งานศึกษาวิจัยเอกสารข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเรื่อง นิราสนครวัด ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๔๖๘ นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ "ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน"ประจำปี ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำหนังสือและเอกสารหายากที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักหอสมุดแห่งชาติและสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาจัดทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
สำหรับเนื้อหาในงานศึกษาวิจัยเอกสารข้อมูลฉบับนี้ เป็นข้อมูลเพิ่มเติมความรู้ที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลเดิมที่มีอยู่หนังสือนิราสนครวัด ฉบับพิมพ์เป็นของฝากเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ซึ่งผ่านกาลเวลา มานานว่า ๘๐ ปีแล้ว และนำมาใช้เป็นเนื้อหาประกอบการจัดทำ e –book เรื่องนิราสนครวัด เพื่อให้ ผู้อ่านหนังสือได้ประโยชน์มากขึ้น และได้รับองค์ความรู้ใหม่เท่าที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญคือสามารถค้นคว้าหาข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง
สำหรับภาพโบราณสถานที่นำมาใช้ประกอบในเอกสารงานวิจัยนี้ ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายที่ผู้วิจัยเป็นผู้ถ่ายเอง นอกจากนั้นยังได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์พุฒ วีระประเสริฐ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และอาจารย์ ดร.ทรงธรรม ปานสกุณ จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งผู้วิจัยและสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีภาพที่เผยแพร่อยู่ใน http://www.site-archeologique-khmer.org./ และ http://www.dlxs.library.cornell.edu./
รองศาสตราจารย์มยุรี วีระประเสริฐ
ผู้ศึกษาวิจัย
นิราศนครวัด๑ เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จกรุงกัมพูชาเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน – ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ในขณะที่มีพระชนมายุ ๖๒ พรรษา นิราศเรื่องนี้เป็นนิราศรุ่นเก่าเรื่องเดียวที่แต่ง คำประพันธ์เป็นร้อยแก้ว๒ โดยมีกลอนนำอยู่ตอนต้นเรื่องเป็นเสมือนคำนำของหนังสือ ที่บอกเล่าเรื่องราวการเสด็จเยือนกัมพูชาครั้งนั้น และความช่วงท้ายบทกลอนบอกเหตุที่แต่งนิราศเรื่องนี้เป็นร้อยแก้วไว้ด้วยว่า
อย่าเลยจะเลี่ยงทำเยี่ยงปราชญ์ | แต่งนิราสสักทีจะดีกว่า |
ลองเล่าเรื่องที่ไปเมืองกัมพูชา | ให้บรรดามิตรสหายทั้งหลายฟัง |
แล้วพิมพ์แจกเช่นทำนองเป็นของฝาก | เห็นโดยมากจะสมอารมณ์หวัง |
แต่คิดกลอนแหละเบื่อเหลือกำลัง | จะแต่งตั้งนับปีก็มิแล้ว |
ด้วยกล่าวกลอนไม่สันทัดออกขัดข้อง | เห็นจะต้องเรียบเรียงเพียงร้อยแก้ว |
มีกลอนนาสักนิดเหมือนติดแวว | พอเนื่องแนวนิราศปราชญ์โบราณ |
มิฉะนั้นจะว่าไม่ใช่นิราศ | ด้วยเหตุขาดคากลอนอักษรสาร |
จึงแต่งไว้พอให้เห็นเป็นพยาน | ขอเชิญอ่านเนื้อเรื่องเนื่องไปเทอญ |
เมื่อทรงพระนิพนธ์นิราศเล่าเรื่องการเสด็จกรุงกัมพูชาแล้วเสร็จ จึงทรงตั้งชื่อว่า นิราสนครวัด และโปรดให้โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกจ่ายเป็นของฝากแก่มิตรสหายตามที่ตั้งพระทัยไว้ หนังสือนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก มีการพิมพ์ขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ กระทรวงธรรมการขอพระกรุณาประทานอนุญาตสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจัดพิมพ์หนังสือนิราศนครวัดขึ้น เพื่อใช้เป็นแบบเรียนในวิชาวรรณคดีไทยของนักเรียนฝึกหัดครู เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าหนังสือนิราสนครวัดเป็นหนังสือที่ให้ความรู้กว้างขวาง สมควรเป็นแบบเล่าเรียนได้เป็นอย่างดี
๑ มีการพิมพ์หลายครั้ง ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๘ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ และฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ พิมพ์ชื่อเรื่อง นิราสนครวัด ตามต้นฉบับที่ทรงเขียนสะกดด้วย ส ตามแบบที่เขียนกันในสมัยนั้น แต่ในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ พิมพ์ชื่อเรื่อง นิราศนครวัด สะกดด้วย ศ ตามต้นฉบับที่ผู้ทรงพระนิพนธ์ได้ปรับแก้ใหม่ หลังจากนั้นมาเมื่อการพิมพ์ขึ้นใหม่อีกทุกฉบับก็ใช้ชื่อเรื่อง นิราศนครวัดสะกดด้วย ศ ทั้งหมด ยกเว้นฉบับพิมพ์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่ยังใช้ชื่อเรื่อง นิราสนครวัด สะกดด้วย ส ตามแบบต้นฉบับเก่า ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เขียนคำ นิราศ สะกดด้วย ศ และอธิบายว่า นิราศ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ถ้าเป็นคำกิริยาแปลว่า ไปจาก ระเหระหน ถ้าเป็นคำนาม แปลว่า เรื่องราวการพรรณนาการจากกัน หรือจากที่อยู่ไปในที่ต่างๆ
๒ นิราศ เป็นงานวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเชิงพรรณนา คล้ายบันทึกการเดินทางเล่าเรื่องราวต่างๆ ตามเส้นทางที่ผู้แต่งได้พบได้เห็น ในระหว่างการเดินทาง เช่น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ฯลฯ ขณะเดียวกันผู้แต่งมักจะสอดแทรกความคิด ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไว้ด้วย ส่วนคำประพันธ์ที่ใช้แต่งมักเป็นร้อยกรอง เช่น โคลงนิราศหริภุญชัย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง ซึ่งแต่งชึ้นในสมัยอยุธยา ส่วนที่แต่งขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ นิราศนรินทร์ ซึ่งแต่งเป็นคำโคลง ส่วนนิราศที่แต่งเป็นคำกลอนที่รู้จักกันดี คืองานของสุนทรภู่ กวีเอกของไทยที่ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วย เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศภูเขาทอง เป็นต้น
หนังสือนิราสนครวัด ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก จึงมีการพิมพ์ขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง สำหรับจำนวนครั้งของการพิมพ์ที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น เท่าที่ตรวจสอบได้ในเวลานี้ (ซึ่งอาจจะยังไม่ครบถ้วน) ตั้งแต่ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๘ จนถึงฉบับพิมพ์ครั้งหลังสุด พ.ศ. ๒๕๔๕ นับรวมได้ ๑๗ ครั้ง ดังนี้
๑. นิราสนครวัด พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ขึ้น เพื่อแจกจ่ายเป็นของฝากแก่มิตรและสหาย โดยมีข้อความพิมพ์ไว้ที่ปกรองด้วยว่า ฉบับพิมพ์เป็นของฝาก เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘
๒. นิราสนครวัด พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๖๙ การพิมพ์ครั้งนี้ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒ ธนากร ขอประทานอนุญาตจัดพิมพ์ขึ้น และผู้ทรงพระนิพนธ์ได้ปรับปรุงแก้ไขข้อความบางตอนรวมทั้งทรงเพิ่มเติมรูปภาพประกอบด้วย ทรงชี้แจงไว้ในพระนิพนธ์คำนำของหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งนี้ ความว่า
นิราสนครวัดนี้ ข้าพเจ้าแต่งขึ้นพิมพ์เป็นของฝากญาติและมิตรเมื่อครั้งไปเที่ยว กรุงกัมพูชาใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ทราบว่ามีผู้ชอบอ่านแพร่หลาย จนหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกหมดไป ในไม่ช้า พระโสภณอักษรกิจเจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรซึ่งเป็นผู้พิมพ์ มาแจ้งความว่า ยังมีผู้ถามหาหนังสือนิราสนครวัดอยู่ไม่ขาด จะขออนุญาตพิมพ์ใหม่อีกสักครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้า เห็นชอบด้วย เพราะหนังสือนิราสนครวัดฉบับพิมพ์ครั้งแรกนั้น มีความวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่บางแห่ง
อีกประการหนึ่ง คณะสยามสมาคมได้เชิญให้ข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถา เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ในปาฐกถาที่แสดงนั้น ข้าพเจ้าได้บรรยายความบางข้อในเรื่องนครวัดนครธม พิสดารกว่าที่ได้กล่าวไว้ในนิราสนครวัดซึ่งพิมพ์ฉบับแรก จึงเก็บอธิบายเหล่านั้นมาเพิ่มลงในฉบับที่พิมพ์ใหม่ครั้งนี้ด้วยรูปภาพก็ได้เพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกบ้าง
เพราะฉะนั้นหนังสือนิราสนครวัดฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ นี้ ถึงท่านผู้ที่ได้เคยอ่านฉบับก่อนแล้ว จะอ่านซ้ำอีกก็คงจะได้ความรู้แปลกออกไปอีกบ้าง หวังใจว่าจะพอใจของผู้ที่ได้อ่านทั่วกัน"
๓. นิราศนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ตรวจสอบไม่พบฉบับพิมพ์ แต่ปรากฏหลักฐานการพิมพ์อยู่ในพระนิพนธ์คำนำของนิราศนครวัดฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ ว่า
"..พระโสภณอักษรกิจ เจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรซึ่งพิมพ์ฉบับแรกมาขออนุญาตพิมพ์ครั้งที่ ๒ เป็นของชำร่วยในงานฉลองอายุเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อจะพิมพ์ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าได้ตรวจแก้ไขให้บริบูรณ์ขึ้นกว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรกหลายแห่ง.."
นิราศนครวัดฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ มีประเด็นควรตรวจสอบ เพราะถ้าพิจารณาจาก ปี พ.ศ.ที่พิมพ์น่าจะเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๓ แต่เพราะเหตุใดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงกล่าวไว้ว่าการพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ผู้ศึกษาข้อมูลได้พยายามตรวจสอบค้นหาฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ แต่ก็ไม่พบ
๔. นิราสนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ มีข้อความพิมพ์ไว้ที่ปกรองว่า ฉบับชำระครั้งที่ ๒ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรจัดพิมพ์ เพื่อแจกเป็นของช่วยในงานปลงศพคุณหญิงชื่น นรเชฐวุฒิวัย มิถุนายน ๒๔๗๙ ซึ่งมีการชี้แจงไว้ในคำนำการจัดพิมพ์ของนายหยิน โสภณอักษรกิจ ความว่า
"...ในการปลงศพคุณหญิงชื่น นรเชฐวุฒิวัย มารดาคุณหญิงมโหสถศรีพิพัฒน์ ข้าพเจ้าคำนึงถึงท่านผู้ถึงแก่กรรมได้เป็นผู้ที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือคุ้นเคยมา...จึงปรารถนาจะพิมพ์หนังสือสักเรื่องหนึ่งเป็นของชำร่วยสำหรับแจกในงานนี้ เห็นหนังสือนิราสนครวัดของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งพระองค์ท่านได้ประทานให้คุณพระโสภณอักษรกิจพิมพ์ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ในทางโบราณคดีของประเทศเขมร เหมาะท่านที่จะได้รับแจกไปอ่านเป็นทางเพิ่มความรู้ จึงแจ้งแก่คุณพระโสภณอักษรกิจก็เห็นชอบด้วยและให้จัดพิมพ์ขึ้น..."
๕. นิราศนครวัด ฉบับพิมพ์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ กระทรวงธรรมการได้ทำหนังสือขอประทานพระอนุญาตสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจัดพิมพ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นแบบเรียนวิชาวรรณคดีไทยของนักเรียนฝึกหัดครู พระองค์ท่านก็ทรงอนุญาต พร้อมทั้งทรงแก้ไขและปรับปรุงเนื้อความบางตอนใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะคำว่า นิราศ ทรงเขียนตัวสะกดใหม่เป็น ศ และทรงนับว่าการพิมพ์ครั้งนี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๓ ดังปรากฏความบางตอนอยู่ในพระนิพนธ์คำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ ซึ่งทรงลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ว่า
"…หนังสือนิราศนครวัดฉะบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ นั้นหมดลงอีก บัดนี้กระทรวงธรรมการขออนุญาตพิมพ์หนังสือนิราศนครวัด เพื่อให้โรงเรียนใช้เป็นหนังสือเรียนด้วยอีกเรื่องหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติยศมีความยินดีอนุญาตให้กระทรวงธรรมการพิมพ์ตามประสงค์ นับเป็นฉะบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ ครั้งนี้ได้ตรวจชำระแก้ไขและแต่งเติมบางแห่งให้ดียิ่งขึ้นกว่าฉะบับที่เคยพิมพ์มาแต่ก่อน หวังใจว่าท่านทั้งหลายจะชอบอ่าน..."
ดังนั้นจึงถือว่าหนังสือนิราศนครวัดที่กระทรวงธรรมการพิมพ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นแบบเรียนในวิชาวรรณคดีไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด เพราะเป็นฉบับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพทรงปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้าย ก่อนที่พระองค์ท่านจะสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๖ จึงนิยมใช้เป็นฉบับต้นแบบของการพิมพ์เผยแพร่สืบมาในสมัยหลัง ๆ
๖. นิราศนครวัด ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ โรงพิมพ์ช่างพิมพ์วัดสังเวช
๗. นิราศนครวัด ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ โรงพิมพ์คุรุสภา
๘. นิราสนครวัด ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ สำนักพิมพ์เขษมบรรณกิจจัดพิมพ์ พิมพ์ที่ โรงพิมพ์เฟื่องอักษร โดยใช้ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นต้นฉบับพิมพ์ ดังนั้นในฉบับพิมพ์ครั้งนี้การเขียนสะกดการันต์คำต่างๆ ยังคงเป็นแบบเก่าตามต้นฉบับทั้งหมด (ยกเว้นคำว่า"เป็น"เขียนแบบใหม่ คือมีไม้ไต่คู้)
๙. นิราศนครวัด ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภา ฉบับนี้ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงทำเชิงอรรถเพิ่มเติมเพื่อขยายความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย โดยมิได้ทรงแก้ไขเนื้อหาเดิมภายในเล่มแต่อย่างใด
๑๐. นิราศนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ แพร่พิทยาจัดพิมพ์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา
๑๑. นิราศนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ สำนักพิมพ์บรรณคารจัดพิมพ์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ กรุงธน
๑๒. นิราศนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์
๑๓. นิราศนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๗ สำนักพิมพ์คลังวิทยาจัดพิมพ์ พิมพ์ที่เจริญรัตน์ การพิมพ์
๑๔. นิราศนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๖ จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าพวงมาศผกา ดิศกุล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ องค์การค้าของ คุรุสภาจัดพิมพ์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภา
๑๕. นิราศนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มูลนิธิสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา จัดพิมพ์เนื่องในวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฉบับพิมพ์ครั้งนี้ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลได้ทรงทำเชิงอรรถเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้เท่าที่ทราบกันอยู่ในเวลานั้น
๑๖. นิราศนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ สำนักพิมพ์คลังปัญญาจัดพิมพ์
๑๗. นิราศนครวัด พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นฉบับหลังสุด การจัดพิมพ์ฉบับนี้ มูลนิธิสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา มอบหมายให้สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ ในการพิมพ์ครั้งนี้ทางหอสมุดดำรงราชานุภาพยังอนุญาตให้สำเนาภาพถ่ายเก่าเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกรุงกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ มาพิมพ์ประกอบเพิ่มเติมอีก นอกจากนี้เพื่อให้ผู้อ่านนิราศนครวัดได้รับความรู้ความเข้าใจชัดเจนมากขึ้น ทางผู้จัดพิมพ์ยังได้มอบให้อาจารย์ศานติ ภักดีคำ จัดทำความรู้เกี่ยวกับกษัตริย์เขมร ตลอดจนชื่อเมืองและสถานที่สำคัญที่มีกล่าวถึงในหนังสือนิราศนครวัดเพิ่มเติมและพิมพ์ไว้ในภาคผนวกด้วย
๓.๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ๓ ผู้ทรงพระนิพนธ์หนังสือนิราสนครวัด
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงพระนิพนธ์หนังสือ นิราสนครวัด ทรงเป็นยอดปราชญ์แห่งสยามที่ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทยและคนไทย พระองค์ทรงได้รับการยกย่องเทิดทูนทั้งในเวลาที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และหลังจากที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เพราะทรงประกอบพระเกียรติคุณไว้เป็นอันมาก ทรงรับใช้สนองพระบรมราชโองการและพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดังพระราชประสงค์ ทรงมีผลงานมากมายหลายสาขาดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัดในพระปรีชาสามารถ ไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร ด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการปกครอง ทรงเป็นผู้วางรากฐานการปกครองประเทศแบบกระทรวง ทบวง กรม แทนแบบเก่าที่เคยใช้กันมาแต่สมัยอยุธยา ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ามาเป็นลำดับตราบจนปัจจุบัน แต่ที่โดดเด่นและเป็นเรื่องที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดมาตราบจนวันนี้ คือทรงเป็นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยอดเยี่ยม จนได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย จากผลงานต่างๆ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทำไว้ให้แก่ประเทศชาติและชาวไทยมาตลอด พระชนม์ชีพดังที่กล่าวมา เป็นเหตุให้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ร่วมกับรัฐบาลไทยจัดการเฉลิมฉลองวันครบร้อยปีวันประสูติของพระองค์เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นงานใหญ่เพื่อยกย่องพระองค์ท่าน เป็นบุคคลสำคัญของโลก และนับเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้รับเกียรตินี้ด้วย
พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕ ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร
๓ พระประวัติของพระองค์ท่านมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายจนยากที่พรรณนาได้หมด และมีผู้แต่งเป็นหนังสือไว้หลายเล่ม ดูตัวอย่างรายชื่อหนังสือได้ในบรรณานุกรมท้ายเล่มงานศึกษาข้อมูลฉบับนี้ ในที่นี้จะขอกล่าวเพียงย่อ ๆ และเน้นไปในเรื่องผลงานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับพระนิพนธ์ นิราศนครวัด เท่านั้น
การศึกษา พระองค์ทรงเริ่มศึกษาภาษาไทยขั้นต้นตามแบบสมัยเก่าในพระบรมมหาราชวังกับคุณแสงเสมียน และคุณปานซึ่งเป็นพระธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ โดยทรงใช้หนังสือประถม ก กา ซึ่งเป็นหนังสือฉบับที่พิมพ์ขึ้นครั้งแรกของหมอบรัดเลย์ ต่อมาเมื่อทรงอ่านหนังสือได้แตกฉานจนสามารถอ่านหนังสือเป็นเล่มได้ ก็ได้รับพระราชทานหนังสือเรื่องสามก๊กจากสมเด็จพระราชบิดา ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงอ่านหนังสือเรื่องสามก๊กเป็นหนังสือเรียน และโปรดอ่านหนังสือเป็นพระนิสัย นอกจากนี้ยังได้ทรงศึกษาภาษาบาลีในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และหลวงธรรมานุวัตร (จุ้ย) และทรงเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวงกับนายฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สัน (Francis George Patterson) ทรงเล่าเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษไว้ว่า
"ฉันได้เป็นศิษย์ติดตัวครูอยู่แต่คนเดียว เวลานักเรียนอื่นกลับแล้วครูให้ฉันอยู่ กินกลางวันด้วย แล้วสอนให้ในตอนบ่ายอีก เมื่อเรียนแล้ววันไหนครูขึ้นรถไปเที่ยวก็มักชวนฉันไปด้วย เพราะเหตุที่อยู่กับครูมากและได้พบปะพูดจาฝรั่งเพื่อนฝูงของครูบ่อยๆ เมื่อยังเป็นเด็กจึงพูดภาษาอังกฤษได้คล่องเกินความรู้ที่เรียนหนังสือ ทั้งได้คุ้นเคยกับฝรั่งแต่นั้นมา"๔
ต่อมาได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับที่วัด บวรนิเวศกับพระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และเมื่อเจริญพระชันษาขึ้นก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จไปประทับที่วัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอินการเสด็จเข้ารับราชการหลังจากที่ทรงลาผนวชจากการเป็นสามเณร ก็ทรงเริ่มเข้ารับราชการเป็นนักเรียนนายร้อยทหารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และทรงได้เลื่อนยศทหารมาเป็นลำดับ ตั้งแต่นายร้อยตรีทหารราบจนกระทั่งนายพลเอกราชองครักษ์พิเศษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงรานุภาพทรงรับราชการใกล้ชิดพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทรงรับใช้สนองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างยากที่จะมีบุคคลใดเสมอเหมือนแล้ว ยังทรงมีผลงานที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ด้วย ทรงปฏิบัติงานได้อย่างเรียบร้อยตามราชประสงค์ และเป็นคุณแก่ประเทศอย่างมหาศาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในราชการหลายตำแหน่ง เช่น อธิบดีกรมแผนที่ กรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช เสนาบดีกระทรวงธรรมการ กรรมการสภาหอพระสมุดวชิรญาณ ราชทูตพิเศษ (ไปเยี่ยมตอบราชสำนักในประเทศทางตะวันตกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ๘ ประเทศได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ค เยอรมนี รัสเซีย เตอรกี กรีก และอิตาลี) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งยังเคยทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปด้วย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยสืบมา ทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยพระวิริยะอุตสาหะ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากประชวรไม่สามารถทำราชการหนักได้อีกต่อไป แต่รัชกาลที่ ๖ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นเสนาบดีที่ปรึกษาและทรงขอร้องให้ดูแลหอพระสมุด วชิรญาณต่อไปด้วย และใน พ.ศ. ๒๔๖๖ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณสืบมา ที่สำคัญคือทรงเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงเป็นอภิรัฐมนตรี ทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสภาซึ่งได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจต่างๆ อันเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี การพิพิธภัณฑ์ และวรรณคดี
ลำดับพระอิสริยยศ
พ.ศ. ๒๔๒๙ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และ พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
พ.ศ. ๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
พ.ศ. ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันเป็นพระยศที่สูงสุดในทางทรงกรม
๔ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ. ความทรงจำ. (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖). หน้า ๑๗๗.
ช่วงปลายแห่งพระชนม์ชีพ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปประทับที่ประเทศอังกฤษ ครั้งนั้นสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ไปส่งเสด็จที่สงขลาด้วย และได้กราบถวายบังคมลาไปประทับที่ปีนัง เพราะทรงต้องการความสงบและหลีกให้พ้นจากการเมือง ในขณะที่ประทับอยู่ปีนังทรงมีเวลาศึกษาค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ทรงสนพระทัยได้อย่างเต็มที่ และได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือให้ความรู้อันเป็นประโยชน์ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไว้มากมาย ทรงประทับอยู่ปีนังจนถึง ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็เริ่มประชวรด้วยโรคพระหทัยพิการ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ จึงเสด็จกลับประเทศไทยเพื่อรักษาพระองค์ พระอาการทรงและทรุดลงมาเรื่อยๆ แต่ไม่มีอาการพระประชวรหนักถึงลงบรรทม จนกระทั่งในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงสิ้นพระชนม์ แพทย์ประจำพระองค์บอกว่า สิ้นพระชนม์ด้วยพระหทัยหยุดทำงานเท่านั้น
พระปรีชาสามารถด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพทรงเป็นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยอดเยี่ยม จนได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย
ความสนพระทัยในโบราณคดี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้บันทึกไว้ในสมุดพระประวัติทรงรับราชการว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสั่งสอนความรู้ด้านรัฐประศาสน์ และโบราณคดี และทรงพระนิพนธ์ไว้ใน ความทรงจำ ว่า
"ครั้งถึงปีจอ พ.ศ.๒๔๑๗ เมื่อเลิกโรงเรียนภาษาอังกฤษ จึงมีพระราชดำรัส รับสั่งให้ฉันเข้าไปรับใช้ประจำพระองค์ มีหน้าที่ตามเสด็จและอยู่คอยรับใช้ในเวลาค่ำ เมื่อทรงสำราญ พระราชอิริยาบถเวลาเสร็จราชกิจประจำวันแล้ว ได้อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอ เป็นเหตุให้ฉัน ได้รับพระบรมราโชวาทและได้ฟังพระราชดำริ ได้รู้เรื่องต่างๆ ที่ตรัสเล่า ทั้งมีโอกาสทูลสนองหรือ ทูลถามได้ด้วยทรงพระกรุณา"๕ ดังนั้นความสนพระทัยเรื่องโบราณคดีคงจะเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ยังทรงมีโอกาสได้ฟังเรื่องต่างๆ จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระอุปัชฌาย์ เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นสามเณร ทรงเล่าว่า "ฉันพอใจขึ้นไปเฝ้า (เสด็จอุปัชฌาย์) เพราะได้ฟังท่านตรัสเล่าเรื่องโบราณต่างๆ ให้ทราบเนืองๆ .." ๖
นอกจากนี้ ยังโปรดเรียนวิชาอาคมที่ทำให้อยู่ยงคงกระพันด้วยเวทมนตร์และเครื่องรางของขลังต่างๆ อาจารย์คนสำคัญที่ถวายการสอนเรื่องนี้ คือนักองค์วัตถา พระอนุชาของสมเด็จ พระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา ทำให้ทรงสะสมเครื่องโบราณไว้มาก สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นที่ทำให้ทรงสนพระทัยและนำไปสู่การศึกษาโบราณคดีในเรื่องอื่นๆ ต่อมาทรงมีเครื่องรางสำคัญประจำพระองค์คือพระกริ่ง ซึ่ง "คุณตา" ถวายพระองค์แต่ครั้งทรงพระเยาว์ เดิมนั้นไม่ทรงทราบว่าพระกริ่ง เป็นของวิเศษอย่างไร จนเมื่อครั้งผนวชเป็นสามเณร จึงทรงทราบจากนักองค์วัตถาว่าเป็นพระกริ่งเขมร ที่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แห่งกัมพูชาสร้างขึ้นเป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับป้องกันอันตราย จึงนำมาประจำพระองค์ไว้ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงมีพระกริ่งเหมือนกัน เมื่อทรงทราบว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระกริ่ง จึงโปรดให้นำมาเทียบกันและตรัสสอนว่า พระกริ่งที่เป็นของแท้มี ๒ อย่าง คือ พระกริ่งดำและพระกริ่งเหลือง มีรูปทรงอย่างเดียวกัน จึงทรงทราบว่า พระกริ่งของพระองค์เป็นพระกริ่งดำของแท้ (ทรงสนพระทัยเรื่องพระกริ่งมากด้วยมีพระดำริว่า พระกริ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งทางโบราณคดี ทรงศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้มานาน แม้กระทั่งเมื่อเสด็จไปกัมพูชาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ขณะที่ทรงพระชนมายุ ๖๒ พรรษา ก็ยังทรงไปสืบสวนหาความรู้เรื่องพระกริ่งในกัมพูชา และทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ในหนังสือนิราสนครวัดด้วย) ๙
ต่อมาหลังจากทรงลาสิกขาบทจากการเป็นสามเณรแล้ว ความสนพระทัยในเรื่องโบราณคดีก็มีมากขึ้น ทรงเล่าว่า "แม้ตัวฉันเองเมื่อยังเป็นหนุ่มก็เคยชอบไต่ถามท่านผู้ใหญ่อย่างเดียวกัน ยังจำได้ถึงสมัยเมื่อฉันเป็นนายทหารมหาดเล็กประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เวลาค่ำมักชอบไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ที่วังตรงหน้าประตูวิเศษชัยศรี ทูลถามถึงเรื่องโบราณต่างๆ ท่านก็โปรดตรัสเล่าให้ฟังโดยไม่ทรงรังเกียจ ดูเหมือนจะพอพระหฤทัยให้ทูลถามด้วย ๑๐
๕ สมเด็จฯกรมพระยาดารงราชนุภาพ, ความทรงจำ, (กรุงเทพฯ:มติชน,๒๕๔๖).หน้า ๑๘๑
๖ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๘๕
๗ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๘๖
๘ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๘๗
๙ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิราสนครวัด ฉบับพิมพ์เป็นของฝากเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิพรรฒธนากร), หน้า ๘๕ -๘๖
๑๐ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี. (กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, ๒๕๑๗). หน้าคำนำ
ด้วยความสนพระทัยและพระอุปนิสัยใฝ่รู้ ทำให้ทรงมีความรู้เรื่องโบราณรวมทั้ง ศิลปวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง และเมื่อเจริญพระชันษาเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงสามารถนำความรู้ด้านโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม มาทำประโยชน์นานัปการให้แก่ประเทศชาติ ทรงศึกษาและตรวจหาของโบราณที่มีอยู่ในประเทศมาโดยตลอด เมื่อครั้งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและได้เสด็จไปตรวจราชการยังหัวเมือง หากทรงทราบว่ามีโบราณวัตถุสถานอยู่แห่งใด ก็มักจะเสด็จไปทอดพระเนตรตรวจตราด้วยพระองค์เองเสมอ แม้การเดินทางจะลำบากเพียงใดก็เสด็จไปจนถึง อีกทั้งทรงเอาพระทัยใส่ในเรื่องการเก็บรวบรวมของโบราณอันเป็นสมบัติของชาติไว้ด้วย โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของโบราณขึ้นที่กระทรวงมหาดไทยก่อน และยังทรงชักชวนและแนะนำให้สมุหเทศาภิบาลช่วยกันรวบรวมของโบราณไว้ในสถานที่ว่าราชการตามมณฑลต่างๆ เช่นที่ อยุธยา นครปฐม พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้เมื่อเสด็จไปยังประเทศต่างๆ ก็ทรงสนพระทัยเสด็จทอดพระเนตรสถานที่สำคัญของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ หอสมุด หรือโบราณสถาน ทรงบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้อย่างละเอียด และนำมาทรงพระนิพนธ์ให้ความรู้ไว้ในหนังสือ ชุดนิทานโบราณคดี อันเป็นคุณประโยชน์ยิ่งต่อการศึกษาของไทย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับ พระนคร ก็ทรงสามารถทำให้หอพระสมุดเจริญก้าวหน้า ทรงจัดหารวบรวมหนังสือเข้าหอพระสมุดได้อย่างมากมาย ทรงจัดวางระเบียบแยกงานไปตามความถนัดของแต่ละคน ขณะนั้นทรงมีผู้ร่วมงานหลายท่าน ที่สำคัญคือ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ใหญ่มีหน้าที่ค้นคว้าด้านตะวันตก และภาคตะวันออกไกล (ซึ่งเมื่อครั้งเสด็จกัมพูชา พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้เป็นผู้นำเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถาน ในกัมพูชาด้วย) นอกจากนี้ยังมีพราหมณ์ ป.ศาสตรี ทำหน้าที่ค้นคว้าทางด้านอินเดียและสันสกฤต พระเจนจีนอักษร ทำหน้าที่ค้นคว้าทางด้านประเทศจีน มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ ทำหน้าที่ค้นคว้าทางด้านเขมร
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น มีแผนกวรรณคดี โบราณคดีและศิลปากร และเพื่อบำรุงวิชานั้นๆ ให้เจริญรุ่งเรือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งนายกสภา พระองค์ก็ทรงปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณและทำประโยชน์ให้เกิดแก่วิชาในแผนกต่างๆ ได้ดังพระราชประสงค์ ในคราวเดียวกันนี้รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้โอนพิพิธภัณฑสถานซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับกระทรวงวังให้มาอยู่ในสังกัดของราชบัณฑิตยสภา และพระราชทานวังหน้าให้จัดเป็นพิพิธภัณฑสถาน แล้วมีพระบรมราชโองการให้จัดใหม่ให้ทันสมัยด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเริ่มงานจัดพิพิธภัณฑสถานที่วังหน้าตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเลย เพราะอาคารหมู่พระที่นั่งไม่ได้ใช้มานานชำรุด ทรุดโทรม เพดานพัง ทรงต้องใช้พระวิริยะอุตสาหะอย่างเต็มที่ในการดำเนินงาน เพราะจะของบประมาณก็ขัดสน แต่ด้วยพระปรีชาสามารถการจัดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแผนกโบราณคดีก็สำเร็จลุล่วงได้ตามพระราชประสงค์ กิจการพิพิธภัณฑ์เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ จนกลายมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับใช้สนองพระบรมราชโองการและพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ดังพระราชประสงค์ถึง ๓ รัชกาล ทรงมีผลงานหลายสาขาดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัดในพระปรีชาสามารถ ซึ่งรวมถึงด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ด้วย ดังนั้นเมื่อรัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันเป็นพระยศที่สูงสุดในทางทรงกรม พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตร จึงมีสร้อยพระนามตาม พระปรีชาสามารถที่โดดเด่น ซึ่งมีด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่ด้วย ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อิสสริยภาพบดินทร สยามวิชิตินทรวโรปการ มโหฬารรัฐประศาสน์ ปิยมหาราชวรานุศิษย์ ไพศาลราชกฤตยการี โบราณคดีประวัติศาสตร์โกศล คัมภีรนิพนธ์นิรุกติปฏิภาณ ราชบัณฑิตวิธาน นิติธรรมสมรรถ ศึกษาภิวัธนปิยวาที ขันติสัตยตรีสุจริตธาดา วิมลรัตนปัญญาอาชวาสัย พุทธาทิไตรสรนาทร พิเศษคุณาภรณ์ธรรมิกนาถบพิตร นาคนาม
ไพศาลราชกฤตยการี โบราณคดีประวัติศาสตร์โกศล
แปลความว่า
ทรงกระทำราชกิจมากมายไพศาล ทรงรอบรู้ในโบราณคดีและประวัติศาสตร์
ผลงานด้านพระนิพนธ์ นอกจากทรงมีผลงานราชการที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถเป็นเลิศในด้านต่างๆ มากมายให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังมีผลงานด้านพระนิพนธ์หนังสืออันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและอนุชนคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก ทุกเรื่องล้วนให้ประโยชน์มีค่าควรแก่การศึกษาทั้งสิ้น เท่าที่นับกันไว้มีมากกว่า ๕๐๐ เรื่อง ทั้งที่เป็น พงศาวดาร โคลงกลอน ศาสนา ประวัติ ตำนาน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น ตำนานพุทธเจดีย์ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๕ ไทยรบพม่า นิทานโบราณคดี เสด็จยุโรปครั้งที่ ๒ นิราศนครวัด เที่ยวเมืองพม่า โบราณคดีจากลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความทรงจำพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สาส์นสมเด็จ เป็นต้น
พระประวัติที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะเป็นเพียงการกล่าวโดยสังเขป แต่ก็คงจะเห็นได้ว่า ตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้บำเพ็ญกรณียกิจที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมายเพียงใด
๓.๒ บุคคลตามเสด็จไปเยือนกรุงกัมพูชา
เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปเยือนกัมพูชาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ นั้นมีผู้ตามเสด็จหลายคน และในบรรดาผู้ตามเสด็จนั้น มีบุคคลสำคัญ ๒ ท่าน ที่ผู้อ่านหนังสือนิราศ นครวัดควรรู้จัก คือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ผู้ทรงเป็นสตรีไทยสำคัญคนหนึ่งที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักวิชาการฝรั่งเศสที่มีผลงานด้านเขมรศึกษาโดดเด่นเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งได้ตามเสด็จโดยทำหน้าที่เป็นผู้นำเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานสำคัญในกรุงกัมพูชา
๓.๒.๑ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเป็นกุลสตรีที่ประกอบแต่คุณงามความดี มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทรงประกอบพระภารกิจให้วงการพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ทรงมีความวิริยะอุตสาหะในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศตลอดพระชนม์ชีพ ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
พระประวัติ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเฉื่อย ดิศกุล (ยมาภัย) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่วังสามยอด เชิงสะพานดำรงสถิตย์
การศึกษา การศึกษา ทรงศึกษาภาษาไทยชั้นต้นกับคุณหญิงวิทยาปรีชามาตย์ (อ่อง) และทรงศึกษาวิชาสำหรับกุลสตรีจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี นอกจากนี้ยังได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสกับครูสตรีชาวต่างประเทศเจ้าของภาษาด้วย ที่สำคัญยิ่งคือ ทรงได้รับความรู้ต่างๆ จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพพระบิดาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เนื่องจากทรงใกล้ชิดกับพระบิดาในระหว่างที่พระบิดาทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลต่างๆ ก็ได้ตามเสด็จไปด้วย ทำให้ทรงมีความรู้เกี่ยวกับบ้านเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณีของภูมิภาคต่างๆ ของไทย นอกจากนี้ยังได้ตามเสด็จพระบิดาไปยังประเทศต่างๆ จึงได้รับความรอบรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับต่างประเทศด้วย
ผลงานสำคัญ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเป็นผู้มีความรอบรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และศาสนา อีกทั้งยังทรงปรีชาสามารถในการนำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ทรงมีมาใช้ประโยชน์อันเป็นคุณแก่ประเทศชาติด้วย ในด้านศาสนาทรงมีความรอบรู้อย่างลึกซึ้งและแตกฉาน ดังจะเห็นได้จากพระนิพนธ์ที่ทรงไว้เป็นจำนวนมาก วรรณกรรมที่สร้างเกียรติยศชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ บทพระนิพนธ์หนังสือสอนศาสนาเรื่อง "ศาสนคุณ" ที่ทรงแต่งประกวดในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๔๗๒ และได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ส่วนวรรณกรรม ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการ ได้แก่ ชุมนุมพระนิพนธ์เรื่อง "ประเพณีไทย" และสารคดีอีกหลายเรื่องใน "ชุมนุมพระนิพนธ์" รวมทั้งพระนิพนธ์ด้านพระพุทธศาสนาซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบำเพ็ญกรณียกิจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดมาเป็นระยะเวลานานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยพระปรีชาสามารถและพระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ชัด จึงทรงได้รับการสรรเสริญสดุดีจากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศดังนี้
พ.ศ. ๒๕๑๐ มหาวิทยาลัยดองกุก กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญา ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสันติของมวลมนุษยชาติตำแหน่งสำคัญ
พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเรื่องพงศาวดารไทยหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ถึงชีพิตักษัย เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ รวมพระชันษาได้ ๙๕ พรรษา
๓.๒.๒. ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (Goerge Coedès)๑๑
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เป็นนักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก มีผลงานการศึกษาวิจัยทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โดดเด่นในวงวิชาการตะวันตกยุคศตวรรษ ที่ ๒๐ ซึ่งมีเรื่องที่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรงด้วย ผลงานของท่านถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการศึกษาตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์
ประวัติ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เกิดที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๙ ในด้านการศึกษา หลังจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย (ด้านภาษากรีกและละติน) ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีส และที่สถาบันการศึกษาชั้นสูงแห่ง กรุงปารีส สาขาศาสนศึกษา (จบการศึกษาโดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Les Bas-reliefs d' Angkor Wat (ภาพสลักนูนต่ำที่ปราสาทนครวัด) และได้รับปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาเยอรมัน นอกจากนี้ยังไปศึกษาต่อสาขาเดียวกันนี้ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินด้วย เมื่อจบการศึกษาได้เริ่มประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันในโรงเรียนมัธยมที่กรุงปารีส
๑๑ ดูรายละเอียดใน เสาวลักษณ์ กีชานนท์ "ชีวิตข้าราชการไทยของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์, ประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร ), ๒๕๓๙, หน้า ๒๐๕ – ๒๒๖. และ ยอร์ช เซเดส์ กับไทยศึกษา (กรุงเทพฯ: ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร), ๒๕๔๖
แรงบันดาลใจในการศึกษาประเทศทางตะวันออกศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เริ่มสนใจศึกษาประเทศทางตะวันออกตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมอายุ ๑๗ ปี เมื่อครั้งมีโอกาสเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีสในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ และใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ด้วยวัยเพียง ๑๘ ปี ขณะที่ยังศึกษาอยู่ที่สถาบันการศึกษาชั้นสูงแห่งกรุงปารีส ก็ได้เขียนบทความตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในวารสารสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ๑๒ ซึ่งเป็นบทความแปลจารึกภาษาสันสกฤตของพระเจ้าภววรมันที่สอง โดยได้รับการสนับสนุนจากนายบาร์ท นายเอโมนิเยร์ ศาสตราจารย์เลวี ศาสตราจารย์ ฟูเช่ รวมทั้งนายฟิโนต์๑๓
ความสนใจและความสามารถด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในอินโดจีนของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ยังเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ท่านได้เขียนบทความเรื่อง Bibliographie raisonnée des travaux relatives à l'archéologie du Cambodge et du Champa (บรรณานุกรมลำดับผลงานที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดีในเขมรและจัมปา) ตีพิมพ์ใน Bulletinde la Commission Archéologique de l' Indochine (วารสารคณะทำงานโบราณคดีในอินโดจีน)
พ.ศ. ๒๔๕๔ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสำรองของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ และต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ทางนิรุกติศาสตร์อินโดจีน ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัย
พ.ศ. ๒๔๖๑ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้ลาออกจากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ เพื่อมาดำรงตำแหน่งบรรณารักษ์ประจำหอสมุดสำหรับพระนคร
การเข้ารับราชการในประเทศไทย ก่อนที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ จะเข้ามารับราชการในประเทศไทย ท่านเคยเข้ามาที่กรุงเทพฯ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเข้ามาพร้อมกับพระมหาพิมลธรรม (ทอง) ราชาคณะสงฆ์กัมพูชาผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ในบาลีวิทยาลัย ณ เมืองพนมเปญ เพื่อเข้ามาศึกษาพระคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ทางบาลีวิทยาลัยยังขาดอยู่ และได้เข้าเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพที่หอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณในขณะนั้น ครั้งที่สอง ท่านเข้ามาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักวิชาการของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ เรื่องการตรวจศิลาจารึกในกรุงสยาม จึงได้พบกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอีกครั้งจนเกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกัน ดังปรากฏเรื่องราวอยู่ในหนังสือราชการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงส่งไปถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการในรัชกาลที่ ๖ เพื่อแจ้งการเข้ารับราชการของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ในประเทศไทย ว่า
"ฉันได้พบโปรเฟตเซอร์ ยอช เซเด เปนคนฝรั่งเศส เปนโปรเฟตเซอร์ภาษาตวันออกในสมาคมเอโคลเอกสตรีมออเรียนต์ฝรั่งเศส ด้วยสมาคมเขาให้เข้ามาตรวจศิลาจาฤกในกรุงสยาม ได้ขออนุญาตมาตรวจศิลาจาฤกที่มีอยู่ในหอพระสมุดสำหรับพระนครได้พบปะกันอยู่ทุกๆ วัน หลายเดือนจนคุ้นเคยอัชฌาไศรย เห็นว่าเปนผู้มีความรู้ดีและอัชฌาไศรยก็เรียบร้อย ควรเปนบรรณารักษ์ของหอ พระสมุดฯ ได้ด้วยประการทั้งปวง" ๑๔
ข้อความข้างต้นแสดงถึงความรู้ความสามารถของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงประจักษ์มาก่อน และเมื่อท่านเข้ามารับราชการในประเทศไทยใกล้ชิดกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่การงานเต็มความสามารถได้ไม่บกพร่องเป็นที่ไว้วางพระทัย และเมื่อครั้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปเยือนกัมพูชาเป็นการส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ก็ได้ตามเสด็จไปด้วยเพื่อทำหน้าที่ล่ามภาษาฝรั่งเศสและเป็นผู้นำเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานในกัมพูชา ในขณะที่รับราชการเป็นบรรณารักษ์ใหญ่ของหอพระสมุดวชิรญาณ ท่านก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้แปลศิลาจารึกโบราณด้วย ดังที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ว่า
๑๒ เป็นสถาบันวิชาการด้านตะวันออกศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสฝ่ายควบคุมอาณานิคมในอินโดจีน (Governement general de l' Indochine) ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๔๓ เพื่อทำหน้าที่สำรวจทางโบราณคดี อนุรักษ์โบราณสถาน รวมทั้งศึกษาด้านมานุษยวิทยา และอารยธรรมของประเทศต่างๆ ในเอเชีย
๑๓ บุคคลที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นนักปราชญ์ฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและภาษาศาสตร์ของทวีปเอเซียทั้งสิ้น ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ เซเดส์ยกย่องเป็นอาจารย์ผู้ให้ความรู้อันเป็นรากฐานสำคัญในการทำงานศึกษาค้นคว้าในระยะต่อมา
๑๔ จดหมายเหตุแห่งชาติ,กอง,เอกสาร ศธ.๑๑/๑๔ เรื่องขออนุญาตอนุญาตทำสัญญาจ้างโปรเฟสเซอร์เซเดส์เป็นบรรณารักษ์ใหญ่สำหรับหอพระสมุดสำหรับพระนคร อ้างต่อจาก เสาวลักษณ์ กีชานนท์ "ชีวิตข้าราชการไทยของศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์" ในประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม ๒, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร), ๒๕๓๕ ,หน้า ๒๐๓
" ...ได้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ฝรั่งเศสมาเปนบรรณารักษ์ใหญ่ในหอพระสมุดฯ กรรมการเห็นว่ามีความสามารถเหมาะแก่การที่จะแปลศิลาจารึกโบราณด้วยเปนผู้ชำนาญทั้งภาษาและนานาอักขระของประเทศทางตวันออก และมีน้ำใจรักในการตรวจค้นสอบสวนโบราณคดี จึงได้มอบธุระเรื่องแปลศิลาจารึกในเมืองไทยให้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เปนผู้ทำ...."๑๕
ศาสตราจารย์เซเดส์ได้ใช้เวลาตรวจและแปลศิลาจารึกอยู่หลายปี และสร้างผลงานการศึกษาค้นคว้าไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นท่านยังรับหน้าที่เป็นเลขานุการของกรรมการหอ พระสมุดฯ ในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศด้วย
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๙ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรรมการหอพระสมุดฯ ขึ้นเป็นราชบัณฑิตยสภา และทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งองค์สภานายก ส่วนศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นบรรณารักษ์พิเศษ และเป็นเลขานุการฝ่าย ต่างประเทศของราชบัณฑิตยสภาด้วย
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ รับราชการอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ จนถึงตอนต้นรัชกาลที่ ๗ รวมเวลาได้ ๑๒ ปี ท่านก็ตัดสินใจลาออกจากราชการในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒ และได้เดินทางกลับไปยังกรุงปารีสระยะหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นสถาบันโบราณคดีแห่งกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมันได้จัดประชุมนานาชาติ ว่าด้วยเรื่องการขุดหาของโบราณและมีการประชุมสมาคม German Association for Antique Culture ในงานนี้ด้วย งานประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยเชิญนักวิชาสาขาโบราณคดีจากประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย งานนี้ทางรัฐบาลถือว่าเป็นเกียรติยศของประเทศไม่ควรเพิกเฉย แต่ถ้าส่งนักวิชาการไทยไปประชุมถึงเยอรมันก็เป็นเรื่องสิ้นเปลืองค่าใช่จ่าย ทางราชบัณฑิตยสภาจึงเสนอให้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ซึ่งกำลังพำนักอยู่ในฝรั่งเศสเป็นผู้แทนราชบัณฑิตยสภาแห่งประเทศสยามเข้าร่วมประชุม เพราะถือเป็นผู้มีความรู้และสามารถอธิบายถึงเรื่องโบราณคดีในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย (แม้ว่าจะพ้นจากการเป็นข้าราชการของไทยแล้ว) ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีจนได้รับความชื่นชมจากคณะกรรมการจัดประชุม
ต่อมาในวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรปราสาทนครวัดเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้มารับเสด็จด้วย๑๖ และในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังจากเกษียณอายุราชการ ท่านก็เดินทางจากฮานอยกลับสู่กรุงปารีส และเข้ารับตำแหน่งอาจารย์ผู้บรรยายวิชาเอเชียอาคเนย์ในมหาวิทยาลัยกรุงปารีส และเป็นผู้วางรากฐานการสอนภาษาไทยที่ สถาบันการศึกษาภาษาตะวันออกปัจจุบันแห่งชาติ (École Nationale des Langues Orientales Vivantes)
ในบั้นปลายชีวิต ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้รับเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้เข้าเป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสถานสาขาวรรณกรรมและอักษรโบราณ ท่านพำนักอยู่ในฝรั่งเศสจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ก็ถึงแก่กรรมขณะมีอายุได้ ๘๓ ปี
ผลงานสำคัญ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้สร้างผลงานการศึกษาค้นคว้า บทความ และข้อเขียนทางวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี จารึกโบราณ ทั้งที่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง และที่ครอบคลุมไปถึงประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานสำคัญที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ Les Etats hindouisés d'Indochine et d'Indonésie ซึ่งศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลและเรียบเรียงจากฉบับภาษาอังกฤษ The Indianized States of Southeast Asia เป็นภาษาไทย โดยให้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐ นอกจากนี้ยังมีผลงานที่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง อีกจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญ เช่น
๑๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, "คำนำ" ในหนังสือประชุมศิลาจารึกสยามพระนคร ภาคที่ ๑ จารึกกรุงสุโขทัย, (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร) ๒๔๖๗. หน้าคำนำ
๑๖ จดหมายเหตุรายวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพหลวงจันทรมาศ (บุญรอด อมาตยกุล) (กรุงเทพฯ )๒๔๙๕ .หน้า ๑๓๒
ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ ๑ จารึกสุโขทัย. Recueil des Inscriptions du Siam I Inscriptions de Sukhodaya ยอร์ช เซเดส์ ชำระและแปล. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณ พิพรรฒธนากร, ๒๔๖๗
ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒: จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้. Recueil des Inscriptions du Siam: Deuxiéme Partie: Inscriptions du Dvaravati, de Srivijaya et de Lavo. ยอร์ช เซเดส์ ชำระและแปล; หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลและเรียบเรียงจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย
Coedès,George "The Empire of the South Seas: Srivijaya from the7th to the 9th Centuries", Journal of the Siam Society, 35 (1), p.1-15. กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า ราชอาณาจักรทะเลใต้, พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๒๖
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้สร้างผลงานอันเป็นประโยชน์ไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานของท่านเป็นรากฐานสำคัญต่อการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
หนังสือนิราสนครวัด ฉบับที่นำมาศึกษานี้ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก ฉบับพิมพ์เป็นของฝาก เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘ ดังนั้นการใช้สำนวนภาษาหรือการเขียนสะกดคำการันต์ในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นแบบสมัยเก่าต่างไปจากที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น คำว่า นิราส สารบารพ์ เปน สมุทปราการ อาศรัย เดิร ดำริห์ พนักงาร โชเฟอ ปราไส สพาน กิโลเมต คฤสตศก สาสนา ส้อน สินบล แปลกปลาด ฉเพาะ ปฤกษา อิศระ ตวันออก ตวันตก นิมิตต์ กระบวร เข้าสาร สุนักข์ สัตรี เป็นต้น เมื่อนำคำที่เขียนสะกดตามแบบสมัยเก่ามาเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบัน เราจะมองเห็นและศึกษาถึงวิวัฒนาการของการเขียนสะกดคำการันต์ในภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
เนื้อหาและความสำคัญของเนื้อหา เนื้อหาในหนังสือนิราศนครวัดแบ่งเป็น ๒ ส่วน
ส่วนแรก คือส่วนที่แต่งเป็นบทกลอนชื่อ กลอนนิราสนครวัดอยู่ตอนต้นเรื่องซึ่งเป็นเสมือนคำนำที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ทรงพระนิพนธ์ ทรงบอกที่มาของพระนิพนธ์หนังสือเล่มนี้ เนื้อหาในบทกลอนกล่าวว่า พระองค์เสด็จไปเยือนกรุงกัมพูชาพร้อมด้วยพระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ (คือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล) เพื่อไปทอดพระเนตรปราสาทศิลาในเมืองเขมรที่สร้างมาแต่โบราณกาล ซึ่งทรงเคยได้ยินจากคำเล่าขานมานานแล้วว่า ใหญ่โตมโหฬารและจำหลักลวดลายประดับโดยช่างขอมชำนาญงาน น่าชมมาก การเสด็จครั้งนี้ทางการฝรั่งเศสได้ถวายการต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดี รวมทั้งเจ้านาย กรุงกัมพูชาก็ไม่ทรงเพิกเฉยให้การต้อนรับและรับสั่งสนทนากันจนทรงคุ้นเคย ทำให้พระองค์ทรง พระเกษมสำราญมาก และมีพระดำริอยากหาของฝากมิตรสหายที่กรุงเทพฯ แต่เป็นการยากที่จะทรงหา
ของฝากให้ทั่วถึง เพราะนอกจากจะทรงมีทุนน้อยแล้ว จำนวนมิตรสหายก็มีมากกว่าร้อยด้วย จึงพระดำริแต่งนิราศเล่าเรื่องการเสด็จไปกัมพูชาครั้งนี้ขึ้น และพิมพ์แจกเป็นของฝากแก่มิตรสหายที่กรุงเทพฯ แต่นิราศที่จะทรงพระนิพนธ์ขึ้นนี้จะเรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว เพราะถ้าทรงพระนิพนธ์เป็นบทกลอนใช้เวลาเป็นปีก็ไม่เสร็จ แต่ได้ทรงพระนิพนธ์กลอนนำไว้ต้นเรื่อง พอให้เห็นว่าพระนิพนธ์ที่ทรงแต่งขึ้นนี้ก็เป็นแนวนิราศปราชญ์โบราณ
ส่วนที่สอง คือส่วนที่เรียบเรียงเป็นร้อยแก้วทั้งหมด เป็นการพรรณนาด้วยสำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย มีลักษณะคล้ายบันทึกการเดินทาง ซึ่งเริ่มตั้งแต่เสด็จออกจากกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยเรือสุทธาทิพย์ ซึ่งเป็นเรือเมล์ของบริษัทสยามสตีมนาวิเคชั่น ณ ท่าเรือของบริษัทอีสต์เอเชียติค เหนือวัดโชตนาราม (วัดพระยาไกร) จนกระทั่งเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยเรือวลัยซึ่งเป็นเรือเมล์เช่นเดียวกัน เส้นทางเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ วันแรกจนถึงวันเสด็จกลับกรุงเทพฯ มีดังนี้
วันที่ ๑๖ - ๑๗ พฤศจิกายน เสด็จออกจากจากกรุงเทพฯ โดยประทับเรือสุทธาทิพย์ เรือแล่นผ่าน สมุทรปราการ เกาะจวง เกาะช้าง เกาะกูด และเกาะตอน
วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน เรือสุทธาทิพย์ถึงอ่าวแก็ป แขวงเมืองกำปอด ซึ่งอยู่ทางใต้ของกัมพูชา จากนั้นประทับเรือยนต์ของรัฐบาลฝรั่งเศสไปขึ้นที่สะพานท่าแก็ป และประทับรถยนต์จากเมืองกำปอดผ่านจังหวัดตาแก้ว จังหวัดเกียนสวายไปถึงเมืองพนมเพ็ญ(ปัจจุบันเรียกว่ากรุงพนมเปญ- ผู้วิจัย) ประทับแรมที่บ้านของนายบอดูแอง (Baudouin) เรสิดังสุปีริเอ (Résident superieur คือผู้สำเร็จราชการ ที่รัฐบาลฝรั่งเศสส่งมากำกับการปกครองกัมพูชาในเวลานั้น – ผู้วิจัย)
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน เสด็จทอดพระเนตรสถานที่สำคัญในกรุงพนมเพ็ญ ได้แก่พระธาตุพนมเพ็ญ พิพิธภัณฑสถาน วัดอุณาโลม วัดปทุมวดี และเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ที่พระราชวังกรุงกัมพูชา
วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน เสด็จทอดพระเนตรพระราชวังกรุงกัมพูชา มิวเซียมประพาสพิพิธภัณฑ์ และวัดพระแก้ว หลังจากนั้นได้ทรงสนทนากับพระวันรัต พระราชาคณะแห่งวัดอุณาโลม เรื่องทำเนียบสมณศักดิ์กรุงกัมพูชา และพระราชพิธีประจำปี ต่อจากนั้นได้เสด็จไปที่ว่าการอำเภอกำพง กันทวด แขวงเมืองกันดาลสะทึง เพื่อทอดพระเนตรการปกครองหัวเมืองของกรุงกัมพูชา และเสด็จกลับเมืองพนมเพ็ญ ประทับเรือแม่โขงซึ่งเป็นเรือเมล์ของบริษัทเมซาจรีฟลูเวียล ล่องลำน้ำตวนเลสาบขึ้นไปยังเมืองเสียมราษฐ์ (ปัจจุบันเขียนสะกดเป็น เสียมราฐ – ผู้วิจัย)
วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน เรือถึงปากน้ำเสียมราษฐ์ เสด็จลงเรือไฟเล็กของรัฐบาลฝรั่งเศส ไปขึ้นที่ท่าน้ำ และประทับรถยนต์ไปยังเมืองเสียมราษฐ์ ประทับพักที่โฮเต็ลอังกอร์
วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน เสด็จทอดพระเนตรปราสาทนครวัด
วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน เสด็จทอดพระเนตรนครธม ปราสาทบายน หรือ"บรรยงก์" สะพานข้ามคูเมืองนครธมทางประตูชัย ภูมิประเทศนอกเมืองนครธม สระสรง พลับพลาสูง (ปัจจุบันเรียกฐานช้างหรือลานพระเสด็จ)
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน เสด็จทอดพระเนตรพระราชวังหลวง ปราสาทพระเจ้าขี้เรื้อน(ปัจจุบันเรียกฐานพระเจ้าขี้เรื้อน – ผู้วิจัย) ประตูพระราชวังด้านตะวันออก พระที่นั่งพิมานอากาศ (ปัจจุบันเรียกปราสาทพิมานอากาศ – ผู้วิจัย) สระสรงภายในพระราชวัง ปราสาทนครวัด (ซ้ำ)
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เสด็จทอดพระเนตรปราสาทพระขรรค์ สระนาคพัน (ปัจจุบันเรียกปราสาทนาคพัน – ผู้วิจัย) ปราสาทโกรลโค ปราสาทตาโสม และปราสาทบรรยงก์ (ซ้ำ)
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน เสด็จแขวงเมืองสูตรนิคมเพื่อทอดพระเนตรปราสาทโลไล ปราสาทพระโค ปราสาทบากง จากนั้นเสด็จกลับเมืองพระนครเพื่อเสด็จทอดพระเนตรเทวสถานบนเขาพนมบาเกง (ปัจจุบันเรียกปราสาทพนมบาเกงหรือบาแค็ง – ผู้วิจัย)
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน เสด็จทอดพระเนตรปราสาทกระวัน ปราสาทบันทายกะได (กะฎี) ปราสาทแปรรูป ปราสาทเมบอน (ปัจจุบันเรียกปราสาทแม่บุญตะวันออก – ผู้วิจัย) ปราสาทธรรมานนท์ วัดสุคตอาศรมหรือวัดเทพประนม ปราสาทพระพิทู และปราสาทบรรยงก์ (ซ้ำ)
วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน เสด็จทอดพระเนตรปราสาทตาแก้ว ปราสาทตาพรหม เพนียด จับช้าง และปราสาทนครวัด (ซ้ำ)
วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน เสด็จตำบลบ้านประดาก เพื่อทอดพระเนตรปราสาทบันทาย- สำเหร่ เสด็จกลับเมืองพระนครทอดพระเนตรปราสาทเจ้าไสยเทวดา และปราสาทนครวัด (ซ้ำ)
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน เสด็จทอดพระเนตรประตูผี (ประตูเมืองนครธมด้านตะวันออก) ปราสาทน้อยข้างประตูชัยทางฝ่ายใต้ ปราสาท บาปวน และปราสาทบรรยงก์ (ซ้ำ)
วันที่ ๑ ธันวาคม เสด็จทอดพระเนตรปราสาทปักษีจำกรง วัดพระศรีอารย์ วัดพระ-อินทรเทพ พระโคกกลก (ปัจจุบันเรียกปราสาทเกลียงหรือคลัง -ผู้วิจัย) และพระราชวัง (ซ้ำ)
วันที่ ๒ ธันวาคม ประทับรถยนต์จากเมืองเสียมราษฐ์ ผ่านเมืองกำพงธมในเขตจังหวัดกำพงสวาย เสด็จทอดพระเนตรปราสาทวัดนครชัย และเสด็จไปเมืองกำพงจาม ประทับแรมในเรือกลไฟที่กำพงจาม ๑ คืน
วันที่ ๓ ธันวาคม ประทับเรือกลไฟล่องตามแม่น้ำโขงจากเมืองกำพงจามไปถึงเมือง พนมเพ็ญ ประทับแรมที่เมืองพนมเพ็ญ ๑ คืน
วันที่ ๔ ธันวาคม ประทับรถยนต์ไปเมืองไซ่ง่อน ถึงท่าข้ามต้องนำรถยนต์ที่ประทับลงเรือขนานข้ามลำน้ำบาสักไปจนถึงท่าข้ามลำน้ำโขงฝั่งตะวันออก จากนั้นประทับรถยนต์ไปเมืองสวายเรียง และเสด็จเข้าเขตแดนเวียดนามไปจนถึงท่าข้ามลำน้ำ มีเรือรับรถยนต์ข้ามฟาก จากท่าข้ามประทับรถยนต์ต่อไปจนถึงเมืองไซ่ง่อน เสด็จที่ว่าการเมืองไซง่อนและเสด็จทอดพระเนตรเมืองเจาเลิ่ง
วันที่ ๕ ธันวาคม เสด็จทอดพระเนตรห้างใหญ่ครองแมคาแซงเดอชาเน วัดดาเกา พิพิธภัณฑสถาน ที่ฝังศพสังฆราชอาดรัน โรงเรียนช่างเขียน เสด็จงานเลี้ยงรับรองและทอดพระเนตรละครออปราที่เจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดถวาย
วันที่ ๖ ธันวาคม เสด็จทอดพระเนตรบ้านเมืองไซ่ง่อน หลังจากนั้นจึงประทับรถยนต์ออกจากเมืองไซ่ง่อนผ่านเมืองสวายเรียงไปยังเมืองพนมเพ็ญ
วันที่ ๗ ธันวาคม ทรงสนทนากับข้าราชการเก่าของกรุงกัมพูชา หลังจากนั้นเสด็จไปยังเมืองอุดงค์มีชัยและเขาพระราชทรัพย์ ทอดพระเนตรมหรสพเขมร แล้วเสด็จกลับเมืองพนมเพ็ญ ทอดพระเนตรละครหลวง เรื่องพระสมุท ณ พระที่นั่งจันทรฉายาในพระราชวัง
วันที่ ๘ ธันวาคม เสด็จทอดพระเนตรโรงเรียนพระสงฆ์ โรงเรียนของพระองค์มาลิกา และเสด็จไปเที่ยวสวนนอกเมืองพนมเพ็ญ
วันที่ ๙ ธันวาคม เสด็จไปทรงถ่ายรูปพระราชมณเฑียรสถานต่างๆ และทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรอนุสาวรีย์ที่ระลึกแก่ชาวกัมพูชาที่เสียชีวิตในมหายุทธสงคราม เสด็จไปงานประทานเลี้ยงน้ำชาในพระราชวัง และต่อด้วยงานสโมสรซึ่งเรสิดังสุปีริเอ จัดถวาย
วันที่ ๑๐ ธันวาคม เสด็จบ้านออกญาวังวรเวียงชัย บ้านเมอซิเออร์ฮาแบ ผู้กำกับกระทรวงยุติธรรมกรุงกัมพูชา หลังจากนั้นเสด็จงานเลี้ยงรับรองและทอดพระเนตรหนังฉายที่บ้านเรสิดังสุปีริเอ
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ประทับรถยนต์จากเมืองพนมเพ็ญถึงเมืองกำปอด เสด็จขึ้นเขาโบกโคประทับค้างคืนบนเขา
วันที่ ๑๒ – ๑๓ ธันวาคม เสด็จลงจากเขาโบกโคไปท่าเรียม ประทับเรือวลัยเสด็จกลับกรุงเทพฯ เรือแล่นผ่าน เกาะรง เกาะกง เกาะกูด เกาะช้าง เกาะจวง
วันที่ ๑๔ ธันวาคม เรือวลัยถึงกรุงเทพฯ ทอดสมอหน้าห้างอีสต์เอเชียติค
เนื้อหาในเรื่อง ผู้ทรงพระนิพนธ์ทรงเล่าถึงการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทุกแห่งและทุกสิ่งที่ทรงได้รู้ได้พบเห็นในระหว่างการเดินทางในแต่ละวันไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพ ภูมิประเทศ สภาพบ้านเมือง วิถีชีวิตของผู้คน ขนบธรรมเนียมประเพณี สถานที่สำคัญ โบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือแม้กระทั่งพระอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของผู้ทรงพระนิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นความ ชื่นชม ความเพลิดเพลิน รวมไปถึงความเหน็ดเหนื่อยที่เกิดขึ้นในบางเวลา ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้อ่าน ได้รับความรู้เรื่องเขมรที่หลากหลายและเห็นภาพตามไปด้วยแล้ว ยังได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปตลอดทั้งเรื่องด้วย จากเนื้อหาที่มีอยู่ในเรื่องดังที่กล่าวมา จึงยกย่องได้ว่า นิราศนครวัด คือ ปฐมบทแห่งเขมรศึกษาในประเทศไทย และ ถือเป็นหนังสือภาษาไทยเล่มแรกที่เป็นคลังความรู้เรื่องเขมรในประเทศเขมร เพราะทำให้คนไทยรู้จักเขมรในแง่มุมใหม่ๆ หลายด้าน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในเอกสารหรือหนังสือภาษาไทยเล่มใดที่แต่งขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยเฉพาะความรู้ด้านโบราณคดีเขมร ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่นักวิชาการฝรั่งเศสได้ศึกษาค้นคว้าไว้ ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้นด้วย
นอกจากนี้ นิราศนครวัดยังเป็นหนังสือที่มีคุณค่าน่าอ่านที่สุดเล่มหนึ่งในบรรดาหนังสือด้านเขมรศึกษาในปัจจุบันแม้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๗ แต่ผู้ทรงพระนิพนธ์ทรงเป็นนักปราชญ์ที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยอดเยี่ยม และก่อนที่จะเสด็จไปทอดพระเนตรโบราณวัตถุโบราณสถานที่มีอยู่ในกัมพูชา ทรงรู้จักเรื่องเขมรในพระราชพงศาวดารของไทยและของกัมพูชาเป็นอย่างดี และยังทรงรู้จักหลักฐานเกี่ยวกับเขมรโบราณ
ที่พบในประเทศไทยด้วย อีกทั้งในการเสด็จครั้งนั้นยังทรงมีผู้นำเสด็จเป็นหนึ่งในบรรดานักวิชาการฝรั่งเศสผู้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของราชอาณาจักรกัมพูชาโบราณ และมีผลงานด้านเขมรศึกษาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่หอพระสมุดวชิรญาณ นอกจากนี้ขณะที่เสด็จทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถานที่เมืองเสียมราฐ ก็เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบหมายให้สมาคมฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศทำการสำรวจศึกษาค้นคว้าและจัดการดูแลรักษาโบราณสถานที่เมืองเสียมราฐ พระองค์จึงได้ทอดพระเนตรวิธีการจัดการดูแลรักษาและบูรณะโบราณสถานของนักวิชาการและนายช่างฝรั่งเศส โดยมีนายอองรี มาร์ชาล (Henri Marchal)๑๗ นายช่างฝรั่งเศส ผู้จัดการดูแลรักษาโบราณสถานในเวลานั้นมาร่วมเป็นผู้นำเสด็จทอดพระเนตรด้วย
นายอองรี มาร์ชาล
ดังนั้น หนังสือนิราศนครวัด แม้จะผ่านกาลเวลามานานกว่า ๘๐ ปีแล้ว ก็ยังคงเป็นคลังความรู้เรื่องเขมรโบราณอันวิเศษ เพราะผู้ทรงพระนิพนธ์ได้ถ่ายทอดความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาค้นคว้าและประสบการณ์ตรงด้วยพระองค์เอง รวมทั้งความรู้ที่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสที่กำลังทำการศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จริงด้วย
อย่างไรก็ดี หนังสือนิราสนครวัด ฉบับที่นำมาศึกษานี้ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นนอกจากมีการใช้คำสะกดตามแบบสมัยเก่าแล้ว ในส่วนรายละเอียดของเนื้อหายังแตกต่างไปจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ และฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื่องจากในการพิมพ์สองครั้งหลังนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้ปรับปรุงแก้ไขสำนวนภาษาและปรับแก้ข้อความบางตอนด้วยพระองค์เอง ดังนั้นจึงถือว่าเนื้อความในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นงานพระนิพนธ์ที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะเป็นฉบับสุดท้ายที่ทรงปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ และนิยมนำมาเป็นต้นฉบับในการพิมพ์ครั้งหลังๆ สืบมา
๑๗ นายอองรี มาร์ชาล (Henri Marchal ) เป็นสถาปนิกและนักโบราณคดีฝรั่งเศสสังกัดสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการดูแลรักษาโบราณสถานที่เมืองพระนคร และเป็นนายช่างฝรั่งเศสคนแรกที่นำวิธีการบูรณะโบราณสถานด้วยวิธีอนาสติโลซิส (ซึ่งชาวฮอลันดาใช้ซ่อมโบราณสถานในชวามาก่อน) มาซ่อมปราสาทเขมร คือปราสาทบันทายศรี ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีเยี่ยม และถือเป็นแบบอย่างในบูรณะปราสาทหินหลังอื่นๆ ต่อมา นายมาร์ชาลทำงานดูแลรักษาโบราณสถานที่เมืองพระนครเป็นเวลาหลายปีและชื่นชมหลงใหลในความยิ่งใหญ่และงดงามของศิลปะเขมรและอารยธรรมเขมรมาก เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วก็กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองพระนครจนถึงแก่กรรม เมื่อครั้งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเที่ยวเขมรในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้พบกับนายมาร์ชาลด้วย และเขียนถึงนายมาร์ชาลไว้ในหนังสือเรื่อง ถกเขมร โดยเรียกนายมาร์ชาลว่าคุณปู่ และกล่าวว่า "เห็นตัวคุณปู่แล้วรู้สึกเลื่อมใสในท่าทางอันเป็นปราชญ์ของแก และเมื่อทราบถึงงานที่คุณปู่ได้ทำมาและการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของคุณปู่เพื่อความรู้ของมนุษยชาติด้วยวิธีเอาชีวิตของคุณปู่ทั้งชีวิตมาทิ้งจมอยู่ในกองหินปรักหักพังในป่า เรายิ่งเลื่อมใสคุณปู่หนักขึ้นไปอีก" (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ถกเขมร (ฉบับปรับปรุง), (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, ๒๕๔๓). หน้า ๗๘-๘๑.
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
ปก | นิราสนครวัด | นิราสนครวัด | ||
(๖) | ๑๕,๑๖,๑๙ | เขาบอโค | เขาโบกโค | |
๑ | พวกที่ได้ไปเมืองเขมรมาว่าปราสาทศิลาน่าชมนัก | ว่าในแว่นแคว้นกรุงกัมพูชา มีปราสาทศิลาน่าชมนัก | ||
๑ | ๔ | เขาชอบชักชวนให้เราไปดู | เขาชอบชักชวนให้ออกไปดู | |
๑ | ๖ | จะไปสู่นครวัดได้นัดนี้ | จะไปดูนครวัดได้บัดนี้ | |
๑ | ๗ | จะขัดขวางเธอไว้ก็ใช่ที่ | จะขัดขวางอย่างไรก็ใช่ที่ | |
๑ | ๘ | เที่ยวแห่งใดก็ไปด้วยทุกที | เคยเที่ยวด้วยกันมาทั้งตาปี | |
๖ | ๗ | พระอรรคชายาเธอ ฯ | พระอรรคชายาเธอ (๑) ------------------- (๑)ถึงรชชกาลที่ ๗ ทรงสถา- ปนาเปนพระวิมาดาเธอฯ |
|
๒๐ | ๒๐ | แล้วประทานพรขอให้มีความสุข ความเจริญ | แล้วประทานพรโดยฐานที่เป็นวุฒบุคคลฝ่ายเราก็ประนมมือรับพรด้วยความเคารพ | |
๒๑ | ๑-๓ | สังเกตดูเห็นทรงปิติยินดีจริงๆ ถึงตรัสประกาศแก่ราชการที่เฝ้าอยู่นั้นว่า "นี่ลูกเจ้านายของข้า... | สังเกตดูเหมือนจะโปรดตรัสประกาศแก่ราชการที่เฝ้าอยู่นั้นว่า" นี่ลูกเจ้านายของข้า. | |
๒๒ | ๙-๑๐ | ชุบเลี้ยงทำนุบำรุงอย่าง เช่นเปนพระราชบุตร บุญธรรมทั้ง ๒ องค์ | ทรงทำนุบำรุงอย่างราชบุตร บุญธรรมเหมือนเช่นพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเคยทรงทำนุบำรุงสมเด็จพระนารายณ์ ธิบดี (พระองค์เอง) พระอัยกาเปนราชบุตรบุญธรรมมาแต่ปางก่อน | |
๒๓ | ๑๖ | พระชันษาได้ ๘๕ ปี | พระชันษา ๕๘ ปี (๑) ----------- (๑) สุรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ พระชันษาได้ ๘๘ ปี |
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
๒๔ | ๔ | แต่ยังไม่ได้ประกาศ | แต่ยังไม่ได้ประกาศ (๑) -------------------------- (๑) เดี๋ยวนี้ครองกัมพูชาทรง พระนามว่าสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ มณีวงศ |
|
๒๕ | ๓ - ๕ | เปนแต่สร้างตำหนักพักชั่วคราว สมเด็จพระนโรดมได้กำลังฝรั่งเศสอุดหนุน | ต้องรื้อตำหนักรักษาที่เมือง อุดงค์ลงมาปลูกเป็นที่พักชั่วคราว สมเด็จพระนโรดมได้เงินจากฝรั่งเศส | |
๒๗ | ๓ | พระที่นั่งนงคราญภิรมย์ (สภานงคราญ ?) | พระที่นั่งนงคราญภิรมย์ ที่ถูกน่าจะเปนสภานงคราญ จึงจะได้สัมผัสต่อกับมณีเมขลา | |
๒๗ | ๖ | พระที่นั่งกัลยาโสภณ | พระที่นั่งกัลยาโสภณ ที่ถูกน่าจะเปนกัลยาสคราญ จึงจะได้สัมผัสต่อกับพิมานอากาศ | |
๒๗ | ๑๓ | พระที่นั่งเบญจเกษตร (ที่ไว้ราชกกุธภัณฑ์) | พระที่นั่งเบญจเกษตร (ที่ไว้ราชกกุธภัณฑ์)พระที่นั่งองค์นี้กับต่อไปอีก ๒ องค์เห็นจะ เปนชื่อปลีกไม่เข้าลำดับ | |
๓๑ | ๑๘ | พระขรรค์กรุงกัมพูชาโตแลยาวกว่าพระขรรค์ไชยศรี | พระขรรค์กรุงกัมพูชาโตแลยาวกว่าพระขรรค์ไชยศรี มีรูปจำลองด้วยไม้เท่าตัวจริงอยู่ที่ห้องภูษามาลาในกรุงเทพฯ | |
๓๓ | ๑๗ | ชั้นบนมีเครื่องเพชร์ | ของที่เก็บรักษาไว้ชั้นบนมีเครื่องเพชร์ | |
๓๕ | ๑๗ - ๑๘ | เสียแต่ใส่ตู้กระจก ตั้งตรงหน้าบุษบกลงมาออก จะบังพระแก้วมรกฎ ที่ดูในวัดพระแก้วมีเท่านี้ | ฝีมือทำก็งามดี ในวัดพระแก้วมีที่เท่านี้ | |
๔๐ | ๗ | เดี๋ยวนี้มีแต่เดือน ๑๐ ปีละครั้งเดียว สวดมนต์ ๓ วัน แต่เมื่อพราหมณ์ชุบพระแสงนั้น พระสงฆ์หาสวดไม่ | เดี๋ยวนี้มีแต่เดือน ๑๐ ปีละครั้งเดียว |
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
๔๐ | ๒๐ | จนสิ้นเดือน ๑๐ เลี้ยงพระที่ในพระราชวังทุกวัน แต่เดี๋ยวนี้ลดลงคงเลี้ยง แต่ ๓ วัน | จนสิ้นเดือน ๑๐ เลี้ยงพระ ที่ในพระราชวังทุกวัน แต่เดี๋ยวนี้ลดลงคงเลี้ยงแต่ ๓ วัน แล้วสังเวยถวายบังคมพระราชบิดร คือ บุรพเปตะพลีเนื่องในพิธีสารท | |
๔๑ | ๑-๔ | พิธีถือน้ำ (ได้กล่าวมาแล้ว) ในหนังสือพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่าเดือน ๑๐ มีพิธีถวายบังคมพระรูปพระราชบิดรอีกอย่างหนึ่ง เห็นจะเนื่องอยู่ในพิธีถือน้ำอย่างที่ในกรุงเทพฯ และว่ามีการเทศน์คาถาพันด้วยอีกอย่างหนึ่ง | พิธีถือน้ำทำที่วัดพระแก้ว มีสวดมนต์ ๓ วัน แต่เมื่อพราหมณ์ชุบพระแสงนั้น ทำเป็นพิธีพราหมณ์ต่างหาก พระสงฆ์หาได้เกี่ยวข้องด้วยไม่ ในหนังสือพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่าเดือน ๑๐ มีการเทศน์คาถาพันด้วยอีกอย่างหนึ่ง | |
๔๕ | ๗ - ๑๓ | ในพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่า มีแต่พิธีตั้งเสาโคมไชย อย่างมีในกรุงเทพฯ แต่ก่อน แต่ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ว่าแม้เดี๋ยวนี้ยังมีพิธีไล่น้ำ อย่างกล่าวในกฎมณเฑียรบาล สมเด็จพระศรีสวัสดิ์เสด็จลงตำหนักแพ ทรงตัดเชือก ทำพิธีปล่อยน้ำซึ่งท่วมทุ่งอยู่ให้ลดไหลลงไปทะเล กับพิธีบูชาพระจันทร์ (เห็นจะเป็นอันเดียวกับตั้งเสาโคมไชย) แลพิธีกินเข้าเม่า (จะเปนพิธีอันใดยังไม่ทราบแน่) อีกอย่าง๑ | มีแต่พิธีตั้งเสาโคมไชย อย่างมีในกรุงเทพฯ แต่ก่อน กับพิธีไล่น้ำอย่างกล่าวในกฎมณเฑียรบาล พระเจ้ากรุงกัมพูชาเสด็จลงตำหนักแพ ทรงตัดเชือก ทำพิธีปล่อยน้ำซึ่งท่วมทุ่งอยู่ให้ลดไหลลงไปทะเล แล้วแข่งเรือ ๓ วัน มีการลอยประทีปเหมือนเดือน ๑๑ ด้วย | |
๕๓ | ๑๓ | ผ่านเมืองเก่าดูป้อมปราการที่ไทยเราสร้าง | ผ่านเมืองเก่าดูป้อมปราการที่ไทยเราสร้าง (๒) ------------------- (๒) ปรากฏว่าสร้างเมื่อปีจอ |
|
๕๘ | ๔ | เพราะเมืองขอมซึ่งเรียกกันว่า "นครธม" นี้ | เมืองขอมซึ่งฝรั่งเรียกกันว่า "แองคอร์" แลเขมรเรียกว่า "นครธม" นี้ | เพราะเมืองขอมซึ่งเรียกว่า อังกอร์ และเขมรเรียกว่า "นครธม" นี้ |
๕๘ | ๑๐ - ๑๑ | พระเจ้าอินทรวารมันทรงราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๑๓๓๓ จน พ.ศ. ๑๓๕๕ | พระเจ้าชัยวรรมัน (ที่ ๒) ทรงราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๓๘๕ | |
๕๘ | ๑๓ - ๑๕ | จนถึงพระเจ้ายโสวารมันราชบุตรได้รับรัชทายาท จึงสร้างเมืองสำเร็จเมื่อระหว่าง พ.ศ. ๑๓๕๕ จนพ.ศ. ๑๓๖๔ | จนถึงพระเจ้ายโสวรรมันราชบุตรของพระเจ้าอินทร- วรรมัน ทรงราชย์ จึงสร้างเมืองสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๑๔๓๒ |
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
๓๕๘ และ ๕๙ | ๑๙ - ๒๐ เเละ ๑ - ๒ | เหมือนอย่างเช่นเราเรียกกรุงเทพฯ เพราะอธิบายมีดังกล่าวมา ที่เรียกแต่โบราณว่า "เมืองยโสธร" ก็ดี "นครธม"ก็ดี "นคร- หลวง" ก็ดี คือที่แห่งเดียวกันนั้นเอง | เหมือนอย่างเราเรียกเมืองบางกอกว่า กรุงเทพมหา- นคร เพราะอธิบายมีดัง กล่าวมา ที่เรียกแต่โบราณว่า"เมืองยโสธร" ก็ดี "นครธม" ก็ดี "นครหลวง" ก็ดี คือที่แห่งเดียวกันนั้นเอง | |
๕๙ | ๒ | คือที่แห่งเดียวกันนั้นเอง | คือที่แห่งเดียวกันนั้นเอง(๑) ------------------------ (๑)เมื่อพิมพ์หนังสือนี้แล้วฝรั่งเศสเขาค้นพบแนวเมืองหลวงอยู่ใกล้ชิดกับนครธมอีกเมืองหนึ่ง เอาภูเขาพนมบาเกงไว้กลางเมืองเป็นราชธานีขอม เมื่อก่อนสร้างนครธม |
|
๕๙ | ๑๓ - ๑๔ | ราชมณเฑียรที่พระมหา กษัตริย์เสด็จอยู่ซึ่งในสมัยนั้นสร้างแต่ด้วยเครื่องไม้สูญเสียหมดแล้ว | ราชมณเฑียรที่พระมหา กษัตริย์เสด็จอยู่สูญเสียหมดแล้ว | |
๖๒ | ๔-๕ | ปราสาทหินนั้นที่จริงเปนวัด หรือมิฉะนั้นก็เปนเทว สถานทั้งนั้น | ปราสาทหินนั้น มิใช่พระราชมณเฑียรที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จริงสร้างเป็นวัดหรือมิฉนั้นก็เป็นเทว สถานทั้งนั้น | |
๖๓ | ๒๐ | เมื่อพระเจ้าอินทรวารมัน | เมื่อพระเจ้าชัยวรรมัน | |
๖๔ | ๕ | พราหมณ์คนนั้นเปน ปุโรหิตในกรุงกัมพูชา | พราหมณ์คนนั้นเป็น ปุโรหิตในกรุงกัมพูชา(๑) ----------- (๑) เพราะเหตุนี้ตระกูลปุโรหิตจึงมีอำนาจดังปรากฏอยู่ในหนังสือรัตนพิมพวงศ ตำนานพระแก้วมรกต |
|
๖๔ | เชิงอรรถ | (๑) มุขลึงค์ของโบราณมีอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ แต่หน้าคนมีด้านเดียว | (๒) มุขลึงค์ของโบราณมีอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ แต่หน้าคนมีด้านเดียว กล่าวกันอีกอย่างหนึ่งว่า ปราสาทบรรยงก์องค์เดิมเล็ก ขยายใหญ่โตต่อชั้นหลังมา | |
๔๕ | ๖ | มีข้อความเนื่องกับเทว สถานบรรยงก์ | มีเรื่องราวในประเทศของเราเนื่องกับเทวสถานบรรยงก์ |
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
๖๙ | ๑๘ - ๒๐ | รูปพระอิศวรเช่นเดียวกันนี้ยังมีที่อื่นอีก เอาลงไปไว้ที่เมืองพนมเพ็ญก็อีกองค์หนึ่ง ยังอยู่ที่คลังของ พนักงารจัดการรักษาของโบราณที่นครธม | รูปพระอิศวรเช่นเดียวกันนี้ยังมีที่อื่น อยู่ที่คลังของ พนักงารจัดการรักษาของโบราณที่นครธม | |
๗๒ | ๓ | เมืองดงตะเคียน | เมืองโฉกคดี | |
๗๒ | ๑๙ | ปรากฏแต่ถนนกับกำแพงทำด้วยแลง | ปรากฏแต่ถนนกับกำแพงทำด้วยแลง ตัวพระราชมณเฑียรแลตำหนักรักษาคงทำด้วยไม้ทั้งนั้น ขุดพบกระเบื้องกะบูเคลือบสีขาวซึ่งมุงหลังคาพระราชมณเฑียรยังมีอยู่ อันพระราชมณเฑียรที่พระเจ้าแผ่นดินประเทศทางตวันออกเสด็จอยู่แต่โบราณทุกประเทศ เห็นเครื่องไม้ด้วยกันทั้งนั้น บางทีเห็นจะเห็นว่าสบายกว่าอยู่ตึก แม้ที่กรุงศรีอยุธยา พระราชมณเฑียรที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่ ก็พึ่งสร้างเปนตึก เมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑ ก่อนนั้นสร้างด้วยไม้ทั้งสิ้น | |
๗๓ | ๑๖ - ๑๙ | ปราบอสูรสี่ตนในเรื่องหริ-วงศกับปราบพาณาสูรในเรื่องอนิรุทธ ด้านตวันออกเฉียงเหนือ จำหลักเรื่องชักนาคทำน้ำอมฤตย์ ด้านตวันออกเฉียงใต้ จำหลักเรื่องอันใดยังแปลไม่ออก มีจารึกบอกไว้แต่ว่าของเดิมค้างอยู่ | ปราบพาณาสูรในเรื่องอนิรุทธ ด้านตวันออกเฉียงเหนือ จำหลักเรื่องพระนารายณ์ปราบอสูรสี่ตนในเรื่องหริวงศ ภาพจำหลักเรื่องปราบพาณาสูรกับปราบอสูรสี่ตนนี้ มีอักษรจารึกบอกไว้ว่าเดิมค้างอยู่ | |
๗๔ | ๑ | มีกษัตริย์พระองค์อื่นจำหลักเพิ่มขึ้นภายหลัง | มีกษัตริย์พระองค์อื่นให้จำหลักเพิ่มขึ้นภายหลัง ด้านตวันออกเฉียงใต้จำหลักเรื่องชักนาคทำน้ำอมฤตย์ | |
๗๕ | ๑๔ - ๑๖ | ออกจากปราสาทพระขรรค์ไปดูสระอโนดาต เขมรเรียกกันเปนสามัญว่า "เนียกเปียน" (คือนาคพัน) เป็นสระสี่เหลี่ยม | ออกจากปราสาทพระขรรค์ไปดูสระนาคพัน เขมรออกเสียงเรียกกันเปนสามัญว่า "เนียกเปียน"ท่วงทีทำเปน สระอโนดาตสัณฐานสี่เหลี่ยม | |
๗๖ | ๑๔ | ปราสาทกลอนโค (คือคอกโค) | ปราสาทโกรลโค (คือเพนียดโค) | |
๗๗ | ๑๓ - ๑๕ | รูปภาพทวารบาลเป็นชาย ที่อุทิศถวายบรรพบุรุษเป็นหญิง รูปภาพทวารบาลก็เป็นหญิง | ข้างในทำรูปพระอิศวรเป็นประธาน รูปภาพทวารบาลเป็นชาย ที่อุทิศถวายบรรพบุรุษเป็นหญิงข้างในทำรูปพระอุมาเป็นประธาน รูป ภาพทวารบาลก็เป็นหญิง |
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
๗๘ | ๑๔ | ปราสาทกาวัน | ปราสาทกระวัน | |
๗๙ | ๕ | ปราสาทพรหมานนท์ | ปราสาทธรรมานนท์ | |
๗๙ | ๙ | วัดเทพพนม | วัดเทพประนม | |
๗๙ | ๑๓ | รูปโฉมเปนแบบอย่าง พระเมืองสรรค์ | รูปโฉมเปนแบบที่เราเรียกว่าพระสมัยทวารวดี | |
๘๑ | ๑ - ๒ | ทำฐาน สูง ๓ ชั้นขึ้นบันไดไปถึงชั้นยอดสูงเสมอยอดยาง | ทำฐานสูง ๓ ชั้นสูงมาก ชั้นยอดสูงเสมอยอดยาง | |
๘๑ | ๓ | ปราสาทแก้วนี้เปนของสร้างค้างยิ่งกว่าแห่งอื่นๆในแถวนครธม | ปราสาทแก้วนี้แปลกเป็น ของสร้างค้างยิ่งกว่าแห่งอื่นๆ ในแถวนครธม | |
๘๔ | ๑๖ - ๑๗ | เปนไวษณวะเห็นแต่แห่งนี้ | เป็นไวษณวะเห็นแต่แห่งนี้ เขาบอกว่ายังถูกแปลงเป็นวัดพระพุทธสาสนาอีกซ้ำหนึ่ง ด้วยมีรอยก่อพระพุทธไสยาสน์ค้างไว้บนฐานข้างด้านหลัง แต่เห็นเป็นของค้างฝีมือก็ไม่ดีเขาจึงรื้อเสีย | |
๘๕ | ๙,๑๐,๑๑ | พระเจ้าปทุมสุริวงศ | พระเจ้าปทุมสุริยวงศ | |
๘๖ | ๓ | พระพุทธรูปมหายานอย่างจีน | พระพุทธรูปอย่างจีน | |
๘๖ | ๗ | พระกริ่งเปนของมาแต่เมืองจีนแน่ | พระกริ่งเป็นของจีนคิดแบบอย่างตามตำราใน ลัทธิฝ่ายมหายาน เรียกว่า ไภสัชคุรุ เปนพระพุทธรูปปางทรงถือเครื่องบำบัดโรค คือบารตน้ำมนต์หรือผลสมอเปนต้น สำหรับบูชาเพื่อป้องกันสรรพโรคาพาธแลอัปมงคลต่างๆ เพราะ ฉะนั้นพระกริ่งจึงเป็นพระสำหรับทำน้ำมนต์ | |
๘๗ | ๘ - ๙ | แต่ในสมัยเมื่อราชธานีกรุงกัมพูชาอยู่ที่นครธมนั้นเอง | แต่ในสมัยเมื่อราชธานีกรุงกัมพูชาอยู่ที่นครธมนั้นเอง เห็นจะราวเมื่อในพ.ศ. ๑๘๐๐ จน พ.ศ. ๑๙๐๐ |
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
๘๗ | ๑๓ - ๑๔ | ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ต่อไป ๆ ดูวัดพระศรีอารย์ | ปรางค์ก่อด้วยอิฐ เป็นของทำค้างไว้เพียงรูปทรง ยังไม่ได้ทำเครื่องประดับ เมื่อแลเห็นนึกขึ้นทันทีว่ารูปทรงเทวสถานปักษีจำกรงนี้ เหมือนโกษฐพะศพเจ้านายตั้งบนชั้นแว่นฟ้าที่ในเมืองเรา คิดต่อไปก็แลเห็นว่าประเพณีการพระศพเจ้านายในสยามประเทศนี้ น่าจะได้คติแบบแผนติดต่อมาจากราชประเพณีกษัตริย์ขอม ดังจะอธิบายในที่อื่นต่อไปข้างหน้า แล้วไปดูวัดพระ ศรีอารย์ | |
๘๘ | ๔ | พระโคกปรก | พระโคกกลก | |
๙๔ | ๑๖ | ไม่แล้วดี | ไม่แล้วสำเร็จดี | |
๙๕ | ๕ | เปนถนนสำหรับมณฑล หรือเมืองซึ่งจะทำมาต่อกับถนนอาณาเขต | เป็นถนนสำหรับมณฑล ซึ่งจะทำมาต่อกับถนน อาณาเขต | |
๙๕ | ๑๐ | ทิ้งไว้จนดินยุบแน่นได้ที่ (และมีเงินพอจะทำ) จึงลงมือทำเปนถนน | ทิ้งไว้จนดินยุบแน่นได้ที่ จึงลงมือทำเป็นถนน จึงลงมือทำเปนถนน | |
๙๘ | ๕ | ขอมได้ทำสพานช้างข้ามห้วยไว้แต่โบราณ | พวกขอมได้ทำสพานช้างข้ามห้วยไว้ | |
๙๘ | ๘ | มาถึงกำพงธมเวลาเช้า | มาถึงที่ว่าการมณฑล กำพง-ธมเวลาเช้า | |
๙๘ | ๒๐ | อย่าง ๑ เรียกว่า | อย่าง ๑ เรียกภาษาฝรั่งเศสว่า ออร์ดร รอยาลดือกำโพช เขมรเรียกเพี้ยนเป็น | |
๙๙ | ๑,และ ๘ | โอดรวยกำโพช | โอดตรวยกำโพช | |
๑๐๒ | ๙ | มีตำหนักแพ คือแพแฝด มีมุขคล้ายกับแพรับช้างเผือก (คำที่เรียกว่าตำหนักแพ เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เล่ากันมาว่าเดิมทำอย่างเรือนแพ จึงเรียกว่าตำหนักแพ แต่ผู้ไม่ทันเห็นได้ยินแต่เรียกชื่อมักเข้าใจกันไปว่าเปนแพลอยในน้ำที่สมเด็จพระนโรดมเอาอย่างมาทำที่กรุงกัมพูชา ก็ด้วยสำคัญผิดเช่นนั้น) | มีตำหนักแพที่ประทับหลังหนึ่ง ทำเป็นแพแฝดมีมุขคล้ายกับแพรับช้างเผือก ได้ยินว่าแต่แรกมีตำหนักแพ(๑) ปลูกข้างบนบกเหมือน อย่างในกรุงเทพฯ นี้ แต่น้ำกัดตลิ่งตรงหน้าวังพังเข้าไปมากจึงต้องรื้อเสีย คงมีแต่แพลอยน้ำ -------------- (๑)คำว่าตำหนักแพแม้ในกรุงเทพฯ นี้เดิมหมายความว่า เรือนแพ ที่ปลูกบนบกมิใช่แพลอยน้ำ |
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
๑๐๔ | ๑๑ | ทั้งสองข้าง | ทั้งสองข้าง มีประปาเป็น ความคิดของฝรั่งเศสทำพิสดารอยู่ด้วยทดลองน้ำตรงหน้าเมืองพนมเพ็ญซึ่งไหลมาจากทะเลสาบ เห็นไม่สะอาดเหมือนน้ำในลำน้ำโขง จึงไปตั้งโรงสูบน้ำทางฝั่งโน้น สูบน้ำในลำน้ำโขงขึ้นกรองแล้วฝังท่อไขน้ำนั้นลอดแม่น้ำหน้าเมืองมาใช้ที่เมืองพนมเพ็ญ | |
๑๐๘ | ๑๔, ๑๕ | ประชาภิบาล | นคราทร | |
๑๑๐ | ๘ | หญิงสาว | นางมโหรี | |
๑๑๒ | ๑๐ | ของพื้นเมืองพอดูได้ | ของพื้นเมืองพอดูได้ มี "ถะ" ญวนอย่างย่อม ๆ ทำด้วยไม้จำหลักปิดทองอยู่หลังหนึ่ง เอาทรงปราสาทขอมมาคิดทำเป็นถะน่าดูอยู่ | |
๑๑๒ | ๑๒ | สังฆราชอาดริยอง | สังฆราชอาดรัน | |
๑๑๒ | ๑๔ | บาทหลวง | บาทหลวง ปิโญ เดอ เบแฮน | |
๑๑๒ | ๑๘ | สังฆราชอาดริยอง | บาทหลวงปิโญ เดอ เบแฮน | |
๑๑๓ | ๒ | บาดหลวงอาดริยอง | บาทหลวงปิโญ เดอ เบแฮน | |
๑๑๓ | ๓ | เปนเหตุให้ได้เปนสังฆราช | เป็นเหตุให้ได้เป็นสังฆราชแห่งอาดรัน | |
๑๑๓ | ๕ | สังฆราชอาดริยอง | สังฆราชอาดรัน | |
๑๑๓ | ๑๕ | เช่นที่ตำบลบานัดอันเปนที่เขาสูงอากาศดี | เช่นที่ตำบลบานัดบนเขาสูง | |
๑๑๔ | ๙ | ประชาภิบาล | นคราทร | |
๑๑๖ | ๑ | ประชาภิบาล | นคราทร | |
๑๑๙ | ๖ | ลงมาอีกชั้นหนึ่ง ถึงโบสถ์พระอัฏฐารศ | ต่อมาถึงเขาอีกยอด มีโบสถ์พระอัฏฐารศ |
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
๑๑๙ | ๗ - ๙ | มีศิลาจารึกของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ว่า สมเด็จพระสังฆราชเที่ยงได้ปฏิสังขรณ์ค้างไว้ ทรงปฏิสังขรณ์ต่อจนสำเร็จ ทำเรียบร้อยดี | แต่โบสถ์นั้นว่าเป็นของพระบรมราชาพระยาจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาครั้งพระเจ้าบรมโกษฐ์ครองกรุงศรีอยุธยาเปนผู้สร้างแล้วผู้อื่นปฏิ - สังขรณ์ต่อมาอีกหลายครั้ง ที่สุดสมเด็จพระ สังฆราชเที่ยงได้ปฏิสังขรณ์ค้างไว้ สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทรงปฏิสังขรณ์ต่อจนสำเร็จทำเรียบร้อยดี | |
๑๒๑ | ๓ - ๔ | มีโรงละครอยู่ข้างใต้ พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย | โรงเล่นละคอนหลวงอยู่ริมพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยทางด้านใต้ | |
๑๒๑ | ๑๔ | ทางข้างซ้าย | ทางข้างใต้ | |
๑๒๕และ๑๒๖ | ๒๐ และ ๑ | (เมื่อเฝ้าคราวแรกก็เช่น เดียวกันเราฉวยถ้วยแชม- เปนไว้ ด้วยสำคัญว่าอีกถ้วยหนึ่งเปนน้ำเปล่า) คราวนี้เราเลือกเลมอเนต | เหมือนเมื่อเฝ้าคราวแรก คราวนี้เรารู้เค้าเลือก เลมอเนต | |
๑๓๒ | ๓ - ๔/td> | พระองค์ผิวนั้นมารดาเปนไทยเกิดที่ในกรุงเทพ | พระองค์ผิวนั้นมารดาเป็นไทย | |
๑๓๓ | ๑ - ๔ | ทูลขอมาพบพวกเราอีกองค์หนึ่ง แต่กิริยาอาการดูเปนพันทางจะเปนเขมรก็ไม่ใช่ไทยก็ไม่เชิงไม่ชวนสมาคมเหมือนเจ้านายพวกกรุงกัมพูชา จึงเปนแต่ทักทายพอมิให้เสียอัชฌาสัยได้ยินว่าวันนี้กรมวังออกหมายเชิญ | ทูลขอมาพบพวกเราอีกองค์หนึ่ง ได้ยินว่าวันนี้กรมวังออกหมายเชิญ | |
๑๓๖ | ๗ - ๘ | (เดี๋ยวนี้พระองค์ภาณุวงศ์ ราชบุตรของสมเด็จพระนโรดม เปนตัวเสนาบดี) | (เดิมเป็นที่สมเด็จฟ้าทละหะ เดี๋ยวนี้พระองค์ภาณุวงศ์ ราชบุตรของสมเด็จพระนโรดม เป็นตัวเสนาบดี เรียกกันว่า พระองค์อัครมหาเสนา) | |
๑๓๗ | ๑๒ - ๑๔ | การที่ลูกสาวเรามาด้วยคราวนี้ ดูเหมือนจะได้นำแบบแผนมาให้กรุงกัมพูชาสักอย่างหนึ่ง คือหญิงสาวสมัยใหม่ในกรุงกัมพูชาเดี๋ยวนี้ก็ไว้ผมยาว | หญิงสาวสมัยใหม่ในกรุงกัมพูชาเดี๋ยวนี้ก็ไว้ผมยาว |
หน้า | บรรทัดที่ | ความเดิมในฉบับพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๘ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ |
ปรับแก้หรือเพิ่มเติมใหม่ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑ |
๑๔๖ | ๑๐,๑๖,๑๙ | เขาบอโค | เขาโบกโค | |
๑๔๗ | ๙ , ๑๘ | เขาบอโค | เขาโบกโค | |
๑๔๘ | ๑๘ | เขาบอโค | เขาโบกโค | |
๑๔๙ | ๘, ๑๒ | เขาบอโค | เขาโบกโค | |
๑๕๐ | ๔,๗ และ ๙ | เขาบอโค | เขาโบกโค |
การปรับและเพิ่มเนื้อความใหม่ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๖๙
ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ นอกจากมีการปรับแก้และเพิ่มเติมความบางตอนในหน้าต่างๆ ดังที่ได้ทำตารางเปรียบเทียบให้เห็นไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีการปรับความเดิมในหน้า ๘๘ ย่อหน้าแรกจนถึงหน้า ๙๑ ของฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งนำมาศึกษาในครั้งนี้ออก และแทรกเนื้อความใหม่แทนที่ด้วย ซึ่งผู้วิจัยเอกสารได้นำเนื้อความใหม่ที่ทรงพระนิพนธ์เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาแสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ด้วย โดยคัดลอกมาจากหนังสือ นิราสนครวัด (กรุงเทพฯ: เขษมบรรณกิจ, ๒๕๐๒) หน้า ๑๒๑ - ๑๔๖. (ซึ่งในคำนำการพิมพ์ฉบับนี้ ผู้จัดพิมพ์ชี้แจงไว้ว่าได้ใช้ต้นฉบับการพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นต้นฉบับพิมพ์ตลอด)
ตรงนี้จะกล่าวความบางข้อในเรื่องปราสาทหิน ซึ่งมารู้เมื่อได้เห็นปราสาทหินในเมืองเขมร เห็นมีเค้าเงื่อนเกี่ยวข้องกับวัตถุสถานแลประเพณีในเมืองไทย แลจะอธิบายความสันนิษฐานประกอบกับความรู้นั้นเป็นข้อๆ ต่อกันไป คือ
ข้อ ๑ ได้กล่าวมาแล้ว ว่าบันดาปราสาทหินล้วนสร้างเป็นเจดียสถานในสาสนา สาสนาอันเป็นมูลของการสร้างปราสาทหินมี ๕ อย่างด้วยกัน คือพระพุทธสาสนาตามลัทธิเดิมซึ่งมักเรียกกันว่าลัทธิหินยานอย่าง ๑ พระพุทธสาสนาตามลัทธิที่เกิดขึ้นชั้นหลังที่เรียกกันว่าลัทธิมหายานอย่าง ๑ พระพุทธสาสนาลัทธิลังกาวงศ คือลัทธิหินยานซึ่งฟื้นขึ้นใหม่ในลังกาทวีปอย่าง ๑ สาสนาพราหมณ์ ตามลัทธิศิเวศ ซึ่งนับถือพระอิศวรเป็นใหญ่อย่าง ๑ สาสนาพราหมณ์ตามลัทธิวิษณุเวศ ซึ่งนับถือ พระนารายณ์เป็นใหญ่อย่าง ๑ สาสนาทั้ง ๕ อย่างนี้ ถ้าว่าตามโบราณวัตถุอันมีค่าอยู่เป็นที่สังเกต ดูเหมือนพวกชาวอินเดียจะนำพระพุทธสาสนาลัทธิหินยานเดิมมาสอนในประเทศเหล่านี้ก่อน สาสนาอย่างอื่น แลมีเค้าเงื่อนว่าพวกที่มาสอนพระพุทธสาสนาลัทธิหินยานนั้นมาสอนในเมืองมอญ เมืองลาว (คือสยามประเทศทุกวันนี้) ก่อนแล้วจึงสอนลงมาถึงเมืองเขมร ตั้งแต่ในเวลาเมื่อพวกขอม ยังไม่มีอำนาจ เจดียสถานชั้นสมัยนั้นจึงมักมีอยู่ในประเทศสยาม เช่นที่พระปฐมเจดีย์เป็นต้น มิใคร่ จะพบในเมืองเขมร เห็นมีเค้าเงื่อนปรากฏอยู่แต่ที่วัดเทพประนมในนครธมแห่งเดียว ต่อมาเมื่อมีการถือพระพุทธสาสนาเกิดลัทธิมหายานขึ้นในอินเดีย สมมตพระพุทธเจ้าเป็นหลายอย่างหลายพระองค์ แลนับถือพระโพธิสัตว์เป็นที่พึ่งขึ้นด้วยอีกอย่างหนึ่ง กับทั้งแปลงพระไตรปิฎกจากภาษามคธเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อลัทธิมหายานแพร่หลาย พวกชาวอินเดียก็พามาสอนถึงประเทศเหล่านี้ด้วย แต่สันนิษฐานว่าพวกที่มาสอนลัทธิมหายานเห็นจะเป็นชาวอินเดียข้างฝ่ายใต้ ข้ามทะเลมาทางเกาะสุมาตรา แลเกาะชวา แล้วมายังเมืองเขมร ลัทธิมหายานนับถือกันในเมืองเขมร แล้วจึงแพร่หลายขึ้นไปถึงสยามประเทศ ที่เห็นเช่นนี้เพราะบันดาปราสาทหินในเมืองเขมรซึ่งสร้างเป็นวัดพระพุทธสาสนา เป็นอย่างลัทธิมหายานทั้งนั้น ถึงปราสาทหินที่มีในเมืองไทย เช่นที่เมืองลพบุรีก็ดี เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัยก็ดี เมืองพิมายก็ดี ถ้าสร้างเป็นวัดในพระพุทธสาสนาก็สร้างอย่างลัทธิมหายาน เพราะสร้างในสมัยเมื่อ พวกขอมมีอำนาจปกครอง ยังมีเค้าเงื่อนอื่นปรากฏอยู่อีกหลายอย่าง ว่าพระพุทธสาสนาที่ถือกัน ในประเทศเขมรแลประเทศสยาม ถืออย่างลัทธิมหายานสืบมาหลายร้อยปี จนพระพุทธสาสนาเสื่อมสิ้นไปในอินเดียด้วยพวกถือสาสนาพราหมณ์ได้เป็นใหญ่แล้วพวกถือสาสนาอิสลามได้เป็นใหญ่ต่อมา เมื่อกิจการพระพุทธสาสนาในประเทศเหล่านี้ขาดกับอินเดียแล้ว จึงเปลี่ยนไปเกี่ยวข้องกับเมืองลังกาตั้งแต่สตพรรษที่ ๑๙ แห่งพุทธศกเป็นต้นมา เหตุด้วยพระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชฟื้นพระพุทธสาสนาในลังกาทวีปให้กลับเป็นลัทธิหินยาน แลกลับใช้พระไตรปิฎกเป็นภาษามคธอย่างแต่เดิม พวกที่ถือ พระพุทธสาสนาในเมืองมอญ เมืองไทย เมืองเขมรพากันเลื่อมใสรับลัทธิลังกาวงศ (คือลัทธิที่ถือกับอยู่ทุกวันนี้) มาประพฤติ๑ วัดพระพุทธสาสนาซึ่งสร้างขึ้นในนครธมเมื่อชั้นหลัง (อันมักมีใบเสมาปักรายรอบโบสถ์) เช่นวัดที่รายอยู่รอบเทวสถานบรรยงก์ เป็นวัดสร้างตามลัทธิลังกาวงศไม่มีที่สร้างเป็นปราสาทหินอย่างวัดมหายาน เพราะสาสนาลัทธิลังกาวงศมาถึงเมื่อกษัตริย์ขอมเสื่อมอำนาจเสียแล้ว
ส่วนสาสนาพราหมณ์นั้น เดิมที่ในอินเดียถืออย่างลัทธิไตรเพทมาแต่ก่อนพุทธกาล พวกพราหมณ์เป็นผู้สั่งสอนทั้งกิจในสาสนา เช่นวิธีบูชายันต์เป็นต้น แลสอนศาสตราคมทั้งปวงด้วย พราหมณ์จึงมีอำนาจมากในหมู่ชนทั้งหลาย ครั้งชาวอินเดียเลื่อมใสพระพุทธสาสนาแพร่หลาย พวกพราหมณ์เสื่อมอำนาจลง ต่อมาจึงคิดแก้ไขสาสนาพราหมณ์ เกิดมีลัทธิศิเวศซึ่งนับถือพระอิศวร เป็นใหญ่ขึ้นแข่งพระพุทธสาสนานับถือกันแพร่หลายลงมาถึงอินเดียข้างฝ่ายใต้ ก็มีผู้พาสาสนาพราหมณ์ลัทธิศิเวศมาสอนในเมืองเขมรเหมือนอย่างเคยพาพระพุทธสาสนามาแต่ก่อน ผเอิญประจวบสมัยเมื่อ ราชวงศขอมอันเป็นเชื้อสายชาวอินเดียได้เป็นใหญ่ในประเทศเขมรด้วย ได้อาศรัยพวกพราหมณ์ ซึ่งเป็นคณาจารย์สอนสาสนาลัทธิศิเวศ เป็นราชครูผู้แนะนำให้กู้บ้านเมืองจนมีอำนาจขึ้นพวกขอมจึงรับนับถือสาสนาพราหมณ์ตามลัทธิศิเวศขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เทวสถานที่เป็นชั้นเก่า เช่นปราสาทบายนเป็นต้น ล้วนสร้างตามลัทธิศิเวศ เทวสถานที่พวกขอมมาสร้างไว้ในเมืองไทยเป็นลัทธิศิเวศก็มี แต่ไม่แพร่หลายเหมือนในเมืองเขมร เห็นจะเป็นเพราะประชาชนชาวประเทศสยาม นับถือพระพุทธสาสนากันมั่นคง เสียแล้ว แลไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนไปเลื่อมใสสาสนาพราหมณ์อย่างพวกขอม
๑ เรื่องตำนานการที่ประเทศเขมรไทยมอญรับประพฤติลัทธิสาสนาลังกาวงศ ปรากฏในจารึกกัลยาณีของพระเจ้ารามาธิบดีปิฎกธร เมืองหงสาวดี หอพระสมุด ฯ ได้แปลแลพิมพ์ในหนังสือเรื่องรามัญสมณวงศ
ส่วนทางประเทศอินเดียนั้น เมื่อสาสนาพราหมณ์เกิดมีลัทธิศิเวศขึ้นแข่งพระพุทธสาสนา ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดรังเกียจกัน ขึ้นในระหว่างชาวอินเดียที่ถือพระพุทธสาสนาแลสาสนาพราหมณ์เห็นจะเลยเป็นเหตุถึงวิวาทกัน ด้วยเรื่องสาสนา ต่อมาจึงมีพราหมณ์อีกคณะหนึ่งคิดตั้งลัทธิวิษณุเวศขึ้น ถือว่าพระนารายณ์เป็น ผู้บำรุงโลก ถ้าเกิดจลาจลเดือดร้อนแก่มนุษย์เมื่อใด พระนารายณ์ก็อวตารลงมาช่วยปราบปรามจลาจลให้พ้นความเดือดร้อน อ้างวีรบุรุษในพงศาวดารซึ่งมีคนนับถือมาก เช่น พระกฤษณและพระราม แม้จนพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระนารายณ์อวตารทั้งนั้นจะเกลี้ยกล่อมด้วยความคิดประสงค์ผู้ซึ่ง นับถือสาสนาอื่นๆ ให้ไปเข้ารีตถือศาสนาพราหมณ์ ครั้นลัทธินี้แพร่หลายในอินเดียก็มีผู้พามาสอน ในประเทศเขมรมีผู้คนนับถือแล้วสอนแพร่หลายมายังประเทศสยามเหมือนเช่นลัทธิอื่น ปราสาทหิน ซึ่งสร้างชั้นหลัง เช่นนครวัดเป็นต้น สร้างเป็นเทวสถานตามลัทธิวิษณุเวศแทบทั้งนั้น
แต่การที่พระพุทธสาสนากับสาสนาพราหมณ์มาประดิษฐานในประเทศเขมร มิได้ มาเกิดเกี่ยงแย่งกันเหมือนเช่นที่ในอินเดีย เพราะเป็นสาสนามาแต่ต่างประเทศ ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ มาสอนสาสนาจำต้องรักษาสันติภาพ โดยเคารพต่อผู้ปกครองบ้านเมือง เช่นสั่งสอนประชาชนให้อยู่ ในกำหนดกฎหมาย แลนับถือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้าแผ่นดินเป็นต้น ไปด้วยกันกับสอนให้นับถือ ลัทธิสาสนาของตน พวกที่สอนพระพุทธสาสนาตามลัทธิมหายาน ยกย่องพระมหากษัตริย์ว่าเป็น พระโพธิสัตว์ ฝ่ายพวกที่สอนสาสนาพราหมณ์ทั้ง ๒ ลัทธิ ก็ยกย่องว่าพระมหากษัตริย์แบ่งภาคมาแต่ พระอิศวร หรือพระนารายณ์ ฝ่ายข้างพวกขอมนั้นเลื่อมใสสาสนาไหนในข้อใดๆ ก็นับถือข้อนั้นๆ ทั้งสองสาสนาแลได้รับประโยชน์จากสองสาสนานั้นต่างกัน ความข้อนี้ศาสตราจารย์ฟีโนต์ผู้เป็น ประธานแห่งสมาคมเอคโคลฝรั่งเศสเอกสตริมออเรียนต์ ได้กล่าวอธิบายแจ่มแจ้งดีว่า พระพุทธสาสนาสอนคติธรรมเป็นสำคัญ คนทั้งหลายทุกชั้นได้รับประโยชน์ในธรรมปฏิบัติจากพระพุทธสาสนาจนถึงบุคคลชั้นต่ำ ในประชาประชาชนจึงนับถือพระพุทธสาสนายิ่งกว่าสาสนาอื่น ฝ่ายสาสนาพราหมณ์นั้นสอนในคติทางโลก เช่นศาสตราคมต่างๆ อันเป็นประโยชน์ในการปกครองบ้านเมืองเป็นสำคัญ บุคคลซึ่งเป็นชั้นผู้ปกครองบ้านเมืองจึงนับถือมากดังนี้ แต่การที่ถือพระพุทธสาสนาหรือสาสนาพราหมณ์นั้น ถึงนับถือสาสนาหนึ่งก็ไม่ได้ชิงชังอีกสาสนาหนึ่ง เป็นแต่นับถือมากกว่ากันหรือเสมอกัน ความข้อนี้พึงเห็นได้ในจารึกของพระเจ้าแผ่นดินขอมแต่โบราณซึ่งยังปรากฏอยู่ บางองค์ก็นมัสการพระพุทธเจ้า บางองค์ก็นมัสการพระอิศวรหรือพระนารายณ์ บางองค์ก็บูชาทั้งพระพุทธเจ้าแลเทพยเจ้าด้วยกัน อธิบายที่กล่าวมานี้เป็นมูลเหตุที่สร้างปราสาทหินเป็นวัดในพระพุทธสาสนาบ้าง เป็นเทวสถานบ้าง แล้วแต่ผู้สร้างเลื่อมใสสาสนาไหนมากก็สร้างในสาสนานั้น การที่ถือพระพุทธสาสนากับสาสนาพราหมณ์ด้วยกันเช่นว่ามายังมีเค้าเงื่อนอยู่จนทุกวันนี้ ไม่ต้องไปหาอุทาหรณ์ห่างไกล แม้ที่ในประเทศสยามนับถือพระพุทธสาสนาเป็นสาสนาสำหรับประเทศแล้ว การพระราชพิธีต่างๆ เป็นต้นว่าพิธีราชาภิเษกแลพิธีอื่นๆ เช่น พิธีแรกนา พิธีตรียัมพวาย ก็ยังทำตามสาสนาพราหมณ์อยู่จนทุกวันนี้ น่าเชื่อว่าการที่ถือทั้งสองสาสนาด้วยกันจะเป็นประเพณีสืบมาตั้งแต่ครั้งขอมเป็นใหญ่
ข้อ ๒ ปราสาทหินทั้งปวงนี้สร้างขึ้นด้วยเหตุอันใด ข้อนี้ตามที่สามารถทราบเหตุได้ โดยมีศิลาจารึกเป็นต้น ดังได้พรรณนามาแล้วที่อื่น พิเคราะห์ดูคล้ายกับประเพณีสร้างวัดในประเทศสยามแต่โบราณ หรือจะเกิดแต่ประเพณีมีมูลอันเดียวกันดอกกระมัง อันประเพณีที่ไทยสร้างวัด อาศรัยมูลเหตุเป็น ๒ อย่าง คือสร้างสำหรับท้องที่อย่าง ๑ สร้างเป็นอนุสาวรีย์อย่าง ๑
วัดซึ่งสร้างสำหรับท้องที่นั้น เมื่อมีประชุมชนตั้งภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่ง ณ ที่ตำบลใด ก็สร้างวัดขึ้นไว้สำหรับ "ทำบุญ" คือเป็นที่ประพฤติกิจสาสนาของประชาชนในตำบลนั้น การสร้าง วัดนิยมกันว่าเป็นกุศลสำคัญ เพราะเป็นสาธารณประโยชน์ แลเป็นการบำรุงรักษาสาสนาให้รุ่งเรืองถาวร อาศรัยความนิยมเช่นนั้น ผู้ปกครองท้องที่จึงย่อมเอาเป็นภาระชักชวนประชาชนให้สร้างแลบำรุง รักษาวัด ฝ่ายประชาชนก็เต็มใจทำ ด้วยถือว่าเป็นกุศลของตน วัดซึ่งสร้างเป็นอนุสาวรีย์นั้น มักเป็น ของบุคคลสร้างด้วยเหตุต่างๆ เพื่อเป็นเกียรติยศแลกุศลสมภารของผู้สร้างเองบ้าง สร้างอุทิศกุศล สมภารแลเฉลิมเกียรติยศให้แก่ผู้อื่นบ้าง แต่การสร้างวัดสำหรับท้องที่กับสร้างวัดเป็นอนุสาวรีย์ ผิดกันในข้อสำคัญ ที่วัดสำหรับท้องที่เป็นของต้องการในปัจจุบันทันทีเพื่อจะให้ประชาชนได้ อาศรัยทำบุญ ถึงจะสร้างด้วยทัพสัมภารอย่างใดก็ได้ จึงมักสร้างกันแต่ด้วยเครื่องไม้ ต่อวัดใดตั้งอยู่ ยั่งยืนจนคนทั้งหลายนับถือว่าเป็นวัดหลักบ้านหลักเมืองจึงบุรณะวัดนั้นให้ใหญ่โตมั่นคง ส่วนวัดซึ่ง สร้างเป็นอนุสาวรีย์นั้นไม่จำต้องรีบสร้าง แต่ประสงค์จะสร้างให้อยู่ถาวรเป็นสำคัญ จึงสร้างด้วย ทัพสัมภารอันมั่นคง เช่นก่อด้วยอิฐหรือแลงแลหินแต่เริ่มแรก สันนิษฐานว่าเมื่อครั้งพวกขอมยังมี อำนาจอยู่นั้น ในเมืองเขมรก็เห็นจะสร้างวัดแลเทวสถานกันแพร่หลาย แต่โดยมากน่าจะเป็น เครื่องไม้ เมื่อบ้านเมืองเสื่อมกำลังลง ไม่มีผู้ใดจะบำรุงรักษาก็เป็นอันตรายสาบสูญไปเสียสิ้น เหลืออยู่ แต่ที่เป็นของสร้างอย่างมั่นคงโดยเจตนาจะให้ถาวร ปราสาทหินที่ปรากฏอยู่ในแถวนครธม เห็นจะเป็นของสร้างเป็นอนุสาวรีย์เป็นพื้น เพราะมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะพึงต้องการเพื่อกิจแห่งสาสนา แต่ปราสาทหินซึ่งมีเรี่ยรายอยู่ตามหัวเมือง ตลอดจนที่มีอยู่ในประเทศสยาม เช่นที่เมืองเพ็ชรบุรี เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย แลเมืองพิมาย เห็นจะเป็นของสร้างสำหรับท้องที่ด้วยมักมีแต่เมืองละแห่ง
ข้อ ๓ การสร้างปราสาทหินทั้งปวงนั้น ถ้าว่าด้วยทัพสัมภารที่ใช้ก่อสร้าง มีสร้างด้วยอิฐอย่าง ๑ สร้างด้วยแลงอย่าง ๑ สร้างด้วยศิลาอย่าง ๑ หรือประสมกันในสองอย่างสามอย่างนั้น น่าจะคิดเห็นว่าชั้นเดิมทีเดียว เมื่อพวกขอมยังไม่มีอำนาจใช้สร้างด้วยอิฐ เพราะอาจจะทำได้ด้วยกำลังคนน้อย ต่อมาเห็นว่าก่อด้วยแลงถาวรกว่าอิฐจึงเปลี่ยนไปใช้ก่อด้วยแลง ในสมัยเมื่อมีคนเป็นกำลังมากพอที่จะขนแลงก้อนใหญ่ๆ เอามาใช้ก่อสร้างได้ ครั้งมาถึงสมัยเมื่อพวกขอมมีอำนาจเต็มที่ มีผู้คนเรียกมาทำงารได้ตั้งหมื่นตั้งแสนจึงให้ไปเที่ยวสกัดศิลาขนมาใช้ก่อสร้าง เพราะอย่างจะ จำหลักทำรูปแลลวดลายให้งามวิจิตรพิสดารกว่าทำด้วยแลงหรืออิฐ แต่ตามความที่ปรากฏใน ศิลาจารึกหาเป็นเช่นนั้นไม่ ปรากฏว่าปราสาทที่ทำในจังหวัดอันเดียวกัน
แลในยุคอันเดียวกันทำด้วยอิฐก็มี ทำด้วยแลงก็มี ทำด้วยศิลาก็มี การที่เลือกว่าจะทำด้วยทัพสัมภารอย่างใด อาศรัยเหตุอื่น เห็นจะแล้วแต่กำลังของผู้สร้างหรือความสำคัญของสถานที่สร้างเป็นประมาณ อนึ่งบันดาปราสาท ที่สร้างด้วยศิลา เช่นนครวัด เป็นต้น ใช้แลงเป็นแกนในทั้งนั้น ก่อศิลาหุ้มแต่ข้างนอก เว้นแต่ที่ตรงไหนก่อบางจะทำแกนไม่ได้จึงใช้ศิลาล้วน วิธีก่อศิลานั้น แต่แรกถากศิลาเป็นแท่งโกลนมาเรียบเรียง ก่อขึ้นไปจนสำเร็จเสียก่อน แล้วจึงตั้งร่างร้านขึ้นไปเจียนศิลาเป็นรูปแล้วจำหลักลายต่อภายหลัง สันนิษฐานว่าการสร้างปราสาทหินเห็นจะมีช่าง หลายพวก คือช่างก่อพวกหนึ่ง ช่างจำหลักพวกหนึ่ง บางทีจะมีพวกช่างแกะลายเบาอีกพวกหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องขึ้นร่างร้านสูง แม้เป็นผู้หญิงก็อาจทำได้ สังเกตดูเหมือนการที่ก่อกับการจำหลักทำก่อน แต่การแกะลายเบามักทิ้งไว้ทำต่อทีหลัง มีความจริง อันประหลาทอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งได้สังเกตเห็นตามปราสาทหินในเมืองไทย๒ ทราบความมานานแล้ว มาคราวนี้จึงตั้งใจจะพิจารณาว่าปราสาทหินในเมืองเขมรจะเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่ ก็มาเห็นเป็น เช่นเดียวกัน คือบันดาปราสาทหินทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือขนาดน้อย หรือจะสร้างไว้ ณ ที่แห่งหนตำบลใด สร้างค้างอยู่ทั้งนั้นหามีปราสาทหินแห่งใดที่จะสร้างสำเร็จบริบูรณ์ไม่ แม้นครวัด การสร้างก็ยังค้างอยู่จนทุกวันนี้ จะเป็นด้วยเหตุใด พิเคราะห์ดูมูลเหตุ เห็นว่าจะเป็นด้วยการสร้างปราสาทหินกว่าจะสร้างให้สำเร็จได้แต่ละแห่ง ต้องการเวลาช้านานนับหลายสิบปี จึงต้องแบ่งการสร้างเป็นตอนๆ ดังกล่าวมาแล้ว คือสร้างเป็นปราสาทหินโกลนพอให้เป็นวัดหรือเป็นเทวสถานสมศรัทธาเสียชั้นหนึ่งแล้วจึงทำการชั้นตกแต่ง เช่นเจียนรูปแลจำหลักลาย การชั้นนี้ถ้าผู้สร้างสิ้นอายุยังไม่สำเร็จ ลูกหลานก็ทำต่อมาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าแลยังมีผู้ศรัทธาทำต่อมาอีกก็ทำถึงชั้นแกะลายเบาแต่มาถึงชั้นลูกหลานยิ่งห่างไกลผู้สร้างเดิมเพียงใด กำลังแลความพยายามก็หย่อนลงโดยลำดับ การสร้างปราสาทหิน จึงไม่สำเร็จบริบูรณ์ มักจะค้างอยู่เพียงจำหลักบ้างหรือมิฉนั้นก็มาค้างในชั้นแกะลายเบาบ้าง ที่นครวัดยังมีลายแกะค้างครึ่งๆ กลางๆ อยู่จนถึงทุกวันนี้หลายแห่ง หรือจะมีคติถือกันแต่สมัยเมื่อสร้างปราสาทหิน ทำนองเดียวกับที่ไทยถือเป็นคติในการสร้างวัดมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือถือว่าพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ใดได้เสวยราชย์ตั้งรัชกาลใหม่ก็ดี หรือผู้ใดมีกำลังตั้งวงศสกุลใหม่ก็ดี ควรสร้างวัดเป็นอนุสาวรีย์วัดหนึ่ง แต่จะสร้างให้แล้วสำเร็จไม่ได้ ต้องทิ้งค้างไว้ให้ลูกหลานสร้างต่อ (โดยประสงค์จะให้วงศสกุลเลื่อมใสแลบำรุงรักษาวัดนั้นสืบๆ กันไป) ถือกันว่าถ้าใครสร้างวัดแลทำให้สำเร็จบริบูรณ์ในช่วงอายุของตนเอง มักเป็นอันตรายเมื่อสร้างวัดสำเร็จ ดังนี้อาจเป็นคติเกิดขึ้นแต่ละสมัย เมื่อพวกขอมสร้างปราสาทหิน แลไทยได้คตินั้นมาประพฤติในการสร้างวัดก็เป็นได้
ข้อ ๔ รูปสัณฐานของปราสาทหินซึ่งพวกขอมสร้างนั้น เดิมได้แบบอย่างมาแต่ อินเดียข้างฝ่ายใต้เป็นแน่ไม่มีที่สงสัย แต่เมื่อก่อสร้างชำนาญเข้าเห็นจะเกิดมีช่างฉลาดขึ้นในพวกขอมเองสามารถคิดแผลงจากแบบอินเดียมาเป็นแบบอย่างช่างขอมขึ้นอีกอย่างหนึ่ง แต่แบบอย่างรูปทรงปราสาทหินที่ช่างขอมมาคิดขึ้นไม่มีกี่อย่างนัก ที่เป็นเครื่องยอดก็คือแบบปรางค์(หน้าคน)เช่นปราสาทบรรยงก์อย่างหนึ่ง แต่อย่างนี้สร้างน้อยแห่ง เห็นจะเป็นเพราะทำยาก อีกอย่างหนึ่งก็คือ แบบปรางค์เช่น นครวัดอย่างนี้สร้างแพร่หลายมาก ถ้าเป็นเรือนไม่มียอด เช่นหอพราหมณ์หรือศาลาแลระเบียงกล่าวได้ว่าทำแบบเดียวกันทั้งนั้นหาชอบยักย้ายแบบอย่างสร้างให้แปลกๆ กันไม่ ดูเหมือนถ้าจะสร้างปราสาทหินขึ้นใหม่ที่ไหน ก็ถ่ายแบบปราสาทหินในแถวนครธมแห่งใดแห่งหนึ่งไปสร้าง เป็นแต่ลดส่วนลง หรือมิฉะนั้นก็ตัดเอาแต่ตรงแห่งใดแห่งหนึ่งไปเป็นแบบอย่าง เพราะฉะนั้นบันดาปราสาทหินซึ่งมีในเมืองไทย เช่น เมืองลพบุรีก็ดี หรือเมืองพิมายก็ดี กล่าวได้ว่ามีตัวอย่างอยู่ที่นครธมทั้งนั้น อนึ่ง ปราสาทหินซึ่งสร้างในพระพุทธสาสนากับที่สร้างในสาสนาพราหมณ์ สังเกตเห็นผิดกันในข้อสำคัญอย่างหนึ่ง คือถ้าสร้างในพระพุทธสาสนาถึงบริเวณจะใหญ่โตอย่างไรย่อมทำพื้นต่ำ วิหารแลปรางค์ไม่หนุนฐานขึ้นไปให้สูงนัก ถ้าสร้างในสาสนาพราหมณ์มักจะมีฐาน ๓ ชั้นหรือ ๕ ชั้น สร้างปรางค์สูงลอยอยู่บนฐาน ความที่ผิดกันเช่นว่านี้ จะพึงสังเกตได้ แม้สถานที่ขอมสร้าง ณ เมืองลพบุรี เช่น วัดมหาธาตุเป็นของสร้างในพระพุทธสาสนาพื้นเตี้ย เทวสถานที่เรียกว่าศาลสูงเป็นของสร้างในสาสนาพราหมณ์ ยกพื้นสูงขึ้นไปเป็นหลายชั้น เหตุที่สร้างผิดกันเช่นนั้นสันนิษฐานว่าเพราะคติสองสาสนาต่างกัน พระพุทธสาสนาถือว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับสูญไปสู่พระนิพพานแล้ววัดเป็นแต่ที่สำหรับไปบูชาพระพุทธคุณแลไปศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า ฝ่ายสาสนาพราหมณ์ถือว่าพระอิศวรก็ดี พระนารายณ์ก็ดี ยังอยู่บนสวรรค์ การสร้างเทวสถานเหมือนอย่างสร้างวิมานถวายพระเป็นเจ้า สำหรับประทับในเวลาเมื่อเสด็จมาเยี่ยมมนุษยโลก ที่สร้างเทวสถานให้สูงนั้น เพื่อจะมิให้พระเป็นเจ้ารังเกียจว่าต้องลงมาปะปนกับมนุษย์ ให้มนุษย์ต้องขึ้นไปเฝ้า ข้อนี้บางทีจะเป็นมูลเหตุ ซึ่งทำคั่นบันไดเทวสถานให้แคบสูง เดิรขึ้นไม่ได้เหมือนบันไดเรือนสามัญเพราะจะให้ขึ้นด้วยกิริยาคล้ายกับคลานขึ้นไปเฝ้า ความที่กล่าวข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์๓ ว่าครั้งหนึ่งท้าววิรุฬหกไปเฝ้าพระอิศวร เป็นเวลาพระอิศวรบรรทมหลับอยู่ แต่ท้าววิรุฬหกสำคัญว่าเสด็จออกพอขึ้นบันได เขาไกลาสคั่นหนึ่งก็กราบถวายบังคม ขณะนั้นมีตุ๊กแกตัวหนึ่งเกาะอยู่ที่วิมาน
พระอิศวร เห็นท้าววิรุฬหกหลงกราบเช่นนั้นนึกสนุก จึงแกล้งร้องให้เหมือนอย่างเสียงคนกระแอม ให้ท้าววิรุฬหกถวายบังคมทุกคั่นบันไดขึ้นไป ครั้นเท้าวิรุฬหกแลเห็นตัวรู้ว่าตุ๊กแกแกล้งลวงก็โกรธ จึงถอดสังวาลออกขว้างประหารตุ๊กแก เลยถูกเขาไกลาสเอียงไป ทศกรรฐ์รับอาสายกเขาไกลาสให้คืนคงตรงได้ดังเก่า พระอิศวรจึงประทานนางมณโฑให้เป็นบำเหน็จความชอบดังนี้
๒ พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงสังเกตเห็นก่อนผู้อื่น
๓ ปรากฏอยู่ในบทละคอนเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ เล่มสมุดไทยที่ ๔
แบบปราสาทหินเทวสถานของขอมที่ทำเป็นฐาน ๓ ชั้นบ้าง ๕ ชั้นบ้าง แล้วสร้างปรางค์ไว้ข้างบนดังกล่าวมาพิเคราะห์ดูเห็นว่าจะเป็นต้นเค้าของประเพณีการพระศพเจ้านาย ซึ่งยังทำกันทั้งในเมืองไทยแลเมืองเขมรจนทุกวันนี้ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เพราะพิจารณาดูรูปทรงเทวสถาน เช่นเทวสถานปักษีจำกรง ซึ่งกล่าวมาแล้วในที่อื่น ดูคล้ายโกษฐแลฐานแว่นฟ้าที่ตั้งพระศพเจ้านายประการ ๑ แลประเพณีแต่งพระศพเมื่อก่อนจะใส่โกษฐ ย่อมแต่งเป็นอย่างเทวดาด้วยอีกประการ ๑ ดูเข้ารอยกับคติ ที่ปรากฏในเรื่องตำนานการสร้างนครวัด ว่าเมื่อพระเจ้าสุริยวรรมันทิวงคตแล้วสมมตขึ้นเป็นเทวดา ถวายพระนามว่า "สมเด็จพระบรมพิษณุโลก" แลสร้างพระรูปเป็นองค์พระนารายณ์ประดิษฐานไว้ในปรางค์ใหญ่ยอดเทวสถานดังนี้ หรือประเพณีทำโกษฐพระศพพระเจ้าแผ่นดินแลเจ้านายเช่นกล่าวมา จะเกิดขึ้นแต่ครั้งเมื่อขอมเป็นใหญ่ในนครธมดอกกระมัง ความเห็นอีกอย่างหนึ่งนั้น เห็นว่าดูเหมือน ไทยจะเอาแบบอย่างเทวสถานของขอมไปแก้ไขใช้เป็นแบบอย่างสร้างพระปรางค์ แลพระสถูป ทางฝ่ายพระพุทธสาสนาด้วย ข้อนี้พิเคราะห์ดูเช่นปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองชเลียง (สวรรคโลก) ก็ดี เมืองพิษณุโลกก็ดี ในพระนครศรีอยุธยาก็ดี หรือแม้พระปรางค์ที่วัดระฆังใน กรุงเทพฯ ก็ดี ทำเป็นฐาน ๓ ชั้นรององค์ปรางค์ เช่นเดียวกับปราสาทหินเทวสถานของขอม เป็นแต่แก้ชั้นฐานให้แคบแลให้ทรงเรียวเข้า ส่วนพระสถูปนั้นตามแบบเดิมที่มาจากอินเดีย มักมีแต่ฐานทักษิณ ชั้นเดียว เช่น พระเจดีย์วัดบรมนิวาศ หรือทักษิณสองชั้น เช่น พระเจดีย์วัดบวรนิเวศน์ เกิดมีพระเจดีย์ไทยสร้างขึ้นครั้งราชวงศพระร่วงอีกอย่างหนึ่งทำเป็นฐาน ๓ ชั้นอย่างปราสาทหินของขอม แต่ข้างบนทำเป็นฐานเล็กมียอดทรงพุ่มเข้าบิณฑ์แทนปรางค์ พระเจดีย์ไทยอย่างนี้ยังมีอยู่ที่เมืองสุโขทัย เมือง สวรรคโลก เมืองกำแพงเพ็ชรแลเมืองตาก แต่หาปรากฏว่ามีในกรุงศรีอยุธยาไม่ เพราะมาถึง ชั้นกรุงศรีอยุธยาเอาแบบเจดีย์ไทยมาแก้เปลี่ยนตอนบนที่เป็นรูปพุ่มเข้าบิณฑ์ให้เป็นรูประฆัง อย่างพระเจดีย์อินเดีย แต่คงรูปฐานรอง ๓ ชั้นไว้ เป็นแต่แก้ทรงให้เรียวเข้าจึงกลายเป็นแบบพระเจดีย์เหลี่ยม ซึ่งสร้างกันมาจนในกรุงรัตนโกสินทร เช่น พระเจดีย์ทองที่หน้าปราสาทพระเทพบิดรใน วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น
ว่าถึงกระบวรลวดลาย พวกขอมก็ได้แบบมาแต่อินเดีย ครั้นเมื่อช่างขอมเชี่ยวชาญขึ้น จึงคิดแผลงจากลายอินเดียมาเป็นลายขอมเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ข้อนี้ได้พบสิ่งสำคัญเป็นอุทาหรณ์ เหมาะดี มีลายจำหลักศิลาทับหลังประตูของโบราณชิ้นหนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานเมืองพนมเพ็ญ เป็นลายอินเดีย ไปพบอีกชิ้นหนึ่งอยู่ที่คลังนครธมเป็นลายขอม แต่สังเกตได้ถนัดว่าแก้ไขมาจาก ลายเดียวกัน จึงถ่ายรูปศิลาทับหลังประตูทั้งสองชิ้นมาพิมพ์เทียบกันไว้ให้เห็นในหนังสือนี้ด้วย ลายจำหลักปราสาทหินเป็นเค้าเงื่อนให้เห็นคติของพวกขอมได้อีกอย่างหนึ่ง ว่าถือพระพุทธสาสนา แลสาสนาพราหมณ์ปะปนกัน ด้วยลายจำหลักมักชอบทำรูปภาพแลทำภาพในเรื่องที่มาจากอินเดีย เป็นพื้น ก็เรื่องที่มาจากอินเดียนั้น เรื่องในพระพุทธสาสนามิใคร่มีวัดถุที่จะทำรูปภาพมากเหมือน เรื่อง ในสาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องรามเกียรติ์แลเรื่องอื่นๆ ในคัมภีร์ปุราณะ อีกเป็นอันมาก ภาพที่ช่างขอมทำจึงมักเอามาแต่เรื่องในสาสนาพราหมณ์ใช้ทำเป็นเครื่องประดับทั้งวัด ในพระพุทธสาสนาแลเทวสถานในสาสนาพราหมณ์หารังเกียจไม่ เรื่องนี้ก็เลยเป็นแบบไปถึงเมืองไทย เช่นทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑที่หน้าบรรณโบสถ์ เป็นเครื่องหมายวัดซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง แลเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ในวัด เช่นที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น
ข้อ ๕ ได้กล่าวมาแล้วว่าปราสาทหินในแถวนครธมโดยฉเพาะที่เป็นปราสาทสำคัญ มักมีรอยขูดแก้ลวดลาย แปลงวัดเป็นเทวสถานบ้าง แปลงเทวสถานเป็นวัดบ้าง แลที่สุดแปลงเทวสถานพระอิศวรเป็นเทวสถานพระนารายณ์ก็มี การที่แปลงเช่นนั้นจะเป็นด้วยเหตุใด ข้อนี้ถ้ามิได้พิจารณา น่าจะลงเนื้อเห็นว่าเดิมผู้ปกครองบ้านเมืองนับถือสาสนาหนึ่ง ครั้นต่อมาพวกนับถือสาสนาอื่นได้ เป็นใหญ่ ก็ใช้อำนาจแปลงเจดียสถานให้กลายเป็นอย่างสาสนาของตนทำนองเดียวกับที่พวกเติ๊กแปลงวัดซันโซเฟียของพวกคริสตังในเมืองคอลสแตนติโนเปอลเป็นวัดในสาสนาอิสลาม เมื่อตีเมืองนั้น ได้จากพวกคริ๊ก แต่ในพงศาวดารเขมรหาปรากฏว่ามีเหตุเช่นนั้นไม่ เพราะพวกขอมถือด้วยกันทั้ง พระพุทธสาสนาแลสาสนาพราหมณ์ดังอธิบายที่กล่าวมาแล้ว สันนิษฐานว่าการแปลงเจดียสถาน เห็นจะเกิดขึ้นในสมัยเมื่อพวกขอมเสื่อมอำนาจลง รัฐบาลไม่มีกำลังพอจะบำรุงรักษาปราสาทหิน ซึ่งสร้างไว้ ณ ที่ต่างๆ บางแห่งซุดโซมลงจนถึงรกร้าง มีผู้ศรัทธาเข้ารับทำนุบำรุง แลผู้เข้ารับ ทำนุบำรุงถือสาสนาใดก็ปฏิสังขรณ์แก้ไขไปตามลัทธิสาสนาแลความศรัทธาของตน มิใช่ข่มเหง แย่งชิงเอามาจากพวกถือสาสนาซึ่งสร้างปราสาทหินแห่งนั้น ความที่กล่าวข้อนี้ยังมีตัวอย่างแลเห็นได้ ในปัจจุบันนี้ เช่น นครวัดเองเดิมก็สร้างเป็นเทวสถาน ครั้นสิ้นพวกถือศาสนาพราหมณ์ที่จะบำรุงรักษา พระสงฆ์ในพระพุทธสาสนาก็เข้ารับดูแล แลแปลงเป็นวัดในพระพุทธสาสนามาจนทุกวันนี้ การที่ แปลงวัดสาสนาหนึ่งเป็นสาสนาอื่น แม้ในเมืองไทยก็มีปรากฏมาแต่โบราณ จะยกพอเป็นตัวอย่าง เช่นเทวสถานแห่งหนึ่งในเมืองสุโขทัยชื่อว่า "ศิวายะ" แปลงเป็นวัดในพระพุทธสาสนายังเรียก "วัดศรีสวาย" อยู่จนทุกวันนี้ โรงสวดสาสนาคริสตังซึ่งเจ้าพระยาวิชเยนทร์สร้างไว้ในบ้านที่เมืองลพบุรี เดี๋ยวนี้ก็เป็นวัดในพระพุทธสาสนา แต่การที่แปลงๆ เมื่อเป็นที่ร้างไม่มีผู้ใดหวงแหนแล้วทั้งนั้น
เมื่อในข้อนี้อยากจะกล่าวความต่อไปอีกข้อหนึ่ง ด้วยในบันดาหนังสือซึ่งชาวต่างประเทศแต่งว่าด้วยนครวัดนครธมมักกล่าวว่าปราสาทหินเหล่านั้นสมบูรณ์มาจนไทยยกกองทัพลงไปตีได้ นครธม (เมื่อ พ.ศ.๑๙๗๕) ตั้งแต่นั้นก็ทิ้งรกร้างปรักหักพังมา ความที่กล่าวเหมือนหนึ่งใส่โทษไทย ว่าเป็นผู้ทำให้ปราสาทหินทั้งปวงชำรุดซุดโซม ผู้ที่กล่าวมิได้ศึกษาพงศาวดารเขมร ซึ่งมีเรื่อง ปรากฎอยู่ว่ากษัตริย์เขมรได้ย้ายราชธานีกว่า ๑๐ ครั้ง ถึงแม้ว่านครธมคงเป็นราชธานีอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อได้เห็นปราสาทหินซึ่งสร้างไว้ทั้งใหญ่น้อย มีมากมายหลายสิบแห่ง คิดดูก็จะเห็นได้ว่าการที่จะ รักษาให้สมบูรณ์อยู่ทั้งสิ้น จะยากแลจะต้องใช้เงินทองสักเพียงไรถึงไทยไม่ได้ลงไปตีเมืองเขมร ก็เห็นว่ากำลังเขมรหาพอจะรักษาให้สมบูรณ์อยู่ได้ไม่
ข้อ ๖ ปราสาทหินซึ่งขอมสร้าง ถ้าว่าโดยจำนวนนับรวมด้วยกันทั้งที่สร้างด้วยศิลา หรือแลงแลอิฐ ในแดนเขมรมีปราสาทหินราว ๖๐๐ แห่ง ในแดนไทยแลแดนลาวของฝรั่งเศส มีอีกประมาณ ๑๓๐ แห่ง ปราสาทหินทั้งปวงนี้ สร้างภายในระยะเวลา ๖๐๐ ปี นับตั้งแต่พุทธศักราชราว ๑๑๐๐ มาจนพุทธศักราช ๑๗๐๐ หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง คือ ตั้งแต่พวกขอมเริ่มมีอำนาจมาจนเสื่อมอำนาจลง ด้วยพวกพม่ามอญมาบุกรุกอาณาเขตก่อน แล้วไทยมาปราบปรามจนได้เมืองเขมรไว้ ในอำนาจ เมื่อพิจารณาดูปราสาทหินซึ่งมีอยู่แม้ในแถวนครธม แล้วคิดดูว่าสร้างแห่งหนึ่งๆ จะต้องใช้ แรงคนสักเท่าใด ดูเหลือที่จะประมาณ อย่างเช่นสร้างนครวัดเห็นจะต้องเกณฑ์จำนวนคนประจำ ทำงารนับด้วยหมื่น ให้ไปตั้งต่อยศิลาอยู่ที่เขาลิ้นจี่บ้าง ไปเที่ยวขุดหาแลงที่อื่นบ้าง เป็นพนักงารขนศิลาแลแลงมาจากที่นั้นๆ บ้าง ยังพวกคนยกขนขึ้นเรียบเรียง เป็นสมัยเมื่อยังไม่มีเครื่องจักรกลซึ่งจะช่วย แรงคน จะต้องใช้คนมากสักเท่าใดจึงจะพอแก่งาร เห็นจะต้องกะเกณฑ์คนตลอดจนถึงหัวเมือง ให้ผลัดเปลี่ยนเป็นเวรกันมาทำการสร้างปราสาทหินเหล่านี้เป็นนิจ เพราะฉะนั้นคิดดูก็พอเห็นได้ว่าจะต้องใช้อำนาจ สักเพียงใด แลไพร่พลที่ต้องกะเกณฑ์นั้นจะได้ความเดือดร้อนสักเพียงใด นครวัด นับว่าเป็นอนุสาวรีย์โบราณซึ่งใหญ่โตแลสง่างามอย่างที่สุดแห่งหนึ่งในโลกแต่เมื่อคิดถึงราคาที่ ท่านผู้สร้างต้องลงทุนก็น่าอนาถใจ ด้วยตามเรื่องพงศาวดารปรากฏว่า พอเสร็จสร้างนครวัดแล้ว ประเทศขอมก็สิ้นกำลัง ต่อมาไม่ช้านานเท่าใดก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของชาติอื่น
การเพิ่มเติมเนื้อความใหม่ในการพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๑
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ กระทรวงธรรมการได้จัดพิมพ์หนังสือนิราศนครวัดเพื่อใช้เป็นแบบเรียนวิชาวรรณคดีไทยของนักเรียนฝึกหัดครู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรง พระนิพนธ์เนื้อความใหม่ขึ้นต่อจากเนื้อความเดิม ๖ ข้อที่ทรงพระนิพนธ์เพิ่มไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๙ ดังปรากฏเนื้อความอยู่ใน สำเนาต้นฉบับสำหรับแทรกในนิราศนครวัด ซึ่งพิมพ์เผยแพร่อยู่ในภาคผนวกหนังสือ นิราศนครวัด (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๕) หน้า ๒๗๘-๒๘๐ ดังนี้
ข้อ ๗ (ความข้อนี้เขียนเพิ่มเมื่อชำระฉะบับจะพิมพ์ครั้งที่ ๓ ใน พ.ศ. ๒๔๘๑) ได้กล่าวมาในตอนพรรณนาว่าด้วยพิพิธภัณฑ์สถาน ณ กรุงพนมเพ็ญ ว่าในพิพิธภัณฑ์สถานนั้น มิใคร่มีของโบราณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ และพวกเขมรเขาว่าเพราะไทยกวาดเก็บมาเสียหมด ในเมืองเขมรจึงมีเหลืออยู่น้อย ข้อนี้ต่อมาเมื่อจัดพิพิธภัณฑ์สถานในรัชชกาลที่ ๗ ได้รวบรวม เครื่องทองสัมฤทธิ์ของโบราณอันมีอยู่ ณ ที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้มาเปนอันมาก ตั้งเรียบเรียงไว้เต็ม ห้องใหญ่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยทั้งหลัง แต่เมื่อพิจารณาดูเห็นมีแต่ของที่หล่อในประเทศสยามนี้ เปนแบบสมัยศรีวิชัยมาจากเมืองไชยาบ้าง แบบสมัยทวาราวดีมาจากทางเมืองอู่ทองบ้าง เปนแบบสมัยสุโขทัย เชียงแสน เชียงใหม่ และแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยมาก ของสัมฤทธิ์ที่เปนแบบเขมร เช่น เทวะรูปและของอื่นๆ คือเครื่องประดับราชรถและเครื่องประดับคานหามเปนต้น ที่ได้มาจากทาง เมืองนครราชสิมาทั้งนั้น ไม่ปรากฎว่ามีของได้มาจากเมืองเขมร นอกจากเทวะรูปเล็กๆ สักสองสามองค์ จึงตรวจดูในหนังสือพงศาวดาร มีปรากฎว่าไทยได้เอาของสัมฤทธิ์โบราณมาจากเมืองเขมร ๒ ครั้ง ครั้งแรกสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ตีได้เมืองนครธม เมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๖ ในพงศาวดารว่าโปรดให้ขนรูปสิงห์สัตว์ต่างๆ อันหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เข้ามายังพระนครศรีอยุธยาราว ๔๐ รูป ถวาย เป็นเครื่องพุทธบูชาไว้ ณ วัดมหาธาตุ รูปสิงห์สัตว์เหล่านั้นมีเรื่องต่อมาว่าอยู่ในพระนครศรีอยุธยา ๑๔๖ ปี ถึง พ.ศ. ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุธยา ให้ขนเอาไปเมืองหงสาวดีทั้งหมด ไปอยู่ที่นั่นอีก ๓๐ ปี ในพงศาวดารพะม่ากล่าวต่อไป ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๒ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงอพยพผู้คนทิ้งเมืองหงสาวดีหนีสมเด็จ พระนเรศวรไปอยู่เมืองตองอู พวกเมืองยักไข่ที่ยกไปช่วยพะม่า เห็นเมืองหงสาวดีร้างก็เข้าไปเก็บเอาทรัพย์สินแล้วเลยเผาปราสาทราชมณเฑียรกับบ้านเรือนในเมืองหงสาวดีเสียเกือบหมด ครั้นสมเด็จ พระนเรศวรเสด็จกลับมาแล้ว ทางโน้นพวกยักไข่จึงให้ขนเอารูปสัตว์ ที่พระเจ้าบุเรงนองได้ไปจากเมืองไทย เอาไปเมืองยักไข่ ถวายเป็นเครื่องพุทธบูชาไว้ ณ วัดพระมหามัยมุนีอันเปนพระพุทธรูปเมืองยักไข่ รูปสัมฤทธิ์เหล่านั้นไปอยู่ที่เมืองยักไข่อีก ๑๘๐ ปี ถึง พ.ศ. ๒๓๒๗ พระเจ้าปะดุงเมืองพะม่า (ที่มารบกับไทยในสมัยรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร) ตีได้เมืองยักไข่ ให้ชะลอพระพุทธรูปมหามัยมุนี แลขนรูปสัมฤทธิ์ที่พวกยักไข่ได้ไปจากเมืองหงสาวดี เอามาไว้ที่เมืองอมรยุรราชธานีที่สร้างใหม่ อยู่ที่นั่นมาอีก ๑๐๐ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๒๗ (ก่อนจะเสียเมืองพะม่าให้อังกฤษปี ๑) เกิดไฟไหม้วัดมหามัยมุนี รูปทองสัมฤทธิ์ถูกไฟละลายสูญเสียมาก ไปเห็นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ยังเหลือแต่รูปพระศิว (ชำรุด) ๒ องค์ รูปสิงห์เขมร (หัวหาย) ๓ หัว ยังอยู่บริบูรณ์ดีแต่รูปช้างเอราวัณตัวเดียว ที่ปรากฎว่าไทยเอาของเครื่องสัมฤทธิ์มาจากเมืองเขมรเปนครั้งที่ ๒ มีในพงศาวดารว่าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้รูปสิงห์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์กาหลั่ยทองมาจากเมืองบันทายมาศคู่ ๑ แล้วโปรดให้จำลองหล่อ รูปสิงห์เขมรเหมือนอย่างนั้นเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ ตัว รวมเปน ๑๒ ตัว ถวายเปนเครื่องพุทธบูชาไว้ใน วัดพระศรีรัตนศาสดารามยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ สิงห์คู่เดิมที่ได้มาจากเมืองเขมรนั้นยังตั้งอยู่ที่ เชิงบันไดประตูกลางทางเข้าพระอุโบสถด้านหน้า ถ้าใครพิจารณาจะเห็นคราบทองที่กาหลั่ย ยังติดอยู่ ทั้ง ๒ ตัว มีหลักฐานปรากฏว่าไทยได้เอารูปสัมฤทธิ์มาจากเมืองเขมรเพียง ๒ ครั้งเท่านี้
หนังสือนิราศนครวัดฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งกระทรวงธรรมการจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นแบบเรียน จึงนิยมใช้เป็นต้นฉบับในการพิมพ์หนังสือนิราศนครวัดในครั้งหลังๆ ต่อมาในการจัดพิมพ์หนังสือนิราศนครวัดโดยองค์การค้าของคุรุสภาใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงทำเชิงอรรถอธิบายความรู้เพิ่มเติมไว้โดยมิได้แก้ไขเนื้อความเดิมแต่อย่างใด นอกจากปรับแก้การเขียนสะกดคำการันต์ ให้เป็นตามแบบที่ใช้ในปัจจุบันเท่านั้น
ในการเสด็จไปเยือนกัมพูชาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับเรือสุทธาทิพย์ของบริษัทสยามสตีมนาวิเคชั่น เสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปยังกัมพูชา และประทับเรือวลัยเสด็จจากกัมพูชากลับมายังกรุงเทพฯ เรือที่ประทับทั้งสองลำนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลที่พบในเว็บไซต์ของ Wahoo Driving Center๑๘ และเว็บไซต์ Freedom Drive๑๙ รวมทั้งข้อมูลในวีดิโอ เรื่อง The Wreck of the Steamship Suddhadib, Her History, Diving and Marine Life. ได้ช่วยให้ทราบถึงประวัติของเรือที่ประทับทั้งสองลำ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
ปกแผ่นวิดิโอเรื่อง The Wreck of the Steamship Suddhadib, Her History, Diving and Marine Life
เรือสุทธาทิพย์ เป็นเรือกลไฟเหล็กของบริษัทสยามสตีมนาวิเคชั่น (Siam Steam Navigation) ซึ่งต่อขึ้นพร้อมกับเรือวลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยอู่ต่อเรือบริษัท Hong Kong & Whampoa Dock ที่ฮ่องกง เพื่อใช้เป็นเรือประกอบธุรกิจบรรทุกสินค้าและผู้โดยสารในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อเรือทั้งสองลำ คือ เรือสุทธาทิพย์และเรือวลัย ตั้งชื่อตาม พระนามของพระราชธิดา ๒ พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และเมื่อครั้งที่บริษัทนำเรือลงน้ำได้สร้างหุ่นเรือจำลองทั้งสองลำทำด้วยเงินขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ด้วย
๑๘ http://www.wahoodivingcenter.com/learnDetail.asp?id=54
๑๙ www.freedomdive.com/th/tip/suddhadib
เรือทั้งสองลำนี้เป็นเรือโดยสารระหว่างกรุงเทพกับหัวเมืองทางแหลมมลายูไปจนถึง เมืองสิงคโปร์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางกองทัพเรือไทยเรียกเรือทั้งสองลำเข้าไปช่วยราชการทำหน้าที่บรรทุกวัตถุปัจจัยและสัมภาระทางราชการ แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เรือวลัยโดนทุ่นระเบิดที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเสียหายอย่างหนักและจมลงในที่สุด ส่วนเรือสุทธาทิพย์นั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้รับคำสั่งให้ไปขนถ่ายน้ำมันและวัตถุปัจจัยต่างๆ ที่ประเทศสิงคโปร์ และนำมาขนถ่ายที่กรุงเทพฯ แต่เรือสุทธาทิพย์ไม่สามารถเข้ากรุงเทพฯ ได้เพราะมีระเบิดน้ำลึกที่บริเวณทางเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเปลี่ยนเส้นทางเข้าจอดที่ฐานทัพเรือสัตหีบเพื่อขนถ่ายปัจจัยต่างๆ ที่บรรทุกมา และจอดทอดสมอในอ่าวสัตหีบพร้อมกับเรือรบหลวงและเรือบรรทุกสินค้าลำอื่นๆ
ต่อมาไม่นานฐานทัพเรือสัตหีบถูกฝูงบินฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิดโจมตีอย่างหนัก เพื่อทำลายเรือรบหลวง ทางกองทัพเรือได้มีคำสั่งให้เรือทุกลำที่จอดอยู่ในอ่าวสัตหีบเคลื่อนย้ายออกไปจอดกระจายอยู่ด้านเหนือของเกาะจวง แต่ในที่สุดฝูงบินได้ทิ้งระเบิดใส่เรือสุทธาทิพย์ เป็นเหตุให้เกิดไฟลุกท่วมเรือเพราะน้ำมันที่บรรทุกมายังขนถ่ายไม่หมด และจมลงสู่ก้นทะเลในน่านน้ำระหว่างเกาะโรงโขนกับเกาะจวงในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ปัจจุบันเรือสุทธาทิพย์ที่จมลงสู่ก้นทะเลกลายเป็นเรือจมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักดำน้ำทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มีชื่อเรียกว่าเรือจมสุทธาทิพย์ หรือเรือจมฮาดีฟ (The Wreck of the Hardeep )
ภาพวาดเรือสุทธาทิพย์ที่จมอยู่ใต้ท้องทะเล
ที่มาของภาพ http://www.freedomdive.com/th/tip/suddhadib
ในการอ่านหนังสือนิราศนครวัด ถ้าผู้อ่านมีความคุ้นเคยหรือได้เคยศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับขอมหรือเขมรยุคโบราณมาก่อน จะทำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างสนุกสนานและเข้าใจชัดเจน ดังนั้นถ้าอ่านหนังสือนิราศนครวัดโดยไม่มีความรู้เรื่องเขมรโบราณมาก่อน ก็ควรหาความรู้และทำความรู้จักประเทศเขมรยุคโบราณเพิ่มเติมก็จะทำให้ได้รับความรู้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในรายงานฉบับนี้ได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรกัมพูชายุคโบราณโดยสังเขปเสนอไว้ด้วย
บทนำ
กัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับบ้านเมืองในดินแดน ที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันอย่างใกล้ชิดมายาวนาน ณ ดินแดนแห่งนี้ในอดีตคือราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่องรอยหลักฐานแห่งความยิ่งใหญ่และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในอดีตได้แก่ ซากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ไว้ โดยเฉพาะบรรดาปราสาทเขมรจำนวนมากที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทำให้ราชอาณาจักรกัมพูชามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ชาวโลกพากันใฝ่ฝันที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวชมอารยธรรมเขมรโบราณที่เมืองพระนคร (Angkor) อดีตราชธานีอันยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองสูงสุดในประวัติศาสตร์กัมพูชา และปราสาทนครวัดซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกประเภทสถาปัตยกรรมในยุคกลาง
ที่ตั้งและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของราชอาณาจักรกัมพูชา
ราชอาณาจักรกัมพูชา ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณตอนใต้ของแหลม อินโดจีน มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ราว ๑๘๑,๐๓๕ ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบแอ่งกระทะล้อมรอบด้วยเทือกเขา คือ เทือกเขาดงเร็ก ซึ่งทอดตัวเป็นแนวยาวกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาทางด้านเหนือ เทือกเขาคาร์ดาโมมหรือเทือกเขากระวาน ซึ่งกั้นเขตแดนไทยกับกัมพูชาทางด้านตะวันตก เทือกเขาอันนัม ซึ่งเป็นเขตกั้นแดนระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาทางตะวันออก และเทือกเขาช้างหรือเทือกเขาพนมดำเรยอยู่ทางใต้ นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ราบแอ่งกระทะยังมี แม่น้ำโขง (ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนเขาหิมาลัยในประเทศธิเบต ไหลผ่านจีน ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม ไปออกทะเลจีนใต้) ไหลจากตอนเหนือของประเทศผ่านเมืองกระแจะลงมายังกรุงพนมเปญ และไหลออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ตอนใต้ของประเทศเวียดนาม พื้นที่ตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบลุ่มดินตะกอน มีทะเลสาบใหญ่เป็นศูนย์กลาง และจากทะเลสาบใหญ่ยังมีแม่น้ำสาขาไหลลงไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงที่กรุงพนมเปญด้วย
การเชื่อมต่อถึงกันระหว่างทะเลสาบใหญ่กับแม่น้ำโขงทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติอันมหัศจรรย์ที่ส่งผลให้ทะเลสาบแห่งนี้กลายเป็นคลังอาหารธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดสิ้นของกัมพูชา และถือเป็นคลังอาหารธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกด้วย กล่าวคือในฤดูแล้งทะเลสาบแห่งนี้มีพื้นที่ราว ๒,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร แต่พอถึงฤดูฝนพื้นที่ของทะเลสาบขยายกว้างออกเป็นราว ๑๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรหรือกว้างขึ้นจากเดิมราวสี่เท่า เพราะต้องรองรับน้ำจำนวนมหาศาลที่มาทั้งจากน้ำฝนโดยตรงและน้ำที่เอ่อล้นมาจากแม่น้ำโขง (ในช่วงนี้เป็นช่วงที่หิมะบนเขาหิมาลัยละลายกลายเป็นน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง แต่แม่น้ำโขงไม่สามารถรองรับน้ำที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมาก น้ำไหลออกไปสู่ทะเลจีนใต้ไม่ทันจึงเอ่อล้นไหลย้อนผ่านแม่น้ำสาขาขึ้นไปสู่ทะเลสาบใหญ่) และในขณะที่น้ำจากลำโขงเอ่อล้นไหลย้อนขึ้นสู่ทะเลสาบ ก็จะมีปลานานาพันธุ์ว่ายตามกระแสน้ำขึ้นไปวางไข่ในทะเลสาบ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นบริเวณที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบก็กลายเป็นที่นาปลูกข้าวขนาดใหญ่ด้วย จนกระทั่งถึงปลาย ฤดูฝนน้ำในทะเลสาบก็จะค่อยๆ ลดลง เมื่อน้ำลดก็เป็นช่วงเวลาที่ข้าวออกรวงเก็บเกี่ยวได้พอดี ส่วนทะเลสาบที่มีขนาดลดลงเท่าเดิมก็จะเต็มไปด้วยปลานานาพันธุ์จำนวนมหาศาล ทะเลสาบใหญ่แห่งนี้จึงเป็นคลังอาหารธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในวิถีชีวิตของชาวเขมรมาแต่โบราณตราบจนปัจจุบัน
๒๐ เรื่องเล่าในนิราศนครวัด ตอนที่ ๕ เที่ยวดูปราสาทหิน ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และกษัตริย์กัมพูชาในยุคโบราณ ซึ่งท่านกล่าวถึงไว้ไม่มากนัก และที่สำคัญความรู้บางเรื่องที่ทรงกล่าวไว้นั้น ในปัจจุบันมีการปรับแก้และเปลี่ยนแปลงไปตามหลักฐานข้อมูลใหม่ที่ค้นพบในสมัยหลังๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถหาหนังสืออ่านประกอบได้ เช่น ประวัติเมืองพระนคร ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย จากหนังสือภาษาฝรั่งเศส เรื่อง Histoire d' Angkor ของ ศาสตราจารย์ Giteau และ เรื่อง "อาณาจักรขอม" ใน ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย จากหนังสือเรื่อง The Indianized States of Southeast Asia ของ ศาสตราจารย์ George Coedès นอกจากนี้ในระยะหลังๆ ยังได้มีการพิมพ์เผยแพร่ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เขมรยุคโบราณที่เป็นผลงานของนักวิชาการต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก (ดูรายละเอียดได้ในบรรณานุกรมท้ายเล่ม)
ที่มาและความหมายของชื่อประเทศและชนชาติ
กัมพูชา๒๑ ชื่อเรียกประเทศเขมรเป็นทางการคงจะมาจากคำว่า กัมพุช กัมพุเทศะ กัมพุชเทศะ และกัมพุชราชสตร ที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกเขมรโบราณ ทั้งหมดเป็นภาษาสันสกฤตที่มีคำว่า กัมพุ เป็นคำหลักเหมือนกัน นักวิชาการด้านเขมรศึกษาอธิบายกันว่า ชื่อเรียกประเทศแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบันคงจะมาจากชื่อมหาฤาษีกัมพุผู้ก่อตั้งบ้านเมือง เพราะมีเรื่องเล่าอยู่ในจารึกโบราณคือ จารึกปักษีจำกรง
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่าชื่อ กัมพุช อาจจะเกี่ยวข้องกับชาวกัมโพช (Cambojas) ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองกัมพุชหรือกัมโพช (Camboja) ทางตอนเหนือของอินเดีย
ส่วนคำว่า เขมร เป็นชื่อเรียกชนชาติมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกเขมรโบราณอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ และใช้เรียกสืบมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับที่มาและความหมายของคำว่า เขมร ที่ปรากฏอยู่ในจารึกนั้น มีข้อสันนิษฐานและแนวคิดของนักวิชาการด้านเขมรศึกษาที่แตกต่างกันออกไป เช่น เขมร อาจจะมาจากคำว่า เกมร ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในจารึกสมัยก่อนพระนครอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยพยัญชนะ ก กลายเสียงมาเป็น ข ซึ่งพบบ่อยๆ ในภาษาเขมร แต่ในพจนานุกรมเขมร-บาลีฉบับสถาบันพุทธศาสนาแห่งกรุงพนมเปญ อธิบายว่า เขมร มาจากคำว่า เขมระ (เข-มะ-ระ) ที่มาจากคำว่า เขมะโร (เข-มะ-โร) ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า ผู้มีความเกษม อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ ก็ได้รับการโต้แย้งจากนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์บางท่านว่า คำ เขมระ มีที่มาสับสนไม่ชัดเจน และที่สำคัญคำนี้ปรากฏขึ้นในสมัยหลังมาก คือราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕
ประวัติความเป็นมาของบ้านเมือง
การศึกษาประวัติความเป็นมาของดินแดนกัมพูชาได้เริ่มขึ้นโดยชาวตะวันตกเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หลังจากที่มีการพิมพ์เผยแพร่บันทึกการเดินทางในสยาม กัมพูชา และลาว ของนายอองรี มูโฮต์ (Henri Mouhot) นักธรรมชาติวิทยาฝรั่งเศสในหนังสือ การเดินทางรอบโลก (Tour du Monde) ทางการฝรั่งเศสจึงหันมาสนใจและเริ่มต้นศึกษาร่องรอยอารยธรรมที่มีอยู่ในดินแดนแห่งนี้อย่างจริงจัง โดยส่งนักวิชาการสาขาต่างๆ เข้ามาสำรวจศึกษาร่องรอยหลักฐานที่ยังหลงเหลืออยู่จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่เป็นศิลาจารึก โบราณวัตถุและโบราณสถาน หลังจากนั้นมาประวัติศาสตร์ดินแดนกัมพูชาก็ค่อยๆ กระจ่างชัดขึ้นเป็นลำดับ การศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบว่ากัมพูชาในอดีต เป็นดินแดนยิ่งใหญ่อันเก่าแก่และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีการลำดับยุคสมัยไว้ดังนี้
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ ปี – ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว)
มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในกัมพูชาหลายแห่ง ที่มีอายุเก่าสุดอยู่ในบริเวณถ้ำละอางสเปียน เขตพระตระบอง ซึ่งอาจจะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัย ก่อนประวัติศาสตร์เมื่อไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ส่วนที่มีอายุรองลงมา คือ แหล่งโบราณคดีมิมด (Mimot) ในเขตกำพงจาม เป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์อายุราว ๔,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว และที่มีอายุรองลงมาอีก คือ ที่สำโรงเสน เขตกำปงธม และลองพราว (เขมรเรียกว่าอันโลงผเดา) เขตกำปงชนัง ซึ่งเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคสำริดอายุราว ๓,๐๐๐ - ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว
จากหลักฐานโบราณคดีที่พบในแหล่งต่างๆ ข้างต้น นักโบราณคดีไม่สามารถบอกได้ว่าผู้คนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกัมพูชาเป็นใครมาจากไหน สันนิษฐานได้แต่เพียงว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาเมื่อราว ๖,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว คงจะมีวิถีชีวิตไม่ต่างไปจากคนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ในประเทศไทยและเวียดนาม คือ อาศัยอยู่ในถ้ำ รู้จักทำเครื่องมือหินและภาชนะดินเผาขึ้นใช้ ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์หาของป่า และตั้งแต่ราว ๔,๐๐๐ ปีลงมาจึงเริ่มตั้ง ถิ่นฐานรวมตัวเป็นหมู่บ้านขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่ม มีการสร้างบ้านใต้ถุนสูงเป็นที่อยู่อาศัย ดำรงชีพด้วยการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ (หมูและควาย) ใช้เครื่องมือหินที่พัฒนารูปแบบดีขึ้นกว่าเดิม ใช้เครื่องมือและเครื่องประดับทำจากสำริด และมีประเพณีการฝังศพ
๒๑ ชาวเขมรเรียกว่า กัมพูเจีย (Kampuchea ) ในประวัติศาสตร์กัมพูชา ชื่อประเทศที่เรียกเป็นทางการได้เปลี่ยนแปลงไปตามระบอบการ ปกครองด้วย แต่มีคำว่ากัมพูชาเป็นคำหลักเสมอ เช่น สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (People's Republic of Kampuchea) และ รัฐกัมพูชา (The state of Cambodia) ในปัจจุบันมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข ชาวเขมรจึงเรียกประเทศของตนว่า พระราชอาณาจักรกัมพูชา ส่วนชาวไทยเรียกกันทั่วไปว่า ประเทศเขมร และเรียกเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)
ต่อมาราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ยุคสำริดได้กระจายตัวลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในกัมพูชาตอนใต้๒๒ และเวียดนามใต้ และติดต่อค้าขายกับผู้คนต่างถิ่นโพ้นทะเลที่มาจากโลกตะวันตกและตะวันออก การติดต่อค้าขายนั้นส่งผลให้อารยธรรมต่างถิ่น โดยเฉพาะอารยธรรมอินเดียแพร่หลายเข้ามาในชุมชน และได้ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ และเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นบ้านเมืองใหญ่ เป็นแว่นแคว้น จนกระทั่งกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มีอำนาจทางการเมืองมั่นคงและมั่งคั่งด้วยอารยธรรมอันยิ่งใหญ่สืบมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ
แผนที่แสดงตำแหน่งแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในกัมพูชา
ที่มา : ปรับปรุงจากแผนที่ประกอบบทความเรื่อง Le Cambodge des origins ของ Maud GIRARD-GESLAN ตีพิมพ์ใน ANGKOR et dix siècles d’art khmer (Paris: Réunion des Musées Nationaux,1997), p.2
๒๒ เมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีโพรเฮีย (Prohear) เขตไพรเวง ทางตอนใต้ของกัมพูชา แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นที่ฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคสำริดและเหล็ก (อายุราว ๒,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว) ที่มีการติดต่อกับชุมชนภายนอกโพ้นทะเลที่มาจากโลกตะวันตกและตะวันออกอย่างกว้างขวางด้วย ดูรายละเอียดใน Andreas Reinecke, Vin Laychour, Seng Sonetra. The First Golden Age of Cambodia: Excavation at Prohear. (Cambodia: Embassy of the Federal Republic of Germany in Phnom Penh, 2009).
แผนที่ประเทศกัมพูชาแสดงตำแหน่งแหล่งโบราณคดีและเมืองโบราณสำคัญสมัยประวัติศาสตร์
ที่มา : ปรับปรุงจากแผนที่ประเทศกัมพูชาใน Madeleine Giteau , ANGKOR Un Peuple - Un Art (Fribourg: Office du Livre, 1976), p. 282
สมัยประวัติศาสตร์ แบ่งออกเป็น ๓ สมัย คือ
๑. สมัยก่อนพระนคร แบ่งย่อยเป็น ๒ ยุค คือ
๑.๑ สมัยฟูนัน (ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ – ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑)
ประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองฟูนัน ส่วนใหญ่ได้จากเรื่องเล่าในจดหมายเหตุจีน ซึ่งพอสรุปได้ว่า พระราชาองค์แรกของฟูนันเป็นชาวอินเดียมีนามว่าฮวนเถียน ซึ่งเดินทางโดยเรือจากอินเดียมาถึงดินแดนฟูนัน นางหลิวเหย่ผู้ปกครองฟูนันในเวลานั้นได้นำพลพรรคเข้าปล้นเรือของ ฮวนเถียน เขายิงธนูไปที่เรือของนาง ทำให้นางตกใจกลัวและยอมอ่อนน้อมเป็นภรรยาของเขา ต่อจากนั้นฮวนเถียนก็ได้เป็นพระราชาปกครองฟูนันและทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าแต่ก่อน หลังจากนั้นก็มีกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองสืบต่อมาอีกหลายพระองค์ เรื่องเล่าในจดหมายเหตุจีนดังกล่าวคล้ายกับนิทานพื้นเมืองของชาวเขมรที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มีพราหมณ์อินเดียซึ่งมีธนูวิเศษเดินทางมาถึงชายฝั่งทะเลของกัมพูชา ธิดาพญานาคได้พายเรือออกมาต้อนรับ แต่พราหมณ์ผู้นี้กลับใช้ธนูยิงมาที่เรือของนาง ทำให้นางตกใจกลัวและยินยอมแต่งงานด้วย พญานาคผู้เป็นบิดาจึงช่วยดื่มน้ำทะเลจนเหือดแห้ง และสร้างอาณาจักรให้ราชบุตรเขยปกครอง (ชาวเขมรเชื่อกันว่าบ้านเมืองของพวกเขาเป็นดินแดนแห่งนาค จึงนับถือบูชานาคว่าเป็นบรรพบุรุษของพวกตน)
ที่ตั้งบ้านเมืองฟูนัน นักโบราณคดีเชื่อว่าบ้านเมืองฟูนันคงจะอยู่แถบลุ่มน้ำโขง ในกัมพูชาตอนใต้และเวียดนามใต้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอังกอร์บอเรย (Angkor Borei) ในเขตจังหวัดตาแก้ว และมีเมืองออกแก้ว (ซึ่งอยู่ในเขตเวียดนามใต้ปัจจุบัน) เป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าขายกับต่างชาติ และในราวพุทธศตวรรษที่ ๙ -๑๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฟูนันเจริญสูงสุด ฟูนันคงจะเป็นรัฐใหญ่ที่มีอำนาจเหนือบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตเวียดนามใต้ แหลมมลายู ลาวตอนใต้ ที่ราบลุ่มน้ำโขง และอาจรวมถึงบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในบริเวณตอนใต้ของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย แต่อำนาจของฟูนันที่มีเหนือ บ้านเมืองดังกล่าวคงมิได้มั่นคงถาวร ตราบใดที่กษัตริย์ฟูนันทรงมีอำนาจยิ่งใหญ่ บ้านเมืองต่างๆ เหล่านั้นก็ยอมรับพระราชอำนาจของพระองค์ แต่เมื่อใดกษัตริย์ฟูนันอ่อนแอ บ้านเมืองที่เคยอยู่ในอำนาจก็พากันแยกตัวออกเป็นอิสระทันที ปัจจุบันมีข้อสันนิษฐานใหม่จากศาสตราจารย์ โคลด ชาร์ก (Claude Jacques) ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านจารึกชาวฝรั่งเศสว่า ฟูนันคงจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นในบริเวณตอนใต้ของกัมพูชาและเวียดนามใต้ปัจจุบันก่อน ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๘ จึงได้แผ่ขยายอำนาจออกไปตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยลงไปจนถึงคอคอดกระ และในราวปลายพุทธศตรรษที่ ๑๑ บ้านเมืองต่างๆ ที่เคยอยู่ใต้อำนาจฟูนันได้แยกตัวออกเป็นอิสระ หลังจากนั้นอำนาจฟูนันก็เสื่อมลง
การปกครองบ้านเมือง ฟูนันมีการปกครองโดยกษัตริย์ ในจดหมายเหตุจีนกล่าวถึง พระนามกษัตริย์ฟูนันหลายพระองค์ แต่พระนามกษัตริย์ในศิลาจารึกซึ่งค้นพบในประเทศกัมพูชามีเพียง ๒ พระองค์เท่านั้น และเป็นกษัตริย์สมัยปลายฟูนัน คือ
พระเจ้าโกณฑิณย-ชัยวรมัน (ราว พ.ศ. ๑๐๒๑ - ๑๐๕๗)
พระเจ้ารุทรวรมัน (ราว พ.ศ. ๑๐๕๗ - ๑๐๙๓) พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์โดยการแย่งราชสมบัติ ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและในที่สุดฟูนันก็เสื่อมอำนาจลง
การติดต่อกับต่างประเทศ ฟูนันเป็นรัฐที่มีการติดต่อทางการทูตกับจีน ฟูนันส่งคณะราชทูตพร้อมเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนหลายครั้ง ส่วนทางฝ่ายจีนก็ได้ส่งคณะทูตเข้ามายังฟูนันหลายครั้งเช่นกัน นอกจากนี้ฟูนันยังมีการติดต่อกับอินเดียด้วย
การตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองและระบบการจัดการน้ำ ชาวฟูนันตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลและที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งมีน้ำท่วมเสมอๆ ทำให้ชาวฟูนันมีความชำนาญในการขุดคลอง และรู้จักการจัดการเรื่องน้ำที่ค่อนข้างเป็นระบบ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการเกษตรกรรม (ปลูกข้าว) และเพื่อใช้เป็นเส้นทางการติดต่อกันระหว่างชุมชน มีการค้นพบร่องรอยของคูคลองที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายถึงกันในบริเวณพื้นที่รอบๆ เมืองอังกอร์บอเรย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของฟูนัน และบริเวณใกล้เคียง ไปจนถึงในเขตเวียดนามใต้ นักโบราณคดีเชื่อกันว่าร่องรอยคูคลองดังกล่าวคงจะเป็นเครือข่ายของระบบการจัดการน้ำและการคมนาคมในสมัยฟูนัน
เศรษฐกิจ เศรษฐกิจที่ทำให้ฟูนันเจริญรุ่งเรืองมาก คือการค้าทางทะเลกับนานาประเทศทั้งทางตะวันตกและตะวันออก โดยมีเมืองออกแก้วเป็นเมืองท่าและเป็นศูนย์กลางสำคัญ มีการค้นพบโบราณวัตถุต่างถิ่นที่เมืองออกแก้วเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่เป็นของโรมัน เปอร์เซีย อินเดียและจีน
ศาสนาและความเชื่อ ชาวฟูนันนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธที่แพร่หลาย มาจากอินเดีย มีการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธที่ทำขึ้น ในท้องถิ่น ทั้งหมดค้นพบแถบเขาพนมดาที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองอังกอร์บอเรย นักประวัติศาสตร์ศิลปะจัดประติมากรรมรูปเคารพที่พบเหล่านี้ไว้ในกลุ่มศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่สุด คือราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แม้จะมีรูปแบบศิลปะเป็นของตนเอง แต่ยังแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย ซึ่งสอดคล้องเป็นอย่างดีกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการนับถือศาสนาของฟูนันในจดหมายเหตุจีน
ส่วนศาสนสถานที่สร้างขึ้นในสมัยฟูนันนั้นยังไม่อาจระบุได้ชัดเจน แต่ถ้าพิจารณา รูปแบบของศาสนสถานบางแห่งที่พบบนเขาพนมดา เช่น ศาสนสถานประเภทถ้ำที่เจาะลึกเป็นคูหา เข้าไปในภูเขา และศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนไหล่เขา คือ อาศรมมหาฤาษี ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายกับสถาปัตยกรรมอินเดียใต้ รวมทั้งปราสาทอิฐขนาดเล็กที่อยู่ในถ้ำบนภูเขาหลายแห่งในเขตกำปอดทางตอนใต้ของกัมพูชา อาจสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบของศาสนสถานที่สร้างขึ้นในสมัยฟูนันได้
๑.๒. สมัยเจนละ (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ )
ประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองเจนละ ได้ข้อมูลจากจดหมายเหตุจีนเช่นเดียวกับฟูนัน ซึ่งพอสรุปได้ว่า เจนละเป็นบ้านเมืองที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของฟูนันมาก่อน แต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ บ้านเมืองฟูนันเกิดความวุ่นวายและค่อยๆ เสื่อมอำนาจลง ต่อมาในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เจนละจึงได้ยกทัพเข้าโจมตีและยึดครองฟูนันได้ หลังจากนั้นเจนละก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจแทนที่ฟูนัน เรื่องเล่าในจดหมายเหตุจีนดังกล่าวสอดคล้องสัมพันธ์กับหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบในกัมพูชา ในลาวตอนใต้ รวมทั้งในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย
ที่ตั้งของบ้านเมือง นักโบราณคดีเชื่อกันว่า เดิมนั้นศูนย์กลางของเจนละอาจจะอยู่บริเวณวัดภูแถบเมืองจำปาศักดิ์ในเขตตอนใต้ของประเทศลาวปัจจุบัน และหลังจากที่มีชัยชนะเหนือฟูนันแล้ว เจนละจึงได้ขยายอาณาเขตลงมาทางใต้ครอบคลุมบริเวณที่เป็นราชอาณาจักรกัมพูชาในปัจจุบันทั้งหมด และยังได้แผ่ขยายอำนาจเข้าไปยังดินแดนบางส่วนในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย
การปกครองบ้านเมืองและเหตุการณ์สำคัญ ข้อมูลในศิลาจารึกสมัยเจนละและ ในจดหมายเหตุจีน ทำให้ทราบถึงพระนามกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองและเหตุการณ์สำคัญๆ ดังนี้
พระเจ้าภววรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๐๙๓ - ?) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงทำให้เจนละยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากขึ้น โดยยกทัพเข้าโจมตีฟูนันและทรงได้รับชัยชนะ ทรงครองราชย์ที่เมือง ภวปุระ ซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่ที่บริเวณเมืองสมโบร์ไพรกุกทางตอนเหนือของทะเลสาบใหญ่ ในเขตกำพงธม
พระเจ้ามเหนทรวรมัน (ราว พ.ศ. ๑๑๔๓ - ๑๑๕๘) พระนามเดิมคือเจ้าชายจิตรเสน ผู้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการยกทัพเข้าตีฟูนันในรัชกาลก่อน พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองภวปุระสืบต่อจากพระเจ้าภววรมันที่ ๑ อาณาเขตของเจนละในรัชกาลนี้ครอบคลุมบริเวณเมืองจำปาศักดิ์ ในเขตลาวตอนใต้ บริเวณเมืองกระแจะและมงคลบุรีทางตอนเหนือของกัมพูชา และบริเวณชายแดนทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
พระเจ้าอิศานวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๑๕๘ - ๑๑๘๐) เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองอิศานปุระ ราชธานีที่พระองค์สร้างขึ้นในบริเวณเมืองสมโบร์ไพรกุก พระราชอำนาจของพระองค์แผ่ขยายลงไปถึงดินแดนตอนใต้ของกัมพูชาซึ่งเคยเป็นดินแดนฟูนันมาก่อนทั้งหมด และยังแผ่ขยายเข้ามาถึงภาคตะวันออกแถบจังหวัดจันทบุรีของไทย
พระเจ้าภววรมันที่ ๒ (ราว พ.ศ. ๑๑๘๐ - ?) เราไม่ทราบเรื่องราวของพระองค์มากนัก แต่ดูเหมือนว่าพระราชอำนาจของพระองค์ ยังคงครอบคลุมดินแดนต่างๆ เหมือนรัชกาลก่อน
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๑๙๘ - ๑๒๔๓ หรือหลัง พ.ศ.๑๒๕๓) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์พระราชอำนาจของพระองค์ยังมั่นคง เชื่อกันว่าราชธานีของพระองค์อาจตั้งอยู่บริเวณเมืองพระนคร แต่ในช่วงปลายรัชกาลพระราชอำนาจของพระองค์อาจจะไม่มั่นคงดังแต่ก่อน เพราะบ้านเมืองที่เคยอยู่ภายใต้พระราชอำนาจมาตั้งแต่รัชกาลก่อนๆ แยกตัวออกเป็นอิสระ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ คงจะไม่มีพระโอรส เพราะหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว ผู้สืบราชสมบัติสืบต่อมาเป็นสตรี คือพระนางชัยเทวี ซึ่งอาจจะเป็นพระมเหสีหรือพระธิดาของพระองค์เอง
พระนางชัยเทวี (ราว พ.ศ. ๑๒๕๖ - ?) เสด็จขึ้นครองราชย์ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองเกิดจลาจลและทรงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ บ้านเมืองแยกตัวออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจีนเรียกว่า เจนละบก มีอำนาจครอบครองดินแดนทางตอนเหนือของกัมพูชาขึ้นไปถึงบริเวณที่ราบสูงในประเทศลาวตอนใต้และประเทศไทยแถบเทือกเขาดงเร็ก เจนละบกมีการติดต่อกับจีนเรื่อยมาจนถึงราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ บ้านเมืองจึงเสื่อมลงเนื่องจากขาดผู้สืบราชสมบัติ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งจีนเรียกว่า เจนละน้ำ ครอบครองดินแดนที่เป็นราชอาณาจักรกัมพูชาในปัจจุบันเกือบทั้งหมด และรวมไปถึงที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงด้วย ต่อมาเจนละน้ำยังแบ่งแยกออกเป็นแคว้นเล็กๆ อีก ซึ่งแต่ละแคว้นต่างพยายามแยกตัวออกเป็นอิสระ และราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เจนละน้ำก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมหาราชจากจาวกะ ซึ่งเชื่อว่าคือชวาที่ยกทัพมารุกราน
การตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองและระบบการจัดการน้ำ บ้านเมืองสมัยเจนละมักตั้งอยู่ไม่ไกลจากภูเขาและแม่น้ำใหญ่ มีการจัดการน้ำโดยการสร้างอ่างเก็บน้ำรูปตัว U และขุดสระน้ำขึ้นในบ้านเมืองด้วยหลายแห่ง เช่น เมืองโบราณสมัยเจนละที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาวัดภู แขวงจำปาศักดิ์ในเขตลาวตอนใต้ และบริเวณที่ตั้งกลุ่มศาสนสถานสมโบร์ไพรกุก ในเขตกำพงธม
การติดต่อกับต่างประเทศ มีหลักฐานว่าเจนละสมัยพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ และ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ ได้ส่งคณะทูตไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ในสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมันและ พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ เจนละยังมีสัมพันธไมตรีที่ดีกับอาณาจักรจัมปา มีการเสกสมรสระหว่าง ราชตระกูลของอาณาจักรทั้งสองเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติด้วย
ศิลปะและความเชื่อทางศาสนา ร่องรอยหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุโบราณสถานสมัยเจนละ ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งที่เป็นศาสนสถาน ประติมากรรมรูปเคารพ และศิลาจารึก อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า บ้านเมืองเจนละมีการนับถือศาสนาพราหมณ์ทั้งลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย และศาสนาพุทธที่ สืบทอดมาจากฟูนัน
๒. สมัยพระนคร (ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – พุทธศตวรรษที่ ๒๐)
การก่อตั้งบ้านเมืองสมัยพระนคร สมัยพระนครถือเป็นยุคทองแห่งประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๓๓๓ - ๑๓๘๙) ปฐมกษัตริย์สมัยพระนคร พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์แห่งเจนละน้ำ ข้อมูลในจารึกสดกก๊อกธมทำให้ทราบว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒เป็นเจ้าชายเขมรที่ถูกจับไปชวาในฐานะตัวประกันเมื่อครั้งเจนละน้ำตกอยู่ภายใต้อำนาจของชวา พระองค์เสด็จกลับจากชวา และทรงทำการรวบรวมบ้านเมืองที่แตกแยกกันออกไปให้กลับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยการสร้างราชธานีขึ้นในที่ต่างๆ หลายแห่ง ที่สำคัญและมีชื่อเสียงรู้จักกันดี คือ เมืองหริหราลัย๒๓ และ มเหนทรบรรพต๒๔ ที่มเหนทรบรรพต พระองค์ทรงทำให้กัมพูชาเป็นอิสระพ้นจากอำนาจกษัตริย์ชวา ด้วยการประกอบพระราชพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และโปรดให้พราหมณ์ประกอบพิธีทางศาสนาที่เรียกว่าคือ “ลัทธิเทวราชา” ขึ้นด้วย การประกอบพิธีดังกล่าวทำให้พระราชอำนาจกษัตริย์เขมรมั่นคงโดยมีศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายเป็นรากฐานสำคัญ และทำให้มีการสร้างศาสนสถานประจำเมืองในรูปลักษณ์ที่เรียกว่า “ศาสนบรรพต”๒๕ ขึ้นในราชธานีเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของเทวราชา (คือศิวลึงค์สัญลักษณ์แห่งพระศิวะ) ต่อมาพระองค์ได้เสด็จกลับมาประทับอยู่ที่เมืองหริหราลัยจนสิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นเมืองหริหราลัยยังเป็นราชธานีที่ประทับของกษัตริย์เขมรสืบมาอีก ๓ รัชกาล ได้แก่
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๓ (พ.ศ. ๑๓๘๙ - ๑๔๒๐) เราไม่ทราบเรื่องราวของพระองค์มากนัก ข้อมูลในจารึกระบุแต่เพียงว่ากษัตริย์พระองค์นี้ทรงพระปรีชาสามารถในการคล้องช้าง
พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๒๐ - ๑๔๓๒) เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๑๔๒๐ และโปรดให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (๘๐๐ x ๓,๘๐๐ ตารางเมตร) ขึ้นทางตอนเหนือของเมืองหริหราลัย เพื่อใช้เก็บกักน้ำในฤดูฝน และใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งมหาสมุทรอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่คู่จักรวาลตาม ความเชื่อในศาสนา ต่อมายังโปรดให้สร้างปราสาทอุทิศถวายแด่บรรพบุรุษ (คือปราสาทพระโค) และ ศาสนบรรพตประจำราชธานี (คือปราสาทบากอง) เพื่อประดิษฐานราชศิวลึงค์อินทเรศวรด้วย การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและศาสนสถานเพื่ออุทิศถวายแด่บรรพบุรุษ รวมทั้งศาสนสถานประจำราชธานีในสมัยของพระองค์ ได้กลายเป็นราชประเพณีที่กษัตริย์สมัยพระนครทรงถือปฏิบัติสืบมา
๒๓ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองพระนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว ๑๕ กิโลเมตร
๒๔ เชื่อกันว่าตั้งอยู่บนเขาพนมกุเลนที่อยู่ทางตอนเหนือของเมืองพระนครในปัจจุบัน
๒๕ คือปราสาทเขมรที่สร้างขึ้นบนฐานที่ซ้อนเป็นชั้นๆ สูงลดหลั่นกันขึ้นไป ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเขาพระสุเมรุ
ในรัชกาลนี้ราชอาณาจักรกัมพูชาเริ่มยิ่งใหญ่และมั่งคั่งขึ้นกว่าเดิม อาณาเขตของบ้านเมืองครอบคลุมดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชาปัจจุบันทั้งหมด และยังขยายออกไปทางทิศ ตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะทางตะวันตกนั้นอำนาจทางการเมืองของพระองค์ได้ขยายกว้างออกไปถึงดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย
พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๓๒ - ๑๔๕๐) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้สร้าง ศาสนสถานเพื่ออุทิศถวายแด่บรรพบุรุษ (คือปราสาทโลเลย) ขึ้นกลางอ่างเก็บน้ำที่สร้างมาแต่ รัชกาลก่อน ต่อจากนั้นไม่นานพระองค์ก็ทรงย้ายไปประทับที่ “เมืองยโศธรปุระ” ราชธานีแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นบริเวณตอนเหนือของทะเลสาบใหญ่ ห่างจากเมืองหริหราลัยราชธานีเก่าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว ๑๕ กิโลเมตร
การสร้างเมืองยโศธรปุระ นักโบราณคดีเชื่อว่าการสร้างเมืองยโศธรปุระคงเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ลงก่อน การก่อสร้างทั้งหมดมาแล้วเสร็จในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ราชธานีแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองหริหราลัยราชธานีเก่าไปทาง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว ๒๕ กิโลเมตร และมีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ขอบที่ราบสูงพนมกุเลนลงมาถึงฝั่งด้านเหนือของทะเลสาบใหญ่๒๖ ลักษณะภูมิประเทศบริเวณเมืองพระนครมีความเหมาะสม อย่างยิ่งสำหรับการสร้างราชธานีอันเป็นศูนย์กลางทางการเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นศูนย์กลางทาง ศาสนาด้วย และตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบอันเป็นคลังอาหารธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดสิ้น มีแม่น้ำเสียมเรียบ ไหลจากเขาพนมกุเลน (ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองพระนคร) ผ่านเมืองพระนครออกไปยังทะเลสาบใหญ่ ทำให้สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อเก็บกักน้ำได้ตามที่ต้องการ พื้นที่สองฟากฝั่งของแม่น้ำ เสียมเรียบรวมทั้งที่ราบลุ่มรอบๆ ทะเลสาบใหญ่อุดมสมบูรณ์มาก สามารถทำการเพาะปลูกได้ดี นอกจากนี้ในบริเวณดังกล่าวยังมีภูเขาที่สามารถใช้เป็นศูนย์กลางของราชธานีอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนา ได้ถึง 3 แห่ง คือ เขาพนมโกรม พนมบก และพนมบาแค็ง ในบรรดาภูเขาทั้ง ๓ แห่ง เขาพนมบาแค็งได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางราชธานีแห่งใหม่สำหรับสร้างศาสนบรรพตประจำราชธานี เพราะไม่สูงจนเกินไป และพื้นที่โดยรอบเขาพนมบาแค็งน้ำท่วมไม่ถึง เหมาะเป็นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย
ราชธานีแห่งใหม่มีลักษณะทางกายภาพที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นราชธานีที่สร้างขึ้นตามความเชื่อในศาสนาอย่างแท้จริง กล่าวคือผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเชิงเทินดินและ คูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ซึ่งเปรียบเสมือนทิวเขาและแม่น้ำที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ เขาพนมบาแค็งซึ่งอยู่ใจกลางเมืองรวมทั้งศาสนบรรพตที่ตั้งอยู่บนยอดเขาคือสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุศูนย์กลาง แห่งจักรวาล อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (๑,๘๐๐ x ๗,๕๐๐ ตารางเมตร) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกค่อนไปทางเหนือของตัวเมือง ซึ่งมีชื่อระบุในจารึกว่า ยโศธรตฏากะ (ปัจจุบันเรียกบารายตะวันออก) คือสัญลักษณ์แห่งมหาสมุทรที่มีอยู่คู่จักรวาล
การเสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองยโศธรปุระ
พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๓๒ - ๑๔๕๐) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองยโศธรปุระ พระองค์ยังโปรดให้สร้างศาสนสถานบนเขาพนมโกรมและเขาพนมบก ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองห่างออกไปทาง ทิศตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ยังโปรดให้สร้าง “ยโศธราศรม” ขึ้นทางด้านใต้ของบารายตะวันออกด้วย อาศรมเหล่านี้เป็นที่อยู่ของนักบวชในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ โปรดให้สร้างขึ้นทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์ได้เป็นอย่างดี พระราชอำนาจของพระองค์แผ่ขยายไปกว้างไกลถึงเขตลาวตอนใต้ รวมทั้งภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
พระเจ้าหรรษวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๕๐ - ๑๔๖๖) พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะทรงพระเยาว์มาก จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเป็นพระปิตุลาของพระองค์เอง ในรัชกาลนี้มี การก่อสร้างปราสาทเพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดาพระราชมารดา (คือปราสาทปักษีจำกรง) และต่อมาในปี พ.ศ. ๑๔๖๔ คงจะเกิดปัญหาขึ้นภายในราชวงศ์ เพราะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เสด็จออกจากเมืองยโศธรปุระไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นใหม่ที่เกาะแกร์๒๗ ส่วนพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๑ ยังทรงครองราชย์อยู่ที่เมืองพระนครสืบมาอีก ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์
๒๖ ในบริเวณที่ตั้งเมืองยโศธรปุระมีการค้นพบร่องรอยของซากสิ่งก่อสร้างที่มีอายุเก่าแก่อยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันออกของเมือง ซึ่ง แสดงว่าบริเวณที่ตั้งเมืองพระนครเคยเป็นที่ตั้งบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร และอาจจะเป็นที่ตั้งเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ด้วย
๒๗ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองยโศธรปุระ (เมืองพระนคร) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑๐๐ กิโลเมตร ในหนังสือนิราศนครวัดเรียก สถานที่นี้ว่า “โฉกคดี”
พระเจ้าอิศานวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๔๖๖ - ๑๔๗๑) เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองยโศธรปุระสืบมาราว ๕ ปีก็สิ้นรัชกาล หลังจากนั้นเมืองยโศธรปุระก็หมดความสำคัญลง เพราะผู้ที่ประกาศตนเป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชาสืบมา ครองราชย์อยู่ที่เมืองเกาะแกร์
การตั้งราชธานีที่เกาะแกร์
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ (พ.ศ. ๑๔๗๑ - ๑๔๘๕) พระราชาองค์นี้คือผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์สมัยพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๒ และได้เสด็จออกจากเมืองไปประทับที่เกาะแกร์ เมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้าอิศานวรมันที่ ๒ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ก็ประกาศพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชาสืบมา แต่ไม่ได้เสด็จมาประทับที่เมืองพระนคร เกาะแกร์จึงกลายเป็นราชธานีแทนเมืองพระนคร ราชธานีแห่งนี้ มีสิ่งก่อสร้างสำคัญเช่นเดียวกับ ที่เมืองพระนคร คือ ศาสนบรรพตประจำราชธานี (ปราสาทเกาะแกร์) และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (ซึ่งเรียกกันว่ารหาลในปัจจุบัน) พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ครองราชย์อยู่ราว ๑๔ ปี ก็สิ้นพระชนม์
พระเจ้าหรรษวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๔๘๕ - ๑๔๘๗) เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๒ ปี ก็สิ้นรัชกาล
การย้ายราชธานีกลับคืนสู่เมืองยโศธรปุระ
พระเจ้าราเชนทรวรมัน (พ.ศ. ๑๔๘๗ - ๑๕๑๑) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์เสด็จมาประทับที่เมืองยโศธรปุระ และทรงทำให้เมืองยโศธรปุระกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ในฐานะราชธานี อีกครั้ง โดยเริ่มจากการบูรณะศาสนสถานที่สร้างขึ้นมาแต่ครั้งรัชกาลก่อนๆ เช่น ปราสาทปักษีจำกรง หลังจากนั้นจึงโปรดให้สร้างศาสนสถานอุทิศถวายแด่บรรพบุรุษของพระองค์ขึ้นที่กลางบารายตะวันออก (คือปราสาทแม่บุญตะวันออก) และศาสนบรรพตประจำราชธานี (คือปราสาทแปรรูป) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของเทวราชาผู้คุ้มครองราชธานีและราชอาณาจักร
ในรัชกาลนี้ทรงขยายพระราชอำนาจออกไปทางทิศตะวันตกเข้ามาถึงดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยปัจจุบันมากกว่ารัชกาลก่อนๆ และในตอนปลายรัชกาลพระองค์ทรง ยกกองทัพไปรุกรานอาณาจักรจัมปาและทรงได้รับชัยชนะด้วย ทรงครองราชย์จนถึงปี พ.ศ. ๑๕๑๑ ก็สิ้นพระชนม์
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (พ.ศ. ๑๕๑๑ - ๑๕๔๓) เสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่ ทรงพระเยาว์ จึงทำให้ขุนนางเก่าในราชสำนักมีอำนาจมาก โดยเฉพาะพราหมณ์ยัชญวราหะซึ่งเป็น พระอาจารย์ของพระองค์เอง สำหรับศาสนบรรพตประจำรัชกาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ โปรดให้สร้างขึ้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าคือปราสาทหลังใด นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปราสาทตาแก้ว แต่การก่อสร้างคงยังไม่ทันแล้วเสร็จก็สิ้นพระชนม์ลงก่อน ในรัชกาลนี้พระราชอำนาจได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมากขึ้น คือครอบคลุมพื้นที่บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม และนครราชสีมาในปัจจุบัน
พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๔ - ๑๕๔๕) เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเดียวก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นก็เกิดสงครามแย่งราชสมบัติระหว่างเจ้าชาย ๒ พระองค์ ผู้ที่ได้ชัยชนะในสงครามครั้งนี้ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองยโศธรปุระสืบต่อมา
พระเจ้าชัยวีรวรมัน (พ.ศ. ๑๕๔๕ - ๑๕๕๓) เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองยโศธรปุระได้ราว ๘ ปี ก็เกิดสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์อีกครั้ง ผู้ที่เคยพ่ายแพ้พระองค์ไปในการต่อสู้ครั้งแรกเป็น ผู้ชนะในครั้งหลังนี้ และได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๕ - ๑๕๙๓) นักวิชาการเชื่อกันว่าแม้พระเจ้า สุริยวรมันที่ ๑ ทรงพ่ายแพ้สงครามแย่งราชสมบัติที่เมืองพระนครในครั้งแรก แต่ก็ทรงประกาศพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยประทับอยู่ที่บริเวณชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยปัจจุบัน จึงได้พบศาสนสถานขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงเร็ก (คือปราสาทเขาพระวิหาร) ช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นรัชสมัยของพระองค์จึงตรงกับการเริ่มต้นรัชสมัย พระเจ้าชัยวีรวรมัน ต่อมาเมื่อทำสงครามแย่งชิงราชสมบัติอีกครั้งและทรงได้รับชัยชนะในปี พ.ศ.๑๕๕๓ จึงเสด็จมาครองราชย์ที่เมืองยโศธรปุระ ในระยะแรกพระองค์ทรงต้องปราบปรามจลาจลที่เกิดขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งพยายามแยกตัวออกไปจนราบคาบ ทรงทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างมาก พระราชอำนาจของพระองค์แผ่ขยายขึ้นไปถึงแคว้นจำปาศักดิ์ในลาวตอนใต้ ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันนอกจากบริเวณภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังแผ่ขยายเข้ามาถึงภาคกลางบริเวณจังหวัดลพบุรีด้วย
ในรัชกาลนี้โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงโดยมีกำแพงศิลาล้อมรอบ และโปรดให้บรรดา ขุนนางซึ่งในจารึกเรียกว่า “ตำรวจ” ทำพิธีสัตย์สาบาน และจารึกคำสัตย์สาบานไว้ที่กรอบประตูทางเข้าพระราชวังหลวง นอกจากนี้ยังโปรดให้สร้างศาสนบรรพตประจำราชธานี (คือปราสาทพิมานอากาศ) ไว้ภายในกำแพงพระราชวัง และทรงเริ่มสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งใหม่ขึ้นทางด้านตะวันตกของเมืองด้วย พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ทรงครองราชย์นานเกือบ ๕๐ ปีก็สิ้นพระชนม์
พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๕๙๓ - ๑๖๐๙) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรง สืบสานการสร้างอ่างเก็บน้ำ (บารายตะวันตก) ต่อจากรัชกาลก่อนจนแล้วเสร็จ และยังโปรดให้สร้าง ศาสนสถานขึ้นที่กลางอ่างเก็บน้ำด้วย (คือปราสาทแม่บุญตะวันตก) ศาสนสถานแห่งนี้มีลักษณะ ที่พิเศษมาก คือ ตัวศาสนสถานที่ประดิษฐานรูปเคารพ มีลักษณะเป็นเพียงเกาะที่มีสระน้ำอยู่ตรงกลาง และสระน้ำดังกล่าวนั้นคือที่ประดิษฐานรูปเคารพ ซึ่งมีทั้งศิวลึงค์และพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ขนาดใหญ่หล่อด้วยสำริด ด้วยรูปลักษณะทางสถาปัตยกรรมและการประดิษฐานรูปเคารพดังกล่าว ทำให้นักโบราณคดีฝรั่งเศสเชื่อว่า ปราสาทแม่บุญตะวันตกถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้บารายตะวันตกเป็นสัญลักษณ์แห่งมหาสมุทรอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่คู่จักรวาลอย่างแท้จริง สิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆ ในรัชกาลนี้ยังมีหลายแห่ง ที่เมืองยโศธรปุระราชธานี ได้แก่ ปราสาทบาปวนซึ่งเป็นศาสนบรรพตประจำรัชกาล ที่นอกเมืองยโศธรปุระทางด้านเหนือในบริเวณแหล่งต้นน้ำบนเขาพนมกุเลน และบนเขาพนมกบาล สเปียน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลผ่านลงมายังเมืองพระนครและบริเวณใกล้เคียง พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ โปรดให้สลักภาพเล่าเรื่องนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระศิวะและพระอุมาประทับเหนือโคนนทิไว้บนผนังผาหินริมฝั่งต้นน้ำ รวมทั้งรูปศิวลึงค์สัญลักษณ์แห่งพระศิวะนับพันองค์ที่บริเวณพื้นหินท้องน้ำ นักโบราณคดีเชื่อว่าการสลักภาพรูปเทพเจ้าและสัญลักษณ์ดังกล่าวขึ้น ก็เพื่อทำให้แหล่งต้นน้ำบนเขาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประทับของเทพเจ้าตามความเชื่อในศาสนา น้ำจากต้นน้ำที่ไหลลงมาสู่เมือง พระนครก็กลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเมือง
ในรัชกาลนี้เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมืองหลายครั้ง แต่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ทรงปราบปรามจนราบคาบ ทรงครองราชย์อยู่ ๑๖ ปี ก็สิ้นพระชนม์
พระเจ้าหรรษวรมันที่ ๓ (พ.ศ. ๑๖๐๙ - ๑๖๒๓) เสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นานกัมพูชาต้องทำสงครามกับอาณาจักรจัมปาและต้องเสียดินแดนรอบนอกทางทิศตะวันออกไป ในปี พ.ศ. ๑๖๑๙ ทางการจีนยังขอให้กัมพูชาส่งกองทัพไปช่วยจีนเข้ายึดครองแคว้นตังเกี๋ย แต่จีนกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หลังจากนั้นรัชกาลของพระองค์ก็สิ้นสุดลง
การเสด็จขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์แห่งราชวงศ์มหิธรปุระ
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ (พ.ศ. ๑๖๒๓ - ๑๖๕๐) ทรงเป็นต้นราชวงศ์มหิธรปุระที่ปกครองราชอาณาจักรกัมพูชา หลักฐานในจารึกทำให้ทราบว่ากษัตริย์พระองค์นี้ทรงสืบเชื้อสายมาจากขุนนางแห่งเมืองมหิธรปุระ ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อกันว่าคงจะตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลในเขตอีสานใต้ ของไทย เพราะได้ค้นพบสิ่งก่อสร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ รวมทั้งศิลาจารึกที่กล่าวถึงกษัตริย์แห่งราชวงศ์มหิธรปุระในบริเวณดังกล่าวหลายแห่ง เช่น ที่ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ในขณะที่ร่องรอยสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับพระองค์แทบไม่ปรากฏเลยในกัมพูชา พระองค์ครองราชย์อยู่ราว ๒๗ ปีก็สิ้นพระชนม์
พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๕๐ - ๑๖๕๖) เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๕ ปี ก็ถูกแย่งราชสมบัติไปโดยพระนัดดาของพระองค์เอง
พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๖๕๖ - ๑๖๙๓) กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงทำให้บ้านเมืองเรืองอำนาจที่สุดสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์กัมพูชา พระองค์ทรงยึดอำนาจจากกษัตริย์ พระองค์ก่อนซึ่งเป็นพระปิตุลาของพระองค์เอง เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงทำสงครามแผ่ขยาย อาณาเขตของบ้านเมืองออกไปกว้างไกลทั้งทางทิศตะวันตกและตะวันออก ทรงทำสงครามกับอาณาจักรจัมปาและยึดเมืองหลวงของพวกจามไว้ได้ ต่อจากนั้นได้ทรงฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับจีน ด้วยการส่งราชทูตไปยังจีนหลายครั้ง จักรพรรดิจีนทรงยอมรับและพระราชทานพระเกียรติอันสูงส่งแก่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ด้วย กษัตริย์พระองค์นี้ทรงทำสงครามขยายราชอาณาจักรจนวาระสุดท้าย แห่งพระชนม์ชีพ เชื่อกันว่ารัชกาลของพระองค์คงจะสิ้นสุดลงหลังจากที่ทรงปราชัยในการยกทัพเข้าโจมตีแคว้นตังเกี๋ย
พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ทรงทำให้ราชอาณาจักรกัมพูชาเรืองอำนาจยิ่งกว่าในสมัยก่อนมาก และทรงเป็นผู้สร้างความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรมให้แก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้วย ที่สำคัญที่สุด คือ ปราสาทนครวัด ศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดในศิลปะเขมร ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบรรดาสถาปัตยกรรมที่ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ศาสนสถานแห่งนี้เป็น ศาสนบรรพตประจำราชธานี มีแผนผังและลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นรูปสัญลักษณ์แห่งเขา พระสุเมรุอย่างแท้จริง พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ทรงเป็นกษัตริย์เขมรที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งต่างไปจากกษัตริย์เขมรองค์ก่อนๆ ที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย
พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ (ราว พ.ศ. ๑๖๙๓ - ๑๗๐๓) เสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นาน ก็สิ้นพระชนม์ แต่พระองค์ทรงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เนื่องจากทรงเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของกัมพูชา ข้อมูลหลักฐานในจารึกทำให้ทราบว่า พระเจ้า ธรณินทรวรมันที่ ๒ ทรงนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน และในรัชกาลนี้กัมพูชาทำสงครามกับอาณาจักรจัมปา พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ ทรงส่งพระโอรส คือเจ้าชายชัยวรมันไปเป็นแม่ทัพ ในการศึกครั้งนี้ และในขณะที่สงครามยังไม่ยุติ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ ก็สิ้นพระชนม์ลงก่อน
พระเจ้ายโศวรมันที่ ๒ (ราว พ.ศ. ๑๗๐๓ - ๑๗๐๘) เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา แต่พระราชอำนาจของพระองค์ไม่มั่นคงนัก และในที่สุดก็ถูกลอบปลงพระชนม์โดยขุนนางที่คิดกบฎ
พระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน (ราว พ.ศ. ๑๗๐๘ - ๑๗๒๐) คือขุนนางที่ลอบปลง พระชนม์พระเจ้ายโศวรมันที่ ๒ และเสด็จขึ้นครองราชย์แทน แต่ไม่นานกองทัพจามก็บุกโจมตีเมือง ยโศธรปุระและเข้ายึดเมืองได้ ในขณะสู้รบกับพวกจามพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมันก็ถูกปลงพระชนม์ บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในราชธานีได้ถูกทำลายลง สงครามครั้งนี้พวกจามได้ชัยชนะเหนือกัมพูชา อย่างเด็ดขาด บ้านเมืองต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพวกจามอยู่ ๔ ปี เจ้าชายชัยวรมันพระราชโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ จึงได้ปรากฏพระองค์ขึ้น และทรงขับไล่พวกจามออกไปจากแผ่นดินกัมพูชาจนหมดสิ้น พระองค์ทรงกอบกู้อิสรภาพของกัมพูชากลับคืนมา หลังจากนั้นก็เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชาสืบมา
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ - พ.ศ. ๑๗๖๑) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงนำบ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบสุข พร้อมกับพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง สมัยของพระองค์ถือเป็นสมัยแห่งความยิ่งใหญ่และเจริญสูงสุดครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรกัมพูชา อาณาเขตของบ้านเมืองแผ่ขยายกว้างไกลออกไปมากกว่ารัชกาลใดๆ ทรงยกทัพไปตีอาณาจักรจัมปา และทรงยึด ราชธานีของอาณาจักรจัมปาได้ หลังจากนั้นก็ทรงขยายพระราชอำนาจของพระองค์ขึ้นไปทางเหนือถึงเมืองซายฟองใกล้เมืองเวียงจันทน์ ในประเทศลาว ส่วนทางตะวันตกได้ขยายเข้ามาในดินแดนภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบันมากกว่ารัชกาลก่อนๆ คือขยายขึ้นไปถึงบริเวณจังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี
ที่เมืองยโศธรปุระซึ่งเป็นราชธานีนั้น สัญลักษณ์แห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองถูก พวกจามทำลายลงเมื่อครั้งตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรจัมปา พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงโปรดให้สร้าง ศาสนสถานขนาดใหญ่ขึ้นใหม่หลายแห่ง ได้แก่ ปราสาทบันทายกเด็ย (บันทายกุฎี) ปราสาทตาพรหม (เพื่ออุทิศถวายแด่พระราชมารดา) ปราสาทพระขรรค์ (เพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดา) ปราสาทนาคพัน (คือปราสาทกลางบารายชัยตฏากะหรือบารายเหนือ) ที่สำคัญยิ่งคือ ทรงสร้างราชธานีแห่งใหม่ขึ้นในบริเวณเมืองยโศธรปุระ ซึ่งเรียกกันว่า นครธมหรือพระนครหลวง และที่กลางราชธานีแห่งนี้โปรดให้สร้างศาสนบรรพตประจำราชธานี (คือปราสาทบายน) ขึ้นด้วย ส่วนในแว่นแคว้นต่างๆ รอบนอกที่ พระราชอำนาจของพระองค์แผ่ขยายไปถึง ก็โปรดให้ก่อสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ขึ้นอีกหลายแห่ง ที่สำคัญ ได้แก่ ปราสาทวัดนคร ปราสาทตาพรหมบาตี และปราสาทบันทายฉมาร์ ฯลฯ
นอกจากนี้พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ยังโปรดให้พัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองหลวงกับแว่นแคว้นรอบนอก ทรงสร้างถนนตัดตรงจากเมืองพระนครหลวงออกไปยังบรรดาแคว้นรอบนอกหลายสาย และได้โปรดให้สร้าง “บ้านมีไฟ” ขึ้นตามถนนสายต่างๆ ที่สร้างขึ้นด้วย ในจารึกปราสาท พระขรรค์ระบุว่า บ้านมีไฟที่สร้างขึ้นนี้มีถึง ๑๒๑ แห่ง นอกจากนี้ยังทรงเอาพระทัยใส่ต่อสุขภาพอนามัยและความเจ็บป่วยของประชาชน ดังปรากฏหลักฐานในจารึกปราสาทตาพรหมว่า ในรัชกาลนี้มีโรงพยาบาล ๑๐๒ แห่ง ตั้งอยู่ในราชธานีและในแว่นแคว้นต่างๆ ที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ สำหรับในประเทศไทยมีการค้นพบร่องรอยของถนนโบราณที่ตัดจากเมืองพระนครหลวงตรงมายังเมืองพิมายในเขตจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งร่องรอยหลักฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในสมัยของ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอีกเป็นจำนวนมาก
ในรัชกาลนี้ได้มีการการปรับปรุงระบบเครือข่ายการจัดการน้ำของบ้านเมืองขึ้นใหม่ต่างไปจากสมัยก่อน มีการขุดลอกสระน้ำใหญ่ที่มีมาก่อน (คือสระสรง) มีการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นใหม่ทางตอนเหนือของเมือง (คือบารายเหนือ) ซึ่งมีชื่อระบุไว้ในจารึกว่า “ชัยตฏากะ” คูเมืองขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นล้อมรอบศาสนสถาน รวมทั้งคูเมืองที่ล้อมรอบราชธานีล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายการจัดการน้ำที่สร้างขึ้นในสมัยนี้ด้วย ส่วนในบริเวณแว่นแคว้นรอบนอกที่มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน ก็มีการสร้าง สะพานหินข้ามแม่น้ำขึ้นหลายแห่ง เพื่อใช้เป็นทั้งสะพานข้ามแม่น้ำและเป็นเขื่อนกั้นน้ำด้วย นอกจากนี้ยังมีการขุดคลองส่งน้ำหลายสายตัดตรงจากแหล่งน้ำไปยังพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งมีอยู่ทั่วราชอาณาจักร
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พระองค์เป็นกษัตริย์เขมรที่ทรงนับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายานเช่นเดียวกับ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ พระราชบิดา ดังนั้นสิ่งก่อสร้างในสมัยพระองค์จึงเป็นพุทธสถานทั้งสิ้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า รัชกาลของพระองค์สิ้นสุดลงเมื่อใด นักวิชาการเชื่อกันว่าน่าจะเป็นปี พ.ศ. ๑๗๖๑ และหลังจากที่สิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แล้ว อำนาจการเมืองของราชอาณาจักรกัมพูชาที่เคยแผ่ขยายออกไปไกลก็เสื่อมลงทันที บ้านเมืองและแว่นแคว้นที่ตั้งอยู่รอบนอกพากันแยกตัวออกเป็นอิสระ ที่สำคัญในเวลานั้นมีแว่นแคว้นของคนไทยหลายแห่งได้เรืองอำนาจขึ้นด้วย อย่างไรก็ดีที่เมืองพระนครหลวงราชธานียังคงเจริญรุ่งเรือง และมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อมาอีกหลายพระองค์ คือ
พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ (ราว หลัง พ.ศ. ๑๗๖๓ - ๑๗๘๖) ทรงเป็นพระโอรสของ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ระยะหนึ่ง กองทัพมองโกลจากจีนได้ยกทัพเข้ารุกรานกัมพูชา เนื่องจากกษัตริย์แห่งไดเวียดได้ร้องเรียนไปยังกุบไลข่านแห่งมองโกลที่ขึ้นปกครองประเทศจีนว่า ถูกรุกรานจากกัมพูชาบ่อยครั้ง แม้ว่าการรุกรานของมองโกลครั้งนั้นจะไม่มีผลอะไรมากนัก แต่ทางราชสำนักกัมพูชาก็ยินดีส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังจีน
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ (พ.ศ. ๑๗๘๖ - ๑๘๓๘) พระราชาองค์นี้ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดให้ก่อสร้างศาสนสถานเนื่องในศาสนาฮินดูขึ้นที่เมือง พระนครหลวงหลังหนึ่ง (คือปราสาทมังคลารถ) ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทเขมรหลังสุดท้ายที่สร้างขึ้นในกัมพูชา นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าในรัชกาลนี้คงจะมีการทำลายภาพสลักพระพุทธรูปตาม ศาสนสถานที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เนื่องจากพบว่าบรรดาภาพสลักพระพุทธรูปที่ประดับอยู่ตามศาสนสถานที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้ถูกกะเทาะทำลายหรือดัดแปลงเปลี่ยนรูปไปหมดสิ้น พระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ทรงครองราชย์อยู่นานถึง ๕๒ ปี ก็สละราชสมบัติ และโปรดให้ราชบุตรเขยครองราชย์สืบต่อมา
พระเจ้าศรีนทรวรมัน (พ.ศ. ๑๘๓๘ - ๑๘๕๐) พระองค์ทรงเป็นราชบุตรเขยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ในรัชกาลนี้ทางจีนได้ส่งคณะทูตเดินทางมากัมพูชา เพื่อทวงเครื่องราชบรรณาการจากกษัตริย์เขมรด้วย๒๘ พระเจ้าศรีนทรวรมันทรงครองราชย์อยู่ ๑๒ ปี ก็ทรงสละราชสมบัติให้แก่พระญาติของพระองค์
พระเจ้าศรีนทรชัยวรมัน (พ.ศ. ๑๘๕๐ - ๑๘๗๐) ในรัชกาลนี้ศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในบ้านเมือง ในปี พ.ศ. ๑๘๕๒ มีการสร้างจารึกภาษาบาลีในศาสนาพุทธลัทธิ เถรวาทขึ้นเป็นครั้งแรกในกัมพูชา โดยพระราชาองค์ก่อนที่ทรงสละราชสมบัติไป จารึกหลักนี้กล่าวถึงการสร้างวิหารและพระพุทธรูป พระเจ้าศรีนทรชัยวรมันทรงครองราชย์อยู่ราว ๒๐ ปี ก็สิ้นรัชกาล
พระเจ้าชัยวรรมาทิปรเมศวร (พ.ศ. ๑๘๗๐ - ?) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาที่มีพระนามปรากฏในจารึกภาษาสันสกฤตหลักสุดท้าย ค้นพบที่เมืองกบิลปุระซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทนครวัด แต่เราไม่ทราบว่าพระองค์ครองราชย์อยู่นานเท่าใด หลักฐาน ที่มีอยู่ทำให้ทราบเพียงว่าในปี พ.ศ. ๑๘๗๓ พระเจ้าชัยวรรมาทิปรเมศวรทรงส่งคณะทูตไปจีน และในปี พ.ศ. ๑๘๗๘ พระองค์ทรงส่งคณะทูตไปเวียดนามด้วย
การสิ้นสุดของเมืองพระนคร
หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรรมาทิปรเมศวรแล้ว ประวัติศาสตร์ของกัมพูชาที่ได้จากจารึกภาษาสันสกฤตก็สิ้นสุดลง ยังไม่มีการค้นพบจารึกภาษาสันสกฤตที่มีอายุหลังจากนี้อีกเลย ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรกัมพูชาต่อนี้ไป ได้ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ซึ่งมีเรื่องราวเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๘๙ โดยกล่าวถึงพระนามกษัตริย์หลังสิ้นพระชนม์แล้วว่า นิรวาณบท ซึ่งไม่ปรากฎหลักฐานว่าพระองค์ทรงเกี่ยวดองกับพระเจ้าชัยวรรมาทิปรเมศวรอย่างไร ต่อจากนั้นก็กล่าวถึงกษัตริย์ ที่ครองราชย์ที่เมืองพระนครหลวงสืบมา รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองจนกระทั่งมีการ ละทิ้งเมืองพระนครหลวงไปตั้งราชธานีแห่งใหม่ในบริเวณทางใต้ลงมา ซึ่งพอสรุปเหตุการณ์สำคัญได้ดังนี้
พ.ศ. ๑๘๘๙ – ๑๘๙๔ พระลำพงราชา พระราชบุตรของพระเจ้านิรวาณบทครองราชย์อยู่ที่เมืองพระนคร
พ.ศ. ๑๘๙๕ กองทัพจากอยุธยาเข้ายึดครองเมืองพระนคร
พ.ศ. ๑๘๙๖ – ๑๙๐๐ อยุธยาส่งเจ้าชายไทย ๒ พระองค์ไปปกครองเมืองพระนคร
พ.ศ. ๑๙๐๐ – ราว พ.ศ. ๑๙๑๓ พระเจ้าสุริยวงศ์ราชาธิราช พระอนุชาของพระ ลำพงราชาเข้ายึดเมืองพระนครคืนได้และเสด็จขึ้นครองราชย์
พ.ศ. ๑๙๑๓ พระเจ้าบรมราม พระโอรสของพระลำพงราชาเสด็จขึ้นครองราชย์
พ.ศ. ๑๙๑๓ – ๑๙๓๖ พระเจ้าธรรมโศกราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์
พ.ศ. ๑๙๓๖ กองทัพอยุธยาเข้ายึดเมืองพระนครได้ พระเจ้าธรรมโศกราชาธิราช ถูกปลงพระชนม์
๒๘ หนึ่งในคณะทูตคนหนึ่งที่เดินทางมาราชอาณาจักรกัมพูชาครั้งนั้น คือ จิวตากวน เจ้าของบันทึกความทรงจำที่ปัจจุบันกลายเป็น หลักฐานเอกสารสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีและอารยธรรมเขมร
พ.ศ. ๑๙๓๖ – ก่อน พ.ศ. ๑๙๔๗ พระอินทรราชา พระราชโอรสในสมเด็จ พระราเมศวรแห่งอยุธยาเสด็จขึ้นครองราชย์แทน แต่ไม่นานพระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์โดย พญาญาติ
พ.ศ. ๑๙๔๘ - ๑๙๗๔ พญาญาติ (เจ้าพ้นหัวญาติ) เสด็จขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุริยวรมัน ทรงครองราชย์อยู่ระยะหนึ่ง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ทรงยกกองทัพจาก กรุงศรีอยุธยาเสด็จไปตีเมืองพระนครและทรงได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นพญาญาติได้ละทิ้งเมืองพระนครหลวงไปประทับอยู่ที่เมืองบาสาณ ในเขตศรีสันถารหรือศรีสันธอร์ แต่เนื่องจากเมืองบาสาณตั้งอยู่ในที่ลุ่ม ฤดูน้ำน้ำท่วมเมือง จึงไม่เหมาะที่จะตั้งเป็นราชธานี จึงโปรดให้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองจตุรมุข (คือเมืองพนมเปญในปัจจุบัน)
สภาพบ้านเมืองสมัยพระนคร ข้อมูลจากจารึกทำให้ทราบว่า ชาวเขมรสมัยพระนคร เรียกตนเองว่า กัมพุช และเรียกชื่อประเทศว่า กัมพุชเทศะ หรือ กัมพุเทศะ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น แต่ในบันทึกจิวตากวน เรียกประเทศนี้ว่า เจินละ หรือ จ้านละ (เหมือนกับที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนยุคก่อนๆ) และเล่าว่าประเทศนี้เรียกตนเองว่า “กานป้อจื้อ” ซึ่งคงจะหมายถึงกัมพุชนั่นเอง ส่วนเรื่องตำแหน่งที่ตั้งและลักษณะบ้านเมืองกัมพูชา รวมทั้งสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในบ้านเมือง จิวตากวนเล่าไว้สอดคล้องกับสภาพเมืองพระนครหลวงและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีอยู่จริง แต่ในส่วนพระราชวังที่ประทับ ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือหลักฐานให้เราได้เห็น จิวตากวนก็ได้บรรยายให้เห็นถึงความงดงามของพระราชวัง ได้ชัดเจน เช่น “พระราชวังอยู่ทางทิศเหนือของปราสาททองคำกับสะพานทองคำ...กระเบื้องมุงหลังคาพระที่นั่งที่ประทับทำด้วยตะกั่ว นอกนั้นใช้กระเบื้องสีเหลืองทั้งสิ้น”
กษัตริย์และระบบการปกครองบ้านเมืองสมัยพระนคร หลักฐานจากจารึกและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โตที่ยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมากสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กษัตริย์เขมรมี พระราชอำนาจสูงสุด ศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ราชธานี กษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพทันทีหลังจากที่ทรงราชาภิเษกแล้ว และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วกษัตริย์ทุกพระองค์จะได้รับพระนามที่บ่งชี้ว่าทรงเป็นเทพเจ้าด้วย ระบบราชการและสังคมขึ้นอยู่กับกษัตริย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอินเดีย แต่ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม
ส่วนระบบบริหารราชการแผ่นดินของกัมพูชา มีตำแหน่งข้าราชการระบุไว้ในจารึกหลายตำแหน่ง ตั้งแต่ เสนาบดี ขุนพล โหร และข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการระดับต่างๆ เหล่านี้มีเครื่องยศต่างๆ กัน เช่น มีคานหามที่มีคานประดับด้วยทองหรือเงิน และมีกลดกั้นที่มีด้ามทำด้วยทองหรือเงิน เป็นต้น
ระบบการจัดการน้ำสมัยพระนคร มีการค้นพบร่องรอยของแหล่งน้ำขนาดต่างๆ ที่สร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งในเมืองพระนครและเมืองอื่นๆ หลายแห่ง ที่มองเห็นได้ชัดเจนคือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า “บาราย” การสร้างบาราย คือการยกเขื่อนดินให้สูงขึ้นทั้งสี่ด้านเพื่อเก็บกักน้ำไว้และป้องกันการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกด้วย การสร้างระบบการจัดการน้ำในระยะแรก คงจะทำตามแบบชวา คือ สร้างคันดิน ๓ แนวให้ต่อกันเป็นรูปตัว U ขวางทางน้ำที่ไหลลงมาจากแหล่งต้นน้ำบนภูเขาเพื่อเก็บกักน้ำ แต่วิธีการดังกล่าวคงแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ไม่นาน จึงมีการพัฒนาขึ้นเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีคันเขื่อนยกสูงปิดกั้นไว้ทั้งสี่ด้าน และมีการปรับปรุงแก้ไขเรื่อยมา เช่น บารายอินทรตฏากะ ที่เมืองหริหราลัยสามารถเก็บน้ำได้ราว ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เมืองพระนคร ได้แก่ บารายตะวันออกสามารถเก็บน้ำได้ราว ๓๖ - ๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร บารายตะวันตกสามารถเก็บน้ำได้ราว ๔๒ - ๗๒ ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีการขุดสระน้ำขึ้นตามศาสนสถานอีกหลายแห่ง รวมทั้งคูน้ำล้อมรอบศาสนสถานขนาดใหญ่ เช่น ที่ปราสาทนครวัดซึ่งเก็บกักน้ำได้ราว ๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งหมดคือระบบเครือข่ายของการจัดการน้ำทั้งสิ้น การพัฒนาระบบการจัดการน้ำดังกล่าว คงมุ่งประโยชน์ในการเพาะปลูกเป็นหลัก และใช้เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาด้วยในขณะเดียวกัน ต่อมาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงได้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดการน้ำเพิ่มขึ้น มีการขุดบารายพระขรรค์ (ชัยตฏากะ) ซึ่งเก็บกักน้ำได้ราว ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีการขุดคูขนาดใหญ่ล้อมรอบเมืองพระนครหลวงที่สร้างขึ้นใหม่เก็บกักน้ำได้ราว ๕ ล้านลูกบาศก์เมตร และขุดคลองเชื่อมถึงกันภายในเมือง นอกจากนี้ที่แว่นแคว้นรอบนอกยังมีการสร้างสะพานหินข้ามแม่น้ำขึ้นหลายแห่ง สะพานเหล่านี้ก่อขึ้นอย่างมั่นคงแข็งแรง เพราะทำหน้าที่เป็นทั้งสะพานข้ามแม่น้ำและเป็นเขื่อนสามารถปิดหรือเปิดประตูน้ำได้ตามต้องการ มีการขุดคลองส่งน้ำหลายสายตัดตรงจากแหล่งน้ำใหญ่ไปยังพื้นที่ปลูกข้าว ร่องรอยของระบบชลประทานที่สร้างขึ้นเหล่านี้ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียม
ระบบการจัดการน้ำดังกล่าวมีประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างมาก เพราะแม้ว่าบ้านเมืองจะตั้งอยู่ในเขตมรสุมที่มีฝนตกชุก แต่ก็ตกเพียงครึ่งปีเท่านั้น ส่วนอีกครึ่งปีไม่มีฝนเลย ดังนั้นจึงต้องจัดสร้างระบบการจัดการน้ำโดยใช้ความลาดเอียงของพื้นที่ สร้างอ่างเก็บกักน้ำที่มีมากในฤดูฝน และระบายออกไปตามสระและคูคลองที่สร้างขึ้นตามที่ต่างๆ เพื่อไว้ใช้ในฤดูแล้ง
ลักษณะทางสังคม ประเพณี และวัฒนธรรมเขมรสมัยพระนคร แม้หลักฐานจากจารึกจะไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณีและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขมรสมัยพระนครมากนัก แต่เราอาจศึกษาจากบันทึกของจิวตากวนได้เกือบทุกเรื่อง แม้บันทึกนี้ได้เขียนขึ้นในสมัยพระนครช่วงปลาย แต่ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงภาพรวมของบ้านเมืองสมัยพระนครที่มั่งคั่ง รวมทั้งวิถีชีวิตของผู้คนในราชสำนักและชาวบ้านทั่วไป ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างสำคัญเป็นบางเรื่องเท่านั้น เช่น
ประเพณีในราชสำนัก การเสด็จออกของพระราชา จิวตากวนเล่าว่า
“ข้าพเจ้าได้พำนักอยู่ที่นั่นปีเศษ ได้เห็นพระองค์เสด็จออกนอกพระราชวังสี่ห้าครั้ง เมื่อเสด็จออกมีกองทหารแน่นขนัดนำหน้า ขบวนธงทิวและขบวนดุริยางค์ตามมาข้างหลัง หญิงชาววังตั้งแต่ ๓๐๐ ถึง ๕๐๐ คน นุ่งผ้ายกดอก ผมประดับดอกไม้ มือถือเทียนเล่มใหญ่ รวมกันเป็นขบวนหนึ่งโดยเฉพาะ แม้เป็นเวลากลางวัน ก็จุดเทียนนั้น มีขบวนหญิงชาววังทั้งหมดเชิญเครื่องราชูปโภค ทำด้วยเงินและทองคำ และพระเครื่องที่ตกแต่งมีลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาใช้ทำอะไรบ้าง ยังมีหญิงชาววัง ถือหอกกับโล่เป็นทหารฝ่ายใน เป็นอีกขบวนหนึ่งโดยเฉพาะ มีรถเทียมแพะ รถเทียมม้า ประดับประดาด้วยทองคำทั้งสิ้น พวกขุนนางและเจ้านายขึ้นช้างอยู่เบื้องหน้ามองดูไกลๆ เห็นสัปทน สีแดงนับจำนวนไม่ถ้วน ต่อมาก็เป็นพระมเหสีกับพระสนม บ้างนั่งสีวิกา บ้างนั่งเกวียน บ้างก็ขึ้นช้าง บ้างก็ขี่ม้า มีกลดประดับทองคำร้อยกว่าคัน เบื้องหลังคือพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่บนหลังพระคชาธาร พระหัตถ์ทรงถือพระขรรค์กายสิทธิ์ งาของพระคชาธารสวมปลอกทองคำ มีฉัตรสีขาวประดับทองคำ ๒๐ กว่าคัน ล้วนแต่ด้ามทำจากทองคำทั้งนั้น ทั้งสี่ด้านห้อมล้อมด้วยช้างมากมายแน่นขนัด มีทหารม้าคอยรักษาพระองค์โดยทั่วไป การเสด็จพระราชดำเนินจะต้องเชิญพระสถูปและพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไปด้วย ผู้ที่ยืนเฝ้าชมพระบารมีอยู่เบื้องหน้าจะต้องคุกเข่าลงกับพื้นทำเบญจางคประดิษฐ์ มิฉะนั้นจะต้องถูกพนักงานพิธีการจับกุมตัวและจะไม่ปล่อยตัวไปเปล่าๆ เป็นอันขาด
แต่ละวันพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกว่าราชการ ๒ ครั้ง การว่าราชการไม่มีระเบียบที่แน่นอน ขุนนางและราษฎรที่ประสงค์จะเข้าเฝ้า ล้วนนั่งเรียงรายอยู่กับพื้นคอยเสด็จ ชั่วครู่จะมีเสียงดนตรีประโคมดังแผ่วๆ มาจากข้างใน ข้างหน้าก็จะเป่าสังข์รับเสด็จ ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้ราชยานทองคำคันเล็กและเสด็จมาจากที่ไม่ไกลนัก สักครู่จะเห็นนางกำนัล ๒ คน ใช้มืออันเรียวเล็กและสวยงามม้วนพระวิสูตรขึ้น และพระเจ้าแผ่นดินก็ปรากฏพระองค์ประทับยืนระหว่างช่องพระบัญชรทองคำ พระหัตถ์ถือพระขรรค์ บรรดาขุนนางและราษฎรต่างพนมมือ จรดศีรษะลงกับพื้น เมื่อสุดเสียงสังข์แล้วจึงจะยอมให้เงยศีรษะขึ้นได้ จากนั้นพระเจ้าแผ่นดินก็จะประทับนั่งที่พระราชอาสน์มีหนังราชสีห์หนึ่งผืน ซึ่งเป็นของแผ่นดินอันล้ำค่าตกทอดสืบกันมา เมื่อทรงว่าราชการเสร็จแล้วก็ทรง หันพระวรกายกลับ นางกำนัลทั้งสองก็ปล่อยพระวิสูตรให้ห้อยลงมา บรรดาคนทั้งปวงก็ลุกขึ้น ดังนี้เราจะเห็นว่าแม้จะเป็นอาณาจักรของชนชาติป่าเถื่อน แต่เขาก็ยังแสดงให้เห็นว่า พระราชาคืออะไร”
ระบบสังคม สังคมเขมรเป็นตามระบบสังคมอินเดีย มีวรรณะต่างๆ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ พ่อค้า กสิกรและช่าง แต่ระบบสังคมเขมร วรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์เป็นชนชั้นปกครอง บุคคลใน ๒ วรรณะดังกล่าวแต่งงานกันได้ ประชาชนทั่วไปเป็นกรรมกรและทาส คนเหล่านี้ไม่มีหน้าที่ทางการเมือง ไม่มีความสำคัญในสังคมและมีชีวิตที่เรียบง่าย
งานพิธีในเทศกาลต่างๆ จิวตากวนได้เล่าถึงว่าพิธีกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในแต่ละเดือนที่น่าสนใจ เช่น งานฉลองเทศกาลปีใหม่ตอนช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เขาเล่าว่า
“เบื้องหน้าพระราชวังปลูกร้านใหญ่ไว้ ๑ ร้าน บรรจุคนได้ราวพันกว่าคน ตามประทีปโคมไฟและประดับประดาด้วยดอกไม้ ข้างหน้าร้านนั้นห่างออกไป ๒๐ จ้าง ใช้ไม้ต่อกันเป็นร้านสูงรูปลักษณะคล้ายร้านที่ใช้ในการสร้างสถูป มีความสูงราว ๒๐ จ้าง แต่ละคืนเขาจะปลูกร้านสามสี่หรือ ห้าหกร้าน บนร้านเหล่านั้นเขาเอาดอกไม้ไฟและประทัดไปวางไว้ ซึ่งในการนี้ทางเมืองต่างๆ ในความปกครองและตามบ้านเรือนของขุนนางเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย พอตกค่ำก็กราบทูลเชิญพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร เขาก็จุดดอกไม้ไฟและประทัดขึ้น ดอกไม้ไฟนั้นแม้จะอยู่ห่างนอกระยะ ๑๐๐ ลี้ก็มองเห็นได้ทั่วทุกคน ส่วนประทัดใหญ่เท่ากับปืนยิงศิลา เสียงดังสะเทือนไปทั่วทั้งนคร พวกขุนนางและเจ้านายแต่ละคนได้รับแจกเทียนเล่มใหญ่และหมาก สิ้นค่าใช้จ่ายไปมาก พระเจ้าแผ่นดินทรงเชิญพวกราชทูตไปชมด้วยเหมือนกัน”
ส่วนงานพิธีอื่นๆ จิวตากวนเล่าว่า “แต่ละเดือนจะต้องมีงานใดงานหนึ่ง เช่น เดือน ๔ ทิ้งลูกกลม เดือนเก้าเป็นงานเอียละ คืองานชุมนุมราษฎรทั่วประเทศให้เข้ามาในนครแล้วเดินให้ตรวจแถวผ่านหน้าพระราชวัง เดือน ๕ เป็นงานสรงน้ำพระพุทธรูปทั้งที่อยู่ใกล้และไกล แล้วนำเอาน้ำที่สรงพระพุทธรูปนำมาถวายพระเจ้าแผ่นดินสรงน้ำ และมีงานแล่นเรือบนบก ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จประทับทอดพระเนตรอยู่บนพลับพลาสูง เดือน ๗ เป็นงานเผาข้าว ในขณะนั้นข้าวใหม่สุกแล้ว เขานำเอาข้าวออกไปนอกทวารด้านทิศใต้แล้วเผาเป็นพุทธบูชา มีสตรีนั่งเกวียนและขึ้นช้างพากันไปชมนับจำนวนไม่ถ้วน
แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่เสด็จพระราชดำเนิน เดือน ๘ เป็นงานไอหลาน คือการ ฟ้อนรำ เขากำหนดตัวนักแสดงและพวกดนตรีไว้ แต่ละวันให้ไปร่ายรำกันในพระราชวัง และยังมีงาน กัดหมูชนช้าง พระเจ้าแผ่นดินทรงเชิญพวกราชทูตไปชมด้วยเหมือนกันเป็นอยู่ดังนี้ถึง ๑๐ วัน…”
อาชีพและการทำมาหากิน มีการทำนาไร่และการค้า การทำนาไร่ จิวตากวนบันทึกว่า “โดยทั่วไปที่เมืองพระนคร เขาทำนาเก็บเกี่ยวได้ถึงปีละ ๓ หรือ ๔ ครั้ง...” ทั้งนี้คงเป็นเพราะระบบเก็บกักน้ำที่เมืองพระนครมีประสิทธิภาพและได้รับพัฒนามาโดยตลอด รวมทั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติมหัศจรรย์ที่ทะเลสาบใหญ่ ก็มีส่วนอย่างสำคัญต่อการเพาะปลูกข้าวที่ทำได้ปีละหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีผลิตผลที่เป็นทรัพยากรจากป่าและภูเขาอีกมากมาย ที่ได้จากสัตว์ คือ งาช้างและช้าง นอแรด ขนนกกระเต็น ขี้ผึ้ง ผลิตผลจากพืชป่า คือ กรักขี กระวาน รง ครั่ง น้ำมันกระเบา พริกไทย สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชามาแต่ยุคโบราณจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๕
ส่วนด้านการค้า จิวตากวนบันทึกไว้ว่า "“การค้าขายของชาวพื้นเมืองสตรีเป็นผู้มีความเจนจัด เมื่อคนจีนไปถึงที่นั่นต้องเริ่มด้วยการมีภรรยา เพื่อถือเอาประโยชน์จากความถนัดจัดเจนในการซื้อขายของสตรีเหล่านั้น ทุกวันเขาจะติดตลาด ๑ ครั้ง เริ่มแต่ ๔ โมงเช้าถึงบ่ายโมงก็เลิก ตลาดหามีร้านรวงซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยไม่ แต่เขาใช้พวกเสื่อที่ฟูปุกปุยลาดลงกับพื้น แต่ละคนมีที่ทางของตนเอง ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ต้องเสียค่าเช่าที่ให้ทางการ ในการซื้อขายเล็กๆ น้อยๆ เขาใช้ธัญชาติสินค้าที่มาจากเมืองจีน ถัดขึ้นมาก็ใช้ผ้า ถ้าเป็นการซื้อขายรายใหญ่ๆ ก็ใช้เงินตรา”
โรคภัยไข้เจ็บของประชาชน จิวตากวนเล่าว่า โรคภัยที่ชาวเมืองเป็นกันมากมีอยู่ทั่วไปตามถนนหนทางคือ โรคเรื้อน เคยมีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงประชวรด้วยโรคนี้ด้วย ซึ่งมักเชื่อกันว่า คือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นอกจากนี้จิวตากวนยังกล่าวถึงโรคที่ทำให้คนล้มตายได้ คือ “ผู้ที่เป็นโรคบิดมักจะตายเสีย ๘ ถึง ๙ ใน ๑๐ คน ยารักษาโรคมีขายตามตลาดแต่เป็นยาคนละประเภทกับยาของ เมืองจีน ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ว่าเป็นสิ่งของอะไร ยังมีบุคคลจำพวกพ่อมด หมอผีรักษาคนป่วย ดูแล้วน่าขันนัก”
จะเห็นได้ว่าบันทึกของจิวตากวนช่วยให้มองเห็นภาพอดีตที่มีชีวิตของบ้านเมืองสมัย พระนครได้เป็นอย่างดี เรื่องราวในบันทึกนี้แม้จะเป็นสิ่งที่จิวตากวนได้พบเห็นในสมัยปลายพระนคร แต่ก็สะท้อนถึงภาพรวมของความเป็นเมืองพระนครอดีตราชธานีไว้ได้เกือบหมด โดยเฉพาะความยิ่งใหญ่ของพระราชาและความสง่างามของราชสำนักเขมรสมัยพระนคร
๓. สมัยหลังพระนคร๒๙ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา)
หลังจากที่ละทิ้งเมืองพระนครแล้ว พระเจ้าสุริยวรมันโปรดให้ย้ายราชธานีลงมาตั้งที่เมืองบาสาณ (ศรีสันธอร์) ในบริเวณที่ราบลุ่มน้ำโขง แต่พอฤดูน้ำเกิดน้ำท่วมเมืองจึงโปรดให้ย้ายมาที่เมืองจตุรมุข (คือเมืองพนมเปญในปัจจุบัน) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณลำน้ำสี่แยก จุดรวมของแม่น้ำโขง แม่น้ำทะเลสาบและแม่น้ำป่าสัก มีกษัตริย์ปกครองสืบมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๐๘๑ กษัตริย์เขมรทรงพระนามว่า พระบรมราชาที่ ๒ (นักองค์จันหรือเจ้าพญาจันท์) โปรดให้ย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองละแวก หลักฐานที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารเขมรและบันทึกของชาวยุโรปที่เคยเดินทางเข้าไปในกัมพูชาทำให้ทราบว่า กษัตริย์กัมพูชาพยายามฟื้นฟูบ้านเมืองให้รุ่งเรือง และทำการติดต่อค้าขายกับโลก ภายนอกอย่างกว้างขวาง มีพ่อค้าชาวต่างประเทศจำนวนมากเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองละแวกและพนมเปญ เมืองละแวกเป็นราชธานีสืบมาจนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งอยุธยายกทัพเข้าตีเมืองละแวกแตกใน พ.ศ. ๒๑๓๖ กษัตริย์กัมพูชาองค์ต่อมาคือสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณซึ่งประทับอยู่ ณ เมืองลวาเอม (โลเวียเอม) และในปี พ.ศ. ๒๑๖๒ สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณจึงเวนราชสมบัติให้พระไชยเชษฐาพระราชบุตร และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมเด็จพระไชยเชษฐาจึงโปรดให้ย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองอุดงค์มีชัยใกล้ๆ กับเมืองละแวก หลังจากนั้นบ้านเมืองได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นสืบมา ในบันทึกของพ่อค้าชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกัมพูชาในเวลานั้น ยังกล่าวถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของผู้นำกัมพูชาจากการค้าทางทะเลกับชาวต่างชาติ ซึ่งมีทั้งชาวยุโรป ชาวจีนและชาวมาเลย์ แต่ต่อมาคนต่างชาติเหล่านี้ได้เข้าไปยุ่งกับการเมืองภายในราชสำนักที่แบ่งออกเป็นฝักฝ่าย และวางแผนโค่นล้มกันเอง หลังจากนั้นมากัมพูชาก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลง เนื่องจากรัฐที่ทรงอำนาจสองชาติในเวลานั้นคือไทยและเวียดนาม ได้พยายามแทรกแซงการเมืองภายในกัมพูชา
๒๙ ผู้สนใจสามารถอ่านรายรายละเอียดเพิ่มเติมใน Chandler David, A History of Cambodia. Boulder. Colorado: West-view Press, 1972. หรือ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ. (กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ๒๕๔๐), หน้า ๑๑๔ -๓๘๒.
ต่อมาราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ซึ่งเป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่หมายยึดครองดินแดนอินโดจีน ฝรั่งเศสเริ่มเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในกัมพูชาเนื่องจากสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) ผู้ครองกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๔๐๓ ได้ร้องขอความช่วยเหลือไปยังฝรั่งเศสให้ช่วยถ่วงดุลระหว่างไทยและเวียดนาม จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๐๗ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนโรดม (พระองค์ราชาวดี) กัมพูชาก็ตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส โดยมีกษัตริย์เขมรปกครองบ้านเมืองภายใต้การกำกับของฝรั่งเศส และมีการย้ายราชธานีจากเมืองอุดงค์มีชัยกลับมาอยู่ที่กรุงพนมเปญอีกครั้ง เพราะฝรั่งเศสต้องการให้พนมเปญเป็นศูนย์กลางการค้า กัมพูชา ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมายาวนาน จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ฝรั่งเศสจึงคืนอิสรภาพให้แก่กัมพูชา หลังจากนั้นประเทศกัมพูชาก็เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่กัมพูชาประสบปัญหาการเมืองภายในประเทศมาโดยตลอด ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ สภาพสังคมและวัฒนธรรมเขมรสมัยหลังพระนคร ได้เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากยุคสมัยพระนครไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง การปกครอง ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ผู้นำกัมพูชาในสมัยหลังพระนครนับถือศาสนาพุทธลัทธิเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของกัมพูชาสืบมาตราบจนทุกวันนี้
การค้นพบเมืองพระนคร: ดินแดนแห่งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่
จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมืองพระนครเป็น ราชธานีที่มีอายุยาวนานและเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรกัมพูชา ร่องรอยของสิ่งก่อสร้างและศาสนสถานที่ยังเหลืออยู่แสดงให้เห็นว่า เมืองพระนครมิได้เป็นเพียงศูนย์กลางการปกครองแต่เพียงอย่างเดียว หากเป็นศูนย์กลางทางศาสนา ศิลปะและอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรกัมพูชาด้วย แต่หลังจากที่ถูกละทิ้งไปในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมืองพระนครก็กลายสภาพเป็นป่าที่มีต้นไม้น้อยใหญ่ ขึ้นปกคลุมมากมาย ซากของเมืองพระนครหลวงรวมทั้งปราสาทหินน้อยใหญ่จำนวนมากถูกซ่อนอยู่ใน ป่าทึบจนไม่มีใครรู้จักแม้แต่ชาวเขมรในกัมพูชา จนกระทั่งราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซากอดีตเมือง พระนครก็ถูกค้นพบโดยชาวเขมรเอง เรื่องราวการค้นพบครั้งนี้ปรากฏอยู่ในบันทึกของชาวโปรตุเกส คือ นายดิโอโก ดู กูโต (Diogo Do Couto) ที่เคยเดินทางเข้าไปในกัมพูชา เขาเล่าไว้ในบันทึกว่า ราว พ.ศ.๒๐๙๓ หรือ ๒๐๙๔ พระราชาเขมรได้เสด็จเข้าไปล่าช้างในป่าทึบซึ่งมีอยู่ทั่วพระราชอาณาจักร ทหาร ของพระองค์ได้ค้นพบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่มหึมา แต่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ภายในอย่างแน่นหนาและไม่สามารถ เข้าไปได้ พระองค์จึงรับสั่งให้ทหารตัดต้นไม้และเผาทำลายพงหญ้าออกให้หมด เพื่อที่จะเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรข้างใน การหักร้างถางพงครั้งนั้นต้องใช้ทหารราวห้าถึงหกพันคน หลังจากนั้นได้โปรดให้ ฟื้นฟูสถานที่แห่งนั้นขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชาด้วย
ต่อมาราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เรื่องราวของเมืองพระนครเริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในโลกตะวันตกมากขึ้น โดยชาวต่างประเทศที่เคยเดินทางเข้ามาในกัมพูชา เริ่มจากบาทหลวงชาวสเปน ชื่อ กาเบรียล กิโรกา เดอ ซาน อันโตนิโอ (Gabriel Quiroga de San Antonio) ได้จัดพิมพ์บทความ “เรื่องความเป็นจริงในราชอาณาจักรเขมร” ขึ้นในประเทศสเปน บทความนี้ถือเป็นบทความแรกที่มี การกล่าวแนะนำให้ชาวยุโรปรู้จักเมืองพระนครของชาวเขมรว่า เป็นเมืองที่สร้างขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์ แต่บอกว่าเป็นเมืองที่ชาวโรมันสร้างขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๒๕๘ นักแสวงบุญชาวญี่ปุ่นได้เขียนแผนผังของปราสาทนครวัดไว้ด้วย (ปัจจุบันแผนผังนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดประเทศญี่ปุ่น)
ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ บาดหลวงชาวฝรั่งเศส ชื่อเชอเวรย (Chevreil) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเมืองพระนครและศาสนสถานที่มีอยู่ในบริเวณเมืองพระนครว่า เป็นที่นับถือของชาวเขมรเทียบเท่ากับที่ชาวโรมันคาธอลิกนับถือวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม และยังกล่าวถึงปราสาทนครวัด ไว้ว่า ปราสาทนครวัดมีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่ว ๕-๖ ราชอาณาจักรใหญ่ๆ เช่นเดียวกับกรุงโรม ซึ่งเป็นที่รู้จักกัน อย่างแพร่หลายในหมู่ผู้นับถือศาสนาคริสต์ อย่างไรก็ดี ในเวลานั้นบทความเหล่านี้เผยแพร่อยู่ในหมู่นักสอนศาสนาชาวตะวันตกเท่านั้น จนกระทั่งนายอเบล เรมูส่าต์ (Abel Remusat) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสได้ แปลบันทึกการเดินทางของจิวตากวนเป็นภาษาฝรั่งเศสขึ้น (จิวตากวนเป็นหนึ่งในคณะทูตชาวจีนที่เดินทางเข้าไปในกัมพูชาเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙) ในจดหมายเหตุฉบับนี้จิวตากวนได้เล่าถึงศาสนสถานอันสง่างามและมหัศจรรย์หลายแห่งที่เขาได้พบเห็น แต่ในเวลานั้นไม่มีใครเชื่อเลยว่าบรรดาศาสนสถาน ที่จิวตากวนกล่าวถึงนั้นเป็นสิ่งมีอยู่จริง หรือถ้ามีอยู่จริงก็คงไม่เหลือให้เห็นแล้ว
จนกระทั่งในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ บทความเกี่ยวกับเมืองพระนครได้แพร่หลายออกไปในวงกว้างมากขึ้นโดยชาวฝรั่งเศส เช่น บาดหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ บุยเยอโว (Bouilleveaux) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองพระนคร นายมูโอต์ (Mouhot) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เขียนบทความชื่นชมความสง่างามของซากโบราณสถานที่เมืองพระนครและตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Tour de Monde บทความที่เผยแพร่ออกไปนี้กระตุ้นให้ชาวตะวันตกหันมาสนใจศึกษาประวัติความเป็นมาของดินแดนแห่งนี้มากขึ้น เพราะในเวลานั้นเมืองพระนครยังเป็นเรื่องของดินแดนมหัศจรรย์อันลี้ลับ ชาวเขมรในกัมพูขาเองก็ไม่รู้ว่าซากสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่มโหฬารที่เมืองพระนคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง และเชื่อกันว่าสิ่งก่อสร้างที่เมืองพระนครเป็นสิ่งที่เทพเจ้าสร้างขึ้น โดยเฉพาะปราสาทนครวัด เชื่อกันว่าพระวิศวกรรม เทพเจ้าแห่งการช่างเป็นผู้เนรมิตขึ้น
นักวิชาการชาวตะวันตกรุ่นแรกๆ ที่เดินทางเข้ามาสำรวจค้นคว้าที่เมืองพระนคร มีทั้งที่ เป็นชาวเยอรมัน ชาวฮอลันดา และชาวฝรั่งเศส ผลงานในระยะแรกถูกเผยแพร่ออกมาเป็นภาพถ่ายบ้าง ภาพเขียนบ้าง เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อันน่ามหัศจรรย์ของเมืองพระนคร ซึ่งในเวลานั้นยังมีสภาพเป็นป่ารกและเต็มไปด้วยความทุรกันดาร มีภัยอันตรายต่างๆ ที่มาจากทั้งสัตว์ร้ายและโรคภัยไข้เจ็บอันร้ายแรงที่มีอยู่ในป่าเมืองพระนคร นักวิชาการชาวตะวันตกหลายคนที่เดินทางเข้ามาต้องจบชีวิตลงในดินแดนแห่งนี้ด้วยไข้ป่า แต่ดูเหมือนว่าความยากลำบากและความน่ากลัวของภัยอันตรายต่างๆ ที่เมืองพระนครจะไม่สามารถหยุดยั้งความสนใจของนักวิชาการชาวตะวันตกได้เลย ผลงานที่เผยแพร่ออกมายิ่งทำให้มีการเดินทางเข้าไปศึกษาค้นคว้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ
การศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังเริ่มขึ้น เมื่อประเทศฝรั่งเศสจัดตั้งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลาย บุรพทิศขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่กรุงฮานอยในเวียดนาม เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ค้นคว้าหาความรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมและภาษาของประเทศในแหลมอินโดจีนและประเทศใกล้เคียง รวมไปถึงอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซียด้วย สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศได้ส่งนักวิชาการเข้ามาในกัมพูชาเพื่อศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองพระนคร มีการจัดทำทะเบียนโบราณสถานเขมรและ จัดพิมพ์ขึ้น ซึ่งใช้เป็นคู่มือสำหรับการศึกษาศิลปะสถาปัตยกรรมเขมรได้อย่างดีเยี่ยมแม้กระทั่งในปัจจุบัน โบราณสถานนับร้อยแห่งที่เมืองพระนครได้รับการขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส (ซึ่งทำให้ศาสนสถานที่เมืองพระนครส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพที่งดงามน่าชม และทำให้เมืองพระนครกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาจนทุกวันนี้) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ด้านการอ่านและแปลจารึกภาษาเขมรโบราณและภาษาสันสกฤตพร้อมๆ กันไปด้วย การศึกษานี้ทำกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้เรื่องราวความเป็นมาของเมืองพระนครค่อยๆ กระจ่างชัดขึ้นเป็นลำดับ ไม่เป็นเรื่องที่ลึกลับอีกต่อไป ผลการศึกษาซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ทำให้ชื่อเสียงของราชอาณาจักรกัมพูชาและเมืองพระนครเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในโลกตะวันตก และผลการศึกษานั้นยัง ใช้เป็นข้อมูลสำคัญยิ่งสำหรับการศึกษาค้นคว้าทางด้านเขมรศึกษามาตราบจนทุกวันนี้
ในปัจจุบันเมืองพระนครได้รับการขึ้นทะเบียนจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานในองค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้เป็นมรดกโลก ที่ถือว่าทุกชาติทุกภาษาจะต้องให้ความร่วมมือหาทางช่วยเหลือในการอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่เป็นมรดกวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติสืบต่อไปตราบเท่านานแสนนาน
การศึกษาศิลปะเขมร
ศิลปะเขมรได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะที่งามที่สุดแบบหนึ่งในโลก เพราะเป็นศิลปะที่มี ทั้งความงดงาม ความแข็งแรง และความลึกลับอันมีเสน่ห์ผสมผสานกันอยู่ในรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ศิลปะเขมรมีลักษณะเช่นเดียวกับศิลปะของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเริ่มต้นด้วยการรับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียและนำมาผสมผสานเข้ากับศิลปะพื้นเมืองดั้งเดิมของตน ดังนั้นรูปแบบศิลปะที่สร้างขึ้นในระยะแรกๆ จึงแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและ หลังคุปตะค่อนข้างชัดเจน ต่อมาจึงค่อยๆ วิวัฒนาการจนกลายเป็นศิลปะเขมรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน และต่อมาอีกระยะหนึ่งศิลปะเขมรก็มีรูปแบบที่แสดงให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะต่างถิ่นรูปแบบใหม่คือ ศิลปะชวาและศิลปะจามเข้ามาผสมผสานอยู่ด้วย มีการนำเอารูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะชวามาผสมผสานเข้ากับรูปแบบศิลปะเขมรที่มีมาก่อน จนในที่สุดก็วิวัฒนาการไปเป็นรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของตนอย่างแท้จริง
การศึกษาศิลปะเขมรเริ่มต้นจากนักวิชาการชาวตะวันตก (โดยเฉพาะนักวิชาการชาวฝรั่งเศส) หลังจากที่มีการตั้งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศขึ้นที่กรุงฮานอยในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ทางสำนัก ฯ ก็ส่งนักวิชาการเข้ามาศึกษาค้นคว้าในกัมพูชาอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นที่โบราณสถานบริเวณเมืองพระนครเป็นสำคัญ มีการหักร้างถางพงเพื่อศึกษาภาพสลักที่ปราสาทบายน หลังจากนั้น พันตรีลูเนต์ เดอ ลาจอง-กิแยร์ (Lunet de Lajonquière) และ นายอองรี ปาร์มองติเยร์ (Henri Parmentier) ก็ได้ทำการสำรวจ เพื่อจัดทำทะเบียนโบราณสถานเขมรและพิมพ์เผยแพร่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เมื่อประเทศไทยจำต้องยอมสละเมืองเสียมราฐให้แก่ฝรั่งเศส สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศก็เข้าครอบครองดูแลโบราณสถานในเมืองพระนครและพระนครหลวงทั้งหมด มีการตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาโบราณสถานโดยเฉพาะ มีการตั้งภัณฑารักษ์หัวหน้าหน่วยงานขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวสืบเนื่องกันมาหลายคน นาย อองรี มาร์ชาล ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้พบเมื่อครั้งเสด็จกรุงกัมพูชาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ และทรงกล่าวถึงไว้ในนิราศนครวัดว่า เป็นผู้นำเสด็จทอดพระเนตรปราสาทหินที่เมืองเสียมราฐ พร้อมกับศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นั้นได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวถึง ๑๖ ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ - ๒๔๗๕
การศึกษาและการกำหนดอายุโบราณสถานเขมรในระยะแรกค่อนข้างสับสนและมีข้อผิดพลาดมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงเริ่มมีการศึกษาศิลปะเขมรอย่างเป็นระบบ เพื่อหาวิวัฒนาการของลวดลายในศิลปะเขมรและนำมาใช้กำหนดอายุโบราณสถาน โดยศาสตราจารย์ ฟิลิปป์ สแตรน (Philippe Stern) ในการศึกษานั้น ศาสตราจารย์สแตรนได้เลือกใช้ลวดลายที่ปรากฏอยู่บนองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า ทับหลังประดับ และเสากรอบประตูเป็นหลักก่อน เพราะทับหลังประดับและเสาประดับกรอบประตูเป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ใช้หินทราย (ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความคงทนถาวร) มาโดยตลอด จึงมีตัวอย่างให้ศึกษาได้ตั้งแต่สมัยแรกจนถึงสมัยสุดท้าย เมื่อศึกษาหาวิวัฒนาการของลวดลายบนทับหลังประดับและเสาประดับกรอบประตูได้ทั้งหมดแล้ว ก็นำเอาลวดลายเหล่านั้นมาตรวจสอบเปรียบเทียบกันว่าเป็นไปในแนวทางอันเดียวกันหรือไม่ หลังจากนั้นก็ศึกษาตรวจสอบลวดลายบนหน้าบัน เสาติดผนัง รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในปราสาทแห่งเดียวกัน เช่น แผนผัง โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมฯ แล้วนำผลที่ได้ทั้งหมดมาตรวจสอบกันอีกครั้ง เมื่อหลักฐานข้อมูลทั้งหมดเข้ากันได้ดีหรือเป็นไปในทำนองเดียวกันก็เชื่อได้ว่าถูกต้อง และยังนำไปตรวจสอบกับข้อมูลที่ได้จากการแปลจารึกที่มีอยู่ ณ ศาสนสถานแห่งนั้นๆ เพื่อเชื่อมโยงรูปแบบศิลปะเข้ากับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย ผลการศึกษาของศาสตราจารย์แสตรน ทำให้สามารถแบ่งศิลปะเขมรออกเป็นแบบต่างๆ ได้ และกำหนดอายุได้ว่าศิลปะแบบต่างๆ นั้นสร้างขึ้นในรัชกาลใด
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของศาสตราจารย์สแตรนในระยะแรกก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ โดยเฉพาะการกำหนดอายุปราสาทบายนและนครธมหรือเมืองพระนครหลวงนั้นไม่ถูกต้อง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ศาสตราจารย์แสตรน ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ช่วยกันแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง ต่อมายังมีนักวิชาการรุ่นหลัง คือ นางจิลแบร์ เดอ คอราล เรมูซ่าท์ (Gilberte de Coral Remusat) และ ศาสตราจารย์ ชอง บวสเซอลิเยร์ (Jean Boisselier) ได้ศึกษาค้นคว้าและปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมอีก ผลการศึกษาของนักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นบรรทัดฐานหรือเป็นคู่มือสำคัญในการศึกษาศิลปะเขมรที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกตราบจนปัจจุบัน
๓๐ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะขอม. (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับบิชชิ่ง จำกัด มหาชน,๒๕๔๗) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ป.จ.,ม.ป.ช.,ม.ว.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗
รูปแบบศิลปะเขมรและการกำหนดอายุ
ศิลปะเขมรแบ่งออกเป็นสมัยต่างๆ ดังนี้
๑. ศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร ซึ่งแบ่งย่อยเป็น ๔ รูปแบบ ได้แก่
ศิลปะแบบพนมดา อายุราว พ.ศ. ๑๑๐๐ – ๑๑๕๐
ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก อายุราว พ.ศ. ๑๑๕๐ – ๑๒๐๐
ศิลปะแบบไพรกเมง อายุราว พ.ศ. ๑๑๘๐ – ๑๒๕๐
ศิลปะแบบกำพงพระ อายุราว พ.ศ. ๑๒๕๐ - ๑๓๕๐
๒. ศิลปะเขมรสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ มีรูปแบบเดียว คือ
ศิลปะแบบกุเลน อายุราว พ.ศ. ๑๓๗๐ – ๑๔๒๐
๓. ศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร แบ่งย่อยเป็น ๙ รูปแบบ ได้แก่
ศิลปะแบบพระโค อายุราว พ.ศ. ๑๔๒๐ – ๑๔๔๐
ศิลปะแบบบาแค็ง อายุราว พ.ศ. ๑๔๔๐ – ๑๔๗๐
ศิลปะแบบเกาะแกร์ อายุราว พ.ศ. ๑๔๖๕ – ๑๔๙๐
ศิลปะแบบแปรรูป อายุราว พ.ศ. ๑๔๙๐ – ๑๕๑๐
ศิลปะแบบบันทายศรี อายุราว พ.ศ. ๑๕๑๐ – ๑๕๕๐
ศิลปะแบบเกลียง อายุราว พ.ศ. ๑๕๑๐ - ๑๕๖๐
ศิลปะแบบบาปวน อายุราว พ.ศ. ๑๕๖๐ – ๑๖๓๐
ศิลปะแบบนครวัด อายุราว พ.ศ. ๑๖๕๐ – ๑๗๒๐
ศิลปะแบบบายน อายุราว พ.ศ. ๑๗๒๐ – ๑๗๘๐
สำหรับชื่อศิลปะเขมรแบบต่างๆ นั้นได้มาจากชื่อสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มี การค้นพบศิลปะโบราณวัตถุแบบนั้นๆ มากที่สุด สำหรับชื่อของปราสาทเขมรที่ถือเป็นตัวแทนของศิลปะแบบนั้นๆ ทั้งหมดก็ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิมของปราสาทหากเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันเองในภายหลัง ดังนี้
พนมดา เป็นชื่อภูเขาเตี้ยๆ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองอังกอร์บอเรย ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นภูเขาโมตัน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีบูชาพระมเหศวรในสมัยฟูนัน ที่มีเรื่องเล่าอยู่ในจดหมายเหตุจีน เพราะเป็นสถานที่ค้นพบกลุ่มประติมากรรมเขมรแบบแรกๆ และมีอายุเก่าแก่ที่สุดในศิลปะเขมรด้วย
สมโบร์ไพรกุก เป็นชื่อกลุ่มโบราณสถานที่ตั้งอยู่บ้านสมโบร์ เขตกำพงธม และบริเวณที่ตั้งของปราสาทสมโบร์ไพรกุกนี้ คือที่ตั้งเมือง ภวปุระและเมืองอิศานปุระ ซึ่งเป็นราชธานี สมัยก่อน พระนครยุคเจนละ
ไพรกเมง เป็นชื่อปราสาทที่ตั้งอยู่บริเวณคันเขื่อนบารายตะวันตกของเมืองพระนคร
กำพงพระ เป็นชื่อปราสาทที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ริมทะเลสาบ ในเขตกำปงชนัง
กุเลน เป็นชื่อภูเขาที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองพระนครไปทางเหนือราว ๔๐ กิโลเมตร นักโบราณคดีเชื่อกันว่าบนเขาพนมกุเลน คือ ที่ตั้งเมืองมเหนทรบรรพต สถานที่ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ โปรดให้ประกอบพระราชพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งกัมพูชาและพิธีลัทธิเทวราชขึ้นเป็นครั้งแรก มีการค้นพบโบราณสถานที่มีอายุร่วมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ บนเขาลูกนี้หลายแห่ง
พระโค เป็นชื่อปราสาทตั้งอยู่ที่เมืองหริหราลัย (หมู่บ้านโรลัวะในปัจจุบัน) พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่บรรพบุรุษของพระองค์
บาแค็ง เป็นชื่อภูเขาตั้งอยู่ใจกลางเมืองยโศธรปุระ บนเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งของปราสาทพนมบาแค็ง ซึ่งพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ โปรดให้สร้างขึ้นเป็นศาสนบรรพตประจำรัชกาล
เกาะแกร์ เป็นชื่อราชธานีที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ โปรดให้สร้างขึ้นห่างจากเมือง พระนครไปทางเหนือราว ๑๐๐ กิโลเมตร และยังเป็นชื่อเรียกปราสาทที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ โปรดให้สร้างขึ้นเป็นศาสนบรรพตประจำราชธานีด้วย
แปรรูป เป็นชื่อปราสาทที่พระเจ้าราเชนทรวรมันโปรดให้สร้างขึ้นเป็นศาสนบรรพตประจำราชธานีในรัชสมัยของพระองค์
บันทายศรี เป็นชื่อปราสาทที่ตั้งอยู่ห่างจากของเมืองพระนครไปทางตอนเหนือราว ๒๕ กิโลเมตร สร้างขึ้นโดยยัชญวราหะ พระมหาราชครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕
คลังหรือเกลียง เป็นชื่อปราสาท ๒ หลังที่ตั้งอยู่หน้าพระราชวังหลวง ในบริเวณเมืองพระนคร คือ ปราสาทเกลียงหลังเหนือสร้างขึ้นโดยพระเจ้าชัยวีรวรมัน และปราสาทเกลียงหลังใต้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑
บาปวน เป็นชื่อปราสาทที่ตั้งอยู่ในเมืองพระนครหลวง พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ โปรดให้สร้างขึ้นเป็นศาสนบรรพตประจำราชธานี
นครวัด เป็นชื่อปราสาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ที่เมืองพระนคร พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ โปรดให้สร้างขึ้นเป็นศาสนบรรพตประจำราชธานี
บายน เป็นชื่อปราสาทที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างขึ้นกลางเมืองพระนครหลวงหรือนครธมราชธานีที่พระองค์สร้างขึ้น
สถาปัตยกรรมเขมรโบราณ
สถาปัตยกรรมเขมรโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า ปราสาท คำว่า “ปราสาท” ในที่นี้ไม่ใช่ปราสาทราชราชวังที่ประทับของกษัตริย์ แต่เป็นศาสนสถานที่ประดิษฐานรูปเคารพและสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เหตุที่เรียกว่าปราสาท ก็เพราะมีลักษณะเป็นอาคารที่มีเรือนยอดหรือมีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปจากใหญ่ไปหาเล็ก ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากสถาปัตยกรรมในอินเดียใต้ นอกจากนี้คำว่าปราสาท ยังอาจใช้เรียกศาสนสถานที่ประกอบด้วยกลุ่มอาคารต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในขอบเขตเดียวกัน สำหรับพื้นที่ในการสร้างปราสาทเขมร มีทั้งที่อยู่บนเนินเขาหรือยอดเขาและบนพื้นที่ราบ สถานที่ตั้งปราสาทเขมรดังกล่าวนั้นมักถือเป็นศูนย์กลางของบ้านเมือง
วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
อิฐ ปราสาทเขมรสมัยก่อนพระนครจนถึงสมัยต้นพระนครราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ นิยมใช้อิฐในการก่อสร้าง คงมีแต่เพียงทับหลัง กรอบประตู เสาประดับกรอบประตูที่ใช้หินทราย ต่อมาในสมัยพระนครราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ก็ยังคงใช้อิฐสำหรับก่อสร้างปราสาทขนาดใหญ่บางแห่ง จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ความนิยมใช้อิฐก่อสร้างอาคารลดน้อยลงและมักใช้ก่อสร้างอาคารที่ไม่สำคัญ และราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ จึงไม่นิยมใช้อิฐในการก่อสร้างอีกต่อไป
ศิลาทรายและศิลาแลง มีการใช้ศิลาในการก่อสร้างปราสาททั้งหลังมาตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร แต่มักเป็นศาสนสถานขนาดเล็กและมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษ ที่ ๑๕ เป็นต้นมา จึงเริ่มใช้ศิลาทรายในการก่อสร้างปราสาท และได้รับความนิยมมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ แหล่งศิลาทรายที่นำมาใช้ในการก่อสร้างปราสาทที่เมืองพระนครนั้นอยู่ที่เขา พนมกุเลน ส่วนศิลาแลงนั้นมักใช้ในการก่อสร้างส่วนฐานปราสาท ฐานอาคาร และกำแพงมาโดยตลอด และได้รับความนิยมนำมาสร้างตัวปราสาททั้งหลังตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา ศิลาแลงเดิมนั้น คือดินที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก มีสีค่อนข้างแดง และมีความอ่อนตัวคล้ายดินเหนียว แต่เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวมีความแข็งเหมือนศิลา พบอยู่ในชั้นใต้ดินของประเทศโดยทั่วไป จึงสะดวกในการขุดขึ้นมาใช้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการขนส่ง
ไม้ มีการใช้ไม้ในการก่อสร้างศาสนสถานด้วย โดยใช้เป็นคาน เพดาน เครื่องมุงหลังคา และบานประตู
เทคนิคในการก่อสร้าง ปราสาทขอมใช้เทคนิคในการก่อสร้างแบบสันเหลื่อม (Corbelled Arch) โดยการวางอิฐ ศิลาทราย และศิลาแลง ให้เหลื่อมกันขึ้นไปทีละน้อยจนบรรจบกัน การก่อสร้างปราสาทด้วยวิธีดังกล่าวทำให้ปราสาทมีข้อจำกัดในเรื่องขนาดและรูปทรง เพราะไม่สามารถขยายตัวอาคารให้มีความกว้างมากได้ การขยายเนื้อที่จะทำได้ในแนวยาวตามแนวนอนเท่านั้น
การสร้างปราสาทด้วยอิฐ ใช้อิฐเรียงก่อขึ้นไป อาจใช้ยางไม้บางชนิดเป็นตัวเชื่อม ประสานทำให้อิฐเกาะกันแน่นสนิท ส่วนที่เป็นกรอบประตู เสาประดับกรอบประตู ทับหลังจริงและ ทับหลังประดับใช้ศิลาทรายเสมอ การตกแต่งปราสาทอิฐ มีการสลักร่างลวดลายลงบนอิฐก่อน แล้วจึงใช้ปูนปั้นลวดลายอย่างประณีตทับลงบนร่างลวดลายนั้นอีกที แต่ลายปูนปั้นไม่มีความคงทน จึงมีหลงเหลือมาให้ศึกษาน้อยมาก
การสร้างปราสาทด้วยศิลาทรายหรือศิลาแลง ศิลาทรายที่ใช้ก่อสร้างมีหลายสี ส่วนใหญ่เป็นสีเทา บางครั้งก็เป็นสีเขียวเทา สีแดง สีชมพู ช่างต้องสกัดศิลาทรายมาจากภูเขา โดยสกัดให้เป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า และเจาะรูลึกลงไปบนหน้าหินสำหรับฝังหมุดไม้เพื่อประโยชน์ในการชักลากเคลื่อนย้าย การก่อสร้างนั้น จะมีการปรับพื้นดินบริเวณก่อสร้างให้เรียบแน่นก่อน ด้วยการขุดดินออกแล้วใช้ทรายถมลงไปจนเต็มและอัดให้เรียบแน่น จากนั้นก็ใช้แท่งหินวางเรียงขึ้นไปให้เป็นรูปทรง ตามต้องการ ในการวางหินนั้นช่างจะวางเรียงแท่งหินแต่ละก้อนให้มีรอยต่อเหลื่อมกันเพื่อให้เกิด แรงยึดเหนี่ยวถ่ายน้ำหนักซึ่งกันและกันโดยไม่มีตัวสอหรือเครื่องยึดใดๆ นอกจากในส่วนที่ต้องการ ความมั่นคงเป็นพิเศษ เช่น ที่ขอบหรือมุมอาคารจึงใช้เหล็กหล่อเป็นรูปตัว Ι สำหรับยึดแท่งหินเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ในบางแห่งยังมีการใช้ไม้เป็นคานรองรับน้ำหนักของหลังคาบริเวณเหนือประตูทางเข้าปราสาท เพื่อไม่ให้ตัวปราสาทรับน้ำหนักมากเกินไป แต่ก็เป็นข้อเสียเพราะเมื่อไม้ผุพังลงยอดปราสาทก็พังทลายลงมาด้วย
การตกแต่งปราสาทที่สร้างด้วยหินทราย นิยมสลักลวดลายลงบนผิวหน้าของแท่งหิน การแกะสลักลวดลายประดับนั้นมักจะทำทีหลังเมื่อก่อปราสาทขึ้นแล้ว ส่วนการแกะสลักนั้น ดูเหมือนว่าช่างที่สกัดศิลาทรายก็ดีช่างก่อสร้างก็ดี ต่างทำงานกันโดยอิสระ งานของสถาปนิกและงานของ ประติมากรไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นจึงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่า บนหน้าบันของอาคารที่ต้องประดับด้วยภาพสลักเล่าเรื่องที่มีรูปบุคคลสำคัญอยู่ตรงกลาง บางครั้งรูปบุคคลสำคัญจะอยู่ตรงรอยต่อกันระหว่างแท่งหินสองก้อน แม้ในกรณีของทับหลังซึ่งเป็นแท่งหินแท่งเดียวก็ยังไม่พ้นปัญหาอันเกิดจากเทคนิคในการก่อสร้างดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าการยกหินขึ้นตั้งยังที่ๆ กำหนดนั้น ช่างใช้เทคนิคการเจาะรูเข้าไปในหินสองด้านให้ตรงกันมีความลึกพอประมาณ เมื่อเสร็จแล้วจึงตอกไม้ใส่ในรูเพื่อใช้ในการยก รูในลักษณะนี้จะพบเห็นอยู่ทั่วไปบนหินที่นำมาก่อสร้างปราสาท ในกรณีที่หินมีความหนามากเมื่อปรับแต่งผิวแล้วรูนั้นก็อาจจะถูกลบไป แต่ในกรณีของทับหลังนั้นจะพบเห็นบ่อยๆ ว่า รูเหล่านั้นยังคงปรากฏอยู่ และบางครั้งปรากฏอยู่ในตำแหน่งที่ต้องสลักภาพบุคคลสำคัญด้วย แสดงว่าช่างก่อสร้างและช่างแกะสลักนั้นมิได้ทำงานร่วมกันในการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ทับหลังบางชิ้นแสดงให้เห็นว่ารูต่างๆ ที่ปรากฏบนพื้นผิวของทับหลังนั้น เมื่อจะสลักลวดลายลงไปช่างได้สกัดหินอุดรูเหล่านั้นก่อนแล้วจึงสลักภาพลงไป สำหรับการแกะสลักที่ประณีตงดงามนั้น สันนิษฐานว่าช่างแกะคงจะใช้เครื่องมือเหล็กที่มีขนาดเล็กและแหลมคมคล้ายเครื่องมือที่เรียกว่า สิ่ว วิธีการแกะสลักนั้นเริ่มขึ้นหลังจากแท่งหินได้ถูกนำไปก่อสำเร็จเป็นตัวอาคารแล้ว ช่างแกะจึงเริ่มโกลนลายลงไปก่อน แล้วจึงลงมือแกะเพื่อให้เป็นรูปร่าง ต่อจากนั้นก็เป็นการแกะสลักรายละเอียดให้เด่นชัด
สำหรับการก่อสร้างปราสาทด้วยศิลาแลง ก็ใช้วิธีเดียวกับการก่อสร้างปราสาทศิลาทราย แต่การก่อสร้างด้วยศิลาแลงซึ่งนิยมมากในศิลปะแบบบายน มักจะวางเรียงแท่งศิลาแลงโดยให้รอยต่อของแต่ละแท่งหินตรงกัน ต่างไปจากการเรียงแท่งศิลาทราย ทำให้ปราสาทสมัยบายนมักพังทลายลงมาเป็นส่วนใหญ่ เพราะการเรียงแท่งศิลาแลงโดยให้รอยต่อตรงกันจะทำให้แท่งศิลาแลงเคลื่อนตัวและแยกออกจากกันได้ง่าย การตกแต่งปราสาทที่สร้างด้วยศิลาแลง จะไม่แกะสลักลวดลายประดับเพราะ เนื้อหยาบและมีรูพรุน จึงนิยมประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น
พิธีกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างปราสาทขอม มีการค้นพบร่องรอยหลักฐานของ การประกอบพิธีกรรมที่อาจเรียกว่า การวางศิลาฤกษ์ ในบริเวณส่วนฐานอาคารและที่ส่วนยอดอาคาร หลักฐานที่พบคือ แท่นหินที่ใช้ในการประกอบพิธี มักจะเป็นแท่นหินสี่เหลี่ยม แต่ก็มีบ้างที่ทำเป็น แท่นกลม บนหน้าแท่นหินดังกล่าวจะมีช่องเล็กๆ ที่เจาะไว้สำหรับบรรจุวัตถุมงคล ซึ่ง ประกอบด้วยแผ่นทองคำหรือแผ่นเงินตัดเป็นรูป ช้าง ม้า ดอกบัว ใบไม้ (บางแผ่นมีคำจารึกไว้ด้วย) รวมทั้งพลอยสีต่างๆ และทรายละเอียดบริสุทธิ์ หลังจากบรรจุวัตถุมงคลลงในช่องเล็กๆ บนแท่นหินแล้ว มักใช้อิฐชิ้นเล็กปิดทับไว้ด้านบนด้วย
การวางผังปราสาท โดยทั่วไปปราสาทเขมรมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นทิศมงคล แต่ก็มีบ้างที่หันหน้าไปทางทิศอื่นๆ เช่น ปราสาทนครวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อเกี่ยวกับความตายหรืออาจเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าที่ได้รับการนับถือสูงสุด ณ ปราสาทแห่งนั้น คือพระวิษณุ เพราะทิศตะวันตกเป็นทิศแห่งพระวิษณุ ปราสาทเขาพระวิหารหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งคงจะเนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศบังคับ และปราสาทพิมายหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งเดิมอธิบายว่าหันหน้าไปหาถนนที่เชื่อมต่อไปถึงเมืองพระนคร แต่นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวกับคติเรื่องทิศแห่งบรรพบุรุษ คือทิศใต้มากกว่า
โครงสร้างปราสาทเขมร ตัวอาคารที่เรียกว่า ปราสาท มีรูปแบบที่แสดงถึงอิทธิพล ของศาสนสถานที่แกะจากก้อนหินริมทะเลแถบเมืองมาวลีปุรัมในอินเดียใต้ โดยเฉพาะการทำหลังคาเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันจากใหญ่ไปหาเล็ก แต่ละชั้นเป็นการจำลองเรือนธาตุขึ้นไปสร้างเป็นหลังคาและประดับขอบหลังคาด้วยรูปอาคารจำลองขนาดเล็กๆ โครงสร้างที่สำคัญ ประกอบด้วย
ฐาน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม (หรือไม่ย่อมุมซึ่งพบในสมัยแรกๆ เท่านั้น) แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ ฐานตอนล่าง และฐานตอนบน
เรือนธาตุหรือตัวปราสาท ประกอบด้วยห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเรียกว่า ครรภคฤหะ ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ผนังภายในส่วนใหญ่มักเป็นผนังเรียบไม่มี การตกแต่งใดๆ (มีบางแห่งที่มีการตกแต่งด้วยซุ้มจรนัม มักพบที่ปราสาทเขมรสมัยก่อนพระนคร และปราสาทเขมรสมัยพระนครในศิลปะแบบกุเลน นอกจากนี้ปราสาทสมัยพระนครบางแห่งมีการแกะสลักภาพนูนต่ำเป็นภาพพระวิษณุและพระลักษมีประดับผนังภายใน คือ ปราสาทกระวัน บางแห่งมีการตกแต่งด้วยภาพเขียนสี คือ ปราสาทเนียงเขมา) ส่วนเพดานกรุด้วยไม้ แต่ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว บางแห่งประตูทางเข้าจริงอยู่ทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านเป็นประตูปลอม บางแห่งมีประตูทางเข้าได้ทั้งสี่ด้าน
ส่วนยอดหรือเครื่องบน ทำเป็นหลังคาซ้อนเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันขึ้นไปโดยการจำลองตัวปราสาทหรือเรือนธาตุขึ้นเป็นหลังคาแต่ละชั้น และที่มุมของหลังคาแต่ละชั้นมีการประดับด้วย อาคารจำลองเล็กๆ ส่วนที่ยอดบนสุดประดับด้วยรูปกลศ (หม้อน้ำ) หรือดอกบัว เหนือกลศหรือดอกบัวยังมีตรีศูล ปัญจศูล หรือนภศูลทำจากสำริดประดับอยู่ด้วย แต่ไม่พบเห็นแล้วในปัจจุบัน
ส่วนประกอบอื่นๆ ที่มีการประดับลวดลายตกแต่งไว้ ได้แก่ ทับหลังประดับ หน้าบัน และกรอบหน้าบัน เสาประดับกรอบประตู เสาประดับผนัง (ซึ่งประดับอยู่สองข้างประตู) ประตูปลอมที่สลักลวดลายลงบนผนังให้เห็นว่าเป็นรูปประตู และชั้นเชิงบาตร (คือชั้นเตี้ยๆ เชื่อมต่อระหว่างผนังตอนบนและหลังคา)
อาคารชั้นรอง ในบริเวณศาสนสถานเขมรโบราณแห่งหนึ่งๆ นอกจากอาคารประธานที่เรียกว่า “ปราสาท” แล้ว ยังมีอาคารบริวารหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมต่างกันไป ที่สำคัญ ได้แก่
ระเบียงคด คือระเบียงที่ก่อเป็นห้องยาวๆ เชื่อมต่อถึงกันทั้ง ๔ ด้าน เป็นขอบเขตล้อมรอบศาสนสถานชั้นใน มีทั้งที่เป็นระเบียงโถง (คือไม่มีผนัง มีแต่เสารองรับหลังคา) และระเบียงทึบ (ที่มีผนังทั้งสองข้างเจาะเป็นช่องหน้าต่างให้แสงลอดเข้าไป) นอกจากนี้ยังมีระเบียงที่ก่อเป็นผนังทึบด้านในมีภาพสลักเล่าเรื่องประดับไว้อย่างงดงาม ส่วนด้านนอกมีแต่เสารองรับหลังคา เช่นที่ปราสาทนครวัดและปราสาทบายน
ห้องสมุดหรือบรรณาลัย คืออาคารที่ตั้งอยู่หน้าปราสาทประธานเยื้องไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอาคารหันหน้าเข้าหาตัวปราสาท และถ้ามีเพียงหลังเดียวจะตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เสมอ เหตุที่เรียกอาคารนี้ว่า ห้องสมุด เนื่องจากที่ปราสาทขนะ มีอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันตกหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ในมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ด้านหน้าปราสาทประธาน และที่อาคารหลังนี้ได้พบศิลาจารึก K.๓๖๕ ซึ่งมีข้อความกล่าวว่า อาคารนี้ทำหน้าที่เป็นบรรณาลัย นักวิชาการฝรั่งเศสจึงนำคำว่า “ห้องสมุด” มาใช้เรียกอาคารแบบเดียวกันนี้ที่พบในแห่งอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าอาคารดังกล่าวนี้คงจะใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพชั้นรอง เพราะหลายแห่งมีการค้นพบฐานประติมากรรมรูปเคารพตั้งอยู่ภายในด้วย
โคปุระ คือประตูทางเข้า-ออกศาสนสถานหรือประตูเข้า-ออกเมือง ที่ก่อเป็นซุ้มคูหาตั้งอยู่กึ่งกลางของกำแพงเมือง กำแพงศาสนสถานหรือระเบียงคดที่ล้อมรอบศาสนสถาน อาจมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวศาสนสถานหรือตัวเมืองนั้นๆ โคปุระสมัยก่อนพระนครมีแผนผังเรียบง่าย โดยก่อเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีช่องประตูทางเข้าด้านหน้าและด้านหลัง ต่อมาสมัยเมือง พระนคร โคปุระเริ่มก่อเป็นคูหาที่มีแผนผังเป็นรูปกากบาท และมีพัฒนาการเรื่อยมา ส่วนหลังคาของ โคปุระมี ๒ แบบคือ ก่อเป็นหลังคาโค้ง และก่อหลังคาเป็นยอดปราสาท
บรรดาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของกัมพูชา ที่สมเด็จฯ กรม พระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือนิราศนครวัด มีทั้งที่เป็นเมืองโบราณและโบราณสถาน ซึ่งบางแห่งทรงพระนิพนธ์เล่าไว้อย่างละเอียด แต่บางแห่งทรงกล่าวถึงแต่เพียงชื่อเท่านั้น นอกจากนี้ แม้ว่าความรู้ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ส่วนใหญ่ยังเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการปัจจุบัน แต่ความรู้ เรื่องเมืองโบราณสำคัญหรือโบราณสถานที่สำคัญบางแห่ง โดยเฉพาะนครธมและปราสาทบายนหรือบรรยงก์ ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามหลักฐานข้อมูลที่ค้นพบใหม่ในระยะหลังๆ และที่สำคัญในขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานที่เมือง เสียมราฐนั้น โบราณสถานหลายแห่งยังอยู่ในระหว่างการขุดค้นขุดแต่งและยังบูรณะไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันงานบูรณะได้เสร็จสมบูรณ์แล้วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจอ่านหนังสือนิราศนครวัดซึ่งไม่เคยมีความรู้หรือไม่เคยศึกษาด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์เขมรมาก่อน สามารถเข้าใจและมีความรู้ได้เท่าที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน ในรายงานการศึกษาเอกสารข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมฉบับนี้ จึงจะขอกล่าวถึงเมืองโบราณและโบราณสถานที่สำคัญๆ พร้อมทั้งคำอธิบายที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มเติมความรู้ใหม่ที่ทราบกันในปัจจุบันไว้ด้วย
เมืองโบราณสำคัญในกัมพูชา ได้แก่
เมืองกำปอด (เขมรเรียก ก็อมโปด) ตั้งอยู่ทางใต้ของกัมพูชา เป็นเมืองเก่าที่มีชื่อปรากฏในพงศาวดารโบราณ การเดินทางมายังประเทศกัมพูชาโดยทางทะเลต้องมาขึ้นบกที่เมืองกำปอดนี้ และในช่วงที่กัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส เมืองกำปอดเป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลกำปอดดูแลอาณาเขตชายทะเลต่อแดนไทยลงไปถึงเมืองฮาเตียนต่อแดนเวียดนาม ปัจจุบันยกฐานะเป็นจังหวัดกำปอด นอกจากนี้ยังได้มีการค้นพบปราสาทอิฐสมัยก่อนพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ อยู่ภายในถ้ำในเขตจังหวัดกำปอดหลายแห่ง เช่น ถ้ำที่เขาพนมฉงก ถ้ำที่เขาพนมโตเตือง และถ้ำที่เขาพนมขยาง แสดงว่าเมืองกำปอดและบริเวณใกล้เคียงเคยเป็นที่ตั้งบ้านเมืองสำคัญมาแต่สมัยโบราณนับพันปีด้วย
เมืองกำพงจาม หรือกำปงจาม (เขมรเรียก ก็อมปงจาม) ตั้งอยู่ทางใต้ของทะเลสาบใหญ่ เป็นเมืองตั้งขึ้นใหม่สมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาจัดการปกครองกัมพูชา โดยใช้เป็นเมืองที่ว่าการมณฑล ปัจจุบันยกฐานะเป็นจังหวัดกำปงจาม การศึกษาค้นคว้าในระยะหลังได้มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว ๔,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วในเขตกำพงจามด้วย คือ แหล่งโบราณคดี มิมด (Mimot)
เมืองกำพงธม หรือกำปงธม (เขมรเรียกก็อมปงธม) ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทะเลสาบใหญ่ เป็นเมืองตั้งขึ้นใหม่สมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาจัดการปกครองกัมพูชา โดยใช้เป็นเมืองที่ว่าการมณฑลเช่นเดียวกับเมืองกำพงจาม ปัจจุบันยกฐานะเป็นจังหวัดกำปงธม และห่างจากตัวเมืองกำพงธมขึ้นไปทางตอนเหนือไม่ไกลนัก ในบริเวณที่เรียกว่าสมโบร์ไพรกุกยังคงมีร่องรอยของบ้านเมืองโบราณ และปราสาทเขมรสมัยก่อนพระนครที่สำคัญหลายแห่ง ข้อมูลจากจารึกซึ่งค้นพบที่กลุ่มปราสาท สมโบร์ไพรกุก ทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่าในบริเวณดังกล่าวนี้คงจะเป็นที่ตั้งเมืองภวปุระ และเมือง อีสานปุระ ราชธานีสมัยก่อนพระนครยุคเจนละ
เมืองกำพงสวาย หรือกำปงสวาย (เขมรเรียก ก็อมปงสวาย) เป็นเมืองโบราณปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรยกทัพมาตีเมืองละแวก โปรดให้เจ้าเมืองนครราชสีมายกทัพมาทางเมืองกำปงสวายทางหนึ่ง
เมืองจตุรมุข (เขมรเรียก จะโตะมุข) เป็นชื่อเดิมของเมืองพนมเปญ ตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณซึ่งเป็นที่บรรจบของเเม่น้ำสี่สายหรือลำน้ำสี่แยก อันได้เเก่ เเม่น้ำโขงตอนบน เเม่น้ำโขงตอนล่าง เเม่น้ำป่าสัก เเละเเม่น้ำโตนเลสาบ จึงได้ชื่อว่าเมืองจตุรมุข แต่นิยมเรียกกันว่าเมืองพนมเปญ
เมืองโฉกคดี (คือ โฉก ครรกยาร์ ซึ่งแปลว่า ดงตะเคียน ปัจจุบันเรียกว่า เกาะแกร์) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองพระนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑๐๐ กิโลเมตร สถานที่แห่งนี้เคยเป็นราชธานีของกัมพูชาอีกแห่งหนึ่ง แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ คือราว ๒๐ ปีเท่านั้น กษัตริย์ที่ประทับอยู่ที่ ราชธานีแห่งนี้ มีเพียง ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ (ราว พ.ศ. ๑๔๗๑ - ๑๔๘๕) และพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๒ (ราว พ.ศ. ๑๔๘๕ - ๑๔๘๗) ภายในตัวเมืองมีสิ่งก่อสร้างสำคัญเช่นเดียวกับที่เมือง ยโศธรปุระ คือ มีทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (ซึ่งเรียกกันว่ารหาล) และปราสาทเกาะแกร์ ซึ่งเป็นศาสนบรรพตประจำราชธานี
เมืองนครธม หรือเมืองพระนครหลวง ในนิราสนครวัดกล่าวว่า นครธม คือ เมือง ยโสธรปุระที่พระเจ้ายโศวรมันสร้างขึ้นเป็นราชธานี แต่หลักฐานที่ค้นพบใหม่ในสมัยหลังทำให้ทราบว่า อันที่จริงแล้วนครธมเป็นราชธานีที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๗๖๑) ทรงสร้างขึ้นทับซ้อนบริเวณเมืองยโศธรปุระราชธานีเก่าซึ่งสร้างโดยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๓๒ – ๑๔๕๐) ตัวเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด (๓,๐๐๐ x ๒,๐๐๐ เมตร)๒ มีปราสาทบายนเป็นศูนย์กลาง กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงมีความสูงราว ๘ เมตร มีคูน้ำกว้างราว ๑๐๐ เมตรล้อมรอบอยู่ด้านนอกกำแพงเมืองอีกชั้นหนึ่ง มีทางเดินปูด้วยแผ่นหินทอดข้ามคูน้ำตรงไปยังซุ้มประตูทางเข้าเมืองซึ่งมีทั้งหมด ๕ ประตู อยู่ทางทิศตะวันออก ๒ ประตู ส่วนทิศอื่นๆ มีด้านละ ๑ ประตู ซุ้มประตูเมืองด้านใต้เป็นตัวอย่างของซุ้มประตูทางเข้าเมือง
พระนครหลวงที่มีสภาพดีที่สุด คือสองข้างทางเดินที่ทอดข้ามคูน้ำตัดตรงไปยังซุ้มประตู ขนาบด้วยภาพสลักลอยตัวของแถวอสูรยุดนาคอยู่ด้านหนึ่ง และแถวเทวดายุดนาคอยู่อีกด้านหนึ่ง ตัวซุ้มประตูหรือที่เรียกว่าโคปุระมีขนาดใหญ่ สูงราว ๒๓ เมตร มีช่องทางเข้าทางเดียว ส่วนยอดซุ้มประตูประดับด้วยภาพสลักรูปหน้าคนขนาดใหญ่ ๔ หน้า แต่ละหน้าหันตรงไปยังทิศทั้ง ๔ และที่มุมทั้งสองข้างของซุ้มประตูด้านนอกประดับด้วยรูปช้างสามเศียรขนาดใหญ่ที่มีแต่ส่วนเศียรโผล่ออกมาโดยมีพระอินทร์และพระชายาประทับอยู่ด้านบนด้วย
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ภาพสลักหน้าคน ๔ หน้าที่ประดับอยู่เหนือซุ้มประตูทางเข้า คงจะเป็นพระพักตร์ของจตุโลกบาลหรือเทพรักษาทิศทั้ง ๔ ส่วนแถวรูปสลักอสูรยุดนาคและเทวดายุดนาคที่ขนาบอยู่สองข้างทางเดินนั้น อาจจะมีความหมายถึงการกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต เป็นสัญลักษณ์ว่าผู้ที่เดินทางผ่านเข้าประตูเมืองพระนครหลวงจะได้รับการประพรมน้ำอมฤตด้วย แต่บางท่านก็อธิบายว่ารูปสลักอสูรยุดนาคและเทวดายุดนาคนี้ น่าจะหมายถึงสายรุ้งที่เชื่อมโลกเทวดากับโลกมนุษย์เข้าด้วยกัน ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอลิเยร์ ผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสอธิบายว่า เมืองพระนครหลวงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่แสดงว่าเป็นเมืองของพระอินทร์และเทวดา ๓๓ องค์ พระอินทร์ในที่นี้อาจจะหมายถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และเทวดา ๓๓ องค์อาจจะหมายถึงเจ้าชายในราชวงศ์ และเจ้าผู้ครองแว่นแคว้นต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของพระองค์
ทางเดินข้ามคูน้ำและประตูทางเข้าเมืองนครธมด้านทิศใต้
ส่วนสาเหตุที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ต้องสร้างราชธานีใหม่ที่มีกำแพงสูงใหญ่ มั่นคงแข็งแรง และเต็มไปด้วยสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์มากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย คงเป็นเพราะก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ เมืองพระนครถูกกองทัพจามเข้าโจมตีและยึดเมืองพระนครได้ สัญลักษณ์แห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่สร้างมาแต่รัชกาลก่อนๆ ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเมืองได้และยังถูกทำลายลงจนเกือบหมดด้วย ดังนั้นเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์จึงต้องทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรขึ้นใหม่ ด้วยการสร้างราชธานีที่มั่นคงแข็งแรงทางด้านกายภาพ และยังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางใจให้แก่ชาวกัมพูชาว่า ราชอาณาจักรกัมพูชาของพระองค์จะมีความมั่นคงยืนยาวและไม่มีผู้ใดทำลายลงได้เลย
เมืองปาสาน (เขมรเรียก บาสาณ) ตั้งอยู่ในแขวงเมืองศรีสันถารหรือศรีสันธอร์ เป็นเมืองโบราณสมัยหลังพระนคร เคยเป็นราชธานีของกัมพูชาในสมัยพระบรมราชาที่ ๑ (เจ้าพญาญาติ พ.ศ. ๑๙๓๐ - ๑๙๗๖) หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนครหลวงหรือนครธมและทรงราชาภิเษกแล้ว จึงทรงย้ายราชธานีจากเมืองพระนครมาตั้งที่เมืองบาสาณใน พ.ศ. ๑๙๓๑ แต่ก็ตั้งอยู่ได้ ไม่นาน เนื่องจากเมืองบาสาณตั้งอยู่บนที่ลุ่มต่ำ เมื่อถึงฤดูน้ำน้ำก็ท่วมเมือง พระองค์จึงย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เมืองจตุรมุข (พนมเปญ)
เมืองไผทมาศ หรือบันทายมาศ (เขมรเรียก บ็อนเตียเมียะส์) เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์สำคัญในการทำสงครามระหว่างไทย – เขมร - เวียตนาม ครั้งกองทัพไทยสมัยอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรียกทัพเข้าตีกรุงกัมพูชา ก็ต้องตีเมืองผไทมาศให้ได้ก่อนจึงจะสามารถเคลื่อนทัพเข้าสู่กรุงกัมพูชาได้
เมืองพนมเพ็ญ หรือ พนมเปญ (เขมรเรียก ภฺนุมปึญ) คือเมืองหลวงของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เดิมมีชื่อเรียกว่าเมืองจตุรมุข เพราะตั้งอยู่ในบริเวณลำน้ำสี่แยก อันที่จริงแล้วเมืองนี้เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของกัมพูชามาก่อน คือ เมื่อครั้งเจ้าพญาญาติทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองบาสาณ มาตั้งที่เมืองจตุรมุข (พนมเปญ) ในปี พ.ศ. ๑๙๓๑ แต่หลังจากนั้นอีกระยะหนึ่งก็ได้มีการย้ายเมืองหลวงไปตั้งอยู่ที่อื่นอีก จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๐๘ หลังจากที่สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ยอมลงพระนาม ในการเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส ก็ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองอุดงค์มีชัยมาตั้งที่เมืองพนมเปญ (ภายใต้การแนะนำของรัฐบาลฝรั่งเศส) นับแต่นั้นมาเมืองพนมเปญก็เป็นเมืองหลวงประเทศกัมพูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับชื่อเมืองพนมเพ็ญ ได้มาจากชื่อภูเขาเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเมือง ซึ่งมีตำนานเล่าว่า มียายแก่คนหนึ่ง ชื่อ เพ็ญ ตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลนั้น และมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนาแก่กล้า ปรารถนาจะสร้างวัดแต่ขัดข้องด้วยยากจน จึงตั้งสัตย์อธิษฐาน ด้วยอำนาจกุศลผลบุญดลบันดาลให้มีไม้ซุงลอยลำน้ำโขงลงมาติดอยู่ที่ตรงหน้าบ้านของยายเพ็ญ และไม้ซุงท่อนนั้นมีโพรงบรรจุทั้งพระพุทธรูปและเทวรูปอยู่ภายใน ยายเพ็ญจึงชักชวนเพื่อนบ้านช่วยกันสร้าง “พนม” คือภูเขาขึ้นในที่นั้น เพื่อสร้างวัดไว้บนยอดเขา ภูเขาที่สร้างขึ้นจึงได้ชื่อว่า พนมเพ็ญ ตามชื่อผู้สร้าง ต่อมาเมื่อมีการสร้างเมืองขึ้นในบริเวณดังกล่าวจึงเรียกชื่อเมืองว่า เมืองพนมเพ็ญ
เมืองพระตะบอง (เขมรเรียกว่า บัตด็อมบอง) ปัจจุบันมีฐานะเป็นจังหวัดสำคัญของกัมพูชา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบใหญ่ ชื่อพระตะบองเป็นคำที่ไทยเรียก แปลว่า ตะบองศักดิ์สิทธิ์ แต่ชาวเขมรเรียกว่า บัตด็อมบอง ซึ่งแปลว่า ตะบองหาย ซึ่งมีเรื่องเล่าเป็นนิทานพื้นบ้านของกัมพูชาว่า บัตด็อมบอง เป็นชื่อของลำน้ำและเป็นชื่อของเมืองเก่าที่ตั้งอยู่ริมลำน้ำดังกล่าวด้วย แต่เดิมเมืองนี้เป็นเมืองสำคัญมาแต่โบราณ ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กรุงกัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดให้สมเด็จ พระนารายณ์รามา (พระองค์เอง) กษัตริย์กัมพูชาถวายเมืองพระตะบองและเมืองเสียมราฐมาขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ โดยตรง และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าทะละหะ (แบน) เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง ในคราวเดียวกันก็โปรดให้ตั้งบ้านส็องแกร์ขึ้นเป็นศูนย์กลางของพระตะบองด้วย ตั้งแต่นั้นมาเมืองพระตะบองก็ขึ้นอยู่กับราชสำนักไทยจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไทยจึงต้องคืนเมืองนี้ให้กับฝรั่งเศส
เมื่อฝรั่งเศสยึดครองกัมพูชาไว้ในอำนาจทั้งหมด เมืองพระตะบองได้รับการพัฒนาเป็นจังหวัดที่รุ่งเรืองที่สุดในกัมพูชาในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อส่งออกที่สำคัญ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๔ กัมพูชายังอยู่ในอารักขาของฝรั่งเศส แต่เวลานั้นอำนาจของฝรั่งเศสในกัมพูชาไม่มั่นคงดังแต่ก่อน เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพันธมิตรทำสงครามกับเยอรมันและเป็นฝ่ายแพ้สงครามในระยะแรก ฝรั่งเศสในกัมพูชาทำสงครามกับไทย ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ ทางฝรั่งเศสต้องยอมยกพระตะบองและเสียมราฐให้ไทยโดยการสนับสนุนของญี่ปุ่น เนื่องจากไทยเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่น รัฐบาลไทยโดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองพระตะบองเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม แต่ต่อมาไม่นานเมื่อฝ่ายพันธมิตรซึ่งมีฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วย เป็นฝ่ายชนะในการทำสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยก็ต้องยกพระตะบองและเสียมราฐกลับคืนไปให้ฝรั่งเศสตามสัญญากรุงวอชิงตัน ต่อมาภายหลังเมื่อฝรั่งเศสคืนเอกราชให้กัมพูชา พระตะบองและเสียมราฐก็เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรกัมพูชาสืบมาจนถึงในปัจจุบัน
เมืองโพธิสัตว์ (เขมรเรียก โปซัด) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศกัมพูชา เมืองนี้เคยเป็นเมืองหลวงของกัมพูชาระยะหนึ่ง เมื่อครั้งเจ้าพญาจันทราชาเสด็จกลับจากกรุงศรีอยุธยามาประทับที่เมืองพระโพธิสัตว์ในปี พ.ศ. ๒๐๕๙ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๘๑ เมื่อทรงปราบขบถขุนหลวงพระเสด็จ (เจ้ากัน) ได้แล้ว จึงย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่เมืองละแวก
เมืองยโศธรปุระ อดีตราชธานีอันรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์กัมพูชา (เรียกกันทั่วไปว่าเมืองพระนคร) นักโบราณคดีเชื่อกันว่าการสร้างเมืองยโศธรปุระคงเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ลงก่อนที่จะแล้วเสร็จ พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ผู้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมาได้สืบสานการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ทรงย้ายมาประทับอยู่ที่ยโศธรปุระราชธานีแห่งใหม่ ซึ่งมีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ขอบที่ราบสูงพนมกุเลนลงมาจนถึงฝั่งด้านเหนือของทะเลสาบใหญ่
หลังจากที่พระเจ้ายโศรวรมันที่ ๑ สิ้นพระชนม์แล้ว มีกษัตริย์ประทับสืบมาอีก ๒ รัชกาล หลังจากนั้นเมืองยโศธรปุระก็หมดความสำคัญลง เพราะกษัตริย์ที่ปกครองกัมพูชาองค์ต่อมา คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ และพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๒ ประทับอยู่ที่เมืองเกาะแกร์ จนกระทั่งพระเจ้าราเชนทรวรมันเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงทรงย้ายราชธานีกลับมาที่เมืองยโศธรปุระตามเดิม หลังจากนั้นมาเมืองยโศธรปุระก็เป็นราชธานีที่รุ่งเรืองและมั่งคั่งสืบมาอีกหลายร้อยปี
เมืองละแวก (เขมรเรียก โลงแวก) ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำตวนเลสาบทางเหนือของเมืองพนมเปญและเมืองอุดงค์มีชัย เมืองละแวกเป็นราชธานีของกัมพูชาในสมัยพระบรมราชาที่ ๒ (เจ้าพญาจันท์) หลังจากที่ทรงปราบขบถขุนหลวงพระเสด็จ (เจ้ากัน) ได้แล้ว ได้ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่เมืองละแวกในปี พ.ศ. ๒๐๘๑ เมืองละแวกเป็นเมืองหลวงของกัมพูชาสืบมาจนถึง พ.ศ.๒๑๓๖ ในสมัยนักพระสัตถา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงยกทัพมาตีเมืองละแวกแตก หลังจากนั้นเมืองละแวกก็หมดความสำคัญลง
เมืองสวายเรียง (เขมรเรียก ซวายเรียง) เป็นเมืองตั้งขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นที่ว่าการมณฑลสวายเรียง ในช่วงที่ฝรั่งเศสกำกับการปกครองกัมพูชา เมืองนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา มีชายแดนติดกับประเทศเวียดนาม
เมืองเสียมราฐ (เขมรเรียก เซียมเรียบ) ปัจจุบันคือจังหวัดเสียมเรียบ ที่ตั้งโบราณสถานเมืองพระนครแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของกัมพูชา เดิมมีชื่อในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่า เมืองพระนครวัด แต่เขมรเรียกว่าเมืองเสียมเรียบหรือเสียมราบ ซึ่งแปลว่า สยามราบหรือสยามแพ้ ซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสมัยหลังพระนครเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๓ ในสมัยพระบรมราชาที่ ๒ (เจ้าพญาจันท์) ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นกองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีเมืองพระนคร และเป็นฝ่ายแพ้ราบต้องถอยหนีไป ต่อมาภายหลังเมื่อมีการตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่บริเวณดังกล่าวในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราชสำนักไทยได้เปลี่ยนนามเมืองเสียมเรียบเป็นเสียมราฐ ซึ่งแปลว่า รัฐแห่งสยาม แต่เขมรก็ยังเรียกว่าเสียมเรียบมาจนทุกวันนี้
เมืองอุดงค์มีชัย (เขมรเรียก อุดงเมียนเจย) ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพระราชทรัพย์ทางเหนือของกรุงพนมเปญ เมืองอุดงค์มีชัยเป็นเมืองหลวงสมัยหลังพระนครที่ยาวนานถึง ๒๔๖ ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๖๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาที่ ๒ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๐๘ ในรัชสมัยพระนโรดมพรหมบริรักษ์
โบราณสถานสำคัญในเมืองเสียมราฐ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานที่เมือง เสียมราฐ ทั้งหมด ๓๒ แห่ง ได้แก่ นครวัด นครธม เทวสถานบรรยงก์ สระสรง พลับพลาสูง พระราชวัง ปราสาทพระเจ้าขี้เรื้อน พระที่นั่งพิมานอากาศ สระน้ำในพระราชวัง ปราสาทพระขรรค์ สระนาคพัน ปราสาทโกรลโค ปราสาทตาโสม ปราสาทโลไล ปราสาทพระโค ปราสาทบากง พนมบาเกง ปราสาทกระวัน ปราสาทบันทายกะได (กะฏี) ปราสาทแปรรูป ปราสาทแม่บุญตะวันออก ปราสาทธรรมานนท์ วัดเทพประนม ปราสาทพระพิทู ปราสาทตาแก้ว ปราสาทตาพรหม เทวสถานบันทายสำเหร่ เทวสถานเจ้าไสยเทวดา เทวสถานบาปวน เทวสถานปักษีจำกรง วัดพระอินทรเทพ และพระโคกกลก ซึ่งในรายงานนี้จะอธิบายถึงเฉพาะโบราณสถานที่สำคัญๆ พร้อมทั้งคำอธิบายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ปราสาทนครวัด เป็นศาสนสถานศิลปะแบบนครวัด ที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และเป็นปราสาทเขมรที่ได้รับการยกย่องให้เป็นงานชิ้นเอกทางด้านสถาปัตยกรรมแห่งหนึ่งของโลก เพราะนอกจากจะเป็นปราสาทเขมรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแล้ว ยังมีแผนผังรูปทรงสถาปัตยกรรมที่ได้สัดส่วนสวยงาม แสดงถึงความเจริญสูงสุดของสถาปัตยกรรมเขมร นอกจากนี้ภาพสลักนูนจำนวนมากที่ประดับอยู่ที่ปราสาทนครวัดก็ยังเป็นงานศิลปะที่มีความยิ่งใหญ่สวยงามมากที่สุดด้วย
ปราสาทนครวัด
ประวัติความเป็นมา ด้วยความยิ่งใหญ่มโหฬารและความสวยงามมหัศจรรย์ของปราสาทนครวัด จึงทำให้ชาวเขมรในอดีตเชื่อกันว่าปราสาทนครวัดถูกเนรมิตขึ้นโดยพระวิศวกรรมเทพเจ้าแห่งการช่าง แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่าปราสาทนครวัดคือศาสนบรรพตที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระวิษณุในราวต้นรัชกาล แต่คงเสร็จสมบูรณ์หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เพราะได้พบภาพสลักของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ และจารึกกล่าวถึงพระนามของพระองค์ภายหลังที่สิ้นพระชนม์แล้วว่า “บรมวิษณุโลก” นักวิชาการบางท่านยังสันนิษฐานว่า ปราสาทนครวัดอาจจะเป็นทั้งศาสนสถานและสถานที่เกี่ยวกับพิธีการพระศพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ด้วย เพราะปราสาทหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศแห่งความตาย การเดินเวียนดูภาพสลักบนผนังระเบียงชั้นนอกสุดก็ต้องเดินเวียนจากซ้ายไปขวา ซึ่งเป็นลักษณะการเดินเวียนในพิธีกรรมเกี่ยวกับการศพตามความเชื่อในศาสนาฮินดู สำหรับชื่อของปราสาทที่เรียกกันว่า นครวัด นั้นเป็นชื่อที่มาเรียกกันภายหลัง เมื่อชาวเขมรหันมานับถือศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทในสมัยหลังเมืองพระนคร และได้มีการปรับเปลี่ยนให้ศาสนสถานแห่งนี้กลายเป็นวัดในพุทธศาสนา โดยการนำพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานไว้ในปราสาทประธานและยังประดิษฐานมาจนทุกวันนี้
แผนผังและลักษณะทางสถาปัตยกรรม ปราสาทนครวัดมีแผนผังที่ได้สัดส่วนสวยงามที่สุด ผังบริเวณทั้งหมดมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ๑,๕๐๐ เมตร กว้าง ๑,๓๐๐ เมตร มีคูน้ำกว้าง ๒๐๐ เมตร ล้อมรอบพื้นที่ทั้งสี่ด้าน ถัดจากคูน้ำเป็นกำแพงก่อด้วยศิลาทราย ตรงกลางคูน้ำด้านตะวันตกมี สะพานนาคก่อด้วยศิลาทอดยาวข้ามคูตรงไปยังประตูทางเข้าด้านหน้า ซึ่งก่อเป็นประตูซุ้มขนาดใหญ่ที่มีความยาวถึง ๒๕๐ เมตร และจากประตูซุ้มด้านหน้านี้มีทางเดินก่อด้วยศิลา ทอดยาวตรงไปยังชานชาลา รูปกากบาทหน้าปราสาท บนลานกว้างสองข้างทางเดินด้านเหนือและใต้ มีอาคารที่เรียกว่าบรรณาลัยหรือห้องสมุดตั้งอยู่ด้านละ ๑ หลัง และมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมด้านละ ๑ สระ
ปราสาทนครวัด
ที่มาของภาพ http://www.site-archeologique-khmer.org./
ตัวปราสาทตั้งอยู่บนฐานสูงที่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๓ ชั้น ฐานแต่ละชั้นมีระเบียงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน บนฐานชั้นบนสุดมีปราสาท ๕ หลัง ปราสาทหลังใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง อีก ๔ หลังซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตั้งอยู่ที่มุม ปราสาททั้ง ๕ หลังนี้มีระเบียงเชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด ซึ่งทำให้ผังของระเบียงเป็นรูปกากบาท จากระเบียงด้านทิศตะวันตกของฐานชั้นที่สอง และระเบียงด้านทิศตะวันตกของฐานชั้นล่างก็ยังมีระเบียงเชื่อมต่อถึงกันเป็นรูปกากบาทด้วย
อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั้งหมดที่ปราสาทนครวัดถูกกำหนดตำแหน่งที่ตั้งไว้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นระเบียบยิ่ง แผนผังของปราสาทนครวัดจึงเป็นตัวอย่างของแผนผังสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดในบรรดาศาสนสถานที่เป็นสัญลักษณ์เขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาลที่จำลองลงบนโลกมนุษย์ ปราสาท ๕ หลังที่ตั้งอยู่บนฐานชั้นบนสุดคือสัญลักษณ์แห่งเขาพระสุเมร กำแพงศิลาคือทิวเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ คูน้ำที่ล้อมรอบอยู่ด้านนอกสุดคือมหาสมุทรที่มีอยู่คู่จักรวาล
ภาพสลักและประติมานวิทยาที่ปราสาทนครวัด ปราสาทนครวัดมีภาพสลักอันประณีตงดงามประดับอยู่ตามตัวอาคาร โดยเฉพาะภาพนางอัปสรที่ทำหน้าที่ดูแลวิมานของเทพเจ้าจำนวนนับพันกว่าองค์ ที่ปรากฏอยู่ตามผนังปราสาทและผนังระเบียงคดบนฐานชั้นที่ ๒ และชั้นที่ ๓ มีความงดงามมาก ภาพนางอัปสรเหล่านี้ทำให้ปราสาทนครวัดเปรียบเสมือนวิมานของเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์จริงๆ
ภาพสลักรูปนางอัปสรที่ปราสาทนครวัด
ในส่วนที่เป็นภาพสลักเล่าเรื่องเกือบทั้งหมด เป็นเรื่องที่เกี่ยวพระวิษณุหรือการอวตารของพระองค์ลงมาเป็นพระรามและพระกฤษณะ นอกจากนี้ยังมีภาพสลักพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ปรากฏอยู่ด้วย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่ภาพสลักขนาดใหญ่ที่ประดับอยู่บนผนังระเบียงบนฐานชั้นที่ ๑ ซึ่งเป็นภาพสลักที่มีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาประติมากรรมภาพสลักของเขมร ได้แก่
ภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ตอนทำสงครามบนเกาะลงกา บนผนังด้านตะวันตกซีกเหนือ
ภาพเล่าเรื่องมหาภารตะตอนการสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร บนผนังด้านตะวันตกซีกใต้
ภาพเล่าเรื่องมหาภารตะตอนการทำสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร
ภาพประวัติศาสตร์ บนผนังด้านใต้ซีกตะวันตก ซึ่งมีภาพพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ปรากฏอยู่ด้วย ๒ ภาพ คือ
ภาพพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์แวดล้อมด้วยเครื่องสูงและบรรดาข้าราชสำนัก
ภาพพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ประทับอยู่เหนือพระคชาธาร
ถัดจากภาพพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ประทับอยู่เหนือพระคชาธาร ยังมีภาพเหล่าขบวนทัพของเหล่าขุนนางหรือแม่ทัพจากแว่นแคว้นต่างๆ ที่ใต้ภาพขบวนทัพดังกล่าวมีจารึกกำกับไว้ด้วยว่าเป็นแม่ทัพมาจากแว่นแคว้นใดและที่น่าสนใจยิ่งคือมีภาพกองทัพของแคว้นละโว้และกองทัพเสียมกุกรวมอยู่ด้วย
ภาพกองทัพ “ลโว้” (ซ้าย) และภาพกองทัพ “เสียมกุก” (ขวา)
ส่วนที่ผนังด้านใต้ซีกตะวันออกสลักเป็น ภาพเล่าเรื่องนรกและสวรรค์ ผนังด้านตะวันออกซีกใต้เป็น ภาพเรื่องกวนเกษียรสมุทร ที่มีขนาดใหญ่เต็มผนัง ผนังด้านตะวันออกซีกเหนือเป็น ภาพกองทัพยักษ์มีพระวิษณุทรงครุฑประทับอยู่ตรงกลาง ผนังด้านเหนือซีกตะวันออก เป็น ภาพเล่าเรื่องชัยชนะของพระกฤษณะต่อพระเจ้ากรุงพาณ และบนผนังด้านเหนือซีกตะวันตก เป็นภาพเรื่องเทวะสุรสงคราม คือ การรบระหว่างเหล่าเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์กับอสูรกาลเนมิ
เทวสถานบรรยงก์หรือปราสาทบายน เป็นพุทธสถานเนื่องในลัทธิมหายาน ศิลปะแบบบายน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ประวัติความเป็นมา ปราสาทบายนเป็นศาสนบรรพตประจำราชธานีที่พระเจ้าชัยวรมัน ที่ ๗ โปรดให้สร้างขึ้นกลางเมืองพระนครหลวงราชธานีของพระองค์ การค้นพบพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทประธาน เป็นสิ่งที่แสดงว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในศาสนาพุทธลัทธิมหายานอย่างแน่นอน นอกจากนี้ข้อมูลจากจารึกพบที่ปราสาทบายนทำให้ทราบว่า สถานที่แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพระราชพิธีเคารพบูชาเจ้านายในราชวงศ์กัมพูชา และรูปเคารพเทวดาประจำแว่นแคว้นต่างๆ ที่อยู่ใต้อำนาจการเมืองของกัมพูชาในเวลานั้นด้วย
ปราสาทบายน
แผนผังและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ปราสาทบายนเป็นศาสนบรรพตขนาดใหญ่ มีแผนผัง รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และการประดับตกแต่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ศาสนสถานแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่มีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบ แต่อาจเป็นไปได้ว่าคูน้ำและกำแพงเมืองพระนครหลวงหรือนครธมนั้นคงจะทำหน้าที่เป็นขอบเขตของปราสาทบายนซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองด้วย ตัวศาสนสถานประกอบด้วยปราสาทหลายหลังตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ ที่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๓ ชั้น ฐานชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีระเบียงคดล้อมรอบ ส่วนฐานชั้นที่ ๓ ซึ่งเป็นฐานรูปกากบาทเป็นที่ตั้งของปราสาทประธานและปราสาทบริวาร ๘ หลัง ปราสาทประธานที่ตั้งอยู่ตรงกลางก่อเป็นห้องที่ล้อมรอบด้วยระเบียงแคบๆ สลับกับอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารวม ๑๖ ห้อง ทำให้ผังปราสาทมีลักษณะเป็นรูปวงกลมคล้ายสถูปขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในศิลปะสถาปัตยกรรมเขมร นักโบราณคดีบางท่านอธิบายว่า ผังรูปวงกลมนี้อาจจะหมายถึงรูปยันตร์หรือมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้การประดับตกแต่งส่วนยอดของปราสาทประธานและปราสาทบริวารทุกหลังด้วยภาพสลักหน้าคนขนาดใหญ่ ๔ หน้า ที่มีลักษณะเหมือนกันหมด คือ มีรอยยิ้มน้อยๆ แต่ดูลึกลับอันเป็นลักษณะเฉพาะของรูปหน้าบุคคลในศิลปะแบบบายน ยิ่งทำให้รู้สึกว่าปราสาทหลังนี้เต็มไปด้วยความลี้ลับ
ภาพสลักหน้าคนขนาดใหญ่ที่ปราสาทบายน
สำหรับความหมายที่เกี่ยวกับภาพสลักหน้าคนขนาดใหญ่ดังกล่าว มีคำอธิบายจากนักวิชาการต่างๆ กันไปคือ บางท่านว่าอาจจะหมายถึงพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ บางท่านอธิบายว่าอาจจะหมายถึงพระโพธิสัตว์โลเกศวรสมันตมุข ผู้มีพระพักตร์อยู่ทั่วทุกทิศ บางท่านอธิบายว่า น่าจะเป็นพระพักตร์ของพระพรหม เพราะปราสาทบายนคือสัญลักษณ์แห่งธรรมสภาซึ่งเป็นที่ประชุมของเทวดาที่ตั้งอยู่กลางเมืองของพระอินทร์
นอกจากนี้ปราสาทบายนยังมีชื่อเสียงเกี่ยวกับภาพสลักนูนที่ประดับอยู่ตามผนัง ระเบียงคด ที่น่าสนใจที่สุดคือภาพสลักเล่าเรื่องเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการทำสงครามระหว่างพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และกองทัพจาม ที่ประดับอยู่ตามผนังด้านในของระเบียงชั้นที่ ๑ ผนังด้านทิศตะวันออกสลักเป็นภาพเล่าเรื่องการทำสงครามทางบก และผนังด้านทิศใต้สลักเป็นภาพเล่าเรื่องการทำสงครามทางเรือเหนือทะเลสาบใหญ่ เราจะสังเกตเห็นทหารของแต่ละฝ่ายได้จากเครื่องแต่งกายที่ต่างกัน เช่น ทหารเขมรไม่สวมหมวก ส่วนทหารจามมีหน้าตาคล้ายคนจีนสวมหมวกที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวคว่ำลง นอกจากนี้ที่ใต้ภาพการทำสงครามทั้งที่ผนังด้านตะวันออกและที่ผนังด้านใต้ ยังมีภาพเล่าเรื่องต่างๆ ที่ น่าชมอีกมากมาย เพราะแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาทั้งที่เป็นชาวบ้านและชาววังในสมัยนั้น เช่น ภาพแม่กำลังเล่นกับลูก คนเจ็บป่วยในโรงพยาบาล คนล่าสัตว์ คนจับปลา การชนไก่ การชนหมู การต่อสู้ตัวต่อตัว ชีวิตในบ้าน สภาพบ้านเรือน ชีวิตในราชสำนัก ฯลฯ
ภาพสลักเล่าเรื่องวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขมรโบราณที่ปราสาทบายน
สระสรง เป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๓๕๐ เมตร ยาว ๗๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเสียมราฐ ใกล้ๆ กับปราสาทบันทายกะได (กุฎี) ชาวเขมรเชื่อกันว่าสระน้ำนี้เป็นสระที่พระเจ้าแผ่นดินลงสรงน้ำ จึงเรียกกันว่า “สระสรง” จากร่องรอยสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่คือ ท่าน้ำที่ทำเป็นชานชาลารูปกากบาท มีบันไดนาคลงสู่สระน้ำ ลวดลายรูปเศียรนาคและสิงห์แบกที่สลักประดับอยู่ที่ราวบันได มีรูปแบบตรงกับศิลปะแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นักโบราณคดีอธิบายว่า เดิมสระแห่งนี้คงจะสร้างมาแต่ครั้งในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน เมื่อครั้งทรงย้ายราชธานีกลับมาที่เมือง ยโศธรปุระ ต่อมาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงได้มีการบูรณะสระน้ำนี้ขึ้นใหม่ และโปรดให้สร้างสะพานท่าน้ำขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงส่วนฐานและราวบันไดนาค
สระสรงและท่าน้ำที่ก่อเป็นชานชาลารูปกากบาทมีบันไดนาคลงสู่สระน้ำ
พระราชวังหลวง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และคงใช้เป็นที่ประทับของพระราชาเขมรสืบมาจนถึงสมัยหลังๆ แต่ปัจจุบันเหลือให้เห็นแต่กำแพงวังและซุ้มประตูทางเข้าที่ก่อด้วยศิลา ที่ประตูซุ้มทางเข้าด้านทิศตะวันออก บนแผ่นหินกรอบประตูด้านในซีกใต้ มีจารึกสมัยพระเจ้า สุริยวรมันที่ ๑ ซึ่งเป็นคำสาปแช่งตำรวจที่คิดคดทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดินให้ได้รับภัยพิบัติต่างๆ เชื่อกันว่าคำสาปแช่งนี้อาจเป็นต้นเค้าของพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของไทยสมัยอยุธยา ส่วนอาคาร ราชมณเฑียรที่ประทับของพระราชาคงจะสร้างด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้อง จึงไม่เหลือร่องรอยหลักฐานใดๆ ให้เห็นในปัจจุบันเลย นอกจากฐานอาคารที่ก่อด้วยศิลาเท่านั้น
ซุ้มประตูพระราชวังหลวงด้านทิศตะวันออก (ซ้าย) กำแพงพระราชวังหลวง (ขวา)
ที่มาของภาพ http://www.dlxs.library.cornell.edu./
พระที่นั่งพิมานอากาศ หรือ ปราสาทพิมานอากาศ เป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่ภายใน พระราชวังหลวง นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ปราสาทหลังนี้คงจะเป็นศาสนบรรพตที่พระเจ้าสุริยวรมัน ที่ ๑ โปรดให้สร้างขึ้นที่เมืองพระนคร ปราสาทหลังนี้เดิมมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน แต่ปัจจุบันพังไปเกือบหมดแล้ว ตัวปราสาทซึ่งมีอยู่เพียงหลังเดียวตั้งอยู่บนฐานสูงก่อด้วยศิลาแลงซ้อนกันขึ้นไป ๓ ชั้น มีบันไดขึ้นจากฐานชั้นล่างไปถึงฐานชั้นบนได้ทั้ง ๔ ทิศ รอบฐานชั้นบนสุดล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่มีขนาดเล็กแคบและเตี้ย เพราะเป็นระเบียงหลังแรกในสถาปัตยกรรมเขมรที่มุงหลังคาด้วยศิลาทราย ปราสาทหลังเดียวที่อยู่ข้างบนหักพังไปเกือบหมดเหลือให้เห็นแต่ส่วนฐานที่มีแผนผังเป็นรูปกากบาท
ตำนานพื้นเมืองเขมรกล่าวว่า ปราสาทพิมานอากาศเป็นที่ประทับของนางนาค ๙ เศียร ซึ่งคอยปกป้องคุ้มครองราชอาณาจักรกัมพูชา ทุกคืนกษัตริย์เขมรทุกพระองค์ต้องขึ้นไปประทับอยู่กับนางนาคในช่วงยามต้นของแต่ละคืน ถ้าพระราชาไม่ปฏิบัติตามที่กล่าว นางนาคก็จะโกรธและบันดาลให้ราชอาณาจักรกัมพูชาล่มสลาย ตำนานนี้คงเล่าขานกันมานาน แม้เมื่อ จิวตากวน หนึ่งในคณะทูตจีนที่เดินทางเข้ามาในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ยังได้ยินเรื่องตำนานนี้ และนำไปเขียนเล่าไว้ในบันทึกการเดินทางของเขาด้วย
ปราสาทพิมานอากาศ
สระน้ำในพระราชวัง ภายในขอบเขตพระราชวังหลวงยังมีสระน้ำ ๒ สระ ที่น่าสนใจยิ่ง คือ สระที่มีความกว้างยาว ๘๕ x ๑๐๕ เมตร ขอบสระกรุด้วยศิลาทรายเรียงเป็นขั้นบันไดลดหลั่นไป แต่ละขั้นบันไดมีภาพสลักเป็นแนว แนวชั้นบนเป็นรูปครุฑชายและหญิงที่หาดูได้ยากยิ่ง แนวชั้นกลางเป็นรูปพญานาคแผ่พังพาน ๗ เศียร บางแห่งสลักเป็นรูปนาคจำแลงเป็นมนุษย์มีทั้งชายและหญิง แนวล่างสุดเป็นภาพสลักสัตว์น้ำนานาชนิด แสดงให้เห็นว่าสระนี้คงจะเป็นสระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ จึงมีการตกแต่งเป็นพิเศษและไม่เคยพบที่ไหนเลย พิจารณาจากศิลปะลวดลายที่สลักประดับดังกล่าวเป็นศิลปะแบบบายน จึงสันนิษฐานกันว่า สระนี้คงจะเป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
ลวดลายสลักที่ขอบสระสรงในพระราชวังหลวง
พลับพลาสูง (ปัจจุบันเรียกว่าฐานช้างหรือที่เรียกว่าลานพระเสด็จ) ตั้งอยู่หน้าประตูพระราชวังหลวงด้านทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นฐานขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาทราย สูง ๓ เมตร ยาว ๒๐๐ เมตร มีบันไดทางขึ้นไปสู่ฐานชั้นบน ผนังด้านหน้าของฐานตลอดแนวมีภาพสลักนูนสูง เป็นรูปขบวนช้างเรียงเป็นแนวยาว จึงเรียกกันว่า ฐานช้าง สำหรับประโยชน์ใช้สอยจริงๆ ไม่มีใครทราบ แต่สันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นส่วนฐานของพลับพลาที่ประทับที่สร้างด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เพื่อใช้ในวโรกาสที่พระราชาเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าหรือเมื่อมีงานพระราชพิธีหลวง จึงเรียกว่าลานพระเสด็จ และถ้าพิจารณาจากศิลปกรรมและลวดลายที่สลักประดับที่ฐานของพลับพลานี้ สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
พลับพลาสูงซึ่งปัจจุบันเรียกฐานช้างหรือลานพระเสด็จ
ปราสาทพระเจ้าขี้เรื้อน (ปัจจุบันเรียกว่า ฐานพระเจ้าขี้เรื้อน) ศิลปะแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีลักษณะเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมขนาดสูงใหญ่ ตั้งอยู่หน้าประตูพระราชวังถัดจากฐานช้างไปทางทิศเหนือ “พระเจ้าขี้เรื้อน” เป็นพระนามพระราชาที่อยู่ในนิทานพื้นบ้านของเขมรองค์หนึ่งที่ประชวรด้วยโรคเรื้อน ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าคือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และเหตุที่นำคำว่าพระเจ้าขี้เรื้อน มาเป็นชื่อเรียกฐานนี้ เนื่องจากมีการค้นพบประติมากรรมรูปบุคคลนั่งชันเข่าขนาดค่อนข้างใหญ่ตั้งอยู่บนฐานนี้ และประติมากรรมดังกล่าวสลักจากศิลาทรายที่มีรอยด่างขาวปรากฏอยู่มากมาย อีกทั้งยังมีรูปแบบศิลปะจัดอยู่ในสมัยบายนด้วย ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่ารูปสลักดังกล่าวนี้ คือรูปฉลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งประชวรด้วยโรคเรื้อน จึงเรียกฐานนี้ว่าฐานพระเจ้าขี้เรื้อน แต่อันที่จริงแล้วประติมากรรมรูปบุคคลดังกล่าวน่าจะเป็นรูปพระยม เพราะมีเขี้ยวปรากฏอยู่ที่ริมฝีปากทั้งสองข้าง
รูปพระยมและฐานพระเจ้าขี้เรื้อน
ที่มาของภาพ http://www.dlxs.library.cornell.edu./
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจพบที่ฐานพระเจ้าขี้เรื้อนอีกอย่างหนึ่ง คือภาพสลักนูนสูง รูปบุคคลต่างๆ และสัตว์ในเทพนิยายหลายชนิด เช่น เทวดา นางอัปสร ยักษ์ ครุฑ นาค ปลา ซึ่งสลักเรียงเป็นแนวไว้อย่างสวยงาม สันนิษฐานว่ารูปสลักดังกล่าวน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ฐานนี้ คือฐานของ เขาพระสุเมรจำลอง ซึ่งอาจใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินเขมรและพระบรม วงศานุวงศ์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานชี้ชัด บางท่านอธิบายว่าอาจจะเป็นฐานที่ใช้เกี่ยวกับพิธีการศพ เพราะได้พบรูปพระยมตั้งอยู่บนฐานด้วย
ปราสาทพระขรรค์ เป็นพุทธสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรด ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๑๗๓๔ ในบริเวณที่ทรงมีชัยชนะพวกจามเมื่อครั้งทำสงครามกู้อิสรภาพ ศาสนสถานหลังนี้พระองค์สร้างอุทิศถวายแด่พระราชบิดา คือพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ มีการสร้าง รูปเคารพของพระบิดาภายใต้รูปเคารพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้มีนามว่า ศรีชัยวรรเมศวร เทพ ผู้คุ้มครองพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ศาสนสถานแห่งนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก ข้อมูลจากจารึกค้นพบที่ปราสาทพระขรรค์ ทำให้ทราบว่าสถานที่แห่งนี้มีชื่อเรียกว่า เมืองชัยศรี เป็นที่อยู่ของผู้คนจำนวนมากถึง ๙๗,๘๔๐ คน มีนักฟ้อนรำสำหรับงานพิธีทางศาสนาถึง ๑,๐๐๐ คน
แผนผังของปราสาทพระขรรค์ มีลักษณะคล้ายกับผังเมืองนครธมหรือพระนครหลวง แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๗๐๐ x ๘๐๐ ตารางเมตร ขอบเขตรอบนอกสุดทั้งสี่ด้านเป็นคูน้ำ คูน้ำแต่ละด้านมีทางเดินข้ามไปยังประตูทางเข้าของกำแพงชั้นนอกที่ก่อด้วยศิลาแลง สองข้างทางเดินข้ามคูน้ำดังกล่าวประดับด้วยรูปสลักลอยตัวขนาดใหญ่ เป็นรูปแถวอสูรยุดนาค และแถวเทวดายุดนาคเหมือนกับที่เมืองพระนครหลวง ประตูทางเข้าของกำแพงชั้นนอกมีขนาดใหญ่ก่อเป็นซุ้มยอดปราสาท
ทางเดินข้ามคูน้ำเข้าสู่ปราสาทพระขรรค์
กลุ่มศาสนสถานที่ตั้งอยู่ภายในขอบเขตของปราสาทพระขรรค์ที่มีกำแพงล้อมรอบ ประกอบด้วยอาคารหลายหลัง ที่น่าสนใจที่สุดคือ อาคารขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ ชั้น ก่อด้วยศิลาทราย ชั้นล่างสุดไม่มีผนัง มีแต่เพียงแนวเสาหินกลมขนาดใหญ่รองรับอาคารชั้นบน ซึ่งมีผนังเจาะเป็นช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ หลังคาที่ก่อเป็นรูปวงโค้งพังลงมาหมดแล้ว สิ่งที่น่าแปลกใจคือ อาคารหลังนี้ไม่มีบันไดขึ้นไปสู่ชั้นบน และอาคารลักษณะเช่นนี้ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อนเลยในสถาปัตยกรรมเขมร
อาคารสองชั้นขนาดใหญ่ที่ปราสาทพระขรรค์
กลุ่มศาสนสถานสำคัญที่ตั้งอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยระเบียงคด ๒ ชั้น มีปราสาทขนาดเล็กรายล้อมอยู่มากมาย ซึ่งคงจะมาสร้างเพิ่มเติมขึ้นในสมัยหลังๆ จึงดูไม่ค่อยมีระเบียบนัก ปราสาทเล็กๆ ดังกล่าวคงจะสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่ราชวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เรียกศาสนสถานแห่งนี้ว่า สุสานแห่งราชวงศ์
สระนาคพัน (ปัจจุบันเรียกว่า ปราสาทนาคพัน) เป็นศาสนสถานสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างขึ้นทางด้านเหนือของเมืองพระนครหลวง ในบริเวณกลางสระน้ำที่มีชื่อเรียกว่า ชัยตฏากะ แต่ปัจจุบันสระนี้ตื้นเขินแล้ว ชื่อเดิมของศาสนสถานแห่งนี้ คือ ราชัยศรี ส่วนนาคพันเป็นชื่อที่มาเรียกกันภายหลังตามรูปสลักนาค ๒ ตัวที่พันอยู่รอบฐาน ปราสาทหลังนี้มีรูปลักษณะและแผนผังแตกต่างไปจากปราสาทเขมรโดยทั่วไป และเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าปราสาทแห่งนี้คือรูปสัญลักษณ์ของสระอโนดาต สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนาว่า เป็นสระน้ำบริสุทธิ์ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำ ๔ สายที่ไหลมาหล่อเลี้ยงโลกมนุษย์ น้ำในสระอโนดาตไม่มีวันเหือดแห้ง ตราบใดที่ยังไม่ถึงวาระสุดท้ายของกัปป์นี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างรูปสัญลักษณ์นี้ขึ้นในบ้านเมืองของพระองค์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนของพระองค์ว่า ราชอาณาจักรกัมพูชาจะมีอายุยาวนานชั่วกัปป์ชั่วกัลป์
อาคารสองชั้นขนาดใหญ่ที่ปราสาทพระขรรค์
แผนผังทั้งหมดประกอบด้วยสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ๕ สระ สระหนึ่งอยู่ตรงกลาง และสระอีก ๔ สระเชื่อมต่อกับสระตรงกลางที่ด้านข้างทั้ง ๔ ทิศ และที่บริเวณขอบสระใหญ่ที่เชื่อมต่อกับสระเล็กทั้ง ๔ ด้าน มีซุ้มเล็กๆ ปกคลุมท่อน้ำที่ต่อมาจากสระตรงกลาง ที่ปากท่อสลักเป็นรูปต่างๆ คือ ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปหน้าคน ทิศตะวันตกเป็นรูปหัวม้า ทิศเหนือเป็นรูปหัวช้าง ทิศใต้เป็นรูปหน้าสิงห์ และที่ใต้ปากท่อมีแท่นหินแกะสลักเป็นรูปรอยเท้าคนรองรับอยู่ที่พื้น จึงสันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นซุ้มสำหรับพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่หน้าบันของซุ้มแต่ละด้านประดับด้วยภาพสลักเล่าเรื่องในพุทธประวัติตอนต่างๆ สระใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง เป็นที่ตั้งของปราสาทขนาดเล็กก่อด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานกลมซึ่งสร้างซ้อนลดหลั่นเป็นขั้นบันได ขั้นล่างสุดมีรูปนาค ๒ ตัวพันล้อมรอบ ถัดจากฐานกลมเป็นรูปดอกบัวขนาดใหญ่รองรับตัวปราสาท มีภาพสลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประดับอยู่ตามผนังปราสาท ส่วนที่หน้าบันมีภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติประดับอยู่ทั้ง ๔ ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออกสลักเป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าปลงพระเกศา ทิศเหนือสลักเป็นภาพตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทิศตะวันตกสลักเป็นภาพตอนป่าเลไลยก์ และทิศใต้สลักเป็นภาพตอนมารวิชัย นอกจากนี้ในบริเวณ สระใหญ่รอบๆ ตัวปราสาท ยังมีภาพประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามทิศทั้ง ๔ คือ ทิศตะวันตก เป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธ์ ทิศเหนือเป็นรูปศิวลึงค์ ทิศใต้ไม่ทราบแน่ ส่วนทิศตะวันออกเป็นรูป ม้าวลาหก ซึ่งในปัจจุบันได้รับการบูรณะจนมีสภาพสมบูรณ์ ม้าวลาหกคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่แปลงร่างเป็นม้า เพื่อช่วยชาวเรือให้พ้นภัยจากยักษีที่อาศัยอยู่บนเกาะที่ชาวเรือไปอาศัยอยู่ และการเสด็จฯ มาของพระโพธิสัตว์ครั้งนี้ เพราะพวกชาวเรือสวดมนต์อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ นอกจากนี้ข้อมูลในจารึกยังระบุว่า มีการสร้างรูปเคารพประดิษฐานอยู่ที่นี่ถึง ๑๔ รูป และรูปศิวลึงค์ถึง ๑,๐๐๐ องค์ แต่ไม่เคยพบร่องรอยหลักฐานดังกล่าวเลย
ในปัจจุบันปราสาทนาคพันได้รับการบูรณะแล้ว จึงมีสภาพสมบูรณ์และงดงามน่าชมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนน้ำจะเต็มสระ ปราสาทนาคพันจึงดูเหมือนว่าตั้งอยู่บนดอกบัวบานขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่กลางสระ
ปราสาทโกรลโค เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ศิลปะแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ศาสนสถานหลังนี้เป็นปราสาท ขนาดเล็กที่มีกำแพงก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบถึง ๒ ชั้น กำแพงชั้นนอกด้านทิศตะวันออกมีทางเข้าที่เจาะเป็นช่องประตูง่ายๆ ในขณะที่กำแพงชั้นในมีทางเข้าก่อด้วยหินทรายเป็นซุ้มประตูหรือโคปุระ และที่ด้านหน้าของโคปุระของกำแพงชั้นในนี้ มีหน้าบันที่ประกอบขึ้นใหม่ตั้งอยู่ที่พื้นดิน ๒ ชิ้น ชิ้นแรกสลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวร อีกชิ้นสลักเป็นภาพเล่าเรื่องพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ส่วนปราสาทประธานที่ตั้งอยู่ตรงกลางก่อด้วยหินทรายและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีการแกะสลักประดับด้วยลวดลายต่างๆ ซึ่งเป็นลวดลายในศิลปะแบบบายน อย่างแท้จริง แต่น่าเสียดายว่าส่วนยอดของปราสาทประธานหักพังลงแล้ว และที่บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน ยังมีอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย ก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่หนึ่งหลังด้วย
ปราสาทตาโสม เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ศิลปะแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ปราสาทหลังนี้มีฐานเตี้ยเช่นเดียวกับศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนาแห่งอื่นๆ มีกำแพงล้อมรอบ มีประตูเข้าออกทั้งสี่ทิศ ประตูซุ้มทางเข้าด้านทิศตะวันออกทำยอดซุ้มประตูเป็นรูปหน้าคนขนาดใหญ่มี ๔ หน้า อันเป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
ปราสาทโลไล หรือปราสาทโลเลย เป็นศาสนสถานที่พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ โปรดให้สร้างขึ้นที่เมืองหริหราลัยในปี พ.ศ. ๑๔๓๖ ที่กลางบารายอินทรตฏากะ (ปัจจุบันตื้นเขินหมดจนไม่เหลือสภาพของอ่างเก็บน้ำให้เห็นเลย) ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่บรรพบุรุษและบรรพสตรีของพระองค์ตามแบบประเพณีที่เคยทำมาในรัชกาลก่อน ศาสนสถานแห่งนี้ประกอบด้วยปราสาทอิฐ ๔ หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ลักษณะรูปแบบลวดลายที่สลักอยู่บนทับหลังและเสาประดับกรอบประตู เป็นศิลปะสมัยพระโคตอนปลาย
ปราสาทโลเลย
ปราสาทพระโค เป็นศาสนสถานที่พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ โปรดให้สร้างขึ้นที่เมือง หริหราลัยในปี พ.ศ. ๑๔๒๒ เพื่ออุทิศถวายแด่บรรพบุรุษของพระองค์ ปราสาทหลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๔๐๐ x ๘๐๐ ตารางเมตร มีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบ ปัจจุบันเหลือให้เห็นแต่เพียงกลุ่มศาสนสถานที่ประกอบด้วยปราสาทอิฐ ๖ หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ตัวปราสาทประดับด้วยปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาที่มีรูปบุคคลและสัตว์แทรกอยู่ในลวดลาย และยังมีรูปทวารบาลสลักจากศิลาทรายยืนอยู่ในซุ้มประดับอยู่ที่ผนังด้านข้างของประตูทางเข้า ส่วนทับหลังและเสาประดับกรอบประตูซึ่งทำจากหินทรายสลักลวดลายประดับไว้อย่างงดงามน่าชม โดยเฉพาะลวดลายบนทับหลังซึ่งสลักเป็นรูปหน้ากาล ครุฑ หรือพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ท่ามกลางลวดลายพันธุ์พฤกษา ถือเป็นตัวอย่างทับหลังสมัยพระโคที่มีความงดงามที่สุดในบรรดาทับหลังประดับสมัยต่างๆ ในศิลปะเขมร
ปราสาทพระโค
ปราสาทบากง หรือปราสาทบากอง เป็นศาสนบรรพตที่พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ สร้างขึ้นที่เมืองหริหราลัยในปี พ.ศ. ๑๔๒๔ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพเทวราชา มีลักษณะพิเศษคือ เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นบนฐานเป็นชั้นขนาดใหญ่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้น บริเวณรอบนอกมีคูน้ำและกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบถึง ๔ ชั้น แต่ชำรุดเกือบหมดเหลือให้เห็นเพียงซากกำแพง ชั้นในสุด ซึ่งมีซุ้มประตูทางเข้า ๔ ด้าน ด้านสำคัญอยู่ทางทิศตะวันออกและตะวันตก ภายในกำแพงชั้นนี้มีซากอาคารที่มีรูปแบบและขนาดต่างๆ กันหลายแห่ง ที่สำคัญและคงสภาพดีคือ ปราสาทก่อด้วยอิฐ ๕ หลัง (เดิมมีทั้งหมด ๘ หลัง) ซึ่งตั้งเรียงรายล้อมรอบฐานชั้นล่างสุด ปราสาทอิฐเหล่านี้ประดับตกแต่งผนังด้วยลายปูนปั้น ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูสลักลายประดับไว้อย่างงดงามตามแบบศิลปะ สมัยพระโค
บนฐานที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ มีบันไดทางขึ้นลอดผ่านซุ้มประตูไปยังลานชั้นบนสุดทั้งสี่ทิศ ที่มุมของฐานประดับด้วยรูปช้างทรงเครื่องมองเห็นทั้งตัว และบนฐานชั้นที่ ๔ มีปราสาทขนาดเล็กก่อด้วยศิลาทราย ๑๒ หลังตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบ บนฐานชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งของปราสาทประธานขนาดใหญ่หลังเดียว แต่น่าเสียดายว่าปราสาทองค์เดิมพังไปแล้ว ที่มองเห็นในปัจจุบันเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในสมัยหลัง ปราสาทบากองถือเป็นตัวอย่างของปราสาทเขมรสมัยต้นพระนครที่สร้างขึ้นบนฐานเป็นชั้น ณ ที่แห่งนี้ได้พบประติมากรรมรูปเคารพที่สลักเป็นประติมากรรมลอยตัวที่มีชื่อเสียง คือพระอิศวรและพระชายาทั้งสองคือพระอุมาและพระคงคา ประทับยืนอยู่บนฐานเดียวกัน
ปราสาทบากอง
พนมบาเกง คือภูเขาที่ตั้งอยู่กลางเมืองยโศธรปุระ เป็นภูเขาหินทรายสูงราว ๖๐ เมตร มีชื่อปรากฏในจารึกว่า “ยโศธรคิริ” และถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์แห่งเขาพระสุเมร โดยสร้างปราสาทขึ้นบนยอดเขา ซึ่งมีชื่อเรียกกันในปัจจุบันว่าปราสาทพนมบาเกงหรือพนมบาแค็ง ปราสาท แห่งนี้เป็นศาสนสถานประจำราชธานีที่ประดิษฐานรูปเคารพเทวราชา และมีลักษณะเป็นศาสนบรรพตอย่างแท้จริง คือ มีแผนผังประกอบด้วยกลุ่มปราสาทก่อด้วยศิลา ๕ หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันเหลือเพียงหลังใหญ่ที่อยู่ตรงกลางเท่านั้น อีกสี่หลังที่มุมพังไปเกือบหมดแล้ว และตัวปราสาทหลังกลางที่ยังเหลืออยู่นั้น มีภาพสลักในศิลปะเขมรสมัยบาแค็งให้ชมด้วย
กลุ่มปราสาททั้ง ๕ หลังตั้งอยู่บนฐานใหญ่ที่สร้างลดหลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้น มีบันไดทางขึ้นจากฐานชั้นล่างไปจนถึงฐานชั้นบนสุด ที่รอบฐานแต่ละชั้นมีปราสาทก่อด้วยศิลาทรายขนาดเล็กตั้ง เรียงรายอยู่ชั้นละ ๑๒ หลังรวมทั้งหมดเป็น ๖๐ หลังและที่บริเวณรอบฐานชั้นล่างสุดยังมีปราสาท ก่อด้วยอิฐเรียงรายอยู่โดยรอบอีก ๔๔ หลัง ถัดมาทางด้านทิศตะวันออก ยังมีอาคารที่เรียกว่าห้องสมุดตั้งอยู่ ๒ หลัง กลุ่มศาสนสถานทั้งหมดนี้ถูกล้อมรอบด้วยกำแพงก่อด้วยศิลาแลงที่มีประตูทางเข้า ๔ ด้าน แต่ปัจจุบันชำรุดหักพังไปหมดแล้ว
ปราสาทพนมบาแค็ง
ปราสาทกระวัน (กระวันเป็นชื่อดอกไม้ที่รู้จักกันในภาษาไทยว่าดอกนมแมว) เป็นศาสนสถานที่บรรดาข้าราชการในสมัยพระเจ้าอิศานวรมันที่ ๒ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระวิษณุ ปราสาทแห่งนี้ประกอบด้วยปราสาทอิฐ ๕ หลังตั้งเรียงเป็นแถวเดียวในแนวเหนือ-ใต้อยู่บนฐานเดียวกัน สิ่งที่น่าชมมากและทำให้ปราสาทกระวันมีชื่อเสียงไม่ด้อยไปกว่าปราสาทแห่งอื่นๆ ในเมืองพระนคร คือที่ผนังด้านในของปราสาทมีการแกะสลักภาพนูนต่ำประดับไว้บนผนังอิฐ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่หาได้ยากยิ่งในศิลปะเขมร และมีให้ชมน้อยแห่งมาก ภาพแกะสลักผนังด้านในของปราสาทประธาน สลักเป็นรูปพระวิษณุประทับยืน ๘ กร พระวิษณุปางตรีวิกรมหรือที่เรียกว่านารายณ์ย่างสามขุมมีรูปพระภูมิเทวีถือดอกบัวรองรับพระบาททางด้านขวา มีพระลักษมีประทับนั่งอยู่ด้านซ้าย และภาพพระวิษณุทรงครุฑ ที่ปราสาทหลังเหนือผนังด้านในสลักเป็นรูปพระลักษมีประทับยืนมีบริวารนั่งอยู่ด้านข้างทั้งสองข้าง ภาพสลักดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญสนับสนุนเรื่องราวในจารึกที่ว่า ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นอุทิศถวายแด่องค์พระวิษณุหรือสร้างขึ้นในลัทธิไวษณพนิกาย อายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๕
ปราสาทกระวันและภาพสลักพระวิษณุทรงครุฑบนนผนังปราสาทประธาน
ปราสาทบันทายกะได (กะฏี) (เขมรเรียกว่า บอนเตีย กะเด็ย) เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างขึ้นในระยะต้นๆ รัชกาล ปราสาทหลังนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของปราสาทเขมรสมัยบายนอีกหลังหนึ่ง คือ เป็นปราสาทที่สร้างบนฐานไม่สูงมาก มีปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลางรายล้อมด้วยอาคารบริวาร และมีระเบียงคดล้อมรอบ ขอบเขตชั้นนอกเป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลง มีประตูซุ้มทางเข้าด้านทิศตะวันออกสลักเป็นรูปหน้าคน ๔ หน้าขนาดใหญ่ อันเป็นลักษณะสำคัญของสิ่งก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นอกจากนี้บนสันกำแพงยังประดับด้วยทับหลังสลักเป็นรูปซุ้มมีพระพุทธรูปประดับอยู่ภายในวางเรียงติดกัน แต่รูปพระพุทธรูปถูกสกัดออกหมดแล้ว นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า การสกัดรูปพระพุทธรูปออกนั้นคงจะเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ (พ.ศ. ๑๗๘๖ - ๑๘๓๘) ซึ่งหันมานับถือศาสนาพราหมณ์
ประตูซุ้มทางเข้าปราสาทบันทายกะได (กุฎี)
ปราสาทแปรรูป เป็นศาสนบรรพตที่พระเจ้าราเชนทรวรมันโปรดให้สร้างขึ้นทางทิศใต้ของบารายตะวันออก แผนผังของศาสนสถานหลังนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยคูน้ำ แต่ปัจจุบันได้แปรสภาพไปจนมองไม่เห็นแล้ว ถัดจากคูน้ำเป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ มีซุ้มประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ บริเวณด้านในของแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก มีปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ๕ หลัง ตั้งเรียงเป็นแนวอยู่ด้านใต้ ๓ หลัง ด้านเหนือ ๒ หลัง ส่วนบริเวณด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก มีอาคารก่อเป็นห้องยาวๆ ขนานไปกับแนวกำแพง แต่ปัจจุบันชำรุดหักพังไปมาก ถัดไปมีกำแพงชั้นในก่อด้วยศิลาแลง มีประตูซุ้มทางเข้าทั้ง ๔ ทิศเช่นกัน ภายในบริเวณกำแพงชั้นนี้ มีอาคารที่ก่อเป็นห้องยาวๆ ๙ หลัง สร้างเรียงเป็นแนวขนานไปกับกำแพงทั้ง ๔ ด้าน ห้องยาวๆ นี้ก่อผนังทึบทั้งสองด้าน มีหลังคาทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องซึ่งในปัจจุบันพังไปหมดแล้วเช่นกัน และที่บริเวณด้านทิศตะวันออกยังมีอาคารที่เรียกว่า ห้องสมุดหรือบรรณาลัย ก่อด้วยอิฐ ๒ หลังตั้งขนาบอยู่ที่สองข้างทางเดิน ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีอาคารโถงขนาดเล็กๆ ก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ ๑ หลัง
บริเวณพื้นที่ตรงกลางเป็นที่ตั้งของฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง ซ้อนกัน ๓ ชั้น สูงราว ๑๒ เมตร มีบันไดขึ้นไปถึงฐานชั้นบนทั้ง ๔ ทิศพื้นที่รอบๆ บนฐานชั้นแรกเป็นที่ตั้งของปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดเล็กๆ ๑๒ หลัง ฐานชั้นที่ ๒ ด้านทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้น ๓ บันได ฐานชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งปราสาทก่อด้วยอิฐ ๕ หลัง ใช้เป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปเคารพ
ลักษณะเด่นของปราสาทแปรรูป นอกจากแผนผังซึ่งมีสัดส่วนงดงามแล้ว วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างยังช่วยเพิ่มความน่าดูให้ปราสาทแปรรูปด้วย คือ ส่วนฐานใหญ่ที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ นั้นก่อด้วยศิลาแลงคุณภาพดีสีแดงเข้ม ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐสีชมพู มีเสาประดับกรอบประตู ทับหลังทำจากศิลาทรายสีเขียวสลักลวดลายประดับไว้อย่างสวยงาม ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐประดับด้วยลายปูนปั้น
ปราสาทแปรรูป
ส่วนชื่อของปราสาทที่เรียกว่า แปรรูป ได้มาจากนิทานพื้นบ้านที่เล่าว่าปราสาทหลังนี้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพกษัตริย์เขมรองค์หนึ่ง และที่หน้าบันไดทางขึ้นยังมีฐานก่อด้วย ศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโลงศพ ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพและทำพิธีแปรรูปเก็บอัฐิที่เผาแล้ว แต่อันที่จริงแล้วฐานนี้คือที่ประดิษฐานโคนนทิ
ปราสาทเมบอน (หรือแม่บุญตะวันออก) เป็นศาสนสถานที่พระเจ้าราเชนทรวรมัน โปรดให้สร้างขึ้นเป็นแห่งแรก หลังจากที่ทรงย้ายราชธานีกลับคืนสู่เมืองยโศธรปุระ โดยสร้างขึ้นกลางอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ทางด้านตะวันออกของเมือง (ปัจจุบันเรียกว่า บารายตะวันออก) เพื่ออุทิศถวายแด่บรรพบุรุษของพระองค์ตามแบบราชประเพณีที่พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ เคยทำมาก่อน ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทที่งดงามน่าชมแห่งหนึ่งในบรรดาปราสาทเขมรที่เมืองพระนคร ประกอบด้วย ปราสาทอิฐ ๕ หลังตั้งอยู่บนฐาน ๓ ชั้นซึ่งก่อด้วยศิลาแลงและมีความสูงไม่มาก จากฐานชั้นล่างขึ้นไป ถึงฐานชั้นบนมีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ ฐานชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งของปราสาท ๕ หลัง หลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีก ๔ หลังอยู่ที่มุม ส่วนฐานชั้นที่ ๒ เป็นที่ตั้งปราสาทก่อด้วยอิฐ ๘ หลังตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบ และ ที่มุมทั้งสี่ของฐานชั้นเดียวกันยังมีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๒ หลัง และ ที่มุมอีกสามด้านด้านละ ๑ หลัง และบริเวณมุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ ๒ นอกกำแพง ยังมีรูปช้างหมอบลอยตัว ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นประดับอยู่ด้วย ที่บริเวณรอบฐานชั้นล่างสุดมีอาคารที่ก่อเป็นห้องยาวๆ เรียงรายโดยรอบคล้ายระเบียงที่ก่อเป็นตอนๆ นอกจากนี้ตามทับหลังและเสาประดับกรอบประตูที่ทำจากศิลาทรายยังประดับด้วยลวดลายที่สลักไว้อย่างงดงาม ถือเป็นตัวอย่างทับหลังและเสาประดับกรอบประตูสมัยแปรรูปที่ดีที่สุด
ปราสาทแม่บุญตะวันออก
ปราสาทธรรมานนท์ หรือปราสาทธมมานนท์ ตั้งอยู่ใกล้กับประตูเมืองนครธมด้าน ทิศตะวันออก เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ถ้าพิจารณาจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและรูปแบบศิลปะของลวดลายที่ใช้ประดับตกแต่งซึ่งตรงกับศิลปะแบบนครวัด อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ จึงอาจกล่าวได้ว่าศาสนสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แม้เป็นปราสาทขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บนฐานไม่สูงนัก แต่มีการสลักลวดลายประดับไว้อย่างงดงามน่าชมมาก โดยเฉพาะรูปนางอัปสรที่ประดับอยู่บนผนังปราสาทข้างประตูทางเข้า ส่วนภาพสลักเล่าเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์
ปราสาทธมมานนท์
วัดเทพพนม หรือวัดเทพประนม ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองนครธม ห่างจากฐานพระเจ้า ขี้เรื้อนไปทางด้านเหนือราว ๑๐๐ เมตร จากร่องรอยหลักฐานที่มีอยู่ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า วัดนี้เดิมคงสร้างมาแต่ครั้งสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และได้มีการบูรณะและก่อสร้างเพิ่มในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และหลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เมื่อศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์เริ่มแพร่หลายเข้าไปในกัมพูชา จึงมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท มีการสร้างพระอุโบสถซึ่งปัจจุบันเหลือให้เห็นแต่ส่วนฐานที่มีใบเสมาตั้งอยู่แปดทิศ รวมทั้งพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย และพระพุทธรูปประทับยืนขนาดใหญ่ พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานอภัย
พระพุทธรูปที่วัดเทพพนม
ที่มาของภาพ http://www.dlxs.library.cornell.edu./
ปราสาทพระพิทู หรือปราสาทพระปิถุ เป็นศาสนสถานขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านเหนือของปราสาทคลังหลังเหนือ เกือบจะตรงข้ามกับวัดเทพประนม ประกอบด้วยปราสาทห้าหลังที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ และไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ถ้าพิจารณาจากลวดลายที่สลักประดับตกแต่งอยู่ที่ปราสาทแห่งนี้ สันนิษฐานได้ว่าเดิมเป็นเทวสถานที่สร้างขึ้นในสมัยนครวัด ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ต่อมาในสมัยบายน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นพุทธสถาน
ปราสาทพระพิทู หรือปราสาทพระปิถุ เป็นศาสนสถานขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านเหนือของปราสาทคลังหลังเหนือ เกือบจะตรงข้ามกับวัดเทพประนม ประกอบด้วยปราสาทห้าหลังที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ และไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ถ้าพิจารณาจากลวดลายที่สลักประดับตกแต่งอยู่ที่ปราสาทแห่งนี้ สันนิษฐานได้ว่าเดิมเป็นเทวสถานที่สร้างขึ้นในสมัยนครวัด ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ต่อมาในสมัยบายน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นพุทธสถาน
ปราสาทแก้ว หรือปราสาทตาแก้ว เป็นศาสนสถานประจำราชธานีที่พระเจ้า ชัยวรมันที่ ๕ โปรดให้สร้างขึ้น แต่ยังไม่แล้วเสร็จในสมัยของพระองค์ และแม้ว่าได้มีการสืบสานการสร้างต่อมาในสมัยหลังๆ แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่แล้วเสร็จอีกเช่นกัน เพราะมีการแกะสลักลวดลายอยู่เฉพาะที่ส่วนฐานชั้นล่างเท่านั้น กลุ่มปราสาท ๕ หลังที่อยู่บนฐานชั้นบนสุดไม่ปรากฏร่องรอยของการแกะสลักใดๆ ประดับไว้เลย ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและแผนผังแสดงให้เห็นว่าปราสาทตาแก้ว เป็นศาสนบรรพตขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของบ้านเมือง การก่อสร้างด้วยศิลาทรายทำให้ปราสาทแห่งนี้ดูมั่นคงแข็งแรง และการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ทำให้ปราสาทตาแก้วเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดว่า ปราสาทเขมรนั้นถึงแม้จะไม่มีลวดลายใดๆ สลักประดับไว้ ก็ยังมีความงดงามน่าชมมาก โดยเฉพาะในเชิงสถาปัตยกรรมเรื่องของความได้สัดส่วนของแผนผังและรูปทรงทางสถาปัตยกรรม์
ปราสาทตาแก้ว
ปราสาทตาพรหม เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธลัทธิมหายานที่พระเจ้า ชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๑๗๒๙ เพื่ออุทิศถวายแด่พระนางชัยราชจุฑามณี พระราชมารดาของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ศาสนสถานหลังนี้เป็นวัดในพุทธสถานที่มีขอบเขตกว้างใหญ่คล้ายกับเป็นเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง มีพระสงฆ์และผู้รับใช้ของวัดจำนวนมากประจำอยู่ด้วย ข้อมูลจากจารึกพบที่ปราสาทตาพรหมช่วยให้ทราบว่า ศาสนสถานแห่งนี้มีชื่อเดิมอย่างเป็นทางการว่า ราชวิหาร มีผู้คนอาศัยอยู่ราว ๑๒,๖๔๐ คน มีพระเถระผู้ใหญ่ ๑๘ รูป พระสงฆ์ ๒,๗๔๐ รูป เณร ๒,๓๒๓ รูป และได้รับผลประโยชน์จากหมู่บ้าน ๓,๑๔๐ แห่งที่ตั้งรายล้อมอยู่รอบนอกด้วย แสดงว่าในสมัยนั้นคงเป็นวัดที่ร่ำรวยมาก
ประตูซุ้มทางเข้าปราสาทตาพรหมและบริเวณภายในปราสาท
แผนผังอาณาบริเวณของปราสาทตาพรหมทั้งหมด เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่มาก ขอบเขตชั้นนอกสุดเป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลง มีประตูทางเข้าทั้ง ๔ ทิศ ประตูแต่ละด้านก่อเป็นซุ้มขนาดใหญ่ มีส่วนยอดประดับด้วยภาพสลักหน้าคนขนาดใหญ่ ๔ หน้า อันเป็นลักษณะพิเศษของสิ่งก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผ่านจากประตูเข้าไปภายในเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ กลุ่มศาสนสถานสำคัญ คือปราสาทประธานตั้งอยู่ในบริเวณลานชั้นในสุดมีระเบียงคดล้อมรอบ ๓ ชั้น แผนผังของปราสาทตาพรหมดูซับซ้อนและเข้าใจยาก เพราะปราสาทตาพรหมยังไม่ได้รับการบูรณะเหมือนกับปราสาทสำคัญแห่งอื่นๆ ยังมีสภาพปรักหักพังและมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมมากมาย เนื่องจากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศตั้งใจที่จะรักษาสภาพธรรมชาติดั้งเดิมของปราสาทหลังนี้ไว้เพื่อใช้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงสภาพอันแท้จริงของปราสาทเขมรที่เมืองพระนครเมื่อมีการค้นพบในระยะแรกราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ แต่ปัจจุบันสภาพปรักหักพังดั้งเดิมของปราสาทเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมากำลังถูกรื้อออก เพื่อทำการขุดค้นและขุดแต่งบูรณะให้เหมือนกับปราสาทแห่งอื่นๆ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากอินเดีย และในขณะที่ทำการขุดแต่งภายในบริเวณปราสาทได้มีการค้นพบพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่และมงกุฎทองคำด้วย
นอกจากนี้ ปราสาทตาพรหมยังมีสิ่งสำคัญที่น่าชม คือ ภาพสลักเล่าเรื่องในพุทธศาสนาที่มีอยู่ ๒ แห่ง แห่งแรกเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ มีภาพตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะโดยมีนายฉันนะตามเสด็จออกจากพระราชวัง ส่วนอีกภาพเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนมารวิชัย ในภาพนี้มีพระยามารทรงช้างเป็นพาหนะ ติดตามด้วยเหล่าบริวารที่มีหน้าเป็นสัตว์ต่างๆ พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงปางมารวิชัยอยู่ตรงกลางภาพ มีแม่พระธรณีกำลังบีบมวยผมเพื่อให้น้ำไหลออกมาท่วมเหล่ากองทัพพระยามาร
เทวสถานบันทายสำเหร่ หรือปราสาทบันทายสำเหร่ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเสียมราฐ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑๕ กิโลเมตร เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย ศิลปะแบบนครวัด อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง มีแต่เพียงเรื่องเล่าในตำนานว่า พวกชาวเขาที่เคยอาศัยอยู่บนเทือกเขาพนมกุเลนมาก่อนได้อพยพลงมาจากเขาและสร้างปราสาทแห่งนี้ไว้ สิ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ ปราสาทหลังนี้มีลักษณะคล้ายกับปราสาทหินพิมายในจังหวัดนครราชสีมาของไทยเป็นอย่างมาก มีแผนผังโดยรวมเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีกำแพงล้อมรอบ ๓ ชั้น ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภาพสลักประดับบนทับหลังและ หน้าบันส่วนใหญ่เป็นภาพเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระวิษณุและอวตารตอนต่างๆ ของพระองค์ เช่น วิษณุตรีวิกรม พระกฤษณะฆ่านาคกาลิยะ พระกฤษณะโควรรธนะ รามายณะตอนสีดาลุยไฟ ตอนพระรามถอนหอกโมกขศักดิ์ให้พระลักษมณ์ และตอนพระรามสู้กับทศกัณฐ์ เป็นต้น
ปราสาทบันทายสำเหร่
เทวสถานเจ้าไสยเทวดา หรือ ปราสาทเจ้าสายเทวดา ตั้งอยู่ใกล้กับประตูทางเข้า นครธมด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับปราสาทธรรมานนท์ เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ แต่ไม่ทราบประวัติความเป็นมา หากพิจารณาจากรูปแบบศิลปะและการก่อสร้าง อาจกล่าวได้ว่าปราสาทหลังนี้คงจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับปราสาทธรรมานนท์ คือ ช่วงรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมัน ที่ ๒ ศิลปะแบบนครวัด อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗
ปราสาทเจ้าสายเทวดา
เทวสถานบาปวน หรือปราสาทบาปวน เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ที่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ โปรดให้สร้างขึ้นประจำราชธานี มีรูปแบบศิลปะจัดอยู่ในแบบบาปวน อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แผนผังปราสาททั้งหมดมีระเบียบได้สัดส่วนงดงาม ประกอบด้วยปราสาทหลังเดียวตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ระเบียงคดบนฐานชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ และชั้นที่ ๓ แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการสร้างระเบียงคดอย่างชัดเจน ระเบียงคดทั้งสี่ด้านเชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด มีปราสาทอยู่ที่มุมทั้ง ๔ เป็นตัวเชื่อม ปราสาทที่ตั้งอยู่บนฐานชั้นบนสุดพังทลายลงเหลือเพียงส่วนฐานเท่านั้น และถึงแม้ว่าสภาพในปัจจุบันจะไม่สมบูรณ์ แต่ความได้สัดส่วนของแผนผังและความงดงามของภาพสลักตามผนังซุ้มประตูของระเบียงคด ที่สลักเป็นภาพเล่าเรื่องเทพนิยายอยู่ในกรอบเล็กๆ เรียงซ้อนกัน เป็นสิ่งที่ทำให้ปราสาทแห่งนี้เป็นสถานที่น่าชมยิ่งอีกแห่งหนึ่งในเมืองพระนคร ที่ด้านหน้าปราสาทมีชานชาลาทางเดินยกพื้นสูงรองรับด้วยเสาศิลากลมซึ่งเรียงรายอยู่เป็นระยะๆ ตรงไปยังประตูซุ้มทางเข้าปราสาท ซึ่งสันนิษฐานว่าทางเดินนี้คงจะสร้างขึ้นภายหลัง และในระยะต่อมาปราสาทหลังนี้ยังถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพุทธสถาน โดยปรับแต่งฐานด้านหลังก่อเป็นพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ไว้ ปัจจุบันยังพอมองเห็นร่องรอยอยู่บ้าง
ปราสาทบาปวน
เทวสถานปักษีจำกรง หรือปราสาทปักษีจำกรง เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ศิลปะแบบเกาะแกร์ - แปรรูป อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ จากข้อความในจารึกภาษาสันสกฤตบนหลืบประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ทำให้ทราบว่าพระเจ้าหรรษ วรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๕๐ - ๑๔๖๖) โปรดให้สร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดาและพระราชมารดา และยังโปรดให้สร้างรูปพระศิวะและพระชายาประดิษฐานไว้ด้วย ต่อมาในสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมัน (พ.ศ. ๑๔๗๘ - ๑๕๑๑) ได้โปรดให้บูรณะปราสาทหลังนี้ ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในจารึกปักษีจำกรงว่า ในการบูรณะครั้งนั้นมีการประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นสีขาวทำให้ปราสาทหลังนี้งดงามดุจเขาไกรลาศ แต่เป็น ที่น่าเสียดายว่า การประดับตกแต่งปราสาทที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน มีเพียงลวดลายที่สลักประดับอยู่บนเสาประดับกรอบประตูและทับหลังซึ่งมีรูปแบบศิลปะจัดอยู่ในสมัยเกาะแกร์-แปรรูปเท่านั้น
แผนผังและลักษณะทางสถาปัตยกรรม ปราสาทปักษีจำกรงเป็นศาสนสถานขนาด ค่อนข้างเล็กและมีแผนผังเรียบง่าย คือ ประกอบด้วยปราสาทเพียงหลังเดียวก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐาน ศิลาแลงที่ก่อซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๔ ชั้น มีกำแพงอิฐล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีซุ้มประตูทางเข้าหลังเดียวอยู่ทางทิศตะวันออก แต่ปัจจุบันทั้งกำแพงและซุ้มประตูได้หักพังลงจนเกือบหมดแล้ว อย่างไรก็ตามตัวปราสาทที่ยังเหลืออยู่ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก แต่มีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่ได้สัดส่วนงดงามมาก
ปราสาทปักษีจำกรง
สำหรับชื่อของปราสาทที่เรียกว่า ปักษีจำกรง นั้น แปลว่า นกจับกรง เป็นชื่อที่ได้มาจากนิทานพื้นบ้านของเขมรที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มีกษัตริย์เขมรพระองค์หนึ่งหนีศัตรูมาและพระองค์ได้รับ การคุ้มครองจากนกจนรอดพ้นอันตรายจากศัตรูได้ พระองค์จึงสร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นเพื่ออุทิศให้นกและพระราชทานนามว่า ปักษีจำกรง
พระโคกกลก เรียกกันในปัจจุบันว่า ปราสาทเกลียงหรือคลัง มี ๒ หลัง คือ ปราสาทคลังหลังเหนือ กับปราสาทคลังหลังใต้ ทั้งสองหลังตั้งอยู่ตรงข้ามกัน บริเวณหน้าพระราชวังหลวงกลางเมือง นครธม และปราสาททั้งสองหลังนี้มีลักษณะรูปทรงที่แตกต่างไปจากปราสาทเขมรแห่งอื่นๆ คือ มีลักษณะเป็นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายระเบียงวางตัวอยู่ในแนวขวาง ตรงกลางก่อเป็นห้องคูหามีหลังคาเป็นยอดปราสาท มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยหน้าบันและทับหลัง เสาประดับกรอบประตูและเสาประดับผนัง มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก นักวิชาการเชื่อว่าปราสาทคลังหลังเหนือคงจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวีรวรมัน (พ.ศ. ๑๕๔๕ - ๑๕๕๓) เพราะมีการค้นพบศิลาจารึกของพระองค์ที่ปราสาท หลังนี้ ส่วนปราสาทคลังหลังใต้คงจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๕ - ๑๕๙๓) เหตุที่มีชื่อเรียกว่าปราสาทคลัง เพราะชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่เก็บสมบัติของพระราชา แต่เมื่อพิจารณาจากรูปทรงสถาปัตยกรรมแล้วไม่สามารถบอกประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริงได้เลย
ปราสาทคลังเหนือ (ซ้าย) และปราสาทคลังใต้ (ขวา)
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. “พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” วารสาร โบราณคดี ฉบับดำรง
ราชานุภาพ. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔ เมษายน ๒๖๑๖.
คึกฤทธิ์ ปราโมช. หม่อมราชวงศ์. ถกเขมร ฉบับปรับปรุง, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, ๒๕๔๓.
เฉลิม ยงบุญเกิด. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๔๓.
เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ, กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์, ๒๕๔๐.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. ความทรงจำ. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, ๒๕๑๗.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. ฉบับพิมพ์เปนของฝากเมื่อ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์
พิพรรฒธนากร, ๒๔๖๘.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. พระนคร: โรงพิมพ์ครุสภา, ๒๕๐๒.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราสนครวัด. กรุงเทพฯ: เขษมบรรณกิจ, ๒๕๐๓.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๕.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, ๒๕๑๔.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. พระนคร: บรรณาคาร, ๒๕๑๕.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของ คุรุสภา, ๒๕๑๕.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, ๒๕๑๗.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของ คุรุสภา, พิมพ์เนื่องในงานพระราชทาน
เพลิงศพหม่อมเจ้าพวงมาศผกา ดิศกุล ณ เมรุวัดเทพ ศิรินทราวาส ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๖.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้า
จงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา จัดพิมพ์เนื่องในวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ๒๕๓๕.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ: คลังปัญญา, ๒๕๓๗.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๕.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. “คำนำ” หนังสือประชุมศิลาจารึกสยาม พระนคร ภาคที่ ๑ จารึกกรุงสุโขทัย.
พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๗.
เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. เขมรสามยก. กรุงเทพ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, ๒๕๓๖.
ประพัฒน์ ตรีณรงค์. พระประวัติและผลงานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, ๒๕๑๖.
พูนพิสมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าหญิง. พระประวัติลูกเล่า. พิมพ์ครั้งที่ ๒ ในงานฉลองพระชนมายุครบ ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๐๕.
มหาดไทย, กรม. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และงานทางปกครองของพระองค์. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒,
พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นกรมมหาดไทย ๒๕๐๕.
ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. (นายพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัตน์)แปลจากภาษาเขมร), พระนคร:
แพร่พิทยา, ๒๕๑๓.
วิทย์ พิณคันเงิน. อนุสรณ์พระประวัติสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร: โรงพิมพ์การศาสนา, กรมศาสนา, ๒๕๐๕.
ศิลปากร, กรม. ประวัติและผลงานของชางต่างชาติในประเทศไทย. กรุงเทพฯ, ๒๕๓๙.
ส. ศิวลักษณ์. เรื่องสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองกรุง
รัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปีซึ่งตรงกับปีที่พระชนม์ครบรอบ ๑๐ รอบพระนักษัตร์ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๕.
สมิทธิ ศิริภัทร์ และ มยุรี วีระประเสริฐ. ทับหลัง: การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและ ประเทศกัมพูชา. กรุงเทพฯ:
กรมศิลปากรและธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๓๓.
สุภัทรดิศ ดิศกุล. หม่อมเจ้า. ประติมากรรมขอม. คณะโบราณคดี, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๑๕.
สุภัทรดิศ ดิศกุล. หม่อมเจ้า. ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๑๖.
สุภัทรดิศ ดิศกุล. หม่อมเจ้า. “อาณาจักรขอม” ประวัติเอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ. ๒๐๐. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์
สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๒.
สุภัทรดิศ ดิศกุล. หม่อมเจ้า. ประวัติเมืองพระนคร (ทรงแปลและเรียบเรียงจากเรื่อง Angkor ของ M. GITEAU). กรุงเทพฯ: บริษัท
จันทวาณิชย์, ๒๕๒๖.
สุภัทรดิศ ดิศกุล. หม่อมเจ้า. ศิลปะขอม, (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับบิชชิ่ง จำกัดมหาชน, ๒๕๔๗), สมเด็จพระเทพรัตนราช
สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทร
ดิศ ดิศกุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม., ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. หม่อมราชวงศ์. ศิลปะร่วมแบบเขมรที่พบในประเทศไทยภูมิหลังทางปัญญารูปแบบทางศิลปกรรม. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๘.
อุไรศรี วรศะริน. จารึกนครวัดสมัยหลังพระนคร ค.ศ. ๑๕๖๖ – ค.ศ. ๑๗๔๗. กรุงเทพฯ: ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี
มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๒.
Antelme, M.. « Quelques hypothèses sur l’étymologie du terme “Khmer” »,
Péninsule 37., 1998(2) [etudes interdisaplinaires sur
l’ Asie du Sud-Est Péninsulaire]
Aymonier, E., Le Cambodge, 3 vol., Paris, Leroux, 1900-4.
Barth, A., Inscriptions Sanskrites du Cambodge, Paris: Imprimerie Nationale, 1885.
Bergaigne, A., Inscriptions Sanskrites de Campa et du Cambodge,Paris:Imprimerie Nationale,1893.
Bhattacharya, K., Les religions brahmaniques dans l’ancien Cambodge, Paris: EFEO, 1961.
Boisselier, J., Le cambodge, Paris: E.J. Picard, [1966un manuel parfaitement ã sa date de parution;excellente bibliographie].
Bruguier, B., Bibliographie du Cambodge ancien, Vol.1 Corpus bibliographique, Paris: EFEO,1998.
Chandler David, A History of Cambodia, Boulder.Colorado: West-view Press, 1992.
Coedès, G., Les Inscriptions du Cambodge, 8 vol., Hanoi-Paris: EFEO, 1937-1966.
Coedès, G., Recueil des inscriptions du Siam 2e partie: inscriptions de Dvaravati, de Srivijaya et de Lavo, 2e edition.
Revue, Bangkok, 1965.
Coedès, G., Articles sur le pays khmer, 2 vol., Paris : EFEO,1989-1992.
Coedès, G., Les Etats hindouisés d’Indochine et d’Indonésie, nouvelle edition, Paris, 1964.
Dagens, B., Les Khmers, Paris: Les Belles Lettres, 2003.
Dagens, B., Angkor la foret de Pierre, Paris: Gallimard, 1947.
Dumarcay, J., « L’Hydraulique khmère », Angkor et dix siècles d’art khmer, Paris: Editions de la Réunion des Musées
nationaux, 1997. pp. 93 - 100.
Giteau, M., Histoire d’Angkor, Paris, (Que sais-je ? n. 1580) (rééd. 1996, editions Kailash).
Giteau, M., Angkor: Un people – Un art, Fribourg: Office du livre, 1976.
Glaize, M., Les Monuments du groupe d’ Angkor, 3e edition, Paris, 1963. (Adrien-Maisonneuve) (rééd. 1993)
Groslier, B., Angkor, hommes et pierre, Paris: Arthaud, 1968.
Jacques,C., Angkor, Paris : Bordas,1990.
Jacques,C. et Lafond,Philippe, L’Empire Khmer, Paris : Librairie Arthème Fayard,2004.
Lunet de Lajonquière, E., Inventaire descriptif des monuments du Cambodge, 3 vol., Paris: EFEO, 1902 - 11.
Long Seam, « Les toponymes en khmer ancient », Aséanie 19, Bangkok: Edition du Centre d’ Anthropologie
Sirindhorn,2007,pp. 15-74.
Mouhot, H., Travels in Siam, Cambodge and Laos 1858 - 1860, vol. (1-2), Singapore: Oxford University Press, 1992.
Philpotts, R., Reporting Angkor Chou Ta-Kuan in Cambodia 1296 - 1297, Blackwater Books: 1996
Réunion des Musées Nationaux, ANGKOR et dix siècles d’art khmer, Paris: Réunion des Musées Nationaux,1997.
Vann, Moyvann, Les cités khmer anciennes, Phnom- penh: JSRC printing house avec le concours de la Toyota
Foundation,Tokyo: 1999.
Zephir, T., L’ empire des rois khmers, Paris: Gallimard, 1996.