ในปีพ.ศ. ๒๑๑๕ ในหนังสือเรื่องนี้ได้กล่าวถึง เรื่องเมืองไทยสมัยอยุธยาไว้ด้วย ซึ่งผู้แต่งหนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู นำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง
กาโมแองส์ (Luis Vaz de Comôes) และ มหากาพย์เรื่องออส ลูสิอาดัส (Os Lusiadaz)
ที่มาของภาพและเรื่อง: http://es.wikipedia.org
ลานิเยร์ (Lanier) เป็นชาวฝรั่งเศสผู้แต่งหนังสือเรื่อง Relation de la France et du Royaume de Siam de 1662 à 1703 พิมพ์ขึ้นที่เมืองแวร์ซาย เมื่อพ.ศ. ๒๔๒๖ โดยสอบค้นเรื่องฝรั่งเศสเป็นไมตรีกับไทยในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จากข้อมูลที่มีอยู่ในจดหมายเหตุที่ชาวฝรั่งเศสแต่งไว้แต่โบราณและนำมาเรียบเรียงขึ้น ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน “พงศาวดารเรื่องฝรั่งเศสเป็นไมตรีกับไทยครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”, อรุณ อมาตยกุล แปลมาจากเรื่อง “Relation de la France et du Royaume de Siam de 1662 à 1703” ของนายลันเย (Lanier), ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๑๕ และ ๑๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑. (กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๗)
กัว (Goa) เป็นรัฐหนึ่งของประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกติดกับทะเลอาหรับ ในเวลานั้นโปร์ตุเกสเป็นมหาอำนาจทางทะเลที่เข้มแข็งที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย เข้ายึดเมืองกัวได้ในปี พ.ศ. ๒๐๕๓ และใช้เมืองกัวเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการของกองทัพโปรตุเกสในเอเซีย กัวตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกสถึง ๔๕๐ ปี
ทวาย ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของเขตตะนาวศรีทางใต้สุดของพม่า ในอดีตเมืองทวายเป็นเมืองสำคัญที่มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในฐานะที่เป็นหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกของสยามพร้อมกับเมืองมะริดและตะนาวศรี ไทยกับพม่าต้องทำศึกสงครามเพื่อชิงเมืองทวาย มะริดและตะนาวศรีกันอยู่บ่อยครั้ง เช่น ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในปี พ.ศ. ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่ายกทัพมาตีเอาเมืองทวาย มะริดและตะนาวศรีไปได้ ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในปีพ.ศ. ๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ยกทัพไปตีเอาเมืองทั้งสามคืนจากพม่าแต่ไม่สำเร็จ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ เมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริดได้ขอมาสวามิภักดิ์กับราชสำนักกรุงเทพฯ และในปี พ.ศ. ๒๓๓๖ ตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ อังกฤษขยายอิทธิพลเข้ามายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่า และเข้ายึดเมืองมะริด ทวายและตะนาวศรีไปด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ตรงกับ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ อังกฤษตกลงกับราชสำนักไทยขอให้มีการปักปันดินแดนระหว่างไทยกับพม่าเป็นการถาวร ไทยต้องยกเมืองทั้งสามนี้ให้กับพม่าซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ต่อมาเมื่ออังกฤษคืนเอกราชให้พม่าในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เมืองทวายถูกรวมอยู่ในเขตตะนาวศรีและต่อมายังได้เป็นเมืองหลวงของเขตตะนาวศรีด้วย ที่สำคัญยิ่งคือปัจจุบันรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้ลงนามทำบันทึกความเข้าใจ ในการร่วมมือจัดทำโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพื่อให้ทวายก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตทางค้าและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้และเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างต่อเนื่องในการขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน
ตะนาวศรี ปัจจุบันเป็นเขตในความปกครองของประเทศพม่า ในอดีตเคยเป็นหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกของรัฐไทยสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเช่นเดียวกับเมืองมะริดและทวายดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มีหลักฐานเอกสารของคณะราชทูตจากเปอร์เซียเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ กล่าวว่าตะนาวศรีเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ มีพลเมืองเป็นคนสยามประมาณ ๕-๖ พันครัวเรือน นอกจากนี้ตะนาวศรียังเป็นเมืองพระยามหานครที่ต้องเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเช่นเดียวกับเมืองทวาย แต่ภายหลังตะนาวศรีก็กลายเป็นดินแดนของพม่าภายใต้การปกครองของอังกฤษพร้อมกับทวายและมะริด ต่อมาเมื่ออังกฤษคืนเอกราชให้พม่าแล้ว ตะนาวศรีถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นรัฐกระเหรียง ทางตอนเหนือเป็นรัฐมอญ ภายใต้การปกครองของพม่า โดยมีเมืองทวายเป็นเมืองเอก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ รัฐบาลพม่าได้เปลี่ยนแปลงการสะกดชื่อตะนาวศรี ด้วยอักษรโรมัน จากเดิมที่เขียนว่า Tenasserim เป็น Tanintharyi และออกเสียงเป็นภาษาพม่าว่า ตะนิ้นตายี
สามสาม คือชาวไทยถิ่นใต้ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในแหลมมลายูตอนล่างมาแต่โบราณและได้แต่งงานกับชนพื้นเมือง จนกลายเป็นชนกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในรัฐไทรบุรี ปะลิส กลันตัน เประ และปีนัง เมื่อไทยต้องเสียดินแดนส่วนนี้ให้อังกฤษ คนไทยกลุ่มนี้ก็ปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่น และยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมของไทยที่เป็นเอกลักษณ์ต่างไปจากชาวมลายูทั่วไปไว้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยมี ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนับถือพุทธศาสนาเป็นชาวไทยพุทธ อีกกลุ่มนับถือศาสนาอิสลาม เป็นชาวไทยมุสลิมซึ่งมีชื่อเรียกว่า ซัมซัม หรือ สามสาม (Samsam)
ลักษมาณา (Laksamana) เป็นตำแหน่งผู้บัญชากองทัพเรือของพวกโอรังลาอุต (ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณแหลมมลายูและหมู่เกาะตอนใต้มาก่อน และเป็นกองกำลังสำคัญของกองทัพรัฐมะละกาและกองทัพของรัฐยะโฮร์ ในส่วนเกี่ยวข้องกับไทย คือ หลวงลักษมาณา เป็นราชทินนามของขุนนางเชื้อสายมลายูตำแหน่งเจ้ากรมอาสาจามขวาที่ตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นผู้มีบทบาททางด้านการทหาร คือ เป็นผู้มีความชำนาญและมีบทบาทสำคัญในการรบทางทะเลควบคู่กับด้านการค้าคือเป็นผู้จัดวางเส้นทางเดินเรือค้าขายในบริเวณแหลมมลายู
เนื้อหาหลักในหนังสือเล่มนี้ คือ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบ้านเมืองบนแหลมมลายูในสมัยโบราณ โดยเริ่มจาก สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา ลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นเวลาที่แต่งเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องนี้ขึ้น แต่จากการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีบนแหลมมลายูหรือคาบสมุทรมลายู (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของดินแดนภาคใต้ของประเทศไทย ภาคใต้ของประเทศเมียนมาร์และดินแดนตอนเหนือของสหพันธรัฐมาเลเซียหรือที่เรียกว่า มาเลเซียตะวันตก) พบว่าดินแดนแห่งนี้มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคโบราณ เพราะเป็นที่ตั้งเมืองท่าศูนย์กลางการค้าและสถานีการค้าที่เป็นเครือข่ายการค้าทางทะเลของโลกมาตั้งแต่ต้นคริสตกาล และเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของโลกสืบมาตราบจนปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ได้รับมีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองโบราณบนดินแดนแหลมมลายู รวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศไทยเท่าที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน จึงขอนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมไว้โดยสังเขป ดังนี้
สภาพภูมิศาสตร์แวดล้อมและที่ตั้ง
แหลมมลายูหรือคาบสมุทรมลายู (Malay Peninsula) คือ คาบสมุทรใหญ่ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวคาบสมุทรวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ แยกมหาสมุทรอินเดียออกจากทะเลจีนใต้ ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรถูกแยกออกจากเกาะสุมาตราโดยช่องแคบมะละกา คาบสมุทรนี้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ซึ่งเป็นการแบ่งเขตตามกรอบแผนที่ของรัฐชาติปัจจุบัน เมื่อมีการทำสนธิสัญญาขีดพรมแดนระหว่างสยามและอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ส่วนแรกคือตอนบนซึ่งเป็นส่วนภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบันเรียกว่า คาบสมุทรสยาม (Peninsula Siam) หรือคาบสมุทรไทย(Peninsula Thailand) ในภายหลัง ตอนล่างซึ่งเป็นเขตประเทศมาเลเซียหรือมาเลเซียตะวันตก เรียกว่า คาบสมุทรมาเลเซีย (Peninsula Malaysia) ปัจจุบันอาณาบริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรคือบริเวณภาคใต้สุดของประเทศเมียนมาร์ บริเวณตอนกลางและด้านตะวันออกเฉียงเหนือ คือบริเวณที่เป็นภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่คอคอดกระในเขตจังหวัดระนองซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทร ลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส ส่วนตอนใต้ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย เรียกว่า มาเลเซียตะวันตก ใต้สุดลงไปยังมีเกาะซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศสิงคโปร์
ในอดีตเมื่อราว ๑๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายและเป็นช่วงที่โลกมีอุณหภูมิลดลงมากที่สุดและระดับน้ำทะเลของโลกลดลงจนต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันราว ๑๒๐ – ๑๕๐ เมตร การลดลงของระดับน้ำทะเลดังกล่าวทำให้ทวีปเอเซียมีลักษณะทางกายภาพต่างไปจากที่เราเห็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลานั้น พื้นที่ไหล่ทวีปซึ่งจมอยู่ใต้ทะเลในปัจจุบันนั้น เดิมเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่เชื่อมต่อหมู่เกาะต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เข้ากับผืนแผ่นดินใหญ่ มีชื่อเรียกว่า แผ่นดินซุนดา (Sunda land) ทำให้คาบสมุทรมลายูหรือแหลมมลายูเชื่อมต่อเป็นแผ่นดินเดียวกันกับหมู่เกาะสุมาตรา ชวาและบอร์เนียว รวมทั้งเกาะปัลลาวันและเกาะเล็กเกาะน้อยของฟิลิปปินส์ จนกระทั่งเมื่อราว ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายได้สิ้นสุดลง น้ำแข็งที่ปกคลุมบางบริเวณของโลกเริ่มละลายเป็นน้ำคืนสู่มหาสมุทร ระดับน้ำทะเลของโลกจึงค่อยๆ สูงขึ้น จนเมื่อราวเกือบ ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว โลกจึงมีระดับน้ำทะเลเท่ากับปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทำให้แผ่นดินซุนดาจมอยู่ใต้ทะเลดังเดิม ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงถูกแยกออกเป็นภาคผืนแผ่นดินและภาคหมู่เกาะโดยท้องทะเลอันกว้างใหญ่ดังที่เห็นในปัจจุบัน
แผนที่แสดงตำแหน่งแผ่นดินซุนดา
ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และลักษณะทางกายภาพของคาบสมุทรมลายูที่ยื่นไปในทะเลตั้งขวางระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าหลักทางทะเลของโลกตะวันออกและตะวันตกเมื่อราวต้นคริสตกาล จึงทำให้ดินแดนแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางทะเลของโลก ต้องติดต่อกับผู้คนต่างถิ่นโดยเฉพาะพวกพ่อค้าที่เดินทางมาจากโลกตะวันออกและตะวันตกมาแต่โบราณ นอกจากนี้ยังมีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่เป็นเขตร้อนชื้นมีลมมรสุมพัดผ่าน ส่งผลให้ดินแดนแหลมมลายูเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ามากมายที่มาทั้งจากป่าบนผืนแผ่นดินและจากท้องทะเล รวมทั้งยังมีแร่ธาตุสำคัญ เช่น ทองคำ เงิน ดีบุก ตะกั่ว ฯลฯ ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นตลาดการค้าใหญ่ของโลกที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเลของโลกมาแต่ยุคโบราณ มีชื่อเรียกว่า สุวรรณภูมิ หรือ ดินแดนทอง ดินแดนแห่งความใฝ่ฝันและจุดหมายปลายทางของพวกพ่อค้าต่างถิ่นที่ต้องการมาแสวงหาความร่ำรวย ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารโบราณทั้งของอินเดีย จีน และยุโรป
๓ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน บาร์บารา วัตสัน อันดายา & ลีโอนาร์ด วาย, อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, แปลเป็นไทยโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑). ซี แมรี เทรินบุลล์, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์และบรูไน, แปลเป็นไทยโดย ทองสุก เกตุโรจน์.(กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๐). หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล , ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึงพ.ศ. ๒๐๐๐, พิมพ์ครั้งที่ ๔. (กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี,๒๕๔๙) หน้า ๒๗-๙๑. ดี.จี.อี. ฮอลล์, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม๑- ๒, แปลโดย วรุณยุพา สนิทวงส์ ณ อยุธยา และคณะ, พิมพ์ครั้งที่ ๓ ( กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๙) The Encyclopedia of Malasia , Volume 4, Early History, Nik Hassan Shuhaimi Nik Abdul Rahman, Editor. (Singapore: Archipelago Press, 1998)
ผู้คนบนแหลมมลายู ดินแดนนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณแหลมมลายูตอนล่างที่เป็นเขตมาเลเซียตะวันตกปัจจุบัน มีผู้คนหลายเชื้อชาติและหลายภาษาเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคโบราณ ปัจจุบันดินแดนนี้จึงเป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างภาษาต่างชาติพันธุ์มากมาย คือนอกจากประชากรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวมลายู๔ แล้ว ยังมีกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่นักมนุษยวิทยาเรียกว่า นิกริโต (Nigritos) ซึ่งอาศัยอยู่ตามป่าในเทือกเขาใหญ่ของแหลมมลายู๕ นอกจากนี้ยังมีชาวจีนซึ่งมีจำนวนประชากรมาก เป็นอันดับสองรองจากชาวมลายู และเป็นกลุ่มชนที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจในประเทศมาเลเซีย ชาวอินเดีย ซึ่งอพยพมาจากแคว้นต่างๆของอินเดีย ชาวยูเรเซีย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นชาวโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐมะละกา เมื่อครั้งมะละกาตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส ชาวอาหรับ รวมทั้งชาวไทย ซึ่งรู้จักกันในนามของชาวสยาม (Siam) ซึ่งอยู่ในรัฐต่างๆ ของมาเลเซีย คือ กลันตัน ตรังกานู เปรัค ปีนัง เกดะห์และเปอร์ลิส
บ้านเมืองบนแหลมมลายู
ผลการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของบ้านเมืองที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตั้งแต่อดีตจนถึงช่วงก่อนที่จะมีการแบ่งแยกดินแดนออกเป็นรัฐชาติในปัจจุบันนั้น ทำให้ทราบว่าผู้คนและบ้านเมืองบนแหลมมลายูมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับผู้คนและบ้านเมืองบนหมู่เกาะต่างๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศอินโดนีเซีย แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเรื่องประวัติศาสตร์-โบราณคดีและการเมืองที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองบนแหลมมลายูที่หนังสือ เพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู กล่าวถึงเท่านั้น โดยกล่าวถึงไปตามยุคสมัยต่างๆ จนถึงช่วงก่อนที่จะมีการแบ่งแยกดินแดนออกเป็นรัฐชาติในปัจจุบันดังนี้
ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์
จากการศึกษาทางด้านโบราณคดี ทำให้ทราบว่า มีมนุษย์เข้ามาอาศัยอยู่บนแหลมมลายูตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อราวไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐ กว่าปีลงมาจนถึงราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว บนแหลมมลายูในเขตประเทศไทย มีการค้นพบหลักฐานอยู่ที่จังหวัดกระบี่ ในเขตอำเภอเมือง๖ ๒ แห่ง แห่งแรก คือแหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนก่อนประวัติศาสตร์ ช่วงแรก อายุราว ๓๗,๐๐๐ - ๒๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว ช่วงที่สองอายุ ๙,๐๐๐- ๗,๕๐๐ ปีมาแล้ว และช่วงที่สามอายุราว ๖,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว แห่งที่สองคือ แหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนก่อนประวัติศาสตร์ช่วงแรกอายุราว ๒๖,๐๐๐ – ๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ช่วงที่สองอายุ ราว ๑๑,๐๐๐ – ๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว และช่วงที่สามอายุราว ๗,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ส่วนในเขตประเทศมาเลเซีย๗ พบหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินที่แหล่งโบราณคดีโกตาทัมปัน (Kota Tampan) ในเขตเปรัค อายุราว ๓๔,๐๐๐ – ๒๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว และที่มีอายุรองลงมาราว ๑๒,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้วพบในถ้ำในเขตเปรัคและกลันตัน ต่อมายังได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำในเขตเปรัคด้วย
ผลการศึกษาทางด้านโบราณคดีรวมทั้งการศึกษาทางด้านภาษาและวัฒนธรรมโบราณบนคาบสมุทร สรุปได้ว่าผู้อาศัยอยู่ในคาบสมุทรดั้งเดิม คงจะเป็นพวก นิกริโต (เซมัง) ซึ่งมีผิวดำร่างเล็ก พูดภาษาออสโตรเอเชียติค และอาจมีต้นกำเนิดมาจากสายตระกูลเดียวกับชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในออสเตรเลีย คนกลุ่มนี้คงดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ ใช้เครื่องมือหินกระเทาะ ต่อมาราว ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาลลงมา จึงได้มีผู้คนที่พูดภาษาออสโตรนีเซียน (ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธ์และมีการผสมผสานจนกลายบรรพบุรุษของชาวมลายู) ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแหลมมลายู๘ รวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ แทนที่พวกกลุ่มชนดั้งเดิมและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานดังกล่าวมีหลายระลอกและค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ มีการผสมกลมกลืนระหว่างผู้คนดั้งเดิมและผู้คนที่เข้ามาใหม่ จนกระทั่งในที่สุดผู้ที่อยู่มาก่อนก็ได้หันมารับเอาภาษาและขนบธรรมเนียมของผู้มาใหม่ไว้ใช้ และมีพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมมาเป็นลำดับ คือ เมื่อราว ๓,๕๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว รู้จักทำเครื่องมือหินขัด เครื่องมือปลายแหลมทำจากกระดูกสัตว์ มีประเพณีฝังศพที่จัดศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว วางสิ่งของเครื่องเซ่นลงไว้ในหลุมศพด้วย ราว ๒,๕๐๐ ปีลงมา ชุมชนบนแหลมมลายูยังได้มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนต่างถิ่นที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เริ่มใช้โลหะสำริดและเหล็กทำเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งเริ่มขึ้นในเวลาเดียวกับที่มีการติดต่อและรับวัฒนธรรมเครื่องโลหะจากวัฒนธรรมดองซอนของเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีการติดต่อค้าขายกับคนต่างถิ่นโพ้นทะเลที่อยู่ไกลออกไปทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวอินเดียเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำการค้าขายอยู่บนแหลมมลายู ทำให้อารยธรรมอินเดียแพร่หลายเข้ามา ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมพื้นเมืองดั้งเดิม จนเกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ขึ้นบนดินแดนแหลมมลายูในระยะต่อมา
๔ คือผู้คนหลายชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ บนแหลมมลายูแต่โบราณ และนอกจากบนแหลมมลายูแล้ว ยังมีชนเชื้อสายเผ่าพันธุ์มลายูในบริเวณเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียวและหมู่เกาะรีเอา-ลิงกะ ในเขตประเทศอินโดนีเชียปัจจุบันด้วย จากการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่า คำว่า มลายู ปรากฏครั้งแรกในเอกสารจีนเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นชื่อเรียกรัฐโบราณรัฐหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเกาะสุมาตรา ต่อมาภายหลังจึงมีการกล่าวถึง มลายู ในฐานะชนชาติหนึ่ง คือ ชนชาวมลายู องค์การยูเนสโก ได้อธิบายความหมายของคำ “มลายู” ว่า คือกลุ่มชนที่รวมกันอยู่ในกลุ่ม มลายู-โปลีเนเซีย (Melayu-Polinesia) ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมตั้งแต่เกาะมาดากัสการ์ทางตะวันตกจนถึงเกาะอิสเตอร์หรือ เกาะปัสกะห์ (Pulau Paskah) ทางตะวันออก รวมทั้งเกาะไต้หวัน และฮาวายทางด้านเหนือ จนถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียและนิวซีแลนด์ทางใต้
๕ บนแหลมมลายูที่อยู่ในเขตประเทศไทยปัจจุบัน พบพวกนิกริโต อาศัยอยู่ตามเทือกเขาในเขต จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล ยะลา และนราธิวาส ซึ่งคนไทยมักเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ซาไก (Sakai) หรือ เงาะป่า (Ngoh pah) ส่วนที่อาศัยในเขตประเทศมาเลเซีย ได้แก่ โอรัง อัสลี (Orang Asli) เป็นชาวมลายูดั้งเดิมซึ่งมาเลเซียถือว่าเป็นชนชาวภูมิบุตรของประเทศ มีการแบ่งออกเป็น 3 ชนเผ่า คือ เซมัง (Semang) อาศัยอยู่ในรัฐเกดะห์ และเปรัค เซนอย (Senoi) อาศัยอยู่ในรัฐเปรัค กลันตัน และปาหัง และ โปร์โต – มาเลย์ (Proto – Malay) พบอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีชนชาวมลายูต่างถิ่น ซึ่งไม่ได้มีรากเหง้าเดิมอยู่ในแหลมมลายู แต่เป็นชาวมลายูที่อพยพมาจากหมู่เกาะใกล้เคียง มานานนับร้อยปีมาแล้ว เพื่อเข้ามาค้าขายหรือเพื่อจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจการเมือง ได้แก่ อาเจะห์ (Aceh) อัมบน(Ambon) บันยาร์ (Banyar) บาตัก (Batak) บูกิส (Bugis) จาม (Cham) ชวา (Java) มลายูเดอลี (melayu Deli) มลายูจัมบี (Melayu Jambi) มลายูปาเล็มบัง (Melayu Palembang) มลายูเรียว (Melayu Riau) มลายูเซียะ (Melayu Siak) และ มีนังกะเบา (Menangabau)
๖ Anderson, Douglas D. “Excavation of a Pleistocene Rockshelter in Krabi and the Prehistory of Southern Thailand,” in (eds) Pisit Charoenwongsa and Bennet Bronson. Prehistoric Studies : The Stone and Metal Ages in Thailand. (Bangkok : Amarin Printing Group, 1988) pp. 54-56., Pookajorn, Surin. Recent Archaeological Data of Human Activity and Environmental Change during the Late Pleistocene to Middle Holocene in Southern Thailand and Southeast Asia. Paper present at the International Association of Historians of Southeast Asia, Sophia University, Japan, September 5-9, 1994. และ สุรินทร์ ภู่ขจร, รายงานขั้นสรุปการขุดค้นที่ถ้ำหมดเขียว จังหวัดกระบี่ ถ้ำซาไก จังหวัดตรัง และการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี ชนกลุ่มน้อย จังหวัดตรัง (กรุงเทพฯ: โครงการวิจัยวัฒนธรรมโหบินเนียนในประเทศไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๗)
๗ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน บาร์บารา วัตสัน อันดายา & ลีโอนาร์ด วาย, อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, แปลเป็นไทยโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์. ( กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑) หน้า ๑๖-๒๐.
๘ เชื่อกันว่าผู้คนที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนดังกล่าว เป็นพวกมองโกลลอยด์พวกหนึ่งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในจีนตอนใต้ และเมื่อราว ๔,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ได้อพยพเข้าไปอยู่ในไต้หวันก่อน และในราว ๒,๐๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล จึงได้อพยพ จากไต้หวันเข้าไปอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์และหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย รวมทั้งบนแหลมมลายูด้วย
บ้านเมืองบนแหลมมลายูก่อนสมัยศรีวิชัย (ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๑๒)
ตั้งแต่ราวต้นคริสตกาล หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๖ เป็นต้นมา ดินแดนแหลมมลายูมีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในนามว่า สุวรรณทวีป หมายถึง คาบสมุทรทองคำ หรือ สุวรรณภูมิ หมายถึง ดินแดนทอง๙ ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก มีเมืองท่าและสถานีการค้าที่พ่อค้าต่างชาติเดินทางมาค้าขายเจริญขึ้นบนดินแดนแห่งนี้หลายแห่ง เช่น เมืองตักโกละ (Takkola) ในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมีและวรรณกรรมทางพุทธศาสนาของอินเดีย เช่น มหานิเทศ และมิลินทปัญหา ระบุว่า ตักโกละเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งที่พ่อค้าร่ำรวยจากซีกโลกตะวันตกจะต้องเดินทางมาค้าขาย นักวิชาการสันนิษฐานว่า ตักโกละ (ซึ่งแปลว่าดินแดนแห่งกระวาน) คงจะตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมในเขตภาคใต้ของประเทศไทย (เดิมนั้นเชื่อกันว่าอาจจะเป็นบริเวณบ้านทุ่งตึก ปากแม่น้ำตะกั่วป่า หรือบริเวณจังหวัดตรัง แต่ผลการศึกษาโบราณคดีทีทำขึ้นในระยะหลังๆ บ่งชี้ว่าเมืองตักโกละน่าจะอยู่บริเวณทุ่งภูเขาทอง จังหวัดระนอง๑๐ หรือที่ควนลูกปัด จังหวัดกระบี่ เพราะมีการค้นพบหลักฐานประเภทโบราณวัตถุนำเข้าจากอินเดีย-โรมัน ที่มีอายุเก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๘ ที่แหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งนี้มากกว่าที่พบในแห่งอื่นๆ)๑๑ อีกแห่งที่มีการกล่าวถึงบ่อยๆ คือ เมืองกฏาหะทวีป (Katahadvipa) ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าคงจะตั้งอยู่บนแหลมมลายูตอนล่างบริเวณรัฐเคดะห์ (ไทรบุรี) ในเขตมาเลเซียตะวันตก
นอกจากนี้ ในจดหมายเหตุจีนยังได้กล่าวถึงรัฐโบราณที่มีการติดต่อกับจีนและอินเดียในช่วงเวลานี้ด้วยอีกหลายแห่ง และนักวิชาการเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐโบราณดังกล่าวน่าจะตั้งอยู่ในบริเวณแหลมมลายูทั้งที่อยู่ในเขตภาคใต้ของประเทศไทยและในเขตประเทศมาเลเซียปัจจุบัน๑๒ ที่สำคัญ ได้แก่
เตียนซุนหรือตุนซุน เตียนซุนหรือตุนซุน ถือเป็นรัฐโบราณที่เก่าที่สุดที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีน เจริญขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ จดหมายเหตุจีนราชวงศ์เหลียง (พ.ศ.๑๐๔๕-๑๐๙๙) บันทึกเรื่องราวไว้ว่าเตียนซุน เป็นรัฐขนาดใหญ่และมีอำนาจทางการเมืองมากกว่ารัฐอื่นๆ โดยมีอาณาเขตจดทะเลทั้งสองฟาก จึงสามารถควบคุมเส้นทางการค้าขายข้ามคาบสมุทร จัดเป็นศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่มาก คลังสินค้าของตุนซุนมีสินค้าทุกประเภทจนมีคำกล่าวว่า ไม่มีอะไรที่ที่นั่นไม่มี นอกจากนี้ในพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ถัง (ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔) กล่าวว่า รัฐเตียนซุนมีครอบครัวชาวอินเดียอยู่ถึง ๕๐๐ ครอบครัวและมีพวกพราหมณ์มากกว่า ๑,๐๐๐ คนอาศัยอยู่ ประชาชนนับถือศาสนาพราหมณ์และให้ลูกสาวของตนไปแต่งงานกับพราหมณ์ พราหมณ์พวกนี้จะอ่านคัมภีร์ อาบน้ำผสมน้ำหอมและทำบุญ สำหรับประเพณีการปลงศพจะนิยมบริจาคซากศพให้เป็นอาหารนก ศพจะถูกเคลื่อนย้ายไปในขบวนแห่ที่มีการประโคมดนตรีและการร้องรำทำเพลง เมื่อออกไปนอกเมืองแล้วนำศพไปทิ้งให้เป็นอาหารนก ส่วนกระดูกที่เหลือจะนำกลับมาเผาแล้วนำขี้เถ้าไปทิ้งแม่น้ำหรือทะเล บางทีก็นำมาใส่ผอบและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด เมื่อนำข้อมูลจากเอกสารจีนมาพิจารณาตรวจสอบประกอบกับหลักฐานโบราณคดีที่พบบนแหลมมลายู นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ารัฐเตียนซุนน่าจะตั้งอยู่บริเวณเมืองไชยาเก่าในบริเวณอ่าวบ้านดอน และเป็นรัฐที่มีอำนาจเหนือเมืองต่างๆ ในอ่าวบ้านดอนฝั่งตะวันออกและในอ่าวทั้งหมดทางฝั่งตะวันตก
ฉีตู หรือเชี๊ยะโท้ว แปลว่าเมืองที่มีดินสีแดง จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สุย (พ.ศ. ๑๑๓๑ - ๑๑๖๐) บันทึกไว้ว่า กษัตริย์จีนส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับรัฐเชี๊ยะโท้ว โดยลงเรือสำเภาที่เมืองน่ำไฮ้ (เมืองกวางตุ้ง) ใช้เวลาเดินทางกว่า ๑๐๐ วัน เมื่อถึงเขตแดนของรัฐแล้ว เรือของทูตต้องถูกลากจูงไปตามลำน้ำเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนจึงจะเข้าไปถึงนครหลวงของรัฐเชี๊ยะโท้ว รัฐนี้มีอาณาเขตกว้างขวางหลายพันลี้ (๑ ลี้ = ๕๖๗ เมตร) รัฐเชี๊ยะโท้วได้ส่งคณะทูตไปจีนเป็นการตอบแทนในปี พ.ศ. ๑๑๕๑ - ๑๑๕๒ และ ๑๑๕๓ พร้อมกับส่งผลิตผลจากป่ากับมงกุฎทองลายดอกชบาและการบูรไปเป็นเครื่องบรรณาการด้วย อย่างไรก็ดีมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่ตั้งของรัฐนี้ต่างกันไป เช่น เซเดส์สันนิษฐานว่าอาจจะตั้งอยู่แถบเมืองพัทลุง แต่นายวิทลีย์และนักโบราณคดีมาเลเซียเชื่อว่า รัฐฉีตู ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของคาบสมุทรมาเลย์บริเวณตอนบนของแม่น้ำกลันตัน (Kelantan) ในรัฐกลันตัน
พัน-พัน จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์เหลียง (พ.ศ. ๑๐๔๕ – ๑๐๙๙) และพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ – ๑๔๔๙) กล่าวถึงเมืองพัน-พันว่า ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลบริเวณที่เป็นอ่าว โดยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศหลินยี่ (จามปา) เรือสำเภาจากเมืองเกียวเจาอาจแล่นไปถึงได้ภายใน ๔๐ วัน พัน-พันอยู่เหนือเมืองลังยาเสียว และมีอาณาเขตติดต่อกัน ในเมืองนี้มีพราหมณ์จากอินเดียจำนวนมากมายที่มาแสวงหาความมั่งคั่ง และพราหมณ์เหล่านี้เป็นที่โปรดปรานของพระราชาด้วย มีการส่งคณะทูตไปเมืองจีน ในปีพ.ศ. ๙๖๗ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมืองนี้น่าจะตั้งอยู่บริเวณอ่าวบ้านดอน
ดัน-ดัน หรือ ตัน-ตัน จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์เหลียง (พ.ศ. ๑๐๔๕ – ๑๐๙๙) ระบุว่าในปี พ.ศ. ๑๐๗๓ และ พ.ศ. ๑๐๗๘ เมืองดัน-ดันส่งคณะทูตไปจีน พร้อมเครื่องราชบรรณาการอันประกอบด้วยพระพุทธรูปแกะด้วยงาช้าง สถูป ไข่มุก ผ้าฝ้ายและน้ำหอมรวมทั้งยาด้วย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเมืองนี้อาจตั้งอยู่ในบริเวณจังหวัดพัทลุง หรืออยู่ในบริเวณแคว้นตรังกานูในแหลมมลายูตอนล่าง
๙ ปรากฏหลักฐานอยู่ในงานวรรณกรรมของอินเดีย คือในมหากาพย์รามายณะ ซึ่งแต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๓ และต่อเติมขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 8 นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมทางศาสนาของอินเดียประเภท ชาดกในพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่แต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ส่วนหลักฐานเอกสารของยุโรปที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีคือ บันทึกของพวกพ่อค้าชาวกรีก ซึ่งแต่งขึ้นราว ต้นพุทธศตวรรษที่ ๗ เรื่องThe Periplus of the Erythean Sea และ หนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก เมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๘ ซึ่งเรียกดินแดนนี้ว่า ไครเซ ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า ดินแดนทอง
๑๐ บุญญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ, ทุ่งตึก : เมืองท่าการค้าโบราณ, ( กรุงเทพฯ: สำนักศิลปากรที่ ๑๕ , ๒๕๕๐) หน้า ๑๖๔
๑๑ มยุรี วีระประเสริฐ. “คลองท่อมแหล่งอุตสาหกรรมทำลูกปัดและเมืองท่าขนถ่ายสินค้าสมัยโบราณ” ใน ปัจจุบันของโบราณคดีไทย. (กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดีจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) หน้า ๔๐-๔๙
๑๒ ดูเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับเมืองต่างๆ เหล่านี้ได้ใน Wheatly, P., The Golden Khersonese, ( Kuala Lumpur, University of Malaya Press, 1966), pp. 1-36.
ต้าหมาหลิง เชื่อกันว่าคือ ตามพรลิงค์ที่ปรากฏชื่ออยู่ในจารึกหลักที่ ๒๔ ค้นพบที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในบันทึกของเกาจูกัว(พ.ศ. ๑๗๖๘) บรรยายว่า เมืองนี้มีกำแพงไม้กว้าง ๖๒๗ ฟุต และสูงกว่า ๒๐ ฟุต ล้อมรอบ ตอนบนของกำแพงใช้เป็นลานต่อสู้ บ้านข้าราชการสร้างด้วยไม้กระดาน บ้านสามัญชนสร้างด้วยไม้ไผ่ มีใบไม้เป็นฝากั้นห้อง ผลิตผลพื้นเมืองมีขี้ผึ้ง ไม้จันทน์ ไม้มะเกลือ การบูร งาช้างและนอแรด การค้าตกอยู่ในมือของพ่อค้าต่างชาติซึ่งหาสินค้านานาชนิดมาให้ประชาชน จากต้าหมาหลิงใช้เวลาเดินทางโดยเรือ ๖ วัน ๖ คืน ก็ถึงลังยาเสียว นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมืองตามพรลิงค์หรือต้าหมาหลิงตั้งอยู่ที่นครศรีธรรมราช
ลังยาเสียว ในจดหมายเหตุจีนเรียก ลังยาเสียว ลังเจียซู หรือลังยาซูเจีย แต่ในจดหมายเหตุมลายูและชวาเรียก ลังกาสุกะ จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์เหลียง กล่าวว่า รัฐลังยาเสียวตั้งมาแล้วกว่า ๔๐๐ ปี มีอาณาเขตจดทะเลทั้งสองฝั่งของแหลมมลายู เหนือรัฐนี้ขึ้นไปคือ รัฐพัน-พัน ทางทิศตะวันออกจดอ่าวไทย ทางทิศตะวันตกจดอ่าวเบงกอล ด้วยเหตุนี้จึงควบคุมเส้นทางบกข้ามแหลมมลายูสายหนึ่ง ชาวเมืองสยายผมยาว สวมเสื้อผ้าฝ้ายไม่มีแขน กษัตริย์ก็เหมือนกับกษัตริย์ทั้งหลายในแถบนี้ ทรงช้างเป็นพาหนะ เวลาเสด็จมีขบวนกลองและธงนำหน้า สินค้าพื้นเมือง มีงาช้าง นอแรด ไม้จันทน์ ไม้มะเกลือ การบูร พ่อค้าต่างชาตินำสินค้าประเภทเครื่องเคลือบ ข้าว และผ้าแพรมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าพื้นเมือง นักโบราณคดีลงความเห็นว่า เมืองนี้คงจะตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี
ร่องรอยหลักฐานบ้านเมืองโบราณยุคก่อนสมัยศรีวิชัยที่พบบนแหลมมลายู จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีบนแหลมมลายูในเขตที่เป็นภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบันที่ผ่านมานั้น มีการค้นพบหลักฐานโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าต่างถิ่นหลากหลายประเภทที่มาจากอินเดีย โรมัน ตะวันออกกลาง และจีน อยู่ตามแหล่งชุมชนโบราณทั้งบนฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกหลายแห่ง ที่สำคัญได้แก่ แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด จังหวัดกระบี่ แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จังหวัดระนอง แหล่งโบราณคดี ท่าชนะ และ เมืองไชยาเก่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งเมืองนครศรีธรรมราช หลักฐานที่พบแสดงว่า ในบริเวณดังกล่าวนั้น เดิมคงจะเป็นเมืองท่าค้าขายหรือสถานีพักสินค้านานาชาติที่สำคัญมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๕ – ๙ นอกจากนี้บางแห่งยังมีการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาของอินเดียที่แสดงว่าได้มีแพร่หลายเข้ามาของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์จากอินเดียบนแหลมมลายูในช่วงก่อนสมัยศรีวิชัยด้วย เช่น ที่อำเภอ สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ได้ค้นพบพระพุทธรูปอินเดียแบบอมราวดี (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๙) ที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ค้นพบพระพุทธรูปอินเดียแบบคุปตะ(อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๑) ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ค้นพบพระวิษณุหรือพระนารายณ์ มีรูปแบบแสดงถึงอิทธิพลอินเดียแบบมถุราและอมราวดีตอนปลาย (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐) ซึ่งถือว่าเป็นประติมากรรมรูปพระวิษณุที่เก่าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย รวมทั้งรูปเคารพเอกมุขลึงค์ ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเอกมุขลึงค์ในถ้ำหมายเลข ๔ ที่อุทัยคีรี ในอินเดีย (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐) และที่เมืองนครศรีธรรมราช พบประติมากรรมรูปเคารพพระวิษณุศิลา (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐)
แผนที่แสดงตำแหน่งบ้านเมืองสำคัญบนแหลมมลายูตอนบนในเขตประเทศไทย
ในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๑๒
ที่มาของภาพ : บุญญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ, ทุ่งตึก : เมืองท่าการค้าโบราณ, (กรุงเทพฯ: สำนักศิลปากรที่ ๑๕ , ๒๕๕๐) หน้า ๑๓๘
ส่วนบนแหลมมลายูตอนล่างในเขตมาเลเซียตะวันตก ได้มีการค้นพบร่องรอยของบ้านเมืองโบราณที่เป็นเมืองท่าและสถานีการค้านานาชาติสำคัญรวมทั้งหลักฐานที่แสดงว่ามีการติดต่อกับอินเดียในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๑ พร้อมทั้งการแพร่หลายเข้ามาของพุทธศาสนาในยุคนี้อยู่ในบริเวณรัฐเกดะห์ทางใต้ เช่นที่บริเวณตำบลเชรอก เตกุน (Cherok Tekun) ตรงข้ามกับเกาะปีนัง และที่บุกิต เมเรียม (Bukit Meriam) ในเขตรัฐเกดะห์ หรือไทรบุรี พบจารึกภาษาสันสกฤตในพุทธศาสนาและพระพุทธรูป อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙ นอกจากนี้ยังได้ค้นพบตราที่ทำด้วยหินคาร์นีเลียน มีจารึกว่า ศรีวิษณุวรมัน อายุตัวอักษรที่ใช้เขียนเก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ในแคว้นเปรัก ที่ตำบลกัวลา เซลินซิงด้วย และที่น่าสนใจที่สุดคือมีการค้นพบหลักฐานสำคัญในเขตโปรวินซ์ เวลสลีย์ (Province Wellesley) ตรงข้ามกับเกาะปีนัง คือ แผ่นหินชนวนสลักรูปสถูปและมีจารึกภาษาสันสกฤต อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ข้อความในจารึกเป็นคำสอนในพุทธศาสนาและคำอธิฐานขอพรให้เดินทางโดยปลอดภัยของนายเรือผู้มีนามว่าพุทธคุปต์ ที่เดินทางมาจากประเทศดินแดง ซึ่งอาจหมายถึงแคว้นที่จีนเรียกว่า ฉีตูหรือเชี๊ยะโท้ว ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น
นอกจากนี้ในจดหมายเหตุจีนยังได้กล่าวถึงบ้านเมืองอื่นๆ ที่สำคัญคือ อาณาจักรโมโลยู (Mo-Lo-Yu) หรือมลายู ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองจัมบี (Jambi) ซึ่งได้ส่งคณะทูตไปยังจีนใน พ.ศ. ๑๑๘๗ - ๑๑๘๘ ด้วย
บ้านเมืองบนแหลมมลายูสมัยศรีวิชัย (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๘)
ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๘ เป็นต้นมา บ้านเมืองบนดินแดนแหลมมลายูได้กลายเป็นเครือข่ายการค้าที่อยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย๑๓ ศูนย์กลางการค้าสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นจากการควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลบริเวณช่องแคบมะละกาและช่องแคบซุนดาซึ่งเป็นทางผ่านสำคัญของการค้าทางทะเลระหว่างซีกโลกตะวันตก-ตะวันออกในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๘) และเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในเวลานั้นด้วย ศาสตราจารย์เซเดส์เชื่อว่า ศูนย์กลางดั้งเดิมของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง บนเกาะ สุมาตรา ในเขตประเทศอินโดนีเชียปัจจุบัน ต่อมาคงจะค่อยๆ แผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาในดินแดนคาบสมุทรขึ้นมาถึงบริเวณภาคใต้ของไทยปัจจุบันด้วย ต่อมาข้อเสนอของศาสตราจารย์เซเดส์เรื่องตำแหน่งที่ตั้งศูนย์กลางของศรีวิชัยที่เมืองปาเล็มบังได้รับการโต้แย้งจากนักวิชาการหลายท่าน เช่น อาร์ ซี มาร์จุมดาร์ นักวิชาการชาวอินเดีย เสนอว่า ศูนย์กลางของศรีวิชัยน่าจะอยู่ที่เกาะชวา ต่อมาจึงย้ายมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช คลอริช เวลล์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ เสนอว่าศูนย์กลางของศรีวิชัยอยู่ที่ไชยา ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการไทยหลายท่าน (แม้ว่าภายหลัง เวลส์ ได้ยกเลิกข้อเสนอของเขาและหันไปสนับสนุนข้อสันนิษฐานของเซเดส์ตามเดิม) เช่น หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ท่านพุทธทาส เป็นต้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ หลังจากที่มีการจัดสัมมนาวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัยขึ้นเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับข้อโต้แย้งเรื่องศูนย์กลางของศรีวิชัย จึงได้มีข้อสรุปเป็นที่ยอมรับกันว่า บ้านเมืองต่างๆ ในสมัยศรีวิชัยที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูหรือบนเกาะ สุมาตราต่างมีความสัมพันธ์กันทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในลักษณะที่เป็นสมาพันธรัฐที่มีศูนย์กลางทางอำนาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผันแปรของการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่มีศูนย์กลางทางอำนาจที่แท้จริงเพื่อควบคุมบ้านเมืองอื่นที่อยู่ไกลออกไป ดังนั้นแต่ละบ้านเมืองน่าจะมีอิสระปกครองตนเอง การที่บ้านเมืองต่างๆ เหล่านั้นยอมรับเข้าร่วมในลักษณะที่เรียกว่า สมาพันธรัฐ ก็เพราะมีผลประโยชน์จากการค้าทางทะเลร่วมกัน มีระบบความเชื่ออย่างเดียวกัน คือนับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายานและศาสนาพราหมณ์เหมือนกัน ดังปรากฏร่องรอยทางด้านศิลปกรรมเนื่องในศาสนาที่เรียกว่า ศิลปะศรีวิชัย อยู่ทั้งในบริเวณเกาะสุมาตราขึ้นมาจนถึงในบริเวณคาบสมุทรมลายู
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๒ – ๒๕๓๙ มองแก็ง (Pierre-Yves Manguin) นักวิชาการจากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศได้ร่วมมือกับศูนย์โบราณคดีแห่งชาติอินโดนีเชียทำการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำรอบๆ เมืองปาเล็มบัง และได้พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ว่า ในบริเวณเขตเมืองปาเล็มบังนั้นเคยเป็นเมืองท่าโบราณและเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการศาสนาที่สำคัญของรัฐศรีวิชัยมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีการค้นพบโบราณวัตถุและสิ่งก่อสร้างต่างๆ มากมายที่มีอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ และพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใต้ซากศาสนสถานที่สร้างขึ้นภายหลัง บ่งชี้ว่าเดิมนั้นในบริเวณดังกล่าวเป็นทั้งเขตที่พักอาศัย เขตการค้า และศูนย์กลางทางศาสนาด้วย การค้นพบหลักฐานดังกล่าว ทำให้ข้อเสนอของเซเดส์ที่ว่าศูนย์กลางของศรีวิชัยอยู่ที่เมืองปาเล็มบังค่อนข้างจะมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากที่สุดในเวลานี้ ส่วนเรื่องการปกครองและอาณาเขตของอาณาจักรศรีวิชัยนั้น หลักฐานโบราณคดีที่ได้จากการขุดค้นในบริเวณแหลมมลายูและเกาะสุมาตราที่เชื่อกันว่าคือที่ตั้งอาณาจักรศรีวิชัยในอดีตทำให้มองได้ว่า ศรีวิชัยคงมิได้มีระบบการปกครองที่ถาวรและรวมศูนย์เหมือนรัฐน้อยใหญ่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จีนหรืออินเดีย ซึ่งมีรูปแบบการปกครองที่ประกอบด้วยเมืองหลักและสามารถกำหนดอาณาเขตของรัฐได้ชัดเจน บ้านเมืองต่างๆ ที่เจริญขึ้นบนแหลมมลายูในสมัยศรีวิชัยนั้นคงมีกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองตนเอง หากกษัตริย์ในบ้านเมืองหนึ่งบ้านเมืองใดมีอำนาจมากขึ้น กษัตริย์แห่งบ้านเมืองนั้นๆ ก็จะได้รับการผูกมิตร การยอมรับจากเจ้าเมืองท้องถิ่นอื่นๆ โดยการส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย การยอมรับนั้นคงจะเนื่องมาจากผลประโยชน์ทางการค้าทางทะเลที่ต้องสร้างเครือข่ายร่วมกัน และการที่กษัตริย์บ้านเมืองใดองค์หนึ่งมีอำนาจมากจนได้รับการผูกมิตรและเป็นที่ยอมรับของบ้านเมืองอื่นโดยรอบว่า ทรงเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่เพียงพระองค์เดียว ก็มิได้หมายความว่าอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหนือบ้านเมืองอื่นนั้นจะมั่นคงถาวรสืบทอดไปต่อไป เมื่อเปลี่ยนผู้นำบ้านเมืองคนใหม่ก็น่าจะขึ้นอยู่กับว่าพระองค์จะสามารถควบคุมและรักษาอำนาจการเมืองที่กษัตริย์องค์ก่อนทรงสร้างไว้ได้หรือไม่ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถกำหนดขอบเขตของอาณาจักรศรีวิชัยที่แน่นอนชัดเจนได้ เพราะมีความผันแปรทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา
บ้านเมืองสำคัญบนแหลมมลายูในสมัยศรีวิชัย
ในสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือ ๑๓ - ๑๘ มีเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้าและศูนย์กลางทางศาสนาหลายแห่งเจริญขึ้นทั้งบนฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแหลมมลายู ที่สำคัญ เป็นเมืองใหญ่และมีชื่อเสียงรู้จักกันดี ได้แก่
ชุมชนโบราณทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตั้งอยู่บนคาบสมุทรฝั่งตะวันตก ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ชุมชนที่ทุ่งตึกและบริเวณใกล้เคียงได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของฝั่งทะเลอันดามัน มีชาวอินเดียจากประเทศอินเดียตอนใต้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและสร้าง เทวสถานตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ขึ้นด้วย
เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเมืองสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยศรีวิชัยที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรฝั่งตะวันออก นักโบราณคดีเชื่อว่าเมืองไชยาคือ เมืองครหิ ที่ปรากฏหลักฐานในจารึกและเอกสารโบราณ บ้านเมืองนี้เป็นศูนย์กลางการค้าและศูนย์กลางของการเผยแผ่ศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์จากอินเดียมาก่อนสมัยศรีวิชัย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา เมืองไชยาจึงได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของศาสนาพุทธลัทธิมหายานและเป็นศูนย์กลางทางการเมืองที่สำคัญแห่งหนึ่งของศรีวิชัยบนแหลมมลายูสืบมา จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมืองไชยาจึงเสื่อมลง นอกจากนี้ยังมีเมืองท่าโบราณสำคัญในสมัยศรีวิชัยที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเมืองไชยาอีก ๓ แห่ง แห่งแรกคือ แหลมโพธิ์ เป็นเมืองท่าที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย อีกสองแห่งอยู่ใต้เมืองไชยาลงมา ในเขตอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ แหล่งโบราณคดีควนพุนพิน ซึ่งเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายาน และที่เขาศรีวิชัยเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพราหมณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ศาสนาพุทธลัทธิมหายานจึงได้แพร่หลายเข้าไป หลักฐานโบราณคดีที่พบในบริเวณเมืองไชยาและบริเวณใกล้เคียงแสดงให้เห็นว่า ไชยาเป็นศูนย์กลางของการค้าที่รวบรวมสินค้าจากประเทศจีนไปจำหน่ายต่อยังแห่งอื่นๆ และยังเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งบนแหลมลายู ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕
๑๓ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เป็นผู้บัญญัติชื่ออาณาจักรโบราณนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยอาศัยข้อมูลหลักฐานในจดหมายเหตุพ่อค้าอาหรับซึ่งเรียกบ้านเมืองนี้ว่า ศรีบูซา และในจดหมายเหตุของหลวงจีนอี้จิง เรียกบ้านเมืองนี้ว่า โฟชิ หรือ ชิลิโฟชิ เซเดส์เชื่อว่าเชื่อว่า ทั้งชิลิโฟชิ และศรีบูซา คือ อาณาจักรศรีวิชัย ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในจารึกภาษามลายูโบราณพบใกล้กับเมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา และจารึกหลักที่ ๒๓ ซึ่งเป็นจารึกภาษาสันสกฤตที่พบในภาคใต้ของประเทศไทย
เมืองนครศรีธรรมราช พบหลักฐานในจารึกที่พบในภาคใต้ของไทยและเอกสารต่างชาติว่า เดิมมีชื่อว่า ตามพรลิงค์ เป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในระบบเครือข่ายการค้านานาชาติอีกแห่งหนึ่งบนแหลมมลายูฝั่งตะวันออกในบริเวณอ่าวไทย และได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางศาสนาจากอินเดียมาก่อนสมัยศรีวิชัยด้วย ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ จึงได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งและยังเป็นศูนย์กลางสำคัญของศาสนาพราหมณ์ที่เจริญขึ้นบนแหลมมลายู จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙ ตามพรลิงค์คงเป็นอิสระจากศรีวิชัยแล้ว และมีนามเรียกใหม่ว่า นครศรีธรรมราช ตามพระนามราชวงศ์สำคัญที่ปกครองบ้านเมืองคือ ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ได้แพร่หลายเข้ามาและเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างมากจนกระทั่งเมืองนครศรีธรรมราชได้กลายเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่ศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานั้น มีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชขึ้นเป็นศูนย์กลางของบ้านเมือง ที่สำคัญยิ่งคือ ในเวลานั้นนครศรีธรรมราชได้กลายเป็นรัฐศูนย์กลางที่มีอำนาจเหนือบ้านเมืองอื่นๆ ในแหลมมลายู ดังปรากฎหลักฐานในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สถาปนาเมือง ๑๒ นักษัตรขึ้น โดยมีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ เมืองสาย (สายบุรี) เมืองปัตตานี เมืองกะลันตัน เมืองปะหัง เมืองไทรบุรี เมืองพัทลุง เมืองตรัง เมืองชุมพร เมืองบันไทยสมอ (สันนิษฐานกันว่าคือ กระบี่ ) เมืองสะอุเลา (สันนิษฐานกันว่าคือ สงขลา) เมืองตะกั่วถลาง ( อาจหมายถึงเมืองตะกั่วป่าหรือเมืองถลาง [ภูเก็ต] ) และเมืองกระ (กระบุรี)
เมืองสะทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองท่าสำคัญในสมัยโบราณอีกแห่งหนึ่งบนแหลมมลายูและเป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองในบริเวณรอบๆ ทะเลสาบสงขลา บ้านเมืองนี้มีผังเมืองที่มีระเบียบและมีขอบเขตที่ชัดเจน จากหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยจำนวนมากที่ค้นพบในบริเวณเมืองและบริเวณใกล้เคียง อาจกล่าวได้ว่า เมืองสะทิงพระน่าจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น สะทิงพระยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในการผลิตภาชนะดินเผาที่เรียกว่า หม้อกุณฑี ส่งออกไปขายยังบ้านเมืองบนเกาะสุมาตราด้วย
เมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี เชื่อกันว่าคือเมืองลังกาสุกะ ศูนย์กลางการค้าสำคัญในแถบลุ่มน้ำปัตตานีในภาคใต้ตอนล่างที่ติดต่อกับบ้านเมืองในรัฐเกดะห์ (ไทรบุรี) ในมาเลเซีย ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีทั้งที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบในเมืองโบราณแห่งนี้และในบริเวณใกล้เคียง แสดงว่าในอดีตเป็นบ้านเมืองที่เจริญขึ้นภายใต้อิทธิพลศาสนาพุทธลัทธิมหายาน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ นักโบราณคดีเชื่อกันว่า เมืองยะรัง คือศูนย์กลางของเมืองลังกาสุกะหรือเมืองลังยาเสียว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ส่วนบนแหลมมลายูตอนล่างที่เป็นเขตมาเลเซียตะวันตกปัจจุบัน มีเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้าในสมัยศรีวิชัยที่สำคัญหลายแห่ง เช่น เมืองโฟโลอัน ( Foloan) สถานที่แห่งนี้เป็นตลาดการค้าที่พ่อค้าชาวอาหรับรู้จักกันดีมีชื่อปรากฎในบันทึกพ่อค้าอาหรับ แต่ไม่ทราบที่ตั้งแน่นอน สันนิษฐานกันว่าอาจตั้งอยู่ที่กัวลา-บรังในเขตรัฐตรังกานูปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการค้นพบร่องรอยของเมืองท่าการค้าอีกหลายแห่งในเขตรัฐเกดะห์ (หรือไทรบุรี) แต่ที่สำคัญและใหญ่ที่สุด อยู่ที่บริเวณหมู่บ้าน เปงากะลัน บูจัง (Pengakalan Bujang) สถานที่แห่งนี้ เคยเป็นเมืองท่าและสถานีการค้าใหญ่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับส่งสินค้าของป่าและของทะเลจากพื้นที่โดยรอบอยู่หลายศตวรรษในสมัยศรีวิชัย๑๔
สำหรับการสิ้นสุดลงของบ้านเมืองสมัยศรีวิชัย นักวิชาการเชื่อกันว่าอาณาจักรศรีวิชัยที่เจริญรุ่งเรืองมานานได้เสื่อมลง เนื่องจากการรุกรานเข้าปล้นสะดมของกองทัพโจฬะจากอินเดียใต้ในปี พ.ศ. ๑๕๖๘ รัฐต่างๆ ทั้งบนเกาะสุมาตราและบนแหลมมลายูซึ่งขึ้นอยู่กับอาณาจักรศรีวิชัยในเวลานั้นถูกโจมตีด้วย การสงครามครั้งนั้นเป็นเหตุให้อำนาจของศรีวิชัยที่เคยยิ่งใหญ่มานานเริ่มอ่อนแอลง ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมืองนครศรีธรรมราชเครือข่ายการค้าสำคัญของศรีวิชัยบนแหลมมลายู แยกตัวออกเป็นอิสระและเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นรัฐใหญ่ที่มีอำนาจเหนือบ้านเมืองอื่นในแหลมมลายู และราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ประเทศจีนได้มีนโยบายการค้าใหม่ อนุญาตให้เอกชนทำการค้าขายกับต่างประเทศได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องอาศัยระบบการค้าแบบบรรณาการอีกต่อไป ทำให้บรรดาพ่อค้าจีนเดินทางไปยังแหล่งที่มาของสินค้าโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านศรีวิชัยศูนย์กลางทางการค้าดังแต่ก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองท่าต่างๆ บนแหลมมลายูเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและพัฒนาขึ้นเป็นรัฐใหม่ที่เข้มแข็งและมีอิสระในการทำการค้ากับจีนโดยตรง เมื่อระบบการค้าแบบบรรณาการถูกยกเลิก อำนาจของ ศรีวิชัยก็เสื่อมลงด้วย นอกจากนี้กษัตริย์แห่งราชวงศ์มัชปาหิตที่ปกครองบ้านเมืองบนเกาะชวาตะวันออก ยังได้ขยายอำนาจออกไปยังเกาะรอบนอกและขึ้นมายังเกาะสุมาตรา ทำให้อำนาจของ ศรีวิชัยสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงทั้งบนเกาะสุมาตราและบนแหลมมลายู
บ้านเมืองบนแหลมมลายูช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔
ตั้งแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยและ สมัยอยุธยา หนังสือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมะลายู บรรยายไว้ว่า ดินแดนแหลมมลายูทั้งหมดอยู่ในพระราชอาณาเขตของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา โดยอ้างหลักฐานจากศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ ๑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเอกสารโบราณต่างชาติทั้งของจีนและชาติตะวันตกคือโปรตุเกสและฝรั่งเศสเท่าที่รู้จักกันในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันข้อสันนิษฐานข้างต้นได้รับการโต้แย้งจากนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีรุ่นหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสุโขทัยนั้น ข้อสรุปใหม่เกี่ยวกับอาณาจักรสุโขทัยซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในปัจจุบัน คือ อาณาจักรสุโขทัยเป็นเพียงรัฐไทยรัฐหนึ่งในบรรดารัฐไทยที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และเมื่อแรกสถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานีนั้น อาณาเขตของสุโขทัยยังไม่กว้างใหญ่นัก มีเมืองใหญ่และมีความสำคัญเกือบจะเท่ากับเมืองสุโขทัยราชธานี คือ เมืองศรีสัชนาลัย นอกนั้นก็เป็นหัวเมืองขึ้นที่ตั้งอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำปิง ยม และน่านอีกไม่กี่เมือง ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง สุโขทัยจึงมีอำนาจมากขึ้น แต่คงมิได้มีอาณาเขตกว้างขวางดังที่ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) กล่าวไว้ ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ อาจจะเป็นเพียงการสรรเสริญพระบารมีของพ่อขุนรามคำแหงที่แผ่ไปไกลทั่วทุกสารทิศ หรือเป็นการกล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆ ที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับแคว้นสุโขทัยในรัชสมัยของพระองค์เท่านั้น ส่วนในสมัยอยุธยานั้น แม้หลักฐานฝ่ายไทย โดยเฉพาะในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯให้ชำระขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๓๘ กล่าวถึงประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาว่ามีถึง ๑๖ ประเทศ คือ เมืองมะละกา เมืองชะวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทะวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์ ๑๕ ซึ่งหลายเมืองเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายู แต่ถ้าพิจารณาหลักฐานอื่นๆ เช่น จดหมายเหตุของชาวตะวันตกที่เคยติดต่อสัมพันธ์กับอยุธยาและบ้านเมืองบนแหลมมลายู รวมทั้งเอกสารโบราณท้องถิ่นของบ้านเมืองต่างๆ บนแหลมมลายูประกอบด้วย จะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เมืองมะละกาเกิดขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐(ราว พ.ศ. ๑๙๔๓ ลงมา ซึ่งตรงกับรัชกาลของพระรามราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ช่วง พ.ศ. ๑๙๓๘ – ๑๙๕๑) นอกจากนี้อำนาจการเมืองการปกครองของกรุงศรีอยุธยาที่มีเหนือหัวเมืองต่างๆ บนดินแดนแหลมมลายูนั้นมิได้เท่าเทียมกันและมิได้มั่นคงโดยตลอดยุคสมัยหากผันแปรไปตามสถานการณ์แวดล้อม๑๖ หัวเมืองใหญ่ๆ มักจะพยายามประกาศตัวเป็นอิสระจากอยุธยาอยู่บ่อยครั้ง และพยายามหาพันธมิตรซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งอื่นๆ เพื่อป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองจากอยุธยา แต่ในบางช่วงเวลาบางหัวเมืองเหล่านั้นซึ่งเป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่งขันกันมา ก็ยังทำสงครามกันเองเพื่อทำลายหรือครอบครองดินแดนของคู่แข่ง ในบรรดาเมืองใหญ่สำคัญบนแหลมมลายูที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองของอยุธยาอย่างใกล้ชิดตลอดยุคสมัยของอยุธยา คือเมืองนครศรีธรรมราช จากแรกเริ่มในฐานะประเทศราช ภายหลังจึงถูกรวมไว้ภายในขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรอยุธยาในฐานะเป็นเมืองพระยามหานครและหัวเมืองเอกตามลำดับ สำหรับเมืองสำคัญอื่นๆ นั้นผันแปรไปตามสถานการณ์ทางการเมือง ดังนี้
๑๔ สนใจดูรายละเอียดได้ใน Michel JACQ-HERGOUALC’H. La Civilisation de Ports-Entrepôts du Sud Krdah (Malaysia) Ve – XIVe siècle, (Paris: Editions L’HARMATTAN, 1992).
๑๕ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศเจิม ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๔ .( พระนคร: โรงพิมพ์ไทยพณิชยการ,พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนายแม ชวลิต และ นายชาย ชวลิต ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๐๓) หน้า ๑ – ๒
๑๖ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ใน คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม, ยงยุทธ ชูแว่น บรรณาธิการ,(กรุงเทพฯ: นาคร, ๒๕๕๐)
เมืองนครศรีธรรมราช ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เดิมมักอธิบายกันทั่วไปว่า เมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในเขตพระราชอำนาจของกษัตริย์แห่งสุโขทัย โดยอ้างหลักฐานจากจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ที่กล่าวถึงอาณาเขตทางใต้ของสุโขทัยว่า เบื้องหัวนอน (ทิศใต้) รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว แต่ถ้าพิจารณาหลักฐานประวัติศาสตร์และหลักฐานโบราณคดีรวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของรัฐสุโขทัยและเมืองนครศรีธรรมราชประกอบด้วย จะเห็นได้ว่าในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙ เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้านานาชาติที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งบนแหลมมลายู และมีอำนาจเหนือบ้านเมืองอื่นๆ บนแหลมมลายู อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่ศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย นอกจากนี้บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งอยู่ทางใต้รัฐสุโขทัยลงมาในเวลานั้น เป็นที่ตั้งบ้านเมืองใหญ่และสำคัญ ๒ แห่ง คือแคว้นละโว้และสุพรรณภูมิ ดังนั้นเมืองนครศรีธรรมราชไม่น่าจะเป็นประเทศราช หรือเป็นเมืองขึ้นที่อยู่ในขอบขันฑสีมาของสุโขทัยซึ่งเป็นรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อรัฐสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองขึ้นทางเหนือในบริเวณลุ่มแม่น้ำยม เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งอยู่ทางใต้อาจจะมีการติดต่อสัมพันธ์กับสุโขทัยและยอมรับในอำนาจของกษัตริย์สุโขทัยในฐานะมิตรประเทศในสมัยพ่อขุนรามคำแหง (ราวพ.ศ. ๑๘๒๒ – ๑๘๔๒) เพราะมีหลักฐานชัดเจนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงกับนครศรีธรรมราช คือเรื่องของการเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชขึ้นไปยังกรุงสุโขทัย
ต่อมาราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมืองนครศรีธรรมราชมีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่าเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศราช ๑๖ แห่งของอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปีพ.ศ. ๑๘๙๓ โดยมีเจ้าเมืองท้องถิ่นปกครองตนเองแต่ต้องถวายทั้งดอกไม้เงินดอกไม้ทองและต้องถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาด้วย จนกระทั่งราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชจึงถูกลดลงมาเป็นเมืองพระยามหานครของอยุธยา แต่ยังมีอำนาจเหนือบ้านเมืองหลายแห่งในแหลมมลายู รวมทั้งยังสามารถ ทำการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกคือบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากกษัตริย์อยุธยาด้วย๑๗ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เมืองนครศรีธรรมราชมีฐานะเป็นเพียงหัวเมืองเอก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งพระยารามเดโชทหารเอกเชื้อสายอาหรับนับถือศาสนาอิสลามลงมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เมื่อพระเพทราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช คือพระยารามเดโชไม่ยอมรับในอำนาจของพระเพทราชาและคิดแข็งเมืองปฏิเสธที่จะเข้ามาถือน้ำพิพัฒนสัตยา แต่ทางอยุธยาส่งกองทัพไปปราบได้ในปี พ.ศ. ๒๒๓๔ จากนั้นเมืองนครศรีธรรมราชยังมีฐานะเป็นหัวเมืองสำคัญทางใต้ของกรุงศรีอยุธยาสืบมา จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระปลัด (หนู) ผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้รวมตัวกับหัวเมืองภาคใต้อีกหลายเมืองประกาศตัวเป็นอิสระ ซึ่งรู้จักกันในนามว่า ก๊กเจ้านคร หรือชุมนุมเจ้านคร
จากเหตุการณ์ที่ได้กล่าวสรุปมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจสำคัญเหนือดินแดนแหลมมลายูมาก่อนนั้น ค่อยๆ ถูกลดทอนอำนาจลงโดยอาณาจักรอยุธยาอย่างแท้จริง จนกระทั่งราชสำนักอยุธยาสามารถแทรกแซงเข้ามาสถาปนาอำนาจของตนขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช และใช้นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางการบริหารการปกครองบนแหลมมลายูมาจนกระทั่งเสียกรุงแก่พม่าในปีพ.ศ. ๒๓๑๐
สงขลา๑๘ เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งบนแหลมมลายู ที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากเมืองสทิงพระที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในสมัยศรีวิชัยหมดความสำคัญลง ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีชื่อเมืองสงขลารวมอยู่ในบรรดาประเทศราช ๑๖ เมืองของกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เจ้าเมืองสงขลาต้องถวายดอกไม้ทองเงินและเครื่องราชบรรณาการต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ประวัติความเป็นมาของเมืองสงขลา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ากำเนิดขึ้นเมื่อใด ข้อมูลที่ได้จากบันทึกของพ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่เมืองปัตตานีในปี พ.ศ. ๒๑๔๗ และได้เดินทางมาติดต่อกับเมืองสงขลาด้วย สรุปได้ว่า ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เมืองสงขลาเป็นเมืองท่าสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค และยอมสวามิภักดิ์กับอยุธยาโดยอยู่ภายใต้การดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชอีกต่อหนึ่ง แต่เหมือนว่าเมืองสงขลาอยู่นอกระบบการปกครองของอยุธยา สามารถดำเนินนโยบายทางการเมืองของตนได้อย่างเป็นอิสระ เพราะเจ้าเมืองสงขลาซึ่งเป็นมุสลิม ๑๙ มิใช่บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากราชธานี จึงสามารถอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปทำการค้าขายเสรีโดยไม่ต้องเสียภาษี เพียงให้ของกำนัลแก่เจ้าเมืองเท่านั้น สินค้าสำคัญจากสงขลาในเวลานั้น คือ พริกไทย ดีบุก รังนก ข้าวและของป่า การค้าของเมืองสงขลาเจริญรุ่งเรืองมาก มีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายกับสงขลา และตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองสงขลาด้วย ที่สำคัญคือชาวจีน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการค้าและช่วยพัฒนาเมืองอย่างมาก มีชุมชนชาวจีนตั้งหลักแหล่งอยู่อย่างมั่นคงเพื่อทำการค้าขาย และเป็นเจ้าของอู่ต่อเรือที่ดี และมีชื่อเสียงไปทั่ว ส่งผลให้สงขลาเจริญรุ่งเรืองมีทั้งความมั่งคั่งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. ๒๑๘๕ เจ้าเมืองสงขลาจึงแข็งเมืองไม่ยอมส่งดอกไม้ทองเงิน รวมทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงศรีอยุธยาอย่างที่เคยปฏิบัติมา แม้ทางกรุงศรีอยุธยายกกองทัพมาปราบหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๘๙ เมืองสงขลายังหันไปร่วมมือกับไทรบุรี (คือรัฐเกดะห์ที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตอนล่างในเขตมาเลเซียตะวันตก ซึ่งในเวลานั้นไม่ยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน) ต่อต้านอำนาจของอยุธยา โดยยกทัพเข้ายึดเมืองพัทลุงเพราะพัทลุงช่วยอยุธยาเข้าโจมตีสงขลา ทำให้กษัตริย์อยุธยาในเวลานั้นคือพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๒ – ๒๑๙๙) ส่งกำลังมาปราบเมืองสงขลาและไทรบุรี โดยการสนับสนุนของกองเรือฮอลันดา แต่กองทัพอยุธยาก็ไม่สามารถตีสงขลาได้ ส่วนกองเรือฮอลันดาสามารถเข้ายึดไทรบุรีได้ ทำให้ไทรบุรีต้องย้อมอ่อนน้อมส่งเครื่องราชบรรณาการให้อยุธยา
ในปี พ.ศ. ๒๑๙๒ สงขลาพยามยามลดทอนอำนาจของอยุธยาลง โดยยกทัพเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราช และยึดเอาพัทลุงไว้ในอำนาจได้อีกด้วย ทำให้เมืองสงขลามีอำนาจเหนือบ้านเมืองอื่นๆ ในภาคใต้ ต่อมาสงขลายังพยายามขยายอำนาจไปยังเมืองปัตตานี ทำให้เกิดสงครามระหว่างเมืองสงขลาและปัตตานี เป็นสงครามยืดเยื้อหลายปีเพราะไม่อาจเอาชนะกันได้ ครั้นถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) อยุธยาได้ส่งกองทัพลงมาตีเมืองสงขลาโดยความช่วยเหลือจากเมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ทำลายเมืองย้ายผู้คนออกไปอยู่ที่อื่น และยกเมืองสงขลาให้ฝรั่งเศส แต่ทางฝรั่งเศสปฏิเสธเพราะสภาพเมืองเสียหายถูกทำลายจนหมดสิ้น ต่อมาภายหลังได้มีการตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่บริเวณเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ข้อมูลที่ได้จากตำนานเมืองปัตตานี (Hikayat Patani) ทำให้ทราบว่า ในปี พ.ศ. ๒๒๓๑ สงขลาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของปัตตานีแต่เป็นเพียงระยะสั้นๆ พร้อมกับเมืองพัทลุงและไทรบุรี ต่อมาปัตตานีเกิดปัญหาการเมืองภายในเนื่องจากขุนนางแตกออกเป็นสองฝ่ายและแย่งชิงอำนาจกันเอง ทำให้ปัตตานีอ่อนแอลง สงขลากลับเข้มแข็งขึ้นมาใหม่พร้อมๆ กับเมืองพัทลุง และเป็นอิสระจากอยุธยาอย่างแท้จริง มีเจ้าเมืองท้องถิ่นที่สืบทอดอำนาจกันสืบมาปกครองตนเอง ประกอบการค้าอย่างอิสระ มีเรือสินค้าของสงขลาไปค้าขายที่ญี่ปุ่น โดยมีชาวจีนเป็นผู้ประกอบการที่สำคัญ จนกระทั่งราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ หลังจากที่อยุธยาฟื้นฟูศูนย์อำนาจอันเป็นตัวแทนของอยุธยาขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช โดยส่งขุนนางจากราชสำนักมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อควบคุมหัวเมืองทางใต้ไว้ ราชสำนักอยุธยาจึงเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในสงขลาได้ โดยให้สงขลาอยู่ภายใต้การควบคุมของนครศรีธรรมราช จากสถานะที่เป็นอิสระกลายมาเป็นเมืองในราชอาณาจักรอยุธยาในที่สุด แต่หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พระปลัด (หนู) ผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชรวมตัวกับหัวเมืองภาคใต้อีกหลายเมืองประกาศตนเป็นอิสระ ซึ่งรู้จักกันในนามว่า ก๊กเจ้านคร หรือชุมนุมเจ้านคร ซึ่งมีเมืองสงขลารวมอยู่ด้วย แต่หลังจากที่พระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพลงมาปราบเจ้านครศรีธรรมราชได้แล้ว ได้ยกเมืองสงขลาให้ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช แต่ต่อมาได้โปรดเกล้าให้ขึ้นกับกรุงธนบุรีโดยตรง
๑๗ ศิลปากร,กรม. บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ ๑๗, เล่ม ๑, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๒) หน้า ๑๓๒ – ๑๓๓ และ ๑๓๘
๑๘ มีคำอธิบายถึงที่มาของชื่อเมืองต่างๆ กันคือ ในบันทึกของพ่อค้าชาวอาหรับเปอร์เซีย (พ.ศ. ๑๙๙๓ - ๒๐๙๓) เรียกว่า ซิงกูร์ หรือสิงกอรา ในหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของ นิโกลาส แวร์แวส เรียกว่า สิงขร ส่วนชาวอินเดียเรียกว่า สิงหลา แขกมลายูที่เข้ามาค้าขายออกเสียงเพี้ยนเป็น เซ็งคอรา จากนั้นคนไทยพื้นถิ่นเรียกว่า สงขลา เกี่ยวกับเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า สงขลา เดิมชื่อ สิงหนคร (อ่านว่า สิง –หะ –นะ-คะ-ระ) แต่แขกมลายูพูดเร็วและออกเสียงเพี้ยนเป็น สิงคะรา สิงโครา ซิงกอรา
๑๙ เจ้าเมืองสงขลาและประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองสงขลาเดิมนั้น เชื่อกันว่าเป็นชาวมุสลิมที่อพยพมาจากเกาะชวา มาตั้งถิ่นฐานอยู่บนแหลมมลายูตรงปลายคาบสมุทรสะทิงพระบริเวณเขาหัวแดง ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะแก่การแวะพักจอดเรือสินค้า เพราะติดกับชายฝั่งทะเล มีเขาหัวแดงเป็นกำแพงธรรมชาติคอยขวางกั้นคลื่นลมไว้ จึงสามารถพัฒนาให้เป็นเมืองท่าการค้าทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค ในบันทึกของชาวฮอลันดาเรียกชื่อเจ้าเมืองสงขลาว่า “โมกุล” แต่ในบันทึกของชาวอังกฤษเรียกว่า “ดาโต๊ะโกมอลล์”
เมืองปัตตานี ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตอนล่างฝั่งตะวันออกในเขตภาคใต้ของไทยปัจจุบัน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเมืองปัตตานีกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่ นักวิชาการเชื่อกันว่าหลังจากที่เมืองลังกาสุกะ (ที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณยะรัง) เสื่อมลงเนื่องจากชายฝั่งทะเลถอยห่างไปจากเดิม ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งเดิมไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองท่าค้าขายต่อไป จึงได้มีการย้ายมาสร้างเมืองปัตตานีขึ้นและได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนกลายเป็นรัฐสำคัญรัฐหนึ่งบนแหลมมลายู ข้อมูลจากหลักฐานเอกสารประเภทพงศาวดารหรือตำนานเมืองปัตตานี เช่น ฮิกายัต ปัตตานี (Hikajat Pattani) สรุปได้ว่าเมืองปัตตานี เจริญรุ่งเรืองขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา มี เจ้าเมืองเป็นมุสลิม เรียกว่าสุลต่าน ปัตตานีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๙ – ๒๐๓๑) ต้องส่งต้นไม้ทองเงิน และเครื่องบรรณาการถวายกษัตริย์แห่งอยุธยา ต่อมาในรัชสมัยของพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒) ทรงยินยอมให้โปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานีการค้าตามหัวเมืองชายฝั่งทะเล ซึ่งรวมทั้งเมืองปัตตานีด้วย ทำให้ปัตตานีกลายเป็นเมืองท่าและสถานีการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพ่อค้าตะวันตกเดินทางมาซื้อสินค้าพื้นเมือง ได้แก่ ไม้กฤษณา ไม้ฝาง เครื่องเทศ ของป่า งาช้าง นอแรด นอกจากนี้ยังปัตตานียังเป็นจุดรับส่งสินค้าที่มาจากต่างถิ่นได้แก่ เครื่องถ้วยชาม อาวุธ ดินปืน ดีบุกและผ้าไหมด้วย ด้วยกิจการค้าดังกล่าวทำให้ปัตตานีมีความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด เมืองปัตตานีเป็นหัวเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนา อิสลาม มีการก่อสร้างมัสยิดขึ้นในบ้านเมืองหลายแห่งสำหรับใช้ประกอบศาสนกิจ มัสยิดใหญ่ประจำเมืองคือ มัสยิดกรือเซะ ที่ยังปรากฏหลักฐานให้เห็นในปัจจุบัน
ปัตตานีเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยามาจนถึงในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) ในขณะที่อยุธยาทำสงครามกับพม่า กองทัพปัตตานีถูกเกณฑ์ไปช่วยทำสงคราม แต่เมื่อฝ่ายอยุธยากำลังเสียเปรียบพม่า กองทัพปัตตานีถือโอกาสบุกยึดพระบรมมหาราชวังแต่ไม่สำเร็จ เจ้าเมืองปัตตานีหนีไปได้ (นักวิชาการมาเลเซีย กล่าวว่าการกบฏครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสุลต่านผู้ครองปัตตานีเคยได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามจากราชสำนักสยามเมื่อครั้งมาเจริญสัมพันธไมตรีครั้งแรกจึงต้องการแก้แค้น) หลังจากนั้นมา ปัตตานีก็เป็นอิสระอยู่ระยะหนึ่ง เพราะอยุธยาเสียกรุงให้แก่พม่าครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๑๑๒ และต่อมาแม้จะประกาศอิสรภาพได้แต่อยุธยาก็ต้องทำศึกกับพม่าและเขมรต่อมาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่เป็นอิสระจากอยุธยา ปัตตานีก็ต้องเผชิญศึกกับบ้านเมืองมลายูอื่นๆที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง ดังนั้นเมื่ออยุธยาเจริญรุ่งเรืองมีอำนาจกล้าแข็งขึ้นภายใต้การนำของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปัตตานีจึงหันมาสานสัมพันธ์กับอยุธยา และยอมเป็นประเทศราชของอยุธยาอีกครั้งเพื่อมิให้บ้านเมืองมลายูอื่นๆ คิดรุกราน จนกระทั่งในสมัยราชินีอุงงูปกครองปัตตานี ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๒ - ๒๑๙๙) ปัตตานีปฏิเสธที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายและปฎิเสธการเฉลิมพระนามว่า เจ้าพระยา ซึ่งเป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ของอยุธยาที่พระราชินีองค์ก่อนของปัตตานี ๒ พระองค์เคยทรงใช้มา นอกจากนี้ยังยกพระธิดาคือ ราจา กุนิง (ซึ่งในเวลานั้นเป็นหม้ายเพราะเคยแต่งงานกับออกญาเดโช ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและเป็นเจ้าเมืองพัทลุงและได้ถึงแก่กรรมแล้ว) ให้แก่สุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ ถือเป็นการตัดสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสายตระกูลที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นตัวแทนทางใต้ของอยุธยาด้วย ทางอยุธยาจึงส่งกองทัพมาปราบปราม แต่ปัตตานีก็ต่อต้านได้ด้วยความช่วยเหลือของรัฐยะโฮร์ ความขัดแย้งระหว่างอยุธยาและปัตตานีจบลงเมื่อพระราชินีอุงงูสิ้นพระชนม์และพระธิดากุนิงขึ้นครองราชย์สืบมา และทรงสานสัมพันธ์กับอยุธยาใหม่ ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายในฐานะประเทศราชอีกครั้ง แต่เจ้าผู้ครองนครปัตตานีมีสิทธิในการปกครองโดยเสรี ในรัชสมัยของพระราชินีกุนิงปัตตานีเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งมากจากการค้า ในช่วงเวลานี้ปัตตานีเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น เป็นพันธมิตรกับรัฐมลายูอื่นๆ คือยะโฮร์และปะหัง รวมทั้งมะละกา (ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของโปรตุเกส) ต่อมาปัตตานีจึงประกาศตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งซึ่งตรงกับสมัยพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๕) หลังจากนั้นปัตตานีก็เป็นอิสระจากอยุธยาต่อเนื่องมาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ อย่างไรก็ดีในช่วงหลังที่ปัตตานีเป็นอิสระจากอยุธยา ปัตตานีก็เริ่มอ่อนแอลงจากปัญหาการเมืองภายใน มีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างขุนนางที่แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย บ้านเมืองไม่มีปกติสุข เกิดการตีชิงปล้นสะดมกันมิขาด
เรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าปัตตานีได้พัฒนาขึ้นเป็นรัฐที่เป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของวัฒนธรรมมลายู แม้จะเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาที่ต้องถวายเครื่องราชบรรณาการมาตั้งแต่ระยะแรกๆ โดยเจ้าเมืองปัตตานีมีอิสระในการปกครองและสามารถพัฒนาบ้านเมืองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญที่มั่งคั่งและมีอำนาจมากแห่งหนึ่งบนแหลมมลายู อย่างไรก็ดีปัตตานีกับอยุธยามีปัญหากันบ่อยครั้ง เนื่องจากปัตตานีพยายามต่อต้านอำนาจอยุธยาด้วยการปฏิเสธที่จะถวายเครื่องราชบรรณาการตามประเพณี และได้สร้างสายสัมพันธ์กับรัฐมลายูอื่นๆ เพื่อต่อต้านการรุกรานของอยุธยา จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ปัตตานีจึงประกาศเป็นอิสระจากอยุธยาจนกระทั่งอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐
ถลาง หรือ ภูเก็ต เป็นเกาะอยู่บริเวณติดแหลมมลายูฝั่งตะวันตก เป็นดินแดนที่มีผู้คนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ ดีบุก จากข้อมูลในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ เกาะภูเก็ตคงเป็นเมืองตะกั่วถลาง ๑ ใน ๑๒ เมืองบริวารของนครศรีธรรมราช และในเวลานั้นนครศรีธรรมราชส่งดีบุกไปขายที่จีน ภูเก็ตคงเป็นแหล่งผลิตดีบุกที่สำคัญของนครศรีธรรมราช และตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา เมื่อเมืองนครศรีธรรมราชตกเป็นประเทศราช และถูกลดฐานะลงมาเป็นเมืองพระยามหานครและหัวเมืองเอกของกรุงศรีอยุธยาตามลำดับ เกาะภูเก็ตก็ตกอยู่ใต้อำนาจการเมืองของกรุงศรีอยุธยาภายใต้การดูแลของนครศรีธรรมราชมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ช่วงที่รัฐมะละกาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค ภูเก็ตคงจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับมะละกาด้วย และเมื่อโปรตุเกสยึดครองเมืองมะละกาได้ในปี พ.ศ. ๒๐๕๗ ได้มีชาวโปรตุเกส เข้ามาตั้งถิ่นฐานลงบนเกาะนี้เพื่อค้าดีบุก และในช่วงปี พ.ศ. ๒๑๒๖ – ๒๑๓๕ โปรตุเกสได้ตั้งห้างรับซื้อดีบุกในภูเก็ต เพื่อทำการผูกขาดดีบุกให้ผ่านมือตนแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จก็ปิดกิจการไป ครั้นพวกฮอลันดามีอิทธิพลมากขึ้น จึงได้เข้าไปทำการผูกขาดการซื้อขายแร่บนเกาะภูเก็ตใน พ.ศ. ๒๑๖๙ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ทำให้มีการกดราคารับซื้อดีบุก ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวเมืองเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๑๐ (ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. ๒๑๙๙- ๒๒๓๑) พวกฮอลันดาบนเกาะภูเก็ตจึงถูกพวกชาวเมืองกับพวกแขกมลายูฆ่าฟันล้มตายหมดสิ้น ทำให้พวกฮอลันดาเลิกกิจการบนเกาะภูเก็ตไปอย่างเด็ดขาด ในปี พ.ศ. ๒๒๒๙ ราชสำนักอยุธยาอนุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสผูกขาดดีบุกในเกาะภูเก็ตแต่เพียงผู้เดียว แต่อำนาจของฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลงทันที่หลังจากสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลังจากนั้นถลางก็มีเจ้าเมืองปกครองโดยอยู่ภายใต้การดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชสืบมาจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐
แผนที่แสดงอาณาบริเวณราชอาณาจักรสยามและบ้านเมืองสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วาดโดยบาทหลวง Placide de Saint Hélène ที่เดินทางมายังอยุธยาพร้อมกับคณะทูตฝรั่งเศส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปีพ.ศ. ๒๒๒๙
ที่มาของภาพ : ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช, กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง.(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน,๒๕๔๙) หน้า ๗๐.
ส่วนบนแหลมมลายูตอนล่างที่เป็นเขตมาเลเซียตะวันตกปัจจุบัน มีบ้านเมืองที่เกิดใหม่ซึ่งผู้นำบ้านเมืองสืบเชื้อสายมาจากราชตระกูลแห่งศรีวิชัยและเจริญรุ่งเรืองขึ้นกลายเป็นรัฐสำคัญในช่วงเวลานี้หลายแห่ง ที่สำคัญ ได้แก่
มะละกา (Malacca หรือ Melaca) ทายาทแห่งอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแหลมมลายูตอนล่าง ในเขตมาเลเซียตะวันตก ติดกับช่องแคบมะละกา ประวัติความเป็นมาของเมืองมะละกาที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารมลายูซึ่งบันทึกขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ รวมทั้งในงานเขียนของ โตเม ปิเรส (Tomé Pires) ชาวโปรตุเกสที่ถูกส่งมาอยู่ที่มะละกาในปีพ.ศ. ๒๐๕๗ หลังจากที่โปรตุเกสยึดครองมะลากา๒๐ สรุปได้ว่า ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เจ้าชายปรเมศวรแห่งเมืองปาเล็มบังซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ศรีวิชัยทรงลี้ภัยจากปาเล็มบังบนเกาะสุมาตราพร้อมด้วยบริวารชาวมลายู (เพื่อให้พ้นจากอำนาจของชวา) ไปอยู่ที่เตมาสิก (Temasek) หรือประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบันซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของอยุธยา ต่อมาเจ้าชายปรเมศวรได้สังหารผู้ปกครองเตมาสิกและขึ้นปกครองบ้านเมืองแทน จึงต้องต่อสู้กับกองทัพจากอยุธยาและหนีไปอยู่ตามชายฝั่งทะเลของแหลมมลายู จนในที่สุดก็มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองมะละกา (ซึ่งเดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวมลายูพื้นเมืองที่เป็นชาวประมง) และดำเนินชีวิตด้วยการปล้นสะดม ทำการประมง การค้าเล็กๆน้อยๆ และเก็บค่าธรรมเนียมเรือสินค้าที่ผ่านไปมา ต่อมาเจ้าชายปรเมศวรมองเห็นประโยชน์ทางการค้าที่จะได้จากประเทศจีน รวมทั้งประโยชน์ทางการเมืองจากจีนที่จะช่วยให้มะละการอดพ้นจากการคุกคามของอยุธยารัฐมหาอำนาจซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ (มีหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า สมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในปี พ.ศ. ๑๙๙๘ โปรดให้แต่งทัพไปเอาเมืองมะละกา)
ในเวลาเดียวกันนั้นทางจีนซึ่งเป็นรัฐมหาอำนาจของเอเชีย เริ่มออกแสวงหาผลประโยชน์การค้าทางทะเลและเครื่องราชบรรณาการจากรัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่ง และทางราชสำนักจีนทราบว่ามีดินแดนที่เพิ่งสร้างขึ้นเป็นบ้านเมืองชื่อ มะละกา เป็นที่พักของนักเดินเรือและพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางมาเพื่อหลบลมมรสุมหรือรอลมมรสุมอยู่เสมอๆ๒๑ ดังนั้นจักรพรรดิจีนจึงส่งคณะทูตเดินทางไปมะละกาทันที คณะทูตจีนเดินทางถึงมะลากาในกลางปี พ.ศ. ๑๙๔๗ และขากลับคณะทูตจากมะละกาก็ร่วมเดินทางไปจีนด้วย จีนได้ต้อนรับคณะทูตเป็นอย่างดีและแต่งตั้งให้เจ้าชายปรเมศวรเป็นเจ้าเมืองมะละกา ต่อมาเจ้าชายปรเมศวรยังได้เดินทางไปเฝ้าจักรพรรดิจีนด้วยพระองค์เองด้วย และได้รับการยอมรับจากจักรพรรดิจีนซึ่งให้คำรับรองว่าจะพิทักษ์คุ้มครองให้พ้นจากอำนาจอยุธยา จากนั้นมามะละกาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าที่ยิ่งใหญ่ในระยะต่อมา
ครั้งถึงสมัยศรีมหาราชประมุขแห่งมะละกาคนที่ ๓ (พ.ศ. ๑๙๖๗ – ๑๙๘๘) ถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์มะละกา เพราะประมุขท่านนี้หันมานับถือศาสนาอิสลามพร้อมทั้งเปลี่ยนพระนามเป็น สุลต่านฮัมมัดชาห์ ทำให้ศาสนาอิสลามแพร่หลายเข้ามาในบ้านเมือง ครั้นถึงสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ (พ.ศ. ๑๙๘๙- ๒๐๐๒) มะละกาได้กลายเป็นรัฐอิสลามโดยสมบูรณ์ ทางอยุธยา (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) ได้ส่งกองทัพมาทางบกจาก ปาหังเพื่อโจมตีมะละกา แต่ด้วยความช่วยเหลือของผู้นำท้องถิ่นที่อยู่รอบนอกได้รวมกำลังกันช่วยสุลต่านแห่งมะละกา กองทัพอยุธยาต้องถอยหนีไป แต่ไม่นานอยุธยาก็ยกทัพมาตีมะละกาอีกครั้งโดยทางทะเล แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้กลับไป แต่หลังจากที่กองทัพอยุธยากลับไปแล้ว สุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ แห่งมะละกาได้ส่งคณะทูตไปสร้างสัมพันธไมตรีกับอยุธยา พร้อมๆ กับส่งคณะทูตไปยังประเทศจีนเพื่อให้จีนรับรองฐานะของพระองค์ด้วย จากนั้นมะละกาก็ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความเจริญสูงสุดเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในภูมิภาค ที่มีทั้งความมั่งคั่งและมีอำนาจครอบคลุมแหลมลายูตอนล่างทั้งหมด และรวมไปถึงพื้นที่บนเกาะสุมาตราส่วนใหญ่ด้วย เพราะสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบ้านเมืองใกล้เคียงที่นับถือศาสนาอิสลามรวมทั้งพ่อค้าจากโลกมุสลิม มีพ่อค้าจากอาหรับ จีน อินเดียและดินแดนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาติดต่อค้าขายในมะละกาจำนวนมาก นอกจากนี้มะละกายังกลายเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนาอิสลามรวมทั้งภาษาและวัฒนธรรมมลายูเข้าไปยังบ้านเมืองบนแหลมมลายูและบนหมู่เกาะต่างๆ
แผนที่แสดงอาณาบริเวณของรัฐสุลต่านมะละกาก่อนโปรตุเกสเข้ายึดครอง
ที่มา: Wheatly, P., The Golden Khersonese, (Kuala Lumpur, University of Malaya Press, 1966) p. 310.
แผนที่แสดงอาณาบริเวณรัฐสุลต่านมะละกาก่อนโปรตุเกสเข้ายึดครอง
ที่มา: บาร์บารา วัตสัน อันดายา และ ลีโอนาร์ด วาย, อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย (A History of Malaysia), แปลเป็นไทยโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, มนัส เกียรติธารัย บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑) หน้า (๕๗)
๒๐ ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์และบรูไน . รองศาสตราจารย์ทองสุก เกตุโรจน์ แปลจาก C. Mary Turnbull, A history of Malasia, Singapore and Brunei, (กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๕๐ หน้า ๕๐
๒๑ ตำแหน่งที่ตั้งและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของมะละกา ทำให้ดินแดนนี้เป็นท่าเรือที่เหมาะสมมาก มีเกาะสุมาตราช่วยกำบังลมมรสุมได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นคือมะละกาตั้งอยู่ในจุดที่แคบที่สุดในช่องแคบมะละกา มีร่องน้ำลึกอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลของแหลมมลายู ทำให้สามารถควบคุมการเดินเรือได้เป็นอย่างดี
จนกระทั่งราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ความยิ่งใหญ่ของมะละกาภายใต้การปกครองระบบสุลต่านของมะละกาก็สิ้นสุดลง เมื่อโปรตุเกสชาติมหาอำนาจในการเดินทะเลแห่งยุโรปมุ่งมาเอเชียเพื่อครอบครองเมืองสำคัญๆ ที่เป็นเครือข่ายการค้าเครื่องเทศ (ซึ่งมีค่าเสมือนทองคำหรือเพชรพลอยในยุโรปเพราะมีสรรพคุณในการปรุงอาหาร ถนอมอาหารรวมทั้งใช้เป็นยารักษาโรค) ของพวกมุสลิม มะละกาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของโปรตุเกส อะฟองโซ เดอ อัลบูเคิร์ก (Alfonso de Albuquergue) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการหรืออุปราชแห่งจักรวรรดิทางเอเชียของโปรตุเกส ได้นำกองทัพเรือเข้าจู่โจมและยึดเมืองมะละกาได้ ใน พ.ศ. ๒๐๕๔ เมื่อยึดครองมะละกาได้ โปรตุเกสก็ประกาศชัยชนะด้วยการขับไล่พ่อค้ามุสลิมออกไป ทำลายมัสยิดสำคัญ และสร้างป้อมปราการของตนขึ้นแทน เมื่อมะละกาตกอยู่ในการปกครองของโปรตุเกส ทำให้ภาษาและศิลปวัฒนธรรมโปรตุเกสเข้ามามีบทบาทในบ้านเมืองมากขึ้น โปรตุเกสทำให้มะละกาเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่สำคัญในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นที่รวมของพ่อค้าชาติต่างๆ ที่เข้ามาค้าขาย อย่างไรก็ดีในระหว่างที่โปรตุเกสยึดครองมะละกาอยู่นั้น โปรตุเกสต้องเผชิญกับการต่อต้านจากชาวมลายูที่รวมตัวกันขึ้นที่เมืองยะโฮร์และยกทัพมารบพุ่งและปิดล้อมมะละกาอยู่หลายครั้ง แต่โปรตุเกสก็ต้านทานไว้ได้
ภาพวาดป้อมที่โปรตุเกสสร้างขึ้นในมะละกา
ที่มา:บาร์บารา วัตสัน อันดายา และ ลีโอนาร์ด วาย, อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย (A History of Malaysia), แปลเป็นไทยโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, มนัส เกียรติธารัย บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์๒๕๕๑) หน้า ๕๙.
จนกระทั่งราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ชาวฮอลันดาชาติตะวันตกคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของโปรตุเกสซึ่งตั้งสถานีการค้าอยู่บนเกาะชวาในเวลานั้น ต้องการขจัดโปรตุเกสคู่แข่งทางการค้าออกไป จึงหันมาทำสงครามเพื่อครอบครองดินแดนมะละกา กองทัพฮอลันดาร่วมกับกองทัพชาวมลายูจากรัฐยะโฮร์ (ซึ่งพยายามต่อต้านและช่วงชิงเมืองมะละกาจากโปรตุเกสมาหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ) นำเรือเข้าปิดล้อมโจมตีเมืองมะละกาครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๑๕๙ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ การบุกมะละกาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๑๘๓ และยึดเมืองได้ใน พ.ศ. ๒๑๘๔ เมืองมะละกาถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ เมื่อฮอลันดาเข้าปกครองมะละกา จึงต้องสร้างบ้านเมืองใหม่ขึ้น แต่มิได้ฟื้นฟูให้มะละกาเป็นศูนย์กลางการค้าของตน เพราะวัตถุประสงค์ของการเข้ายึดครองมะละกานั้นเพื่อขจัดคู่แข่งทางการค้าคือโปรตุเกสออกไป ในช่วงนี้ศูนย์กลางการค้าสำคัญของภูมิภาคย้ายไปอยู่ที่เมืองปัตตาเวีย (คือกรุงจาการ์ต้าในปัจจุบัน) บนเกาะชวาซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของฮอลันดา เมืองมะละกาก็หมดความสำคัญเพราะฮอลันดาใช้มะละกาเป็นเพียงคลังสินค้าของตนเท่านั้น มะละกาอยู่ภายใต้การปกครองของฮอลันดายาวนานถึง ๑๕๐ ปี
ยะโฮร์ เป็นรัฐที่สถาปนาขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ หลังจากที่มะละกาถูกโปรตุเกสยึดครอง สุลต่านแห่งมะละกาหนีไปได้และพยายามทำสงครามเพื่อยึดเมืองมะละกาคืนจากโปรตุเกสแต่ไม่สำเร็จและได้สิ้นพระชนม์ลง สุลต่านองค์ใหม่ซึ่งเป็นราชบุตรของสุลต่านองค์ก่อนได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำยะโฮร์ ในบริเวณแหลมมลายูตอนล่าง และพยายามคุกคามก่อกวนให้เกิดการจลาจลใน มะละกาอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๐๗๘ โปรตุเกสจึงบุกเผาเมืองที่สร้างขึ้นใหม่จนราบเรียบ ชาวยะโฮร์พากันหนีไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางตอนเหนือของเมืองเดิม แต่โปรตุเกสก็บุกทำลายลงอีกในปี พ.ศ. ๒๐๘๕ ชาวยะโฮร์จึงได้รวมตัวกันสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกในบริเวณช่วงต้นแม่น้ำยะโฮร์ และหันไปร่วมมือกับรัฐอาเจะห์ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราช่วยกันขับไล่โปรตุเกสออกจากมะละกา แต่ต่อมายะโฮร์กับอาเจะห์ได้หันมาทำสงครามกันเองและยะโฮร์เป็นฝ่ายแพ้ สุลต่านแห่งยะโฮร์ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของอาเจะห์ จึงย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เกาะลิงกา แต่อาเจะห์ก็ตามทำลายเมืองหลวงที่ตั้งขึ้นใหม่ จนกระทั่งราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ยะโฮร์จึงเริ่มฟื้นฟูศูนย์กลางอำนาจขึ้นอีกและมีพันธมิตรใหม่เป็นชาติตะวันตกคือฮอลันดา ในปี พ.ศ. ๒๑๗๒ ฮอลันดากับยะโฮร์ได้ทำสัญญาเพื่อร่วมมือกันโจมตีมะละกาและได้รับชัยชนะในที่สุด เมื่อฮอลันดาได้ครองครองมะละกา ฮอลันดาก็ตอบแทนยะโฮร์โดยให้ความคุ้มครองและให้เป็นผู้รับประโยชน์จากระบบการค้าของฮอลันดาในภูมิภาคนี้ ทำให้ยะโฮร์เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายผลประโยชน์ทางการค้าออกไปอย่างกว้างขวาง มีพ่อค้าหลายชาติหลายภาษาเข้ามาค้าขายกับยะโฮร์ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ยะโฮร์กลายเป็นรัฐมลายูรัฐหนึ่งที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ แต่ต่อมาเมืองหลวงบนฝั่งแม่น้ำยะโฮร์ถูกบุกโจมตีและทำลายลงอย่างราบคาบโดยจัมบิรัฐมลายูอีกรัฐหนึ่งบนเกาะสุมาตราและเคยเป็นพันธมิตรกับยะโฮร์มาก่อนด้วย ทำให้อำนาจของยะโฮร์ที่เคยมีเหนือบ้านเมืองต่างๆ อ่อนแอลง หลังจากนั้นไม่นานแม้ยะโฮร์ได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่อีกแต่ก็เกิดปัญหาการเมืองภายใน สุลต่านแห่งยะโฮร์ถูกปลงพระชนม์โดยการคบคิดของพวกขุนนาง ต่อมาได้มีการสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ที่เรียว (Riau) บนเกาะบินตัน และพยายามฟื้นฟูรัฐขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นรัฐเรียว-ยะโฮร์ และพยายามต่อต้านชาวบูกีส๒๒ ซึ่งเริ่มมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยขอความช่วยเหลือจากฮอลันดาแต่ไม่สำเร็จ ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เรียวซึ่งเป็นเมืองหลวงของยะโฮร์ภายใต้การปกครองของสุลต่านที่เป็นหุ่นเชิดของขุนนางเชื้อสายบูกีส ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่มั่งคั่งที่มีพ่อค้าชาติเอเชียและยุโรปไปติดต่อค้าขาย นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามด้วย
๒๒ ชาวบูกีสมีถิ่นฐานเดิมอยู่บนเกาะสุลาเวสีและได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายูในเมืองบริวารของรัฐยะโฮร์ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ต่อมาชาวบูกีสกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองอยู่ในราชสำนักยะโฮร์ เพราะผู้นำของกลุ่มอพยพชาวบูกีสช่วยผู้นำยะโอร์กวาดล้างศัตรูชาวมีนังกะเบาจากเกาะสุมาตรา ผู้นำชาวบูกีสจึงได้รับการสนับสนุนจากผู้นำยะโฮร์ขึ้นเป็นขุนนางที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนักยะโฮร์แทนที่ขุนนางฝ่ายมลายูเดิม
ตรังกานู เป็นรัฐที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตอนล่างติดชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก การค้นพบจารึกภาษามลายูที่กัวลา-บรัง ระบุ พ.ศ. ๑๘๔๖ ซึ่งเป็นหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนาอิสลามบนแหลมมลายูที่เก่าที่สุด ทำให้สันนิษฐานกันว่า เมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีบ้านเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามตั้งอยู่ในบริเวณนี้ และต่อมาได้ตกเป็นเมืองบริวารของรัฐมะละกา ในปีพ.ศ. ๒๒๖๗ ไซนัล อะบีดิน อนุชาของสุลต่านอับดุล จาจิลแห่งยะโฮร์ จึงได้สถาปนาตรังกานูขึ้นเป็นรัฐอิสระ และทรงเป็นสุลต่านองค์แรกที่ปกครองบ้านเมือง ราชตระกูลของตรังกานูจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชตระกูลของยะโฮร์ ในระยะแรกตรังกานูไม่มีบทบาททางการเมืองบนแหลมมลายูมากนัก ได้แต่คอยช่วยเหลือเจ้าเมืองมลายูอื่นๆ ให้เป็นที่ลี้ภัยการเมือง ราวช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เมื่อมันซูร์ โอรสของสุลต่านไซนัล อะบีดิน ขึ้นปกครองตรังกานู และเข้าไปมีบทบาทการเมืองในรัฐยะโฮร์ (ซึ่งเวลานั้นเมืองหลวงของยะโฮร์อยู่ที่เรียวและอยู่ภายใต้อำนาจของขุนนางชาวบูกีส) เพราะสุลต่านมันซูร์ทรงเชื่อว่า พระองค์สามารถทำให้ เรียว-ยะโฮร์ เป็นอิสระจากชาวบูกีสได้ จึงหันมาสร้างความสัมพันธ์กับฮอลันดา และทรงนำบริวารจากตรังกานูเสด็จไปยังเรียว และประทับอยู่ที่นั่นราว ๑๕ ปีเพื่อต่อต้านชาวบูกีส แต่ไม่สำเร็จ พระองค์จึงเสด็จกลับมาปกครองตรังกานูและขยายอำนาจของตรังกานูออกไป ต่อมารัฐตรังกานูได้แตกแยกออกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย แต่สุลต่านมันซูร์ก็สามารถรวมบ้านเมืองกลับคืนมาอยู่ในอำนาจได้ และยังสามารถแต่งตั้งผู้ปกครองเมืองกลันตัน (เดิมเป็นรัฐเพื่อนบ้าน) ได้สำเร็จ ต่อมาโอรสของพระองค์ยังได้เป็นผู้ปกครองเมืองกลันตันด้วย
กลันตัน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมาเลเซีย มีอาณาเขตด้านเหนือติดต่อกับไทย และด้านทิศตะวันตกติดกับตรังกานู สำหรับประวัติความเป็นมานั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมืองกลันตันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดแน่ เดิมคงเป็นบ้านเมืองที่ขึ้นกับอาณาจักรศรีวิชัยมาก่อน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กลันตันมีชื่อปรากฏเป็นหนึ่งในเมืองบริวาร ๑๒ นักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช ราวกลางพุทธศตวรรษทื่ ๒๐ กลันตันคงเป็นอิสระและเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง แต่ต่อมาราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ กลันตันได้กลายเป็นเมืองบริวารของรัฐมะละกา แต่เมื่อ มะลากาถูกโปรตุเกสเข้ายึดครอง กลันตันจึงได้แยกตัวออกเป็นเมืองเล็กๆ มีเจ้าเมืองท้องถิ่นปกครองตนเองและต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับปัตตานีซึ่งเป็นรัฐมลายูที่มีอำนาจสูงสุดเหนือแหลมมลายูฝั่งตะวันออกในเวลานั้น จนกระทั่งราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ กลันตันได้ฟื้นฟูศูนย์กลางอำนาจขึ้นใหม่ภายใต้การนำของ ลอง ยูนุส (Long Yunus) ซึ่งเดิมเป็นแม่ทัพใหญ่คนหนึ่งของรัฐปัตตานี แต่ไม่นาน กลันตันตกก็อยู่ใต้อำนาจของรัฐตรังกานูในสมัยสุลต่านมันซูร์
เกดะห์ หรือ ไทรบุรี เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแหลมมลายูตอนล่าง และเป็นรัฐที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จากข้อมูลในตำนานพงศาวดารเมืองไทรบุรี กล่าวถึงความเป็นมาของเมืองเกดะห์ว่ามีการสืบเชื้อสายปกครองดินแดนในแถบนี้เรื่อยมา เดิมเป็นบ้านเมืองนับถือศาสนาพุทธ จนถึงสมัยของกษัตริย์ชื่อมะโรงมหาวงศ์ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ราชวงศ์ของพระองค์ ปกครองเกดะห์เรื่อยมาจนถึงกษัตริย์องค์ที่ ๗ ในปี พ.ศ. ๑๖๗๙ พระองค์มหาวงศ์ หันมานับถือศาสนาอิสลามและเปลี่ยนชื่อเป็น สุลต่าน มุสซาฟา ชาห์ ส่วนผลการศึกษาทางด้านโบราณคดี พบร่องรอยหลักฐานที่แสดงว่าเกดะห์ เคยเป็นที่ตั้งเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งทั้งก่อนสมัยศรีวิชัยและในสมัยศรีวิชัย ต่อมาเมื่ออาณาจักรศรีวิชัยล่มสลายลง เกดะห์ก็กลายเป็นรัฐมลายูรัฐหนึ่งที่มีผู้นำเป็นมุสลิม และยังทำการค้าระหว่างประเทศสืบมา แม้ไม่รุ่งเรืองยิ่งใหญ่ดังแต่ก่อน แต่ก็เป็นรัฐที่มีความมั่งคั่งรัฐหนึ่งเพราะมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญและส่งเป็นสินค้าออกได้คือ ข้าวและพริกไทย นอกจากนี้ยังมีแหล่งแร่ดีบุกด้วย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในช่วงที่เมืองนครศรีธรรมราชมีอำนาจเหนือแหลมมลายู มีชื่อไทรบุรีหรือเกดะห์ เป็นเมืองบริวาร “สิบสองนักษัตร” ด้วย ในตำนานเรื่อง Hikayat Marong Mahawangsa เล่าว่า ราชวงศ์แห่งเกดะห์และอยุธยาในอดีตมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในระยะเริ่มแรกเกดะห์ส่งดอกไม้ทองเงิน (บุหงามาส) ไปเป็นของกำนัลจากราชสำนักเกดะห์เพื่อเป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพและพันธมิตร แต่ทางอยุธยามองว่าเป็นการยอมรับของเกดะห์ว่าเป็นประเทศราชของอยุธยา ดังนั้นเกดะห์จึงพยายามต่อต้านการครอบงำของอยุธยาแต่ก็เป็นไปด้วยความสงบ ในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรกับมะละกาด้วยเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ต่อมาราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เมื่อถูกพวกอาเจะห์ (รัฐมลายูอีกรัฐหนึ่งบนเกาะสุมาตราตอนเหนือที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นหลังการล่มสลายของมะละกา) รุกราน ประมุขเกดะห์ก็ต้องขอความช่วยเหลือและยอมอยู่ใต้การพิทักษ์คุ้มครองของอยุธยา ครั้นเมื่อฮอลันดามีอำนาจมากขึ้นในบริเวณแหลมมลายู เกดะห์ก็หันไปติดต่อกับฮอลันดายอมให้ฮอลันดาผูกขาดดีบุกครึ่งหนึ่งของเมืองในปีพ.ศ. ๒๑๘๔ และอีก ๒ ปีต่อมา เกดะห์หยุดส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับอยุธยาซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง แต่ต่อมาก็หันมาสร้างสัมพันธภาพใหม่โดยยอมส่งบุหงามาสให้อยุธยาเหมือนเดิม เกดะห์สร้างสัมพันธภาพทั้งกับไทยและฮอลันดาเพื่อหลีกเลี่ยงการคุกคามจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เกดะห์จึงแยกตัวเป็นอิสระจากไทย
เปรัค เดิมเป็นบ้านเมืองที่อยู่ในอำนาจของรัฐสุลต่านแห่งมะละกา แต่หลังจากที่รัฐสุลต่านแห่งมะละกาได้ล่มสลายลงจากการยึดครองของโปรตุเกสในปี พ.ศ. ๒๐๕๔ โอรสองค์โตของสุลต่านแห่งมะละกาได้หนีออกไปสร้างฐานอำนาจขึ้นใหม่ทางตอนเหนือที่ริมฝั่งแม่น้ำเปรัค และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสุลต่านแห่งเปรัคคนแรก เปรัคเป็นแหล่งแร่ดีบุก ดีบุกจึงนำความมั่งคั่งมาสู่เปรัค แต่ในขณะเดียวกันก็นำความวุ่นวายจากภายนอกเข้ามาด้วย ในปี พ.ศ. ๒๑๑๘ อาเจะห์ยกทัพเข้าตีเปรัคได้ เปรัคจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาเจะห์ จนกระทั่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เปรัคตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอลันดาหลังจากที่ฮอลันดายึดครองเมืองมะละกาไปจากโปรตุเกสได้สำเร็จ และยึดครองการค้าดีบุกและพริกไทยไว้แต่เพียงผู้เดียว ฮอลันดาพยายามผูกขาดการค้าแร่ดีบุกในเปรัค แม้จะถูกต่อต้านจากชาวพื้นเมือง แต่ในปี พ.ศ. ๒๓๐๓ ฮอลันดาได้สร้างป้อมขึ้นแห่งหนึ่งขึ้นที่เกาะปังกอร์เพื่อคอยสกัดจับพวกลักลอบขนส่งดีบุกเป็นสินค้าออก แต่ต่อมาอีกราว ๒๐ ปี ป้อมนี้ก็ถูกชาวมลายูทำลายลงและถูกทิ้งร้าง
ปาหัง เป็นรัฐที่เก่าแก่รัฐหนึ่งตั้งอยู่ในบริเวณแหลมมลายูตอนล่างฝั่งตะวันออกเหนือรัฐยะโฮร์ ปาหังเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดและมั่งคั่งที่สุดรัฐหนึ่งในแหลมมลายูเนื่องจากมีแหล่งแร่ดีบุกและทองคำ เดิมเคยเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรศรีวิชัยมาก่อน แต่หลังจากที่ศรีวิชัยล่มสลายลงในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ปาหังแยกตัวออกเป็นอิสระ แต่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อาณาจักรอยุธยาที่อยู่ทางตอนเหนือและอาณาจักรมัชปาหิตบนเกาะชวาต่างอ้างอำนาจของตนเหนือปาหัง แต่ต่อมาปาหังก็ตกเป็นเมืองขึ้นของมะละกาในสมัยสุลต่านมันซูร์ ทำให้ปาหังกลายเป็นรัฐอิสลามและรับเอารูปแบบการปกครองแบบมะละกามาใช้ด้วย ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ หลังจากที่โปรตุเกสเข้ายึดครองมะละกาได้ ปาหังก็แยกตัวออกเป็นอิสระ ภายใต้การปกครองของสุลต่านที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านแห่งมะละกา บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งสืบมา จนกระทั่งในปี พ.ศ ๒๑๕๐ ฮอลันดาได้เข้าไปตั้งสถานีการค้าในปาหัง และแสวงหาความช่วยเหลือในการสู้รบกับโปรตุเกส จากนั้นมาปาหังก็ประสบภัยสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกและรัฐมลายูอื่นๆ คือ โปรตุเกส ฮอลันดา ยะโฮร์และอาเจะห์ เริ่มจากในปี พ.ศ. ๒๑๕๕ ยะโฮร์บุกทำลายเมืองหลวงของปาหังและเข้ายึดครองปาหังโดยส่งเจ้านายจากยะโฮร์มาปกครอง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๖๐ อาเจะห์ ได้เข้าทำลายล้างปาหังอย่างย่อยยับ ชาวปาหังส่วนใหญ่ถูกฆ่าตาย หรือถูกจับไปอาเจะห์ ต่อมาเมื่ออำนาจของอาเจะห์เสื่อมลง ยะโฮร์บุกเข้าโจมตีทำลายเมืองปาหังอีกครั้ง หลังจากนั้นมาปาหังก็ตกอยู่ในความปกครองของสุลต่านยะโฮร์โดยตรงในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของยะโฮร์เป็นเวลาต่อมาอีก ๒๐๐ ปี
สลังงอร์ เป็นรัฐตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมมลายู และเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญแห่งหนึ่ง เดิมเป็นบ้านเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐสุลต่านมะละกา แต่หลังจากโปรตุเกสยึดครองมะละกาได้ในปี พ.ศ. ๒๐๕๔ สลังงอร์กลายเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของชาติตะวันตก คือโปรตุเกสและฮอลันดา รวมทั้งรัฐมลายูที่มีอำนาจอยู่ในเวลานั้นคือ ยะโฮร์และอาเจะห์ ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๒๒๔ มีชาวบูกีสจากเกาะสุลาเวสี (เซเลเบส) กลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนของสลังงอร์ซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจของยะโฮร์ด้วย และต่อมาในปีพ.ศ. ๒๒๕๙ สลังงอร์ก็เป็นอิสระ หลังจากหัวหน้าชาวบูกีส ชื่อ ดาเอ็งมาราวาเข้ายึดสลังงอร์ได้ และตกลงกับฮอลันดาเพื่อส่งดีบุกไปยัง มะละกา ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ มีการสถาปนาอิบราฮิมชาวบูกีสขึ้นเป็นสุลต่านสลังงอร์ จากนั้นสลังงอร์ได้ร่วมมือกับกองกำลังผสมชาวบูกีสและชาวมินังกะเบานำทัพเข้าล้อมมะละกาซึ่งอยู่ในความปกครองของฮอลันดา แต่ถูกฮอลันดาต่อต้านจนแตกพ่ายไป ต่อจากนั้นฮอลันดาได้ยกทัพเข้าตีสลังงอร์ สุลต่านอิบราฮิมแห่งสลังงอร์ต้องหนีไปปาหัง ฮฮลันดายึดสลังงอร์ได้และสร้างป้อมขึ้นที่กัวลาสลังงอร์ แต่ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ สุลต่านอิบราฮิมแห่งสลังงอร์พร้อมกับกองทัพของปาหัง บุกเข้ายึดป้อมที่กัวลาสลังงอร์ได้และขับไล่ชาวฮอลันดาออกไป และเข้าปกครองสลังงอร์ดังเดิม
บ้านเมืองบนแหลมมลายูช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๕
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ บ้านเมืองต่างๆ บนแหลมมลายูได้แยกตัวออกไปเป็นอิสระ แต่เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีของไทย ในปีพ.ศ. ๒๓๒๕ บ้านเมืองต่างๆ ในส่วนที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตอนบนก็กลับมาเป็นหัวเมืองทางใต้ของไทยเหมือนสมัยอยุธยา และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์ ที่สำคัญได้แก่
เมืองนครศรีธรรมราช หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชรวมตัวกับเมืองอื่นๆ ประกาศแยกตัวเป็นอิสระเรียกกันว่า ก๊กเจ้านคร แต่เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงประกาศอิสรภาพจากพม่าแล้ว ก็ปราบปรามลงได้ และยังโปรดให้เจ้านครศรีธรรมราชกลับไปครองเมืองตามเดิม พร้อมทั้งส่งขุนนางจากส่วนกลางไปพร้อมทั้งเรือรบถือพล ๕๐๐ ออกไปกำกับการปกครองและควบคุมการเก็บส่วยในเมืองนครศรีธรรมราชและแว่นแคว้นหัวเมืองที่ขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราชด้วย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๒๕- ๒๓๕๒) จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) เมืองนครศรีธรรมราชยังคงสถานะเป็นหัวเมืองทางภาคใต้ที่มีอิทธิพลเหนือบ้านเมืองอื่นๆ บนแหลมมลายู มีเจ้าเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักปกครอง ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดี คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)
เมืองปัตตานี ซึ่งเป็นรัฐมลายูและได้แยกตัวออกเป็นอิสระจากไทยในรัชสมัยพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒) เจ้าเมืองปัตตานีไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นไทย กองทัพไทยจึงยกทัพลงไปตีเมืองปัตตานีได้ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ กวาดต้อนผู้คนรวมทั้งปืนใหญ่ ๒ กระบอก แต่นำมาได้กระบอกเดียว แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๑ จึงทรงโปรดฯให้จารึกชื่อปืนว่า พญาตานี๒๓ ต่อมาเจ้าเมืองปัตตานียังได้พยายามก่อความไม่สงบขึ้น รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดให้ยกกองทัพหลวงไปสบทบกับเมืองสงขลา พัทลุงและจะนะ เข้าตีเมืองปัตตานีได้สำเร็จ ครั้งถึงรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗) เมืองปัตตานีเกิดความไม่สงบบ่อยครั้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงครามและพระยาสงขลาผู้กำกับดูแลหัวเมืองมลายูแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสาย เมืองหนองจิก เมืองระแงะ เมืองรามันท์ และเมืองยะลา โดยให้หัวเมืองทั้ง ๗ นี้ ขึ้นกับเมืองสงขลา
๒๓ ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม ในกรุงเทพมหานคร
สงขลา หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พระปลัด (หนู) ผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชได้รวมตัวกับหัวเมืองภาคใต้อีกหลายเมืองประกาศตนเป็นอิสระ เรียกว่า ก๊กเจ้านคร หรือชุมนุมเจ้านคร แต่หลังจากที่พระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพลงมาปราบเจ้านครศรีธรรมราชได้แล้ว ได้ยกเมืองสงขลาให้ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช แต่ต่อมาได้โปรดเกล้าให้ขึ้นกับกรุงธนบุรีโดยตรง ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้เมืองสงขลาขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ จึงโปรดเกล้าฯยกฐานะเมืองสงขลาเป็นเมืองโทขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ เพราะพระยาสงขลาในเวลานั้นมีความชอบที่สามารถยกทัพไปตีเมืองปัตตานีได้ ต่อมาในสมัย รัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗) โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสาย เมืองหนองจิก เมืองระแงะ เมืองรามันท์ และเมืองยะลา และให้ขึ้นกับเมืองสงขลาทั้งหมด
ภูเก็ต หรือ ถลาง ในสมัยธนบุรี มีหลักฐานว่า ฟรานซิส ไลท์ จากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้นำเรือกำปั่นมาแวะเวียนทำการค้าขายที่เมืองถลางตั้งแต่พ.ศ. ๒๓๑๕ และได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวถลางลูกครึ่งโปรตุเกสไทยชื่อ มาร์ตินา โรเซลล์ และสร้างบ้านเรือนอยู่ที่เมืองถลางตั้งแต่นั้นมา และได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อตั้งสำนักงานผูกขาดแร่ดีบุกเมืองถลางขึ้น ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาตตามประสงค์ เพราะทรงเห็นประโยชน์จากการค้าแร่ดีบุกในการฟื้นฟูฐานะของประเทศในเวลานั้น ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ พม่ายกทัพมาตีเมืองถลาง แต่ได้รับการต่อต้านจากท่านผู้หญิงจันและท่านผู้หญิงมุกน้องสาวซึ่งได้สร้างค่ายขึ้นต่อสู้กับพม่า จนได้รับชัยชนะ และได้รับความดีความชอบ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร เมืองภูเก็ตหรือถลางมีเจ้าเมืองปกครองสืบมา และต้องผจญกับกองทัพพม่าอีกและถูกพม่ายึดครองได้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แต่ต่อมากองทัพไทยก็ทำการขับไล่พม่าออกไปได้ แต่พม่าได้ทำลายเผาเมืองเสียหายหมด ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดให้มีการฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นใหม่ แต่งตั้งเจ้าเมืองไปปกครองและโปรดให้พัฒนาเหมืองแร่ดีบุก ทำให้กิจการเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแรงงานพื้นเมืองไม่พอ ต้องนำคนจีนจากต่างแดนคือปีนังและสิงคโปร์เข้ามาช่วยในด้านแรงงานเป็นจำนวนมาก ต่อมาภายหลังมีการเกาะกลุ่มรวมพวกจนเกิดเป็นคณะอั้งยี่ขึ้นปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายอันเป็นเหตุให้เกิดการจลาจลฆ่าฟันกันเองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
สำหรับรัฐมลายูต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตอนล่าง หรือในเขตมาเลเซียตะวันตกปัจจุบัน นอกจากรัฐมลายูเดิมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์แวดล้อมทางการเมืองแล้วยังมีบ้านเมืองหรือรัฐใหม่ที่เกิดจากการแยกตัวออกจากรัฐเดิมหรือการรวมตัวกันของบ้านเมือง หลายแห่งเข้าเป็นรัฐใหม่ด้วย บางรัฐ ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ บางรัฐก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติตะวันตก คืออังกฤษที่หันมาให้ความสนใจดินแดนแถบนี้อีกครั้ง
มะละกา หลังจากที่อยู่ภายใต้การยึดครองของฮอลันดาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๑๘๔ สืบเนื่องยาวนานมากว่า ๑๕๐ ปี อังกฤษก็เข้ายึดครองมะละกา โดยเริ่มจากฮอลันดาทำสงครามกับฝรั่งเศสและเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ฝรั่งเศสพยายามที่จะยึดเมืองท่าในเอเชียตะวันออกของฮอลันดามาเป็นของตน ฮอลันดาจึงทำข้อตกลงกับอังกฤษ (ซึ่งในเวลานั้นมีความปรารถนาจะเข้ามาหาเมืองท่า และฐานที่มั่นทางการค้าในคาบสมุทรมลายูและช่องแคบมะละกา เพื่อค้าขายกับจีน และได้เช่าเกาะปีนังจากสุลต่านปีนัง) ให้เข้าครอบครองเมืองท่าของตนในเอเชียชั่วคราวเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๓๓๘ มะละกาจึงตกอยู่ภายใต้การครอบครองของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ แต่ต่อมาอังกฤษเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะขยายอำนาจทางการค้าของตนและป้องกันมิให้ฮอลันดากลับมาใช้ประโยชน์ผูกขาดทางการค้าที่เมืองมะละกาอีกในอนาคต ในปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ผู้ปกครองปีนังชาวอังกฤษ ส่งกองทัพจากปีนังเข้าทำลายป้อมปืนทั้งหลายที่ฮอลันดาสร้างไว้ และกวาดต้อนชาวมะละกาไปอยู่ที่ปีนัง แต่ในที่สุดอังกฤษก็สั่งให้หยุดการทำลายเมืองและการกวาดต้อนผู้คนชาวมะละกาไปอยู่ที่ปีนัง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๕๙ อังกฤษได้คืนเมืองมะละกาให้กับฮอลันดา แต่ในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ อังกฤษก็กลับเข้าครอบครองมะละกาอีกครั้ง ตามสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษและฮอลันดาโดยมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการปกครองดินแดนการค้าระหว่างกัน ต่อมารัฐบาลอังกฤษได้รวมมะละกา ปีนัง สิงคโปร์ และโพรวินซ์เวลสลีย์เข้าในเขตการปกครองที่เรียกว่า สเตรทส์เซตเทิลเม้นต์ (Straits Settlement) มีศูนย์กลางหรือสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปีนัง และมีชาวอังกฤษเป็นผู้สำเร็จราชการ จากนี้ไปมะละกาก็กลายเป็นเมืองที่เงียบสงบ
เรียว – ยะโฮร์ ตั้งแต่ราวพ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นต้นมา รัฐเรียว - ยะโฮร์ ซึ่งมีผู้ปกครองเป็น ชาวบูกีส เริ่มมีปัญหากับฮอลันดา และในที่สุดกองทัพฮอลันดาก็บุกโจมตีเรียวได้ ฮอลันดาขับไล่ชาวบูกีสออกไปจากเรียว ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ เรียว - ยะโฮร์ ต้องยอมรับอำนาจการปกครองของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา แต่หลังจากที่ฮอลันดาได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ (Anglo - Dutch Treaty) ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ รัฐยะโฮร์ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น ๒ รัฐ ขาดออกจากกันโดยเด็ดขาด คือรัฐเรียว - ลิงกะ บนหมู่เกาะอยู่ภายใต้การปกครองของฮอลันดา และรัฐยะโฮร์บนแหลมมลายู ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ มีการสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นบันดาร์ตันจุงปุเตรี (Bandar Tanjung Puteri) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ และแม้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ แต่สุลต่านแห่งยะโฮร์ยังคงมีอิสระในการปกครองท้องถิ่น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ อังกฤษได้เริ่มเข้าแทรกแซงการเมืองภายใน สุลต่านแห่งยะโฮร์ในเวลานั้นคือ อิบราฮิม ต้องยอมรับเจ้าหน้าที่อังกฤษมาเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไปของรัฐยะโฮร์
เกดะห์ หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เกดะห์ได้ปฏิเสธอำนาจของไทย แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ไม่นานพม่ายกทัพมาตีไทย เกดะห์ถูกบีบบังคับให้ส่งความช่วยเหลือจากทั้งสองฝ่าย สุลต่านแห่งเกดะห์จึงหันไปขอความคุ้มครองจากอังกฤษโดยมีข้อเสนอให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเช่าเกาะปีนัง แต่ในปี พ.ศ. ๒๓๓๓ เกดะห์ยกทัพเข้าปิดล้อมเกาะปีนังเพื่อบังคับให้อังกฤษออกไป หรือต้องจ่ายค่าเช่าเกาะปีนัง ปีละ ๑๐,๐๐๐ เหรียญสเปน พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เกดะห์ยามต้องการด้วย อังกฤษถือว่าเกดะห์ประกาศสงคราม จึงบุกเข้าทำลายกองทัพเรือของเกดะห์ในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ เมื่อสงครามยุติเกดะห์ต้องยกดินแดนบนฝั่งทะเลตรงข้ามเกาะปีนังคือ Sebalang Perai (ซึ่งมีชื่อเรียกภายหลังว่า Province Wellesley) ให้อังกฤษเช่าตามข้อตกลงตามสนธิสัญญามิตรภาพ สันติภาพและความเป็นพันธมิตรระหว่างอังกฤษและเกดะห์ที่ทำขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๔๓ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๔๖ ราชสำนักไทยสามารถเข้าแทรกกิจการภายในของเกดะห์ได้อีก เนื่องจากเกิดข้อพิพาทเรื่องการสืบสันตติวงศ์ หลังจากที่สุลต่านอับดุลเลาะห์แห่งเกดะห์สิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ. ๒๓๔๑ พระอนุชาต่างมารดาของสุลต่านองค์ก่อนได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาได้ ๓ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพระบรมราชโองการให้สละราชสมบัติเพื่อถวายแก่โอรสองค์ใหญ่ของสุสต่านอับดุลเลาะห์ เมื่อขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สุลต่านอาห์มัด ทาจุดดิน ฮาลิม ชาห์ ตั้งแต่นั้นมาเกดะห์หรือไทรบุรีก็ตกเป็นเมืองขึ้นของไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เกดะห์ไม่ส่งดอกไม้ทองเงินมาถวายตามกำหนด จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช คุมทัพไปตีเมืองเกดะห์ สุลต่านแห่ง เกดะห์ลี้ภัยไปอยู่กับอังกฤษที่เกาะปีนัง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชการกวาดต้อนชาวเกดะห์มาที่กรุงเทพบ้าง ที่เมืองนครศรีธรรมราชบ้าง และให้บุตรสองคน คือพระภักดีบริรักษ์เป็นผู้รักษาเมือง และนายนุชมหาดเล็กบุตรคนรองเป็นปลัดเมือง ให้เมืองนครศรีธรรมราชมีอำนาจสิทธิขาดปกครองเกดะห์ เกดะห์จึงกลายเป็นหัวเมืองของไทยแทนที่จะเป็นประเทศราชดังแต่ก่อน ต่อมาอีกราว ๒๐ ปีซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เกิดกบฏต่อต้านอำนาจไทยในเกดะห์หลายครั้ง แต่ไทยก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ขับไล่กบฏออกไปและทำลายเกดะห์อย่างรุนแรง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ไทยจึงยอมให้สุลต่านแห่งเกดะห์กลับมาครองบ้านเมืองตามเดิมโดยเป็นเมืองขึ้นของไทย เกดะห์เป็นเมืองขึ้นของไทยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ปะลิส เดิมเป็นดินแดนตอนเหนือของรัฐเกดะห์ (ไทรบุรี) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย แต่หลังจากเกิดกบฏต่อต้านไทยในเกดะห์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ และกองทัพไทยบุกเข้าเกดะห์ปราบกบฏลงได้ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๘๕ ไทยยอมให้สุลต่านแห่งเกดะห์ซึ่งลี้ภัยไปอยู่กับพวกอังกฤษที่ปีนังกลับมาปกครองบ้านเมืองภายใต้อำนาจของไทย และด้วยความไม่ไว้วางใจนักไทยได้แยกดินแดนเกดะห์ออกเป็น ๔ เมือง คือ สตูล ปะลิส ไทรบุรี และกุบังปาสู และแต่งตั้งให้ลูกหลานของสุลต่านแห่งเกดะห์ปกครองโดยขึ้นตรงต่อไทย ปะลิสเป็นเมืองขึ้นของไทยมาจนกระทั่งในสมัยรัชกาล ที่ ๕
กลันตัน ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ หลังจากกลันตันประกาศอิสรภาพจากรัฐ ตรังกานู ใน พ.ศ. ๒๓๔๓ โมฮาเม็ดหัวหน้าท้องถิ่น ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสุลต่านองค์แรกของ กลันตัน ทรงพระนามว่า สุลต่านโมฮาเม็ดที่ ๑ และเพื่อป้องกันการรุกรานของตรังกานู กลันตันจึงส่งดอกไม้ทองเงินขอสวามิภักดิ์กับสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงมอบกลันตันให้อยู่ในความดูแลของนครศรีธรรมราช กลันตันเป็นเมืองขึ้นของสยามที่ค่อนข้างสงบสุขแม้จะเคยเกิดข้อพิพาทแย่งอำนาจกันเองหลังจากสุลต่านองค์แรกสิ้นพระชนม์ลง มีการพัฒนาในด้านต่างๆ ทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองสืบมา
ตรังกานู ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ สุลต่านมันซูร์แห่งตรังกานูส่งดอกไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณการเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายขอเป็นประเทศราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตรังกานูขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา เมืองตรังกานูเจริญรุ่งเรือง และมีเสถียรภาพมั่นคง มีสุลต่านซึ่งสืบเชื้อสายสุลต่านองค์ก่อนปกครองบ้านเมืองโดยการแต่งตั้งจากราชสำนักไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์ไทยให้กับอุปราชแห่งตรังกานู เป็นที่พระยาไชยเยนทร์ฤทธิรงค์ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อสุลต่านเจ้าเมืองตรังกานูถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยเยนทร์ฤทธิรงค์เป็นเจ้าเมืองตรังกานู ในฐานะเมืองขึ้นของไทย ที่สำคัญคือ รัชกาลที่ ๕ เสด็จเยือนตรังกานู ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ และ พ.ศ. ๒๔๓๒
เปรัค หรือ เประ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ได้มีการค้นพบแหล่งแร่ดีบุกแห่งใหม่ที่มีดีบุกมากที่สุดอยู่ในเปรัค ซึ่งทำให้เปรัคมั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความมั่งคั่งนี้ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและความแตกแยกภายในตามมาด้วย ชาวบูกีส ชาวอาเจะห์และไทยพยายามขยายอำนาจเหนือเปรัค ในปี พ.ศ. ๒๓๕๕ ทางการไทยขอให้สุลต่านแห่งเกดะห์บังคับให้เปรัคส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่ไทย แต่สุลต่านแห่งเปรัคตอบปฏิเสธเพราะไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาก่อน ทั้ง เกดะห์และเปรัคได้ร้องขอความช่วยเหลือจากอังกฤษเพื่อให้พ้นจากอำนาจของไทย แต่อังกฤษกลับแนะนำให้รัฐทั้งสองปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของไทย เกดะห์จึงยกทัพเข้าโจมตีเปรัค และเอาชนะเปรัคได้ สุลต่านแห่งเปรัคถูกปลดจากราชบัลลังก์ และแต่งตั้งให้โอรสของสุลต่านขึ้นปกครองแทน ในปี พ.ศ. ๒๓๖๒ เปรัคจึงต้องส่งดอกไม้ทองเงินให้ไทยเป็นครั้งแรก ต่อมาอังกฤษเริ่มกลัวการขยายอำนาจของไทยในแหลมมลายู เพราะทราบข่าวว่าไทยกำลังเตรียมการขยายอำนาจลงมารุกรานสลังงอร์อีก จึงส่งร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นีไปนครศรีธรรมราช เพื่อเจรจาและตกลงกันว่าไทยและอังกฤษจะเคารพเอกราชของเปรัคและสลังงอร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ มีการลงนามตามสนธิสัญญาอังกฤษกับไทย โดยมีเงื่อนไขว่า ไทยไม่ยอมสละเกดะห์ ส่วนเปรัคนั้นจะส่งดอกไม้ทองเงินก็ได้ถ้าปรารถนาจะทำเช่นนั้น ในเวลาเดียวกันร้อยเอกเจมส์ โลว์ ข้าราชการอังกฤษที่ปีนังอีกผู้หนึ่งไปที่เปรัค และมีการทำสนธิสัญญาอีกฉบับหนึ่งว่าบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษรับรองเอกราชของเปรัคและสัญญาว่าจะช่วยเหลือถ้าไทยหรือรัฐอื่นๆ รุกรานเปรัค ต่อมาสนธิสัญญานี้ได้ช่วยให้เปรัครอดพ้นจากการแทรกแซงการเมืองที่มาจากภายนอกคือไทยและรัฐอื่นๆ แต่บ้านเมืองก็ไม่สงบสุขเพราะก็เกิดการต่อสู้เพื่อแย่งชิงเหมืองแร่ดีบุกในหมู่ผู้ทำงานเหมืองชาวจีน และยังเกิดการแย่งชิงอำนาจกันเองในระหว่างชนชั้นปกครองด้วย ส่งผลให้คณะปกครองอังกฤษในสมัยนั้นเข้ามาแทรกแซงได้ ต่อจากนั้นไม่นานอังกฤษก็แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการดูแลผลประโยชน์ในเปรัค แม้ในระยะแรกจะเกิดปัญหาการต่อต้านจากผู้นำท้องถิ่นและชนชั้นปกครองของเปรัค จนกระทั่งผู้สำเร็จราชการอังกฤษถูกลอบสังหารในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ แต่อังกฤษก็ควบคุมสถานการณ์ได้และส่งผู้สำเร็จราชการชาวอังกฤษคนใหม่เข้ามา คือเจมส์ โลว์ ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถในการประสานประโยชน์กับผู้นำชาวมลายูได้เป็นอย่างดี ทำให้เปรัคเจริญรุ่งเรืองมากเนื่องจากการทำเหมืองแร่ดีบุกภายใต้การดูแลของเขา จากนั้นเปรัคก็มีเสถียรภาพ มีความสงบสุข และมีเศรษฐกิจดีสืบมา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เปรัคได้รวมเข้าเป็นสหพันธรัฐมลายาในอารักขาของอังกฤษ พร้อมกับสลังงอร์ ปาหัง และเนกรีเซมบิลัน
ปาหัง ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ปาหังได้แยกตัวออกจากยะโฮร์เป็นรัฐอิสระ บ้านเมืองฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตระกูลผู้นำปาหังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตระกูลผู้นำของสิงคโปร์ด้วยการแต่งงาน ปาหังมีเสถียรภาพมั่นคงสามารถรักษาอิสรภาพไว้ได้อย่างเข้มแข็ง และมีความมั่งคั่งจากผลประโยชน์ที่ได้จากพัฒนาการค้าทองคำและดีบุกภายใต้การนำของเบนดาฮารา อาลี จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ หลังจากอสัญกรรมของเบนดาฮารา อาลี ก็เกิดการแย่งชิงอำนาจในการเป็นผู้นำของปาหัง ระหว่างบุตร ๒ คนของเขา คือมูตาฮีร์บุตรชายคนโตซึ่งสืบตำแหน่งเบนดาฮาราต่อจากเขา กับ วัน อาห์มัดบุตรชายคนรอง ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในปาหังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๑ - ๒๔๐๖ สงครามครั้งนี้รุนแรงเพราะมีการแทรกแซงจากมามุดห์ อดีตสุลต่านแห่งเรียว-ยะโฮร์ ซึ่งถูกฮอลันดาถอดออกจากตำแหน่ง และมาลี้ภัยอยู่ในตรังกานู และพยายามแสวงหาอำนาจใหม่โดยการเรียกร้องสิทธิการเป็นเจ้านายแห่งยะโฮร์และปาหัง สุลต่านมามุดห์หันไปสนับสนุน วัน อาห์มัด และใช้ตรังกานูเป็นที่ตั้งมั่นสำหรับไปช่วยสู้รบกับมูตาฮีร์ที่ปาหัง ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ สุลต่านมามุดห์ไปกรุงเทพและกลับมายังตรังกานูโดยอาศัยเรือไทยโดยมีวัน อาห์มัดร่วมเดินทางมาด้วย ทางอังกฤษเกรงว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้ไทยสามารถแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในรัฐมลายูมากขึ้น จึงขอร้องให้ไทยเลิกสนับสนุนอดีตสุลต่านมาห์มุด และอังกฤษยังขอให้ทางตรังกานู มอบตัวสุลต่านมาห์มุดมาให้เพื่อส่งกลับไปกรุงเทพ แต่สุลต่านมาห์มุดไม่ยอม ดังนั้นอังกฤษต้องระดมยิงกัวลาตรังกานู ทำให้สุลต่านมาห์มุดต้องหนีกลับไปยังเมืองไทยเอง ส่วนสงครามกลางเมืองในปาหังนั้นได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ โดย วัน อาห์มัดเป็นผู้ชนะ และในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสุลต่านแห่งปาหังสืบมา จากนั้นมาปาหังได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นรัฐที่มีอำนาจและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมากรัฐหนึ่งบนแหลมมลายู จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ปาหังก็ตกเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ โดยวัน อาห์มัดยังเป็นสุลต่านแห่งปาหัง และให้มีตัวแทนอังกฤษมาประจำอยู่ในปาหัง ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เกิดการกบฏต่อต้านอังกฤษในปาหัง แต่ในที่สุดการกบฏก็ยุติลง หลังจากนั้นปาหังก็ได้รับการฟื้นฟูและมั่งคั่งสืบมา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ปาหังได้ถูกได้รวมเข้าเป็นสหพันธรัฐมลายาในอารักขาของอังกฤษ พร้อมกับสลังงอร์ เประ และเนกรีเซมบิลัน
สลังงอร์ ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สลังงอร์ปกครองโดยสุลต่านมุฮัมมัด พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองลาลัต และให้บรรดาพระญาติเป็นหัวหน้าปกครองดินแดนของสลังงอร์ส่วนอื่นๆ ในเวลานั้นมีการสำรวจพบแหล่งดีบุกแห่งใหม่ๆ ในบริเวณลุ่มน้ำต่างๆ ในสลังงอร์ ทำให้สลังงอร์มั่งคั่งมาก จากการขยายการทำเหมืองแร่ขึ้นในที่ต่างๆ มีคนต่างถิ่นโดยเฉพาะชาวจีนอพยพเข้าไปทำงานเหมืองแร่ไม่ขาดสาย โดยตั้งรกรากอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ และได้เลือกคนจีนชื่อ ยับอาลอยเป็นหัวหน้า การเปิดเหมืองแร่แห่งใหม่ในกัวลาลัมเปอร์และกันชิงประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ สุลต่านมุฮัมหมัดสิ้นพระชนม์ลง อับดุลซามัด ราชบุตรเขยของสุลต่านมุฮัมหมัด ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นเป็นสุลต่านองค์ใหม่ แต่ต่อมาสุลต่านองค์นี้ติดฝิ่นละทิ้งราชการงานเมือง และได้แต่งตั้งให้ตนกูกูดินราชบุตรเขยเป็นอุปราชปกครองบ้านเมืองแทน จากนั้นมาสลังงอร์ก็เกิดสงครามกลางเมือง เนื่องจากหัวหน้า สลังงอร์แตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายตนกูกูดิน และฝ่ายรายามาห์ดีซึ่งเป็นนัดดาของสุลต่านมุฮัมมัดและได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าสลังงอร์คนอื่นๆ สงครามคราวนี้บานปลายเมื่อมีชาวจีน ๒ กลุ่มใน สลังงอร์เข้าร่วมรบด้วย คือกลุ่มคนจีนที่กันชิงและกลุ่มคนจีนที่กัวลาลัมเปอร์โดยมีอับยาลอยเป็นหัวหน้า คนจีนทั้งสองกลุ่มนี้มีความขัดแย้งกัน และทวีความรุนแรงจนเกิดการรบพุ่งกันขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ รายามาห์ดีสนับสนุนคนจีนกลุ่มกันชิง ในขณะที่ตนกูกูดินสนับสนุนกลุ่มคนจีนที่กัวลาลัมเปอร์โดยมี ยับอาลอยเป็นหัวหน้า การสู้รบกันทำให้บ้านเมืองโดยเฉพาะที่กัวลาลัมเปอร์เสียหายมาก ในที่สุดฝ่ายตนกูกูดินและยับอาลอยเป็นฝ่ายชนะ ยึดกัวลาลัมเปอร์ได้โดยความช่วยเหลือจากอังกฤษและกองหนุนจากปาหัง สงครามกลางเมืองในสลังงอร์ก็สิ้นสุดลง ยับอาลอยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำชาวจีนของรัฐ สลังงอร์แต่ผู้เดียว และจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้เองทำให้อังกฤษพยายามแทรกแซงการเมืองในสลังงอร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ อังกฤษบังคับให้สุลต่านอับดุลซามัด แห่งสลังงอร์ทำสัญญายอมรับผู้ช่วยดูแลผลประโยชน์ชาวอังกฤษมาประจำในราชสำนักสลังงอร์ ต่อมาได้มีการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ จากนั้นสลังงอร์ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้น และเมื่อราคาดีบุกสูงขึ้นการทำเหมืองแร่ดีบุกได้ขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของสลังงอร์ ทำให้คนงานเหมืองชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาในสลังงอร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ อังกฤษได้รวมสลังงอร์ เข้ากับปาหัง เปรัค และเนกรีเซมบิลัน เป็นสหพันธรัฐมลายาในอารักขาของอังกฤษ
เนกรีเซมบิลัน ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตอนล่างฝั่งตะวันตก เป็นสมาพันธรัฐที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของชาวมินังกะเบา๒๔ เมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และได้ร้องขอผู้นำจากปาการ์รุยงประมุขแห่งบ้านเกิดของพวกเขาบนเกาะสุมาตราด้วย ปาการ์รุยงจึงส่งรายาเมเลวาร์ซึ่งเป็นราชตระกูลของเขามาให้ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ประมุขคนแรกของสมาพันธรัฐเนกรีเซมบิลันในปี พ.ศ. ๒๓๑๖ มีเมืองหลวงอยู่ศรีเมนันติ แต่ประมุขแห่งเนกรีเซมบิลันไม่มีอำนาจที่แท้จริง เพราะไม่ได้ถือครองที่ดิน ไม่มีสิทธิหารายได้ ได้รับแต่เพียงบรรณาการจากรัฐในปกครอง ในรูปของข้าวและมะพร้าว จึงค่อนข้างยากจน หลังจากที่รายาเมเลวาร์ประมุขคนแรกสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๓๓๘ มีหัวหน้าเผ่าชาวสุมาตราเป็นประมุขสืบต่อมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ได้เกิดข้อพิพาทระหว่างหัวหน้าประจำท้องถิ่นเกี่ยวกับผู้สืบทอดอำนาจการปกครองจากสุมาตรา ทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมืองกับเกาะสุมาตราสิ้นสุดลง ประมุขคนใหม่เป็นราชวงศ์ที่ถือกำเนิดในเนกรีเซมบิลัน จากนั้นมาบ้านเมืองมีแต่ความโกลาหลวุ่นวายเนื่องจากเกิดข้อพิพาทระหว่างหัวหน้าของรัฐต่างๆ ที่รวมกันเป็นเนกรีเซมบิลัน โดยเฉพาะรัฐสุไหงอูจง เจเลบู โยโฮล และเรมบา ต่อมาอังกฤษได้ให้ความช่วยเหลือหัวหน้าแห่งสุไหงอูจุง แต่กลับเป็นการเพิ่มความวุ่นวายมากขึ้น ดังนั้นเพื่อฟื้นฟูความสงบสุขอังกฤษจึงขอให้อาบู บาการ์ สุลต่านแห่งยะโฮร์ (ซึ่งเป็นบุคคลที่บรรดาหัวหน้ารัฐต่างๆ ที่มีข้อพิพาทกันอยู่ให้ความเคารพนับถือ) มาทำหน้าที่เป็นคนกลาง และในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ อังกฤษได้แต่งตั้งให้อาบู บาการ์ เป็นเจ้าผู้ปกครองพื้นที่ของเนกรีเซมบิลันทั้งหมด ในขณะเดียวกันอังกฤษก็พยายามลดทอนอำนาจของอาบู บาการ์ โดยเข้าเจรจาตกลงกับบรรดาหัวหน้ารัฐต่างๆ ในพื้นที่เนกรีเซมบิลันโดยตรง จากนั้นก็ส่งข้าหลวงชาวอังกฤษไปประจำอยู่ตามรัฐต่างๆด้วย ทำให้อำนาจของอังกฤษเริ่มแผ่ขยายเข้ามาในพื้นที่เนกรีเซมบิลันมากขึ้นและในที่สุดก็ตกอยู่ในอารักขาของอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ อังกฤษได้รวมเนกรีเซมบิลัน เข้ากับปาหัง สลังงอร์ และเปรัค เป็นสหพันธรัฐมลายาในอารักขาของอังกฤษ
๒๔ ซึ่งอพยพมาจากเกาะสุมาตราตะวันตกเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนแหลมมลายูในบริเวณที่ตั้งเนกรีเซมบิลันตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – พุทธศตวรรษที่ ๒๓
ปีนัง เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของแหลมลายู เดิมอยู่ในดินแดนของเกดะห์ซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของไทย แต่ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ สุลต่านอับดุลเลาะห์แห่งเกดะห์ได้เสนอให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเช่าเพื่อแลกเปลี่ยนกับการคุ้มครองจากอังกฤษให้พ้นจากอิทธิพลของไทย หลังจากเซ็นสัญญาตกลงเบื้องต้นกันแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ฟรานซิส ไลท์ ก็เข้าครอบครองปีนัง และตั้งชื่อเกาะใหม่เป็น Prince of Wales Island รวมทั้งตั้งนิคมชื่อจอร์จทาวน์ขึ้นบนเกาะด้วย แต่การทำสัญญานั้นมิได้เป็นการทำอย่างทางการ ทางเกดะห์ก็ได้แต่ร้องขอความคุ้มครอง ทางอังกฤษก็ต่อรองค่าเช่าและเงื่อนไขการเช่า ปี พ.ศ. ๒๓๓๓ สุลต่านแห่งเกดะห์จึงยกทัพเข้าล้อมเกาะปีนังและขอให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษออกไปหรือจ่ายค่าเช่าให้เกดะห์ปีละ ๑๐,๐๐๐ เหรียญสเปน แต่ฟรานซิส ไลท์ถือว่าเกดะห์ประกาศสงครามกับอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ อังกฤษเข้าโจมตีเขตเซบาลัง เปไร ( Sebalang Perai) ที่อยู่บนชายฝั่งบนแหลมมลายูตรงข้ามกับเกาะปีนัง ทำลายกองทัพเรือของเกดะห์แตกพ่ายไป และบังคับให้เกดะห์ทำสัญญาความเป็นพันธมิตรขึ้นใหม่แทนสัญญาเดิมที่ทำกันไว้ตอนแรก สัญญานี้มิได้กล่าวถึงความช่วยเหลือทางทหารสำหรับเกดะห์ในด้านการป้องกันและการรุกรานเลย หากมีเงื่อนไขว่าเกดะห์จะต้องยกเมืองเซบาลัง เปไร ให้แก่อังกฤษ (ซึ่งภายหลังมีชื่อเรียกเป็นทางว่า Province Wellesley) และสุลต่านจะได้รับเงินเพิ่มเป็น ๑๐,๐๐๐ เหรียญสเปน
การพัฒนาเกาะปีนังซึ่งเดิมนั้นแทบจะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย ฟรานซิส ไลท์ ได้ชักจูงให้ผู้คนและพ่อค้าเข้ามาหักร้างถางพงและตั้งถิ่นฐานได้ตามชอบใจ นอกจากนี้ยังเปิดให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ทำให้มีผู้คนหลายชาติหลายภาษาเช่น ชาวมลายู ชาวสุมาตรา ชาวอินเดียและชาวจีนจากเกดะห์ และจากภูเก็ตหลั่งไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ภายในเวลาไม่นาน ปีนัง ได้เจริญขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของแหลมมลายู หลังจากที่ฟรานซิส ไลท์ ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๓๓๗ มีการแต่งตั้งผู้ดูแลชาวอังกฤษคนใหม่เข้ามาแทนที่ ในปี พ.ศ. ๒๓๔๘ เมื่อมีการเสนอให้จอร์จทาวน์เป็นฐานทัพเรือของอังกฤษ ปีนังจึงถูกยกขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครองเทียบเท่ากับศูนย์กลางการปกครองของอังกฤษในอินเดีย มีการตั้งรัฐบาลบริหาร แบบศูนย์กลางในอินเดีย ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองจำนวนมาก ในขณะที่ปีนังมีรายได้จากการเก็บภาษีน้อยมาก เพราะปีนังชักชวนให้ผู้คนเข้ามาทำการค้าขายโดยไม่เก็บภาษีที่ดิน ภาษีการค้า ดังนั้นตั้งแต่เป็นศูนย์กลางการปกครองปีนังจึงมีหนี้สินตลอดมา แผนการพัฒนาปีนังให้เป็นฐานทัพเรือก็ถูกยกเลิกไป
ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ อังกฤษได้ตกลงทำสนธิสัญญากับฮอลลันดาแบ่งเขตการปกครองเพื่อระงับเหตุที่เป็นข้อพิพาทเรื่องผลประโยชน์การค้าในตะวันออก โดยฮอลันดายอมยกดินแดนในเขตอิทธิพลบนแหลมมลายูให้แก่อังกฤษและจะไม่ลงทุนในกิจการใดๆ บนแหลมมลายู ในขณะที่อังกฤษยกดินแดนเบนคูเลนบนเกาะสุมาตราให้แก่ฮอลันดาและสัญญาว่าจะไม่เข้าแทรกแซงในสุมาตราและหมู่เกาะทั้งหลายทางใต้ของช่องแคบสิงคโปร์ สนธิสัญญาดังกล่าวทำให้แหลมมลายูขาดจากเกาะสุมาตราและหมู่เกาะต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ที่สืบสาวย้อนกลับไปหลายศตวรรษ และตกอยู่ในความปกครองของอังกฤษแต่ผู้เดียว ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้รวมปีนัง โพรวินซ์ เวลสลีย์ มะละกา และสิงค์โปร์เข้าด้วยกันเป็นเขตการปกครองที่เรียกว่า สเตรทส์ เซตเติลเมนต์ (Straits Settlements) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปีนัง จากนั้นปีนังก็ได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ สเตรทส์ เซตเติลเมนต์ กลายเป็นสำนักงานอาณานิคม ฐานที่มั่นของการขยายอิทธิพลอังกฤษออกไปทั่วแหลมมลายูตอนล่าง
แผนที่แสดงตำแหน่งบ้านเมืองบนแหลมมลายูในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
ที่มาของภาพ: ซี แมรี่ เทรินบุลล์, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน (A history of Malasia Singapore and Brunei), แปลโดย รศ.ทองสุก เกตุโรจน์ (กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ๒๕๕๐) หน้า ๒๓๙
สิงคโปร์ เป็นเกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ใต้สุดของแหลมมลายู เดิมมีชื่อเรียกว่าเตมาสิก สำหรับประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองในช่วงแรกนั้นไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด๒๕ จากตำแหน่งที่ตั้งเกาะ เชื่อกันว่าเมืองนี้เดิมคงจะอยู่ใต้อำนาจของศรีวิชัย และหลังจากที่ศรีวิชัยล่มสลายลงในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เตมาสิกยังคงเจริญรุ่งเรืองสืบมา เพราะ มาร์โคโปโล๒๖ ได้กล่าวถึงเมือง คามาสซิ (ซึ่งคงจะหมายถึงเมืองเตมาสิก) ไว้ในบันทึกการเดินทางของเขาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ว่า ตามที่ได้ฟังคำล่ำลือมา เป็นเมืองที่ใหญ่และมีศักดิ์ศรีบนเกาะของมลายู แต่ในบันทึกของหวังต้าหยวน นักเดินทางจีน ได้วาดภาพของเกาะนี้ไว้เมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ว่า เป็นแหล่งซ่องสุมของโจรสลัดที่น่ากลัว ส่วนในบันทึกของโตเม ปิเรส (Tomé Pires)๒๗ กล่าวถึงดินแดนเตมาสิกว่า เป็นแหล่งลี้ภัยของเจ้าชายปรเมศวรแห่งปาเล็มบังซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชสกุลศรีวิชัย และต่อมาเจ้าชายยังได้สังหารผู้ปกครองเตมาสิกซึ่งเป็นผู้ที่สวามิภักดิ์ต่ออยุธยาและสถาปนาพระองค์เองขึ้นปกครองบ้านเมืองแทน หลังจากนั้นไม่นานเจ้าชายปรเมศวรก็ถูกทางอยุธยาขับไล่ออกไปจากเตมาสิก และได้ไปสร้างบ้านเมืองขึ้นที่มะละกา และทำให้ มะละกาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าที่ยิ่งใหญ่ของภูมิภาคในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ และในช่วงที่มะละกาเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น เชื่อกันว่าเตมาสิกคงตกเป็นเมืองบริวารของมะละกา แต่หลังจากที่โปรตุเกสยึดครองมะละกาได้ เตมาสิกได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐเรียว-ยะโฮร์ จนกระทั่ง ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมื่ออังกฤษหาที่ตั้งศูนย์กลางการค้าปลายสุดทางใต้ช่องแคบมะละกาเพื่อควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลกับจีนและหมู่เกาะทางตะวันออก เซอร์โทมัส สแตมฟอร์ด รัฟเฟิลส์ ได้สำรวจหาสถานที่และมองเห็นว่าเกาะเตมาสิกหรือสิงคโปร์เหมาะสมเพราะมีน้ำดื่มเหลือเฟือ มีท่าเรือที่มีที่กำบังลมตามธรรมชาติ๒๘ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๒ รัฟเฟิลส์จึงได้ทำความตกลงกับหัวหน้าแห่งดินแดนสิงคโปร์ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองและเป็นขุนนางแห่งเรียว-ยะโฮร์ เพื่อขอให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษตั้งสถานีการค้าบนเกาะสิงคโปร์ และเพื่อให้สิทธิการได้สิงคโปร์มาถูกต้องตามกฎหมาย รัฟเฟิลส์ จึงลงนามในสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการกับสุลต่านแห่งเรียว-ยะโฮร์ การกระทำดังกล่าวทำให้ฮอลันดาไม่พอใจอย่างมากและคัดค้านการครอบครองเกาะสิงคโปร์ของอังกฤษ แต่หลังจากที่ฮอลันดาและอังกฤษทำสนธิสัญญามิตรภาพขึ้นในปีพ.ศ. ๒๓๖๗ ที่กรุงลอนดอน ฮอลันดาก็ยกเลิกคำคัดค้านการที่อังกฤษเข้าครอบครองสิงคโปร์ และข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวทำให้แหลมมลายูถูกตัดขาดจากเกาะ สุมาตรา รวมทั้งหมู่เกาะอื่นๆ ทางใต้ และอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษทั้งหมด ในปีพ.ศ. ๒๓๖๙ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้รวมเอาสิงคโปร์อยู่ในเขตการปกครองที่เรียกว่า สเตรทส์ เซตเติลเมนต์ ซึ่งมี ปีนัง โพรวินซ์เวลสลีย์ และมะละการวมอยู่ด้วย ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๑๐ ได้มีการโอนสเตรทส์ เซตเติลเมนต์จากหน่วยงานของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ไปสู่การปกครองแบบอาณานิคมของอังกฤษ จากนั้นอังกฤษก็พัฒนาสิงคโปร์ขึ้นเป็นบ้านเมืองที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดบนแหลมมลายูเพราะบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษยกเลิกการค้าผูกขาดกับจีน ทำให้การค้าสิงคโปร์กับจีนรุ่งเรืองมาก ในระยะต่อมาสิงคโปร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางสำหรับเรือจากยุโรป อินเดีย และจีน มีการสร้างท่าเรือใหม่ขึ้น คือ ท่าเรือเคปเปิล (Keppel Habour) และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นต้นมาหลังจากที่มีการเปิดคลองสุเอซ๒๙ ซึ่งเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการค้าระดับโลกเนื่องจากเป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปและเอเชีย สิงคโปร์ได้กลายเป็นจุดศูนย์รวมการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญยิ่งของอังกฤษ มีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งและทำงานในสิงคโปร์จำนวนมาก (และได้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ในปัจจุบัน) ต่อมาอังกฤษยังได้พัฒนาท่าเรือของสิงคโปร์ให้ทันสมัย ทำให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์ยิ่งเฟื่องฟูขึ้นไปอีก
บ้านเมืองบนแหลมมลายูช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ – ปัจจุบัน
ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา ก่อนการปฏิรูปการปกครอง เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลามีความสำคัญมาก เพราะเมืองทั้งสองทำหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองประเทศราชมลายูด้วย ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ได้มีการปฏิรูปการปกครองใหม่เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล บ้านเมืองบนแหลมมลายูตอนบนที่เป็นหัวเมืองสำคัญของไทยทางภาคใต้ก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะใหม่ด้วย เช่น เมืองนครศรีธรรมราช มีฐานะเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยเมือง 10 เมือง คือ เมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก ยะลา ระแงะ และรามันห์ มีผู้ว่าราชการเมืองดูแล อยู่ในการปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล ซึ่งมีที่ทำการมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองสงขลาเมืองปัตตานี ซึ่งถูกแยกออกเป็นหัวเมืองทั้ง ๗ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ คือ เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสาย เมืองหนองจิก เมืองระแงะ เมืองรามันท์ และเมืองยะลา และเดิมขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ได้ถูกรวมไว้ในมณฑลเมืองนครศรีธรรมราช แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ จึงมีการแยกเอาหัวเมืองทั้ง ๗ ออกจากมณฑลนครศรีธรรมราชออกเป็นมณฑลปัตตานี ส่วน เมืองสงขลา ให้ขึ้นตรงกับมณฑลนครศรีธรรมราช สำหรับภูเก็ต ในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ได้เกิดจลาจลจากพวกจีนอั้งยี่ และเมื่อปราบอั้งยี่ได้แล้ว จึงได้รับการยกขึ้นให้เป็นมณฑลภูเก็ต ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารการเทศาภิบาล โดยให้มาสังกัดพระราชสำนักขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ และรวมมณฑลเทศาภิบาลที่ใกล้เคียงขึ้นเป็นภาค คือ ได้รวมเอามณฑลสุราษฎร์ธานี มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานีขึ้นเป็นภาคปักษ์ใต้ มีกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์เป็นอุปราชปักษ์ใต้ สงขลาซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช ก็กลายเป็นเมืองที่ประทับของอุปราชปักษ์ใต้ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบเดิมทั้งหมด บรรดาเมืองสำคัญมีฐานะเป็นจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยตราบจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในบ้านเมืองบนแหลมมลายูที่อยู่ในเขตประเทศไทยในคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเกิดในยุโรปก่อน โดยมีเยอรมนีและอิตาลี รวมกันเป็นฝ่ายหนึ่งเรียกว่าฝ่ายอักษะ กับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประกอบด้วยอังกฤษและฝรั่งเศส การสงครามได้ลุกลามมายังเอเชีย ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ และยกพลขึ้นบกพร้อมกันในประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย แหลมมลายู และประเทศไทย ในส่วนประเทศไทยทางภาคใต้ ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกโดยที่ไทยไม่คาดคิด ญี่ปุ่นส่งเรือรบเข้ามาลอยลำอยู่ในอ่าวสงขลา ทางฝ่ายไทยซึ่งมีกองกำลังสำคัญอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชส่งกำลังเข้าทำการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ แต่ในที่สุดการสู้รบก็ยุติลง มีการเจรจากันเพื่อให้ญี่ปุ่นใช้แผ่นดินไทยเป็นฐานสำคัญ และในที่สุดรัฐบาลไทยยังได้ประกาศเข้าร่วมกับญี่ปุ่นทำสงครามครั้งนี้ด้วย
ส่วนรัฐมลายูต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตอนล่างนั้น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ในส่วนที่เคยเป็นประเทศราชของไทยมาก่อน คือ รัฐเกดะห์ (ไทรบุรี) กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ไทยต้องยกรัฐต่างๆดังกล่าวให้แก่อังกฤษ (ตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินกู้จำนวนมากสำหรับสร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ - อลอร์สตาร์ และคำมั่นสัญญาจากอังกฤษที่จะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต) ส่วนรัฐมลายูอื่นๆ ได้แก่ มะละกา ยะโฮร์ เปรัคหรือเประ ปาหัง สลังงอร์ เนกรีเซมบิลัน ปีนัง และสิงค์โปร์ ตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา ดินแดนเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษทั้งหมด ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ อังกฤษได้รวม ปาหัง สลังงอร์ เประ และเนกรีเซมบิลัน เข้าเป็นสหพันธรัฐมลายาในอารักขาของอังกฤษ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นบุกเข้ายึดดินแดนแหลมมลายูตอนล่างจากอังกฤษได้ทั้งหมด และได้ยกรัฐเกดะห์ กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยให้ไทยปกครอง ส่วนรัฐมลายูอื่นๆ ญี่ปุ่นจัดการปกครองเอง แต่หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ไทยต้องคืนเกดะห์ กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้อังกฤษตามเดิม ส่วนรัฐอื่นๆ ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษตามเดิมเช่นกัน ซึ่งในช่วงหลังนี้อังกฤษได้พัฒนาบ้านเมืองต่างๆ บนแหลมมลายูให้เจริญรุ่งเรือง และในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ รัฐต่างๆ ได้เข้ารวมเป็นรัฐในสหพันธ์มลายาภายใต้การอารักขาของอังกฤษ ยกเว้นสิงคโปร์ซึ่งได้รับการยกฐานะเป็นอาณานิคมเอกเทศในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังจากที่อังกฤษคืนเอกราชให้สหพันธ์มลายา รัฐต่างๆ ได้เข้าเป็นสหพันธ์มาเลเซียในปี พ.ศ. ๒๕๐๖
แผนที่แสดงบ้านเมืองบนแหลมมลายูตอนล่างภายใต้การปกครองของอังกฤษ
ที่มา: ซี แมรี่ เทรินบุลล์, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน (A history of Malasia Singapore and Brunei), แปลเป็นไทยโดยรองศาสตราจารย์ทองสุก เกตุโรจน์, (กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๕๐) หน้า ๓๒๕.
๒๕ จากเรื่องเล่าในซราเจะห์มลายูหรือพงศาวดารมลายูซึ่งไม่เป็นที่เชื่อถือมากนัก สรุปได้ว่า เจ้าชายศรีตรีบูวานา (ซึ่งพระบิดาสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้า อเล็กซานเดอร์มหาราช แห่งเปอร์เซีย และพระมารดาสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงแห่งปาเล็มบังกับกษัตริย์โจฬะแห่งอินเดีย) ได้ออกแสวงหาทำเลที่เหมาะสมสำหรับการสร้างบ้านเมืองใหม่ พระองค์มองข้ามมหาสมุทรมาเห็นเกาะเตมาสิก และได้มองเห็นสัตว์ประหลาดแวบหนึ่งซึ่งเจ้าชายคิดว่าเป็นสิงห์ จึงสร้างเมืองใหม่ขึ้นบนเกาะเตมาสิกและเรียกชื่อบ้านเมืองว่า สิงหปุระ (กลายมาเป็นสิงคโปร์ในปัจจุบัน บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองเป็นนครใหญ่ มีพระราชาปกครองสืบมา ๕ รัชกาล บ้านเมืองก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรมัชปาหิตบนเกาะชวา
๒๖ พ่อค้านักเดินทางและนักสำรวจชาวเวนิส- อิตาลี ที่เดินทางไปค้าขายยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในราวช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และได้เดินทางมายังดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
๒๗ เป็นชาวโปรตุเกสเข้ามาอยู่ในมะละกาในช่วงที่ตกอยู่ใต้อำนาจของโปร์ตุเกส เขาได้บันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมะละกาไว้ในหนังสือเรื่อง Suma Oriental
๒๘ เป็นผู้ว่าราชการดูแลผลผระโยชน์ของอังกฤษอยู่ที่ชวา
๒๙ คลองสุเอซเป็นคลองขุดเพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้ากับทะเลแดง ผ่านช่องแคบสุเอซในอียิปต์ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มสร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๐๒ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ คลองสายนี้เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการค้าทางทะเล ทำให้มีการสถาปนา เส้นทางอินเดีย-ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางสายหลักมายังตะวันออก แทนที่เส้นทางเดิม คือเส้นทางแหลมกูดโฮป-ช่องแคบซุนดา
ส่วนสิงคโปร์ในฐานะที่เป็นอาณานิคมเอกเทศ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จึงได้รับอนุญาตให้ปกครองตนเองอย่างเต็มที่ด้านกิจการภายใน แต่ยังไม่มีอำนาจเต็มที่เกี่ยวกับกิจการต่างประเทศและกิจการทางทหาร ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ รัฐบาลสิงค์โปร์ ภายใต้การนำของนายลีกวนยู ได้นำสิงคโปร์เข้ารวมอยู่ในสหพันธ์มาเลเซีย แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ สิงคโปร์ก็ได้แยกตัวออกมาเป็นสาธารณรัฐอิสระ และแม้จะเป็นประเทศที่เล็กมากก็ตาม แต่สิงคโปร์ได้พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน และมั่งคั่งร่ำรวยติดอันดับ ๑ ใน ๒๐ ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
แผนที่แสดงตำแหน่งบ้านเมืองบนแหลมมลายูตอนล่างหรือมาเลเซียตะวันตกในปัจจุบัน
ที่มาของภาพ : วิทย์ บัณฑิตกุล, มาเลเซีย. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊ค, ๒๕๕๕)
๑. แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องโบราณคดีและก่อนประวัติศาสตร์ในมาเลเซีย
๑.๑ ชื่อเรื่อง Archaeology in Malaysia
ผู้เขียน Zuraina Majid
จัดพิมพ์โดย Centre for Archaeology Research Malaysia, University Sains Malaysia, Penang, Malaysia, 2003
หนังสือเรื่อง Archaeology in Malaysia มีทั้งหมด ๒๐๘ หน้า เป็นผลงานการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในมาเลเซียของศาสตราจารย์ ดร. Zuraina Majid นักโบราณคดีมาเลเซีย มีเรื่องราวที่น่าสนใจอันเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ในมาเลเซีย เนื้อหาในเรื่องประกอบด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าที่ผ่านมาในอดีตในพื้นที่ต่างๆ ของมาเลเซีย การขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ Kota tampan และ Bukit Jawa, Lenggong ในเปรัค ซึ่งได้พบโครงกระดูกและเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายประเภท เรื่องก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้จากการวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดีด้วยวิทยาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ การกำหนดอายุหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบ และเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้จากการวิเคราะห์เครื่องมือหินและกระดูก ซึ่งมีภาพแผนที่ ภาพแหล่งโบราณคดี และภาพเครื่องมือเครื่องใช้และโครงกระดูกมนุษย์ที่ค้นพบประกอบด้วย
๑.๒ ชื่อเรื่อง Early History
The Encyclopaedia of Malaysia volume IV (ใน 15 เล่ม)
บรรณาธิการ Nik Hassan Shuhaimi Nik Abdul Rahman
จัดพิมพ์โดย Archipelago Press, Singapore, 1998.
หนังสือเรื่อง Encyclopaedia of Malaysia volume IV ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ตอนต้นของมาเลเซียโดยสังเขป มีเรื่องราวที่น่าสนใจน่าอ่านหลายเรื่องตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น และมีภาพประกอบด้วย
๒. แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเมืองบนแหลมมลายูในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น
๒.๑ ชื่อเรื่อง The Golden Khersonese
ผู้เขียน Paul Wheatley
จัดพิมพ์โดย The University of Malaya Press, 1961.
2010 Reprint Condition: New. Paperback.
หนังสือเรื่อง The Golden Khersonese ซึ่งแต่งโดย Paul Wheatley เป็น เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์ของแหลมมลายูก่อน ค.ศ. ๑๕๐๐ ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ ที่นักวิชาการรุ่นหลังมักใช้อ้างอิงเสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองบนแหลมมลายูที่มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุจีน เนื้อหาทั้งแบ่งออกเป็น ๗ ตอน คือ China & the Malay Peninsula, The Malay Peninsula as Known to the West, The Indian Malay, The Arabs in Malay, Three Forgotten Kingdoms, The Isthmain Age, และ A City that was made for Merchandise.
๒.๓ ชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐
ผู้แต่ง ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
จัดพิมพ์โดย สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ครั้งที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ ๔ / ๒๕๔๙
หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐ ซึ่งนิพนธ์โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นหนังสือสำคัญซึ่งให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย โดยทรงเรียบเรียงจาก ตำราประวัติศาสตร์ที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก คือ รัฐในเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับอิทธิพลอิทธิพลอินเดีย (Les états hindouisés d’ Indochine et d’ Indonésie) ของศาสตราจารย์ ยอรช เซเดส์ (George Coedès) หนังสือเล่มนี้ยังคงมีความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ในปัจจุบัน มีเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเมืองแหลมมลายูอยู่ในบทที่ ๔ เรื่องแหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย
๒.๔ ชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ A History of South - East Asia
ผู้แต่ง D.G.E. Hall
ผู้แปล ท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และคณะ
บรรณาธิการ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
ครั้งที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ ๓ / ๒๕๔๙
หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ ศาสตราจารย์ฮอลล์ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทย โดยผู้เชียวชาญทางด้านประวัติศาสตร์หลายท่าน เป็นหนังสือวิชาการที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งในวงวิชาการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีเรื่องบ้านเมืองบนแหลมมลายูรวมอยู่ด้วย แม้หนังสือเล่มนี้จะแต่งมานานแล้ว และการศึกษาในยุคหลังๆ มีการพบข้อมูลใหม่และมีการตีความใหม่ๆ ต่างไปก็ตาม แต่เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นข้อมูลสำคัญที่หาได้ยากจากหนังสือเล่มอื่นๆ และเป็นแหล่งอ้างอิงของนักวิชาการอยู่เสมอๆ
๓. แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสหพันธ์มาเลเซียตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน
๓.๑ ชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน A History of Malaysia and Brunei
ผู้แต่ง C. Mary Turnbull
ผู้แปล รองศาสตราจารย์ทองสุก เกตุโรจน์
จัดพิมพ์โดย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
ครั้งที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ / ๒๕๔๐
หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ที่แปลมาจาก A History of Malaysia and Brunei ของ C. Mary Turnbull มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ผู้แต่งซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาประวัติศาสตร์ ได้ถ่ายทอดเนื้อหาภาพรวมของสภาพภูมิศาสตร์แวดล้อม ประชากร เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมของบ้านเมืองที่เจริญขึ้นในภูมิภาคนี้ตั้งแต่อดีตมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลจากผลงานการวิจัยและการค้นพบหลักฐานโบราณคดีและเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ กรมวิชาการเห็นว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน จึงให้มีการแปลหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับครู นักเรียน และผู้สนใจทั่วไป
๓.๒ ชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์มาเลเซีย
A History of Malaysia
ผู้แต่ง Barbara Watson Andaya & Leonard Y. Andaya
ผู้แปล พรรณี ฉัตรพลรักษ์
บรรณาธิการ มนัส เกียรติธารัย
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิ
โตโยต้า
ครั้งที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ ๒ / ๒๕๕๑
หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์มาเลเซีย แปลมาจากหนังสือซึ่งแต่งโดย Barbara Watson Andaya & Leonard Y. Andaya เป็นหนังสือภาษาไทยที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศมาเลเซียที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีเนื้อหาไล่เรียงเรื่องราวเป็นลำดับตั้งแต่ยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ยุคศรีวิชัย ยุคมะละกา การสิ้นสุดของรัฐมลายูในฐานะศูนย์กลางการค้า ลักษณะทางการเมืองภายในมาเลเซีย สมัยการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่สองและการต่อสู้เพื่อเอกราช และมาเลเซียสมัยได้รับเอกราชจนถึงปีค.ศ. ๒๐๐๐ ที่น่าสนใจยิ่งคือ ข้อมูลในหนังสือเล่มนี้สามารถนำมาใช้ตรวจสอบกับประวัติศาสตร์ไทยในเรื่องความยิ่งใหญ่ของรัฐไทยสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา ที่แผ่ขยายอำนาจครอบคลุมลงไปถึงบ้านเมืองบนแหลมมลายูได้เป็นอย่างดีด้วย
๔. แหล่งข้อมูลเรื่อง บ้านเมืองบนแหลมมลายูในเขตประเทศไทย
๔.๑
ชื่อเรื่อง คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม
บรรณาธิการ ยงยุทธ ชูแว่น
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์นาคร
ครั้งที่พิมพ์ ครั้งที่ ๑/ ๒๕๕๐
หนังสือเรื่อง คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเมืองในภาคใต้ของไทยในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งแบ่งออกเป็นตอนๆ โดยมีผู้แต่งหลายท่านที่เป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมีผลงานเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ธีรวัต ณ ป้อมเพชร พรรณงาม เง่าธรรมสาร สารูป ฤทธิ์ชู กรรณิกา จรรย์แสง อุษณีย์ ฉวีกุลรัตน์ ชุลีพร วิรุณหะ และยงยุทธ ชูแว่น ผู้แต่งแต่ละท่านได้เผยให้เห็นว่าคาบสมุทรไทยนี้เป็นดินแดนในราชอาณาจักรสยามมายาวนาน แต่มิได้มีอาณาเขตที่แน่นอน แต่ละแห่งมีความแตกต่างและมีอัตลักษณ์เฉพาะตน ในอดีตบ้านเมืองเหล่านี้มิต้องพึ่งพาศูนย์กลางเพราะมีทรัพยากรของตนเองจำนวนมากที่สามารถค้าขายแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอกได้ ช่วยให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นและเข้าใจปัญหาอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นในภาคใต้ได้ง่ายขึ้น
๕. แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารพื้นเมืองของบ้านเมืองบนแหลมมลายู
๕.๑
ชื่อเรื่อง บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู
ผู้แต่ง ชุลีพร วิรุณหะ
จัดพิมพ์โดย ศักดิโสภาการพิมพ์
ครั้งที่พิมพ์ ครั้งที่ ๑ / ๒๕๕๑
หนังสือเรื่อง บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู เป็นงานวิเคราะห์งานเขียนพื้นเมืองประเภทพงศาวดาร ตำนานบ้านเมืองบนแหลมมลายูและบางส่วนบนเกาะสุมาตรา ซึ่งบันทึกโดยชาวมลายูเอง ซึ่งผู้แต่งได้เลือกสรรงานเขียนพื้นเมืองชิ้นสำคัญ ๕ ชิ้นมาวิเคราะห์ ได้แก่Sejarah Melayu Tuhfat al-Nafis Hikayat Abdullah Hikayat Pattani และ Hikayat Merong Mahawangsa หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ยิ่งต่อผู้สนใจที่ต้องการทำความรู้จักชาวมลายูและมุมมองต่ออดีตของคนเหล่านั้นให้มากยิ่งขึ้น
กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑ - ๕ , พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๓๗.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง,พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,
๒๕๔๓.
ชุลีพร วิรุณหะ, บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู, กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, ๒๕๕๑.
ซี แมรี่ เทรินบุลล์, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน (A history of Malasia Singapore and Brunei),
แปลเป็นไทยโดย
รองศาสตราจารย์ทองสุก เกตุโรจน์, กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๕๐.
ดี.จี.อี. ฮอลล์, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร (A History of South-East Asia) เล่ม๑
- ๒,
แปลเป็นไทยโดย ท่านผู้หญิงวรุณยุพาและคณะ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ:
มูลนิธิโตโยต้า
ประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๙.
ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ, ไทยในมาเลเซีย, พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, ๒๕๔๗.
บุญญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ, ทุ่งตึก : เมืองท่าการค้าโบราณ, กรุงเทพฯ: สำนักศิลปากรที่ ๑๕ , ๒๕๕๐.
บาร์บารา วัตสัน อันดายา และ ลีโอนาร์ด วาย, อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย (A History of Malaysia), แปลเป็นไทยโดย พรรณี
ฉัตรพลรักษ์, มนัส
เกียรติธารัย บรรณาธิการ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑.
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๗ เรื่องฝรั่งเศสกับไทย, ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๑๕ และเล่ม ๑๖ ,พิมพ์ครั้งที่ ๑. (กรุงเทพฯ:
องค์การค้าคุรุ
สภา, ๒๕๐๗)
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๔ เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศเจิม,ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๓๘. (กรุงเทพฯ:
องค์การค้าคุรุสภา,
๒๕๐๗)
พัฒนพงศ์ ประคัลภ์พงศ์ “จดหมายเหตุการณ์เดินทางของโตเม ปิเรส ตอนที่เกี่ยวกับสยาม”และ “เอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวกับรัชสมัยสมเด็จ
พระรามาธิบดีที่ ๒ (๑๔๙๑-๑๕๙๒)”
ในเอกสารงานสัมมนาวิชาการ ๕๐๐ ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศไทยกับโปรตุเกสและชาติ
ตะวันตกในอุษาคเนย์ ๒๐๕๔ – ๒๕๕๔ เล่มที่ ๘.
(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, ๒๕๕๕).
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
(ฉบับหลวงประเสริฐและฉบับกรมพระปรมานุชิตฯ) และ พงศาวดารเหนือ ฉบับพระวิเชียรปรีชา (น้อย)
เล่ม ๑, พระนคร: องค์การค้าคุรุสภา,
๒๕๐๔.
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ – ๒ , กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร, ๒๕๓๕.
มยุรี วีระประเสริฐ. “คลองท่อมแหล่งอุตสาหกรรมทำลูกปัดและเมืองท่าขนถ่ายสินค้าสมัยโบราณ” ใน ปัจจุบันของโบราณคดีไทย.
(กรุงเทพฯ:
คณะโบราณคดีจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๘).
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล, ขุนนางอยุธยา, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๖)
ยงยุทธ ชูแว่น บรรณาธิการ, คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นาคร, ๒๕๕๐
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดปัตตานี,
กรุงเทพฯ: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและ
จดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหา
มงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒.
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนครศรีธรรมราช,
กรุงเทพฯ: คณะกรรมการฝ่ายประมวล
เอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระ
ราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธํนวาคม ๒๕๔๒.
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต,
กรุงเทพฯ: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและ
จดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหา
มงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธํนวาคม ๒๕๔๒.
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสงขลา,
กรุงเทพฯ: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและ
จดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหา
มงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า, “บทที่ ๔ แหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย”, ประวัติเอเซียอาคเนย์ถึงพ.ศ. 2000, พิมพ์ครั้ง
ที่ ๔,
กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ๒๕๔๙.
สุรินทร์ ภู่ขจร, รายงานขั้นสรุปการขุดค้นที่ถ้ำหมดเขียว จังหวัดกระบี่ ถ้ำซาไก จังหวัดตรัง และการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทาง
โบราณคดีชนกลุ่มน้อย จังหวัดตรัง,
กรุงเทพฯ: โครงการวิจัยวัฒนธรรมโหบินเนียนในประเทศไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๗.
ศิลปากร,กรม, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ ๑๗ (เล่ม ๑), พระนคร: กรมศิลปากร,
๒๕๑๒.
เอน.เจ.ไรอัน. การสร้างชาติมาเลเซียและสิงคโปร์ (The Making of Modern Malaysia and Singapore), แปลเป็นไทยโดย ม.ร.ว.
ประกายทอง สิริสุข, ทักษ์
เฉลิมเตียรณ บรรณาธิการ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๒๖.
Anderson, Douglas D. “Excavation of a Pleistocene Rockshelter in Krabi and the Prehistory of Southern Thailand,” in (eds) Pisit
Charoenwongsa and Bennet
Bronson. Prehistoric Studies : The Stone and Metal Ages in Thailand. Bangkok :
Amarin Printing Group, 1988.
Coedès, G., Les Etats hindouisés d’Indochine et d’Indonésie, nouvelle edition, Paris, 1964.
Jacq - Hergoulc’ H, Michel., La Civilisation de Ports - Entrepôts du Sud Krdah (Malaysia) V e – XIV e siècle, Paris:
Editions L’HARMATTAN, 1992.
Nik Hassan Shuhaimi Nik Abdul Rahman, Editor, Early History (The Encyclopaedia of Malaysia volume IV), Singapore,
Archipelago Press, 1998.
Pierre- Yves Mangain, “Le programme de Fouilles sur les sites de Srivijaya”, Bulletin École Française d’Extrême-Orient, vol.79 1,
1992, pp.272-7
Pookajorn, Surin.
Recent Archaeological Data of Human Activity and Environmental Change during the Late
Pleistocene to Middle Holocene in Southern Thailand and Southeast
Asia,
Paper present at the International
Association of Historians of Southeast Asia, Sophia University, Japan, September 5-9, 1994.
Wheatly, P., The Golden Khersonese, Kuala Lumpur, University of Malaya Press, 1966.
Zuraina Majid, Archaeology in Malaysia, Penang: Centre for Archaeological research Malaysia, Universiti Sains Malaysia, 2003